ทำความรู้จัก Easy E-Receipt รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ในการลดหย่อนภาษี 2567 ที่ทุกคนควรรู้
การยื่นภาษีไม่ว่าจะเป็นแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ ก็เป็นเรื่องที่บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ประจำอย่างเราๆ จะต้องยื่นในทุกปี หรือใครที่เป็นเจ้าของธุรกิจเองก็ตาม โดยเฉพาะการยื่นภาษีรายได้บุคคลธรรมดานั้น ทางรัฐบาลเองก็ได้มีนโยบายการลดหย่อนภาษีออกมาอย่างเป็นประจำ และการยื่นภาษี 2567 หรือที่เราจะต้องยื่นในช่วงเดือน มกราคม – เมษายน ปี 2568 นั้น ก็มีนโยบายอย่าง Easy E-Receipt ที่จะเข้ามาช่วยลดหย่อนภาระภาษีให้กับเรา ทีมงาน NotebookSPEC ก็ได้รวบรวมข้อมูลของ E-Receipt ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า สินค้า ที่เข้าร่วม ไปจนถึงวิธีการและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ยื่นภาษี สามารถลดหย่อนอะไรได้บ้าง
- รู้จักกับ Easy E-Receipt
- การขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ / E-Receipt
- ร้านค้า สินค้า หรือบริการ ที่เข้าร่วมกับนโยบาย
- ข้อดีของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
- สรุป
- FAQ / คำถามที่พบบ่อย
ยื่นภาษี สามารถลดหย่อนอะไรได้บ้าง
การยื่นภาษีเงินได้ในแต่ละปีนั้น นอกจากการคำนวณเงินได้สุทธิแล้วยังมีในเรื่องของการเป็นค่าลดหย่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีเงินได้สุทธิถึงเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายภาษี ก็จะสามารถดูค่าลดหย่อนเพื่อช่วยลดหย่อนภาษีได้ โดยในแต่ละปีนั้นก็จะมีการปรับเปลี่ยนค่าลดหย่อนในแต่ละรายการแตกต่างกันไป แต่จะมีแบบแผนดังนี้
ค่าลดหย่อนกลุ่มพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายส่วนตัว)
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท
- ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร ตามที่จ่ายจริง รวมกันไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดา คนละ 30,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูผู้พิการ หรือทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
ค่าลดหย่อนเบี้ยประกัน และการลงทุนในกองทุนต่างๆ
- เบี้ยประกันชีวิต + สะสมทรัพย์ รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง ไม่เกิน 25,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ไม่เกิน 15,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
- กองทุน กบข. และกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF
- ลงทุนกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF
- ลงทุนกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช.
- เงินประกันสังคม จำนวน 9,000 บาท
ค่าลดหย่อนตามมาตรการรัฐ
- นโยบาย Easy E-Receipt (2567)
- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย
- เงินลงทุนธุรกิจในวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise
ค่าลดหย่อนจากการบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป
- บริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคมและโรงพยาบาลรัฐ
- เงินบริจาคพรรคการเมือง
รู้จักกับ Easy E-Receipt
มาตรการ E-Receipt นั้นเป็นการให้สิทธิประโยชน์กับผู้มีเงินได้ที่ทำหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล โดยสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือบริการที่ได้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการนั้นๆ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นสินค้าและบริการที่ซื้อในวันที่ 1 มกราคม 2567 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 เท่านั้น คิดตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) จากระบบใบกำกับภาษี
โดยยอดที่นำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนนั้น จะเป็นยอดที่รวม ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% เข้าไปแล้ว เช่น ซื้อสินค้าในราคา 1,000 บาท ยอดที่เราจะนำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนก็คือ 1,070 บาท นั่นเอง
E-Receipt เป็นค่าลดหย่อนได้เท่าไร
สำหรับนโยบาย E-Receipt นั้น จะคิดตามค่าสินค้าและบริการตามที่จ่ายจริง โดยไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับนำมาเป็นค่าลดหย่อน โดยสามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนด้านภาษีได้ ดังนี้
รายได้สุทธิต่อปี | อัตราภาษีเงินได้ | ค่าลดหย่อนสูงสุด (กรณีใช้จ่ายไม่เกิน 10,000 บาท) | ค่าลดหย่อนสูงสุด (กรณีใช้จ่าย 50,000 บาท) |
---|---|---|---|
ไม่เกิน 150,000 บาท | ยกเว้นภาษี | 0 บาท | 0 บาท |
150,001 – 300,000 บาท | 5% | 500 บาท | 2,500 บาท |
300,001 – 500,000 บาท | 10% | 1,000 บาท | 5,000 บาท |
500,001 – 750,000 บาท | 15% | 1,500 บาท | 7,500 บาท |
750,001 – 1,000,000 บาท | 20% | 2,000 บาท | 10,000 บาท |
1,000,001 – 2,000,000 บาท | 25% | 2,500 บาท | 12,500 บาท |
2,000,001 – 5,000,000 บาท | 30% | 3,000 บาท | 15,000 บาท |
5,000,001 บาทขึ้นไป | 35% | 3,500 บาท | 17,500 บาท |
- ผู้เสียภาษีเงินได้ 5% เมื่อซื้อสินค้าและบริการ 50,000 บาท จะสามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุด 2,500 บาท
- ผู้เสียภาษีเงินได้ 10% เมื่อซื้อสินค้าและบริการ 50,000 บาท จะสามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุด 5,000 บาท
- ผู้เสียภาษีเงินได้ 20% เมื่อซื้อสินค้าและบริการ 50,000 บาท จะสามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุด 10,000 บาท
- ผู้เสียภาษีเงินได้ 35% เมื่อซื้อสินค้าและบริการ 50,000 บาท จะสามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุด 17,500 บาท
เงื่อนไขเกี่ยวกับค่าลดหย่อน E-Receipt
นโยบายหรือมาตรการ E-Receipt นั้น มีเงื่อนไขคร่าวๆ ดังนี้
- ผู้ใช้สิทธิตามนโยบาย E-Receipt จะต้องเป็น บุคคลธรรมดา เท่านั้น ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล
- สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท
- ต้องซื้อสินค้าและบริการ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 เท่านั้น โดยจะต้องเป็นสินค้าและบริการ ดังนี้
- สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT และมีการบริโภคภายในประเทศไทย
- หนังสือและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book
- สินค้า OTOP ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนเรียบร้อยแล้ว
- ผู้ซื้อสินค้าและบริการที่เข้าร่วมนโยบาย E-Receipt จะต้องระบุชื่อ, นามสกุล, เลขประจำตัวประชาชน หรือ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ลงในใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
- หลักฐานที่ใช้จะต้องเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) หรือ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (E-Receipt) ไม่สามารถใช้เป็นแบบกระดาษได้ (ในกรณีที่ได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบกระดาษมานั้น จะต้องมีข้อมูลที่ระบุุไว้ว่า ‘เอกสารนี้ได้จัดทำและส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์’)
- ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือบริการเพียงคนเดียวเท่านั้น
การขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ / E-Receipt
การขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้น อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่าจะต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่มี VAT และสามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูป ในรูปแบบของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ในส่วนของร้านค้าที่เราจะไปขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ด้วยนั้นก็สามารถแบ่งออกได้เป็น
- ร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม: การขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะต้องต้องใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ในรูปแบบของอิเล้กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
- ร้านค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม: สามารถใช้ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรได้
และที่สำคัญการขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรืออิเล็กทอนิกส์ มีส่วนที่ร้านค้าหรือผู้ประกอบการจะต้องขอข้อมูลกับเรา นั่นก็คือ
- เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี ของผู้ซื้อสินค้าและบริการนั้นๆ
- ที่อยู่ โดยจะใช้ตามบัตรประจำตัวประชาชน หรือ ที่อยู่ในปัจจุบันก็ได้
- Email หรือ เบอร์โทรศัพท์ สำหรับใช้ในการจัดส่งเอกสาร
ร้านค้า สินค้า หรือบริการที่เข้าร่วมกับนโยบาย
นโยบายนี้นั้น นอกจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจะต้องสามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ก็ยังมีวิธีการสังเกตร้านค้า หรือบริการ ที่เข้าร่วมนโยบายนี้ด้วยโดยสามารถสังเกตได้จาก
- จะต้องมีสัญลักษณ์ ‘Easy E-Receipt’ ปรากฏอยู่ โดยถ้าเราเห็นสัญลักษณ์นี้จากร้านค้าหรือบริการเราได้ไปซื้อ เราก็สามารถขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จากทางร้านค้าหรือผู้ให้บริการนั้นๆ ได้
- สามารถเข้าไปตรวจสอบ หรือ ตรวจเช็กข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของกรรมสรรพากรได้เลยนั่นเอง
วิธีตรวจสอบร้านค้าและบริการที่เข้าร่วมนโยบาย E-Receipt ผ่านเว็บกรรมสรรพากร
สำหรับการเข้าไปตรวจสอบหรือเช็กรายชื่อร้านค้า และบริการ ที่เข้าร่วมกับนโยบาย E-Receipt นั้น สามารถเข้าไปตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้ง่ายๆ ดังนี้เลย
- เริ่มต้นให้เราเข้าไปที่ กรมสรรพากร – The Revenue Department
- จากนั้น ในหน้าหลัก ให้เลื่อนลงมาแล้วเลือกที่ ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการเข้าระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt
- ในหน้าการตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการนี้เอง เราสามารถเลือกค้นหาได้ ไม่ว่าจะเป็น
- ประเภทของกิจการ
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษี
- ชื่อสถานประกอบการ หรือ ชื่อของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้เรายังสามารถเข้าไปตรวจสอบร้านค้า สินค้า และบริการที่เข้าร่วมกับนโยบาย E-Receipt ได้ผ่านทาง etax.rd.go.th
- เริ่มต้นให้เราเข้าไปที่ etax.rd.go.th
- จากนั้นให้เลือกที่ เมนูที่อยู่มุมบนด้านขวามือ (สัญลักษณ์ขีด 3 ขีดเรียงกันเป็นแนวนอน) >> เลือกที่ ‘ผู้มีสิทธิจัดทำ’
- เมื่อเข้ามาในหน้า ‘ผู้มีสิทธิจัดทำ’ แล้วนั้น เราก็สามารถที่จะค้นหารายชื่อของผู้มีสิทธิจัดทำใบกำกับภาษี หรือ ใบรับ โดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ในการลงลายมือชื่อ ด้วยการใส่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือค้นหาจากรายชื่อข้อมูลในรูปแบบตารางที่ปรากฏออกมาให้เราเห็นได้เลย
สินค้า หรือ บริการ ที่ห้ามใช้สิทธิ์เป็นค่าลดหย่อน E-Receipt
นโยบาย E-Receipt นั้น มีร้านค้า สินค้า และบริการ มากมายที่เข้าร่วมกับนโยบายนี้ แต่ก็มีสินค้าและบริการหลายรายการที่แม้ว่าจะสามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Receipt ได้ แต่ก็ไม่สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยจะเป็นสินค้า และบริการ ดังนี้
- สุรา, เบียร์, ไวน์, ยาสูบ
- รถยนต์, รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าน้ำมันและก๊าซ สำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค, ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า
- ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์, ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- สินค้าและบริการที่เริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 และสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- สินค้าหรือบริการที่ไม่มี VAT (ยกเว้น หนังสือ, E-Book หรือ สินค้า OTOP)
ข้อดี / ประโยชน์ของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ E-Receipt
นโยบาย E-Receipt นั้น ก็เป็นหนึ่งในนโยบายเกี่ยวกับภาษีในปี 2567 ที่จะสามารค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ไปใช้เป็นค่าลดหย่อยกับภาษีที่ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องเสีย ในการยื่นภาษีช่วงต้นปี 2568 ดังนั้น นโยบายดังกล่าวนี้จึงมีประโยชน์และข้อดีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะต้องเสียภาษีเป็นประจำในทุกๆ ปี เพื่อช่วยในการลดหย่อนค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียภาษีไปนั่นเอง
สรุป
Easy E-Receipt นั้นก็คือนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาเพื่อเป็นค่าลดหย่อนร ในการยื่นภาษีปี 2567 โดยที่เราจะต้องยื่นในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งจะสามารถเป็นค่าลดหย่อนให้เราได้สูงสุดถึง 50,000 บาทเลยนั่นเอง แต่ทั้งนี้ ตัวนโยบายเองก็มีเงื่อนไขต่างๆ ออกมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของใบกำกับภาษีอิเล็ก, ร้านค้าและบริการที่เข้าร่วม, ระยะเวลาที่จำกัด ไปจนถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการคำนวณค่าสินค้าและบริการที่จะสามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนอีกด้วย
โดยรวมแล้วนั้น นโยบาย E-Receipt ก็ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายในการเป็นค่าลดหย่อนด้านภาษีที่มีประโยชน์และน่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่การที่จะใช้เป็นค่าลดหย่อนได้นั้น เราก็ต้องมาคิดคำนวณด้วยว่า สินค้าและบริการที่เราได้ใช้จ่ายไปนั้น คุ้มค่ากับการนำมาเป็นค่าลดหย่อนหรือไม่ เพราะหากไม่พิจารณาให้ดีแล้ว แทนที่จะได้ผ่อนภาระ ลดหย่อนการจ่ายภาษี เราอาจจะได้ภาระเพิ่มมากยิ่งขึ้นแทนก็ได้
นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของเงื่อนไขเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่สามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ จะต้องเป็นสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เท่านั้น สินค้าและบริการที่ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่สามารถนำมายื่นเป็นค่าลดหย่อนตามนโยบายนี้ได้
FAQ / คำถามที่พบบ่อย
1. นโยบาย E-Receipt กับช็อปดีมีคืน เหมือนกันหรือไม่?
สำหรับมาตรการ E-Receipt กับช็อปดีมีคืนนนั้น ต่างก็เป็นมาตรการสำหรับการเป็นค่าลดหย่อนในการยื่นภาษี แต่ทั้งสองนโยบายนั้น เป็นคนละมาตรการกัน โดยช้อปดีมีคืน จะเป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ของรัฐบาล ด้วยการให้ประชาชน ผู้มีหน้าที่เสียภาษี สามารถนำคำใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าหรือบริการ มาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ถึงแม้ว่าทั้ง 2 นโยบายนั้นจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ไม่ได้เป็นมาตรการหรือนโยบายเดียวกันนั่นเอง
ช้อปดีมีคืน | Easy E-Receipt |
---|---|
สามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุด 40,000 บาท โดย 30,000 บาทแรก จะต้องมีใบกำกับภาษีรูปแบบกระดาษหรือใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนของ 10,000 บาทที่เหลือ จะต้องเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ | สามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท โดยคิดตามที่จ่ายจริง |
จะต้องซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น จะต้องเป็นสินค้าและบริการที่เป็นหนังสือ (ยกเว้น นิตยสาร, หนังสือพิมพ์), สินค้าจากโครงการ OTOP ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว เท่านั้น | จะต้องเป็นสินค้าและบริการจากร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และจะต้องออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้เท่านั้น ในกรณีที่ร้านค้าไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะต้องเป็นสินค้าและบริการที่เป็นหนังสือทุกรูปแบบ หรือเป็นสินค้า OTOP ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน |
ร้านค้าหรือผู้ประกอบการ จะต้องออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ สามารถใช้ได้ทั้งแบบกระดาษ และรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ | ร้านค้าหรือผู้ประกอบการ จะต้องออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มแบบเต็ม ในรูปแบบของงใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบของกรมสรรพากร ไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษได้ (ในกรณีที่ได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบกระดาษมานั้น จะต้องมีข้อมูลที่ระบุุไว้ว่า ‘เอกสารนี้ได้จัดทำและส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์’) |
2. Easy E-Receipt กับ Digital Wallet 10,000 บาท เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่?
ต้องบอกเลยว่าทั้งสองนั้น เป็นคนละนโยบายกัน โดยนโยบาย Digital Wallet 10,000 บาท นั้น จะเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่มุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยจะมอบให้กับประชาชนคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
ในส่วนของนโยบาย E-Receipt นั้น ก็จะเป็นนโยบายมีสำหรับผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคนในการใช้เป็นค่าลดหย่อน ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือจำกัดเฉพาะคน และยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการ Digital Wallet 10,000 บาทด้วย
3. E-Receipt ต้องจ่ายเงินแบบไหน ถึงเป็นค่าลดหย่อนได้
สำหรับนโยบาย E-Receipt นั้น สามารถซื้อสินค้าและบริการที่เข้าร่วมและตรงตามเงื่อนไข ผ่านการชำระเงินหรือจ่ายเงินแบบไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น การจ่ายด้วยเงินสด, บัตรเครดิต, การโอนเงิน ฯลฯ แต่สำคัญที่ว่า ผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการนั้น จะต้องสามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Receipt ให้เราได้
4. เข้าพักโรงแรม ซื้ออาหารในโรงแรม สามารถนำมาลดหย่อนได้ไหม ?
สามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ หากโรงแรมนั้นๆ สามารถที่จะออกใบกำกับภาษีเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ของค่าซื้ออาหารได้ และจะต้องเป็นในช่วงของวันที่ตามระยะเวลาที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ นั่นก็คือ วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567
5. ซ่อมรถ เปลี่ยนอะไหล่ ฯลฯ สามารถลดหย่อนได้ไหม ?
สามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ หากร้านค้าหรือผู้ให้บริการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อกำหนดของกรมสรรพากร
6. เติมน้ำมัน เติมก๊าซ จ่ายค่าไฟ ค่าน้ำประปา สามารถลดหย่อนได้ไหม ?
ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ รวมไปถึงการเติมน้ำมัน เติมก๊าซ จะไม่สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้
7. ซื้อทอง สามารถนำมาลดหย่อนได้ไหม
ในกรณีที่เป็นการซื้อทองรูปพรรณนั้น สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้ เฉพาะค่ากำเน็จ (ตามภาษีมูลค่าเพิ่ม) หากร้านค้าหรือผู้ให้บริการสามารถที่จะออกใบกำกับภาษีเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้
แต่หากเป็นการซื้อทองคำแท่ง จะไม่สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้ เนื่องจากทองคำแท่ง เป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบค้าจะไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีที่ใช้เป็นหลักฐานในการยื่นเป็นค่าลดหย่อนตามโครงการนี้
8. ซื้อบริการทัวร์ หรือ ท่องเที่ยว ภายในประเทศ ลดหย่อนได้ไหม ?
สามารถนำมาลดหย่อนได้ หาดเป็นแพ็กเกจท่องเที่ยว ทัวร์ ภายในประเทศ ที่ชำระและใช้บริการในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ให้บริการสามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้
9. ใบกำกับภาษีที่มีข้อความที่ขียนผิด หรือมีการแก้ไข สามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้หรือไม่ ?
หากใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีรายการครบตามที่กรมสรรพากรกำหนด แม้ว่าจะมีการระบุชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไขข้อความ ก็สามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้
10. ชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ใช้บริการจริงหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถลดหย่อนได้หรือไม่ ?
ไม่สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยจะต้องเป็นสินค้าและบริการที่ซื้อและใช้ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 เท่านั้น