Connect with us

Hi, what are you looking for?

Special Story

เล่นเกมด้วย AMD Radeon 890M การ์ดจอ On CPU แรงสุดในขณะนี้ และวิธีปรับให้เล่นเกมลื่น

ถ้านับในช่วงหลัง ๆ มา ชิปกราฟิกแบบ iGPU ที่อยู่ใน CPU โน้ตบุ๊กของ AMD ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนทำให้มีประสิทธิภาพสูงถึงระดับที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะกับการใช้เล่นเกมที่ข้ามกำแพงจากในอดีตกราฟิกแบบ iGPU มักจะทำได้อย่างมากก็เป็นเกมออนไลน์ เกมเก่าที่มีอายุนานพอสมควรแล้ว กลายมาเป็นสามารถเล่นเกมระดับ AAA และเกมใหม่ล่าสุดได้ ซึ่งปัจจุบันก็เดินทางมาถึง AMD Radeon 800M series ที่มาพร้อมกับชิป AMD Ryzen AI 300 series โดยในบทความนี้เราจะลองจับ AMD Radeon 890M มาลองเล่นเกมกันครับ เพื่อดูว่าจะสามารถเล่นได้ระดับไหน พร้อมกับลองใช้งาน AFMF 2 เทคโนโลยีเสริมจาก AMD ที่ออกแบบมาเพื่อการเล่นเกมด้วย

amd radeon 890m เล่นเกม

ถ้านับในช่วงหลัง ๆ มา ชิปกราฟิกแบบ iGPU ที่อยู่ใน CPU โน้ตบุ๊กของ AMD ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนทำให้มีประสิทธิภาพสูงถึงระดับที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะกับการใช้เล่นเกมที่ข้ามกำแพงจากในอดีตกราฟิกแบบ iGPU มักจะทำได้อย่างมากก็เป็นเกมออนไลน์ เกมเก่าที่มีอายุนานพอสมควรแล้ว กลายมาเป็นสามารถเล่นเกมระดับ AAA และเกมใหม่ล่าสุดได้ ซึ่งปัจจุบันก็เดินทางมาถึง AMD Radeon 800M series ที่มาพร้อมกับชิป AMD Ryzen AI 300 series โดยในบทความนี้เราจะลองจับ AMD Radeon 890M มาลองเล่นเกมกันครับ เพื่อดูว่าจะสามารถเล่นได้ระดับไหน พร้อมกับลองใช้งาน AFMF 2 เทคโนโลยีเสริมจาก AMD ที่ออกแบบมาเพื่อการเล่นเกมด้วย

Advertisement

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 01

สำหรับเครื่องที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้ก็จะเป็น ASUS Zenbook S 16 ในรหัสรุ่นย่อย UM5606WA-RK917WF ที่มีสเปคคร่าว ๆ ดังนี้

  • AMD Ryzen AI 9 HX 370 ความเร็ว 2.0 GHz มี 12 คอร์ 24 เธรด
  • กราฟิกออนบอร์ด (On-CPU) AMD Radeon 890M
  • แรม LPDDR5X 32GB แบบออนบอร์ด
  • SSD 1TB NVMe PCIe 4.0
  • หน้าจอสัมผัสขนาด 16” 3K OLED 120Hz 100% DCI-P3
  • แบตเตอรี่ 78WHr
  • น้ำหนักเครื่อง 1.5 กิโลกรัม มีความบางสุดเพียง 1.1 เซนติเมตร

ด้วยสเปคและการออกแบบตัวเครื่อง ต้องบอกว่า Zenbook เครื่องนี้คือโน้ตบุ๊กสายทำงาน สายใช้งานทั่วไปที่ต้องการเน้นให้มีหน้าจอขนาดใหญ่ แต่มีความบางเบาเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถพกพาไปใช้งานในที่ต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งถ้าเป็นยุคก่อน โน้ตบุ๊กกลุ่มที่เน้นน้ำหนักเบา ๆ เน้นความบางของเครื่องมักจะมาพร้อม CPU รุ่นกลาง ๆ หรือรุ่นที่เน้นประหยัดพลังงานเพื่อให้สามารถใช้แบตได้นาน มีความร้อนสะสมที่ต่ำ และแน่นอนว่าพลังประมวลผลกราฟิกก็มักจะมาจาก iGPU ที่ต้องยอมรับว่าอยู่ในระดับที่เน้นให้แค่แสดงภาพออกจอ ใช้ทำงาน ดูหนัง ฟังเพลง ต่อจอนอกได้นิดหน่อย เนื่องจากต้องเน้นการประหยัดพลังงานเป็นหลัก แต่สำหรับในยุคปัจจุบัน เรามาดูกันดีกว่าครับว่า Radeon 890M ใน AMD Ryzen AI HX 370 จะทำได้ดีขนาดไหน โดยเฉพาะในเรื่องการเล่นเกม

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 07

ก่อนจะไปถึงเรื่องการทดสอบ เรามาดูข้อมูลเกี่ยวกับ AMD Radeon 890M กันซักนิดนึง ตัวของ GPU มาพร้อมคอร์ประมวลผล (CU) สถาปัตยกรรม RDNA 3.5 ที่นับว่าเป็นรุ่นล่าสุดในปัจจุบันจำนวน 16 คอร์ มี unified shader จำนวน 1,024 หน่วย ส่วนความเร็วคล็อกสูงสุดจะอยู่ที่ 2,900 MHz ซึ่งถ้าเทียบกับ iGPU รุ่นท็อปของเจ็นก่อนหน้าอย่าง AMD Radeon 780M ก็ต้องบอกว่าส่วนของ CU และ shader ของรุ่นใหม่นั้นให้มาเยอะกว่ามาก และส่งผลถึงประสิทธิภาพในการประมวลผลกราฟิกโดยตรง ส่วนความเร็วของ VRAM ก็จะสัมพันธ์กับแรมของทั้งระบบ เนื่องจากปกติแล้ว iGPU จะแชร์แรมจากเครื่องมาอีกที ทำให้สามารถมองว่าความเร็ว VRAM นั้นสูงมากได้อีกด้วย อีกจุดที่น่าสนใจคือเรื่องการกินไฟ เพราะตามสเปคของชิปจะอยู่ที่สูงสุดประมาณ​ 28W เท่านั้น จึงทำให้สามารถใส่มาในโน้ตบุ๊กที่มีขนาดบาง รวมถึงน่าจะถูกนำไปใช้กับเครื่องเกมพีซีพกพาแบบ handheld ก็ยังได้เลย

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 25

ในการทดสอบครั้งนี้ เป็นช่วงหลังจากที่ AMD ปล่อยไดรเวอร์ Adrenalin เวอร์ชันล่าสุดออกมาพอดี ซึ่งฟีเจอร์สำคัญที่เพิ่มเข้ามาก็ถือว่าเป็นฟีเจอร์ใหญ่ทีเดียว ได้แก่ Variable Graphics Memory ที่เปิดให้ผู้ใช้โน้ตบุ๊กชิป AMD Ryzen AI 300 series สามารถตั้งค่าการแชร์แรมจากระบบไปให้ iGPU ได้สูงสุดถึง 75% จากแรมทั้งหมดที่มี ส่งผลให้ iGPU มี VRAM ให้ใช้งานมากขึ้น จากที่ปกติมักจะสามารถแชร์ไปได้สูงสุดแค่ 512MB เท่านั้น ซึ่ง AMD จะให้คำแนะนำไว้ว่าควรจะเหลือแรมสำหรับระบบหลักไว้ที่ขั้นต่ำ 16GB ดังนั้นถ้าหากโน้ตบุ๊กของเรามีแรมในเครื่องทั้งหมดอยู่ 32GB ก็จะสามารถแชร์ไปเป็น VRAM ซัก 8GB แล้วเหลืออีก 24GB ให้เครื่องใช้ได้แบบสบาย ๆ เลย ซึ่งฟีเจอร์นี้จะมีผลมากกับบางเกมที่มีการกำหนดปริมาณ VRAM ขั้นต่ำไว้ หากมีไม่ถึงก็อาจจะไม่สามารถเปิดเกมได้เลย แต่พอมาเจอฟีเจอร์นี้เข้าไป หากแบ่งมาเป็น VRAM ซัก 8GB ก็สบายแล้วครับ สามารถเปิดได้ทุกเกมในปัจจุบันแน่นอน

อีกฟีเจอร์ที่เปิดให้ใช้งานเต็มตัวก็คือ AFMF 2 (AMD Fluid Motion Frames 2) ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านกราฟิกด้วยพลัง AI ในการสร้างเฟรมภาพแทรกขึ้นมา (เฟรมเจ็น) เพื่อให้ได้ภาพในเกมที่สวยงาม เฟรมเรตสูง ค่าความหน่วง (latency) ต่ำลง โดยจะเป็นฟีเจอร์ที่สามารถเรียกใช้งานได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่คลิกเปิดจากไดรเวอร์ จากนั้นก็ปล่อยให้ระบบไปจัดการเองได้เลย รวมถึงยังทำงานควบคู่กับฟีเจอร์ FSR ที่ช่วยอัปสเกลภาพให้มีความคมชัดยิ่งขึ้น ทำให้ตัว GPU สามารถเรนเดอร์ภาพในความละเอียดที่ต่ำกว่า native resolution ของจอเพื่อลดภาระการประมวลผลลง จากนั้นก็ปล่อยให้ FSR หรือเทคโนโลยีอื่นที่เกมรองรับช่วยอัปสเกลภาพให้คมชัดขึ้น และมี AFMF 2 ช่วยเพิ่มเฟรมเรตเข้าไปโดยที่มีค่า latency ต่ำกว่าการทำเฟรมเจ็นแบบปกติ สำหรับรายละเอียดของฟีเจอร์ AFMF 2 สามารถเข้าไปอ่านต่อได้จากบทความนี้เลย

Screenshot 2024 11 02 223438

ส่วนการเปิดใช้งาน AFMF 2 จะสามารถทำได้ผ่านทั้งทางซอฟต์แวร์ AMD Adrenalin และผ่านทางซอฟต์แวร์ของผู้ผลิตเครื่องเอง โดยถ้าเป็นการทำผ่านซอฟต์แวร์ AMD เอง จะสามารถเข้ามาปรับได้ในหัวข้อ Gaming ที่หลัก ๆ แล้วจะเป็นการเปิดใช้งานแบบให้ครอบคลุมทุกเกมในครั้งเดียว หรือถ้าเคยเปิดเกมไหนขึ้นมาเล่นแล้ว ก็จะสามารถเลือกเปิดหรือปิดเป็นรายเกมได้ด้วย

ซึ่งถ้าต้องการเปิดใช้งานระบบช่วยสนับสนุนการเล่นเกมของ AMD แบบเต็มสตรีม อาทิ AFMF 2, Radeon Super Resolution ที่ช่วยในการอัปสเกลภาพ, Radeon Anti Lag ที่ช่วยลดความหน่วง (latency) ของภาพลงเพื่อให้ภาพในเกมออกมาสวยงาม คมชัด เฟรมเรตสูง ตัวของซอฟต์แวร์ AMD Adrenalin จะมีส่วนของการปรับโปรไฟล์ HYPR-RX มาให้เลือกใช้งาน โดยเมื่อเลือกใช้แล้ว ระบบก็จะจัดการเปิดฟีเจอร์เสริมต่าง ๆ ข้างต้นให้ทั้งหมด เพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการทำงานได้ในจุดเดียว ซึ่งก็จะมีโปรไฟล์ย่อยอย่าง HYPR-RX Eco ที่เน้นการประหยัดพลังงานมากขึ้นมาให้ใช้งานด้วย แต่ถ้าจะให้ชัวร์สุด แนะนำว่าให้ไปกดเปิดแยกในแต่ละเกมจะดีกว่า

Screenshot 2024 11 03 194956

อีกจุดหนึ่งที่ผู้ผลิตอาจจะใส่ให้มาด้วยก็คือในกลุ่มของซอฟต์แวร์เครื่องมือประจำเครื่อง อย่างใน ASUS Zenbook S 16 เครื่องนี้ก็จะเป็นโปรแกรมชื่อว่า MyASUS ที่ในหัวข้อ Device Settings จะมีการตั้งค่าให้เลือกใช้งานในแทบจะทุกองค์ประกอบ อย่างในส่วนของ Power & Performance ก็จะมีให้ตั้งค่ารูปแบบรอบพัดลม ตั้งค่าการแชร์แรมไปยัง iGPU ตั้งค่าการเปิดใช้งาน AFMF 2 เป็นต้น ซึ่งก็จะเป็นการหยิบบางจุดมาจากใน AMD Adrenalin นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องการปรับค่าอย่างละเอียดหรือปรับแยกในแต่ละเกม แนะนำว่าเข้าไปปรับจากซอฟต์แวร์ของการ์ดจอจะละเอียดกว่าครับ

สำหรับในการทดสอบเล่นเกมด้วย AMD Radeon 890M ครั้งนี้ ได้มีการตั้งค่ารูปแบบรอบพัดลม (Fan Profile) เป็นโหมด Performance นะครับ เนื่องจากถ้าใช้ในโหมด Standard ที่เป็นค่าเริ่มต้นของเครื่อง ผมลองแล้วพบว่าตัว iGPU จะใช้กำลังไฟเพียง 15W เท่านั้น แม้จะปรับโหมดพลังงานใน Windows 11 บังคับให้เป็นแบบ High Performance แล้วก็ตาม ในขณะที่ถ้าปรับให้พัดลมหมุนเร็วขึ้น ตัวเครื่องก็จะปลดลิมิตของ AMD Radeon 890M ให้กินไฟได้สูงสุดประมาณ 27-30W ตามสเปค ซึ่งส่งผลถึงประสิทธิภาพในเกมด้วย อันนี้จึงขอแนะนำว่าถ้าต้องการเล่นเกมบนโน้ตบุ๊ก อาจจะต้องลองดูพวกการตั้งค่าโปรไฟล์พัดลมในโปรแกรมปรับแต่งที่มากับเครื่องด้วย ว่าระหว่างค่าเริ่มต้นกับการเปลี่ยนโหมดให้สูงขึ้นจะส่งผลถึงภาพในเกมหรือไม่ เพราะบางทีการปรับแค่ส่วนของ Windows นั้นก็ไม่เพียงพอครับ ต้องปลดรอบพัดลมตามด้วย เพื่อให้ GPU ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด

สำหรับการทดสอบเกมบน ASUS Zenbook S 16 ชิป AMD Ryzen AI 9 HX 370 + AMD Radeon 890M ครั้งนี้ จะตั้งค่าภาพในเกมไว้ที่ความละเอียด 1920×1080 หรือ 1920×1200 แล้วแต่ตัวเกม และพยายามเลือกใช้ระดับกราฟิกในเกมเป็นแบบที่ระบบแนะนำหรือตั้งให้มาแต่แรกเป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องจากหน้าจอจริง ๆ นั้นมีความละเอียดแบบ native สูงถึง 2880×1800 ที่ค่อนข้างสูงไปนิดนึงสำหรับพลังของ iGPU ในปัจจุบัน

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 15

เริ่มต้นกันด้วยเกมที่ก่อนหน้านี้มีกระแสมาแรงมาก ๆ อย่าง Black Myth: Wukong อันนี้จัดว่าอยู่ในระดับที่เล่นได้เลยครับ เฟรมเรต 30+ แทบจตลอดเวลา มีขึ้นไปราว 40fps กลาง ๆ ในบางช่วง หรือถ้าเป็นช่วงที่เอฟเฟ็คท์นัวจริง ๆ ก็มีเฟรมตกลงมาเล็กน้อย แต่ถือว่าอยู่ในระดับเล่นเกมได้ ภาพสวยพอประมาณ

b1 Win64 Shipping 2024 11 03 23 12 40 331 scaled

ภาพที่ได้คือสามารถสู้กับพี่เสือได้เลย แต่ถ้าใครที่เล่นเกมนี้ในระดับ 60fps+ มา แล้วมาเล่นที่เฟรมเรตราว ๆ 30-45fps ก็อาจจะต้องมีการปรับตัวเรื่องการจับจังหวะหลบนิดนึง ด้วยเพราะเฟรมที่มีความลื่นไหลน้อยกว่า แต่ถ้าชินแล้วก็ไม่ยาก ยิ่งถ้าเป็นการเล่นรอบ new game+ ขึ้นไปก็น่าจะช่วยให้มีการปรับตัวได้ง่ายขึ้น เพราะน่าจะพอชินกับจังหวะเกมอยู่บ้าง

b1 Win64 Shipping 2024 11 03 23 19 23 815 scaled

ในขณะที่ถ้าลองทดสอบด้วยชุด benchmark ที่มีในเกม ด้วยการตั้งค่าภาพระดับ 1200p กราฟิกระดับ Low และมีการเปิดใช้งาน FSR + AFMF 2 ผ่าน HYPR-RX มีเฟรมเจ็นช่วย พบว่าสามารถทำเฟรมเรตเฉลี่ยได้ประมาณ 32 fps ส่วนค่า below 5% อยู่ที่ 28 fps ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เล่นได้จริง และน่าจะยังปรับให้เฟรมเรตสูงกว่านี้ได้อีก โดยอาศัยการลดความละเอียดภาพลง แต่ส่วนตัวผมรู้สึกว่าภาพที่ระดับนี้มันอยู่ในระดับที่กำลังดีนะ เล่นแล้วไม่เสียอรรถรสมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโน้ตบุ๊กจอใหญ่ 16” ที่ความละเอียด native ระดับ 3K

ส่วนปริมาณ VRAM ที่ตัวเกมใช้ก็จะอยู่ที่ประมาณ 6.4-6.7 GB ทำให้ฟีเจอร์ในการแชร์แรมหลักมาเป็น VRAM นี้มีผลกับการใช้งานจริงแบบเห็นได้ชัดเลย ส่วนฝั่งของแรมเครื่องที่เหลือให้ใช้ 24GB ก็พบว่ามีการใช้งานจริงทั้งหมดขณะเล่นเกมที่ 19GB ส่วนความเร็วแรมที่เห็นจากตัวเลข overlay ของโปรแกรมเสริมที่มุมซ้ายบนของภาพ ซึ่งจะเห็นว่าวิ่งอยู่ที่ประมาณ 9xx MHz อันนี้ถ้าไปเช็คจากระบบ จริง ๆ แล้วแรมจะวิ่งที่ 7500 MT/s ตามสเปคนะครับ ไม่ได้เป็นการลดความเร็วแต่อย่างใด

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 13

ต่อมาก็ลองกับเกม Resident Evil 4 Remake ที่เป็นเกมมุมมองภาพแบบ 3rd person ผ่านด้านหลังและไหล่ของตัวละคร ซึ่งจะมีการเรนเดอร์กราฟิกฉากไม่ไกลมากนักและอยู่ในทิศทางที่เสมือนว่าเราเป็นตัวละครมองเห็น เฟรมเรตที่ได้ตอนที่เปิดใช้งาน HYPR-RX + FSR2 ระดับ Performance ก็จะวิ่งอยู่ที่ประมาณ 40 fps กว่า ๆ ค่า frametime ระหว่างเล่นจะอยู่ในช่วง 15-20ms ด้วยการตั้งค่ากราฟิกส่วนใหญ่ระดับ Low จะมี High บ้างก็เช่นเรื่องคุณภาพของพื้นผิววัตถุ ซึ่งก็เป็นการตั้งค่าที่ผมตั้งใจให้ใช้ VRAM แบบแทบจะเต็ม 8GB เลย

re4demo 2024 11 04 23 03 58 296

โดยรวมแล้วให้การตอบสนองที่ดี สามารถกดเคาน์เตอร์การโจมตีด้วยมีดได้ เล็งปืนได้แบบไม่มีปัญหา จะมีเฟรมเรตตกบ้างเล็กน้อยตอนชุลมุนในหมู่บ้านที่มีผู้ติดเชื้อเยอะ ๆ เข้ามารุมโจมตี

MonsterHunterWildsBeta 2024 11 03 22 26 25 688 scaled

เกมต่อมาที่ทันได้ลองก็คือ Monster Hunter Wilds ที่เปิดให้ทดสอบเบต้าฟรีเป็นช่วงสั้น ๆ โดยเลือกตั้งค่าให้เป็นกราฟิกระดับ Lowest พร้อมเปิด FSR 3 โหมด Ultra Performance

MonsterHunterWildsBeta 2024 11 03 22 38 05 569

ผลที่ได้ก็คือเฟรมเรตประมาณ 20 กลาง ๆ จนถึง 30 fps ก็จัดว่าอยู่ในระดับพอเล่นได้ครับ แต่เวลาที่นัวกับมอนสเตอร์ก็อาจจะลำบากนิดนึง แต่อีกปัจจัยหนึ่งก็คือตัวเกมยังไม่ใช่เวอร์ชันสมบูรณ์ จึงอาจจะยังต้องรอการขัดเกลาประสิทธิภาพอีก เพราะจากในช่วงเวลาที่เปิดทดสอบ ผู้เล่นหลายรายที่มีคอมสเปคสูงกว่านี้ มีการ์ดจอแยกเป็นเรื่องเป็นราวก็ยังประสบปัญหาด้านกราฟิกของตัวเกมอยู่เลย ดังนั้นถ้าใครต้องการซื้อโน้ตบุ๊กมาเล่น Monhunt ภาคใหม่ อาจจะไว้รอดูผลทดสอบตอนเกมออกในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ของปีหน้ากันอีกที แต่สำหรับ AMD Ryzen AI 9 HX 370 + AMD Radeon 890M ในโน้ตบุ๊กที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการเล่นเกมโดยตรง คือจัดว่าอยู่ในระดับเล่นแก้ขัดได้เลย

cod 2024 11 13 21 28 09 844

เกมที่สี่ที่ทดสอบก็ยังคงเป็นเกมใหม่ล่าสุดเช่นกัน นั่นคือ Call of Duty: Black Ops 6 ที่เปิดให้สมาชิก PC Game Passโหลดมาเล่นได้ฟรี ซึ่งในเมนูการตั้งค่าเกมก็จะมีเครื่องมือ benchmark มาให้วัดประสิทธิภาพเครื่องด้วย โดยในการทดสอบ ผู้เล่นจะต้องเข้าไปทดสอบในโหมดเกม multiplayer นะครับ

ผลที่ได้จาก AMD Radeon 890M ที่ตั้งค่าแบบ default พร้อมเปิด HYPR-RX ที่ความละเอียด 1920×1200 โดยไม่ได้เปิดการอัปสเกลภาพและไม่ได้เปิดเฟรมเจ็นในเกม สามารถทำเฟรมเรตเฉลี่ยได้ราว 80-90 fps ค่าต่ำ 5% อยู่ที่ 73 fps ส่วนค่าต่ำ 1% อยู่ที่ 67 fps เท่านั้น ส่วนการเล่นจริงในโหมด campaign เนื้อเรื่อง ผมเล่นในด่านทะเลทรายที่เป็นฉาก open zone ก็สามารถทำเฟรมเรตได้ราว 90-120 fps โดยมีค่า frametime ราว ๆ 8-10 ms เท่านั้น ถือว่าสามารถเล่นได้สบายแม้จะเป็นกราฟิกแบบออนบอร์ด แต่ก็จะแลกมาด้วยความละเอียดของภาพที่ลดหลั่นลงมา เพื่อจุดประสงค์คือการปั่นเฟรมเรตสูง ๆ ซึ่งถ้าหากต้องการให้ภาพสวยขึ้นก็ยังสามารถปรับได้อีกพอสมควรเลย ถ้าต้องการเฟรมเรตขั้นต่ำที่ 60 fps ที่เป็นเกณฑ์พื้นฐานสำหรับการเล่นเกมในยุคนี้

sp24 cod 2024 11 13 21 38 00 881 sp24 cod 2024 11 13 21 33 14 072

ภาพฝั่งซ้ายคือตอนปิด HYPR-RX ส่วนภาพขวาคือตอนที่เปิด HYPR-RX พบว่าตอนเปิด เฟรมเรตจะลดลงเล็กน้อย ประมาณ 10-20 เฟรมแล้วแต่ช่วง แล้วก็ frametime จะสูงขึ้นประมาณ 2-3 ms แต่สังเกตได้ว่ากราฟ frametime ออกมานิ่งมาก ๆ มีส่วนที่พุ่งขึ้นหรือตกลงมาน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับฝั่งซ้าย อันนี้ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากตัวเกมไม่ได้ทำออกมารองรับ AFMF 2 แบบเต็มตัว ประกอบตัวเกมเองก็ทำงานได้ดีอยู่แล้ว กลุ่มของฟีเจอร์เสริมจีงยังไม่ส่งผลมากนัก

Cyberpunk2077 2024 11 03 20 25 53 768

อีกเกมที่เป็นเกมยอดนิยมสำหรับการวัดประสิทธิภาพเครื่องก็คือ Cyberpunk 2077 ซึ่งแน่นอนว่า AMD Ryzen AI 9 HX 370 + AMD Radeon 890M นั้นสามารถใช้เล่นได้สบาย ๆ ชนกับการ์ดจอแยกระดับเริ่มต้นถึงกลางได้เลย อย่างในภาพด้านบนก็จะเป็นการปรับเกมที่ระดับ 1080p ภาพระดับ Low เน้นลื่น พร้อมเปิด FSR 3 เปิดเฟรมเจ็นและใช้ HYPR-RX ช่วย ก็ได้เฟรมเรตขณะเล่นอยู่ในระดับ 60-90 fps แล้วแต่ฉาก

fsr3 framegen

ส่วนถ้าทดสอบด้วยชุด benchmark ที่มีในเกม ด้วยการตั้งค่าเดียวกัน จะได้เฟรมเรตเฉลี่ยที่ 84.97 fps โดยถ้าลองปิดเฟรมเจ็นจะลงมาเหลือประมาณ 46 fps ดังนั้นถ้าหากต้องการเล่นเกมให้ได้เฟรมเรตสูง ๆ การทำงานร่วมกันระหว่าง AMD HYPR-RX + FSR + เปิดเฟรมเจ็นก็น่าจะช่วยได้เป็นอย่างดี

HogwartsLegacy 2024 11 03 23 06 08 909

ต่อมาคือเกมที่หลายคนให้ความเห็นว่าค่อนข้างกินสเปคเครื่องหนักพอตัว นั่นคือ Hogwarts Legacy เมื่อทดสอบแล้วก็พบว่าสามารถใช้เล่นได้เลย เฟรมเรตขณะอยู่ในโรงเรียนจะประมาณ 45-50 fps ส่วนเวลาเข้าไปในหมู่บ้านฮอกส์มี้ด เฟรมเรตจะตกลงมาเล็กน้อย ซึ่งจุดนี้เป็นกันแทบทุกเครื่องครับ​

HogwartsLegacy 2024 11 03 23 06 20 683 HogwartsLegacy 2024 11 03 23 04 45 855

สำหรับการตั้งค่าในเกมก็จะอยู่ที่ 1080p + เปิด FSR 2 ระดับ Performance ตั้งค่ากราฟิกตามที่เกมปรับมาให้ ส่วนนอกเกมก็จะเปิด HYPR-RX ไว้ด้วย

1080 low

PUBG ก็เป็นอีกเกมที่เมื่อทดสอบแล้วหลายท่านน่าจะมองเห็นภาพได้ชัดว่าเครื่องแรงขนาดไหน สำหรับการเล่นเกมแนว survival บนพื้นที่แบบ open zone โดยในครั้งนี้จะใช้การตั้งค่าความละเอียดที่ระดับ 1080p เช่นเดม กราฟิกระดับ Low เพื่อเน้นเฟรมเรตสูง สอดคล้องกับความนิยมในการเล่นเกมแนวนี้ที่ผู้เล่นมักเลือกปรับกราฟิกระดับต่ำลงมาหน่อย เพื่อลดรายละเอียดของวัตถุบางอย่างเช่นใบไม้ใบหญ้าออกไป

เมื่อปิด HYPR-RX จะสามารถทำเฟรมเรตขณะเล่นจริงอยู่ที่ประมาณ​ 50 fps ปลาย ๆ ส่วนถ้าเปิด HYPR-RX จะขึ้นมาเป็นประมาณ 60 fps แบบยืนพื้น

1080 low dx12 2

ทีนี้ถ้าลองปรับกราฟิกในเกมให้ไปใช้ DirectX 12 แทน + เปิด HYPR-RX พบว่าได้เฟรมเรตเพิ่มขึ้นมาอีกครับ อย่างในภาพด้านบนคือได้ 70 fps+ เลย จัดว่าอยู่ในระดับที่ใช้บวกกันในเกมได้สบาย ๆ frametime ก็นิ่งดีด้วย

hyprrx on 2 scaled

อีกหนึ่งเกมที่มีลงในหลายแพลตฟอร์มที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้ก็คือ Zenless Zone Zero ซึ่งเป็นเกมแนวแอคชั่น มีการเคลื่อนที่ของตัวละครอยู่ตลอดเวลา รวมถึงต้องอาศัยการจับจังหวะศัตรูเพื่อใช้ในการตอบโต้และสวนกลับด้วย ทำให้เฟรมเรตรวมถึง frametime มีส่วนสำคัญกับภาพในเกมค่อนข้างมาก

ผลที่ได้จากก็คือตัวเกมสามารถทำงานที่ความละเอียด 1080p กราฟิกทุกอย่างในระดับสูง พร้อมเปิดลดรอยหยักแบบ TAA ได้ที่เฟรมเรตประมาณ 30-50 fps แล้วแต่ฉาก โดยถ้าเป็นฉากต่อสู้ก็จะลดลงมาเล็กน้อย ส่วน frametime ระหว่างเปิดและปิด HYPR-RX นั้นจะต่างกันอยู่ประมาณ 5-10 ms ซึ่งเท่าที่ผมเล่นมาก็คือสามารถใช้เล่นได้ลุยด่านยาว ๆ ได้เลย สามารถจับจังหวะสวนกลับศัตรูได้

F1 24 Trial 2024 11 21 00 05 39 953

F1 24 Trial 2024 11 21 00 08 05 071

ทีนี้เรามาดูเกมที่ AMD ระบุว่ารองรับ AFMF 2 เต็มตัวกันบ้าง เริ่มด้วย F1 24 ซึ่งภายในเกมก็จะมีโหมด benchmark ให้ได้ทดสอบความแรงของเครื่องกันโดยใช้ฉากการเล่นในเกมจริง สำหรับการทดสอบครั้งนี้ก็จะยังคงใช้การตั้งค่าแบบเดิมครับคือความละเอียด 1920×1080 ส่วนระดับกราฟิกก็จะใช้ระดับ low พร้อมเปิด FSR และระบบเฟรมเจ็นในเกมด้วย

ภาพที่ได้ในการทดสอบก็จัดว่าดูดี มีรายละเอียดสวยงาม แสงเงาก็ทำออกมาได้ค่อนข้างดีพอตัวเลยสำหรับเกมแข่งรถที่มีการเคลื่อนที่ของฉากเร็ว ๆ ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องโฟกัสเรื่องรายละเอียดในฉากหลังมากนัก ผลที่ได้คือค่าเฟรมเรตเฉลี่ยขณะปิด HYPR-RX อยู่ที่ 130 fps และ frametime เฉลี่ย 15.37 ms ส่วนถ้าปรับกราฟิกเป็นระดับ High จะได้เฟรมเรตเฉลี่ยที่ 63 fps เท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับเล่นได้สบายแล้ว แต่ถ้าต้องการเฟรมเรตสูงให้แมตช์กับจอจริง ๆ  แนะนำว่าปรับที่ระดับ Low หรือ Medium น่าจะกำลังดี

F1 24 Trial 2024 11 21 00 13 40 934

F1 24 Trial 2024 11 21 00 15 53 262

พอลองเปิด HYPR-RX ช่วยจากไดรเวอร์ AMD Radeon 890M อีกแรง คราวนี้ได้เฟรมเรตเฉลี่ยในการทดสอบอยู่ที่ 110 fps เลย ซึ่งจะดูเหมือนว่าต่ำลงมาจากเดิม แต่ด้วยเฟรมเรตเดิมจากเทคโนโลยีเฟรมเจ็นที่ก็ทำได้สูงอยู่แล้ว จึงไม่จัดว่าเป็นปัญหาใหญ่เท่าไหร่ จุดที่น่าสนใจคือ frametime เฉลี่ยก็ลดลงมาเหลือเพียง 9.04 ms เท่านั้น โดยที่ภาพในเกมก็ยังคงสวยงามใกล้เคียงกัน

ForzaHorizon5 2024 11 16 22 15 03 717

ForzaHorizon5 2024 11 16 22 15 34 004

และเกมสุดท้ายในการทดสอบนี้ก็คือ Forza Horizon 5 ซึ่งก็เป็นอีกเกมที่ AMD ระบุว่ารองรับ AFMF 2 ด้วย ในภาพชุดบนก็จะเป็นการทดสอบด้วยชุด benchmark แบบปิด HYPR-RX ส่วนการตั้งค่ากราฟิกก็จะอยู่ที่ 1080p ภาพระดับ Low ตามที่ตัวเกมแนะนำมา พร้อมกับปิด Vsync ตามปกติ พบว่าได้เฟรมเรตเฉลี่ยประมาณ 99 fps ส่วน frametime ในขณะที่เป็นฉากแข่งรถก็จะอยู่ที่ประมาณ 11 ms แบบค่อนข้างนิ่ง

ForzaHorizon5 2024 11 03 23 54 00 809

ForzaHorizon5 2024 11 03 23 55 02 414

เมื่อลองเปิด HYPR-RX เข้าไปโดยที่การตั้งค่าต่าง ๆ เหมือนเดิม พบว่าเฟรมเรตลดลงมาเล็กน้อย โดยที่ frametime จะใกล้เคียงของกับตอนปิด HYPR-RX แต่ที่น่าสนใจคือตอนที่เปิด สังเกตว่ากราฟในผลสรุปการทดสอบในเกม จุดสีม่วงที่แสดงถึงการจำลองเฟรมเรตที่คำนวณโดยใช้ CPU จะมีระยะห่างจากจุดสีครีมที่เป็นการจำลองการเรนเดอร์ของ GPU ค่อนข้างกว้างกว่าตอนปิด HYPR-RX ซึ่งสื่อถึงอาการคอขวดในระบบที่แน่นอนว่าต้องเกิดอยู่แล้ว เพราะเป็นการจับคู่กับ CPU ตัวแรงกับกราฟิกแบบ iGPU

แต่จากกราฟจะเห็นว่าตอนที่เปิดจะมีช่วงกว้างกว่ามาก สื่อให้เห็นว่า CPU มีสมรรถนะที่เหลือจากการประมวลผลในเกมเพิ่มขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีและ AI ของ AMD HYPR-RX มาช่วยทำงาน จึงสามารถนำมาใช้ในจำลองได้มากกว่า และทำให้ได้เฟรมเรตจากการจำลองที่สูงและค่อนข้างนิ่งกว่า ไม่กระจายเหมือนตอนปิด HYPR-RX ที่จุดสีม่วงมีกระจายลงมาชนกับจุดสีครีมของ GPU เยอะมาก ซึ่งจากการทดสอบที่ความละเอียด การปรับค่าแบบต่าง ๆ ก็ให้ผลออกมาคล้ายกัน อันนี้ก็น่าสนใจมากว่าถ้าเป็นการจับคู่ระหว่าง AMD Ryzen AI 9 HX 370 กับชิปกราฟิกแยกแรง ๆ ซักตัว ประสิทธิภาพในเกมน่าจะพุ่งแบบก้าวกระโดดแน่นอน เพราะตัว CPU เองก็มีสมรรถนะที่สูงมากอยู่แล้ว

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 10

สรุปการเล่นเกมบน AMD Radeon 890M และแนวทางการปรับกราฟิกให้เล่นเกมได้ด้วย iGPU

จากการทดสอบ ASUS Zenbook S 16 เครื่องนี้ที่มาพร้อมกับ AMD Ryzen AI 9 HX 370 + Radeon 890M มา ก็ต้องบอกว่าเป็นกราฟิกออนบอร์ดที่สามารถใช้เล่นเกมในปัจจุบันได้จริงครับ ด้วยตัวประสิทธิภาพที่แรงขึ้นมาแบบน่าเหลือเชื่อทั้งที่เป็นเพียงแพ็คเกจย่อยเล็ก ๆ ใน CPU เท่านั้น และยังกินไฟรวมเพียงแค่ประมาณ 30W แต่สามารถเล่นเกม AAA เกมใหม่ล่าสุดอย่างพวก COD Black Ops 6 เล่น Cyberpunk 2077 รวมถึง Black Myth: Wukong ที่ความละเอียดระดับ 1080p ได้โดยที่เฟรมเรตมากกว่า 30fps และถ้าเลือกปรับกราฟิกดี ๆ ก็สามารถทำให้เฟรมเรตพุ่งขึ้นไประดับ 40-120 fps ได้เลย แล้วแต่ข้อจำกัดของแต่ละเกม ซึ่งก็พอจะไปชนกับกราฟิกชิปแยกระดับกลางในโน้ตบุ๊กรุ่นราคาสองหมื่นต้นถึงสองหมื่นกลางได้สบาย แต่ด้วยราคาของโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป AMD Ryzen AI 9 HX 370 นั้นสูงกว่า จึงทำให้กลุ่มที่น่าจะเหมาะกับตรงนี้ก็คงเป็นผู้ที่ต้องการโน้ตบุ๊กที่มีพลังประมวลผลสูง มีการใช้งาน AI ในโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อเสริมการทำงาน ส่วนในเวลาว่างก็อยากเล่นเกมบ้าง ไม่ได้เน้นว่าภาพต้องสวยคม แสงสมจริงแบบ ray tracing เต็มตัว แต่ก็ต้องการเครื่องที่บางเบา พกสะดวก ถ้าโจทย์ของคุณเป็นแบบนี้ น่าจะตรงกับเครื่องกลุ่มนี้แบบเต็ม ๆ

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ AMD Radeon 890M สามารถแสดงประสิทธิภาพออกมาได้ดีก็คือกลุ่มเทคโนโลยีที่มีอยู่ใน HYPR-RX อาทิ AFMF 2, Radeon Super Resolution และ Radeon Anti Lag เป็นต้น ที่จะทำให้การเรนเดอร์ภาพในเกมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลออกมาทั้งในแง่ของเฟรมเรตที่สูงขึ้นและ frametime ที่ต่ำลง ขึ้นอยู่กับความเข้ากันได้ของตัวเกมกับเทคโนโลยีที่น่าจะมีการรองรับมากขึ้นในอนาคต

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 28

ส่วนแนวทางในการตั้งค่าให้เล่นเกมได้ลื่น ๆ นั้น หากเป็นกราฟิกออนบอร์ด เป็น iGPU ก็แนะนำว่าให้ลองปรับความละเอียดภาพยืนพื้นที่ 1920×1080 ไว้ก่อน ตามด้วยใช้การตั้งค่ากราฟิกที่ตัวเกมเลือกมาให้ เพราะเกมในยุคใหม่ ๆ มักจะมีระบบช่วยประเมินสเปคเครื่องแล้วตั้งค่ามาให้อัตโนมัติ แล้วพิจารณาจากผล benchmark จากการเล่นจริง หรือการวัดเฟรมเรต/frametime ในเกมว่าอยู่ในระดับใด ถ้าพบว่ายังได้ไม่ค่อยดีมาก ก็ลองปรับลดรายละเอียดภาพบางจุดดูก่อน หรือลองพิจารณาดูพวกฟังก์ชันเสริมในเกมเช่น ระบบช่วยอัปสเกลภาพอย่าง FSR หรือของค่ายอื่นตามที่ตัวเกมรองรับ รวมถึงฟังก์ชันในการทำเฟรมเจ็นที่ฝั่ง AMD เองก็มีให้ใช้งานเช่นกัน

ด้านของตัวไดรเวอร์ AMD Adrenalin ก็มีส่วนช่วยในการปรับกราฟิกได้เช่นกัน โดยจะเป็นการตั้งค่ารวม ๆ ในโปรไฟล์ HYPR-RX ที่สามารถเลือกใช้งาน เลือกปรับค่าเฉพาะบางเกมได้ อันนี้แนะนำว่าเปิดไว้เลยก็ได้ครับ เพราะในเกมที่ช่วยได้มันก็มีผลจริง ๆ เช่นเฟรมเรตที่เพิ่มขึ้น หรือลดค่า frametime ให้ไม่แกว่งจนเกินไป เป็นต้น

แต่ถ้าเป็นเกมที่มีอายุหน่อย ลองปรับแล้วเฟรมเรตพุ่งกระฉูด ก็อาจจะลองเพิ่มความสวยงามให้ภาพด้วยการไล่ปรับค่ารายละเอียดพื้นผิว แสงเงา การสะท้อนแสง รวมถึงเพิ่มความละเอียดในการเรนเดอร์ภาพให้สูงขึ้น หรือจะไปใช้การเรนเดอร์แบบ 100% จากความละเอียดภาพเลยก็ได้ ซึ่งรับรองว่า AMD Radeon 890M สามารถรับมือกับเกมเก่าหน่อยได้แน่ ๆ จะใช้เล่น Crysis ภาค Remaster ก็สบาย

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

รีวิว MSI

MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ในบอดี้เรียบหรูมีพลังของ AMD Ryzen AI ซ่อนอยู่ แรงทรงพลังลุยได้ทุกงาน! ถ้าได้ใช้ของดีมีคุณภาพสักครั้ง ก็จะไม่อยากลดระดับลงไปใช้ของรองลงไปง่ายๆ เพราะได้รับรู้แล้วว่าสิ่งที่ดีเป็นอย่างไร อย่าง MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของคำพูดนี้และทางบริษัทก็ยังใส่ใจคุณภาพงานประกอบและรูปลักษณ์ภายนอกให้สวยงามไม่แพ้รุ่นก่อน ทั้งบอดี้อลูมิเนียมสีเงินและโลโก้อลูมิเนียมแสนเรียบง่ายแต่ดึงดูดสายตา แม้ไม่หวือหวาแต่ก็ดูได้ไม่เบื่อ ลงรายละเอียดในแต่ละส่วนเอาไว้ได้พอเหมาะพอดีและสอดลูกเล่นเก่าผสมใหม่มาได้พอเหมาะพอดี...

CONTENT

ปัจจุบัน โน้ตบุ๊กกลุ่มที่เน้นดีไซน์บางเบามักจะมาพร้อมจุดเด่นคือแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการเลือกใช้ชิปประมวลผลรุ่นประหยัดพลังงาน และอาจมีหน้าจอขนาดเล็กลงมาหน่อย เพื่อให้มีอัตราการกินไฟที่ลดลงเล็กน้อย แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นชิป AMD Ryzen AI 9 HX 370 ที่เป็นชิปสมรรถนะสูง แต่ก็มีค่า TDP ที่ทำได้ต่ำกว่าชิปรุ่นก่อน ทำให้ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในบทความนี้เราจะมาลองว่าใน 1 วัน ผมจะสามารถใช้งาน ASUS...

รีวิว MSI

MSI Modern 15 H AI C1MG โน๊ตบุ๊คจอใหญ่ รู้ใจคนทำงาน กาง 180 องศา Intel Core Ultra ราคาเบา เพื่อคนทำงานมีไลฟ์สไตล์ MSI Modern 15 H AI C1MG โน๊ตบุ๊คทำงานจอใหญ่ ที่มาพร้อมกับขุมพลัง...

CONTENT

ถ้าเรื่องน้ำหนักและดีไซน์เกมมิ่งไม่เป็นปัญหาและพร้อมลงทุนกับโน๊ตบุ๊คดีๆ สักเครื่อง ก็อยากแนะนำให้มาเลือกดูโน๊ตบุ๊คเล่นเกมคอมมาร์ท 2024 เอาไว้ใช้เป็นคอมส่วนตัวสักเครื่อง เพราะนอกจากมันจะเล่นเกมได้ดีสมหน้าที่แล้ว ทางผู้ผลิตเองก็ติดตั้งซีพียู, จีพียูแยกพร้อมชุดระบายความร้อนประสิทธิภาพสูงมาให้ ทำให้ทำงานได้ทุกแบบตั้งแต่งานออฟฟิศทั่วไปจนงานระดับครีเอเตอร์อย่างตัดต่อภาพกับวิดีโอได้ดีมาก ถ้าห่วงเรื่องดีไซน์ว่ามันจะดึงดูดสายตาคนอื่นเกินไป ก็มีตัวเลือกเป็นรุ่นพรีเมี่ยมหน้าตาเรียบหรูให้เลือกซื้อ นอกจากนี้ข้อดีของการซื้โน๊ตบุ๊คเล่นเกมคอมมาร์ท 2024 นอกจากของแถมและส่วนลดแล้ว การได้เลือกดูสินค้าไอทีจากหน้าร้าน ได้จับตัวจริงเช็คว่าสินค้าไม่มีปัญหาก่อนรับเครื่องได้ไม่พอ ยังหาซื้อหน่วยความจำมาอัปเกรดเพิ่มก่อนกลับบ้านและรับของสมนาคุณได้อีกหลายชิ้นอีกด้วย Advertisement จะซื้อโน๊ตบุ๊คเล่นเกมคอมมาร์ท 2024 ต้องดูเรื่องอะไรบ้าง? ข้อดีของการซื้อโน๊ตบุ๊คเล่นเกมคอมมาร์ท 2024 นอกจากมีตัวเลือกเยอะแล้ว...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก