คีย์บอร์ด iPad นอกจากที่ Apple ทำมาขายสาวกแล้ว ยังมีแบรนด์ชั้นนำทำออกมาขายอีกเพียบ
คีย์บอร์ด iPad นอกจากที่ทาง Apple ผลิตมาให้ใช้คู่กับสินค้าของตัวเองแล้ว ถ้าใครไม่ได้ยึดถือว่าจะต้องใช้เป็นสินค้าของ Apple ทั้งหมดทุกชิ้น ก็สามารถหาซื้อรุ่นที่ประสิทธิภาพดีเทียบเคียงกันในราคาที่ถูกกว่าจากผู้ผลิตอุปกรณ์เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์แบรนด์อื่นๆ ได้สบายๆ และอาจจะมีฟีเจอร์ที่มีประโยชน์อื่นๆ เช่น สลับการทำงานระหว่างอุปกรณ์ชิ้นอื่นที่เชื่อม Bluetooth เอาไว้กับคีย์บอร์ดตัวนี้ หรือดีไซน์บางเฉียบพกง่ายก็มีให้เลือกด้วย
โดยเฉพาะแบรนด์ชั้นนำอย่าง Logitech ที่ผลิตเมาส์และคีย์บอร์ดออกมาเรื่อยๆ หรือ Keychron ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องก็มีคีย์บอร์ดหรือเคสพร้อมคีย์บอร์ดสำเร็จรูปออกมาให้ซื้อไปใช้กับ iPad ได้เลย แต่สำหรับใครที่เลือกซื้อเป็นคีย์บอร์ดแยกโดยเฉพาะเลย ก็จะเอาไปต่ออุปกรณ์อื่นนอกจาก iPad อย่างพีซีหรือโน๊ตบุ๊คก็ได้ ทำให้ซื้อของชิ้นเดียวแต่ใช้ได้หลายอุปกรณ์พร้อมกันเลย
6 คีย์บอร์ด iPad ซื้อเอาไว้ใช้ พิมพ์งานสะดวกสบาย พกไปไหนมาไหนก็ได้
ถ้าใครเพิ่งซื้อ iPad ตัวใหม่มาใช้งาน แต่เห็นราคา Magic Keyboard แล้วกลุ้มใจ จะหาแบรนด์ทางเลือกราคาไม่แพงมากมาใช้งานแทนล่ะก็ ตอนนี้ก็มีคีย์บอร์ดจากผู้ผลิตรายอื่นให้เลือกหลายรุ่น ใช้งานได้ทั้ง iPadOS, macOS, Windows เลยทีเดียว โดยรุ่นที่เลือกมาแนะนำได้แก่
- Nubwo Promise NKB100 (280 บาท)
- Ajazz 308i (590 บาท)
- Logitech K380 (1,590 บาท)
- Keychron K3 (64 ดอลลาร์ หรือราว 2,100 บาท)
- Logitech Slim Folio (3,499 บาท)
- Logitech Combo Touch (6,499 บาท)
1. Nubwo Promise NKB100 (280 บาท)
คีย์บอร์ดรุ่นแรกที่ผู้เขียนเลือกมาแนะนำ เป็น Nubwo Promise NKB100 ที่หลายๆ คนน่าจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง และผู้เขียนเองก็เคยใช้คีย์บอร์ดรุ่นนี้กับ iPad ของตัวเองมาระยะหนึ่ง โดยตัวคีย์บอร์ดจะบางและด้านใต้คีย์บอร์ดเป็นแม่เหล็กทำให้ดูดติดกับฝาพับของเคส iPad ได้เลย แต่จุดสังเกตที่ผู้เขียนพบระหว่างใช้งาน คือถ้าเป็นคนพิมพ์งานเร็วเกิน 70 คำ/นาที ตัว Bluetooth จะส่งสัญญาณไป iPad ไม่ทันบ้าง หรือมีอาการหน่วงในบางครั้ง ดังนั้นถ้าใครเป็นคนพิมพ์เร็วอาจจะมองข้ามรุ่นนี้ไปก่อนจะดีกว่า
สเปคของคีย์บอร์ดตัวนี้เป็นดีไซน์แบบบาง 78 สวิตช์ ใช้สวิตช์แบบ Scissor switch ที่ตอบสนองได้ดี เชื่อมต่อ Bluetooth เข้ากับอุปกรณ์ที่เป็น Android, iOS, Windows, macOS ได้เลย มีแบตเตอรี่ในตัว 110 mAh ซึ่งทางผู้ผลิตเคลมว่าใช้งานต่อเนื่องได้นาน 40 ชั่วโมง เวลาจับคู่กับ iPad สามารถกดปุ่ม Connect ค้างไว้สักครู่แล้วจับคู่กับ iPad ใช้งานได้เลย
สเปคของ Nubwo Promise NKB100
- คีย์บอร์ดดีไซน์บาง 78 ปุ่ม ใช้สวิตช์แบบ Scissor switch ที่ปุ่มสกรีนภาษาไทยไว้
- เชื่อมต่อด้วย Bluetooth เข้ากับพีซีหรือแท็บเล็ตได้
- แบตเตอรี่ในตัว 110 mAh ใช้งานได้นานสุด 40 ชั่วโมง
- รองรับระบบปฏิบัติการ Android, iOS, Windows, macOS
- ราคา 280 บาท (Shopee)
2. Ajazz 308i (590 บาท)
สำหรับคีย์บอร์ด iPad ของ Ajazz รุ่น Ajazz 308i ที่ผู้เขียนเลือกมาแนะนำด้วยดีไซน์เรโทรย้อนยุคเหมือนพิมพ์ดีดแต่ฟีเจอร์และสีสันสวยงามเลือกได้ 7 สีด้วยกัน ด้านสเปค Ajazz 308i เป็นคีย์บอร์ด Rubberdome ขนาด 75% จำนวน 84 ปุ่ม มี Multimedia Key ที่ F1-F12 ใช้งานโดยกดปุ่ม Fn ค้างไว้ก่อนกด ใช้คุมแท็บเล็ตหรือโน้ตบุ๊คที่เชื่อมต่อผ่านทาง Bluetooth 3.0 ได้ด้วย เวลาจับคู่สามารถกด Fn+C เพื่อจับคู่ได้เลย ใช้แบตเตอรี่ AAA x 2 ก้อน โดยผู้ผลิตเคลมว่าถ้าใช้งานวันละ 8 ชั่วโมงต่อเนื่องจะใช้ได้นานสุด 1 สัปดาห์เต็ม รองรับระบบปฏิบัติการ Windows, macOS, iOS, Android โดยกดสลับโหมดจับคู่ที่ปุ่ม Q, W, E ซึ่งถ้าใครใช้หลายๆ อุปกรณ์พร้อมกัน ก็แนะนำให้ซื้อตัวนี้มาใช้งานได้เลย
สเปคของ Ajazz 308i
- คีย์บอร์ด Rubberdome ขนาด 75% จำนวน 84 ปุ่ม เลือกได้ 7 สี มี Multimedia Key ให้ใช้งานได้ด้วย
- เชื่อมต่อด้วย Bluetooth 3.0 เข้ากับพีซีหรือแท็บเล็ตได้ 3 เครื่อง กดสลับได้ที่ Q, W, E
- ใช้แบตเตอรี่ AAA x 2 ก้อน สามารถใช้งานได้นาน 1 สัปดาห์
- รองรับระบบปฏิบัติการ Android, iOS, Windows, macOS
- ราคา 590 บาท (Neugadget Shopee)
3. Logitech K380 (1,590 บาท)
ถ้าพูดถึงคีย์บอร์ดทั้งมีหรือไร้สาย ยังไงก็มี Logitech เป็นรุ่นแนะนำให้คนที่หาคีย์บอร์ด iPad อยู่ โดยเฉพาะรุ่น Logitech K380 ที่เป็นคีย์บอร์ด Rubber dome ดีไซน์ 75% พร้อม Multimedia Key สกรีนปุ่มเป็นภาษาอังกฤษรวมเลเยอร์ของ Windows และ macOS เอาไว้รวมกัน เลือกได้ 4 สี ส่วนจุดเด่นของคีย์บอร์ดนี้ คือประหยัดแบตเตอรี่มาก เพราะใช้แบตเตอรี่ AAA x 2 ก้อน ก็อยู่ได้นานสุด 2 ปี เชื่อมต่อ Bluetooth 3.0 ได้ 3 อุปกรณ์ กดสลับที่ปุ่ม F1-F3 ได้เลย รองรับทั้ง Windows, macOS, iPadOS, iOS, Chrome OS, Android และยังโหลด Logitech Flow, Logitech Options มาใช้ควบคู่กับคีย์บอร์ดนี้ได้ด้วย ส่วนของขนาดคีย์บอร์ดจัดว่าเล็กพกพาง่ายจะใส่กระเป๋าคู่กับ iPad ไปไหนมาไหนหรือจะวางเอาไว้ประจำโต๊ะทำงานก็เวิร์คทั้งคู่เลย
สเปคของ Logitech K380
- คีย์บอร์ด Rubberdome ขนาด 75% เลือกได้ 4 สี มี Multimedia Key ให้ใช้งาน
- เชื่อมต่อด้วย Bluetooth 3.0 เข้ากับพีซีหรือแท็บเล็ตได้ 3 เครื่อง กดสลับที่ F1-F3
- ใช้แบตเตอรี่ AAA x 2 ก้อน สามารถใช้งานได้นาน 2 ปี
- รองรับระบบปฏิบัติการ Windows, macOS, iPadOS, iOS, Chrome OS, Android
- ราคา 1,590 บาท (Logitech Shopee Mall)
4. Keychron K3 (64 ดอลลาร์ หรือราว 2,100 บาท)
สำหรับ Keychron ที่เป็น Mechanical Keyboard ต่อบลูทูธได้ยอดนิยมแบรนด์หนึ่งเลยทีเดียว แต่ถ้าจะหาคีย์บอร์ด iPad ที่พกไปไหนมาไหนได้ง่ายๆ ใส่กระเป๋าคีย์บอร์ดแล้วจบล่ะก็ แนะนำให้ดูเป็น Keychron K3 ที่เป็นคีย์บอร์ด Low Profile หรือคีย์บอร์ดปุ่มเตี้ยตัวบางแทน ส่วนสเปคจะเป็น Low Profile Mechanical Keyboard จำนวน 84 ปุ่ม ตัวเฟรมเป็นอลูมิเนียมคีย์แคป ABS พร้อมแคปเสริมสำหรับเปลี่ยนเป็นเลย์เอ้าท์ของ macOS ได้ด้วย ติด Multimedia Key มาให้พร้อมใช้งาน สวิตช์ที่ใช้เป็น Gateron Low Profile เลือกได้ทั้ง Blue, Red, Brown ตามรสนิยมของแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีขาตั้ง 2 ระดับ ปรับความสูงได้ 6, 9 องศา ส่วนการเชื่อมต่อรองรับ Bluetooth 5.1 หรือ USB-C ก็ได้ มากสุด 3 เครื่อง ติดตั้งแบตเตอรี่มาให้ในตัว 1,550 mAh โดยทางบริษัทเคลมว่าคีย์บอร์ดนี้ใช้งานต่อเนื่องได้นานสุด 1 เดือน รองรับระบบปฏิบัติการ Windows, Android, macOS, iOS อีกด้วย ซึ่งถ้าใครต้องการคีย์บอร์ด iPad ที่เป็น Mechanical Keyboard ล่ะก็ แนะนำให้ซื้อ Keychron K3 ตัวนี้ไปได้เลย
สเปคของ Keychron K3
- Mechanical Keyboard ขนาด 75% แบบ 84 ปุ่ม พร้อมปุ่ม Multimedia Key สวิตช์เป็น Gateron Low Profile เลือกได้ 3 สี ได้แก่ Blue, Red, Brown
- เชื่อมต่อด้วย Bluetooth 5.1 เข้ากับพีซีหรือแท็บเล็ตได้ 3 เครื่อง หรือ USB-C
- แบตเตอรี่ในตัว 1,550 mAh ทางบริษัทเคลมว่าใช้งานต่อเนื่องได้ 1 เดือนเต็ม
- รองรับระบบปฏิบัติการ Windows, Android, macOS, iOS
- ราคา 64 ดอลลาร์ หรือราว 2,100 บาท (Keychron)
5. Logitech Slim Folio (3,499 บาท)
ถ้า Apple มี Magic Keyboard ที่เป็นเคสรวมพร้อมคีย์บอร์ดสำหรับ iPad ล่ะก็ Logitech เองก็มี Logitech Slim Folio ที่เป็นรุ่นทางเลือกและมีขายในเว็บไซต์ของทาง Apple เองอีกด้วย โดยคุณสมบัติของมันเรียกว่าแทบจะไม่ต่างกับ Magic Keyboard เลย ทั้งเป็นเคสป้องกันตัวเครื่องและมีที่เก็บปากกา Apple Pencil รุ่นแรก หรือ Logitech Crayon เป็นห่วงอยู่ด้านข้างเครื่องอีกด้วย โดยคีย์บอร์ดพร้อมเคสตัวนี้จะเชื่อมต่อ Bluetooth กับ iPad 7th Gen หรือ 8 th Gen ส่วนแบตเตอรี่เป็นถ่านกระดุมฝังในตัวใช้งานต่อเนื่องได้ 4 ปี โดยไม่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ก็ได้ ตัวคีย์บอร์ดออกแบบมาเพื่อ iPad โดยเฉพาะและมี Multimedia Key ติดตั้งไว้ขอบด้านบนสุดของคีย์บอร์ด และสามารถพับตัวเคสได้มากสุด 3 โหมด คือ โหมดวาด, พิมพ์งานหรืออ่านหนังสือ โดยตัวคีย์บอร์ดเคสนี้ใช้กับ iPad 5 – 8th Gen และ iPad Air 3th Gen ได้เลย
สเปคของ Logitech Slim Folio
- คีย์บอร์ดติดเคส พร้อม Multimedia Key
- เชื่อมต่อด้วย Bluetooth เข้ากับ iPad เพื่อใช้งาน มีช่องเก็บ Apple Pencil รุ่นแรก
- แบตเตอรี่ถ่านกระดุมในตัว ใช้งานได้นาน 4 ปี
- ใช้งานได้เฉพาะ iPad รองรับรุ่น iPad 5 – 8th Gen หรือ iPad Air 3th Gen
- ราคา 3,490 บาท (Apple Thailand)
6. Logitech Combo Touch (6,499 บาท)
ตัว Logitech Combo Touch จะเป็นเคสคีย์บอร์ด iPad จาก Logitech แต่รุ่นนี้ออกแบบมาเพื่อ iPad Pro 11 นิ้ว รุ่นที่ 1-3, iPad Pro 12.9 นิ้ว รุ่นที่ 5 และ iPad Air รุ่นที่ 4 โดยตัวนี้จะเป็นเคสรอบตัวแล้วเชื่อมต่อและจ่ายพลังงานให้คีย์บอร์ดผ่านทาง Smart Connector ที่ด้านหลังของตัว iPad Pro ได้เลย โดยคีย์บอร์ดนี้เป็นเลย์เอ้าท์แบบ Magic Keyboard พร้อมทัชแพดซึ่งใช้คุมการทำงานตัว iPad ได้ด้วย ตัวคีย์บอร์ดจะเป็นผ้าทอเนื้อลื่น ให้ความสวยงามและแข็งแรงและมี Multimedia Key ติดตั้งมาให้ใช้ครบถ้วน สามารถถอดคีย์บอร์ดแยกออกจากเคสและกางขาตั้งตัวเครื่องได้ด้วย รวมทั้งตัวเคสยังเว้นเพื่อติด Apple Pencil รุ่นที่ 2 ให้ด้วย เรียกว่าเป็นตัวเลือกทดแทน Magic Keyboard ที่ดีรุ่นหนึ่งเลย
สเปคของ Logitech Combo Touch
- คีย์บอร์ดติดเคส พร้อม Multimedia Key สามารถถอดคีย์บอร์ดออกจากตัวเคสได้ มีขาตั้งตัว iPad ในตัว
- เชื่อมต่อด้วย Smart Connector เข้ากับด้านหลัง iPad ได้ เว้นตัวเคสเพื่อติด Apple Pencil รุ่นที่ 2 ด้วย
- ใช้ได้เฉพาะ iPad Pro 11 นิ้ว รุ่นที่ 1-3, iPad Pro 12.9 นิ้ว รุ่นที่ 5, iPad Air รุ่นที่ 4
- ราคา 6,499 บาท (Mercular)
สรุปสเปคคีย์บอร์ด iPad ทั้ง 6 รุ่น สอยมาทำงานยังไงก็เวิร์ค
ตัวคีย์บอร์ด iPad ในปัจจุบันนี้ เรียกว่ามีตัวเลือกให้เลือกซื้อหลากหลายรุ่นตั้งแต่ราคาถูกไปจนของตรงรุ่นเลยทีเดียว สำหรับสเปคโดยสรุปแล้วจะเป็นดังนี้
สเปคคีย์บอร์ด iPad | ดีไซน์และจำนวนปุ่ม | การเชื่อมต่อและระบบปฏิบัติการที่รองรับ | ระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่ | ราคา |
Nubwo Promise NKB100 | ดีไซน์บาง 78 ปุ่ม คีย์บอร์ดแบบ Scissor switch |
เชื่อมต่อ Bluetooth รองรับระบบปฏิบัติการ Android, iOS, Windows, macOS |
ใช้งานได้ นานสุด 40 ชั่วโมง |
280 บาท |
Ajazz 308i | Rubberdome ขนาด 75% จำนวน 84 ปุ่ม พร้อม Multimedia Key | Bluetooth 3.0 เชื่อมต่อได้ 3 อุปกรณ์ รองรับระบบปฏิบัติการ Android, iOS, Windows, macOS |
แบตเตอรี่ AAA x 2 ก้อน ใช้งานได้นาน 1 สัปดาห์ |
590 บาท |
Logitech K380 | Rubberdome ขนาด 75% จำนวน 84 ปุ่ม พร้อม Multimedia Key | Bluetooth 3.0 เชื่อมต่อได้ 3 อุปกรณ์ รองรับระบบปฏิบัติการ Windows, macOS, iPadOS, iOS, Chrome OS, Android |
แบตเตอรี่ AAA x 2 ก้อน ใช้งานได้นาน 2 ปี |
1,590 บาท |
Keychron K3 | Mechanical Keyboard ขนาด 75% แบบ 84 ปุ่ม พร้อมปุ่ม Multimedia Key สวิตช์ Gateron Low Profile เลือกได้ 3 สี |
Bluetooth 5.1 เชื่อมต่อได้ 3 เครื่อง หรือ USB-C รองรับระบบปฏิบัติการ Windows, Android, macOS, iOS |
แบตเตอรี่ในตัว 1,550 mAh ใช้งานได้นาน 1 เดือน |
64 ดอลลาร์ หรือราว 2,100 บาท |
Logitech Slim Folio |
คีย์บอร์ดติดเคสพร้อม Multimedia Key | เชื่อมต่อด้วย Bluetooth ใช้ได้เฉพาะ iPad 5 – 8th Gen หรือ iPad Air 3th Gen |
แบตเตอรี่แบบถ่านกระดุมในตัว ใช้งานได้นาน 4 ปี | 3,490 บาท |
Logitech Combo Touch | คีย์บอร์ดติดเคสพร้อม Multimedia Key ถอดคีย์บอร์ดออกจากตัวเคสได้และมีขาตั้งตัวเครื่องในตัว |
เชื่อมต่อด้วย Smart Connector ใช้ได้เฉพาะ iPad Pro 11 นิ้ว รุ่นที่ 1-3, iPad Pro 12.9 นิ้ว รุ่นที่ 5, iPad Air รุ่นที่ 4 |
ใช้แบตเตอรี่จาก iPad | 6,499 บาท |
สำหรับคีย์บอร์ด iPad นั้น ส่วนตัวผู้เขียนอยากแนะนำให้ผู้สนใจเลือกซื้อเป็นคีย์บอร์ดแบบ Bluetooth ไปใช้งานเลย นั่นเพราะคีย์บอร์ดประเภทนี้สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้หลายเครื่องพร้อมๆ กัน แต่ในกรณีของคีย์บอร์ด iPad แบบเป็นเคสในตัวด้วยก็น่าสนใจ เพราะซื้อทีเดียวก็เป็นเคสให้แท็บเล็ตไปพร้อมๆ กันเลย เรียกว่าซื้อทีเดียวไม่ต้องหาอะไรเพิ่มนอกจากจะหาซื้อ Apple Pencil หรือ Logitech Crayon มาใช้งานเพิ่มเติมก็คุ้มเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ขอย้ำเช่นเดิมว่าให้คิดถึงโจทย์การใช้งานของตัวเองให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อน ว่าเราจะใช้งานเฉพาะที่แท็บเล็ตอย่างเดียวหรือจะสลับใช้งานกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นด้วย ซึ่งถ้าตัดสินใจได้แล้วว่าโจทย์การใช้งานของเราเป็นแบบใด ก็ค่อยเลือกซื้อจะดีที่สุด