รวม 10 SSD 1TB ตัวเด็ดที่ควรเอามาใส่พีซี เพิ่มความแรง เปิดโปรแกรมไวทันใจ!
ยุคนี้จะคอมทำงานหรือเกมมิ่งพีซี ถ้าผู้ใช้มีงบประมาณประกอบหรืออัพเกรดคอม หันมาเลือกหาซื้อ SSD 1TB มาใช้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะราคาใกล้เคียงกับฮาร์ดดิสก์แบบเก่าที่เคยใช้กัน แลกกับประสิทธิภาพในการเรียกเปิดโปรแกรมต่าง ๆ และเกมได้เร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งยังทนทานใช้งานได้หลายปี ก็ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าโน๊ตบุ๊คแทบทุกรุ่นในปัจจุบัน ผู้ผลิตจะติดตั้ง SSD มาให้จากโรงงานแล้ว โดยมีความจุตั้งแต่ 256GB – 1TB ตามระดับราคานั่นเอง
ซึ่งในตอนนี้ SSD ก็มีให้เลือกหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบ 2.5″ SATA III SSD แบบเดียวกับฮาร์ดดิสก์ทั่วไป ช่วยให้ผู้ใช้ที่มีคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊ครุ่นเก่า ๆ แล้วยังไม่อยากเปลี่ยนเครื่อง ก็เลือกถอดเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์เก่าใส่ SSD ให้พีซีทำงานเร็วขึ้น หรือถ้าโน๊ตบุ๊คเครื่องไหนมีพอร์ต M.2 ติดตั้งมา ก็ใส่ M.2 NVMe เพื่ออัพเกรดเครื่องให้ทำงานได้เร็วขึ้นได้ด้วย อย่างไรก็ตาม การเลือกนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวเครื่องของเราเป็นหลักว่ามีพอร์ตแบบไหนติดตั้งมาบ้าง
สารบัญเนื้อหา
- เปิดฝาดูพอร์ต พีซีหรือโน๊ตบุ๊คของเราใส่ SSD 1TB แบบไหนได้บ้าง
- 10 SSD 1TB ตัวแรงที่คุณห้ามพลาด อัพเกรดแล้วเครื่องเร็วได้ใจ!
เปิดฝาดูพอร์ต พีซีหรือโน๊ตบุ๊คของเราใส่ SSD 1TB แบบไหนได้บ้าง?
เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่อยากเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์เก่าเป็น SSD ให้เครื่องของเราทำงานได้เร็วขึ้น อาจจะตรงเข้าเว็บไซต์หรือไปร้านแล้วกดสั่งซื้อมาใส่เครื่องทันที ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าเครื่องของเรารองรับ SSD ได้ถึงระดับไหน ซึ่งนั่นเป็นวิธีที่ไม่แนะนำนัก ยกเว้นว่าเรามั่นใจว่าพีซีหรือโน๊ตบุ๊คของเราเป็นเมนบอร์ดรุ่นค่อนข้างเก่าแล้ว จะเลือกซื้อแบบ 2.5″ SATA III มาใส่ก็ไม่ผิดเช่นกัน แต่ถ้าให้ผู้เขียนแนะนำจากประสบการณ์ตรงแล้วจะขอเรียงลำดับขั้นตอนดังนี้
1. เปิดฝาเครื่อง
ถ้าเรารู้ว่าเครื่องของเรามีพอร์ตอะไรบ้าง จะช่วยให้เจ้าของเครื่องเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าพีซีเครื่องนี้ สามารถใส่ SSD แบบไหนเข้าไปได้บ้าง โดยวิธีการเปิดให้เริ่มต้นขันน็อตยึดใต้ฝาเครื่องออกมาให้หมดแล้วค่อย ๆ เอาการ์ดสอดไล่ตามขอบเพื่อให้ฝาหลังคลายตัวแล้วถอดออกได้ง่าย ๆ และไม่ควรใช้แรงงัดเยอะ ๆ เพราะจะทำให้ฝาหลังโน๊ตบุ๊คเสียหายได้
สำหรับผู้ใช้ที่อยากลองเปลี่ยน SSD ด้วยตัวเองแต่ยังไม่เคยทำมาก่อน สามารถดูคลิปวิธีทำที่ทาง Notebookspec เคยทำเอาไว้ได้ที่คลิปด้านล่างนี้
2. สำรวจพอร์ตทุกจุดในเครื่อง ดูกันชัด ๆ ว่าผู้ผลิตให้พอร์ตอะไรเรามาบ้าง?
เมื่อเปิดเครื่องมาแล้ว เราจะเห็นแผงวงจรที่เรียกกันว่าเมนบอร์ดของพีซีหรือโน๊ตบุ๊คอยู่พร้อมกับช่องพอร์ตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแรม, แบตเตอรี่หรือแม้แต่พอร์ตที่เราไม่รู้จักหน้าค่าตามันมาก่อนด้วย ซึ่งพอร์ตที่ควรโฟกัสเมื่อต้องการใส่ SSD จะมีอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ
1. พอร์ต M.2 – พอร์ตสำหรับใส่ฮาร์ดดิสก์แบบ M.2 SATA หรือ NVMe ก็ได้ ซึ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ ๆ จะติดตั้ง SSD มาให้ หรือเป็นช่องว่าง ๆ เอาไว้แล้วใส่ฮาร์ดดิสก์จานหมุนแบบเก่ามาให้ก็ได้ ซึ่งถ้ามีพอร์ตนี้อยู่ก็สามารถติดตั้ง M.2 SSD เข้าไปได้เลย ซึ่งหน้าตาของ SSD ว่าเป็นแบบ M.2 SATA หรือ M.2 NVMe นั้น ผู้เขียนได้อธิบายเอาไว้ในบทความ “แนะนำ 4 กล่อง SSD ใส่ NVMe ใช้เซฟงานได้ Clone Windows ก็ดี” แล้ว สามารถอ่านเพิ่มเติมได้เลย
เมื่อติดตั้งแล้วก็จะเป็นอย่างในภาพตัวอย่าง ถ้าเป็นเมนบอร์ดของพีซีและโน๊ตบุ๊คยุคใหม่ ๆ จะมีพอร์ตนี้ติดตั้งมาให้อย่างน้อย 1 ช่องแล้ว ซึ่งถ้าโน๊ตบุ๊คหรือพีซีของเรามีพอร์ตนี้อยู่ ก็ซื้อ SSD 1TB รุ่นที่ต้องการมาติดตั้งได้เลย
กลับกัน ถ้าอยากใช้ M.2 NVMe แต่พีซีของเราไม่มีพอร์ต ก็ใช้ M.2 PCIe Card ต่อเพิ่มเติมแทนก็ได้ ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปบนอินเตอร์เน็ตและร้านอุปกรณ์คอมต่าง ๆ โดยต่อเข้าพอร์ตการ์ดจอแทน ซึ่งถ้าใครใช้การ์ดจอตัวเดียวอยู่แล้ว ก็ใช้ M.2 PCIe Card นี้แทนก็ได้
2. พอร์ต SATA III ที่ต่อฮาร์ดดิสก์อยู่
พอร์ต SATA III สำหรับใส่ฮาร์ดดิสก์ 2.5″ นั้น เรียกว่าเป็นพอร์ตมาตรฐานที่ติดตั้งเอาไว้ในโน๊ตบุ๊คทุกเครื่องอยู่แล้ว ซึ่งถ้าใครต้องการตัวเลือกเซฟ ๆ หรือโน๊ตบุ๊คเครื่องนั้นเป็นเครื่องทำงานทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องใช้ฮาร์ดดิสก์ที่เร็วมาก แค่ SATA III ก็เพียงพอแล้ว จะเลือก 2.5″ SATA III SSD มาใส่ก็โอเคเช่นกัน
สำหรับคนที่กำลังติดใจสงสัยว่า M.2 NVMe และ 2.5″ SATA III SSD นั้น มีข้อดีข้อสังเกตแตกต่างกันอย่างไรบ้าง สามารถอ่านรายละเอียดในบทความ “SSD รุ่นไหนดี มาดู NVMe 6 รุ่นนี้ได้เลย สเปคดีฟีเจอร์เด็ดแน่” เพื่อดูข้อแตกต่างของ SSD ทั้งสองแบบประกอบการตัดสินใจได้เลย
10 SSD 1TB ตัวแรงที่คุณห้ามพลาด อัพเกรดแล้วเครื่องเร็วได้ใจ!
SSD 1TB รุ่นแนะนำที่สเปคคุ้มค่ากับราคานั้น ปัจจุบันนี้มีให้เลือกทั้งแบบ 2.5″ SATA III SSD และ M.2 NVMe ซึ่งสามารถอัพเกรดโน๊ตบุ๊คหรือพีซีรุ่นเก่าให้ทำงานได้เร็วขึ้นอีกหลายเท่าทีเดียว โดยจะมีรุ่นแนะนำจากผู้เขียนดังนี้
2.5″ SATA III SSD
- HIKVISION MIDER 960GB (3,590 บาท)
- ADATA SU630 960GB (3,650 บาท)
- WD Blue SATA SSD 1TB (3,790 บาท)
- Kingston C600 1TB (4,390 บาท)
- Samsung 870 EVO (4,590 บาท)
M.2 NVMe SSD
- WD Blue SN550 1TB (3,990 บาท)
- Kingston KC2500 1TB (6,190 บาท)
- Samsung 980 PRO (7,590 บาท)
- ADATA SX8200 PRO (7,790 บาท)
- WD Black SN850 1TB (8,590 บาท)
1. HIKVISION MIDER 960GB (3,590 บาท)
Hikvision Minder เป็น SSD 1TB ตัวแรกจากผู้ผลิตกล้องวงจรปิดที่มีชื่อเสียงจากแผ่นดินใหญ่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทย และ 2.5″ SATA III SSD ก็ยังคงเอกลักษณ์ความแข็งแรงทนทานของทางบริษัทเอาไว้เช่นเดิม
สเปคของ Hikvision Minder เป็น SSD แบบ 3D NAND ค่า Sequential Read 550MB/s, Sequential Write 480MB/s เชื่อมต่อผ่านพอร์ต SATA III ช่องเดียวกับฮาร์ดดิสก์ทั่วไป ค่าความทนทาน 650 TBW พร้อมการรับประกัน 3 ปี เรียกว่าทนทานและสามารถใช้งานได้นานไม่แพ้ M.2 NVMe หลาย ๆ รุ่นในปัจจุบันทีเดียว
สเปคของ Hikvision Miner 960GB
- SSD ขนาด 2.5″ แบบ 3D NAND เชื่อมต่อผ่านพอร์ต SATA III
- Sequential Read 550MB/s
- Sequential Write 480MB/s
- ความทนทาน 650 TBW ประกัน 3 ปี
- ราคา 3,590 บาท (Advice)
2. ADATA SU630 960GB (3,650 บาท)
ADATA แบรนด์ไต้หวันเองก็มี SSD ความจุ 1TB รุ่นราคาไม่แพงและสเปคดีให้เลือกซื้อเช่นกัน โดยเป็นรุ่น ADATA SU630 สำหรับคนที่อยากได้ความจุเยอะ มีข้อดีเรื่องคอนโทรลเลอร์คุมการทำงานได้ดีและเสถียร อ่านเขียนได้เร็วตามที่ทางบริษัทเคลมเอาไว้ ถ้าใครอยากอ่านรีวิวได้ที่นี่
สเปคของ ADATA SU630 จะเป็น 2.5″ SATA III SSD แบบ 64-layer 3D QLC NAND มีค่า TBW อยู่ 200 TBW ซึ่งถือว่าเยอะพอควร สามารถใช้งานได้นานระดับหนึ่ง ค่า Sequential Read 520MB/s, Sequential Write 450MB/s ใช้คอนโทรลเลอร์ของ Maxio Technology รุ่น MAS0902A-B2C ทำงานได้ราว 1.5 ล้านชั่วโมง (MTBF) ซึ่งจากประสบการณ์การใช้งานของผู้เขียนทีใช้ SSD ของ ADATA รุ่นค่อนข้างเก่าอย่าง ADATA SP550 มาร่วม 5 ปีแล้ว สามารถพูดได้ SSD แบรนด์นี้ทำงานได้เสถียรและเร็วทีเดียว จะเอาไว้ทำงานหรือเล่นเกมก็จัดว่าดีทั้งคู่ ไม่มีปัญหาระหว่างใช้งานเลย
สเปคของ ADATA SU630
- SSD ขนาด 2.5″ แบบ 64-layer 3D QLC NAND เชื่อมต่อผ่านพอร์ต SATA III
- คอนโทรลเลอร์ของ Maxio Technology รุ่น MAS0902A-B2C
- Sequential Read 520MB/s
- Sequential Write 450MB/s
- ความทนทาน 200 TBW ทำงานได้ราว 1.5 ล้านชั่วโมง (MTBF)
- ราคา 3,650 บาท (Advice)
3. WD Blue SATA SSD 1TB (3,790 บาท)
ถ้าเป็น 2.5″ SATA III SSD 1TB ก็ต้องมี WD Blue SATA 1TB รวมอยู่ด้วย และเชื่อว่าจะเป็น SSD แบรนด์ชั้นนำในใจของผู้ใช้หลาย ๆ คน ข้อดีของ WD Blue คือเป็น SSD ที่ Western Digital สร้าง Controller ใช้คุมการทำงานของ SSD เอง สามารถทำงานได้เสถียรและอ่านเขียนข้อมูลได้ค่อนข้างเร็วมากในกลุ่ม SATA III SSD ด้วยกัน
สเปคของ WD Blue SATA SSD 1TB เป็น 3D NAND SATA SSD ความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูล Sequential Read 560MB/s และ Sequential Write 530MB/s ความทนทาน 400 TBW ทำงานได้ยาวนาน 1.75 ล้านชั่วโมงจนกว่าจะเสียหาย (MTTF) รับประกันยาว 5 ปี ซึ่งถ้าใครหา SSD ตัวใหม่ใส่โน๊ตบุ๊คหรือจะเป็น SSD ตัวเสริมเอาไว้ลงเกมในเกมมิ่งพีซี จะเลือกตัวนี้ไปใช้ก็จัดว่าดีเช่นกัน
สเปคของ WD Blue SATA SSD
- SSD ขนาด 2.5″ แบบ 3D NAND SATA SSD เชื่อมต่อผ่านพอร์ต SATA III
- คอนโทรลเลอร์ของ Western Digital
- Sequential Read 560MB/s
- Sequential Write 530MB/s
- ความทนทาน 400 TBW ทำงานได้ราว 1.75 ล้านชั่วโมง (MTTF)
- ราคา 3,790 บาท (Advice)
4. Kingston C600 1TB (4,390 บาท)
2.5″ SATA III SSD 1TB รุ่น Kingston C600 จากผู้ผลิตหน่วยความจำและแรมชั้นนำอย่างแน่นอน ซึ่งแม้ความเร็วและความทนทานจะไล่เลี่ยกับแบรนด์อื่น ๆ ก็ตาม แต่มีการฝังระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลอย่าง XTS-AES 256-bit มาให้ เลือกซื้อได้ระหว่างตัว SSD อย่างเดียวหรือต้องการแบบ Upgrade Kit ที่มีสาย SATA และตัวกล่องติดตั้ง SSD ก็ได้ ดังนั้นถ้าใครเน้นเรื่องความปลอดภัยไม่อยากให้ข้อมูลถูกขโมยไปใช้งานได้ง่าย ๆ ก็ควรเลือก Kingston C600 เอาไว้ในลิสท์ด้วย
สเปคจะเป็น SSD ใช้ 3D TLC NAND มีความเร็ว Sequential Read 550MB/s, Sequential Write 520MB/s ความทนทาน 600 TBW ส่วนชั่วโมงการใช้งาน 1 ล้านชั่วโมง (MTBF) คุมการทำงานด้วยคอนโทรลเลอร์รุ่น SM2259 ที่ได้เรื่องความเสถียร ไม่มีปัญหาเรื่องความเร็วตกมารบกวนระหว่างใช้งานแน่นอน รวมกับการใส่ฟีเจอร์รักษาความปลอดภัย XTS-AES 256-bit เอาไว้ จึงเหมาะจะใช้เป็น SSD สำหรับคอมทำงานหรือเล่นเกมก็ได้เช่นกัน
สเปคของ Kingston C600
- SSD ขนาด 2.5″ แบบ 3D TLC NAND เชื่อมต่อผ่านพอร์ต SATA III
- คอนโทรลเลอร์รุ่น SM2259
- Sequential Read 550MB/s
- Sequential Write 520MB/s
- ความทนทาน 600 TBW ทำงานได้ราว 1 ล้านชั่วโมง (MTBF)
- ราคา 4,390 บาท (Advice)
5. Samsung 870 EVO (4,590 บาท)
อดีตเทพที่ยังน่าใช้งานอยู่อย่าง Samsung 870 EVO ก็เป็น SSD 1TB สเปคดีและอ่านเขียนข้อมูลได้รวดเร็วอีกรุ่นหนึ่ง รวมทั้งมีซอฟท์แวร์ Samsung Intelligent TurboWrite เข้ามาเสริมความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น จับคู่กับ Samsung Magician software เอาไว้อัพเดทเฟิร์มแวร์สำหรับคุมและปรับแต่งการทำงานให้ดีขึ้น, เช็คค่า TBW, เข้ารหัสข้อมูลของ SSD ได้อีกด้วย
สเปคของ Samsung 870 EVO จะใช้ Samsung V-NAND 3bit MLC กับคอนโทรลเลอร์ Samsung MKX เอาไว้คุมการทำงานทั้งหมด มีการเข้ารหัสแบบ AES 256-bit อีกด้วย ความเร็ว Sequential Read 560MB/s และ Sequential Write 530MB/s ความทนทาน 600 TBW ประกันการใช้งาน 5 ปี ทำงานได้นาน 1.5 ล้านชั่วโมง (MTBF) ถ้าใครทุนทรัพย์ถึงและอยากใช้เป็นไดรฟ์ติดตั้งเกมหรือใส่ในโน๊ตบุ๊คทำงาน ก็แนะนำให้เพิ่มเงินสักหน่อยจะดีมาก
สเปคของ Samsung 870 EVO
- SSD ขนาด 2.5″ แบบ Samsung V-NAND 3bit MLC เชื่อมต่อผ่านพอร์ต SATA III
- คอนโทรลเลอร์รุ่น Samsung MKX
- Sequential Read 560MB/s
- Sequential Write 530MB/s
- ความทนทาน 600 TBW ทำงานได้ราว 1.5 ล้านชั่วโมง (MTBF)
- ราคา 4,590 บาท (Advice)
6. WD Blue SN550 1TB (3,990 บาท)
ถ้าโน๊ตบุ๊คหรือพีซีเครื่องนั้น ๆ รองรับ M.2 NVMe แล้วอยากได้รุ่นเริ่มต้นสเปคดี ๆ เอาไว้ใช้งาน จะเริ่มต้นที่ WD Blue SN550 1TB ก็น่าสนใจ เพราะนอกจากจะเร็วกว่า SATA III SSD ขึ้นมาร่วม 4-5 เท่าแล้ว ยังราคาไม่แพงมากอีกด้วย จะเอาไปใช้กับเกมมิ่งพีซีหรือโน๊ตบุ๊คทำงานสักเครื่องก็จัดว่าเวิร์คมาก รวมทั้งราคาก็ไม่แพงมากอีกด้วย ส่วนรีวิวรุ่นนี้สามารถอ่านได้ที่นี่
สเปคของ WD Blue SN550 เป็น SSD 1TB ขนาด 2280 ยอดนิยมในปัจจุบัน เป็น 3D NAND และคอนโทรลเลอร์ของ Western Digital เอง สามารถอ่านเขียนข้อมูลได้เร็วและเสถียรมาก รับส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 มีค่า Sequential Read 2,400MB/s, Sequential Write 1,950MB/s ค่าความทนทาน 600 TBW สามารถใช้งานได้ 1.7 ล้านชั่วโมงจนเสียหาย (MTTF) ควบคุมและปรับแต่งการทำงานด้วยซอฟท์แวร์ Western Digital Dashbord ได้ด้วย
สเปคของ WD Blue SN550 1TB
- M.2 NVMe SSD แบบ 3D NAND รับส่งข้อมูลผ่านพอร์ต PCIe 3.0 x4
- คอนโทรลเลอร์ของ Western Digital
- Sequential Read 2,400MB/s
- Sequential Write 1,950MB/s
- ความทนทาน 600 TBW ทำงานได้ราว 1.7 ล้านชั่วโมง (MTTF)
- ราคา 3,990 บาท (IT City)
7. Kingston KC2500 1TB (6,190 บาท)
ถ้าชื่นชอบความทนทานและการเข้ารหัสรักษาความปลอดภัยข้อมูลของ Kingston ก็มี Kingston KC2500 1TB ให้เลือก แต่ราคาจะแพงขึ้นมาเกือบเท่าตัวทีเดียว แต่ยังมีการเข้ารหัสข้อมูลด้วย XTS-AES 256 bit และได้ความทนทานตามสไตล์ Kingston เหมือนเดิม ถ้าใครชื่นชอบแบรนด์นี้เป็นทุนก็เป็นตัวแนะนำรุ่นหนึ่ง
สเปคของ Kingston KC2500 จะเป็น M.2 NVMe เชื่อมต่อผ่านอินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 เป็น 96-layer 3D TLC NAND คุมการทำงานด้วยชิป SMI 2262EN ซึ่งสามารถอ่านเขียนข้อมูลได้เร็วและเสถียรทีเดียว ความเร็ว Sequential Read 3,500MB/s, Sequential Write 2,900MB/s ความทนทาน 600 TBW และสามารถใช้งานต่อเนื่องได้นาน 2 ล้านชั่วโมงก่อนจะเสียหาย (MTBF) และได้รับประกันการใช้งานยาว 6 ปีด้วยกัน ถูกใจสายเน้นความทนทานอย่างแน่นอน
สเปคของ Kingston KC2500
- M.2 NVMe SSD แบบ 96-layer 3D TLC NAND รับส่งข้อมูลผ่านพอร์ต PCIe 3.0 x4
- คอนโทรลเลอร์ของ SMI 2262EN
- Sequential Read 3,500MB/s
- Sequential Write 2,900MB/s
- ความทนทาน 600 TBW ทำงานได้ราว 2 ล้านชั่วโมง (MTBF)
- ราคา 6,190 บาท (JIB)
8. Samsung 980 PRO (7,590 บาท)
ขึ้นชื่อว่า Samsung เมื่อไหร่ เชื่อว่าผู้ใช้ที่มีทุนทรัพย์ระดับหนึ่งก็อยากซื้อมาติดตั้งในเครื่องอย่างแน่นอน โดย Samsung 980 PRO ตัวท็อปรุ่นใหม่ที่มาแทน 970 PRO นั้น นอกจากจะมีโปรแกรม Samsung Magician ไว้คุมการทำงานและเข้ารหัสไดรฟ์เหมือนกับ SSD รุ่นอื่น Samsung ยังอัพเกรดระบบระบายความร้อนโดยเคลือบนิกเกิ้ลระบายความร้อนให้ Controller และติดแผ่นระบายความร้อนให้ชุดชิป NAND อีกด้วย
สเปคจะเป็น M.2 NVMe ขนาด 2280 รับส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ใช้ Samsung V-NAND 3-bit MLC คุมการทำงานด้วยคอนโทรลเลอร์ Samsung Elpis ทำให้การรับส่งข้อมูลแบบ Sequential Read สูงถึง 7,000MB/s และ Sequential Write 5,000MB/s ค่าความทนทาน 600 TBW และระยะเวลาการใช้งานได้นาน 1.5 ล้านชั่วโมงก่อนเสียหาย (MTBF) ได้รับประกัน 5 ปีต่อเนื่อง ซึ่งถ้าใครอยาประกอบเกมมิ่งพีซีหรืออัพเกรดเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คของตัวเองให้แรงที่สุด จะลงทุนกับ SSD 1TB ตัวนี้จาก Samsung ก็ถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ
สเปคของ Samsung 980 Pro
- M.2 NVMe SSD แบบ Samsung V-NAND 3-bit MLC รับส่งข้อมูลผ่านพอร์ต PCIe 4.0 x4
- คอนโทรลเลอร์ของ Samsung Elpis
- Sequential Read 7,000MB/s
- Sequential Write 5,000MB/s
- ความทนทาน 600 TBW ทำงานได้ราว 1.5 ล้านชั่วโมง (MTBF)
- ราคา 7,590 บาท (Advice)
9. ADATA SX8200 PRO (7,790 บาท)
อยากได้ SSD 1TB แบบ M.2 NVMe ที่ค่า TBW สูง ๆ และออกแบบมาเพื่อเกมเมอร์ล่ะก็จะได้ ADATA SX8200 PRO ตัวนี้แทน ซึ่งแม้จะแพงกว่า Samsung 980 PRO เล็กน้อยก็ตาม แต่เพิ่มระบบ E2E Data Protection (End-to-End) เอาไว้รักษาความปลอดภัยข้อมูลและมี LDPC ECC สำหรับตรวจเช็คข้อมูล ช่วยลดอัตราการ Error ของข้อมูลในไดรฟ์และยืดอายุการใช้งานของ SSD ให้นานยิ่งขึ้น และผู้ผลิตก็แถมฮีตซิ้งค์ระบายความร้อนมาให้ติดตั้งอีกด้วย
สเปคของ ADATA SX8200 PRO เป็น SSD แบบ M.2 NVMe ขนาด 2280 ใช้ 3D TLC NAND และคุมการทำงานด้วยคอนโทรลเลอร์รุ่น SM2262G และรับส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 ได้ความเร็ว Sequential Read 3,500MB/s และ Sequential Write 3,000MB/s ส่วนค่าความทนทาน 1,280 TBW จัดว่าเยอะมากกว่า M.2 NVMe รุ่นอื่น ๆ กว่า 2 เท่าทีเดียว มีชั่วโมงการใช้งาน 2 ล้านชั่วโมงก่อนเสียหาย (MTBF) ได้รับประกัน 5 ปีต่อเนื่อง ซึ่งถ้าใครเน้นความแข็งแรงทนทานเยอะเป็นพิเศษ ก็แนะนำ SSD 1TB ตัวนี้จาก ADATA ไปใช้งานได้เลย
สเปคของ ADATA SX8200 PRO
- M.2 NVMe SSD แบบ 3D TLC NAND รับส่งข้อมูลผ่านพอร์ต PCIe 3.0 x4
- คอนโทรลเลอร์ของ SM2262G
- Sequential Read 3,500MB/s
- Sequential Write 3,000MB/s
- ความทนทาน 1,280 TBW ทำงานได้ราว 2 ล้านชั่วโมง (MTBF)
- ราคา 7,790 บาท (JIB)
10. WD Black SN850 1TB (8,590 บาท)
สำหรับ WD Black SN850 จะเป็น SSD 1TB ที่ได้อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 แล้ว สามารถรับส่งข้อมูลได้รวดเร็วและเสถียรมาก รวมทั้งควบคุมและปรับแต่งการทำงานด้วยซอฟท์แวร์ Western Digital Dashbord ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีรุ่นที่มีฮีตซิ้งค์แถมมาให้เลือกซื้อไปใช้กับเกมมิ่งพีซีได้อีกด้วย แต่ถ้าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คจะแนะนำให้เลือกแบบไม่มีฮีตซิ้งค์จะดีกว่า
สำหรับสเปคจะเป็น M.2 NVMe ขนาด 2280 ใช้ 3D NAND คุมการทำงานทั้งหมดด้วยคอนโทรลเลอร์ของ Western Digital รับส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ได้ความเร็ว Sequential Read 7,000MB/s และ Sequential Write 5,300MB/s ความทนทาน 600TBW ได้รับประกันการใช้งานยาว 5 ปีด้วยกัน ซึ่งถ้าใครอยากได้ M.2 NVMe สเปคแรงและฮีตซิ้งค์ใหญ่ระบายความร้อนได้ดีแนะนำให้มี WD Black SN850 ไว้ในรายการ SSD 1TB ได้เลย
สเปคของ WD Black SN850 1TB
- M.2 NVMe SSD แบบ 3D NAND รับส่งข้อมูลผ่านพอร์ต PCIe 4.0 x4
- คอนโทรลเลอร์ของ Western Digital
- Sequential Read 7,000MB/s
- Sequential Write 5,300MB/s
- ความทนทาน 600 TBW
- ราคา 8,590 บาท (JIB)
สรุป – SSD 1TB ตัวไหนแรง ตัวไหนคุ้ม
จะเห็นว่า SSD 1TB แต่ละตัวนั้นจะมีจุดเด่นและข้อดีแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะค่า TBW สูงมากหรือแม้แต่คอนโทรลเลอร์ดี, ซอฟท์แวร์จัดการทำงานให้ SSD แสดงประสิทธิภาพได้สูงสุด หรือแม้แต่การทำงานที่เสถียรเสมอต้นเสมอปลายก็ตาม ซึ่งถ้าสรุปสเปคให้เทียบกันง่าย ๆ จะเป็นดังนี้
รุ่น/สเปคของ SSD 1TB | Sequential Read | Sequential Write | Controller | ความทนทาน (TBW) | ราคา |
2.5″ SATA III SSD | |||||
HIKVISION MINER 960GB | 550MB/s | 480MB/s | – | 650 TBW | 3,590 บาท |
ADATA SU630 | 520MB/s | 450MB/s | Maxio Technology รุ่น MAS0902A-B2C | 200 TBW | 3,650 บาท |
WD BLUE SATA SSD | 560MB/s | 530MB/s | Western Digital | 400 TBW | 3,790 บาท |
KINGSTON C600 | 550MB/s | 520MB/s | SM2259 | 600 TBW | 4,390 บาท |
Samsung 870 EVO | 560MB/s | 530MB/s | Samsung MKX | 600 TBW | 4,590 บาท |
M.2 NVMe SSD | |||||
WD BLUE SN550 1TB | 2,400MB/s | 1,950MB/s | Western Digital | 600 TBW | 3,990 บาท |
KINGSTON KC2500 | 3,500MB/s | 2,900MB/s | SMI 2262EN | 600 TBW | 6,190 บาท |
SAMSUNG 980 PRO | 7,000MB/s | 5,000MB/s | Samsung Elpis | 600 TBW | 7,590 บาท |
ADATA SX8200 PRO | 3,500MB/s | 3,000MB/s | SM2262G | 1,280 TBW | 7,790 บาท |
WD BLACK SN850 1TB | 7,000MB/s | 5,300MB/s | Western Digital | 600 TBW | 8,590 บาท |
จะเห็นว่า SSD แบบ 2.5″ SATA III เองก็มีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าฮาร์ดดิสก์แบบทั่วไปร่วม 5 เท่าแล้ว และ M.2 NVMe ก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก แต่ราคาก็จะแพงขึ้นตามสเปคเช่นกัน ซึ่งถ้ามีงบประมาณและพอร์ตของเครื่องรองรับด้วย จะอัพเกรดมาใช้ M.2 NVMe ไปเลยก็จะทำให้ผู้ใช้สามารถทำงานต่าง ๆ ให้เสร็จได้เร็วยิ่งกว่าเดิมอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม เพราะราคา SSD ยังสูงและอาจจะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากหลาย ๆ คนนำไปขุดเหรียญ Chia ด้วย หากเป็นไปได้ ผู้เขียนแนะนำว่าถ้ามีเงินพอและมีโปรโมชั่นจากเว็บไซต์ซื้อสินค้าออนไลน์เจ้าต่าง ๆ ทำโปรโมชั่นพิเศษให้เราเลือกซื้อได้ในราคาที่ไม่แพงมาก จะซื้อเก็บเอาไว้ใช้กับพีซีและโน๊ตบุ๊คอย่างละตัว หรือจัดเป็น M.2 NVMe กับ SATA III SSD อย่างละตัวกับเกมมิ่งพีซีตัวหลักเอาไว้ลง Windows และเกมแยกกันก็ได้ จะได้ไม่ต้องคอยห่วงว่าจะไม่มี SSD ใช้อย่างแน่นอน