การจ่ายภาษีเงินได้เป็นหน้าที่หนึ่งของประชาชนชาวไทยผู้มีรายได้จากทุกช่องทางต้องจัดการเป็นกิจวัตรรายปีอยู่แล้วในช่วงเดือนมกราคม~มีนาคม ไม่ว่าจะยื่นเป็นเอกสารแบบดั้งเดิมหรือคำนวณและยื่นชำระบนหน้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากรก็สะดวกมากไม่ว่าจะผ่านแอพฯ ธนาคารหรือนำเป็นเอกสารไปชำระ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ได้แทบทุกแห่งของประเทศไทย ไม่ต้องเดินทางไปยังหน่วยสรรพากรใกล้บ้านเหมือนในอดีตอีกแล้วจึงสะดวกมาก
กลับกัน เรื่องใกล้ตัวอย่างการจัดการและจ่ายภาษีเป็นเรื่องต้องเรียนรู้เองไม่มีในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับแม้จะเป็นหลักสูตรสำคัญต้องใช้งานทั้งชีวิตก็ต้องมาเรียนรู้ด้วยตัวเองหรือไม่ก็ต้องพึ่งระบบคำนวณในแอพฯ ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้ดาวน์โหลดไปติดตั้งในสมาร์ทโฟนได้ทุกระบบปฏิบัติการ ก็ช่วยย่นระยะเวลาและช่วยวางแผนภาษีเพิ่มได้ว่าจะนำเงินไปลงทุนหรือซื้อประกันชีวิตเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นส่วนหักลดหย่อนเพิ่มได้หรือไม่ ถ้าใครกำลังจะเป็นหรือเป็นมนุษย์เงินเดือนไปแล้วก็ควรใส่ใจเรื่องนี้ให้มากเป็นพิเศษเพื่อปกป้องสิทธิ์และไม่ให้โดนค่าปรับในอนาคตด้วย
ร้อยแปดเรื่องว่าด้วยการจ่ายภาษี
- เวลายื่นภาษีเงินได้ทุกประเภท (ภ.ง.ด. 90) ชำระได้ตั้งแต่เดือนมกราคม~มีนาคมของปีภาษีถัดไป
- แม้รายได้สุทธิต่อปีไม่ถึงอัตราชำระภาษี แต่ประชาชนชาวไทยที่มีงานและรายได้ก็ต้องยื่นเอกสารให้ครบถ้วนทุกปี
- ถ้าชำระภาษีและทำเอกสารจนครบ สามารถยื่นเรื่องขอเงินภาษีคืนได้หากชำระเกิน โดยจะได้รับเงินคืนภายใน 3 เดือนผ่านทาง PromptPay หรือบัญชีธนาคารกรุงไทยและ ธ.ก.ส.
- ปัจจุบันสามารถยื่นและจ่ายภาษีผ่านทางออนไลน์ได้หน้าเว็บไซต์กรมสรรพากร ไม่ต้องทำเอกสารเหมือนในอดีตก็ได้
- หากไม่ได้จัดการเรื่องภาษีให้เรียบร้อยจะต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
- แอพฯ จ่ายภาษีเป็นตัวช่วยคำนวณโดยคร่าวๆ ว่าในปีนั้นจะต้องชำระภาษีเท่าไหร่เพื่อให้วางแผนภาษีได้เหมาะสม
4 เรื่องต้องรู้เมื่อต้องจ่ายภาษี มีเรื่องไหนต้องรู้บ้าง?
- ภาษีคืออะไร เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องจ่าย?
- ภาษีส่วนบุคคลสามารถลดหย่อนได้อย่างไร ขอคืนภาษีได้ช่องทางใดบ้าง?
- ทำประกันประเภทต่างๆ ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่?
- แอพฯ และระบบคำนวณและช่องทางการยื่นจ่ายภาษีออนไลน์ด้วยตัวเอง!
1. ภาษีคืออะไร เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องจ่าย?
ในเมื่อทำงานมีรายได้เอาไว้จับจ่ายใช้สอยและตั้งใจทำงานเต็มกำลังเพื่อให้มีรายรับมากขึ้น กลับกันภาษีซึ่งเป็นเงินที่รัฐเรียกเก็บจากประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อนำไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมก็จะมีอัตราเพิ่มขึ้นตามรายได้ส่วนบุคคลเป็นขั้นบันได การเสียภาษีทำเพื่อให้รัฐมีเงินได้ไปพัฒนากิจการส่วนรวมภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น ตั้งแต่สาธารณสุขผ่านการผลักดันนโยบายต่างๆ ไปจนกิจการป้องกันประเทศ เป็นต้น เป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยและคนต่างด้าวผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานจากสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคต้องจ่ายเป็นประจำทุกปี
การเก็บภาษีเงินได้เป็นงานของกรมสรรพากรในสังกัดกระทรวงการคลัง โดยเรียกเก็บกับประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ ซึ่งรูปแบบของภาษีจะมา 2 แบบ ได้แก่
- ภาษีทางตรง: เป็นภาษีของผู้มีเงินได้ต้องจัดการชำระภาษีด้วยตัวเอง แยกเป็นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลกับภาษีเงินได้นิติบุคคล
- ภาษีทางอ้อม: ภาษีที่ผู้มีเงินได้ไม่ต้องชำระเองแต่จะมากับสินค้าและบริการต่างๆ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะ, อากรสแตมป์ ฯลฯ
ระดับรายได้และอัตราภาษีที่กรมสรรพากรเรียกเก็บ
อัตราภาษีเงินได้ของประเทศไทยจะเรียกเก็บเป็นขั้นบันไดเพิ่มขึ้นไปทีละขั้นตามเงินได้สุทธิต่อปี โดยดูได้จากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งพนักงานบริษัททุกคนจะได้รับเมื่อทำงานจนถึงสิ้นปี แต่สำหรับคนทำธุรกิจส่วนตัวก็ต้องพึ่งการทำบัญชีจดรายรับรายจ่ายทั้งหมดเอาไว้ยื่นกับทางกรมสรรพากรแทน เมื่อทราบเงินได้แล้วก็นำมาคำนวณเพื่อชำระภาษีได้ตามสูตร 2 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนต่อไปให้นำมาคำนวณตามสูตรดังนี้
พอได้ผลลัพธ์จึงนำมาเทียบกับตารางอัตราภาษีด้านล่างนี้ว่ารายได้ของเราหลังหักลดหย่อนแล้วเข้าเกณฑ์จ่ายภาษีขั้นบันไดระดับใดและต้องจ่ายภาษีกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ซึ่งระดับเงินเดือนอิงกับระดับขั้นบันไดที่กรมสรรพากรกำหนดไว้จะเป็นดังนี้
เงินได้สุทธิต่อปี | เงินได้สุทธิจำนวนสูงสุดของขั้น | อัตราภาษี (เปอร์เซ็นต์) | ภาษีสูงสุดในแต่ละระดับเงินได้ | ภาษีสะสมของขั้น |
0~150,000 บาท | 150,000 | 5 | ยกเว้น* | 0 |
เกิน 150,000 ไม่ถึง 300,000 บาท | 150,000 | 5 | 7,500 | 7,500 |
เกิน 300,000 ไม่ถึง 500,000 บาท | 200,000 | 10 | 20,000 | 27,500 |
เกิน 500,000 ไม่ถึง 750,000 บาท | 250,000 | 15 | 37,500 | 65,000 |
เกิน 750,000 ไม่ถึง 1,000,000 บาท | 250,000 | 20 | 50,000 | 115,000 |
เกิน 1,000,000 ไม่ถึง 2,000,000 บาท | 1,000,000 | 25 | 250,000 | 365,000 |
เกิน 2,000,000 ไม่ถึง 5,000,000 บาท | 3,000,000 | 30 | 900,000 | 1,265,000 |
เกิน 5,000,000 บาทขึ้นไป | – | 35 | – | – |
จุดกาดอกจันในส่วนข้อยกเว้นของผู้มีเงินได้สุทธิต่อปี 0~150,000 บาท จะยกเว้นตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551 สำหรับเงินได้สุทธิที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 เป็นต้นไป ประกอบกับมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. 2560 เป็นต้น
ประเภทของแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ชื่อแบบภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.) สุดคุ้นหูแต่ใครหลายคนก็ยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้ฉบับไหนและยื่นเวลาใดบ้าง ถ้าอิงกับทางกรมสรรพากรแล้วในปัจจุบันจะมีทั้งหมด 5 แบบ โดยมีจุดประสงค์ใช้งานแตกต่างกันดังนี้
ชื่อแบบ | ใช้ยื่นกรณี | กำหนดเวลายื่นแบบ |
ภ.ง.ด. 90 | มีเงินได้พึงประเมินทุกประเภท | มกราคม~มีนาคม ของปีภาษีถัดไป |
ภ.ง.ด. 91 | มีเฉพาะเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 ม.40(1) ประเภทเดียว | มกราคม~มีนาคม ของปีภาษีถัดไป |
ภ.ง.ด. 93 | มีเงินได้ขอชำระภาษีล่วงหน้า | ก่อนถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบตามปกติ |
ภ.ง.ด. 94 | ยื่นครึ่งปีสำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินเฉพาะประเภทที่ 5, 6, 7 และ 8 | กรกฎาคม~กันยายนของปีภาษีนั้น |
ภ.ง.ด. 95 | คนต่างด้าวผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานจากสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค | มกราคม~มีนาคม ของปีภาษีถัดไป |
ส่วนการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีทั้งหมด 2 ระยะเวลา ได้แก่
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี : เป็นการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้เฉพาะเงินได้พึงประเมิน ประเภทที่ 5, 6, 7 และ 8 ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคม~มิถุนายน ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยยื่นภายในเดือนกันยายนของปีภาษีนั้นและยอดภาษีที่เสียไปจะเป็นเครดิตหักออกจากยอดภาษีสิ้นปีได้
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี : เป็นการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้พึงประเมินที่ได้รับแล้วในระหว่างปีภาษี โดยยื่นตั้งแต่เดือนมกราคม~มีนาคมของปีถัดไป กล่าวคือเงินได้ตอนสิ้นปี พ.ศ. 2567 ต้องนำไปคำนวณเพื่อชำระในเดือนมกราคม~มีนาคม ปี พ.ศ. 2568
ลำดับขั้นตอนการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 กับ ภ.ง.ด. 91 ผ่านอินเทอร์เน็ตมีขั้นตอนดังนี้
- ล็อคอินเข้าหน้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร เลือกเข้าระบบ e-FILING
- กรณีเข้าใช้งานครั้งแรกให้สมัครใช้งานก่อน หรือเข้าใช้งานด้วย Digital ID ของแอพฯ ThaID, เป๋าตังหรือแอพพลิเคชันธนาคารก็ได้
- เมื่อสมัครเสร็จครบทุกขั้นตอนให้เข้าระบบเพื่อยื่นภาษี เลือกเมนู “ยื่นแบบ”
- เลือกแบบภาษีที่ต้องการยื่นภาษีให้เรียบร้อย สำหรับพนักงานบริษัททั่วไปให้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90/91 โดย ภ.ง.ด. 90 ใช้ยื่นภาษีเงินได้พึงประเมินตามปกติและ ภ.ง.ด. 91 ใช้สำหรับขอคืนภาษี
- หลังจากกรอกข้อมูลจนครบให้กดบันทึกข้อมูลแบบ หรือถ้ากรอกเป็นเอกสารตามปกติให้เลือกอัพโหลดไฟล์ข้อมูลแบบ
- กดยืนยันการยื่นแบบและแสดงผลการยื่นแบบ โดยระบบจะส่งผลการยื่นแบบไปยังอีเมลล์ที่ลงทะเบียนเอาไว้ด้วย
- หลังจากระบบคำนวณและประเมินภาษีเสร็จแล้วสามารถชำระภาษีผ่านช่องทางที่กำหนดได้ทั้งแบบปกติและ e-payment
ในขั้นตอนชำระเงินผ่าน e-payment ผ่านแอพฯ ธนาคาร ให้ทำตามขั้นตอนไปได้จนจบกระบวนการ แล้วข้อมูลรายละเอียดการชำระภาษีของเรา ทางกรมสรรพากรจะส่งไปยังธนาคารโดยตรง ถ้าชำระผ่านทางเคาเตอร์ไปรษณีย์ก็ได้โดยระบบจะแจ้งรายการข้อมูลเพื่อนำไปชำระภาษีได้ที่ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่ง (ยกเว้น ปณ. โสกเชือก จ. ร้อยเอ็ด และ ปณ. ชุมแสงสงคราม จ.พิษณุโลก)
วิธีการชำระภาษีจะมีทั้งหมด 5 วิธี ได้แก่
- ชำระด้วยเงินสดหรือบัตรอีเล็กทรอนิกส์ (บัตรเครดิตหรือเดบิต)
- ธนาณัติ
- เช็คหรือดราฟท์
- e-Payment, ATM on internet, Internet Credit Card
- ชุดชำระเงิน Pay in slip ของธนาคาร
2. ภาษีส่วนบุคคลสามารถลดหย่อนได้อย่างไร ขอคืนภาษีได้ช่องทางใดบ้าง?
แม้จะเก็บภาษีเป็นแบบขั้นบันไดก็จริง แต่ทางรัฐบาลก็ยังมีกลไกช่วยเหลือประชาชนอย่าง “การหักลดหย่อน” เอาไว้ช่วยแบ่งเบาให้ประชาชนชำระภาษีน้อยลงจนเหลือแค่หลักร้อยหรือพันบาทเท่านั้น ซึ่งข้อยกเว้นนำมาลดหย่อนภาษีได้จะมีหลายรายการ ได้แก่
รายการลดหย่อนได้ | อัตราลดหย่อน (บาท) |
ผู้มีเงินได้ | 60,000 |
คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) | 60,000 |
ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรส | ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 |
บุตรชอบด้วยกฏหมายและบุตรบุญธรรม | คนละ 30,000 มีเงื่อนไขว่าถ้าเป็นบุตรชอบด้วยกฏหมายหักได้ไม่จำกัดจำนวน ถ้านำบุตรบุญธรรมมาหักรวมกันกับบุตรชอบด้วยกฏหมายห้ามเกิน 3 คน |
ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป | ผู้มีเงินได้ต้องอุปการะบิดามารดาด้วยตัวเอง โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 และหักลดหย่อนบิดามารดาของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 |
ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ/ทุพพลภาพ | คนละ 60,000 |
ค่าเบี้ยประกันชีวิต โดยกรมธรรม์มีอายุ 10 ปีขึ้นไป | ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท หากคู่สมรสมีการประกันชีวิตและความเป็นสามีภริยา ได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อน สำหรับ เบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่หากสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ (ก) ถ้าความเป็นสามีภริยาไม่ได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับ ยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับ ยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของ แต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว (ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้น ภาษีและภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหาก จากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามี และภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคน หลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่ง ประมวลรัษฎากรแล้ว (ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้น ภาษีและภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหาก จากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้น ภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคน หลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว |
ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส | หักลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 มีเงื่อนไขว่าบิดามารดาของผู้มีเงินได้ต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้ยกเว้นภาษีเงินได้เกิน 30,000 |
เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ | หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท ซึ่งไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างให้หักจากเงินได้ |
ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) | หักลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินซึ่งต้องเสียภาษีในปีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 |
เงินที่ใช้ซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) | ได้รับยกเว้นเท่าที่จ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน ต้องไม่เกิน 500,000 |
ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ | หักลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี |
เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ | ตามจำนวนจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 500,000 และเมื่อรวมเบี้ยประกันบำนาญ, เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญ ฯลฯ และเงินใน RMF ต้องไม่เกิน 500,000 |
ดอกเบี้ยกู้ยืมที่จ่ายให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น | บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง สำหรับการกู้ยืมเงิน เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคาร ที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืม หักค่าลดหย่อน ตามจำนวนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท |
เงินสมทบกองทุนประกันสังคม | หักลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง |
ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ | หักลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 |
เงินบริจาค | แยกเป็น 2 กรณี 1. เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา, กีฬาและอื่นๆ หักได้ 2 เท่าของที่จ่าย แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลักหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนอื่นๆ 2. เงินบริจาค หักได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อน |
ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt (2567) | ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 |
ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง 2567 (รอประกาศเป็นกฏหมาย) | ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 |
ค่าสร้างบ้านใหม่ปี 2567~2568 | 10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุก 1 ล้านบาท มากสุดไม่เกิน 100,000 บาท |
กรณีใครถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปีมากกว่ามูลค่าภาษีที่ตนต้องจ่ายภาษีประจำปีจริง ก็สามารถทำเรื่องขอคืนภาษีกับกรมสรรพากรเอามาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน และวิธีการขอคืนเงินภาษีในปัจจุบันก็ง่ายกว่าเดิมมาก ไม่ต้องทำเอกสารส่งเข้ากรมเหมือนในอดีตอีกแล้วและยังรับเงินคืนได้ง่ายด้วย โดยวิธีการจะมีดังนี้
วิธีตรวจสอบสถานะหรือสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี
ผ่านหน้าเว็บไซต์กรมสรรพากร
- เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากรในเมนู My Tax Account ตรวจสอบข้อมูลทางภาษี
- เข้าระบบด้วย RD ID ระบุหมายเลขผู้ใช้, รหัสผ่าน Laser ID หลังบัตรประจำตัวประชาชนหรือใช้ Digital ID ก็ได้
- เลือกเบอร์โทรศัพท์เพื่อรับ OTP แล้วกรอกรหัส
- เลือกหัวข้อ “ติดตามสถานะขอคืน/นำส่งเอกสาร”
ส่งเอกสารขอคืนภาษีตามปกติ จะมีขั้นตอนการส่งเอกสาร ภ.ง.ด. 90/91 เพื่อประกอบการขอคืนภาษีได้หลากหลายช่องทางโดยทำดังนี้
- ส่งเอกสารด้วยตัวเอง
- ส่งโทรสาร (FAX) ตามหมายเลขใน “ใบนำส่งเอกสาร”
- ส่งเอกสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตผ่านระบบ My Tax Account เลือกหัวข้อ “ติดตามสถานะขอคืน/นำส่งเอกสาร” แล้วเลือกเอกสารเพื่อนำส่ง
- อัปโหลดไฟล์เอกสารนำส่งได้ โดยเป็นไฟล์ภาพ JPG, BMP, PNG, TIF, PDF ได้ โดยขนาดแต่ละไฟล์ไม่เกิน 3MB รวมไม่เกิน 20MB ไฟล์ PDF ห้ามล็อครหัสผ่านหรือ Secured
หลังจากยื่นแบบและเอกสารถูกอัปโหลดเข้าไปในระบบของกรมสรรพากรแล้ว ผู้ใช้สามารถเข้าไปตรวจสอบเอกสารยื่นแบบฯ ได้หลังจากนั้น 1 วัน ถ้าต้องการเพิ่มเอกสารเข้าไปอีกก็มีเครื่องหมายบวก (+) ให้กดเพิ่มเอกสารยื่นพิจารณาในภายหลังได้อีกด้วย ส่วนช่องทางการรับเงินคืนจะมี 2 วิธีด้วยกัน คือ
- รับเงินคืนผ่านทางรหัส PromptPay ที่ผูกเข้ากับบัญชีธนาคารเอาไว้
- คืนเงินผ่านทางธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารเพื่การเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยเลือกรับได้ 2 วิธี คือ
- ไปรับเงินคืนที่ธนาคารด้วยตัวเอง ดำเนินการได้หลังได้รับหนังสือ ค.21 แล้วไปติดต่อธนาคารก็จะได้รับเงินกลับเข้าบัญชีของธนาคารกรุงไทยหรือ ธ.ก.ส.
- ผู้ขอคืนภาษีมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการที่ธนาคารด้วยตัวเอง พอเดินเรื่องเสร็จแล้วจะได้รับเงินคืนกลับเข้าบัญชีของผู้ขอคืนภาษี
3. ทำประกันประเภทต่างๆ ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่?
หนึ่งในวิธีวางแผนลดหย่อนภาษียอดนิยมของคนไทย นอกจากซื้อกองทุน LTF/RMF ก็มีประกันภัยและประกันชีวิตเป็นวิธีลดหย่อนภาษียอดนิยม โดยใช้ลดหย่อนได้ทั้งหมด 4 แบบหลัก ได้แก่
- ประกันชีวิตแบบทั่วไป ใช้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life)
- ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term)
- ประกันชีวิตเพื่อการสะสมทรัพย์ (Endowment)
- ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit-Linked)
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของเงินเดือนต่อปี ไม่เกิน 200,000 บาท
- ประกันสุขภาพตนเอง จะใช้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 25,000 บาท/ปี เมื่อรวมประกันชีวิตทั่วไปจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท/ปี
- ประกันสุขภาพของพ่อแม่ ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาท/ปี สามารถแบ่งจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ร่วมกับพี่น้องได้ ลดหย่อนได้สูงสุดตามยอดเงินที่หารเฉลี่ยด้วยจำนวนพี่น้องก่อนนำไปหักลดหย่อน เช่น ถ้ามีพี่น้อง 3 คน จะต้องนำ 15,000 หาร 3 = 5,000 บาท/คน
หากครอบครัวไหนทำประกันแบบต่างๆ เอาไว้อยู่แล้วก็ใช้ประโยชน์จากการหักลดหย่อนภาษีได้ตามกฏหมาย แถมครอบคลุมทุกแบบไม่ว่าจะใช้เพื่อรักษาตัวเองหรือลงทุนก็ใช้ลดหย่อนได้ ขอแค่ศึกษาข้อมูลให้ครอบคลุมก็ใช้เป็นส่วนหักลดหย่อนตอนจ่ายภาษีได้เลย
4. แอพฯ และระบบคำนวณและช่องทางการยื่นจ่ายภาษีออนไลน์ด้วยตัวเอง!
ก่อนหน้านี้ผู้เขียนได้แนะนำแอพคำนวณภาษีให้ดาวน์โหลดไปติดตั้งในสมาร์ทโฟนเพื่อวางแผนการเงินได้ด้วยตัวเองแล้ว กลับกันธนาคารชั้นนำของประเทศไทยก็มีระบบหน้าเว็บไซต์ให้ใช้และเช็คผลได้ทันทีว่าจะต้องจ่ายภาษีหรือไม่ โดยแนะนำทั้งหมด 4 เว็บไซต์ ได้แก่
1. โปรแกรมคำนวณภาษี ธนาคารกรุงศรี
เริ่มต้นจากระบบคำนวณจ่ายภาษีในเว็บไซต์ของธนาคารกรุงศรีนอกจากใช้ง่าย กรอกข้อมูลเพียง 3 ขั้นตอนแล้วระบบก็จะคิดยอดออกมาให้ทันทีว่าปลายปีจะต้องชำระภาษีเป็นเงินจำนวนกี่บาท เริ่มจากกรอกเงินเดือนต่อเดือนเข้าไปในขั้นตอนแรก ตามด้วยเช็คค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัวว่านำส่วนไหนมาคิดเพื่อลดภาษีได้บ้าง ปิดท้ายด้วยการเช็คค่าลดหย่อนภาษีว่าได้ลงทุน, จ่ายเบี้ยประกันชีวิต, สินเชื่อบ้าน ฯลฯ ไปกี่บาท
พอกรอกข้อมูลครบทั้ง 3 หน้าแล้ว ระบบจะคำนวณภาษีต้องชำระรวมทั้งแสดงขั้นของภาษีต้องชำระให้เราเตรียมตัว แต่อย่างไรก็ตามระบบนี้ก็จะผูกพันกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างการลงทุนและประกันภัยของทางธนาคารด้วย แต่ข้อดีคือระบบนี้ไม่ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับชื่อและเบอร์โทรของผู้ใช้แต่เปลี่ยนเป็นให้เบอร์โทรศัพท์เพื่อปรึกษาการลดหย่อนภาษีแทน
2. โปรแกรมคำนวณภาษี ธนาคารกสิกรไทย
เทียบกันแล้วระบบของธนาคารกสิกรไทยจะเก็บรายละเอียดเยอะกว่า ทั้งเงินโบนัส, รายการลดหย่อนโดยละเอียดทั้งบิดามารดาและผู้พิการที่รับอุปถัมภ์ ไปจนถึงเงินกองทุนกับประกันสังคม เบี้ยประกันชีวิตแยกละเอียดทั้งของส่วนตัวและบิดามารดากับกองทุนต่างๆ เพื่อนำมาคำนวณภาษีแจ้งเราในขั้นตอนสุดท้ายว่ามีเงินได้สุทธิเท่าไหร่ ต้องจ่ายภาษีกี่บาท
กลับกันระบบของธนาคารกสิกรไทยจะเน้นทางการลงทุนและวางแผนกับเงินบริจาคเป็นหลัก ในหน้าสุดท้ายพอแจ้งยอดภาษีต้องชำระแล้วจะมีหน้าต่างแนะนำการลดหย่อนภาษีกับกองทุน SSF / RMF / ThaiESG และเงินบริจาคเพิ่มเข้ามาให้วางแผนจัดการภาษีได้ด้วย นับว่ามีประโยชน์ไม่แพ้กัน
3. โปรแกรมคำนวณภาษี ธนาคารกรุงไทย
หน้าคำนวณภาษีของธนาคารกรุงไทยจะคล้ายกับหน้าระบบของกรมสรรพากรมาก มีการระบุเงินเดือนเงินได้แบบต่างๆ ไว้ละเอียดจนกระทั่งเงินปันผลให้ลงข้อมูลได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนของวิชาชีพอิสระให้ลงรายละเอียดเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ยังมีช่องให้ข้อมูลประกันชีวิตและดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านให้ใช้ ถ้าใครทำงานฟรีแลนซ์หรือเป็นเจ้าของกิจการน่าจะได้ประโยชน์จากระบบคำนวณนี้แน่นอนและระบบก็คิดภาษีให้รวดเร็วระดับ real-time อีกด้วย
ถ้าเลื่อนหน้าจอลงมาด้านล่างจะเห็นว่าระบบของธนาคารกรุงไทยก็จะมีระบบช่วยแนะนำลดหย่อนภาษีผ่านการลงทุนกับกองทุนแบบเดียวกับธนาคารกสิกรไทยและแสดงตารางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ดูพร้อมให้ผู้ใช้ทดลองกรอกว่าถ้าเฉลี่ยเงินไปลงกับการบริจาคแบบต่างๆ กับการลงทุนแล้วจะต้องจ่ายภาษีช่วงสิ้นปีอีกกี่บาท ทำให้วางแผนการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้นมาก
4. โปรแกรมคำนวณภาษี ธนาคาร UOB
ระบบของธนาคาร UOB นอกจากใช้งานง่าย เริ่มต้นจากกรอกเงินได้เงินเดือนทั้งหมดเข้าไปแล้วใส่รายละเอียดค่าลดหย่อนทั้งหมดให้ครบถ้วน สุดท้ายก็จะโชว์ยอดชำระภาษีปลายปีให้เรารับรู้ล่วงหน้าและมีระบบวางแผนลงทุนกับบริจาคเพื่อลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน แต่ระบบของ UOB มีข้อดีเรื่องใช้งานง่ายไม่กี่ขั้นตอนและแสดงผลแบบ real-time เช่นกัน แถมจำลองการกระจายเงินลงทุนหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย จึงวางแผนได้ว่าในแต่ละปีหลังหักลดหย่อนแล้วจะเหลือเงินเท่าไหร่
แม้ระบบคำนวณยอดภาษีของธนาคารแต่ละแห่งจะคล้ายกันก็ตาม นั่นเพื่อให้ลูกค้าดั้งเดิมและว่าที่ลูกค้าใหม่ได้ใช้บริการระบบเพื่อวางแผนการเงินของตัวเองและเผื่อให้ลูกค้าได้พิจารณาผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารเพิ่มเติมได้ด้วย
เรื่องการจ่ายภาษีแม้ดูจะเป็นเรื่องยุ่งยากในสายตาของใครๆ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตไม่แพ้กับการหาและตั้งใจทำงานเลย ในตอนแรกอาจจะดูยุ่งยากรวมทั้งเจอภาษากฏหมายอ่านไม่เข้าใจอยู่พอควร แต่ในปัจจุบันนี้ก็มีทั้งแอพฯ และเว็บไซต์สำหรับช่วยคำนวณและวางแผนการเงินให้ใช้งานได้ฟรีให้เราไปใช้ได้ทันที จะได้วางแผนถูกว่าต้องลงทุนเพิ่มหรือซื้อประกันภัยตัวไหนอีกไหมเพื่อประหยัดเงินภาษีในแต่ละปีได้มากขึ้นและยังคิดต่อไปในปีหน้าได้อีกด้วย
Photo Credits: Iryna Tysiak via Unsplash, Giorgio Trovato via Unsplash, Kelly Sikkema via Unsplash (1), Kelly Sikkema via Unsplash (2), Scott Graham via Unsplash