คีย์ลัด macOS มีวิธีกดเยอะมาก! ใช้เป็นบอกเลยว่าประหยัดเวลาสุดๆ
นอกจากคีย์ลัด Windows ที่แนะนำไปเมื่อก่อนหน้านี้ ผู้อ่านหลายท่านที่ใช้ Apple MacBook เป็นพีซีประจำตัวก็คงอยากทราบวิธีกดคีย์ลัด macOS อย่างแน่นอน ซึ่งคีย์ลัดของฝั่ง macOS ก็จะใช้ปุ่ม Command, Option, Control, Shift ซึ่งไม่ต่างกับ Windows ที่ต้องการ Ctrl, Alt, Shift ซึ่งถ้าใครใช้ MacBook มานานก็น่าจะคุ้นเคยกับคีย์ลัดเหล่านี้แล้ว แต่ถ้าใครมีความคิดหรือเพิ่งเปลี่ยนมาใช้ macOS ใหม่ๆ ก็น่าจะสับสนพอดูว่าควรกดคีย์ลัดอะไรอย่างไรบ้าง ซึ่งอันที่จริง หากเราจับทางและเข้าใจว่าต้องเริ่มกดจากปุ่มไหนรวมกับปุ่มไหน มันก็จะง่ายขึ้นแน่นอน
ซึ่งปุ่มสำหรับใช้กดคีย์ลัดบนแป้นคีย์บอร์ด MacBook, iMac นอกจากจะมีตัวอักษรกำกับแล้วก็ยังมีไอคอนโลโก้ให้เห็นชัดเจน ข้อดีคือเมื่อใช้โปรแกรมใน macOS ทำงานแล้วเรามักเห็นโลโก้คีย์ลัดเหล่านี้มากกว่าชื่อเต็มเพราะประหยัดพื้นที่การแสดงผลและได้ความสวยงาม หน้าต่างรวมคำสั่งไม่ต้องยื่นออกมายาวจนบดบังสิ่งอื่นที่แสดงผลอยู่บนหน้าจอ ซึ่งถ้าผู้ใช้จำไอคอนเหล่านี้ได้และกดจนคล่องล่ะก็ มันจะช่วยประหยัดเวลาและใช้คำสั่งที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
72 คีย์ลัด macOS ใช้สะดวกทำงานสบาย ประหยัดเวลาไปเยอะ!
ผู้อ่านที่มีความคิดจะย้ายไปใช้ระบบปฏิบัติการ macOS หรือใช้มาระยะหนึ่งแล้วไม่แน่ใจว่าคีย์ลัด macOS มีอะไรให้ใช้งานบ้างล่ะก็ ผู้เขียนก็ขอจำแนกคีย์ลัดทั้ง 72 คีย์เป็น 4 หมวดหมู่ใหญ่ให้เลือกอ่านได้ตามความสนใจ ซึ่งมีหมวดหมู่ดังนี้
1. คีย์ลัด macOS พื้นฐาน ได้ใช้ประจำ
- Command+Z – ยกเลิกคำสั่งก่อนหน้านี้ หรือถ้ากด Shift+Command+Z จะเป็นทำซ้ำ
- Command+X – คำสั่ง Cut เลือกตัดสิ่งที่ต้องการไปเก็บใน Clipboard
- Command+C – คำสั่ง Copy คัดลอกสิ่งที่ต้องการเข้า Clipboard
- Command+V – คำสั่ง Paste วางสิ่งใน Clipboard ล่าสุดลงในแอพฯ หรือเอกสารได้
- Command+A – เลือกทุกสิ่งบนหน้าจอ ณ ตอนนั้น
- Command+F – หาสิ่งที่ต้องการในเอกสาร ถ้ากดหน้า Desktop จะเปิดหน้า Find
- Command+G – ค้นหาเพิ่มเติมโดยเน้นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ค้นหาไปก่อนหน้า
- Command+H – ซ่อนหน้าต่างแอพฯ ที่เปิดอยู่หน้าสุด ณ ปัจจุบัน แต่ถ้าดูเฉพาะแอพฯ ปัจจุบันอย่างเดียวแล้วซ่อนแอพฯ อื่นทิ้ง ให้กด Command+Option+H
- Command+M – ซ่อนหน้าต่างแอพฯ ที่เปิดอยู่เก็บลง Dock ไป ถ้าปิดหน้าต่างทั้งหมดของแอพฯ ที่เปิดอยู่อันหน้าสุด ให้กด Command+Option+M
- Command+O – เปิดใช้สิ่งที่เลือก หรือเปิด Dialog ขึ้นมาเพื่อเลือกไฟล์ที่ต้องการเปิด
- Command+P – สั่งปริ้นท์เอกสารที่เปิดอยู่ ณ ตอนนี้
- Command+S – สั่งเซฟเอกสารที่ใช้งานอยู่ ณ ตอนนี้
- Command+T – เปิดแท็บใหม่ขึ้นมาใช้งาน
- Command+W – ปิดหน้าต่างที่อยู่หน้าสุดทิ้งไป ถ้าปิดทุกหน้าต่างของแอพฯ นั้นให้กด Command+Option+W
- Option+Command+Esc – สั่งปิดแอพฯ ที่ใช้งานอยู่แบบ Force quit
- Command+Space bar – เปิด/ปิดคำสั่งค้นหา Spotlight search ซึ่งใช้ค้นทั้งเครื่อง
- Command+Control+Space bar – เปิดหน้าต่าง Character Viewer ดู Emoji หรือสัญลักษณ์ต่างๆ มาใช้งานได้
- Command+Control+F – เปิดใช้แอพฯ นั้นๆ แบบเต็มหน้าจอ (หากแอพฯ นั้นรองรับ)
- Command+Tab – สลับไปยังแอพฯ ที่เปิดอยู่แล้วผู้ใช้สลับมาใช้งานบ่อยที่สุด
- Command+Shift+5 – (macOS Mojave เป็นต้นไป) สั่งแคปภาพหน้าจอ เลือกเป็นภาพนิ่งหรือวิดีโอก็ได้ ถ้ากดเลข 3 จะสั่งบันทึกวิดีโอหน้าจอ ส่วนเลข 4 เป็นภาพนิ่ง
- Command+Shift+N – สร้างแฟ้ม (Folder) ใหม่ในหน้าต่าง Finder
- Command+Comma (,) – เปิดหน้าต่างตั้งค่าของแอพฯ ที่ใช้งานอยู่
2. คีย์ลัด macOS คุมตัวเครื่อง
- กดปุ่ม Power – ถ้ากดแล้วปล่อยทันทีเป็น Wake/Sleep แบบ iPhone ถ้ากดค้าง 1.5 วินาที จะสั่งให้ MacBook เข้าโหมด Sleep ถ้ากดค้างจะสั่งปิดเครื่อง
- Command+Option+ปุ่ม Power – สั่งให้ MacBook ตัดเข้าโหมด Sleep
- Control+Shift+ปุ่ม Power – สั่งให้หน้าจอ MacBook เข้าสู่โหมด Sleep
- Control+ปุ่ม Power – เปิดหน้าต่างเลือกคำสั่ง Restart, Sleep, Shut Down เครื่อง
- Control+Command+ปุ่ม Power – บังคับ MacBook ให้ Restart เครื่องโดยไม่เซฟข้อมูลในเอกสารหรือตัวเอกสารที่เปิดอยู่
- Control+Command+Q – ล็อคหน้าจอ MacBook โดยทันที
- Shift+Command+Q – Log out จาก Account ที่ใช้ในเครื่อง MacBook นั้นๆ อยู่ ซึ่งระบบจะถามก่อนว่าผู้ใช้ยืนยันการ Log out นี้ไหม หากไม่ต้องการให้เครื่องถามเช่นนี้ ให้กด Command+Shift+Option+Q
3. คีย์ลัด macOS ใช้กับ Finder
- Command+D – ทำสำเนาไฟล์ (Duplicate) ที่เลือก
- Command+E – ตัดการเชื่อมต่อกับไดรฟ์หรือดิสก์ที่ต่อกับ MacBook อยู่
- Command+F – ใช้ Spotlight search ในหน้าต่างโปรแกรม Finder
- Command+I – เปิดหน้าต่าง Get Info ของไฟล์นั้นๆ เพื่อดูข้อมูลและรายละเอียด
- Command+N – เปิดหน้าต่าง Finder อันใหม่
- Shift+Command+C – เปิดหน้าต่าง Computer ใหม่ขึ้นมาใช้งาน
- Shift+Command+D – เปิดแฟ้ม Desktop ขึ้นมาใช้งาน
- Shift+Command+F – เปิดหน้าต่าง Recents เพื่อดูว่าได้เปิดหรือแก้ไขไฟล์ใดไปบ้าง
- Shift+Command+G – เปิดหน้าต่างไปยังโฟลเดอร์ขึ้นมา
- Shift+Command+H – เปิดแฟ้ม Home ของบัญชีผู้ใช้นั้นๆ ที่ใช้งานเครื่องอยู่
- Shift+Command+I – เปิด iCloud Drive
- Shift+Command+K – เปิดหน้าต่าง Network
- Shift+Command+N – สร้างแฟ้มใหม่ขึ้นมา
- Shift+Command+O – เปิดแฟ้ม Documents
- Shift+Command+R – แสดงหรือซ่อนหน้าต่างแสดงตัวอย่าง (Preview pane) ในหน้าต่าง Finder
- Shift+Command+T – แสดงหรือซ่อน Tab bar ของ Finder
- Shift+Command+U – เปิดแฟ้ม Utilities ขึ้นมาใช้งาน
- Option+Command+L – เปิดโฟลเดอร์ Downloads
- Command+Y – ใช้คำสั่ง Quick Look เพื่อดูตัวอย่างไฟล์ที่ต้องการ
- Command+1 – ดูไฟล์ต่างๆ ในหน้าต่าง Finder แบบไอคอน
- Command+2 – ดูไฟล์ต่างๆ ในหน้าต่าง Finder แบบเรียง List
- Command+3 – ดูไฟล์ต่างๆ ในหน้าต่าง Finder แบบคอลลัมน์
- Command+4 – ดูไฟล์ต่างๆ ในหน้าต่าง Finder แบบแกลลอรี่ภาพ
4. คีย์ลัด macOSสำหรับงานเอกสาร
- Command+B – ทำตัวอักษรที่เลือกให้เป็นตัวหนาหรือเปิดคำสั่งพิมพ์ตัวหนา
- Command+I – ทำตัวอักษรที่เลือกให้เป็นตัวเอียงหรือเปิดคำสั่งพิมพ์ตัวเอียง
- Command+K – เพิ่มลิ้งค์เชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์
- Command+U – ขีดเส้นใต้ตัวอักษรที่เลือกหรือเปิดคำสั่งพิมพ์แล้วมีขีดเส้นใต้
- Command+T – แสดงหรือซ่อนหน้าต่าง Fonts
- Command+D – เลือกโฟลเดอร์บน Desktop จากกล่องโต้ตอบ “เปิด” หรือ “บันทึก”
- Control+Command+D – แสดงหรือซ่อนคำแปลของคำที่เลือกเอาไว้
- Shift+Command+เครื่องหมายโคลอน (:) – แสดงหน้าต่างสะกดคำและแกรมม่า
- Command+เครื่องหมายเซมิโคลอน (;) – ค้นหาคำที่สะกดผิดในเอกสาร
- Option+Delete – ลบคำที่อยู่ทางซ้ายไอคอนแสดงจุดที่กำลังพิมพ์อยู่ ( | )
- Control+A – ย้ายกลับไปยังจุดเริ่มต้นของบรรทัดหรือย่อหน้านั้นๆ
- Control+E – ย้ายไปยังจุดสิ้นสุดบรรทัดหรือย่อหน้านั้นๆ
- Control+F – ย้ายหนึ่งตัวอักษรไปข้างหน้า
- Control+B – ย้ายหนึ่งตัวอักษรไปข้างหลัง
- Option+Command+F – ใช้คำสั่งค้นหาในโปรแกรมเอกสาร
- Option+Command+T – แสดงหรือซ่อนคำสั่ง Toolbar ในแอพฯ
- Option+Command+C – คัดลอกการตั้ง Format ของเอกสารนั้นไปไว้ใน Clipboard
- Option+Command+V – นำการตั้ง Format ของเอกสารที่เซฟเอาไว้ใน Clipboard มาใช้งานกับเอกสารอีกชุดหนึ่ง
- Option+Shift+Command+V – Paste แล้วปรับ Format เดิมของเอกสารให้เข้ากับ Format ใหม่ที่คัดลอกมาใช้งาน
- Option+Command+เครื่องหมายคำถาม (?) – เปิดหน้าต่าง Help ขึ้นมาใช้งาน
จะเห็นว่าคีย์ลัด macOS นั้นจะมีให้ใช้งานเยอะและแยกไปตามหมวดการทำงานอีกด้วย ซึ่งถ้าผู้ใช้คนไหนคิดจะเปลี่ยนหรือเปลี่ยนมาใช้ MacBook สักระยะหนึ่งแล้วอยากรู้ว่าเราควรกดคีย์ลัดมันอย่างไรดีเพื่อให้ใช้งานได้ลื่นไหลยิ่งขึ้น ก็ทดลองกดตามแล้วลองเลือกใช้งานคีย์ลัดตามความถนัดของแต่ละคนได้เลย ทีนี้ก็จะทำงานได้สะดวกรวดเร็วและประหยัดเวลาอีกด้วย