เนื่องจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา สร้างความลำบากให้บริษัทเทคโนโลยีจีนอย่างมากโดยเฉพาะ Huawei ที่ไม่สามารถสั่งซื้อชิปจาก TSMC ได้ จึงไม่สามารถผลิตชิป Kirin มาใช้กับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ ของทางบริษัทได้จนต้องพึ่งพาชิปจากบริษัทอื่นภายในประเทศด้วยกัน เมื่อเทียบแล้วชิปที่พัฒนาภายในประเทศจีนก็มีคุณภาพไม่สูงนักเมื่อเทียบกับบริษัทคู่แข่งจากต่างประเทศ
เพราะนี่เป็นปัญหาร่วมของบริษัทจีนหลายแห่ง ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของประเทศจีน (MIIT) จึงเผยว่าตอนนี้ หัวเว่ย, SMIC และบริษัทจีนอื่นรวม 90 แห่งได้ร่วมลงนามก่อตั้งคณะกรรมการมาตรฐานการผลิตชิปแห่งชาติ (National Integrated Circuit Standardization Technical Committee) เพื่อกำหนดแนวทางและนโยบายการสร้างและผลิตชิปสำหรับอุปกรณ์ไอทียุคใหม่ร่วมกัน
ข้อกำหนดต่าง ๆ ของคณะกรรมการที่ Huawei และ SMIC ร่วมร่าง
ที่ผ่านมา ทางหัวเว่ยและ ZTE นั้นจำเป็นต้องหาทางหลบเลี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้ทางบริษัทยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้แม้จะไม่เฟื่องฟูเหมือนที่ผ่านมา และถึงจะพอหาชิปจากบางบริษัทเข้ามาทดแทนแต่ประสิทธิภาพก็ยังไม่ตอบโจทย์ของทางหัวเว่ยนักเป็นจุดอ่อนใหญ่ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจีนในปัจจุบันนี้
ทางฝั่ง SMIC เจ้าทุกข์อีกรายและบริษัทเทคโนโลยีจีนรายย่อยหลายรายก็มีปัญหาถูกแบนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐเช่นกัน ทำให้กลุ่มบริษัทเหล่านี้ร่วมลงนามก่อตั้งคณะกรรมการนี้ขึ้นมา ซึ่งนอกจากบริษัทใหญ่อย่างหัวเว่ย, Xiaomi, SMIC แล้วก็มี HiSilicon, Datang Semiconductor, Unichip Microelectronics, Zhanrui Communication, ZTE Microelectronics, SMIC, Datang Mobile, China Mobile, China Unicom, ZTE, Tencent ฯลฯ เข้าร่วมลงนามด้วย
สำหรับใจความโดยสรุปของคณะกรรมการมาตรฐานการผลิตชิปแห่งชาติ ที่บริษัทจีน 90 แห่งร่วมลงนามมีใจความหลัก ๆ ดังนี้
- พัฒนามาตรฐานของชิปและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มใกล้เคียงให้ดียิ่งขึ้น
- ติดตามพัฒนาเทคโนโลยีการแพ็คตัวชิปให้มีมาตรฐานดีขึ้น โดยเน้นที่ FC-BGA ความหนาแน่นสูง, TSV, CSP, WLP และ SiP
- เน้นการวิจัยชิป โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพ, ความทนทานและความปลอดภัยของข้อมูล
- มีการตรวจวัดมาตรฐานของชิปเป็นพารามิเตอร์และเน้นวิจัยเรื่องคุณภาพของชิป
- ยกระดับมาตรฐานการทดสอบชิปให้สูงยิ่งขึ้น
จากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐจากอดีตประธานาธิบดีสหรัฐก็ทำให้บริษัทจีนตื่นตัวและเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศมากขึ้นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น HarmonyOS ของหัวเว่ยที่เริ่มแตกแขนงออกมาอย่างต่อเนื่อง และอาจจะมีชิปสมาร์ทโฟนแบรนด์ใหม่หรือแบรนด์เดิมที่มีอยู่แต่พัฒนาให้คุณภาพสูงขึ้นถูกนำไปใช้ในสินค้าเทคโนโลยีอื่น ๆ จากประเทศจีนมากยิ่งขึ้นก็ได้
แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องใช้เวลาเพื่อวิจัยพัฒนาอีกสักระยะหนึ่งกว่าเราจะได้เห็นการพัฒนาอย่างเป็นรูปร่างชัดเจน รวมทั้งมาตรฐานสินค้าจากประเทศจีนในปัจจุบันก็ยังเป็นข้อกังขาของบางคนอยู่บ้างเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามนี่ก็เป็นสัญญาณโต้กลับของบริษัทเทคโนโลยีจากจีนที่ชัดเจนต่อการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ แต่เราจะเห็นว่าทางบริษัทสหรัฐหลายแห่งก็ไม่ชอบนโยบายนี้เช่นกัน ซึ่งก็ต้องรอดูต่อไปในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่าจะมีแนวทางจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ที่มา : Gizchina