Lenovo Legion 7i เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสุดครบเครื่อง เกมเมอร์ถูกใจครีเอเตอร์มีไว้สร้างอาชีพ!
Lenovo Legion 7i หรือ Legion 7i (16″, Gen 9) บนหน้าเว็บไซต์ของ Lenovo นอกจากบอกว่าทางบริษัทจริงจังกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คซีรี่ส์นี้เท่าใด และยังสะท้อนอีกว่าผู้ใช้ชื่นชอบและเชื่อมั่นชื่อชั้นของ Lenovo Legion มากเท่านั้น ยิ่งรุ่นที่ 9 นี้จะนับว่าอัปเกรดมาหลากหลายอย่างตั้งแต่ซีพียู Intel 14th Generation และจีพียู NVIDIA GeForce RTX 40 Series ตามยุคสมัยแล้ว ก็ได้ชุดระบายความร้อนใหม่ Legion ColdFront Hyper ไว้จัดการอุณหภูมิซีพียูและจีพียูให้เย็นอยู่ตลอดเวลาดึงกำลังออกมาได้สูงสุดทุกเมื่อ ร่วมกับชิปเซ็ตปัญญาประดิษฐ์ Lenovo AI Engine+ ไว้ปรับจูนโหมดการทำงานให้อัตโนมัติ จึงเหมาะกับการใช้งานทุกรูปแบบ
นอกจากการอัดสเปคเข้ามาก็มัดรวมฟีเจอร์ต่างๆ มาให้ใช้มากมายทั้งคีย์บอร์ด Legion TrueStrike คนดีคนเดิมกับ Legion Spectrum ฟังก์ชั่นปรับแต่งแสงไฟ RGB 6 โหมด ใน Lenovo Vantage ฉบับใส่ฟีเจอร์โอเวอร์คล็อกจีพียูมาให้ เพิ่มความสมจริงเวลาเล่นเกมด้วยกล้องเว็บแคม Tobii Horizon ไว้ตรวจจับการเคลื่อนไหวของใบหน้าขยับจอตามการหันของผู้ใช้ เพิ่มความสนุกด้วยลำโพง Nahimic Audio by SteelSeries ให้จำลองเสียงได้ 3 มิติ เพิ่มความสมจริง ถ้าจะเซ็ตให้เป็นพีซีก็ยังต่อพอร์ต HDMI และ USB-C 3.2 Full Function ได้มากถึง 2 หน้าจอแยกและ 1 จอโน๊ตบุ๊คทีเดียว
หน้าจอซึ่งเป็นจุดเด่นของ Legion Series มาอย่างยาวนาน Lenovo Legion 7i ก็ยังคงน่าใช้เช่นเดิม เพิ่มความละเอียดขึ้นเป็น 3.2K ความละเอียด 3200*2000 พิกเซล พาเนล IPS ในกรอบขนาด 16 นิ้ว ค่า Refresh Rate 165Hz พร้อม NVIDIA G-SYNC ได้ขอบเขตสีก็ยังกว้าง 100% DCI-P3 รองรับ Dobly Vision การันตีคุณภาพว่าหน้าจอนี้จะใช้เล่นเกมเพื่อความบันเทิงหรือให้ครีเอเตอร์ใช้ทำมาหากินก็ได้
NBS Verdicts
Lenovo Legion 7i ยังคงรักษามาตรฐานของตระกูล Lenovo Legion เอาไว้ได้เป็นอย่างดี ทั้งอัปเกรดสเปคตามสมัยให้ซีพียูและจีพียูรุ่นใหม่ล่าสุดแล้วประกบชุดระบายความร้อน Legion ColdFront Hyper แถมยังต่อหน้าจอแยกได้มากสุด 2 จอ จึงใช้ต่างเกมมิ่งพีซีเป็น Desktop Replacement laptop หรือจะพกไปไหนก็ไม่ลำบากมากเพราะน้ำหนักเพียง 2.2 กก. เท่านั้น ขอแค่ใส่กระเป๋าเป้พร้อมสายสะพายมีฟองน้ำซับบ่าหนาสักนิดก็พอ มันจึงเข้ามาแทนที่เกมมิ่งพีซีในบ้านได้ทันที ไม่ต้องเสียเงินซ้ำซ้อนกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มากนัก
เรื่องประสิทธิภาพ เพียงสเปคตั้งต้นจากโรงงานนับว่ากินขาดถ้าเน้นเล่นเกมหรือจะเป็นสตรีมเมอร์ก็เหลือเฟือใช้ โหลดเกมชั้นนำมาเล่นปรับกราฟิคสูงสุดเล่นบนจอความละเอียด 3.2K ได้ทันที ไม่ต้องพึ่งฟังก์ชั่น Upscalling ก็ได้เฟรมเรทเฉลี่ยร่วม 60 Fps จะขึ้นไลฟ์สตรีมภาพก็ไม่กระตุกให้ผู้ติดตามถามหา ถ้าเป็นคนทำงาน ไม่ว่าจะวิศวกร, สถาปนิก, โปรแกรมเมอร์ ไปจนช่างภาพและคนทำงานตัดต่อวิดีโอก็เปิดโปรแกรมใหญ่ทำงานได้หมดไม่ว่าจะ AutoCAD, SOLIDWORKS ฯลฯ อาจกล่าวว่าซื้อมาแล้วเปิดเครื่องใช้ได้เลยก็ไม่ผิด
ลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ อย่าง Tobii Horizon ในกล้องเว็บแคมก็ยังได้ใช้งานเป็นระยะๆ ทั้งหรี่และดับหน้าจอเวลาเดินห่างหรือหันหออกจากตัวเครื่องหรือหันภาพในเกมตามการหันของใบหน้าผู้ใช้ ก็ช่วยให้สัมผัสเวลาใช้งานดี คีย์บอร์ด Legion TrueStrike พร้อมไฟ Spectrum ก็เพิ่มสีสันบนโต๊ะได้ดี เวลาเล่นเกมก็ตอบสนองเร็วทันใจดี
ในทางกลับกัน Lenovo Legion 7i ยังไม่ได้อัปเกรด Wi-Fi PCIe Card ให้เป็น Wi-Fi 7 เหมือนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเรือธงของแบรนด์คู่แข่ง แต่อันที่จริง Wi-Fi 6E ในแง่ใช้งานจริงก็ยังทำงานได้ดีไม่ว่าจะทำงานหรือเปิดเล่นเกมก็ได้สบายๆ แต่ควรใส่ใจระบบระบายความร้อน Legion ColdFront Hyper ซึ่งระบายความร้อนได้ดีก็จริง แต่โปรแกรม CPUID HWMonitor กลับแจ้งว่าอุณหภูมิภายในนั้นสูงสุดแตะ 100 องศาเซลเซียสได้ ถึงจะเป็นเวลาราว 1~2 วินาทีก็อยากให้ว่าที่เจ้าของ Legion 7i หาแท่นวางโน๊ตบุ๊คพร้อมพัดลมระบายความร้อนดีๆ สักตัวมาตั้งเจ้าเครื่องนี้โดยเฉพาะเวลาจะเล่นเกมหรือเปิดโปรแกรมใหญ่ทำงาน จะช่วยยืดอายุการใช้งานของมันให้อยู่ได้นานขึ้นอีกมาก
ข้อดีของ Lenovo Legion 7i
- ได้ซีพียู Intel 14th Generation และ NVIDIA GeForce RTX 40 Series แรงทรงพลัง
- ชุดระบายความร้อน ColdFront Hyper ทำงานดี ประสิทธิภาพไม่ลดแม้ใช้งานหนัก
- ติดตั้งชิป Lenovo AI Engine+ มาช่วยปรับแต่งโหมดการทำงานโดยอัตโนมัติ
- ติดตั้ง M.2 NVMe SSD 2TB และ RAM 32GB DDR5 มีให้มากพอใช้งานได้สบายๆ
- หน้าจอขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 แสดงสีสันได้แม่นยำสมจริง
- หน้าจอรองรับ NVIDIA G-SYNC ป้องกันภาพฉีกขาดเวลาเล่นเกม
- หน้าจอกางได้แบนราบ 180 องศา แชร์หน้าจอให้เพื่อนดูได้สะดวก
- กล้องหน้ารองรับฟีเจอร์ Tobii Horizon ใช้จับการเคลื่อนไหวหน้าขยับภาพจอตาม
- คีย์บอร์ด Legion TrueStrike ปรับเอฟเฟคไฟ Legion Spectrum ได้ 6 แบบ
- เสริมคีย์ลัดไว้ปรับ Refresh Rate, ไฟ LED หลังเครื่องมาให้กดใช้งานได้
- ต่อหน้าจอแยกได้ 2 หน้าจอด้วย USB-C Full Function คู่และ HDMI
- ติดตั้งเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือมาให้ใช้ร่วมกับ Windows Hello ปลดล็อคเครื่องได้สะดวก
- น้ำหนักเฉพาะเครื่องเพียง 2.2 กก. พกพาได้สะดวกไม่หนักเกินไป
- มีฟังก์ชั่น E-Sport Display ไว้โชว์ค่า FPS หรือเปิดเป้าเล็ง (Crosshair) บนหน้าจอได้
ข้อสังเกตของ Lenovo Legion 7i
- อุณหภูมิสูงสุดภายในเครื่องสูงถึง 100 องศาเซลเซียส แต่ใช้งานจริงความร้อนไม่แผ่ขึ้นมา
- ยังเชื่อมต่อได้แค่ Wi-Fi 6E แต่รุ่นเรือธงแบรนด์อื่นรองรับ Wi-Fi 7 แล้ว
รีวิว Lenovo Legion 7i
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector, Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
Lenovo Legion 7i เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นเรือธงสุดทรงพลังจาก Lenovo ในปี 2024 ซึ่งสเปคทรงพลัง จะพกไปทำงานก็ดีหรือต่อเซ็ตตั้งโต๊ะคอมในบ้านไว้เล่นเกมแทนพีซีเลยก็ได้ และยังติดตั้งเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือมาให้ปลดล็อคเครื่องได้สะดวกไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่าน ซึ่งมีรายละเอียดสเปคดังนี้
รุ่นและสเปค | Lenovo Legion 7i |
CPU | Intel Core i9-14900HX แบบ 24 คอร์ 32 เธรด (8P+16E) ความเร็วสูงสุด 5.8GHz |
GPU | NVIDIA GeForce RTX 4070 แรม 8GB GDDR6 |
SSD | M.2 NVMe SSD 1TB |
RAM | 32 GB DDR5 5600 MHz |
Software | Windows 11 Home |
Display | 16″ 3.2K (3200*2000) พาเนล IPS Refresh Rate 165Hz 100% DCI-P3 Dolby Vision NVIDIA G-SYNC NVIDIA Advanced Optimus |
Connectivity | USB-A 3.2*2 USB-C 3.2 Full Function*1 Thunderbolt 4 DisplayPort*1 USB-C 3.2*1 HDMI 2.1*1 SD Card Reader*1 Audio combo*1 Wi-Fi 6E Bluetooth 5.1 |
Weight | 2.2 กก. |
Hardware & Design
Lenovo Legion 7i ยังคงใช้ตัวเครื่องเหมือนรุ่นก่อนหน้าสีดำสนิทเหลือบน้ำเงินกรมท่าเวลาสะท้อนแสงไฟ ซึ่งดูเรียบง่าย ปุ่ม Power พร้อมเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือล้อมหลอดไฟ LED สามเส้นติดตั้งอยู่เหนือคีย์บอร์ดระหว่าง F9~F10 สกรีนโลโก้ audio by HARMAN ไว้แถบที่วางข้อมือซ้ายตรงข้ามกับสติกเกอร์ต่างๆ ข้างเพลต Lenovo ฝั่งขวามือ
เหนือขึ้นไปสันเป็นสันบานพับหน้าจอยึดก้านบานพับเข้าริมสันบานพับ ล็อคน็อตเอาไว้ใต้ฐานในเครื่อง ให้ความแข็งแรงกางจอได้ด้วยนิ้วเดียวเพียงเกี่ยวลิ้นเหนือกล้องเว็บแคมแล้วกางไปได้จนราบกับพื้น 180 องศา โดยไม่มีอาการโยกกระพือแม้แต่น้อย จะตั้งบนโต๊ะหรือขึ้นแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ปรับมุมหน้าจอให้เหมาะกับสายตาผู้ใช้ได้ตามสะดวก
ฝาหลังยังคงความเรียบง่ายเหมือน Lenovo Legion รุ่นก่อน ยังมีแค่เพลต Legion ไว้มุมบนซ้ายและ Lenovo ตรงมุมล่างขวาไม่สกรีนลวดลายอะไรไว้เป็นพิเศษ เหนือขึ้นไปจะเห็นลิ้นเหนือขอบบนหน้าจอให้เอานิ้วกางหน้าจอติดมาให้ ท้ายเครื่องจะมีช่องต่ออะแดปเตอร์กับพอร์ต HDMI พร้อมไฟ LED ติดมาให้ผู้ใช้เสียบสายได้ถูกต้อง กด Fn+U เพื่อเปิดปิดไฟส่วนนี้ได้
ใต้เครื่องมีแถบยาง 3 เส้นเป็นเส้นยาวด้านบนกับคู่ล่างไว้ยกตัวเครื่องกันรอยขีดข่วนและกันลื่นติดมาให้ มีช่องนำลมเข้าถัดลงมาจากแถบยางด้านบน ใช้กินพื้นที่ใต้เครื่องไปส่วนหนึ่งแล้วขันน็อตหัวแฉก Philips Head เอาไว้ 8 ดอก จึงใช้ไขควงทั่วไปขันเปิดฝาเพิ่มหน่วยความจำในเครื่องได้ทันที
Screen & Speaker
สเปคหน้าจอของ Lenovo Legion 7i จะมีขนาด 16 นิ้ว เท่ากัน ต่างตรงความละเอียดมีแบบ WQXGA (2560*1600) พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 240Hz ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB รองรับ VESA DisplayHDR 400, Dolby Vision, NVIDIA G-SYNC ให้เลือก ส่วนเครื่องทดสอบเป็นความละเอียด 3.2K (3200*2000) พาเนล IPS มีค่า Refresh Rate 165Hz แต่ขอบเขตสีหน้าจอดีกว่าเป็น 100% DCI-P3 แทน ได้ฟีเจอร์ Dolby Vision, NVIDIA G-SYNc เหมือนกัน ยกเว้น VESA DisplayHDR 400 เท่านั้น
เวลาใช้งาน หน้าจอของ Lenovo Legion 7i เวลาปรับความสว่างไป 100% ก็สู้แสงแดดได้ทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะนั่งทำงานในห้องแล้วแสงแดดตกกระทบหรืออยู่นอกสถานที่ก็ไม่มีปัญหา ถ้านั่งทำงานในอาคารแนะนำให้ปรับความสว่างไว้ราว 50~60% ก็มองเห็นได้ชัดเจนแล้ว
การปรับตั้งค่า ไม่ว่าจะ Refresh Rate, ไฟ RGB คีย์บอร์ด Legion Spectrum, โหมดตัวเครื่อง แม้แต่ไฟพอร์ตหลังเครื่องถ้ากดแล้ว จะมีกรอบบอกการตั้งค่าโชว์ขึ้นมาบนหน้าจอบอกว่าตอนนี้เปลี่ยนโหมดให้ตามต้องการแล้ว ภาพไอคอนแสดงผลดูเข้าใจง่ายดูเข้าใจในทันที
นอกจากนี้กล้องเว็บแคมยังเสริมฟังก์ชั่น Tobii Horizon เซนเซอร์จับใบหน้า นอกจากคอยลดความสว่างและล็อคหน้าจอเวลาผู้ใช้ไม่ได้ใช้งานแล้ว ถ้าเกมนั้นๆ รองรับเซนเซอร์นี้ก็จะช่วยหันฉากในจอให้ตามใบหน้าของเราอีกด้วย โดยรายชื่อเกมที่รองรับเซนเซอร์นี้สามารถเช็คได้ที่นี่
ลำโพงปรับจูนเสียงโดย audio by HARMAN นอกจากจำลองแยกทิศทางเสียงศัตรูได้แบบ 3 มิติเวลาเล่นเกมและเพิ่มความสมจริงเวลาดูภาพยนตร์ได้ดีขึ้นแล้ว เวลาฟังเพลงเสียงนักร้องและเครื่องดนตรีจะเด่นขึ้นมาและยังแยกทิศทางเสียงได้ระดับหนึ่ง เสริมด้วยเสียงเบสซัพพอร์ตโทนเสียงให้มีมิติระดับพอจะฟังเพลงได้ทุกแนวตั้งแต่เพลงคลาสสิคยุคเก่าไปจนเพลงใหม่ๆ ก็ยังได้ แต่เพลงเบสหนักอย่างฮิปฮอปหรือเมทัลแนะนำให้ต่อลำโพงแยกออกไปอีกชุดจะได้อรรถรสดีขึ้นอีกระดับหนึ่ง
Keyboard & Touchpad
Lenovo Legion 7i ยังใช้คีย์บอร์ด Legion TrueStrike ขนาด Full size เช่นเดียวกับรุ่นก่อน วางเลย์เอ้าท์เช่นเดียวกับ Lenovo Legion Series รุ่นอื่น ซึ่งตำแหน่งปุ่มเทียบกันแล้วก็ไม่ต่างจากรุ่นก่อนเลย ยกเว้นปุ่ม Ctrl ฝั่งขวาของ Spacebar ถูกเปลี่ยนเป็นปุ่ม Windows Copilot ไว้เรียก AI ของ Microsoft เท่านั้น
ในมุมกลับกัน คีย์บอร์ดนี้ก็ดีไซน์ตำแหน่งและใส่ฟังก์ชั่นมาให้ครบ ทั้งปุ่มฟังก์ชั่นมาตรฐานผสมกับ Multimedia key ในบรรทัด F1~F12 รวมไปถึงปุ่ม FnLock ตรงปุ่ม Esc ให้กดสลับไปใช้ Function Hotkey เป็นปุ่มชุดหลัก จึงเห็นแต่การปรับแต่งเล็กน้อยตามส่วนต่างๆ มากกว่ารื้อดีไซน์ใหม่
ทางบริษัทเรียกไฟ LED Backlit “Legion Spectrum” มาให้ ปรับเอฟเฟคแสงไฟ RGB ได้ 6 แบบ เหมือนกับรุ่นเรือธงของทางค่าย แยกเป็นเอฟเฟคตั้งต้นจากโรงงาน 2 แบบ ปรับแต่งได้อีก 4 แบบใน Lenovo Vantage จะเพิ่มเอฟเฟคแสง, เซ็ตอัพสีเฉพาะแต่ละปุ่มเอาไว้ก็ได้ นอกจากนี้ถ้ากด Fn ค้างไว้จะมีไฟสีฟ้าบอกคีย์ลัดตั้งค่าเครื่องติดขึ้นมาอีก 3 ปุ่ม คือ
- Fn+Q : ปุ่มเปลี่ยนโหมดตัวเครื่อง
- Fn+R : ปุ่มเปลี่ยนค่า Refresh Rate หน้าจอระหว่าง 60Hz / 165Hz
- Fn+U : ปุ่มเปิดปิดไฟบอกพอร์ตหลังเครื่อง
Auto mode Quiet mode Performance mode Custom mode
พอกด Fn+Q เพื่อปรับโหมดของ Lenovo Legion 7i จะมีไอคอนของแต่ละโหมดขึ้นมาตรงกลางหน้าจอ โดยทั้ง 4 โหมดจะเป็นดังนี้
- Auto mode: ให้ตัวเครื่องปรับโหมดตามโปรแกรมที่ใช้งานโดยอัตโนมัติ
- Performance mode: ให้โน๊ตบุ๊คทำงานเต็มประสิทธิภาพ แต่เสียงพัดลมจะดังชัดเจน
- Quiet mode: เน้นการประหยัดพลังงาน เสียงพัดลมเบา เหมาะกับการใช้งานในที่สาธารณะ
- Custom mode: ทำงานตามการตั้งค่าของผู้ใช้ ตั้งค่าได้ใน Lenovo Vantage
เวลาใช้งาน Performance mode จะเหมาะกับการเล่นเกมเกมขณะที่ Quiet mode เหมาะกับงานเอกสารหรือเปิดเว็บไซต์ทั่วไปเพราะไม่ต้องการพลังประมวลผลของซีพียูเยอะ ถ้าเน้นสะดวกแนะนำให้กด Auto mode แล้วใช้งานไปตามสะดวกของเราเลยก็ดี ส่วนถ้าใครอยากปรับแต่งการทำงานให้เหมาะกับรสนิยมของตัวเอง ก็ใช้ Custom mode ก็ได้
Function Hotkey ของ Lenovo Legion 7i ยังคง Mapping มาเหมือน Lenovo Legion รุ่นก่อน ไม่ได้ปรับแต่งปุ่มใดเป็นพิเศษจึงใช้ความคุ้นเคยเดิมได้ทันที ซึ่งแต่ละปุ่มจะมีฟังก์ชั่นดังนี้
- F1~F3 – ปิด, ลด/เพิ่มเสียง
- F4 – ปิด/เปิดไมโครโฟน
- F5~F6 – ลด/เพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F7 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและจอเสริม
- F8 – Airplane Mode
- F9 – Lenovo Smart Key ตั้งค่าเรียกคำสั่งที่ต้องการได้ ถ้ากด 2 ครั้งจะเปิด Lenovo Vantage
- F10 – ล็อคการทำงานทัชแพด
- F11 – ปุ่มเรียก Task view ดูและสลับโปรแกรมที่เปิดอยู่ทั้งหมด
- F12 – เรียกโปรแกรมเครื่องคิดเลข
นอกจากคีย์ลัดทั่วไป ใน Lenovo Vantage จะมีฟังก์ชั่น Macro Key ให้ตั้งคีย์ลัดพิเศษไว้กับ Numpad กดได้ จะเปิดไว้ตลอดเวลาหรือจะตั้งให้เปิดเฉพาะตอนเล่นเกมก็ได้ วิธีตั้งค่าปุ่มก็เรียบง่ายเพียงกดเลขที่ต้องการแล้วบันทึกมาโครต่อได้เลย
ทัชแพดของ Lenovo Legion 7i จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ รองรับ Gesture Control ของ Windows 11 ครบถ้วน ริมแป้นกว้างเสมอกลางปุ่ม Alt ทั้งสองฝั่ง ทำให้เวลาวางมือบนปุ่ม WASD เพื่อเล่นเกมแล้วสันมือจะทาบริมแป้นพอดีแต่ไม่มีปัญหาทัชแพดลั่น ถ้าไม่มั่นใจก็กด Fn+F10 ล็อคเอาไว้แล้วต่อเมาส์แยกออกมาก็ได้
Connector, Thin & Weight
พอร์ตและการเชื่อมต่อของ Lenovo Legion 7i จะมีพอร์ตใช้งานครบถ้วน ถึงจะลดพอร์ต USB-A 3.2 ลงเหลือ 2 ช่อง แต่ยังมีพอร์ต Thunderbolt 4 กับ USB-C Full Function ให้ต่อ Hub ติดมาให้เช่นเดิม แต่เสริม SD Card reader มาให้ช่างภาพโอนไฟล์จากการ์ดเข้าเครื่องได้ทันที ซึ่งพอร์ตและการเชื่อมต่อทั้งหมดจะมีดังนี้
- ด้านหลังจากซ้ายมือ – HDMI 2.1, ช่องต่ออแดปเตอร์
- ด้านซ้ายจากซ้ายมือ – USB-A 3.2, USB-C 3.2 Full Function, Thunderbolt 4
- ด้านขวาจากซ้ายมือ – SD Card Reader, USB-C 3.2 Full Function, สวิตช์ E-Shutter, USB-A 3.2
- การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.1
น้ำหนักของ Lenovo Legion 7i เฉพาะโน๊ตบุ๊คจะหนัก 2.24 กก. รวมอะแดปเตอร์อีก 877 กรัม แล้วจะหนัก 3.11 กก. ตัวเครื่องบางพอใส่กระเป๋าโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้วได้พอดี ไม่กินพื้นที่เก็บของใช้มากนัก ถ้าพกเครื่องไปทำงานนอกสถานที่ขอแนะนำให้พกอะแดปเตอร์ GaN พร้อมสาย USB-C กำลังชาร์จ 100 วัตต์ขึ้นไปสักชุดก็พอจ่ายไฟให้ใช้งานได้ทั้งวันแล้ว ส่วนอะแดปเตอร์ของ Lenovo แนะนำให้วางไว้กับโต๊ะคอมในบ้านหรือออฟฟิศแล้วหยิบไปใช้ในบางโอกาสก็พอ
Inside & Upgrade
เวลาอัปเกรดเพิ่มหน่วยความจำให้ Lenovo Legion 7i ให้เริ่มขันน็อต Philips Head ทั้ง 8 ตัวออกแล้วเอาการ์ดแข็งไล่ขอบช่องว่างระหว่างฝาหลัง ไล่จากบริเวณลำโพงฝั่งขวามือไปจนครบทั้งสี่ด้าน ค่อยดึงฝาออกเบาๆ จะเจอเมนบอร์ดพร้อมช่องใส่ M.2 NVMe SSD อินเทอร์เฟส PCIe 4.0 รวม 2 ช่อง ติดอยู่ริมฝั่งซ้ายเหนือ Wi-Fi PCIe Card ฝั่งขวาเป็นอันดั้งเดิมจากโรงงานอยู่ถัดจากกรอบอลูมิเนียมปิด RAM ถ้าสังเกตตรงฝาใต้เครื่องจะเห็นว่า Lenovo เสริมแผ่นอลูมิเนียมกับแผ่นซิลิโคนเข้ามาช่วยนำความร้อนให้ SSD ฝั่งละชิ้น ช่วยนำความร้อนเวลาประมวลผลออกมาแผ่นอลูมิเนียมใต้เครื่องได้รวดเร็วขึ้น
ด้าน RAM 32GB DDR5 ใต้เพลตอลูมิเนียมจะเป็นแบบ Dual channel ติดตั้งมาแบบ 16GB*2 ซึ่งมากสุดตามเอกสารข้อมูลเชิงลึกของ Lenovo แล้ว ซึ่งความจุระดับนี้ก็มากพอใช้งานได้ทุกแบบในปัจจุบันตั้งแต่เล่นเกมชั้นนำ, ทำงานตัดต่อหรือแม้แต่เปิดโปรแกรมสายวิศวกรรมก็ยังได้
Performance & Software
ในฐานะเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับเรือธงก็ได้ซีพียูรุ่นสูงสุดอย่าง Intel Core i9-14900HX แบบ 24 คอร์ 32 เธรด แยกเป็น 8 P-cores และ 16 E-cores มีความเร็วสูงสุด 5.8GHz สถาปัตยกรรม Intel 7 ขนาด 10 นาโนเมตร รหัสพัฒนา Raptor Lake ค่า TDP สูงสุด 55 วัตต์ ติดตั้งชุดคำสั่งมาให้ครบถ้วนพร้อมใช้งาน
RAM จากโรงงานมีความจุ 32GB DDR5 บัส 5600MHz เป็นแบบ 16GB จำนวน 2 แถว ชิปผลิตโดย Samsung มีค่า CL46-45-45-89-134 อิงข้อมูลจากหน้าเว็บ Lenovo เป็นความจุสูงสุดเท่าที่เมนบอร์ดรองรับแล้ว แต่ในหน้าเว็บไซต์ของ Crucial จะรองรับได้ถึง 64GB ซึ่งความจุระดับนี้ก็มากพอใช้ทำกราฟิค 3D ตัดต่อวิดีโอและภาพนิ่งได้แน่นอน
นอกจาก Intel UHD Graphics สำหรับใช้งานทั่วไป จะมี NVIDIA GeForce RTX 4070 มี VRAM 8GB GDDR6 ค่า TGP 140 วัตต์ มี CUDA 4,608 Unified รองรับ Dynamic Boost ไว้สลับการทำงานระหว่างจีพียูออนบอร์ดและแยกโดยอัตโนมัติติดตั้งมาให้ รองรับชุดคำสั่งหลากหลายไม่ว่าจะ DirectX 12, OpenCL, OpenGL 4.6, CUDA, DirectCompute, DirectML, Vulkan, Ray Tracing, PhysX เพื่อใช้คำนวนฟิสิกส์ในโปรแกรมและเกมต่างๆ ได้ และยังเปิด Resizable BAR ไว้เรียบร้อยแล้ว
ภายใน Device Manager จะโชว์ว่า Lenovo Legion 7i ติดตั้งชิป TPM 2.0 ไว้รักษาความปลอดภัยร่วมกับ Windows Hello ควบคู่กับเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือของ ELAN ใช้การ์ด Wi-Fi PCIe รุ่น Intel AX211 รองรับ Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax แบนด์วิธ 160MHz เชื่อมต่อ Wi-Fi คลื่น 6 / 5 / 2.4GHz ได้ รองรับ MU-MIMO, OFDMA, Intel vPro และ Bluetooth 5.1 ในตัว
ฮาร์ดดิสก์แบบ M.2 NVMe SSD รหัส SAMSUNG MZVL21T0HCLR-00BL2 หรือ Samsung PM9A1 เป็น OEM SSD ยอดนิยมของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในปัจจุบันเป็นอินเทอร์เฟส PCIe 4.0×4 รับส่งข้อมูลได้เร็วดี เมื่อทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8 จะได้ผลดังนี้
สเปคและความเร็ว | Read (MB/s) | Write (MB/s) |
สเปคโรงงาน | 7,000 | 5,100 |
Sequential ไดรฟ์ C:\ | 6,607.68 | 4,932.96 |
RND4K | 589.57 | 642.45 |
จากผลการทดสอบนี้นับได้ว่า Samsung PM9A1 ก็ทำงานได้ดีจนไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนก็ได้ นอกจากอยากใส่ SSD เพิ่มแล้วได้สเปคดีเท่ากันก็แนะนำให้ซื้อ Kingston Fury Renegade, WD Black SN850X หรือ ADATA Legend 900 ใส่เพิ่มเข้าไปก็ดี
สเปคของ Lenovo Legion 7i ในฐานะเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คนับว่าทรงพลังพอจะเล่นเกมชั้นนำได้ทุกเกมปรับกราฟิคระดับสูงสุดได้แน่นอน พอทดสอบด้วย 3DMark Time Spy ก็ทำคะแนนเฉลี่ยได้สูงถึง 13,120 คะแนน สังเกตว่าคะแนน CPU score 15,063 คะแนน นำคะแนน Graphics score 12,829 คะแนนไประดับหนึ่ง ซึ่งผลคะแนนนี้นอกจากจะบอกผู้ใช้ว่าซีพียูสามารถดึงพลังของจีพียูออกมาได้เต็มที่แล้ว ยังเหมาะกับเกมเน้นใช้พลังของซีพียู (CPU Intensive) มาก เช่น Far Cry 6, Cyberpunk 2077 หรือ Microsoft Flight Simulator 2020 เป็นต้น
นอกจากผลทดสอบด้วย 3DMark Time Spy เฟรมเรทเวลาเล่นเกมบนหน้าจอความละเอียด 3.2K เวลาปรับกราฟิคสูงสุดแล้วไม่ใช้ NVIDIA DLSS มาช่วยเร่งเฟรมเรท ก็ยังทำเฟรมเรทเฉลี่ยได้เกิน 40 Fps ขึ้นไป อยู่ในระดับเปิดเล่นได้และระหว่างเล่นก็ไม่มีอาการเฟรมเรทตกหรือเพิ่มขึ้นลงกะทันหันกวนใจ
สิ่งที่พบระหว่างทดลองเล่นเกมต่างๆ เริ่มจาก Resident Evil 4 Remake ภาพจะกระตุกราว 1 วินาที คาดว่าตัวเกมกำลังโหลด Texture ต่างๆ อยู่ หลังจากนั้นก็เล่นได้ตามปกติ ส่วน Red Dead Redemption 2 และ Call of Duty: Modern Warfare II เฟรมเรทจะลดลงเวลาเจอฉากที่มีฝุ่นผงหรือหิมะมาก เฟรมเรทจะลดลงพอสมควร แต่เกิดเพียงเสี้ยววินาทีก็กลับมาเล่นได้ดีตามเดิม
กลับกันถ้าเปิด NVIDIA DLSS upscalling แบบ Quality ให้เฟรมเรทเฉลี่ยของแต่ละเกมสูงขึ้น จากกราฟจะเห็นว่าเฟรมเรทเฉลี่ยของแต่ละเกมสูงขึ้นให้เล่นเกมแล้วภาพไหลลื่นไม่เสียอารมณ์ และสังเกตว่าเฟรมเรทต่ำสุดของแต่ละเกมจะเพิ่มขึ้นมากจนหลายเกมเกือบแตะ 60 Fps แล้วภาพในเกมก็ยังสวยคมชัด ไม่มีอาการภาพซ้อนหรือแตกให้เห็น แม้จะจับสังเกตก็แยกกับแบบไม่เปิดไม่ออกแน่นอน
อย่างไรก็ตาม หน้าจอของ Lenovo Legion 7i มีความละเอียดเพิ่มเป็น 3.2K (3200*2000 พิกเซล) ทำให้จีพียูทำงานหนักขึ้นเล็กน้อย จากกราฟจะเห็นว่าถ้าลดความละเอียดลงเป็น WQXGA (2560*1600 พิกเซล) เมื่อไหร่ เฟรมเรทเฉลี่ยของแต่ละเกมจะสูงขึ้นทันทีแม้ไม่เปิด NVIDIA DLSS Quality ก็เล่นได้สบายๆ ถ้าเปิดก็ได้เฟรมเรทขั้นต่ำเกิน 60 Fps ขึ้นไปแทบทุกเกม
อาจสรุปได้ว่าถ้าจะใช้ Lenovo Legion 7i เล่นเกม ด้วยสเปคของมันจะเหมาะกับหน้าจอความละเอียด 2K QHD ซึ่งยังได้ภาพสวยคมชัดอยู่และไม่กินกำลังของจีพียูเกินไป แต่ถึงจะต่อหน้าจอ 4K UHD ก็ยังเล่นได้และมี NVIDIA DLSS Upscalling เป็นตัวช่วยให้ภาพยังไหลลื่นอยู่ ดังนั้นขอแนะนำให้เปิดความละเอียด 3.2K เวลาใช้ทำงานตามปกติหรือดูภาพยนตร์ก็พอ เวลาเล่นเกมก็ปรับลงมาเหลือ WQXGA จะดีกว่า
ส่วนการทำงาน Lenovo Legion 7i ก็ทำคะแนนทดสอบด้วย PCMark 10 ได้ดีมาก เก็บคะแนนเฉลี่ยรวมทุกการทดสอบได้ 8,634 คะแนน ครองตำแหน่งหัวแถวของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเรือธงประจำปี 2024 นี้ ถ้าแยกเฉลี่ยไปตามหมวดการทดสอบจะเห็นว่าขึ้นมาแตะหลักหมื่นทั้งหมด โดยเฉพาะการทำงานสาย Digital Content Creation จะทำงานกับภาพนิ่งและจำลองโมเดล 3D ได้ดีเป็นพิเศษ และมั่นใจว่าตัดต่อวิดีโอความละเอียด 4K ได้ดีสบายๆ
คะแนนจากการทดสอบกับโปรแกรมตระกูล CINEBENCH ซึ่งจำลองการทำงานกราฟิค 3D จะเห็นว่าคะแนนของ Legion 7i ในโปรแกรมทุกเวอร์ชั่นทำออกมาได้สูงพอจะปั้นโมเดลที่มีรายละเอียดเยอะได้สบายๆ ซึ่งคะแนนของแต่ละการทดสอบจะเป็นดังนี้
- 2024 – ใช้ทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูกับจีพียูอย่างหนักพร้อมกันโดยใช้เอนจิ้น Redshift สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนต์ ได้ GPU 11,027 pts, CPU (Multi-Core) 1,451 pts และ CPU (Single Core) 124 pts
- R23 – ใช้ทดสอบพลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก มีความละเอียดและแม่นยำสูง ได้คะแนน Multi Core 24,755 pts และ Single Core อีก 2,114 pts
- R20 – ใช้ทดสอบกำลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก ได้คะแนน CPU 11,195 pts
Blender CPU Blender GPU
ด้านของโปรแกรม Blender benchmark สำหรับทดสอบความเร็วเรนเดอร์โมเดล 3D ภายใน 1 นาที ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นจะเรนเดอร์โมเดลออกมาได้กี่ Sample ยิ่งได้จำนวนมากยิ่งดี จากการทดสอบจะได้ผลดังนี้
การทดสอบ (Sample) | CPU (Intel Core i9-14900HX) | GPU (NVIDIA GeForce RTX 4070) |
monster | 172.72 | 1,834.12 |
junkshop | 108.37 | 840.63 |
classroom | 77.08 | 936.80 |
ซึ่งผลคะแนนของ Lenovo Legion 7i ทุกการทดสอบข้างต้นก็สรุปได้ว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คนี้ ทรงพลังพอจะใช้งานได้ทุกแบบ ไม่ว่าจะใช้เล่นเกมชั้นนำบนหน้าจอความละเอียด QHD ไปจน UHD ก็ได้แถมยังเอาไว้อัดคลิปหรือไลฟ์สตรีมก็ไม่มีปัญหา ด้านครีเอเตอร์ก็ใช้ทำงานกราฟิคได้ทุกแบบจะภาพหรือวิดีโอก็ไม่มีปัญหา สมฐานะเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับเรือธงอย่างไม่ต้องสงสัย
ถ้าจะปรับแต่งตัวเครื่องหรืออัปเดตเฟิร์มแวร์ให้ทำงานได้ดีขึ้น ก็มีโปรแกรม Lenovo Vantage ติดตั้งมาให้เช่นเดียวกับโน๊ตบุ๊คในเครือ ในหน้าแรกมีฟังก์ชั่นสำหรับมอนิเตอร์การทำงานให้ใช้ ส่วนจุดพิเศษของซีรี่ส์นี้จะมีกรอบ Legion Edge ไว้ให้เจ้าของโอเวอร์คล็อกจีพียูและตั้งค่าการสลับใช้การ์ดจอได้
ถัดลงมาส่วน System Tools จะรวมฟังก์ชั่นเสริมทั้งหมดเอาไว้ ไม่ว่าจะตั้งค่า Macro, Tobii Horizon, ปรับแต่งระบบเสียง Nahimic ก็ได้ แถมมีจุดน่าสนใจตรงหัวข้อ E-Sport Display ซึ่งหมวดนี้จะสั่งเปิดแสดงผลค่า FPS ไว้มุมหน้าจอและเป้าเล็งปืน (Crosshair) สำหรับเกม FPS รวมถึงใช้ฟังก์ชั่น Dynamic response time ได้ด้วย เวลาเล่นเกมก็มาเปิดฟังก์ชั่นในหัวข้อนี้เอาไว้ใช้ได้
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของ Lenovo Legion 7i มีความจุมากถึง 99.9Whr วัดเป็น Typical capacity ได้ 6421mAh ถ้าเป็น Rated capacity จะได้ 6299mAh เทียบเท่ากับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเรือธงรุ่นอื่นในตลาด และเป็นความจุสูงสุดเท่าที่จะพกขึ้นเครื่องบินเดินทางไปต่างประเทศได้แล้ว
ระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่พอลดความสว่างหน้าจอเหลือ 50% ปรับลำโพงดัง 10% ใช้โหมดประหยัดพลังงานทั้งใน Lenovo Vantage พ่วงด้วย Battery Saver ของ Windows แล้วเปิด Microsoft Edge ดูคลิปใน YouTube ราว 30 นาที จะใช้งานได้นานสุด 4 ชั่วโมง 52 นาที ซึ่งนานพอจะใช้ในเลคเชอร์สักคลาสหรือประชุมใหญ่ได้แน่นอน ถ้าไม่มั่นใจก็ยังใช้อะแดปเตอร์ GaN กำลังชาร์จ 100 วัตต์ขึ้นไปต่อชาร์จผ่านพอร์ต USB-C ในยามจำเป็นได้ หากเทียบกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเรือธงรุ่นอื่นๆ ในท้องตลาดก็ยังใช้งานได้นานพอสมควร
ชุดระบายความร้อน Legion ColdFront Hyper จะเป็นชุดเพลตระบายความร้อนปิดทั้งซีพียูและจีพียู รวมไปถึงชิปเซ็ตอื่นๆ บนตัวเมนบอร์ดเอาไว้ เดินฮีตไปป์ 3 เส้นนำความร้อนไปยังซิ้งค์หน้าพัดลมโบลวเวอร์คู่ทั้งสองฝั่งระบายความร้อนออกด้านหลังเครื่องเท่านั้น ไม่มีช่องด้านข้างเหมือน Lenovo Legion รุ่นอื่น
อุณหภูมิพื้นผิวของ Lenovo Legion 7i จากกล้องอินฟราเรดจะเห็นว่าความร้อนส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ส่วนกลางของคีย์บอร์ดตามจุดติดตั้งซีพียูกับจีพียู กินพื้นที่ตั้งแต่ปุ่ม D ไปจนปุ่ม Enter ไม่ถึงกับชุดปุ่ม Numpad ส่วนจุดที่อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ตรงปุ่ม Power เหนือคีย์บอร์ดระดับ 50.4 องศาเซลเซียส เย็นสุดจะอยู่ตรงปุ่ม WASD เพียง 29.6 องศาเซลเซียส พอใช้เลเซอร์เช็คอุณหภูมิกดตรงปุ่ม WASD จะอยู่ราว 35 องศาเซลเซียส แถบปุ่ม Enter จะอยู่ราว 42 องศาเซลเซียส
ส่วนภายใน Lenovo Legion 7i ระหว่างรันโปรแกรม Benchmark แล้ววัดด้วย CPUID HWMonitor จะเห็นว่าอุณหภูมิส่วนต่างๆ ภายในเครื่องยกเว้นซีพียูจะอยู่ช่วงไม่เกิน 70 องศาเซลเซียส โดยแต่ละชิ้นส่วนจะได้ค่าดังนี้
ชิ้นส่วน/อุณหภูมิ (เซลเซียส) | อุณหภูมิต่ำสุด | อุณหภูมิสูงสุด |
Mainboard | 27.8 | 27.8 |
CPU (Package) | 54 | 100 |
CPU (P-Core) | 50 | 99 |
CPU (E-Core) | 50 | 100 |
NVIDIA GeForce RTX 4070 | 43 | 68 |
RAM (1) | 48.8 | 59.8 |
RAM (2) | 45.8 | 58.8 |
SSD | 44 | 65 |
ถึงอุณหภูมิในหน้าโปรแกรมจะแตะระดับ 100 องศาเซลเซียสจนผู้ใช้บางคนกังวล แต่ตอนใช้งานก็ไม่มีอาการเครื่องช้าประมวลผลไม่ทันหรือเฟรมเรทลดจนเล่นเกมไม่ได้ ถือว่าชุดระบายความร้อน Legion ColdFront Hyper สามารถจัดการอุณหภูมิภายในเครื่องได้ดี แถมความร้อนก็ไม่แผ่จากด้านในขึ้นมาถึงมือของผู้ใช้แม้แต่น้อย
เสียงพัดลมระบายความร้อนของ Legion 7i เวลาตั้งสแตนด์บายเครื่องไว้ วัดจากด้านหน้าจะมีเสียงพัดลมดังราว 49dB พอได้ยินแว่วๆ แต่ถ้ารันโปรแกรม Benchmark แล้ววัดเสียงหน้าเครื่องเหมือนใช้งานตามปกติจะเพิ่มเป็น 54dB ส่วนหลังตรงช่องระบายความร้อนจะดัง 60dB ได้ยินเสียงพัดลมทำงานชัดเจนแต่ไม่หวีดแหลมรบกวนหูมากนัก ดังนั้นจะใช้งานในบ้านหรือที่สาธารณะอย่างร้านกาแฟก็ไม่มีปัญหา
User Experience
Lenovo Legion 7i ยังคงเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คซีรี่ส์ที่น่าใช้เสมอ รวมถึงโมเดลปี 2024 นี้ก็ยังเหมือนเดิม ทั้งสเปคระดับ Desktop replacement ซื้อมาแล้วใช้แทนเกมมิ่งพีซีในบ้านได้ทันที อย่างมากก็หาแท่นวางโน๊ตบุ๊คดีๆ มารองเครื่องอัดอากาศเย็นเข้าไประบายความร้อนได้ดีขึ้นก็พอแล้วไปลงกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ทั้งหน้าจอและเกมมิ่งเกียร์หรือเพิ่ม SSD อีก 1~2TB ไว้ติดตั้งเกมหรือเก็บไฟล์งานก็ว่าไปตามสะดวก
สเปคของ Legion 7i นับว่าจัดจ้านพอจะเล่นทุกเกมชั้นนำปรับกราฟิคสูงสุดบนจอความละเอียด 2K QHD ได้สบายๆ จะใช้ NVIDIA DLSS เสริมหรือไม่ภาพก็ลื่นไม่แพ้กัน ยิ่งถ้าต่อหน้าจอแยกเมื่อไหร่ก็แทบไม่ต่างจากคอมประกอบสักนิด แต่ยืดหยุ่นกว่าเพราะพกออกไปใช้นอกบ้านบ้านได้ หรือถ้าตั้งโต๊ะทำงานก็จัดพื้นที่ได้ยืดหยุ่นกว่า จะตั้งมันบนแท่นวางใช้มันเป็นตัวประมวลผลและหน้าจอเสริมเพิ่มเกมมิ่งเกียร์หรือจะวางมันแบบไหนก็ว่ากันไป นอกจากนี้ยังได้กล้องเว็บแคมพร้อมเซนเซอร์ Tobii Horizon จับการขยับของใบหน้าหันฉากในเกมที่รองรับตามผู้ใช้ทันที ซึ่งเหนือกว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเจ้าอื่นพอตัว
ถ้าจะพกใส่กระเป๋าเอาไปทำงานนอกบ้านก็ไม่ลำบากมาก เพราะตัวเครื่องหนักเพียง 2.2 กก. และพอร์ต USB-C ก็มีทั้ง Thunderbolt 4 และ Full Function ขอแค่มีพาวเวอร์แบงค์หรืออะแดปเตอร์ GaN กำลังชาร์จ 100 วัตต์พร้อมสายชาร์จสักเส้นก็ตัดกังวลไปได้ แต่แบตเตอรี่ 99.9Whr ในตัวมันก็มากพอให้ใช้งานได้อีกร่วม 5 ชั่วโมง กรณีใช้งานจริงยังไล่เลี่ยกับผลการทดสอบในโปรแกรมอยู่ อาจจะต่างกันราว 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ว่ากันไปตามรูปแบบการใช้งาน ส่วนอะแดปเตอร์ 230 วัตต์ประจำตัวก็วางประจำโต๊ะในบ้านหรือออฟฟิศไปได้เลยยกเว้นว่าต้องยกเครื่องไปพรีวิวโมเดลงาน 3D กินพลังเครื่องมากๆ ก็ใช้อะแดปเตอร์ประจำตัวดีกว่า
จุดที่ชอบเป็นการส่วนตัว คือ ปุ่ม Power ติดเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือมาให้เหมือน Legion Slim 7 เมื่อ 3 ปีก่อน แม้จะใช้เวลาสักพักแต่พอได้ใช้งานมันร่วมกับกล้อง Tobii Horizon เวลาใช้งานในออฟฟิศหรือในที่สาธารณะ ก็ช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวได้ดีขึ้น เวลาหันหน้าหนีจากจอ Legion 7i สักครู่ จอก็จะหรี่แสงลงมาให้เองแล้วตัดเข้าฟังก์ชั่นล็อคหน้าจอโดยอัตโนมัติในเวลาสั้นๆ ทำให้คนอื่นขโมยใช้หรือแอบดูงานของเราไม่ได้ด้วย
ดังนั้น Lenovo Legion 7i จึงเหมาะกับคนที่ต้องทำงานหนักเป็นประจำ ถ้ายกยอดกลุ่มเกมเมอร์และครีเอเตอร์ออกไป เหล่ามัณฑนากร, วิศวกรและคนที่ต้องรันโปรแกรม Microsoft Excel ผูกสูตรซับซ้อนจนใช้เวลาคำนวนนานจะได้ประโยชน์จากซีพียู Intel Core i9-14900HX และจีพียู NVIDIA GeForce RTX 4080 ไว้คำนวนตัวเลขและฟิสิกส์ได้รวดเร็ว กลับกันก็ต้องใส่ใจเรื่องอุณหภูมิในเครื่องซึ่งมันสามารถพีคไปได้สูงสุดถึง 100 องศาเซลเซียสได้บ้าง ถ้าจะใช้งานหนักเมื่อไหร่ก็วางมันบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คให้นำลมเข้าได้ดียิ่งขึ้นก็จะช่วยได้
Conclusion & Award
ในบรรดาเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับเรือธงด้วยกัน Lenovo Legion 7i นั้นนอกจากสเปคจะดีพอเล่นได้ทุกเกมและทำงานหนักได้แล้ว ยังมีลูกเล่นหลากหลายให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น ทั้งต่อหน้าจอแยกได้ 2 จอ รวมโน๊ตบุ๊คอีกจอก็เพิ่มพื้นที่ Desktop ได้มหาศาล วิศวกรคนทำงานด้านต่างๆ จะซื้อมันไปก็ได้พลังของซีพียูกับจีพียูสุดทรงพลังไว้ประมวลผลงานต่างๆ ให้เสร็จในเวลาสั้นๆ ดังนั้นถ้ากำลังคิดว่าจะลงเงินสักก้อน ขอแนะนำให้รวมงบประกอบพีซีและโน๊ตบุ๊คมาซื้อเครื่องนี้ไปใช้ทีเดียวเลยจะดีกว่า หรือถ้าคนใกล้ตัวถามหาว่าจะซื้อโน๊ตบุ๊ครุ่นไหนดี จะแนะนำเครื่องนี้ไปก็ไม่ผิดหวังแน่นอน
Award
Best Gaming
สเปคของ Legion 7i จัดว่าทรงพลังพอเล่นเกมชั้นนำทุกเกมบนหน้าจอความละเอียดสูงตั้งแต่ QHD ขึ้นไปจน UHD เลยก็ไม่มีปัญหา แถมสตรีมเมอร์ยังใช้ไลฟ์เล่นเกมต่อหน้าจอแยกได้ 2 จอพร้อมกันได้สบายๆ ด้วยพอร์ต USB-C และ HDMI
Best Performance
ประสิทธิภาพของซีพียู Intel Core i9-14900HX กับจีพียู NVIDIA GeForce RTX 4080 กับ RAM 32GB DDR5 สามารถรันโปรแกรมใหญ่ไม่ว่าจะ AutoCAD, SOLIDWORKS ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นวิศวกรหรือโปรแกรมเมอร์ก็เหมาะกับมันเช่นกัน