Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

ทีวี OLED / QLED / LED 2024 เลือกแบบไหนดี จุดแข็ง ความคุ้มค่า น่าใช้

ทีวี OLED / QLED / LED เลือกแบบใดถูกใจคุณ คุ้มค่า น่าใช้ เลือกอย่างไรปี 2024

ทีวี OLED

แม้แนวโน้มการซื้อทีวีมาดูรายการทีวีจะลดลงไปมากในปัจจุบัน แต่ก็จัดว่ายังเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังมีการออกรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมความสามารถใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานในยุคนี้ เช่น ภาพที่สวยงามเพื่อการดูหนังที่มีมิติยิ่งขึ้น รีเฟรชเรตที่สูง เพื่อการเล่นเกมได้อย่างลื่นไหล ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาเทียบกันระหว่างจอภาพ จอทีวีสามแบบ ว่าแบบไหนเป็นอย่างไร และควรเลือกอย่างไรดีกับทีวี OLED, QLED และ LED


เลือกจอทีวี OLED/ QLED/ LED 2024


ประเภทของพาแนล

การแยกประเภทของทีวีในปัจจุบันจะอาศัยการแบ่งตามเทคโนโลยีการกำเนิดภาพของพาเนลจอเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้ก็จะมีอยู่ 3 ประเภทที่ได้รับความนิยมและอยู่ในตลาดกระแสหลัก ได้แก่

Advertisement
  1. จอ LED – เป็นจอที่พัฒนาต่อยอดมาจาก LCD โดยเปลี่ยนแหล่งกำเนิดแสงหลังจอมาใช้หลอดไฟ LED ส่องแสงขาวผ่านแผงคริสตัลเหลวที่มีการบิดตัวในองศาต่าง ๆ เพื่อปรับองศาของแสงที่จะไปส่องผ่านชั้นฟิลเตอร์สีของแต่ละพิกเซล ซึ่งทำให้เกิดแสงสีที่แตกต่างกันในแต่ละจุด เกิดเป็นภาพขึ้นมาบนฉากจอ
    • จุดเด่น – ต้นทุนถูกสุดเพราะอยู่มานาน ทำให้ราคาเข้าถึงง่ายสุด ภาพสวยในระดับที่ดี
  2. จอ OLED – ทำงานโดยอาศัยการเปล่งแสงของไดโอดบนแผ่นฟิล์มบาง ๆ ที่สามารถส่องแสงสีออกมาได้เมื่อมีการจ่ายไฟเข้าไป โดยแสงสีที่ออกมาก็จะผ่านชั้นปรับจูนต่าง ๆ แล้วออกมาเป็นภาพผ่านจอโดยตรง (ข้อมูลเพิ่มเติม)
    • จุดเด่น – ภาพสวยแบบตะโกน สีสวยสด คอนทราสต์สูงเพราะสีดำที่ดำสนิท ประหยัดพลังงานกว่า
  3. จอ QLED – หลักการทำงานของจอทีวีประเภทนี้ก็คือ LED นั่นเอง แต่มีการใช้ชั้นอนุภาคขนาดเล็ก (quantum dot) ในการเปล่งแสงสีออกมา โดยอาศัยการปล่อยแสงผ่านอนุภาคเหล่านี้ ทำให้ได้สีสันที่สดใส มีความแม่นยำสีกว่าการปล่อยแสงผ่านคริสตัลเหลวมายังฟิลเตอร์สี
    • จุดเด่น – ภาพสวยกว่า LED ปกติ ทั้งเรื่องความสว่างและสีสันที่สดกว่า สามารถให้ภาพที่สว่างกว่าจอ OLED ได้ จึงเหมาะกับการใช้ในห้องที่มีแสงค่อนข้างมาก และราคาย่อมเยากว่าทีวีจอ OLED

จากข้อมูลข้างต้น ก็จะเห็นแล้วว่าจอทีวีทั้งสามแบบจะมีรายละเอียดการทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งก็ส่งผลถึงความสามารถในการแสดงภาพเพื่อตอบโจทย์การใช้งานแต่ละแบบ รวมถึงการตอบโจทย์เรื่องงบประมาณด้วย ทีนี้เรามาดูปัจจัยแต่ละข้อที่ส่งผลถึงการเลือกซื้อทีวีกันบ้างครับ เพื่อดูว่าจอทีวีแบบไหนจะมีคุณสมบัติในแต่ละปัจจัยเหนือกว่ากัน

tv 2022 65lz1000 getinspired 1 220415

ความสว่างของภาพ

เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะมีผลมากกับการใช้งานจริง เพราะจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของบริเวณที่ติดตั้งทีวีด้วย ว่ามีแสงมากน้อยเพียงใด มีแสงเข้าจากทิศทางไหนบ้าง อย่างถ้าวางทีวีไว้ในห้องนั่งเล่น หรือไว้ตรงบริเวณที่มีแสงอาทิตย์เข้าเต็ม ๆ แบบนี้ก็ควรเลือกทีวีที่ให้แสงสว่างออกมาจากจอได้สูง ซึ่งโจทย์นี้ ทีวีแบบ QLED จะค่อนข้างได้เปรียบ รวมถึงกลุ่มทีวี LED รุ่นสูง ๆ หน่อยที่มีการเคลือบจอมาดี ๆ พวกนี้จะสู้แสงได้ค่อนข้างดีกว่าทีวี OLED แต่ก็แน่นอนว่าจะมาพร้อมการกินไฟที่สูงขึ้นด้วย ในกรณีที่เปิดจอให้มีความสว่างสูง นอกจากนี้จอ OLED จะมีข้อเสียเปรียบด้วย ถ้าหากเปิดจอที่ความสว่างสูงนาน ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดปัญหาการ burn-in ของจอได้

ส่วนถ้าวางทีวีไว้ในห้องที่มีแสงพอประมาณอย่างห้องนอน ห้องที่สามารถคุมปริมาณแสงได้ เช่น มีม่านกั้น แบบนี้ทีวี OLED สามารถใช้งานได้สบายมาก เรียกว่าตัวเลือกค่อนข้างเปิดกว้าง ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ฟีเจอร์ และปัจจัยการแสดงผลอื่น ๆ ได้เลย

ความสว่าง – ทีวี QLED ชนะ


คอนทราสต์ของภาพ

คอนทราสต์คือค่าความเปรียบเทียบต่างของสี โดยทั่วไปแล้วจะใช้บอกอัตราส่วนความต่างระหว่างสีใดสีหนึ่งเทียบกับสีดำ ยิ่งค่าสูง ยิ่งแสดงให้เห็นว่าจอสามารถแสดงให้สีทั้งสองดูแตกต่าง ดูแยกจากกันได้มากเท่านั้น กล่าวคือทำให้ผู้ใช้เห็นสีสันที่ชัดเจน ดูโดดเด้งจากจอ ส่วนการบอกจะใช้เป็นแบบอัตราส่วนคอนทราสต์เช่น 1000:1 และ 1,000,000:1 เป็นต้น

ในเรื่องนี้ทีวี OLED จะได้เปรียบแบบแทบจะหาคู่เทียบได้ยากมาก เนื่องจากการแสดงสีดำของจอประเภทนี้ จะเป็นการปิดแสงของพิกเซลนั้นไปเลย ทำให้สีดำก็คือดำจริง ดำสนิทที่สุดเท่าที่จอนั้นทำได้ สีสันดูอิ่มกว่า จึงทำให้คอนทราสต์ของจอ OLED จะสูงมาก ส่วนทีวีที่ทำงานโดยอาศัยการให้แสงสว่างจากแผง backlight จะไม่สามารถควบคุมปริมาณความสว่างได้อย่างแม่นยำ 100% เท่า OLED ถ้าให้เห็นภาพก็ลองดูตามภาพด้านล่างครับ

Screenshot 2024 03 27 at 3.42.47 PM

จะเห็นว่าทีวีที่ใช้การให้แสงสว่างผ่านแผงไฟ backlight ที่กระจายอยู่ทั่วจอ หากต้องการแสดงผลบริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นสีดำ แน่นอนว่าจอสามารถเลือกลดความสว่างตรงจุดนั้นได้ แต่ก็จะมีแสงจากหลอดไฟที่อยู่ใกล้เคียงกันปนเข้ามาอยู่ดี จึงทำให้ภาพที่ออกมาไม่ถึงกับดำสนิทซะทีเดียว ลองทดสอบง่าย ๆ ก็คือลองเปิดหนังที่เป็นฉากมืด ๆ โดยมีแถบข้อความซับไตเติลอยู่ จะเห็นชัดเลยว่าจะมีส่วนอื่นของจอที่สว่างวาบขึ้นมาด้วย ไม่ได้สว่างแค่เฉพาะส่วนที่เป็นตัวหนังสืออย่างเดียว ซึ่งอันนี้ก็จะขึ้นอยู่กับสเปคของทีวีด้วย

หากเป็นทีวีสาย LED/QLED รุ่นสูง ๆ หน่อยก็จะมีการวางหลอดไฟจำนวนมากกระจายทั่วจอมากขึ้นแบบ full array และสามารถเลือกปิดหลอดไฟบางส่วนด้วยฟีเจอร์ local dimming ได้ละเอียดมากขึ้น ก็จะช่วยทำให้ภาพดูมีคอนทราสต์ที่สูง ภาพดูมีมิติ แต่ก็ทำได้แค่ระดับใกล้เคียงทีวี OLED เท่านั้น อย่างมากก็ใช้สายตาแยกได้ยากหน่อยในทีวีรุ่นสูง ๆ

คอนทราสต์ – จอ OLED ชนะ


ความแม่นยำของเฉดสี

เรื่องสีสันคือหนึ่งในสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเลือกซื้อทีวี โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเสพงานภาพที่สวย สมจริง ไม่ว่าจะจากภาพยนตร์หรือเกมก็ตาม ทำให้ความแม่นยำของสีกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อาจต้องนำมาใช้พิจารณาด้วย ในกรณีที่งบประมาณอยู่ในระดับที่มีตัวเลือกทีวีให้เลือกสรรได้เยอะ

ซึ่งถ้าหากมองในเชิงเทคนิคการทำงานของจอทีวีทั้ง 3 ประเภท จอ OLED จะได้เปรียบเรื่องความแม่นยำและเฉดสีที่สุด เนื่องจากเป็นสีที่ออกมาจากแหล่งกำเนิดแสงโดยตรง ต่างจาก QLED และ LED ที่เป็นการปล่อยแสงมาผ่านชั้นฟิลเตอร์เพื่อให้กำเนิดเป็นสีสันออกมา ทำให้ถ้าหากต้องการจะเลือกทีวีซักเครื่องเพื่อใช้ดูหนังแบบได้อารมณ์สุด ๆ หรือใช้เล่นเกมที่ภาพสวย รายละเอียดสูง ทีวีแบบ OLED จะค่อนข้างตอบโจทย์ได้ดีที่สุด อันนี้สามารถไปยืนชมเดโมตามหน้าร้านขายทีวีดูได้ครับ เรื่องสีสัน รวมถึงมิติภาพมันกินขาดจริง ๆ

Screenshot 2024 03 27 at 3.35.42 PM

แต่ถ้างบไม่ถึง OLED ก็สามารถมองหากลุ่มทีวี QLED ได้เช่นกัน เนื่องจากทางผู้ผลิตเองก็มีการพัฒนาและใส่เทคโนโลยีเข้าไปที่ทำให้สีสันของทีวี QLED ดูสวยงามใกล้เคียงกับ OLED มากขึ้น และชดเชยจุดด้อยที่มี ไม่ว่าจะเป็นการนำหลอดไฟแบบ MiniLED มาเป็นแหล่งกำเนิดแสง เพื่อทำให้สามารถลดระดับแสงในจุดที่เป็นภาพมืดได้ดีขึ้น ส่งผลถึงคอนทราสต์ที่สูงกว่าเดิม เป็นต้น แต่ทั้งนี้ปัจจัยเรื่องราคาก็มีส่วนที่ส่งผลถึงผลิตภัณฑ์ด้วย เพราะเท่าที่พบมา ผิวจอของกลุ่มทีวี QLED ที่ราคาไม่สูงมากจะยังค่อนข้างสะท้อนแสงมากพอสมควร ทำให้ในบางครั้งก็สู้แสงได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ รวมถึงอาจมีมุมมองภาพไม่ค่อยกว้างมากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับประเภทย่อยของพาเนลอีกว่าเป็นแบบ VA หรือ IPS อันนี้แนะนำว่าควรไปลองยืนดูภาพจากเครื่องจริงหน้าร้านก่อนซื้อจะดีที่สุดครับ

ส่วนถ้าจะไปให้สุดจริง ๆ ก็จะมีกลุ่มของทีวี QD-OLED ที่นำเอาแผง quantum dot แบบใน QLED มาทำงานร่วมกับหลอด OLED ส่งผลให้ได้พาเนลที่สามารถแสดงสีได้ขอบเขต gamut ที่กว้างขึ้น สู้แสงสว่างในห้องได้ดีกว่าเดิม ในขณะที่ก็ยังกินไฟน้อยตามสไตล์ของ OLED อยู่ สีดำก็ยังดำสนิทเช่นเดิม แต่เนื่องจากยังเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ จึงทำให้ราคายังสูงอยู่นิดนึง

ความแม่นยำของสี – ทีวีแบบ OLED ชนะ


Screenshot 2024 03 27 at 3.34.09 PM

การเล่นเกม

ประเภทของพาเนลจะไม่ค่อยกระทบกับหัวข้อนี้มากนัก เพราะสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเลือกทีวีมาใช้เล่นเกมก็คือ

  • response time / input lag
  • refresh rate
  • เวอร์ชันของพอร์ต HDMI
  • ฟีเจอร์เสริมอย่างพวก ALLM และ VRR

ซึ่งพวกนี้จะมีอยู่ในทีวีทั้ง 3 พาเนลอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการวางตำแหน่งในตลาดของแต่ละซีรีส์ แต่ละรุ่น แต่ละขนาดจอ ถ้าเป็น LED รุ่นเริ่มต้นก็อาจจะมีแค่รีเฟรชเรต 60Hz ตามปกติของทีวี พอขยับเป็นรุ่นสูงขึ้นก็มีฟีเจอร์ช่วยจำลองเฟรมภาพขึ้นมา เพื่อให้สามารถแสดงภาพที่ 120Hz ได้ รวมถึงมีพอร์ต HDMI 2.1 พร้อมฟีเจอร์ ALLM และ VRR เพื่อให้ทำงานร่วมกับเครื่องเกมคอนโซลรุ่นใหม่ ๆ ได้เต็มที่ เป็นต้น ส่วนทีวีที่เป็น OLED ส่วนใหญ่จะมาพร้อมราคาที่สูงกว่าอยู่แล้ว จึงมักมีฟังก์ชันเหล่านี้มาให้พอตัว ประกอบกับภาพสวย response time ต่ำ ทำให้ทีวีแบบ OLED จึงค่อนข้างเหมาะสำหรับใช้เล่นเกมอยู่แล้วในตัว

ส่วนทีวี LED และ QLED ก็ใช้เล่นเกมได้สบาย ๆ ครับ บางรุ่นมีฟีเจอร์ 4 ข้อในระดับที่ดีเลย แถมราคามักจะย่อมเยากว่าด้วย แต่ก็จะขาดเรื่องความอิ่มของสีสันไปบ้าง ส่วนถ้างบจำกัดจริง หรือขนาดหน้าจอที่ต้องการซื้อนั้นมีแต่แบบ 60Hz อันนี้ก็สามารถใช้เล่นเกมคอนโซลได้สบายมาก เพราะเครื่องเกมในปัจจุบันเองก็สามารถขับภาพระดับ 4K 60fps แบบนิ่ง ๆ ได้แค่ไม่กี่เกมเอง ยิ่งเกมที่รองรับ 120Hz เต็มตัวยิ่งน้อยลงไปอีก

ทีวีที่เหมาะสำหรับเล่นเกม – OLED


ปัญหาการ burn-in

ข้อนี้เรียกว่าเป็นอาการประจำตัวของจอ OLED ในทุกอุปกรณ์เลย โดยมักจะเกิดจากการแสดงผลสิ่งเดิม ที่ตำแหน่งเดิมบนจอนาน ๆ ยกตัวอย่างก็เช่นการใช้จอสำหรับเปิดสแตนด์บายเพื่อแสดงเลขคิวตามหน้าร้านอาหาร การใช้เปิดเล่นเกมเดิม ที่มีการแสดง HUD ตลอดเป็นเวลาหลายชั่วโมง เป็นต้น ประกอบกับถ้าเปิดจอด้วยความสว่างระดับสูงมากทิ้งไว้ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงกับอาการจอเบิร์นด้วยเช่นกัน ซึ่งอาการจอเบิร์นนี้ก็จะทำให้เกิดเป็นภาพค้างบนจอ ตัวอย่างจากในภาพด้านล่างนี้ที่เป็นจอ CRT แต่ก็มีอาการลักษณะเดียวกัน

1280px ScreenBurn amber

ส่วนฝั่งของทีวี LED และ QLED จะไม่พบปัญหานี้ครับ ทำให้ถ้าหากต้องเลือกทีวีเพื่อไปเปิดแสดงภาพนิ่งเดิม ๆ ทิ้งไว้นาน ๆ ก็แนะนำว่าเป็นทีวีกลุ่มนี้ดีกว่า ส่วนใครที่มีจอ OLED อยู่แล้ว ก็ควรตั้งค่าเปิดใช้งานพวก screen saver เพื่อให้มีการเปลี่ยนการแสดงผลบนจอบ้าง ซึ่งจะเป็นวิธีหนึ่งในการถนอมจอได้อยู่เหมือนกัน

อาการจอเบิร์น – ทีวี LED/QLED ชนะ

tv money

ราคา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าราคาคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเลือกทีวี รวมถึงยังเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติ สเปค และความสามารถของทีวีด้วย ซึ่งถ้าจัดลำดับตามค่าเฉลี่ยของราคาทีวีแต่ละกลุ่มก็จะได้เป็น LED < QLED < OLED ทั้งนี้ก็เนื่องจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีการทำงานที่จอ LED อยู่มานานสุด ต้นทุนการผลิตเลยต่ำกว่าจอแบบอื่น รวมถึงยังมีตัวเลือกขนาดหน้าจอที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่จอ 24″ ไปจนถึงเกือบ 100″ เลยทีเดียว

ส่วนทีวี QLED ก็จะวางตำแหน่งอยู่ในตลาดที่เกือบทับซ้อนกับ LED เลย บางรุ่นวางไว้เป็นแบบถ้ายอมจ่ายเพิ่มจาก LED นิดเดียวก็ได้ QLED ในขนาดไล่เลี่ยกันแล้ว เป็นต้น แต่ทั้งนี้ตัวของ QLED เองก็จะมีหลายระดับราคาอีก ขึ้นอยู่กับขนาด ฟีเจอร์เสริมอย่างพวก Dolby Vision, HDR พอร์ตเชื่อมต่อ

อีกคุณสมบัติที่ส่งผลต่อราคาด้วยก็คือระบบปฏิบัติการของทีวี หรือที่รู้จักกันว่าเป็นกลุ่มของสมาร์ตทีวี ซึ่งถ้ามีเข้ามาด้วย ราคาทีวีก็จะสูงขึ้นกว่าทีวีที่เป็นแค่ทีวีสำหรับแสดงภาพนิดหน่อย อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวก ความชอบในการใช้งานของแต่ละท่านครับ โดย OS ที่ดัง ๆ หน่อยก็เช่น Google TV ที่ต่อยอดมาจาก Android TV อีกที ต่อมาก็เป็น webOS ที่มักอยู่ในทีวีของ LG และอีกตัวก็คือ Tizen OS ของ Samsung นอกจากนี้ก็จะมี OS ที่บางแบรนด์ทำออกมาใส่ทีวีของตัวเองอีก ทำให้สามารถเลือกตามความต้องการได้เลย บางตัวรองรับการทำงานร่วมกับอุปกรณ์สมาร์ตโฮมในเครือได้ บางตัวมีแอปให้โหลดมาใช้งานได้เยอะ แต่ปัจจัยสำคัญที่หลายท่านอาจมองข้ามก็คือความลื่นไหล ความเร็วของระบบครับ เพราะถ้าต้องรอทีวีโหลดข้อมูลทุกครั้งที่เปิด หรือเวลากดสั่งงานแล้วดีเลย์ก็คงน่าหงุดหงิดใช่น้อย แนะนำว่าควรไปลองเล่นเครื่องจริงก่อนตัดสินใจซื้อ หรือดูคลิปรีวิวเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยจะดีที่สุด

ราคา – แน่นอนว่า LED ถูกสุด แต่ตอนนี้ QLED ก็จับต้องง่ายขึ้นมากแล้ว

Screenshot 2024 03 27 at 3.29.53 PM

เลือกแบบไหนดี ทีวี OLED / QLED / LED

ถ้าสรุปแบบตามความต้องการเป็นข้อ ๆ จะได้ดังนี้

  • ต้องการทีวีแบบเน้นราคาเบา ๆ ไม่ซีเรียสเรื่องภาพ – LED
  • ใช้แค่ดูรายการทีวีทั่วไป ดูหนัง ดูสตรีมมิ่ง – LED/QLED ถ้าเป็นสมาร์ตทีวีก็อาจสะดวกขึ้น (ถ้าแอปรองรับ) หรือไว้ซื้อกล่องทีวีที่ลงแอปได้มาต่อเพิ่มก็ได้
  • ใช้ดูหนังแบบเน้น ๆ อยากได้ภาพสวย สีสด – OLED หรือ QLED รุ่นสูงหน่อย
  • ใช้เล่นเกม – OLED/QLED หรือ LED รุ่นสูงหน่อย เน้นว่าควรมี HDMI 2.1 ส่วนฟีเจอร์จำลองเฟรมเพิ่มเป็น 120Hz รวมถึง VRR และ ALLM ถ้ามีได้ก็ดี
  • ใช้ในพื้นที่โล่ง หรือห้องที่มีแสงเข้ามากตอนกลางวัน – QLED/LED
  • ใช้ในห้องดูหนัง หรือไว้เปิดในห้องนอน – OLED
  • ใช้เปิดภาพเดิมทิ้งไว้นาน ๆ – QLED/LED
  • ใช้แคสต์ภาพขึ้นจอบ่อย ๆ – แบบไหนก็ได้ ขอแค่ทีวีและ OS รองรับการแคสต์แบบที่ใช้ประจำ เช่นรองรับ Google Cast หรือ AirPlay
  • งบถึง จัดเต็มได้สบาย – OLED แล้วจัดพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น ติดม่านบังแสงเพิ่ม

อ้างอิงและเรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์ MakeUseOf

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Buyer's Guide

9 จอคอม 27″ ภาพเต็มตา 100Hz ราคาเบาเริ่ม 3,500.- จาก Advice เพื่อคอเกมและคนทำงาน จอคอม 27″ จัดว่าเป็นจอภาพที่ให้มิติที่กว้างเหมาะทั้งการทำงาน เพราะให้พื้นที่ขนาดใหญ่จึงแบ่งหน้าต่างการทำงานได้ง่าย หรือจะแชร์หน้าจอก็สะดวก การเล่นเกมก็ให้ภาพในเกมที่ใหญ่มากขึ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจและความแม่นยำในการโจมตี เนื่องจากมองเห็นศัตรูได้ชัดกว่า ในวันนี้เราจึงรวบรวมจอมาให้ชมกัน 9 รุ่น ที่นอกจากเป็นจอขนาดใหญ่แล้ว ยังมีอัตรารีเฟเรตที่สูงระดับ 100Hz-180Hz...

Buyer's Guide

เหตุผลของการซื้อสาย HDMI ต่อทีวีคุณภาพดีสักเส้นสองเส้นติดบ้านหรือออฟฟิศเอาไว้เป็นความคิดที่ดีไม่เสียเงินฟรีแน่นอน เพราะอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, เครื่องเกมคอนโซล, เครื่องเสียง ฯลฯ ในปัจจุบันรองรับสาย HDMI กันเป็นเรื่องปกติแล้ว แต่ถ้าจะซื้อให้คุ้มค่าเงินสักครั้งก็ควรสังเกตหน้ากล่องว่าเป็นเวอร์ชั่นอะไร ซึ่งถ้าเราเดินเข้าร้านขายของสักร้านแล้วหยิบสาย HDMI มา มักได้เวอร์ชั่น 1.4 ซึ่งรองรับความละเอียดสูงสุดเพียง 4K 24Hz เท่านั้น แม้จะต่อทีวีหรือหน้าจอเสริมของคอมพิวเตอร์ใช้งานได้ แต่อย่าพูดถึงเครื่องเกมคอนโซลรุ่นใหม่อย่าง PlayStation 5...

CONTENT

จอเล่นเกมปี 2024 เลือกให้ถูกใจคอเกม เพิ่มความสนุกในการเล่น ต้องดูอะไรบ้าง? จอเล่นเกมหรือ Gaming Monitor ในปี 2024 จัดเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย และกลายเป็นหนึ่งสิ่งที่จะทำให้การเล่นเกมมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากสเปคคอมที่แรงแล้ว การแสดงผลที่ลื่นไหล ให้ภาพที่สวยงาม สีสันสดใส ยิ่งเพิ่มความสนุกในการเล่นได้ดีกว่าจอ แต่การที่จะเลือกจอเกมมิ่งมาใช้นั้น ก็มีรายละเอียดมากมาย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของ Resolution หรือ Refresh rate...

REVIEW

Lenovo Yoga 9i โน๊ตบุ๊ค 2-in-1 ไลฟ์สไตล์Intel® Core™ Ultra 7 แบตอึด จอสัมผัสพับได้ 360 องศา Lenovo Yoga 9i โน๊ตบุ๊คทำงานในสไตล์ 2-in-1 แบบพกพาได้ หน้าจอสัมผัส 14″ ความละเอียดสูง OLED PureSight...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก