Benchmark (Windows 7)
มาถึงส่วนที่หลายๆ คนรอคอยกันบ้างครับ นั่นคือการเทส MacBook Air 13? Mid 2012 ด้วย Windows 7 ที่ติดตั้งผ่านระบบ Bootcamp ซึ่งการติดตั้งทาง Bootcamp นั้นก็เหมือนกับการติดตั้ง Windows ในโน๊ตบุ๊คทั่วไปเลย ไม่มีการลดทอนประสิทธิภาพการทำงานลง เพราะมันก็คือการใช้งาน Windows บนเครื่องตรงๆ นั่นเอง แถมยังสะดวกกว่าด้วย เพราะสามารถโหลดไฟล์รวม driver จาก Apple มาเป็นชุดเดียวเลย คลิกติดตั้งครั้งเดียว แล้วก็รอจนเสร็จซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก เอาเป็นว่าเรามาดูกันเลยดีกว่าครับว่าผลจะเป็นอย่างไร
Windows Experience Index
Windows ที่ใช้ในการทดสอบก็คือ Windows 7 Professional SP1 อัพเดตล่าสุด ซึ่งก็ทำคะแนนไปได้ตามในภาพเลย ที่น่าประทับใจก็คือ SSD นี่ละครับที่เรียกคะแนนไปเต็ม 7.9 คะแนน ส่วน CPU ก็อีกนิดเดียวจะขึ้นหลัก 7 ละ
CPU-Z
CPU ของ MacBook Air 13? Mid 2012 เลือกใช้เป็น Intel Core i5-3427U ที่มีความเร็วในการประมวลผล 1.8 GHz ที่สามารถเร่งความเร็วด้วย Turbo Boost ได้สูงสุด 2.8 GHz มีหน่วยความจำ L3 Cache 3 MB พร้อมทั้งมีค่าอัตราการกินไฟสูงสุดแค่ 17W เท่านั้น ส่วนระดับสถาปัตยกรรมก็อยู่ที่ 22nm แต่ยังคงใช้คอร์ประมวลผลแบบเดิมอยู่ โดยในปีหน้า Intel ก็จะเปลี่ยนไปใช้คอร์ประมวลผลรุ่นใหม่บนสถาปัตยกรรม 22nm ซึ่งจะมีชื่อเรียกโค้ดเนมว่า Haswell ครับ ด้านเมนบอร์ดนั้น ก็มาในชื่อของ Apple เองเลย
GPU-Z ต่อมาก็เป็นเรื่องการ์ดจอ ที่หนีบ Intel HD Graphics 4000 มา ซึ่งข้อมูลก็ขึ้นมาครบถ้วนดีทีเดียว
AIDA64
จัดให้เต็มๆ เลยครับ กับสเปกที่ได้จากการอ่านด้วยโปรแกรม AIDA64 ทำให้ทราบความข้อมูลขึ้นมาหลายข้อทีเดียว เช่น
- จอที่ใช้เป็นของ LG Philips
- ชิปเซ็ตที่ใช้เป็น Intel QS77 Panther Point
- ชิปเสียงที่ใช้เป็นของ Cirrus Logic
- การ์ดไวเลสเป็นของ Broadcom รุ่น BCM43224AG
ส่วนความเร็วจากการทดสอบด้วย AIDA64 ก็ลองดูจากในภาพได้เลยจ้า
HD-Tune (info)
ส่วนข้อมูลของตัว SSD ก็ขอนำจากใน HD Tune มาแสดง แต่ใช้ผลเทสจากโปรแกรมอื่นนะครับ เนื่องด้วยชิปควบคุมการทำงานเป็นของ SandForce ที่ค่อนข้างจะมีปัญหากับโปรแกรม HD Tune บ้างในการทดสอบ
CrystalDiskMark เริ่มด้วย CrystalDiskMark ก่อนเลย เร็วใช้ได้ล่ะนะ
AS SSD Benchmark
ต่อกันด้วยโปรแกรมยอดนิยมสำหรับการเทส SSD อย่าง AS SSD Benchmark
เทสการบีบอัดไฟล์ความเร็วในการ copy ไฟล์ครับ
ซึ่งจากการใช้งานจริงนั้น พบว่าความเร็วในการเปิด ปิดเครื่องนั้นเร็วมาก ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้นในการบูทเครื่องขึ้นมา และที่เห็นผลชัดที่สุดก็คือความเร็วในการเรียกใช้งานโปรแกรม ยกตัวอย่างเช่น Photoshop CS6 จากเท่าที่ทดลอง พบว่าใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น น่าจะไม่ถึง 4-5 วินาทีด้วยซ้ำไป เว็บเบราเซอร์ก็เปิดปุ๊ป มาปั๊ปสามารถเรียกใช้งานได้ทันใจ
Cinebench R11.5
จากความเร็วของ SSD แล้ว มาดูความเร็วจากการเทสด้วย Cinebench R11.5 เทียบกันระหว่างฝั่ง Mac (ซ้าย)และ Windows 7 (ขวา)กันบ้าง ซึ่งอาจจะเห็นว่าเลขความเร็ว CPU ขึ้นไม่เหมือนกันก็ไม่ต้องห่วงครับ มันเกิดจากการ detect ค่าที่ต่างกันเล็กน้อย แต่ในเรื่องของความเร็วในการทำงานนั้นเต็มที่ตลอดการทดสอบจริงๆ จากการวัดอัตราการใช้งาน CPU ที่เต็มประสิทธิภาพเต็มความเร็วทั้งคู่ โดยผลที่ออกมาก็คือส่วนของกราฟิก OpenGL ฝั่ง Mac ทำได้ดีกว่า ส่วนคะแนน CPU นั้น Windows ทำได้ดีกว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
HyperPI
ถ้าเน้นวัดพลังการประมวลผลของ CPU เต็มๆ ก็จัดให้ด้วย HyperPI เลยครับ เวลาที่ใช้นั้นพอๆ กับ i5 รุ่น Sandy Bridge เลย และดีกว่า CPU รุ่นใหม่ด้วยกันแต่เป็นตัวต่ำกว่าอย่าง i5-3317U ประมาณ 1 วินาที
Performance Test
ตามติดกันมาด้วย Performance Test ที่ได้คะแนนไป 1,533.3 คะแนน ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นเครื่องที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่ม Ultrabook เท่าที่เราเคยทดสอบมาเลย
PCMark 7
ต่อมาก็เป็น PCMark 7 ที่ทำคะแนนได้ 4,500 คะแนน สูงกว่า Samsung Series 9 ที่ทำได้เพียง 3,704 คะแนน ดังนั้นใครที่ว่า MacBook Air ไม่แรง อาจต้องลองมองดูใหม่ละนะครับ
Street Fighter IV
ส่วนการทดสอบด้วยเกมนั้น เกมพื้นฐานอย่าง Street Fighter 4 ที่ตั้งค่าเป็น default บนความละเอียด 1280×720 ก็อยู่ในระดับที่เล่นได้ลื่นสบายๆ ครับ
Resident Evil 5
ส่วน Resident Evil 5 นั้นก็ตั้งค่าความละเอียดแบบ default ที่ 1280×720 ได้เฟรมเรตอยู่ที่ 36 fps ซึ่งก็สามารถเล่นเกมได้อย่างสบายๆ แล้ว
DOTA 2 อีกเกมหนึ่งที่มีการถามเข้ามามากอย่าง DOTA 2 ก็จัดการทดสอบให้ด้วยเช่นกัน โดยเป็นการเข้าไปดูวิดีโอ match ที่มีการบันทึกไว้ ซึ่งเปรียบเสมือนว่ากำลังเล่นอยู่จริง เนื่องด้วยมีการเรนเดอร์แบบเดียวกับการเล่นเกมด้วยตนเอง ทั้งนี้การตั้งค่าความละเอียดของภาพก็อยู่ที่ 1440×900 เต็มความละเอียดของจอ รายละเอียดภาพก็ปรับในระดับสูงทุกอัน ยกเว้นแค่ Ambient เท่านั้นที่ไม่สามารถเปิดได้ เพราะเกมไม่จำค่า ผลที่ได้ออกมาก็คือสามารถเรนเดอร์ได้อย่างไหลลื่น แม้กระทั่งฉากตะลุมบอนกันก็สบายๆ ค่าเฟรมเรตอยู่ที่ราวๆ 20 ? 30 ตลอด ยกเว้นบางช่วงที่เอฟเฟ็คเยอะหน่อยก็อาจตกไปอยู่ราวๆ 18-19 fps แต่ก็ตกไม่นานครับ สรุปโดยรวมแล้วคือเล่นได้สบายๆ (ปล. เล่นใน Windows ใน Bootcamp นะครับ เพราะเกมมีเฉพาะเวอร์ชัน Windows เท่านั้น)
Idle Temperature
เรื่องความร้อนของเครื่องนั้น ในภาพด้านบนเป็นการวัดในขณะเครื่องไม่ได้เปิดโปรแกรมอื่นครับ ซึ่งก็คืออยู่ในสถานะ idle อุณหภูมิที่ออกมาก็อยู่ในระดับของ Ultrabook หลายๆ รุ่น ส่วนตัวเครื่องที่จะมีอุณหภูมิสูงหน่อยก็คือส่วนมุมซ้ายบนและขวาบนเหนือคีย์บอร์ดขึ้นไปครับ ส่วนที่เราใช้งานจริงอย่างคีย์บอร์ด TrackPad และที่รองมือนั้นก็มีอุ่นๆ บ้างบางเวลา แต่ถ้าเปิดพัดลมเข้าหาตัวเราหรือนั่งในห้องแอร์ ก็จะเย็นจะไม่มีปัญหาใดๆ เนื่องด้วยความสามารถของตัววัสดุที่ช่วยถ่ายเทความร้อนออกไปได้เร็ว
Burning
ขณะทดสอบความร้อนครับ โดยใช้โปรแกรมเทสทุกทาง คือ
- LinX เผา CPU และ RAM เต็มจำนวนเป็นเวลา 5 นาที
- FurMark เผา GPU
- HD Tune test เร่งการทำงานของ SSD
ก็จะเห็นได้ว่าทั้ง CPU และ RAM ทำงานกันเต็มจำนวนเลยทีเดียว
Full-load Temperature
หลังจากการ burn โดยผลที่ออกในภาพด้านบนเป็นผลที่ทำการทดสอบในห้องแอร์นะครับ (เอาจริงๆ เท่าที่ทดสอบทั้งในห้องแอร์และห้องพัดลมก็ไม่ต่างกันมากนัก) อุณหภฺมิสูงสุดอยู่ที่ CPU ซึ่งทะลุหลัก 100 องศาไปนิดหน่อย ส่วน SSD ก็อุณหภูมิไม่เกิน 70 องศา ที่ดูเหมือนจะสูง แต่เมื่อลองสัมผัสเครื่องดูแล้ว ในส่วนของที่รองมือและคีย์บอร์ดกลับแทบไม่มีความร้อนเลย ยังสามารถใช้งานได้อย่างไม่มีอาการร้อนมือ แถมยังระบายออกได้ค่อนข้างไวด้วย
ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่
ในการทดสอบเรื่องของการใช้งานแบตเตอรี่นั้น แน่นอนว่าเราก็ต้องทำการทดสอบทั้งในฝั่งของ Windows และ OS X โดยมาดูจากฝั่งของ OS X กันก่อน
ในสถานะเครื่อง idle (เพิ่ง restart เครื่องขึ้นมาใหม่ แล้วถอดสายอแดปเตอร์ออก) โดยมีการปรับความสว่างหน้าจอที่ประมาณ? 50% ส่วนไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ดนั้นปรับความสว่างเกือบสูงสุด ผลออกมาก็คือจะสามารถเปิดเครื่องในสถานะ idle ได้ราวๆ 7 ชั่วโมงตามที่ Apple โฆษณาไว้พอดี
หรือถ้าลองใช้การจับเวลาด้วยโปรแกรม Battery Health (โหลดได้ฟรีจากใน Mac App Store) ก็จะพบว่าด้วยอัตราการใช้พลังงานนี้จะสามารถใช้งานเครื่องได้เป็นระยะเวลา 6:55 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับของที่เครื่องประเมินออกมา แต่ที่น่าสนใจก็คือโปรแกรมสามารถประเมินออกมาได้ด้วยว่าระยะเวลาการใช้งานเมื่อนำมาใช้เล่นเน็ตตามปกติจะได้เท่าไร ใชัฟังเพลงหรือใช้ดูหนังก็สามารถประเมินคร่าวๆ ออกมาได้ รวมไปถึงระยะเวลาการแสตนด์บายเครื่องทิ้งไว้ ก็สามารถทำได้ยาวนานกว่า 37 ชั่วโมง
เมื่อทดลองเปิดความสว่างหน้าจอสูงสุด พบว่าระยะเวลาการใช้งานลดลงมาเหลือเพียง 5:41 ชั่วโมงเท่านั้น เห็นได้ชัดเลยว่าความสว่างของหน้าจอมีผลต่อระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่มาก ส่วนการปิดไฟ LED Backlit ที่คีย์บอร์ดก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดอัตราการใช้พลังงานแบตเตอรี่ได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ถึงกับเห็นผลต่างเท่ากับการเพิ่มระดับความสว่างจอ โดยระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่หลังจากปิดไฟ LED พบว่าเพิ่มขึ้นมาเป็นหลักนาทีเท่านั้น แต่ถ้าในภาวะฉุกเฉินจริงๆ ก็ควรปิดครับ เพราะไม่กี่นาทีก็มีค่าเหมือนกัน ถ้าต้องใช้งานแบตเตอรี่
ทีนี้เรามาดูทางฝั่ง Windows ผ่านการใช้งาน Bootcamp กันบ้าง ซึ่งการทดสอบนั้นก็คือวัดระยะเวลาจากสภาวะ idle เหมือนๆ กัน ความสว่างหน้าจอครึ่งเดียว ความสว่างของ LED Backlit คือเกือบสูงสุด ผลที่ได้ก็เป็นดังภาพ
โดยจากการประเมินระยะเวลาด้วยโปรแกรม BatteryMon ก็พบว่าจะสามารถใช้งานเครื่องได้ราวๆ 6 ชั่วโมงเกือบ 7 ขั่วโมงเช่นเดียวกัน แต่ระยะเวลาอาจจะลดหลั่นกันลงมาจากใน OS? X แค่เพียงเล็กน้อย แต่เมื่อถึงเวลาใช้งานจริงแล้ว กลับพบว่าอัตราการกินพลังงานใน Windows ?มีสูงกว่าใน OS X อยู่พอสมควร จึงทำให้ระยะเวลาที่ใช้งานได้จริงไม่ถึงกับที่โปรแกรมประเมินไว้แบบเป๊ะๆ
ก็น่าจะอิ่มกันไปเลยทีเดียวกับการรีวิว MacBook Air 13? 128GB Mid 2012 ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นรีวิวจากผู้ที่เพิ่งได้ใช้ Mac อย่างจริงจังเป็นเครื่องแรก โดยถ้าจะให้กล่าวถึง MacBook Air ว่ามันเป็นอย่างไร ก็อยากจะบอกว่ามันก็คือโน๊ตบุ๊คหรือ Ultrabook เครื่องหนึ่งนี่ล่ะครับ ที่วัตถุประสงค์ของการออกแบบก็เพื่อรองรับการทำงานจริงๆ โดยเฉพาะงานที่ต้องพกพาเครื่องไปใช้งานนอกสถานที่บ่อยๆ เช่น พกคอมไปทำงานที่ออฟฟิศทุกๆ วัน เนื่องด้วยน้ำหนักที่เบากว่าโน๊ตบุ๊คปกติ แต่พลังในการประมวลผลไม่ได้เบาไปตามน้ำหนัก แถมแบตเตอรี่ก็สามารถใช้งานได้นานกว่า 5-6 ชั่วโมง (หรือใช้ดีๆ อาจอยู่ได้ถึง 7 ชั่วโมง) ซึ่งจุดเด่นแต่ละข้อเหล่านี้ก็คือจุดประสงค์ของการออกแบบ Ultrabook ที่ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งานต้องการและมาพบกันพอดิบพอดี
เรื่องอรรถประโยชน์การใช้งาน MacBook Air ก็เป็นหนึ่งเครื่องที่สามารถตอบสนองได้ดีตามวัตถุประสงค์ของมัน คือสามารถใช้งานนอกบ้านได้หลากหลายรูปแบบการทำงาน แถมยังสามารถเลือกใช้งานได้ทั้ง OS X และ Windows ได้แบบไม่ต้องกลัวปัญหาอีกด้วย ต่างจาก Ultrabook ปกติที่ส่วนใหญ่จะใช้ได้แต่ Windows อย่างเดียว ซึ่งตัวของ OS X ก็มีหลายๆ โปรแกรมที่ช่วยให้การทำงาน การจัดการงานทำได้ง่าย เนื่องด้วย Apple เป็นผู้ควบคุมอยู่ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะตัว OS X เองที่มีเสถียรภาพในการทำงานที่ดีอยู่แล้ว จึงสามารถใช้งานได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องกลัวระบบล่ม (บ่อยๆ) หรือจะใช้งาน Windows ก็สามารถสลับมาใช้งานได้ทั้งแบบ Bootcamp หรือจะลงโปรแกรมเสริมอย่าง Parallel เพื่อติดตั้ง Windows ในแบบ Virtual PC ก็ยังได้ ซึ่งจะทำให้สามารถใช้งานได้ทั้ง OS X และ Windows ไปพร้อมๆ กัน ที่จุดนี้เป็นจุดที่ Ultrabook สามารถทำตามได้ยากหรือลำบากซักหน่อย
ในด้านของหน้าตาและวัสดุที่ใช้ ก็เป็นที่ยอมรับกันในระดับหนึ่งอยู่แล้วว่า Apple มีการเลือกใช้วัสดุที่เกรดดี เผลอๆ อาจจะดีกว่า Ultrabook หลายๆ รุ่น แถมหน้าตาและดีไซน์ก็โดนใจหลายๆ คนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถือออกไปไหนก็ไม่ต้องกลัวเชย
แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อด้อยอยู่พอสมควร ที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องพอร์ตเชื่อมต่อที่มีค่อนข้างน้อยต่อการใช้งาน โดยเฉพาะ USB ที่ให้มาเพียง 2 พอร์ต ทำให้บางครั้งต้องจัดสรรทรัพยากรดีๆ ส่วนอีกพอร์ตหนึ่งก็คือ Thunderbolt ที่ทุกวันนี้แม้เราจะยังไม่ได้ใช้งาน Thunderbolt Storage อย่างจริงจัง แต่ตัวพอร์ตมันนั้น ที่จริงมันก็สามารถหาซื้อ adapter แปลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Mini DisplayPort to DVI หรือ VGA, Thunderbolt to Gigabit Ethernet มาใช้งานก็ได้ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งจำเป็นของหลายๆ คน โดยในตัวอุปกรณ์เสริมต่างๆ เหล่านี้ก็มีขายอยู่แทบทุกร้านที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ตระกูล Mac อยู่แล้ว หรือจะมองหาร้านข้างนอกเพื่อหาซื้อของเทียบมาใช้งานก็ได้ไม่ว่ากัน เผลอๆ ราคาย่อมเยากว่าอีกด้วย เท่านี้ก็จะได้ใช้งานพอร์ต Thunderbolt แล้วล่ะครับ
ถ้าจะถามว่าระหว่าง Ultrabook กับ MacBook Air ควรเลือกเครื่องไหนดี ?
ข้อนี้ก็ต้องถามตัวเองดูแล้วล่ะครับ ถ้าต้องการเครื่องพกพาง่ายๆ บางเบา แต่งบไม่เยอะมาก ก็มี Ultrabook ให้เลือกหลายรุ่นทีเดียว แต่ถ้าต้องการทั้งความบางเบา ประสิทธิภาพการประมวลผลที่ดี, SSD ล้วนๆ รวมไปถึงจอละเอียดๆ ข้อนี้ดูแล้ว MacBook Air จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดครับ และถ้าเทียบราคากับ Ultrabook ที่สเปกไล่เลี่ยกันต้องบอกว่ามันไม่ได้แพงกว่ากันซักเท่าไรเลย เผลอๆ จะถูกกว่าซะด้วยซ้ำ จึงเป็นตัวเลือกที่ดีของคนที่ต้องการ Ultrabook ที่ครบเครื่องทั้งประสิทธิภาพและฟีเจอร์ในตัว
แต่ขอเน้นนะครับ ว่าอย่านำไปเปรียบเทียบในด้านที่มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับ เพราะถ้าเอาไปเปรียบเทียบแบบนั้น ยังไงมันก็ไม่คุ้มค่าครับ
ข้อดี
- มีขนาดบาง น้ำหนักเบา สามารถพกพาไปได้สะดวก
- ประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่ารุ่นก่อน ด้วยชิปตระกูล Intel Ivy Bridge พร้อมทั้งมี USB 3.0 ด้วย
- จอความละเอียดสูง ภาพคมชัด สีสันอยู่ในระดับที่ดี
- รูปร่างหน้าตาและงานประกอบดี
- มีไฟ LED Backlit
- สามารถสั่งอัพเกรดสเปกได้โดยตรงตั้งแต่ตอนสั่งซื้อ
- TrackPad สามารถตอบสนองการใช้งานได้ดี
- มีอุปกรณ์เสริมให้เลือกใช้มาก ไม่ว่าจะเป็นเคส ซิลิโคนต่างๆ ที่ออกแบบมาเฉพาะ
ข้อสังเกต
- พอร์ตเชื่อมต่อในตัวค่อนข้างน้อย ทำให้ต้องจัดสรรทรัพยากรดีๆ
- ถ้าใช้งานในที่ร้อนๆ ตัวบอดี้ก็อาจจะอุ่นมือไปซักเล็กน้อย โดยเฉพาะเมื่อมีการทำงานหนักๆ และถ้าปลั๊กไม่มีการเดินสายดินไว้ อาจเกิดไฟดูดบ้างเล็กน้อย
- เมื่อซื้อแล้ว ไม่สามารถอัพเกรดใดๆ ได้เลยในภายหลัง (อย่างน้อยก็ในขณะนี้)
- ราคาของอุปกรณ์ที่ใช้งานกับพอร์ต Thunderbolt ยังมีราคาที่ค่อนข้างแพงอยู่ จึงอาจใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพในขณะนี้
Award
ในเรื่องของการให้รางวัลในแต่ละรุ่นนั้น ทาง NoteBookSpec เราได้เปลี่ยนมาเป็นการให้รางวัลเครื่องในแต่ละด้านที่เครื่องนั้นทำออกมาได้ดีแทนครับ ซึ่งเครื่องไหนที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพด้านใดที่อยู่ในระดับที่ควรได้รับรางวัล ทางเราก็จะมอบรางวัลแยกเป็นด้านๆ ไป
โดยในครั้งนี้จะเป็นการเปรียบเทียบการให้รางวัลกับเครื่องในกลุ่มของ Ultrabook ด้วยกัน ซึ่ง MacBook Air Mid 2012 ก็ได้รางวัลต่างๆ ดังนี้
Best Ultrabook
เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มของ Ultrabook ด้วยกัน จะเห็นได้ว่า MacBook Air มีประสิทธิภาพโดยรวมทั้งหมดของความเป็น Ultrabook ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นความเร็วของเครื่อง น้ำหนักและความสามารถในการพกพาที่ดี จึงทำให้คว้ารางวัลนี้ไป
Best Design
เรื่องของรูปร่างหน้าตาก็เป็นหนึ่งในจุดเด่นที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ของ Apple มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ซึ่งจุดเด่นในข้อนี้ก็เห็นได้ชัดใน MacBook Air ที่มีดีไซน์ของตัวเครื่องสวยงามโฉบเฉี่ยว เป็นเอกลักษณ์ เนื่องด้วยการเข้ามาในตลาดนี้ก่อนใครเพื่อน ซึ่งในจุดของรูปร่างหน้าตาก็เป็นสิ่งที่หลายๆ คนยอมรับกันอยู่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว
Best Technology
ในข้อนี้เราก็จะเห็นได้ชัดจากไม่ว่าจะทั้งชิปประมวลผลภายในที่เป็น Intel Ivy Bridge ซึ่งในขณะนี้ยังมี Ultrabook วางจำหน่ายแล้วเพียงไม่กี่รุ่นที่มาพร้อมชิปตระกูลใหม่ หรือจะเป็นในเรื่องของพอร์ต Thunderbolt ที่มีมาใน Mac ทุกเครื่องแล้ว ความละเอียดจอก็มาในระดับที่สูงกว่า Ultrabook ทั่วไปในท้องตลาด จึงทำให้คว้ารางวัล Best Technology ไป
Best Mobility
ส่วนของความสามารถในการพกพาก็ยังคงอยู่ในระดับที่ดีตามสไตล์ของ Mac อยู่เช่นเดิม ทั้งในความเล็ก บาง เบาที่ทำให้สามารถหิ้วไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก แถมไม่ต้องกลัวว่าเครื่องจะมีปัญหาอีกด้วย เพราะระบบไม่ได้ใช้ HDD แบบจานหมุน ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการจับถือมากนัก สามารถพับฝาจอลงแล้วเก็บเครื่องได้ทันที อแดปเตอร์ก็ทำออกมาให้มีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก พกพาสะดวก จึงทำให้ MacBook Air Mid 2012 คว้ารางวัล Best Mobility จากเราไปอีกหนึ่งรางวัลครับ