อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ปี 2024 หรือถ้าเป็น พ.ศ. ก็คือ 2567 กันแล้ว ซึ่งในวงการไอทีก็แน่นอนว่าจะต้องมีสินค้ารุ่นใหม่เปิดตัวกันทุกปี โดยในปีหน้าก็คาดกันว่าน่าจะเป็นปีที่ CPU รุ่นใหม่ในบางกลุ่มมีการพัฒนาแบบที่น่าจับตามองด้วย ทั้งเรื่องของสมรรถนะ ความสามารถในการจัดการงานที่ชาญฉลาดกว่าเดิม ประสิทธิภาพต่อพลังงานที่ใช้ที่ดีขึ้น รวมถึงการนำเทคนิคต่าง ๆ มาผสมผสานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เฉพาะทางที่สูงกว่าที่เคยมีมา ซึ่งในขณะนี้ก็มีแผนโร้ดแมปของ 3 ค่ายใหญ่อย่าง Intel AMD และ Qualcomm ออกมาแล้ว ทั้งแบบที่มาจากบริษัทเอง และที่มีข้อมูลหลุดออกมา ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่า CPU ปี 2024 ที่เราน่าจะได้เห็น จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง
ข้อมูลในบทความนี้จะมีต้นทางมาจากเว็บ VideoCardz ซึ่งมาจากการรวบรวมแหล่งข้อมูลในที่ต่าง ๆ มาอีกที และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตนะครับ
CPU ปี 2024 จาก AMD
CPU รุ่นใหม่ที่เราน่าจะได้เห็นจาก AMD ในปีหน้า ขณะนี้มีการใช้โค้ดเนมขึ้นต้นด้วยคำว่า Strix โดยแบ่งเป็น Strix Halo และ Strix Point ที่จะมีคุณสมบัติดังนี้
Strix Halo
- ใช้คอร์สถาปัตยกรรม Zen5 แบบปกติ
- ตัวชิปเปลี่ยนมาใช้ซ็อกเก็ตแบบ FP11 (แต่ยังไม่ระบุเรื่องซ็อกเก็ตบนเมนบอร์ด)
- รองรับแรมได้ทั้งแบบ DDR5 ขนาดปกติและแบบ LPDDR5X
- กราฟิกในตัวเป็นสถาปัตยกรรม RDNA 3.5 มีสูงสุด 40 CU (compute units)
- น่าจะเน้นเป็นชิปสำหรับเครื่องเดสก์ท็อปเป็นหลักก่อน แล้วมาลงในโน้ตบุ๊กทีหลัง
Strix Point
- ใช้คอร์สถาปัตยกรรม Zen5 แบบปกติ + Zen5D ที่ถ้าเป็นแบบในปัจจุบัน ก็คือน่าจะเป็นแบบ Zen5 + Zen5c ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่ใช้พลังงานต่ำได้ดี
- ตัวชิปยังใช้ซ็อกเก็ตแบบ FP8 ตามเดิม
- รองรับแรมได้เฉพาะแบบ LPDDR5X เท่านั้น
- กราฟิกในตัวเป็นสถาปัตยกรรม RDNA 3.5 มีสูงสุด 16 CU
- เป็นชิปที่ออกแบบมาสำหรับโน้ตบุ๊ก เครื่องพกพา เครื่องที่มีขนาดเล็ก
ส่วนอีกสามโค้ดเนมที่เหลือในภาพก็จะเป็น Phoenix (Ryzen 7040 series), Hawk Point (Ryzen 8040 series) และก็ Rembrandt-R (Ryzen 7000 ที่ใช้คอร์ Zen3+) ก็จะยังมีอยู่ในท้องตลาดด้วย
ส่วนอีกภาพ อันนี้จะมีแผนของปี 2025 ติดมาด้วยครับ แต่เป็นโร้ดแมปของฝั่งโมบายล์ที่เป็นชิปสำหรับโน้ตบุ๊ก เครื่องพกพาอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นมากว่า CPU ปี 2024 ของ AMD จะมีออกมาด้วยกัน 5 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มเน้นความแรงสุด
- โค้ดเนม Dragon Range มี 16 คอร์ (Zen4 5nm) เป็นชิปที่มี 3D V-cache รหัสลงท้าย X3D
กลุ่มพรีเมียม ประสิทธิภาพค่อนข้างสูง
- โค้ดเนม Strix Point มีสูงสุด 12 คอร์ (Zen5 4nm) ตามในภาพแรก มาพร้อมโมดูล NPU ที่เพิ่มประสิทธิภาพด้าน AI ขึ้นเป็นสูงสุด 45-50 TOPS โดยจะอยู่ไปถึงปี 2025 ด้วย
- โค้ดเนม Hawk Point ซึ่งก็คือ Ryzen 8040 series ที่เพิ่งเปิดตัวไป
กลุ่มระดับเมนสตรีม เครื่องใช้งานทั่วไปถึงเกือบสูง
- โค้ดเนม Rembrandt-R มีสูงสุด 8 คอร์ ซึ่งก็คือ Ryzen 7000 ที่ใช้คอร์ Zen3+ เช่น R7 7735U, R5 7535HS และ R3 7335U
- โค้ดเนม Barcelo-R มีสูงสุด 8 คอร์ ซึ่งก็คือ Ryzen 7000 ที่ใช้คอร์ Zen3 เช่น R7 7730U, R5 7530U และ R3 7330U
กลุ่มระดับเริ่มต้น ใช้งานทั่วไปได้
- โค้ดเนม Mendocino มีสูงสุด 4 คอร์ ซึ่งก็คือ Ryzen และ Athlon ที่ใช้คอร์ Zen2 เช่น R5 7520U, R3 7320U และ Athlon Gold 7220U
แถมอีกนิด สำหรับในปี 2025 ถ้าเป็นไปตามภาพหลุดด้านบน ก็น่าจะมีเพียง Strix Point จากปี 2024 เท่านั้นที่ยังลากต่อข้ามปี ส่วนที่เหลือจะเปลี่ยนใหม่หมดครับ อย่างรุ่นท็อปสุดก็จะเปลี่ยนเป็น Fire Range ที่ขยับไปใช้คอร์ Zen5 รหัสลงท้าย X3D ตามเดิม รวมถึงมีการนำ Strix Halo ที่จะลงในเดสก์ท็อปปี 2024 มาใส่ในโมบายล์ด้วย ซึ่งสามารถทำได้ เพราะตัวชิปรองรับการใช้แรมแบบ LPDDR5X แบบในโน้ตบุ๊กอยู่แล้ว
ส่วนรุ่นรองลงมาก็จะอัปเกรดมาตามลำดับดังนี้
- Hawk Point เปลี่ยนเป็น Kraken Point ที่ปรับเป็นคอร์ Zen5 กราฟิก RDNA 3.5 และ NPU แบบ XDNA 2
- Rembrandt-R เปลี่ยนเป็น Escher ที่ปรับเป็นคอร์ Zen4 กราฟิก RDNA 3 รวมถึงมีการเพิ่ม NPU ในสถาปัตยกรรม XDNA 1 เข้ามาด้วย เพื่อรองรับงานด้าน AI
- Barcelo-R เปลี่ยนเป็นใช้ Rembrandt-R เข้ามาทำตลาดแทน
จะมีก็แต่โค้ดเนม Mendocino ที่น่าจะยังคงอยู่เพื่อไว้เป็นฐานราคาเบาสุดสำหรับรุ่นเริ่มต้นเท่านั้น
สรุป CPU ปี 2024 ของ AMD
หากเป็นไปตามข้อมูลที่มีออกมา เราน่าจะยังได้เห็นชิปรุ่นปัจจุบันวางขายเป็นหลักตามเดิม โดยเฉพาะฝั่งของโน้ตบุ๊ก จะมีเพิ่มเข้ามาใหม่ก็คือชิป AMD Ryzen ในโค้ดเนมที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า Strix ซึ่งขยับไปใช้คอร์ใหม่ล่าสุดอย่าง Zen5 และคาดว่าจะเปิดตัวช่วงกลางปี กว่าจะเริ่มวางตลาดก็ในช่วงเกือบปลายปีหน้าเลย ส่วนอีกกลุ่มที่น่าจับตามองก็คือพวกชิปที่มี 3D V-Cache มาด้วย ซึ่งใช้โค้ดเนม Dragon Range ก็น่าจะลงตลาดในปีหน้าเช่นกัน โดยที่ยังใช้เป็นคอร์ Zen4 อยู่
ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้จริง ใครที่มีแผนจะซื้อโน้ตบุ๊กที่ใช้ CPU AMD ในปีหน้า ถ้างบสูงและอยากได้ของใหม่ ของแรง ๆ อาจจะต้องรอถึงอย่างน้อยก็ไตรมาส 3 เลยครับ หรือไม่ก็รอลุ้นพวกที่ใช้ชิป Dragon Range แต่ก็คาดเดายากเหมือนกันว่าจะเข้าไทยหรือเปล่า ส่วนถ้างบกลางๆ อยู่ในช่วง 20,000 – 40,000 บาท อันนี้เลือกได้ตามความต้องการเลย เพราะน่าจะยังเจอ CPU กลุ่มเดิม ๆ อยู่ จะมีเพิ่มเข้ามาก็พวก Ryzen 8040 series ที่เพิ่งเปิดตัวเท่านั้นเอง ซึ่งประสิทธิภาพก็อาจจะยังไม่หนีจากรุ่นก่อนหน้ามากนัก แต่ได้ตีบวกเรื่องพลังประมวลผล AI เข้าไปอีกนิดนึง รอการอัปเกรดขึ้นมาเป็น XDNA 2 ใน Strix Point ช่วงปลายปีหน้า
CPU ปี 2024 จาก Intel
ในปีหน้า สำหรับ CPU กลุ่มโมบายล์ของ Intel จะมีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- Intel Core i Gen 14 HX-Series โค้ดเนม Raptor Lake ที่เป็นรุ่นรีเฟรชจาก Gen 13
- Intel Core Ultra Series 1 ที่ผลิตบนสถาปัตยกรรม Intel 4
กลุ่มแรกจะออกมาสำหรับใช้ในโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูง เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก โดยเน้นความแรงเป็นหลัก ส่วนกลุ่มที่สองจะเป็นสถาปัตยกรรมใหม่ และเป็นแนวทางที่ Intel จะใช้ต่อไปในอนาคต ซึ่งเราจะเห็นการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมแบบยกชุดในปี 2025 ครับ คือตัวของโค้ดเนม Arrow Lake ในโมบายล์ที่จะใช้สถาปัตยกรรม Intel 4 เหมือนกับ Meteor Lake ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ในกลุ่มชิป Intel Core Ultra Series 1
ทีนี้ถ้าเรามาดูรายละเอียดที่น่าสนใจของ Intel Core Ultra ที่เพิ่งเปิดตัวไป ก็จะเห็นว่าแนวทางการออกแบบชิปของ Intel มีความเป็นลักษณะของการรวมแทบทุกสิ่งเข้ามาอยู่ในแพ็คเกจเดียว (SoC) คล้ายกับผู้ผลิตชิปรายอื่นมากยิ่งขึ้น อาศัยการออกแบบแยกส่วนในลักษณะของ chiplet จากนั้นก็นำมาประกอบกันตามสเปคของชิปแต่ละรุ่น ซึ่งการแบ่งจะใช้คำเรียกแต่ละส่วนว่าเป็น tile โดย 4 tile หลักก็ได้แก่ compute (ประมวลผลหลัก) graphic (ARC GPU ประมวลผลกราฟิก) IO (ดูแลการเชื่อมต่อความเร็วสูง) และ SoC (ดูแลเรื่อง WiFi/BT, การต่อจอ, จัดการกับแรม, มี NPU และมี LP E-core) สิ่งที่เพิ่มเข้ามาแบบเห็นได้ชัดมากก็ได้แก่
คอร์ประเภท LP E-core
จากที่ในชิป Gen 12 และ 13 มีการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมเรื่องคอร์มาแบ่งออกเป็น P-core สำหรับทำงานหนักและ E-core สำหรับทำงานเบา จัดการเซอร์วิสเบื้องหลัง พร้อมใส่ระบบช่วยจัดการงานเช่น Intel Thread Director เข้ามา เพื่อให้สามารถประมวลผลงานได้ดีขึ้น ลดการใช้พลังงานลง พอมาเป็น Meteor Lake ในชิป Intel Core Ultra Series 1 ก็ได้มีการเพิ่ม LP E-core เข้ามา 2 คอร์ใน SoC tile เป็นด่านหน้าสำหรับประมวลผลงานเบา การสตรีมวิดีโอ เพราะในตัวก็มีชุดถอดและเข้ารหัสไฟล์มีเดียอยู่ด้วย ซึ่งระบบจะพยายามใช้ 2 คอร์นี้ก่อน ถ้างานหนักเกินก็จะส่งขึ้นไปหา compute tile ที่มี E-core ปกติอยู่ จากนั้นก็จะประเมินความเหมาะสมของงานอีกที โดยจะส่งงานไปหา E-core และ P-core ตามความเหมาะสมของลักษณะงาน
แนวคิดหลักของการออกแบบคอร์และรูปแบบการทำงานในลักษณะนี้ ก็คือต้องการให้มีการใช้คอร์ประเภท E ที่กินพลังงานต่ำกว่าให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อลดระดับการใช้พลังงานโดยรวมลง ซึ่งก็ส่งผลถึงระดับความร้อนที่ปล่อยออกมาด้วย เพราะงานบางประเภท ใช้แค่ E-core ก็เหลือเฟือแล้ว โดยเฉพาะกับการประมวลผลสำหรับการสตรีมวิดีโอที่ LP E-core จะเข้ามารับหน้าที่แทนไปเลย ซึ่งจุดนี้ Intel เคลมว่าสามารถลดการใช้พลังงานลงมากสุดถึง 25% เลยทีเดียว อันนี้ใครเป็นสายชอบเปิด YouTube ไประหว่างทำงาน น่าจะทำให้ใช้แบตโน้ตบุ๊กได้น้อยลงกว่าเดิมอยู่เหมือนกัน และเราน่าจะได้เห็นการนำมาประยุกต์ใช้กับ CPU ปี 2025 ในโค้ดเนม Arrow Lake สำหรับโมบายล์ ที่อาจเข้ามาช่วยเรื่องการสตรีมระหว่างเล่นเกมได้ดีขึ้นไปอีก
การใส่ NPU สำหรับการประมวลผลด้าน AI เข้ามาในชิป
กลายเป็นเทรนด์ที่ขาดไม่ได้ไปซะแล้ว สำหรับการใส่โมดูล NPU แบบแยก สำหรับจัดการงานด้าน neural network ที่นำมาใช้กับระบบ AI ซึ่งในการเปิดตัว Meteor Lake ของชิป Intel Core Ultra รอบนี้ก็มีไฮไลท์หลักคือการโปรโมตด้าน AI เลยด้วย จุดประสงค์หลักที่ใส่เข้ามาก็คือเพื่อเพิ่มพลังในการคำนวณเกี่ยวกับงาน AI และช่วยลดการใช้พลังงานโดยรวมของทั้งชิปลง เพราะจะโยนงานด้านนี้ให้ NPU ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากกว่าแทน ซึ่งก็เป็นในลักษณะเดียวกันกับชิปของผู้ผลิตรายอื่น ไม่ว่าจะเป็น AMD, Qualcomm รวมถึง Apple ด้วย
แน่นอนว่าเรื่องประสิทธิภาพกับการใช้งานร่วมกับโปรแกรมอื่น ๆ ที่มีฟังก์ชันด้าน AI ก็จะทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม และอีกประเด็นที่ Intel หยิบมาสื่อสารก็คือความสามารถของชิปในการทำงานร่วมกับงานประเภท Generative AI (GenAI) ได้ค่อนข้างครอบคลุม ตัวอย่างเช่นการสร้างภาพขึ้นมาจากข้อความ งานด้าน LLM เป็นต้น โดยคีย์หลักก็คือการประกาศว่าชิปรุ่นใหม่รองรับการทำงานร่วมกับโมเดล เครื่องมือ เฟรมเวิร์ค และแอปพลิเคชันหลัก ๆ ที่นิยมใช้งานอยู่ในขณะนี้ รวมถึงยังวางแผนจะขยายความร่วมมือให้รองรับการใช้งานร่วมกับพาร์ทเนอร์ซอฟต์แวร์ด้าน AI รวมมากกว่า 100 รายภายในช่วงกลางปีหน้า และตั้งใจจะขยายไปให้มากกว่า 300 รายในอนาคตอีกด้วย เพื่อให้ชิปของ Intel เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการพัฒนาด้าน AI ในยุคของ AI PC
สำหรับ CPU ปี 2024 ของ Intel ก็แน่นอนว่า Intel Core Ultra จะเป็นไฮไลท์หลักประจำปี โดยเราจะเริ่มพบกับชิปรุ่นใหม่อย่างเร็วสุดก็ตั้งแต่ปลายปีนี้เลย และจะเริ่มเข้ามาอย่างเต็มตัวตั้งแต่ต้นปีหน้าทันที มีทั้ง Core Ultra 7 และ 5 รหัสลงท้ายด้วย H ที่มีค่า Base TDP 28W พร้อมกราฟิก Intel Arc และรุ่นรหัสลงท้ายด้วย U ที่มีค่า Base TDP 15W กราฟิก Intel Graphics
จากนั้นก็จะมีตามมาเป็นรุ่นท็อป Core Ultra 9 และก็รุ่นประหยัดพลังงานขีดสุดทั้ง Core Ultra 7 และ 5 ที่มีค่า Base TDP เพียง 9W เท่านั้น ซึ่งทุก ๆ รุ่นจะมาพร้อมคอร์สามแบบ มีจำนวน E และ LP E-core เท่ากันทุกรุ่น มี NPU รองรับ Intel AI Boost และขยับไปใช้แรม DDR5 ทั้งหมด
ซึ่งถ้าเทียบกับแผนภาพโร้ดแมปด้านบนสุด ก็จะเห็นว่ามันคือ Meteor Lake-H (TDP 28W), Meteor Lake-U15 (TDP 15W), และ Meteor Lake-U9 (TDP 9W) นั่นเอง ส่วนที่เหลือก็คือ Raptor Lake Refresh ที่จะยังคงใช้ชื่อเป็น Intel Core i gen 14 อยู่ ก่อนจะขยับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมของชิปรุ่นหลักในตลาดในปี 2025
สรุป CPU ปี 2024 ของ Intel
ดูจะเป็นผู้ผลิตชิปที่มีโร้ดแมป CPU ค่อนข้างชัดสุดสำหรับฝั่งโมบายล์ จากการเพิ่งเปิดตัวชิปในโค้ดเนม Meteor Lake ไปสด ๆ ที่เห็นชัดคือกลุ่มชิปสถาปัตยกรรมใหม่ ซึ่งเปลี่ยนแนวทางการเรียกชื่อไปเป็น Intel Core Ultra เพื่อแยกความแตกต่างให้ชัดเจน ในขณะที่ชิปสถาปัตยกรรมเดิม จะยังเหลือเฉพาะกลุ่มซีรีส์ HX สำหรับเครื่องกลุ่มเกมมิ่งเป็นหลักเท่านั้น รอเปลี่ยนอีกทีอย่างเร็วก็ปลายปีหน้าเลย
ด้านของผลิตภัณฑ์ที่จะออกมา เราจะได้พบกับโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป Intel Core Ultra อย่างเร็วสุดก็ภายในปลายปีนี้ ที่เริ่มมีรีวิวออกมาบ้างแล้วก็จะเป็นรุ่นที่ใช้ชิป Intel Core Ultra 7 155H ซึ่งเป็นรุ่นรองท็อปของตาราง และน่าจะเป็นชิปตัวเน้นขายในช่วงแรกสำหรับโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพค่อนข้างสูง เน้นบางเบาไปก่อน จากนั้นจึงค่อยทยอยปล่อยชิปรุ่นอื่นอย่าง Core Ultra 5 ตามมา แต่ที่เป็นไปได้คือเราน่าจะเห็นการโปรโมตในการใช้งานด้าน AI แบบฉ่ำ ๆ แน่นอน
CPU ปี 2024 จาก Qualcomm
ในปีหน้า เราน่าจะได้เห็นการบุกตลาดพีซีอย่างเต็มตัวมากขึ้นจากชิปประมวลผล ARM ของ Qualcomm ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสายโมบายล์มาอย่างยาวนาน หลังจากที่เพิ่งเปิดตัวชิป Snapdragon X Elite ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยในปีหน้า คาดว่าจะมีชิปรุ่นอื่นในกลุ่มของ Snapdragon X Series ลงตลาดมาเพิ่มอีกอย่างแน่นอน
สำหรับชิป Snapdragon X Series จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้มีชื่อเรียกว่าเป็นซีรีส์ 8cx Gen 4 ก่อนที่จะรีแบรนด์ใหม่เพื่อให้ดูแตกต่างจากกลุ่มชิปในมือถือมากขึ้น ดูสะท้อนถึงความเป็น CPU ระดับไฮเอนด์กว่าเดิม ส่วนข้อมูลด้านสเปคเท่าที่มีออกมาในขณะนี้ก็ได้แก่
- โค้ดเนม Hamoa สถาปัตยกรรม ARM ระดับ 4nm
- คอร์ Oryon มีทั้งแบบ 12 คอร์ (8+4) และ 10 คอร์ (6+4)
- GPU ในตัวเป็น Adreno 740 และรองรับ GPU แยกได้ผ่าน PCIe Gen4 x8
- รองรับสตอเรจทั้งแบบ UFS4 และผ่าน PCIe Gen4 x4 NVMe
- รองรับแรมแบบ LPDDR5X สูงสุด 64GB ความเร็วสูงสุดอาจจะ 8533 MT/s
- มีโมดูลถอดรหัส 4K120 fps และเข้ารหัสได้ที่ระดับ 4K60 fps
- มี NPU ประมวลผลด้าน AI ชิป Hexagon พลังประมวลผลเดี่ยวๆ สูงสุด 45 TOPS
สำหรับในตอนนี้ จะมีชิปที่เปิดตัวออกมาแล้วหนึ่งรุ่นคือ Snapdragon X Elite ที่ถูกวางไว้เป็นรุ่นท็อป ตามแผนคือจะเริ่มวางจำหน่ายในช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป โดยมากับโน้ตบุ๊กเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ก็คาดการณ์กันว่าอย่างน้อย ๆ น่าจะมากับ Surface รุ่นใหม่ และ Windows 11 สำหรับชิปสถาปัตยกรรม ARM โดยเฉพาะ (Windows on ARM) ซึ่งตามทฤษฎีคือควรจะสามารถใช้งานได้แบบปกติ ใช้โปรแกรมต่าง ๆ ได้เหมือนกับชิป x86 เลย แต่อาจจะต้องรอลุ้นกันตอนใช้งานจริงอีกที ว่ากระบวนการแปลงโค้ด x86 ให้มาทำงานบน ARM ที่ทั้งฝั่ง OS และ CPU ต้องทำงานร่วมกัน จะทำได้ดีขนาดไหน ราบรื่นเหมือนกับฝั่งชิป Apple Silicon กับ macOS ที่เป็นสถาปัตยกรรม ARM เหมือนกันได้หรือเปล่า
แต่ในเชิงของตัวชิปเอง ต้องบอกว่า Snapdragon X Elite นั้นมีคุณสมบัติที่น่าจับตามองมากทีเดียวครับ อย่างในงานเปิดตัวที่ผ่านมา ทาง Qualcomm เปิดเผยว่าถ้าจับความแรงมาเทียบกับคอร์ x86 จะพบว่าคอร์ Oryon นี้แรงกว่า Intel Core i7-13800H สูงสุดถึง 60% เมื่อเทียบที่ค่าพลังงานประมาณ 30 กว่าวัตต์ ทั้งยังกินไฟน้อยกว่า แถมถ้าเทียบกับ Core i7-1360P ก็พบว่า Oryon ยังมีพลังการประมวลผลแบบ multi-thread ที่สูงกว่าถึงเกือบ 2 เท่า ที่ช่วงประมาณเกือบ 20W และใช้พลังงานน้อยกว่าถึง 68% อีกต่างหาก
พลังของ GPU ก็ถือว่าน่าจับตามองเช่นกัน เพราะทาง Qualcomm นำเสนอว่าชิป Snapdragon X Elite ของตนเอง มีพลังในการประมวลผลถึงระดับ 4.6 TFLOPS ถ้าเทียบประสิทธิภาพที่ระดับพลังงานเท่ากัน GPU ใน SoC ตัวนี้จะแรงกว่า iGPU ใน Core i7-13800H มากสุดถึง 2 เท่า โดยที่ใช้พลังงานน้อยกว่าราว 74% หรือถ้าเทียบกับ Ryzen 9 7940HS ก็จะเป็นว่าแรงกว่าสูงสุด 80% และใช้พลังงานน้อยกว่าราว 80% ด้วย
อย่างไรก็ตาม เราคงต้องรอดูกันอีกทีช่วงกลางปี 2024 เป็นต้นไปว่า CPU ปี 2024 ของ Qualcomm จะเข้ามาเขย่าวงการพีซีได้ขนาดไหน แต่ถ้าพูดถึงเรื่องประสิทธิภาพของชิปล้วน ๆ ต้องบอกว่าเป็นชิปที่มีศักยภาพที่จะทำได้ในระดับเดียวกับตระกูล Apple Silicon กับเครื่องแมคเลยทีเดียว ซึ่งในตอนนี้ก็เริ่มมีผล benchmark เปรียบเทียบออกมาแล้ว พบว่าค่อนข้างสูสีกับชิปตระกูล Apple M3 อยู่เหมือนกัน
สรุปโร้ดแมปของ CPU ปี 2024 จาก Qualcomm
เราน่าจะได้เห็นโน้ตบุ๊กจากแบรนด์ใหญ่ที่ใช้ชิป Snapdragon X Elite เริ่มวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป ที่น่าจะมีแน่ ๆ คือ Microsoft Surface ส่วนผู้ผลิตรายอื่นก็น่าจะมีตามมาด้วยเช่นกัน แต่ดูลักษณะแล้วน่าจะเป็นกลุ่มเครื่องที่เน้นความบางเบา ใช้งานแบตได้นานเป็นหลัก จากนั้นถึงอาจจะมีชิปรุ่นอื่นในซีรีส์เดียวกันตามออกมา เพื่อจับตลาดที่มีราคาย่อมเยาลงมา แต่สิ่งที่น่าหวั่นใจก็คงเป็นฝั่ง Microsoft เองเหมือนเดิมครับ ว่าจะเอาจริงเอาจังกับการดัน Windows on Arm ขนาดไหน เชื่อว่าหลายท่านคงกลัวจะมีอนาคตคล้ายกับ Windows RT อยู่เหมือนกัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์เอง และกระบวนการแปลงโค้ดคำสั่งในตอนนั้นด้วย ประกอบกับตัวของ Windows RT ก็ได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานได้ไม่เท่ากับ Windows 8/8.1 ตัวเต็ม จึงทำให้ไม่ได้รับความนิยม และถูกยุบไปในที่สุด
แต่รอบนี้ฝั่งฮาร์ดแวร์พร้อมแล้ว หวังว่าจะจุดติด จนขึ้นมาแข่งกับสถาปัตยกรรม x86 และแข่งกับ Apple Silicon ของฝั่ง Apple ได้สูสีซักที
สรุปภาพรวมของ CPU จากแบรนด์ใหญ่ในปี 2024
จากข้อมูลที่มีออกมาของทั้ง 3 ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดชิปประมวลผลอย่าง AMD Intel และ Qualcomm เราจะเห็นว่าแต่ละรายจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ 2 ข้อหลัก คือเน้นเรื่องการออกแบบชิปให้ใช้งานได้เต็มศักยภาพ มีค่าประสิทธิภาพต่อวัตต์ที่สูง และการทำงานด้าน AI จากนั้นก็มีการพัฒนาและใส่ส่วนประกอบอื่นเข้ามาเสริมเพื่อขับเคลื่อนให้ CPU ปี 2024 ของตนเองทำได้ตามเป้าหมายทั้งสองข้อ
จะเห็นได้จากการปรับสถาปัตยกรรมเรื่องคอร์ พร้อมปรับกระบวนการทำงานภายในชิปของทั้ง AMD และ Intel เพื่อให้รองรับงานเบาได้ดีขึ้น ลดภาระของคอร์ประสิทธิภาพสูงลง เน้นใส่ชุดถอดรหัส ปรับปรุงโมดูลที่ช่วยเสริมการประมวลผลต่าง ๆ ให้มีความสามารถสูงกว่าเดิม เพื่อให้ชิปสามารถจัดการกับงานได้ดีขึ้น ไปพร้อม ๆ กับการใช้พลังงานโดยรวมที่ต่ำลง ถ้ามองแบบเปรียบเทียบ ก็คือทั้งสองรายกำลังจะทำให้ชิปแบบ x86 ของตนเอง มีการใช้พลังงานที่ใกล้เคียงกับชิปแบบ ARM มากขึ้นก็ว่าได้ โดยเฉพาะ Intel ที่ปรับการผลิตชิปมาเป็นแบบ chiplet หลังจากการมาถึงของชิปตระกูล Apple Silicon ที่ใช้ ARM แต่ทำประสิทธิภาพต่อวัตต์ได้แซงหน้าชิป x86 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแบบก้าวกระโดด โดยที่แทบไม่กระทบกับการใช้งานของผู้ใช้กลุ่มใหญ่มากนัก และกลายเป็นเสียส่วนแบ่งในตลาด CPU ไปอยู่บ้างเหมือนกัน
ส่วนฝั่งของ Qualcomm ที่ใช้ชิปโครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบ ARM อยู่แล้ว แน่นอนว่าเรื่องประสิทธิภาพต่อวัตต์ไม่ใช่ปัญหาเลย จะมีพัฒนาก็เรื่องความแรงในช่วงพลังงานต่ำ พลังด้านกราฟิก แต่ก็ยังต้องรอลุ้นด้านระบบปฏิบัติการอยู่ดีว่า Windows on ARM รอบนี้ และเหล่าผู้ผลิตโน้ตบุ๊กจะให้ความสำคัญกับการผลิตโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป Qualcomm มากขนาดไหน แต่เชื่อว่าน่าจะได้เห็นอะไรดี ๆ ออกมาพอสมควรครับ เพราะ Apple ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าทำได้กับชิปตระกูล M ที่นำไปใช้ได้ทั้งกับแท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก ไปจนถึงเครื่องเดสก์ท็อประดับโปรเลย ทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วคอมที่ใช้ชิป ARM มันก็แทบไม่แพ้ x86 แล้ว
ด้านของเรื่อง AI เราน่าจะได้เห็นการแข่ง (ขิง) กันของผู้ผลิตแต่ละรายว่า CPU ของตนรองรับงาน AI ด้านไหน ใช้กับโมเดลและเฟรมเวิร์คอะไรได้บ้าง มีความร่วมมือแบบแน่นแฟ้นกับนักพัฒนากลุ่มไหนเป็นพิเศษ เพราะปี 2024 น่าจะเป็นปีที่ทีมและบริษัทนักพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI จะเริ่มวางแผนเพื่อกำหนดแนวทาง และเลือก CPU หลักว่าจะใช้เทคโนโลยีของใครมาเป็นฐานในการพัฒนา จากที่ผ่านมาจะเน้นไปทาง GPU เป็นหลัก แต่รอบนี้ CPU ก็จะเข้ามาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งสถานการณ์อาจจะไปคล้ายกับวงการเกม ที่เรามักเห็นหลายเกมได้รับการ optimize ให้เหมาะกับการ์ดจอบางค่ายมากกว่า เป็นต้น
บอกเลยว่า CPU ปี 2024 โดยเฉพาะสายโมบายล์ น่าติดตามมาก ๆ