Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

เทียบรุ่น AMD Ryzen 8040 ในโน้ตบุ๊ก พร้อมประโยชน์ของ AI ในตัว

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา AMD ได้เปิดตัวชิปรุ่นใหม่สำหรับโน้ตบุ๊กคือ AMD Ryzen 8040 series ที่จะเริ่มวางขายในช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งนับเป็นการขยับซีรีส์ที่ช่วยเพิ่มความชัดเจนมากขึ้นว่าได้เปลี่ยนคอร์มาใช้เป็นสถาปัตยกรรม Zen 4 ที่ 4nm FinFET ทั้งหมด สังเกตได้จากรหัสรุ่นที่มีเลข 4 อยู่ตรงตำแหน่งที่สามของรหัส  นอกจากนี้ยังเน้นพูดถึงนวัตกรรมด้าน AI เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งน่าจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชิปรุ่นถัดไปในโค้ดเนม Strix Point ที่จะเปิดตัวในปีหน้า

AMD Ryzen 8040 series

Advertisement

ในบทความนี้เราก็จะมาทำความรู้จักกับชิป Ryzen ซีรีส์ 8040 กันก่อนครับว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง เทียบสเปคแล้วชนกับรุ่นไหนในซีรีส์ 7000 และก็ความสามารถด้าน AI ที่เพิ่มเข้ามานี้ จะช่วยยกระดับการทำงานของอะไรได้บ้าง ในมุมของผู้ใช้งานทั่วไป

UzUVa5uJCc4Aw2XRocAHFS

บนแพ็คเกจของชิป Ryzen 8040 จะแบ่งส่วนประมวลผลออกเป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่

  • NPU – จัดการงานด้าน neural network ประมวลผลงาน AI เป็นหลัก โดยอาศัยชิปที่ผลิตขึ้นด้วยสถาปัตยกรรม XDNA ที่มีพลังมากกว่าใน Ryzen 7040 series
  • CPU – ดูแลเรื่องงานประมวลผลหลัก งานคำนวณทั่วไปแบบที่คุ้นเคย รอบนี้ใช้สถาปัตยกรรม Zen 4 เต็มตัวทุกรุ่น (ที่ใช้รหัสเป็น Ryzen 8x4x)
  • GPU – ใช้เป็นคอร์ GPU (compute unit) สถาปัตยกรรม RDNA 3 ทุกรุ่น นั่นคือ Radeon 7x0M แต่อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป เช่น จำนวนคอร์และความเร็วที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลถึงประสิทธิภาพด้านกราฟิกด้วย

ดังนั้นถ้าหากให้สรุปสั้น ๆ ว่าชิป AMD Ryzen ในซีรีส์ 8040 นี้ แตกต่างจากชิปรุ่นก่อนหน้าอย่างไร จุดที่เห็นได้ชัดสุดคงเป็นเรื่องหน่วย NPU สำหรับงานด้าน AI ที่ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพขึ้นมา ซึ่งก็สอดคล้องกับในการเปิดตัว ที่เน้นพูดถึงงานด้าน AI และประโยชน์ที่ผู้ใช้จะได้รับเมื่อใช้ชิปในซีรีส์นี้เป็นหลัก

แล้วถ้าเราจับชิปรุ่นใหม่มาลงตารางเพื่อดูสเปค แล้วลองค้นดูว่ามันพอเทียบได้กับรุ่นไหนในซีรีส์ 7000 บ้าง จะได้ตามตารางด้านล่างนี้เลย

เทียบ Ryzen 8040 กับ 7000 Series

Screenshot 2023 12 09 at 10.34.51 AM

เริ่มกันที่ AMD Ryzen 9 8945HS ที่เป็นรุ่นท็อปกันก่อน จะเห็นว่ายังคงให้มาที่ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็วสูงสุด 5.2 GHz เท่า ๆ กับ Ryzen 9 7940HS อยู่ GPU ก็ใช้เป็นรุ่นเดิม ความเร็วเท่าเดิม ดังนั้นจะพอมองว่า Ryzen 9 8945HS เป็นรุ่นที่รีเฟรชมาจาก 7940HS ก็ได้ แต่ถ้าลองจับข้อมูลเชิงเทคนิคบนเว็บไซต์ AMD เองของทั้งสองรุ่นมาเทียบกัน จะพบความต่างยิบย่อยอยู่อีก เช่น ในชิปรุ่นใหม่กว่า จะถูกตัดความสามารถในการทำ NVMe RAID10 ออก เหลือแค่ RAID0 และ 1 เท่านั้น และก็พลังประมวลผลด้าน AI ที่ขยับจากสูงสุด 10 TOPS มาเป็น 16 TOPS ซึ่งก็สอดคล้องกับที่เปิดตัวในงานว่ามีการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับชิป NPU ขึ้นมา

ถัดมาที่กลุ่มของ Ryzen 7 รอบนี้มีเปิดตัวมา 3 รุ่นย่อย แบ่งเป็นกลุ่มที่ลงท้ายด้วยรหัส HS ที่เน้นประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับการใช้งานเชิงครีเอทีฟ เล่นเกม หรืองานที่ต้องใช้เครื่องสมรรถนะสูงขึ้นมา กับรุ่นที่ลงท้ายด้วยรหัส U ซึ่งเน้นเรื่องการประหยัดพลังงานกว่า สังเกตได้จากค่า TDP ในช่อง cTDP (AMD Configurable TDP) ที่ระบบสามารถปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ จะมาเริ่มที่ต่ำสุดเพียง 15W เท่านั้น ถ้าเทียบสเปคก็จะเห็นว่า Ryzen 7 8840U นั้นก็คือรุ่นรีเฟรชของ Ryzen 7 7840U แบบรหัสชนรหัสเลย ค่าทุกอย่างตรงกัน ต่างกันที่ประสิทธิภาพของ NPU ในลักษณะเดียวกับ R9 ในข้างต้น

แต่ถ้าดูที่รุ่นรหัส HS อันนี้จะเริ่มเห็นความสอดคล้องกับ R9 ครับ คือรุ่นที่รหัสลงท้ายว่า 8x45HS มันจะเทียบสเปคแล้วตรงกับรุ่น 7x40HS (รวมถึงใน Ryzen 5 ด้วยเช่นกัน) ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเลยว่า รอบนี้ AMD ตั้งใจขยับเอาสเปคของกลุ่มชิป Zen 4 รหัส HS เดิม (7x40HS) ให้มีรหัสย่อยลงท้ายขยับเป็นเลข 5  (8x45HS) แล้วเพิ่มชิปรหัส HS รุ่นที่ลดไฟลงมาเข้ามาเป็นตัวเลือกด้วย โดยใช้รหัสรุ่นเป็น 8x40HS แทน สังเกตได้จากสเปคของชิปในแต่ละคอลัมน์ที่เหมือนกันแทบจะ 100% ต่างกันตรงที่ค่า TDP และ cTDP ที่ปรับลงมาเหลือระดับ 28W เท่านั้น ซึ่งก็คือเท่ากับชิปในรหัสลงท้าย U เลย รวมถึงความเร็วคล็อกในช่วง based ที่ต่างกันด้วย

Screenshot 2023 12 10 at 3.02.21 PM

แต่แม้ชิปรหัส 8x40HS จะมีค่า TDP เท่ากับ 8x40U แต่สเปคอื่นก็ยังถือว่าเหนือกว่าอยู่ดีครับ โดยเฉพาะเรื่องของการมีฟังก์ชัน PBO ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลได้ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นการโอเวอร์คล็อก ซึ่งชิปในซีรีส์ Ryzen 8040 ที่เปิดตัวมาทั้งหมดในขณะนี้ ยังไม่มีรุ่นที่ลงท้ายด้วยรหัส HX ซึ่งรองรับการโอเวอร์คล็อกออกมาเลย

ส่วนในกลุ่มของ Ryzen 5 ก็มีเปิดตัวมาด้วยกัน 4 รุ่น แบ่งเป็นรหัส HS สองรุ่นและรหัส U อีกสองรุ่น ทุกตัวมาพร้อมกับ 6 คอร์ 12 เธรดเท่ากัน จะมีแค่ Ryzen 5 8540U เท่านั้นที่ใช้คอร์แบบผสมเป็น Zen 4 กับ Zen 4c ซึ่งคอร์ Zen 4c จะเน้นเรื่องการใช้พลังงานที่ต่ำ เหมาะสำหรับใช้ประมวลผลงานเบา โหลดน้อย แต่ยังมีความสามารถและฟีเจอร์ต่าง ๆ เทียบเท่ากับคอร์ Zen 4 ตามปกติเลย รวมถึงมีการปรับจูนระบบให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างคอร์ทั้งสองประเภทได้ดี ทั้งยังมีขนาดคอร์ที่เล็กกว่าด้วย จึงน่าจะได้เห็นอยู่ในกลุ่มเครื่องที่มีขนาดเล็ก เน้นความบางเบาเป็นหลัก ถ้าเทียบแล้วก็เหมือนเป็นรุ่นรีเฟรชมาจาก Ryzen 5 7545U นั่นเอง แต่ที่จะหายไปสำหรับชิปรุ่นนี้ก็คือมันไม่รองรับฟีเจอร์ AMD Ryzen AI นั่นเอง ส่วนรุ่นอื่นในกลุ่มเดียวกัน ยังรองรับอยู่ทั้งหมด

ซึ่งอีกสามรุ่นที่เหลือก็จะตรงกันกับกลุ่ม R7 เลย คือจะมี

  1. รุ่นรีเฟรชจากรหัส HS เดิม
  2. รุ่นรหัส HS แบบลด TDP ลง
  3. รุ่นรีเฟรชจากรหัส U เดิม

ปิดท้ายด้วย Ryzen 3 ที่มีเปิดตัวมารุ่นเดียวคือ AMD Ryzen 3 8440U ที่เป็นรุ่นรีเฟรชจาก Ryzen 3 7440U ซึ่งเป็นชิปที่มีค่า TDP เท่ากัน มี 4 คอร์ แบบ Zen 4 ผสมกับ Zen 4c เหมือนกัน และก็ยังคงใช้ GPU เป็น Radeon 740M เหมือนเดิมด้วย

ประสิทธิภาพของ AMD Ryzen 8040 Series

สำหรับแง่ประสิทธิภาพ รอบนี้ AMD ไม่ได้นำเสนอความแรงแบบ gen ต่อ gen ทำให้เราอาจจะมองความแตกต่างของ CPU และ GPU กับซีรีส์ 7000 ไม่ค่อยชัดนัก มีแต่เพียงการจับมาเทียบกับชิป i9-13900H เท่านั้น ซึ่งจะสูงกว่าในเรื่องการทำงานแบบมัลติเธรด ด้านการเล่นเกม และก็ด้านงานสร้างสรรค์คอนเทนต์ ซึ่งก็เดาว่าน่าจะเป็นการจับ R9 8945HS ไปชน โดยในส่วนของการเล่นเกม มีข้อมูลเปิดเผยออกมาว่า Ryzen เร็วกว่าคู่แข่งประมาณ 1.8 เท่าในเกม Borderlands 3, Far Cry 6 และ Hitman 3 ส่วนการทดสอบ Cinebench R23 ก็ทำได้ดีกว่าราว 1.1 เท่า

ส่วนประสิทธิภาพทั่วไป ก็คาดว่าน่าจะต่างจากซีรีส์ 7000 ไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับการปรับปรุงการทำงานของตัวชิปว่าได้รับการปรับจูนมาขนาดไหน ซึ่งคงต้องรอตอนเครื่องวางขายจริงแล้ว ถึงจะทดสอบเทียบกันได้

แต่ที่มีการเทียบแบบ gen ต่อ gen คือประสิทธิภาพของการใช้งานด้าน AI ตามในภาพด้านบน ที่ทำได้ดีกว่าเดิมสูงสุด 1.4 เท่าทั้งในการใช้งานโมเดล Llama 2 ของ Meta และ Vision Models ซึ่งก็เป็นผลที่แปรผันตรงกับประสิทธิภาพของ NPU ที่สูงขึ้น แม้ในชิปทั้งสอง gen นี้จะใช้ NPU สถาปัตยกรรม XDNA เหมือนกันก็ตาม 

55v6uvkA74UVJ7ACwsrkVE

กับอีกปัจจัยคือมีการเปิดตัวแพลตฟอร์ม AMD Ryzen AI Software อย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จะให้นักพัฒนาสามารถสร้างและปรับจูนแอปพลิเคชันด้าน AI ของตนเองให้ใช้งานร่วมกับระบบ AI ภายในชิป AMD Ryzen ซีรีส์ 8040 และ 7040 ได้ง่ายขึ้น รีดใช้งานประสิทธิภาพได้เต็มที่กว่าเดิม โดยในตอนนี้ก็รองรับโมเดลยอดนิยมอย่าง PyTorch, TensorFlow และ ONNX แล้ว

X24CDemES6MqYdKPuFaouT

ในโลกของ AI ทาง AMD ได้เปิดเผยว่ามียุทธศาสตร์ในการบุกตลาดด้วยกัน 2 ขั้นใหญ่ ๆ หนึ่งคือการทำฮาร์ดแวร์ให้พร้อมก่อน โดยได้เริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็น AI PC ในปีนี้ออกมาแล้ว เช่นชิป Ryzen ซีรีส์ 7040 และระบบ Ryzen AI ที่นับเป็นชิปตระกูล x86 รุ่นแรกของโลกที่มีส่วนประมวลผล AI แบบแยกมาให้ในแพ็คเกจเดียวกับ CPU โดยในปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมระบบ AI ออกมาในท้องตลาดมากกว่า 50 รุ่น หรือถ้านับเป็นจำนวนชิปที่มาพร้อมระบบ Ryzen AI ก็จะมีนับล้านชิ้นแล้วทั่วโลก และน่าจะมาอย่างเต็มตัวมากขึ้นในปี 2024 พร้อมกับการเปิดตัวชิปใหม่ในโค้ดเนม Strix Point

ส่วนขั้นตอนที่สองก็คือส่วนของการทำงานร่วมกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถใช้งานร่วมกับโมเดลและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่เป็นมาตรฐานในกลุ่มนักพัฒนาส่วนใหญ่ได้ พร้อมกับการสร้างแพลตฟอร์มให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชัน และปรับจูนผลิตภัณฑ์ของตนเองให้ใช้งานร่วมกับระบบ AI ได้ง่ายและรวดเร็ว

dh3GnmbiVfhTBKHKMrGXFU

อย่างในขณะนี้ก็มีการเปิดเผยรายชื่อพาร์ทเนอร์ที่ทำงานร่วมกับ AMD แล้ว ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ ๆ คุ้นหูคุ้นตากันหน่อยก็เช่น Adobe, Microsoft, OBS Studio, Zoom, ByteDance, iQIYI เป็นต้น สอดคล้องกับการออกฟีเจอร์ใหม่ของซอฟต์แวร์จากบริษัทเหล่านี้ ที่เรามักเห็นการนำ AI มาใช้ประโยชน์มากขึ้นเรื่อย

tnTbqfdETMk9pUm4thL2SU

ภาพด้านบนนี้ก็คือตัวอย่างของฟังก์ชันที่มีการนำระบบ AI เข้ามาช่วยในการทำงาน จากซอฟต์แวร์ยอดนิยมในท้องตลาดครับ ที่เยอะหน่อยก็คือใน Adobe Photoshop ที่หลัก ๆ แล้วจะเป็นเรื่องการใช้ AI ช่วยตรวจจับ object ในภาพ เพื่อให้สามารถเลือกหรือตัดต่อได้ง่าย ต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องนั่ง select เองด้วยมือ รวมถึงพวกฟังก์ชันในการแต่งเติมรายละเอียดในภาพ การแต่งภาพ ส่วนงานด้านวิดีโอก็จะมีใน Adobe Premiere Pro ที่มีฟังก์ชันช่วยปรับเฟรมในฟุตเทจให้เหมาะสม ฟังก์ชันการถอดคำจากเสียงออกมาเป็นข้อความ เป็นต้น ส่วนประโยชน์ในด้านอื่น ๆ สามารถชมได้จากคลิปของ AMD เองด้านล่างนี้เลย

ซึ่งถ้าฟังก์ชันเหล่านี้ได้ทำงานร่วมกับชิปประมวลผลที่มีชิปแยกสำหรับงานด้าน AI โดยเฉพาะ น่าจะช่วยเพิ่มความเร็วในการใช้งานจริงได้มาก และให้ผลลัพธ์ที่น่าจะตรงกับความต้องการมากขึ้นด้วย จึงทำให้ส่วนของ NPU น่าจะเป็นส่วนสำคัญในวงการชิปประมวลผลสำหรับคอมพิวเตอร์บ้างแล้ว หลังจากที่มันเข้ามาอยู่ในชิปมือถือแล้วหลายปี

syHhkc4AMr7nHm9eoDmqeG

ปิดท้ายกันด้วยแผนโร้ดแมปของระบบ AMD Ryzen AI ครับ ซึ่งในตอนนี้เราอยู่ตรงกลางด้วยชิป Ryzen 8040 โค้ดเนม Hawk Point ที่มีการพัฒนาด้าน NPU จากชิป Ryzen 7040 (Phoenix) ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิปรุ่นใหม่นี้ก็น่าจะเริ่มวางจำหน่ายภายในไตรมาสแรกของปีหน้าเลย ส่วนช่วงปลายปีหน้า ที่ค่อนข้างชัวร์แล้วคือเราน่าจะได้เห็นการขยับครั้งใหญ่กับชิปในโค้ดเนม Strix Point ที่มาพร้อมชิป NPU สถาปัตยกรรม XDNA 2 ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานด้าน generative AI ที่สูงขึ้นกว่าเดิมมากกว่า 3 เท่า ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายคือพวกระบบ AI ที่ใช้ในการสร้างภาพขึ้นมาจากข้อความคำสั่ง ที่ต่อไปน่าจะทำ on-chip ได้เร็วขึ้น

ส่วนด้านอื่น ๆ ที่เราอาจจะได้เห็นในชิปโค้ดเนม Strix Point เท่าที่มีข้อมูลหลุดออกมาก็คือการขยับไปใช้สถาปัตยกรรม Zen 5 (แต่ยัง 4nm เท่าเดิม) มี 12 คอร์ ชิปกราฟิกในตัวก็อัปเกรดเป็น RDNA 3.5 ที่บางรุ่นอาจใส่มาถึง 32 คอร์ (CU) ส่วนการประมวลผลด้าน neural network ก็เพิ่มสูงเป็นถึง 45-50 TOPS (น่าจะเฉพาะ NPU) จากที่ในชิป Ryzen ซีรีส์ 8040 ทำได้แค่สูงสุดราว 16 TOPS (เฉพาะ NPU) หรือถ้ารวมทั้งชิปก็อยู่ที่ 39 TOPS เท่านั้น

EgZ9QyShHyrRNL6RMVfLUS

สำหรับใครที่เล็งจะซื้อโน้ตบุ๊กในช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป อาจจะได้พบกับเครื่องที่ใช้ชิปรุ่นใหม่จาก AMD กันบ้างแล้วครับ ซึ่งถ้าต้องการซื้อมาใช้งานพื้นฐานทั่วไป ใช้เพื่อความบันเทิง ใช้เล่นเกม อันนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องมองเรื่อง gen ของ CPU เป็นหลักก็ได้ เพราะต้องยอมรับว่า Ryzen 8040 เป็นรุ่นรีเฟรชจากรุ่นก่อนหน้าเท่านั้น มีการปรับเปลี่ยนจากเดิมแค่เล็กน้อย หรือถ้าใครที่ใช้ชิปซีรีส์ Ryzen 7000 อยู่แล้ว ก็อาจจะยังไม่ถึงกับต้องเปลี่ยนเครื่องก็ได้ ส่วนใครที่ต้องการเครื่องไปใช้งานด้าน AI ใช้เขียนโปรแกรม หรือรันโมเดลต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับ AI อันนี้ถ้าเป็นไปได้ก็เลือกชิปรุ่นใหม่ในซีรีส์ 8040 ที่มี NPU ในตัวมาด้วยจะดีกว่า

แต่ก็จะมีหนึ่งข้อที่อาจต้องสังเกตซักนิดนึง ถ้าคุณต้องการชิปแรง ๆ เพื่อประสิทธิภาพสูง ก็ให้เลือกรุ่นที่ใช้รหัสเป็น 8x45HS ที่มีช่วงค่า TDP สูงกว่าไว้ก่อน เพราะตัวชิปจะมีความยืดหยุ่นในแง่ประสิทธิภาพที่มากกว่า

 

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

CONTENT

นับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่หลายคนต้องทำงานอยู่บ้าน เทรนด์การจัดโต๊ะคอม จัดพื้นที่ทำงานก็กลายเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นมากในกลุ่มของคนที่ต้องทำงานแบบ WFH และหนึ่งในแนวทางยอดฮิตก็คือการซื้อจอแยกมาต่อกับโน้ตบุ๊กที่มีอยู่ เพื่อใช้งานแบบหลายจอ (multiple monitors) พร้อมกัน ซึ่งมีข้อดีคือได้พื้นที่ทำงานบนจอเยอะขึ้น สามารถจัดกลุ่มหน้าต่างโปรแกรมได้สะดวก จะเปิดงานจอนึง อีกจอเปิด YouTube หรือเปิดหนังดูไปพร้อมกันก็สบาย และด้วยความสะดวก ทำให้การใช้งานจอเสริมคู่กับจอโน้ตบุ๊กยังกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นสำหรับใครที่อยากจะจัดโต๊ะคอมแบบมีหลายจออยู่ แต่ยังจับจุดไม่ถูกว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี วิ่งไปซื้อจอก่อนเลยดีมั้ย ในบทความนี้จะเป็น 5 สิ่งที่ต้องพิจารณาและเตรียมพร้อมก่อนไปซื้อจอมาเสริมครับ...

Buyer's Guide

โน๊ตบุ๊คเล่นเกมรุ่นใหม่ก็มา รุ่นเก่าสเปคเด็ดก็มี ถ้าใครอยากเปลี่ยนเครื่องอยู่นาทีนี้มีรุ่นน่าโดนให้เลือกเพียบ! จะปี 2024 นี้หรือปีไหนโน๊ตบุ๊คเล่นเกมก็ยังคงเป็นตัวเลือกขวัญใจใครหลายคนเพราะประสิทธิภาพดี ทรงพลังเหลือเฟือไม่ว่าจะงานเบาๆ ทำเอกสารไปจนตัดต่อคลิปและงาน 3D ก็ไหว เล่นเกมก็ได้สบายๆ ยิ่ง 2~3 ปีมานี้ พอเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ซีพียูกับจีพียู็ยิ่งทรงพลังก็ทำให้เกมเมอร์และครีเอเตอร์ที่ไม่อยากเสียเวลาประกอบพีซีให้วุ่นวายเลือกตัดปัญหาทั้งหมดโดยซื้อโน๊ตบุ๊คเล่นเกมสเปคแรงมาใช้แทน แถมได้เปรียบว่าพกพาสะดวกหยิบไปทำงานได้ กลับบ้านต่อหน้าจอแยกก็เล่นเกมชั้นนำได้ดีพอตัว นอกจากสเปคแล้ว ในปี 2024 ที่ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น หลายแบรนด์ก็เสริม AI...

รีวิว Asus

ASUS ZenBook 14 OLED UM3406H พรีเมี่ยมโน๊ตบุ๊คพร้อมพลัง Ryzen AI ทำงานได้ เนียนเล่นเกมลื่นอีก!! ถ้าจะซื้อโน๊ตบุ๊กสักเครื่อง ก็จะมีทางเลือกแค่เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหนาหนักแต่แรงทรงพลังหรือเป็นกลุ่มโน๊ตบุ๊คบางเบาเช่นเดียวกับ ASUS Zenbook 14 OLED UM3406H ทว่ามันจะไม่ติดข้อจำกัดเดิมว่าเล่นเกมไม่ไหวอีกต่อไปด้วยพลังของซีพียู AMD Ryzen 8000 Series พร้อม Ryzen...

รีวิว Asus

ASUS ROG Zephyrus G14 GA403UV เกมมิ่งตัวบางแอบแรง หยิบไปไหนก็ดูดีไม่มีใครเกิน!! ASUS ROG Zephyrus G14 GA403UV เป็นหนึ่งในสามหัวหอกเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คจากทาง ASUS ผู้คงรูปลักษณ์เรียบหรูผู้ดี ขณะที่อีกสองพี่น้องเป็นเกมมิ่งตัวแรงทรงพลังขวัญใจเกมเมอร์ปรับสุดทุกเกม ROG Zephyrus G14 จึงเหมาะกับพนักงานออฟฟิศผู้รักในการเล่นเกมและครีเอเตอร์ปั้นงานกราฟิค 3D เสียมากกว่า ซึ่งโมเดลปี 2024...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก