TP-Link Archer BE400 เราเตอร์ตัวนี้ง่ายตั้งแต่ตั้งค่าเริ่มใช้งานไปจนใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ในตัว! อัปเกรดแล้วเน็ตแรงขึ้นเยอะ!!

เครือข่าย Wi-Fi 7 ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานใหม่อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2567 จากนั้นเราเตอร์มาตรฐานใหม่นี้รวมถึง TP-Link Archer BE400 ก็เปิดตัวมาให้เลือกซื้อกันหลากหลายสเปกตั้งแต่รุ่นประสิทธิภาพสูงฟีเจอร์ติดตัวมากมายหรือจะเป็นรุ่นคุ้มค่า ฟีเจอร์ครบถ้วนทั้ง Multi-Link Operation (MLO) สำหรับรับส่งข้อมูลผ่านหลายคลื่นสัญญาณให้ได้ความเร็วสูงสุดและลดความหน่วง (Latency) ลง ควบคู่กับการส่งคลื่นสัญญาณแบบ Beamforming ให้คลื่นสัญญาณ Wi-Fi ส่งถึงอุปกรณ์ต่างๆ ได้ทั่วถึง รองรับ 4K-QAM และ Multi-RUs ครบถ้วน
นอกจากเรื่องประสิทธิภาพสูง TP-Link ก็ยังไม่ทิ้งจุดเด่นอย่างการตั้งค่าใช้งานได้ง่ายด้วยแอปฯ Tether ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ตั้งค่าใช้งานได้ในเวลาไม่นาน แถมยังมีฟีเจอร์เด่นติดมาให้ใช้งานครบเครื่อง ทั้งการเชื่อมเราเตอร์ในเครือเป็นเครือข่าย OneMesh ได้ง่ายๆ มี VPN ไว้ให้ใช้งานเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้สะดวกขึ้น ฯลฯ ด้านฮาร์ดแวร์ก็ได้มาครบเครื่องทั้งพอร์ต WAN, LAN และ USB-A 3.0 ไว้เชื่อมต่อ NAS Storage ให้แบ็คอัพงานจากในและนอกสถานที่ได้ง่ายขึ้น

NBS Verdicts

เราเตอร์ Wi-Fi 7 อย่าง TP-Link Archer BE400 นอกจากได้สเปกตรงตามมาตรฐาน Wi-Fi เวอร์ชั่นใหม่นี้แล้ว ก็ได้ฟีเจอร์เสริมจากทางแบรนด์ติดมาให้อีกไม่ว่าจะ VPN, Parental Control, QoS ฯลฯ รวมถึงพ่วงเราเตอร์ในเครือตัวอื่นเข้าไปในระบบ OneMesh ให้กระจายสัญญาณได้กว้างขวางขึ้น ครอบคลุมพื้นที่อาคารสำนักงานหรือบ้านหลายชั้นได้สบายมีสัญญาณทั่วถึงทุกซอกมุม ถ้าเทียบราคากับเราเตอร์มาตรฐานเดียวกันรุ่นอื่นก็เข้าถึงง่ายกว่าเพียง 4,990 บาทเท่านั้น
พอร์ตเชื่อมต่อของ Archer BE400 ก็มีให้ใช้ครบเครื่อง ไม่ว่าจะพอร์ต WAN สำหรับต่อเราเตอร์ของผู้ให้บริการโดยเฉพาะ ไม่ต้องพึ่งช่อง LAN1 จึงเอาไปเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่นได้มากขึ้นแถมยังได้พอร์ต USB-A 3.0 เอาไว้เชื่อมต่อ NAS Storage หรือ Personal Cloud เอาไว้แบ็คอัพงานจากนอกสถานที่ให้ทีมงานในออฟฟิศรับช่วงต่อได้สะดวก โดยเฉพาะคนทำงานสายคอนเทนต์ครีเอเตอร์สามารถส่งต่องานได้เร็วขึ้นอีกหลายเท่า แถมยังมีปุ่มใช้งานอื่นๆ ติดมาครบไม่ว่าจะปุ่ม WPS, LED/Wi-Fi และปุ่ม Power ไว้ปิดเปิดเราเตอร์เวลาทำงานได้ไม่สมบูรณ์อีกด้วย
ข้อสังเกตของ TP-Link Archer BE400 มีเพียง 2 จุด คือ ตัวกล่องจะกระจายสัญญาณแบบ Dual-band เป็นคลื่น 2.4 GHz กับ 5 GHz เท่านั้น ไม่ได้เป็น Tri-band พร้อมคลื่น 6 GHz ให้ใช้งาน อาจไม่ตอบโจทย์คนต้องการแบ่งคลื่นความเร็วสูงพิเศษเอาไว้ให้อุปกรณ์กลุ่มใดเป็นพิเศษ แต่ถ้านับตามความเร็วรวมก็มากพอให้ใช้งานในบ้านและสำนักงานได้สบายมากแล้ว กลับกันฟีเจอร์ที่อยากให้ TP-Link เพิ่มเข้ามา คือ ให้เอาสมาร์ทโฟนต่อผ่านพอร์ต USB-A แล้วใช้เน็ตมือถือทำงานได้เวลาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตส่งวิศวกรเข้ามาบำรุงรักษาสายสัญญาณหรือ Node กระจายสัญญาณมีปัญหาแล้วต้องส่งงานหรือมีประชุมสำคัญจะได้ทำงานได้ทันที
ข้อดีของ TP-Link Archer BE400
- เป็นเราเตอร์ Wi-Fi 7 พร้อมฟีเจอร์ครบถ้วนทั้ง 4K-QAM, Multi-RUs และ MLO
- ติดเสาสัญญาณมาให้ 6 ต้น กระจายสัญญาณได้กว้างและมีระบบ Beamforming เสริม
- ตัวคลื่นสัญญาณมีความเร็วสูงสุด 6.5 Gbps ทำให้รับส่งข้อมูลไร้สายได้รวดเร็ว
- ตั้งค่าได้ง่ายผ่านแอปฯ Tether ในสมาร์ทโฟน Android และ iPhone
- ติดพอร์ต Internet (WAN) แยกเฉพาะไว้ต่อเราเตอร์ของผู้ให้บริการโดยเฉพาะ
- มีพอร์ต USB-A 3.0 ติดมาให้เชื่อมต่อ NAS Storage เพื่อแบ็คอัพงานจากนอกสถานที่ได้
- เชื่อมต่อเราเตอร์ TP-Link ตัวอื่นและทำเป็นเครือข่าย OneMesh ได้สะดวกรวดเร็ว
- มี Firewall และระบบควบคุมรักษาความปลอดภัยติดมาให้ใช้ครบถ้วน
- มีระบบแยกสำหรับกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้อุปกรณ์ IoT ได้
- ตั้ง QoS จัดเรียงความสำคัญให้อุปกรณ์ชิ้นต่างๆ ได้ว่าต้องการให้ปล่อยสัญญาณเร็วหรือไม่
- หน้าแอปฯ Tether ใช้งานง่าย รวมข้อมูลสถานะการทำงานเอาไว้ให้ตรวจสอบได้สะดวก
- เปลี่ยนการทำงานได้ระหว่าง Router Mode หรือ Access Point Mode
ข้อสังเกตของ TP-Link Archer BE400
- กระจายสัญญาณแบบ Dual-band เท่านั้น ไม่ได้เป็น Tri-band พร้อมคลื่น 6 GHz
- ไม่มีฟีเจอร์เอาสมาร์ทโฟนต่อ USB-A 3.0 ใช้อินเทอร์เน็ตจาก SIM 4G เป็นเครือข่ายสำรอง
รีวิว TP-Link Archer BE400
Specification

เราเตอร์ Wi-Fi 7 รุ่นใหม่ราคาสมเหตุผลอย่าง TP-Link Archer BE400 เป็นตัวเลือกน่าสนใจสำหรับคนอยากอัปเกรดเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตภายในบ้านหรือออฟฟิศอย่างแน่นอน ด้วยสเปกของมันสามารถรับส่งข้อมูลได้รวดเร็วถึง 6.5 Gbps และได้ฟีเจอร์พื้นฐานต่างๆ ติดมาครบถ้วน ด้านรายละเอียดสเปกจะเป็นดังนี้
WiFi Speeds & Standard | Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be BE6500 5 GHz: 5764 Mbps (802.11be) 2.4 GHz: 688 Mbps (802.11be) |
Guest Network | 5 GHz Guest Network 2.4 GHz Guest Network |
Advanced Functions | Multi-Link Operation (MLO) 4K-QAM Multi-RUs EasyMesh-Compatible Works with Alexa and Google Assistant IoT Network |
WiFi Range | เสาสัญญาณ 6 ต้น กระจายสัญญาณเป็นวงกว้าง การส่งสัญญาณแบบ Beamforminhg |
WiFi Capacity | Dual-Band MU-MIMO OFDMA Airtime Fairness DFS 4 Streams |
Wireless Mode | Router Mode Access Point Mode |
Network Security | SPI Firewall Access Control IP & MAC Binding Application Layer Gateway HomeShield Security |
Parental Control | Custom Profiles Professional Content Filter Library Family Time Bedtime Off Time Time Rewards Family Online Time Ranking Pause the Internet Weekly and Monthly Reports |
VPN Client & Server | Open VPN Client PPTP VPN Client L2TP VPN Client WireGuard VPN Client OpenVPN Server PPTP VPN Server L2TP VPN Server WireGuard VPN Server |
WiFi Encryption | WPA WPA2 WPA3 WPA/WPA2-Enterprise (802.11x) |
WAN Type | Dynamic IP Static IP PPPoE PPTP L2TP |
Ethernet Ports | 2.5 Gbps WAN*1 2.5 Gbps LAN*1 1 Gbps LAN*3 |
USB Support | USB 3.0*1 รองรับ NTFS, exFAT, HFS+, FAT32 รองรับ FTP Server Media Server Samba Server |
Buttons | ปุ่ม Power ปุ่ม Wi-Fi / LED ปุ่ม WPS ปุ่ม Reset |
Application | TP-Link Tether iOS คลิกที่นี่ Android คลิกที่นี่ |
Internet Browser requirements | Internet Explorer 11+ Firefox 12.0+ Google Chrome 20.0+ Safari 4.0+ เบราเซอร์อื่นๆ ที่รองรับ JavaScript |
Price | 4,990 บาท Shopee : https://cutt.ly/7e022X00 Lazada : https://cutt.ly/Fe0224RR |
Unbox & Design

ปกติแล้วกล่องบรรจุภัณฑ์ของ TP-Link จะใช้สีฟ้าเป็นสียืนพื้นหมดแทบทั้งกล่อง แต่พอเป็นเราเตอร์ Wi-Fi 7 ก็เปลี่ยนมาใช้สีดำยืนพื้นแล้วเสริมด้วยสีฟ้าประจำแบรนด์อยู่ตามขอบมุมต่างๆ เช่น โลโก้, ขอบข้างกล่องและกรอบ BE6500 เป็นต้น ส่วนรอบกล่องยังสกรีนข้อมูลเน้นจุดเด่นของ Archer BE400 เอาไว้ให้ผู้ใช้อ่านทำความเข้าใจได้ก่อนสั่งซื้อ แถมยังมี QR Code ไว้สแกนดาวน์โหลดแอปฯ Tether อยู่ด้านข้างกล่องอีกด้วย

ในกล่องนอกจาก Archer BE400 จะมีอะแดปเตอร์ AC หัวกลม 12V 2.5A กับสาย LAN CAT 6A ไว้พ่วงกับเราเตอร์จากผู้ให้บริการแล้วตั้งค่าใช้งานได้ทันที หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมทาง TP-Link ไม่ได้ให้สายเวอร์ชั่นใหม่กว่านี้มา ถ้าว่าตามสเปกแล้วตัวสายนี้สามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วถึง 10 Gbps รองรับแบนด์วิดท์ 500 MHz พอรองรับแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการทุกรายในประเทศไทยได้แน่นอน จะให้เกินจำเป็นมาก็ใช้ไม่ได้เต็มประสิทธิภาพนัก

ตัวกล่อง TP-Link Archer BE400 จะทำสีดำด้านให้ตัดกับตัวอักษรและไอคอนสีขาว เจาะช่องรังผึ้งทรงสี่เหลี่ยมไว้ด้านบนเพื่อระบายอากาศร้อนภายในออกได้ในส่วนสามเหลี่ยมหัวกลับเหนือโลโก้แบรนด์และพื้นที่ห้าเหลี่ยมฝั่งขวามือ ส่วนสามเหลี่ยมด้านซ้ายจะเป็นช่องทึบเป็นลวดลายให้ดีไซน์กลมกลืนกัน ตัวเสาสัญญาณทั้ง 6 ต้นจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด สามารถหมุนและเบนเสาปรับทิศทางได้ตามเหมาะสมและเป็นเสาแบบล็อคติดกับกล่อง ไม่สามารถถอดแยกเองได้

ริมกล่องฝั่งขวามือจะมีไอคอนแสดงสถานะการทำงานพร้อมกับไฟสีขาว 7 ดวง ไว้แสดงสถานะว่ากล่องมีไฟฟ้าเข้าพร้อมทำงาน, คลื่นนสัญญาณ Wi-Fi 2.4 GHz กับ 5 GHz ติดพร้อมทำงานแล้ว, รูปลูกโลกมีไว้แจ้งเจ้าของว่าตอนนี้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้ากล่องให้ใช้งาน รวมถึงไฟ USB และ VPN ครบถ้วน
จากมุมด้านหน้าจะเห็นว่ากล่องเราเตอร์มีกรอบปิดรอบตัว 3 ด้าน มีชายล่างตีเฉียงออกเป็นดีไซน์เพื่อความสวยงาม ด้านใต้กล่องจะยกขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้นำลมเย็นเข้าไประบายอากาศภายในได้ดียิ่งขึ้น

ด้านใต้จะมีจุกยางกันลื่นติดมาให้ 4 มุม พร้อมกับช่องนำลมเข้าระบายความร้อนทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสตลอดแนวด้านใต้ให้นำอากาศเย็นเข้าไปได้มากขึ้น สังเกตตรงช่องน็อตจะเห็นว่าตัวเป็นแบบช่องลึกให้แขวนเราเตอร์ติดกำแพงได้เผื่อว่าในพื้นที่นั้นไม่สามารถวางกล่องตามปกติก็ใช้วิธีนี้แทนได้

พอร์ตของ TP-Link Archer BE400 จะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ฝั่งขวาเมื่อหันหน้าเขากล่องจะเป็นช่อง USB-A 3.0 ส่วนด้านหลังมีปุ่ม WPS, ปุ่ม LED/Wi-Fi ซ้อนอยู่กับช่อง Reset ตามด้วยพอร์ต Internet (WAN) สีฟ้าไว้ต่อกับเราเตอร์ของผู้ให้บริการโดยตรง แยกจากพอร์ต LAN1~4 ให้ผู้ใช้นำไปต่ออุปกรณ์อื่นได้ ปิดท้ายด้วยช่อง Power และปุ่ม On/Off
ปกติแล้วพอร์ต LAN ของเราเตอร์ทั่วไปเวลาต่อกับของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมักจะต้องใช้ช่อง LAN1 เป็นค่ามาตรฐาน จึงเหลือช่องใช้งานได้เพียง 3 ช่องเท่านั้น แต่การแยกช่อง WAN เป็นช่องเฉพาะทำให้มีพอร์ตเพิ่มเอาไว้ต่ออุปกรณ์อื่นได้อีก 1 ชิ้น โดยเฉพาะช่อง LAN1 จะมีความเร็วสูงถึง 2.5 Gbps ไม่แชร์กับ LAN2~4 ซึ่งแชร์ความเร็ว 1 Gbps ร่วมกัน ดังนั้นถ้ามีอุปกรณ์หรือพีซีเครื่องไหนต้องการความเร็วสูงเป็นพิเศษก็ให้ต่อเข้าช่องแรกสุดได้โดยตรง
Performance

ความเร็วการรับส่งข้อมูลของ TP-Link Archer BE400 ถือว่าน่าประทับใจ จากการทดสอบกับแพ็คเกจ 500/500 Mbps ของ AIS Fiber ผ่านพอร์ต LAN1 ด้วยสาย CAT 6E เข้ากับพีซีแล้วทดลองกับเว็บไซต์ Speedtest by Ookla ก็สามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วมาก มีความเร็ว Download สูงถึง 846.75 Mbps กับ Upload ได้ 842.71 Mbps นับว่ารับส่งข้อมูลได้รวดเร็วมากพอให้เล่นเกม, ดูสตรีมมิ่งความละเอียดสูงและใช้งานอื่นๆ ได้สบายมาก
ทดสอบบริเวณชั้น 1 ในบ้าน ทดสอบบริเวณชั้น 2 ในบ้าน
ยิ่งถ้าสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ตหรือโน๊ตบุ๊ครองรับ Wi-Fi 6E ขึ้นไปจะยิ่งดี ในการทดสอบกับอุปกรณ์พกพาจะทดสอบกับสมาร์ทโฟน Samsung Galaxy S24 Ultra ตามสเปกแล้วเสาสัญญาณภายในรองรับ Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be สามารถจับคลื่น Wi-Fi 6 GHz ได้ จากการเชื่อมต่อกับ TP-Link Archer BE400 โดยตั้งตัวกระจายสัญญาณไว้บนชั้น 2 แล้วทดสอบความเร็วกับเว็บไซต์ Speedtest by Ookla จะได้ความเร็วดังนี้
- ชั้น 1 ของบ้าน มีความเร็ว Download 190 Mbps และ Upload 134 Mbps ค่า Ping 10 มิลลิวินาที
- ชั้น 2 ของบ้าน มีความเร็ว Download 859 Mbps และ Upload 875 Mbps ค่า Ping 8 มิลลิวินาที
แม้จะไม่ได้ระบุข้อมูลไว้ว่า Archer BE400 สามารถกระจายสัญญาณได้กว้างเท่าไหร่ แต่เวลาทดสอบกับแอปฯ Speedtest บริเวณชั้น 1 ของบ้านขนาดราว 110 ตารางวา ยืนห่างจากจุดกระจายสัญญาณพอควรก็ยังได้ความเร็วไล่เลี่ยกับผลทดสอบอยู่ในระดับ ±10 Mbps เท่านั้น ดังนั้นถ้าจะเอาเราเตอร์นี้ไปต่อใช้งานในบ้านส่วนตัวหรือสำนักงานก็กระจายสัญญาณได้ทั่วถึงแน่นอน หรืออาจต่อเราเตอร์ TP-Link ตัวอื่นเพิ่มเป็นโครงข่าย OneMesh ก็ได้เช่นกัน

พอมีความเร็วสูงมากแล้วจะใช้ทำอะไรก็สะดวกทั้งนั้น จากการทดสอบดูคลิปบน YouTube ความละเอียด 8K (7680*4320) มาเปิดดูบนหน้าจอความละเอียด 2K (2560*1440) แล้วเช็คผ่าน Stats for nerds ในคลิป จะเห็นว่าเบราเซอร์สามารถเล่นคลิปได้ต่อเนื่องไม่มีปัญหาคลิปหน่วงหรือหมุนแม้แต่นิดเดียว สังเกตจากกราฟ Connection Speed จะเดินเรียบเสมอกันรวมถึง Network Activity ก็มีการโหลดข้อมูลเป็นระยะๆ ให้ Buffer Health ขึ้นต่อเนื่องและโหลดข้อมูลล่วงหน้าให้ดูคลิปได้ต่อเนื่องไม่มีปัญหากวนใจแม้แต่น้อย ถ้าเอาไปดู Live Streaming ก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน

นอกจากประสิทธิภาพแล้ว การตั้งค่าและใช้งานก็ทำได้ง่ายด้วยแอปฯ Tether ภายในสมาร์ทโฟนเพียงตัวเดียวเท่านั้น เริ่มต้นตั้งแต่เริ่มใช้งานได้ง่ายอธิบายให้ทำทีละขั้นตอนได้ชัดเจน ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก็เซ็ตอัพให้พร้อมใช้งานได้ในเวลาไม่นานและยังรวมการตั้งค่าทั้งหมดเอาไว้ในตัว
ในหน้าแรกหลังตั้งค่าเสร็จ ตัวแอปฯ จะให้เลือกเราเตอร์ TP-Link ตัวที่ต้องการเข้าไปตั้งค่าได้ เริ่มต้นจะเป็นหน้ารวมข้อมูลสำคัญเอาไว้ให้เปิดดูได้ง่ายทั้งความเร็ว Download / Upload, Network Status, Clients สำหรับตรวจสอบว่ามีอุปกรณ์ไหนเชื่อมต่อ Archer BE400 อยู่บ้างและยังดู Traffic Usage กับ Reports ได้ว่าตัวกล่องยังทำงานได้ปกติดี
แท็บอื่นจะมี Security ไว้ตรวจสอบความปลอดภัยเวลาเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต, Family ไว้เซ็ตอัพระบบ Parental Controls และ More ซึ่งรวมการตั้งค่าสำคัญเอาไว้ ได้แก่ QoS, IoT Network ไว้ใช้งานกับอุปกรณ์ IoT ภายในบ้าน, เชื่อมเราเตอร์ TP-Link ตัวอื่นเป็น Mesh network ใน EasyMesh ได้ ฯลฯ แถมตั้ง Block List กันอุปกรณ์ชิ้นที่ไม่ต้องการให้ใช้งานออกไปได้ ทั้งหมดนี้ทำภายในแอปฯ มือถือได้โดยตรง หรือจะเปิดผ่านทางเว็บแอปฯ ตามปกติก็ได้เช่นกัน
User Experience

ขึ้นชื่อว่าเป็น TP-Link Archer BE400 ผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตเราเตอร์ชั้นนำของโลกแล้วก็ไม่ผิดหวัง ไม่ว่าจะตั้งค่าเริ่มใช้งานได้ง่ายผ่านแอปฯ Tether เพียงไม่กี่นาทีก็พร้อมใช้แถมยังตั้งค่าได้ง่าย หลังจากได้ใช้แทนเราเตอร์แถมจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมาร่วมสัปดาห์นอกจากกระจายเครือข่ายสัญญาณได้กว้างครอบคลุมบ้านขนาดราว 110 ตารางวาได้ทั่วถึงทั้ง 2 ชั้น แถมสัญญาณก็เสถียรต่อเนื่องมาก ตอนใช้งานจริงไม่ว่าจะเชื่อมต่อด้วยสาย LAN เข้ากับเราเตอร์เพื่อเล่นเกมก็ทำงานได้ดีมาก สามารถเล่นเกมได้รวดเร็วมีค่า Latency กับ Ping ต่ำมาก แม้ไม่ได้เป็น Gaming Router พร้อมฟีเจอร์เอื้อการเล่นเกมก็ทำงานได้เป็นอย่างดี รวมถึงด้านความบันเทิงเปิดดูคลิปวิดีโอความละเอียดสูงระดับ 8K ก็ไม่มีอาการหน่วงให้เห็นสักนิดเดียว
อาณัติสัญญาณของ Archer BE400 จัดว่าน่าประทับใจไม่แพ้กัน เวลาใช้งานไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของบ้านสัญญาณ สัญญาณ Wi-Fi ก็เร็วตลอดเวลา ไม่เจออาการรอโหลดหน้าเว็บหรือคลิปมากวนใจ นับว่าเสาสัญญาณทั้ง 6 ต้นของเราเตอร์ตัวนี้ปล่อยคลื่นสัญญาณได้แรงมากพอจะครอบคลุมพื้นที่บ้าน, Home Office หรือสำนักงานขนาดกลางได้แน่นอน หรือถ้าเป็นอาคารหลายชั้นแล้วพบว่าสัญญาณในพื้นที่ใดเริ่มอ่อนก็เอาเราเตอร์ TP-Link ตัวอื่นมาพ่วงเพิ่มทำเป็นระบบ OneMesh ขยายขอบเขตสัญญาณให้กว้างขึ้นไปได้อีกตามต้องการและทำในแอปฯ Tether ตัวเดียวจบได้เลย

เรื่องพอร์ตของ TP-Link Archer BE400 ทั้งแยกช่อง WAN Internet ออกมาไว้ต่อเราเตอร์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ ไม่ต้องต่อผ่าน LAN1 ให้เสียช่องความเร็วสูงไป จึงเอาอุปกรณ์อื่นมาต่อเพิ่มหรือจะพ่วง Mesh network ผ่านสาย LAN ก็ยังได้ ไม่พอยังได้ USB-A 3.0 ติดมาอีกช่องสำหรับ Personal Cloud หรือ NAS Storage ด้วย สำหรับคนทำงานถือว่ามีประโยชน์มาก เวลาไปทำงานนอกออฟฟิศแล้วอยากแบ็คอัพหรือดึงงานมาใช้ก็ทำได้รวดเร็วขึ้นมาก
ข้อสังเกตของ Archer BE400 อย่างเป็น Dual-band มีแค่คลื่น 2.4 กับ 5 GHz ไม่มีคลื่น 6 GHz แบบ Wi-Fi 7 Router ก็จริง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการใช้งานนักและความเร็วของทั้งสองคลื่นก็สูงพอให้ใช้งานในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี แต่ฟีเจอร์ที่อยากเสนอให้ TP-Link เพิ่มเข้ามาในเราเตอร์มีพอร์ต USB-A อย่างนี้ อยากให้มีฟีเจอร์เอาสมาร์ทโฟนต่อแล้วใช้เน็ตมือถือทำงานแก้ขัดเวลาเครือข่ายมีปัญหาได้ เวลามีประชุมหรืองานสำคัญจะได้ทำงานต่อได้ไม่ต้องรอช่างเข้ามาแก้ไขให้เสียเวลา
Conclusion

TP-Link Archer BE400 เป็นเราเตอร์ Wi-Fi 7 สำหรับเปลี่ยนจากเราเตอร์เก่าให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและราคาก็สมเหตุผลเพียง 4,990 บาท ไม่แพงเกินเอื้อมหรือถูกจนฟีเจอร์มีติดมาน้อยไม่พอใช้ ถ้าใครใช้เราเตอร์เก่าตั้งแต่ยุค Wi-Fi 5 หรือเก่ากว่านั้นและยังใช้เราเตอร์จากผู้ให้บริการเครือข่ายอยู่ยิ่งควรเปลี่ยน จะได้ตัดปัญหาจุกจิกอย่างสัญญาณไม่กว้างพอไม่ครอบคลุมพื้นที่บ้านและสำนักงานได้ ด้านฟีเจอร์ก็มีให้ใช้ครบครันแถมง่ายเพียงเปิดแอปฯ Tether ขึ้นมาจะมอนิเตอร์การใช้งาน, ตั้งควบคุมการใช้งานของลูกหลานในบ้านหรือจะเปิด VPN ทำอะไรก็ง่ายไปหมด เป็นเราเตอร์ประสิทธิภาพสูงแต่ใช้งานง่ายไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก็สบายมาก
Gallery
