Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Lenovo

รีวิว Lenovo LOQ 16APH8 ไมเนอร์เชนจ์รับปี 2024 สอดไส้ของดีมาเต็มตัว!

Lenovo LOQ 16APH8 ลูกเล่นเยอะ สเปคแรง ฟีเจอร์ครบเครื่อง เกมเมอร์ถูกใจแน่นอน!

ReviewLenovoLOQ

เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในระดับราคา 40,000~60,000 บาท ก็ยังได้รับความสนใจจากเกมเมอร์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะฟีเจอร์ครบเครื่องและสเปคต่อราคากำลังดี อย่าง Lenovo LOQ 16APH8 หัวหอกจาก Lenovo ตัวแทน Legion Series ที่จัดสเปค AMD Ryzen 7000 Series จับคู่กับจีพียู NVIDIA GeForce RTX 40 Series มาให้ใช้ เพิ่ม M.2 NVMe SSD ได้มากสุด 2 ช่องพร้อมกัน แถมเป็นอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 ทั้งหมด ส่วน RAM ก็รองรับมากถึง 32GB DDR5 เจ้า Lenovo LOQ รุ่นใหม่นี้จึงทรงพลังพอเล่นเกมฟอร์มยักษ์บนหน้าจอ 1080~1440p ได้สบายๆ

ลูกเล่นใหม่ของ LOQ 16APH8 ยกจาก Lenovo Legion Series มาใช้ คือชิป Lenovo LA1 AI Chip ผสานกับฟีเจอร์ Lenovo AI Engine+ สำหรับปรับแต่งประสิทธิภาพ มีหน้าที่ Optimize ตัวเครื่องโดยอัตโนมัติ ซึ่งมันผสานงานกับเซนเซอร์อุณหภูมิทั้งเครื่องช่วยปรับโหมดการทำงานโดยอัตโนมัติลดอาการ Throttle down และเร่งประสิทธิภาพขึ้นในยามจำเป็นโดยอัตโนมัติ มี MUX Switch ไว้ตัดต่อการทำงานระหว่าง iGPU กับจีพียูแยกโดยอัตโนมัติให้เรียกใช้จีพียูได้อย่างชาญฉลาด

Advertisement
Lenovo LOQ 16APH8

เมื่อเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คคีย์บอร์ดต้องดี Lenovo LOQ 16APH8 นอกจากปรับแต่งไฟได้ 4-Zone RGB แล้วยังรองรับ 100% Anti-Ghosting จะกดหลายปุ่มพร้อมกันก็ตอบสนองหมดไม่มีตกหล่น ติดพอร์ต USB-C 3.2 Full Function เพียงต่อสายเข้าจอที่มีพอร์ตนี้แล้วจ่ายกระแส 90 วัตต์ ก็แสดงภาพขึ้นจอพร้อมชาร์จไฟไปในตัว ช่วยให้สายไฟบนโต๊ะคอมไม่รกรุงรังแถมยังมีพอร์ต HDMI 2.1 ไว้ต่อจอความละเอียด 8K 60Hz ได้ ใครคิดจะต่อจอเกมมิ่ง 4K ก็เอาอยู่แน่นอน

NBS Verdicts

DSC09897 Medium

Lenovo LOQ 16APH8 นับเป็นรุ่นไมเนอร์เชนจ์จาก LOQ 15APH8 แม้จะยืนพื้นด้วยสเปคคล้ายเดิมทั้งใช้ AMD Ryzen 7000 Series กับจีพียู NVIDIA GeForce RTX 40 Series แต่ก็ปรับแต่ง BIOS ให้รองรับ RAM เพิ่มจาก 16GB เป็น 32GB DDR5 มากพอรองรับโปรแกรมใช้งานในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ขยายขนาดหน้าจอให้กว้างขึ้นเป็น 16 นิ้ว ความละเอียด WUXGA (1920*1200) พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144Hz มีฟีเจอร์ป้องกันภาพฉีกขาดทั้ง NVIDIA G-SYNC และ AMD FreeSync รองรับ NVIDIA Advanced Optimus กับ MUX Switch ช่วยจัดสรรงานและเลือกใช้จีพียูได้อย่างเหมาะสมว่าจะใช้ iGPU หรือ dGPU ก็เลือกใช้งานได้ตามชอบ แถมติดตั้งชิป Lenovo LA1 AI Chip พร้อมฟีเจอร์ Lenovo AI Engine+ มาให้ ช่วยปรับแต่งดึงประสิทธิภาพตัวเครื่องให้สูงสุดโดยอัตโนมัติ

นอกจากความแรงยังใช้งานสะดวกเพราะ Lenovo LOQ 16APH8 ติดตั้งพอร์ต USB-C 3.2 Full Function ต่อสาย USB-C DisplayPort เข้าจอคอม USB-C เส้นเดียวก็พร้อมใช้งานทันทีทั้งแสดงภาพขึ้นจอ, โอนไฟล์แล้วชาร์จไฟด้วยกำลังชาร์จ 90 วัตต์ไปในเวลาเดียวกัน ถ้าใครมีจอคอมแบบ Port Hub เรียกว่าได้ประโยชน์เต็มๆ แถมต่อหน้าจอแยกอันที่ 2 ด้วยสาย HDMI ได้เลย และไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ดเป็น 4-Zone RGB ปรับแต่งสีสันใน Lenovo Vantage มีฟีเจอร์ 100% Anti-Ghosting ถูกใจเกมเมอร์อย่างแน่นอน

ข้อสังเกตซึ่งคาดหวังว่าทาง Lenovo จะอัพเกรดให้ LOQ โมเดลถัดไปน่าใช้ยิ่งขึ้น ก็หวังว่าจะใส่พาเนลหน้าจอขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB มาให้ตั้งแต่จอความละเอียด Full HD เลย ไม่ต้องไปเลือกปรับสเปคเป็นจอ QHD เวลาทำงานครีเอเตอร์ก็แต่งสีบนหน้าจอของโน๊ตบุ๊คทันที ไม่ต้องพึ่งหน้าจอแยกและถ้าปรับแต่ง BIOS ให้รองรับมากขึ้นเป็น RAM 64GB DDR5 ยิ่งดี เพราะผู้ใช้กลุ่มโปรแกรมเมอร์และปั้นโมเดล 3D จะหันมาให้ความสนใจด้วย

ข้อดีของ Lenovo LOQ 16APH8

  1. สเปคตั้งต้นแรงจากโรงงานทรงพลัง จับคู่ AMD Ryzen 7 7840HS กับ GeForce RTX 4060 มาให้ใช้
  2. หน้าจอรองรับฟีเจอร์ป้องกันภาพฉีกขาดทั้ง AMD FreeSync และ NVIDIA G-SYNC
  3. ติดตั้ง Lenovo LA1 AI Chip มาให้ ช่วยปรับแต่งโหมดการทำงานโดยอัตโนมัติ
  4. มีพอร์ต USB-C 3.2 Full Function ติดตั้งมาให้ ใช้ต่อหน้าจอแยกและชาร์จแบตเตอรี่ได้ในตัว
  5. ต่อหน้าจอแยกได้ 2 จอ ด้วยพอร์ต USB-C กับ HDMI เพิ่มพื้นที่ Desktop ให้มากขึ้น
  6. เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax ได้รวดเร็วและเสถียร
  7. คีย์บอร์ดเป็น 4-Zone RGB ปรับแต่งสีสันและเซฟโปรไฟล์เก็บเอาไว้ใช้ได้
  8. คีย์บอร์ดรองรับ 100% Anti-Ghosting ช่วยให้กดได้หลายปุ่มพร้อมกันไม่เกิดปัญหาคำสั่งหาย
  9. ติดตั้ง MUX Switch มาให้ตัดต่อการใช้งานจีพียูโดยอัตโนมัติ ตั้งค่าได้ใน Lenovo Vantage
  10. เซ็ต Macro Key ไว้ใช้ตอนทำงานหรือเล่นเกมได้ ช่วยลดความยุ่งยากตอนกดปุ่มลง
  11. ชุดระบายความร้อนทำงานได้ดีมาก ภายในเครื่องเย็นและไม่เกิดอาการ Throttle Down เลย
  12. หน้าจอมีโหมดปรับค่า Refresh Rate แบบ Dynamic เปลี่ยนได้ตามคอนเทนต์บนหน้าจอ

ข้อสังเกตของ Lenovo LOQ 16APH8

  1. ยังอัพเกรด RAM ได้มากสุดเพียง 32GB DDR5 ควรอัพเกรดได้ 64GB ได้แล้ว
  2. ขอบเขตสีหน้าจออยู่ในระดับใช้งานทั่วไป ไม่กว้างระดับ 100% sRGB
  3. แกะเปิดฝาใต้เครื่องได้ค่อนข้างยากเพราะใต้กรอบช่องระบายความร้อนมีน็อตซ่อนอยู่ 3 ดอก

รีวิว Lenovo LOQ 16APH8

Specification

Screenshot 2024 01 16 161821

Lenovo LOQ 16APH8 เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นน่าใช้ในงบประมาณ 50,000 บาท ทั้งสเปคก็ทรงพลังพอใช้เล่นเกมได้ลื่นไหลและติดตั้งชิป Lenovo LA1 มาช่วยปรับแต่งให้ทำงานได้ดีเสมอและยังมีลูกเล่นต่างๆ เสริมเข้ามาให้แพรวพราวมาก ซึ่งสเปคมีรายละเอียดดังนี้

สเปคของ
Lenovo LOQ 16APH8
รายละเอียด
CPUAMD Ryzen 7 7840HS แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.8~5.1GHz
GPUNVIDIA GeForce RTX 4060 แรม 8GB GDDR6 ค่า TGP 115 วัตต์
SSDM.2 NVMe SSD ความจุ 512GB

มีช่องอัพเกรด SSD รวม 2 ช่อง อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ทั้งคู่
RAM16GB DDR5 บัส 5600MHz

มีช่องอัพเกรด RAM SO-DIMM รวม 2 ช่อง
รองรับความจุสูงสุด 32GB DDR5
SoftwareWindows 11 Home
Display16 นิ้ว ความละเอียด WUXGA (1920*1200) พาเนล IPS
ค่า Refresh Rate 144Hz รองรับ NVIDIA G-SYNC และ AMD FreeSync
ConnectivityUSB 2.0*1

USB-A 3.2*2

USB-C 3.2 Full Function*1

HDMI 2.1*1 รองรับความละเอียด 8K 60Hz

LAN*1

Audio combo*1

Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax

Bluetooth 5.1
Weight2.6 กก.
Price45,990 บาท

Hardware & Design

DSC09861 Medium

ดีไซน์ของ Lenovo LOQ 16APH8 นับว่าไม่ต่างจากรุ่นก่อนนัก เมื่อมองหน้าตรงจะยังใช้บอดี้ Lenovo LOQ เช่นเดิม ติดตั้งปุ่ม Power ตรงกลางเครื่องเหนือแป้นคีย์บอร์ดมาให้ ถัดไปด้านข้างมีขาฐานบานพับหน้าจอคู่ยื่นขึ้นมายึดบานหน้าจอไว้ ส่วนขอบบนหน้าจอหากมองมุมเฉียงจะเห็นว่าตรงกลางกรอบหน้าจอถูกทำเป็นมุมตัดเฉียงให้ใช้นิ้วเกี่ยวกางหน้าจอได้ง่าย มุมขวาล่างติดเพลตแบรนด์ Lenovo กับสติกเกอร์ของ AMD และ NVIDIA ไว้ แต่ไม่มีสติกเกอร์บอกคีย์ลัดปรับโหมดตัวเครื่องแล้ว แต่ก็ยังกด Fn+Q เปลี่ยนโหมดได้เหมือนกัน จากการทดสอบใช้งานจริงแนะนำให้ตั้งไว้โหมด Auto แล้วปล่อยให้ชิป Lenovo LA1 จัดการทำงานโดยอัตโนมัติเลยก็ได้

ก้านบานพับหน้าจอสามารถกางได้ราว 120~140 องศา จึงปรับองศาหน้าจอให้เข้ากับมุมสายตาได้ง่าย ไม่ว่าจะวางบนโต๊ะทำงานหรือแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็มองได้สะดวก แม้จะกางได้ไม่ถึง 180 องศาเหมือน Legion Series แต่ก็มากพอใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว จะหยิบไปนั่งทำงานตามร้านกาแฟหรือเข้าประชุมก็สะดวกไม่แพ้กัน

DSC09890 Medium

ถัดมาด้านหลังหน้าจอยังคงความเรียบง่าย มีเพียงโลโก้ Lenovo ตรงมุมล่างขวาตรงข้ามกับ LOQ ตรงมุมบนซ้ายเท่านั้น ไม่มีลวดลายเกมมิ่งใดๆ ติดเข้ามาตรงกลางฝาหลัง ทำให้ LOQ ดูเรียบง่ายไม่สะดุดตานัก ถัดลงมาจะเห็นเส้นสีฟ้าติดอยู่หน้าช่องระบายความร้อนทั้งสองฝั่งเท่านั้นเพื่อสื่อความเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค ซึ่งถ้าไม่สังเกตก็ไม่ต่างกับโน๊ตบุ๊คใช้งานทั่วไปแต่ตัวเครื่องหนาขึ้นนิดหน่อย ดังนั้นจึงหยิบมันออกมาใช้งานได้โดยไม่สะดุดตาเกินไปแน่นอน

DSC09853 Medium

ด้านใต้จะเห็นว่า Lenovo LOQ 16APH8 จะแบ่งบอดี้ออกเป็น 2 ส่วน คือกรอบช่องระบายความร้อนส่วนบนซึ่งยึดเอาไว้ด้วยน็อต 2 ตัว คั่นด้วยแถบยางยกตัวเครื่องกับช่องลมเข้าขนาดใหญ่ไว้ช่วยระบายความร้อนให้ชิปเซ็ตของ AMD และ NVIDIA ยึดเอาไว้ด้วยน็อตหัวแฉก Philips Head อีก 8 ตัว แต่น็อตขอบล่างทั้ง 4 ตัวจะเป็นก้านสั้น จึงขอแนะนำให้ใส่ถาดแยกกลุ่มเอาไว้จะได้ขันกลับได้ถูกต้อง

เวลาเปิดฝาอัพเกรด Lenovo LOQ 16APH8 ห้ามฝืนดึงฝาล่างออกทันที เพราะก้านยึดด้านใต้จะหักได้ วิธีแกะให้ขันน็อตออกแล้วเอาการ์ดแข็งหรือปิ๊กกีตาร์กดเข้าช่องเหนือขอบยางเพื่อปลดสลักล็อคแล้วดันกรอบช่องระบายความร้อนออกแล้วปลดน็อตยาวด้านในอีก 3 ตัว ถึงจะแกะเปิดฝาใต้เครื่องได้อย่างปลอดภัย

Screen & Speaker

DSC09863 Medium

หน้าจอขนาด 16 นิ้ว ความละเอียด WUXGA (1920*1200) พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144Hz มีกรอบข้างหน้าจอด้านข้างบางเพื่อเพิ่มพื้นที่แสดงผล ขอบบนล่างจะหนาเล็กน้อยเพื่อติดตั้งชุดพาเนลกับกล้อง Webcam 1080p และไมโครโฟนเอาไว้ใช้ประชุมออนไลน์หรือไลฟ์สตรีมได้ ขาฐานบานพับหน้าจอเป็นแบบขาเตี้ยก้านสั้นอยู่ริมเครื่อง 2 ฝั่ง กางหน้าจอได้ง่ายด้วยนิ้วชี้เพียงนิ้วเดียว แถมงานประกอบก็ แข็งแรงเทียบชั้นรุ่นเรือธงได้แน่นอน ตอนกางจอสามารถดึงเปิดขึ้นมาได้โดยตัวเครื่องไม่กระดกแถมบานหน้าจอก็ไม่กระพือแม้แต่น้อยนับว่าน่าประทับใจเช่นเดิม

display

พาเนล IPS ของ Lenovo LOQ 16APH8 สามารถแสดงภาพได้กว้าง 178 องศาโดยสีไม่เพี้ยนไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็ตาม เมื่อวัดด้วยเครื่อง Colorchecker ของ Calibrite ร่วมกับโปรแกรม DisplayCal 3 แล้ว พาเนลจากบริษัท BOE ของ LOQ 16APH8 เมื่อปรับความสว่าง 100% วัดได้ 361.75 cd/m2 ค่า Gamut coverage ซึ่งเป็นค่าขอบเขตสีจริงของหน้าจอได้แสดงสีได้ 60.8% sRGB, 42.1% Adobe RGB, 43.3% DCI-P3 ส่วน Gamut volume หรือขอบเขตสีองค์รวมได้ 61.1% sRGB, 42.1% Adobe RGB, 43.3% DCI-P3 ค่าความเที่ยงตรงสี Delta-E เฉลี่ย 0.12~1.05 กล่าวคือได้ขอบเขตสีไม่กว้างพอใช้ทำงานครีเอเตอร์ก็จริงแต่แสดงสีได้แม่นยำไม่เพี้ยนแน่นอน

โดยสรุปถือว่าจอของ LOQ 16APH8 นั้นเป็นพาเนล IPS เกรดสำหรับใช้เล่นเกมเป็นหลัก อาจจะแต่งภาพขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือตัดต่อคลิปสั้นได้บ้าง แต่ถ้าใช้ทำงานจริงแนะนำให้ต่อหน้าจอแยกขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB เพิ่มให้แสดงขอบเขตสีได้กว้างแม่นยำยิ่งขึ้นจะดีสุด ซึ่งปัจจุบันจอเหล่านี้ก็หาซื้อได้ง่ายขึ้นมากตามร้านคอมพิวเตอร์ชั้นนำทั่วไป

ส่วนลำโพงคู่กำลังขับข้างละ 2 วัตต์ ของ Lenovo LOQ 16APH8 ได้ Nahimic Audio ช่วยปรับจูนเสียงให้ เนื้อเสียงเวลาใช้เล่นเกมสามารถแยกแชนแนลเสียงได้ดีรู้ทิศทางของคู่ต่อสู้ได้อย่างแม่นยำ ตอนปรับเสียงดัง 100% พอวัดด้วยเครื่องวัดเสียงจะดังราว 70-80dB ด้านเนื้อเสียงตอนฟังเพลงถือว่าใช้ฟังได้ทุกแนวในปัจจุบัน เก็บรายละเอียดเครื่องดนตรีได้ค่อนข้างครบโดยไม่กลบเสียงของนักร้องนำไป สเตจเสียงกว้างปานกลางมีเสียงเบสชัดเจนแต่แรงปะทะไม่หนักหน่วงนัก ดังนั้นตอนฟังเพลงเบสนักแนะนำให้ต่อลำโพงแยกเพิ่มจะได้อรรถรสกว่า

Keyboard & Touchpad

DSC09871 Medium

คีย์บอร์ด Full size ของ Lenovo LOQ 16APH8 ยกดีไซน์จากเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค Lenovo รุ่นก่อนๆ มาใช้โดยไม่มีการปรับแต่งเพิ่มเติมแม้แต่น้อย แต่เสริมฟีเจอร์ต่างๆ เข้าไปแทน ซึ่งโมเดลปีนี้จะได้ฟีเจอร์ 100% Anti-Ghosting เสริมเข้ามาทำให้กดได้หลายปุ่มพร้อมกันโดยไม่เกิดอาการกดแล้วไม่ทำงานหรือคำสั่งขาดหาย จึงใช้เล่นเกมได้สบายๆ ตัวปุ่มตอบสนองได้รวดเร็วและไม่ยวบแม้แต่น้อย

ปุ่มฟังก์ชั่นของ Lenovo LOQ 16APH8 จะเป็น Multimedia Key 4 ปุ่มเหนือชุด Numpad ไว้กดเล่น/หยุด, ปิด และข้ามแทร็คเพลงหรือภาพยนตร์ได้ มี Function Key จำเป็นใช้ติดมาให้ครบทั้ง Insert, Print Screen พร้อมคำสั่ง Snipping Tool รวมถึง Delete ด้วย แถมปุ่มชุดหลักก็มีขนาด 1U ตามมาตรฐานไม่ได้ตัดย่อขนาดลงยกเว้นปุ่ม Grave Accent (~) จะมีขนาดเล็กครึ่งเดียวของปุ่มอื่น ข้อดีของคีย์บอร์ด Lenovo คือทางบริษัทไม่พยายามรวบปุ่มลูกศรเข้ามาเป็นส่วนเดียวกับชุดปุ่มหลักให้เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่เลื่อนมันลงมาเล็กน้อยแยกจากชุดปุ่มหลักให้กดใช้งานได้ง่ายเหมือนคีย์บอร์ดทั่วไป จึงใช้เวลาปรับตัวเข้ากับคีย์บอร์ดชุดนี้น้อยมากจนแทบจะจับใช้งานได้ตั้งแต่เริ่มด้วยซ้ำ

DSC09879 Medium

จุดที่ต่างจาก LOQ 15APH8 เมื่อกลางปี คือ Lenovo LOQ 16APH8 เปลี่ยนจากคีย์บอร์ด RGB สีเดียวเปลี่ยนได้หลายสีเป็น 4-Zone RGB แล้วปรับเอฟเฟคแสงได้โดยกด Fn+Spacebar และยังเลือกสีในโซนต่างๆ ในโปรแกรม Lenovo Vantage ได้แถมเซฟโปรไฟล์สีกับเอฟเฟคได้ตามต้องการ ให้เกมเมอร์เลือกผสมสีและเอฟเฟคแสงได้ตามใจชอบ

DSC09880 Medium

Function Hotkey ตรงปุ่ม F1~F12 ยังเหมือนกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คของ Lenovo ทุกก่อน ไม่ได้ปรับแต่งหรือเปลี่ยนคำสั่งใดๆ เพิ่มเลย ส่วนตัวคาดหวังว่าทางบริษัทจะเพิ่มฟังก์ชั่นเพื่อเกมเมอร์อย่างปุ่ม Windows Lock หรือเปิดเป้าเล็ง Crosshair เข้ามาสักหน่อยก็น่าจะดี โดยปุ่มทั้งหมดมีดังนี้

  • F1~F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
  • F4 – ปิด/เปิดไมโครโฟน
  • F5~F6 – ลด/เพิ่มความสว่างหน้าจอ
  • F7 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและจอเสริม
  • F8 – Airplane Mode
  • F9 – Lenovo Smart Key ใช้เรียกคำสั่งที่ต้องการได้ ถ้ากด 2 ครั้งจะเปิด Lenovo Vantage
  • F10 – ล็อคการทำงานทัชแพด
  • F11 – ปุ่มลัดเรียก Windows Aero Mode ทำงานเหมือนกด Windows+Tab
  • F12 – เรียกโปรแกรมเครื่องคิดเลข
  • Print Screen – กดร่วมกับปุ่ม Fn จะเปิดโปรแกรม Snipping Tool ขึ้นมาใช้งาน

ทัชแพดของ LOQ 16APH8 นอกจากจะมีขนาดใหญ่แล้วรองรับ Gesture Control ของ Windows 11 Home ครบถ้วน ตอบสนองเร็วและลากเคอร์เซอร์เมาส์จากขอบหน้าจอสู่อีกฝั่งได้สบายๆ แล้วไม่ค่อยมีอาการทัชแพดลั่นเวลาวางมือพิมพ์หรือเล่นเกมเลย และถ้าไม่ต้องการก็สามารถกด Fn+F10 เพื่อล็อคการทำงานแล้วต่อเมาส์เกมมิ่งใช้แทนก็ได้

Connector / Thin & Weight

พอร์ตของ LOQ 16APH8 จะติดตั้งอยู่ 3 ด้านของตัวเครื่องและเน้นด้านหลังเป็นพิเศษ โดยมีพอร์ตให้ใช้งานดังนี้

  • พอร์ตฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ : USB-C 3.2 Full Function, Audio combo
  • พอร์ตฝั่งขวาจากซ้ายมือ : E-Shutter, USB 2.0
  • พอร์ตด้านหลังจากซ้ายมือ : USB-A 3.2*2, LAN, HDMI 2.1, ช่องเสียบปลั๊ก AC
  • การเชื่อมต่อไร้สาย : Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.1

ถ้าสังเกตตำแหน่งการติดตั้งพอร์ตจะเห็นว่าทางบริษัทต้องการเน้นให้เจ้าของเครื่องที่ต้องการต่อหน้าจอแยก USB-C วางเครื่องไว้ฝั่งซ้ายของโน๊ตบุ๊คมากกว่า แล้วจะมีพอร์ต USB 2.0 อยู่ฝั่งขวามือเผื่อต่อเมาส์คีย์บอร์ดไว้ใช้งานได้ด้วย

DSC09828 Medium

น้ำหนักของ Lenovo LOQ อิงจากหน้าข้อมูลแล้วทางบริษัทเคลมเอาไว้ 2.6 กิโลกรัม แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วเฉพาะตัวเครื่องหนักเพียง 2.46 กิโลกรัมเท่านั้น พอรวมอแดปเตอร์กำลังไฟ 170 วัตต์อีก 586 กรัมเข้าไป จะมีน้ำหนักรวม 3.04 กิโลกรัม ดังนั้นเวลาพกติดตัวไปใช้งานแนะนำให้ใส่กระเป๋าสำหรับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คขนาด 17.3 นิ้วจะดีสุด แม้จะพอใส่กระเป๋าเป้ขนาด 15.6 นิ้ว ได้แต่ไม่แนะนำเพราะตัวเครื่องหนาและกินพื้นที่พอควร นอกจากใส่ของได้น้อยลงแล้วขอบโน๊ตบุ๊คยังติดกับแนวซิปเกินไปทำให้รูดปิดได้ยากหรือถ้าเผลอทำกระเป๋าตกเครื่องอาจจะเสียได้

Inside&Upgrade

DSC09856 Medium

การอัพเกรดเพิ่ม M.2 NVMe SSD และ RAM ให้ Lenovo LOQ ตัวนี้ให้เริ่มจากขันน็อค Philips Head ด้านนอกทั้งหมด 10 ตัวออกก่อน แต่ห้ามงัดเปิดฝาในทันทีเพราะจะทำให้ก้านเสริมสำหรับล็อคฝาใต้เครื่องแตกได้ ให้เอาการ์ดแข็งหรือปิ๊กกีตาร์กดตรงช่องระหว่างกรอบช่องระบายความร้อนด้านหลังเครื่องให้สลักหลุดแล้วดึงออกก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจะเห็นน็อตอีก 3 ตัวติดอยู่ริมเครื่องตรงฐานบานพับหน้าจอสีเงินและตรงกลางเครื่องระหว่างพอร์ต USB-A 3.2 และ LAN ให้ขันออกให้หมดจะปลดฝาออกได้ง่ายปลอดภัยที่สุด

DSC09836 Medium

จุดอัพเกรดได้จะมี M.2 NVMe SSD กับ RAM ใต้ฝาครอบอลูมิเนียมอย่างละ 2 ช่อง โดย RAM มีมาให้ 16GB อัพเกรดได้จน 32GB DDR5 ส่วน SSD ทั้ง 2 ช่องเป็นอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ทั้งคู่ ถ้าความจุ 512GB ไม่พอใช้ติดตั้งเกมหรือเซฟงานก็ใส่เพิ่มเข้าไปอีกอันได้ทันที หรือจะอัพเกรดทั้งสองช่องให้มีความจุมากขึ้นเลยก็ได้

สังเกตจะเห็นว่าแบตเตอรี่จะมีขนาดไม่ใหญ่มากและมีพื้นที่ว่างฝั่งซ้ายพอติดตั้ง 2.5″ SATA III SSD เพิ่มได้อีกช่อง แต่ทางบริษัทเว้นว่างเอาไว้ไม่ได้ติดอินเตอร์เฟสเชื่อมต่อมาให้ซึ่งดูน่าเสียดายอยู่บ้าง ถ้ามีรุ่นย่อยปรับสเปคกลางปี แนะนำให้เพิ่มความจุแบตเตอรี่ให้มากขึ้นจนสุดขอบตัวเครื่องจะดีมาก

Performance & Software

Screenshot 2023 12 13 205813

ซีพียู AMD Ryzen 7 7840HS แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.8~5.1GHz ใน Lenovo LOQ 16APH8 เป็นสถาปัตยกรรม AMD Zen 4 “Phoenix” ผลิตโดย TSMC มีขนาดทรานซิสเตอร์เล็กเพียง 4 นาโนเมตรเท่านั้นและรองรับชุดคำสั่งใช้งานครบถ้วน ค่า TDP มาตรฐานจากโรงงานอยู่ที่ 35-45 วัตต์ มีจีพียู AMD Radeon 780M แบบ 12 คอร์ในตัว เอาไว้ใช้งานทั่วไปอย่างทำงานเอกสาร, ดูหนังฟังเพลงหรือเปิดเว็บไซต์ได้

RAM ตั้งต้นจากโรงงานมีความจุ 16GB DDR5 บัส 5600MHz ผลิตโดยบริษัท Samsung ติดตั้งมาแบบ Dual Channel อัพเกรดเพิ่มความจุได้มากสุด 32GB DDR5 ซึ่งความจุตั้งต้นจากโรงงานถือว่ามากพอใช้เล่นเกมได้แล้ว แต่ถ้าทำงานตัดต่อวิดีโอหรือปั้นโมเดล 3D แนะนำให้อัพเกรดเพิ่มไปเลยจะดีสุด

จีพียู NVIDIA GeForce RTX 4060 มีค่า TGP 115 วัตต์ พร้อมแรม 8GB GDDR6 เป็น NVIDIA Max-Q รุ่นที่ 5 ซึ่งมีฟีเจอร์ติดตัวมาเยอะ รองรับ Dynamic Boost, Advanced Optimus ในตัวมี Shaders 3,072 CUDA เอาไว้ช่วยประมวลผลกราฟิคตอนเล่นเกมและทำงาน 3D ได้ดียิ่งขึ้น รองรับชุดคำสั่ง OpenCL, OpenGL 4.6, CUDA, DirectCompute, DirectML, Vulkan, Ray Tracing, PhysX ครบถ้วนพร้อมใช้งาน

devicemgrlenovoloq

ใน Device Manager จะเห็นว่า Lenovo LOQ 16APH8 ติดตั้งชิป Realtek RTL8852BE เชื่อมต่อ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.1 ในตัว มีชิป AMD PSP 11.0 ติดตั้งมาควบคู่กับ TPM 2.0 ช่วยรักษาความปลอดภัยของข้อมูลภายในเครื่องได้ดียิ่งขึ้น

ssd

M.2 NVMe SSD ใน Lenovo LOQ เป็น Micron 2450 ความจุ 512GB อินเตอร์เฟสเป็น PCIe 4.0 เช่นเดียวกับบนบนเมนบอร์ด สามารถเขียนอ่านไฟล์เข้าออกไดรฟ์ได้ 300 TBW ส่วนผลการทดสอบด้วย CrystalDiskMark 8 จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

สเปคและผลการทดสอบSequential Read (MB/s)Sequential Write (MB/s)
สเปคจากโรงงาน3,5003,000
ผลการทดสอบ3,214.853,073.30

นับว่าความเร็วในหน้าสเปคและผลคะแนนจากการทดสอบใกล้เคียงกันและเร็วพอจะโหลดเกมหรือเปิดงานขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว อาจจะไม่ต้องอัพเกรดไดรฟ์ C:\ แต่เพิ่ม SSD เข้าไปในช่องรองให้มีพื้นที่เก็บงานหรือติดตั้งเกมก็ดี ได้อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 ก็ติดตั้ง M.2 NVMe รุ่นใหม่ไว้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพแน่นอน

3dmark

ส่วนการเล่นเกมเมื่อทดสอบด้วยโปรแรกม 3DMark Time Spy แล้ว จะเห็นว่า Lenovo LOQ 16APH8 ทำคะแนนเฉลี่ยได้ 10,908 คะแนน แยกเป็น CPU Score 10,367 คะแนนและ Graphics score 11,010 คะแนน กล่าวง่ายๆ คือ มีประสิทธิภาพสูงพอเล่นเกมฟอร์มใหญ่ปรับกราฟิคสูงสุดได้ทุกเกมบนความละเอียด 1080p และเปิด NVIDIA DLSS เสริมอีกหน่อยก็เล่นเกมบนจอ QHD ได้สบายๆ หรือจะเล่นบนจอ Full HD ของตัวโน๊ตบุ๊คเองก็ได้เฟรมเรทสูงมากแน่นอน

LOQ game test normal

จากกราฟจะเห็นว่า Lenovo LOQ เองก็สามารถเล่นเกมฟอร์มใหญ่ในปัจจุบันบนจอ 1080p ได้สบายๆ สังเกตว่าเฟรมเรทเฉลี่ยแทบทุกเกมจะทำได้เกิน 60 Fps แบบโดยไม่ต้องพึ่งการ Upscalling ใดๆ ไม่ว่าจะ NVIDIA DLSS หรือ AMD FSR ก็ตามที โดยเฉพาะ Cyberpunk 2077 หากเปิดกราฟิคมาตรฐานของเกมถึงจะตั้งเอาไว้ระดับ Ultra ก็ไม่มีปัญหาแถมยังได้เฟรมเรทดีกว่า Red Dead Redemption 2 ซึ่งเฟรมเรทจะลดลงตอนรัน Benchmark แล้วเจอฉากมีหิมะตกหนัก แต่เวลาอยู่ในเมืองเจอแสงและเงาก็ยังเล่นได้สบายๆ

LOQ game test DLSS

ถ้าเปิด NVIDIA DLSS ในแต่ละเกมเสริมเข้ามา จะเห็นว่า NVIDIA GeForce RTX 4060 จะทำเฟรมเรทบนหน้าจอ 1080p ได้ดีขึ้นอย่างชัดเจนและสังเกตว่าเฟรมเรทเฉลี่ยของ DLSS Balanced กับ Quality จะได้เฟรมเรทห่างกันไม่เกิน 5 Fps เท่านั้น หากต่อหน้าจอแยกความละเอียด 1080p ก็เน้นคุณภาพเอาความสวยงามได้เลย แต่ถ้าไปจอ 1440p เมื่อไหร่ก็เปิด Balanced หรือขึ้น Performance ก็ได้

สังเกตเฟรมเรทของ Cyberpunk 2077 จะเห็นว่าเฟรมเรทของ DLSS Balanced กับ Quality จะต่างกันถึง 10 Fps เพราะ Texture ในเกมรวมถึง Path Tracing ซึ่งกินทรัพยากรเครื่องมากพอควร ดังนั้นแนะนำให้เปิดฟีเจอร์ Upscalling เอาไว้ระดับ Balanced เพื่อเน้นเฟรมเรทดีกว่า และไม่จำเป็นต้องเปิด Path Tracing ก็ได้ เพราะตอนเล่นจริงก็แทบไม่ต่างกับ Ray Tracing นักและยังกินพลังของ Lenovo LOQ และ GeForce RTX 4060 โดยไม่จำเป็น แต่กลับกันถ้าเกมเมอร์อยากลองของก็ยังเปิดเล่นได้ระดับหนึ่ง

pcmark10

ถ้าเน้นทำงานมากกว่าเล่นเกมล่ะก็ Lenovo LOQ 16APH8 ก็ไว้ใจพลัง AMD Ryzen 7 7840HS และ NVIDIA GeForce RTX 4060 ได้เลย โดยคะแนนเฉลี่ยจากโปรแกรม PCMark 10 ทำได้ 7,826 คะแนน เทียบกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่ได้ทดสอบมาทั้งหมดก็อยู่ระดับหัวแถว ใช้ทำได้ทุกงานตั้งแต่งานเอกสาร, ประชุมงานออนไลน์, เปิดเว็บไซต์ทำงานหรือใช้เป็นโน๊ตบุ๊คครีเอเตอร์ปั้นงาน 3D แต่งภาพตัดต่อวิดีโอก็ไม่มีปัญหา

ด้านโปรแกรมตระกูล CINEBENCH ซึ่งเอาไว้ทดสอบงาน 3D โดยเฉพาะก็ทำผลงานออกมาได้ดีเช่นกัน โดยแต่ละเวอร์ชั่นจะได้คะแนนดังนี้

  • 2024 – ใช้ทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูกับจีพียูอย่างหนักพร้อมกัน ได้ GPU (Multi Core) 10,536 pts และ CPU (Multi Core) อยู่ที่ 961 pts และ CPU (Single Core) 104 pts
  • R23 – ใช้ทดสอบพลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก มีความละเอียดและแม่นยำสูง ได้คะแนน Multi Core 16,966 pts และ Single Core อีก 1,761 pts
  • R20 – ใช้ทดสอบกำลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก ได้คะแนน CPU 6,657 pts

จากผลคะแนนการันตีว่า Lenovo LOQ 16APH8 ทรงพลังพอใช้ทำงาน 3D ได้แน่นอน ถ้าใครจะเริ่มตัดต่อหนังสั้น 4K, ปั้นโมเดล 3D ต่างๆ ก็ซื้อเอาไว้ใช้ได้ แถมประสิทธิภาพต่อราคาดีมากไม่แพ้โน๊ตบุ๊ครุ่นอื่น ถือว่า Ryzen 7000 Series ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ มาก

ผลการทดสอบ Blender Benchmark ซึ่งใช้ทดสอบการเรนเดอร์โมเดล 3D ด้วย Blender เอง จะทดสอบโดยให้ซีพียูและจีพียูรัน 3 การทดสอบว่าสามารถสร้างโมเดลออกมาได้กี่ Sample ต่อนาที ยิ่งปั้นได้มากก็ยิ่งทำงานเสร็จเร็ว จากการทดสอบจะได้ผลดังนี้

การทดสอบและคะแนนRyzen 7 7840HS
(สร้างได้ ? Sample ต่อนาที)
GeForce RTX 4060
(สร้างได้ ? Sample ต่อนาที)
Monster105.71,689.5
Junkshop72937.6
Classroom57922

ซึ่งผลคะแนนนี้จัดว่าน่าประทับใจ ด้วยการจับคู่ Ryzen 7 7840HS เข้ากับ GeForce RTX 4060 ก็ใช้ปั้นงาน 3D ได้แน่นอน เป็นตัวเลือกสำหรับศิลปินที่กำลังมองหาโน๊ตบุ๊คเครื่องใหม่เอาไว้ใช้กับ Blender โดยเฉพาะก็ลงทุนซื้อ LOQ 16APH8 ไปใช้ได้เลย แต่ถ้าอัพเกรด RAM เป็น 32GB DDR5 จะยิ่งดี

vray cpu

V-Ray Benchmark จะใช้ทดสอบว่าซีพียูกับจีพียูสามารถเรนเดอร์งาน 3D ออกมาได้เร็วหรือไม่ ยิ่งทำ Sample ได้มากยิ่งดี และตัว V-Ray ยังเลือกการทดสอบได้ด้วยว่าจะใช้ Engine เป็น CUDA หรือ RTX ก็ได้ โดยได้คะแนนทดสอบดังนี้

การทดสอบจำนวน vpaths
ที่ Render ได้
Ryzen 7 7840HS w/ Radeon 780M16,658
GeForce RTX 4060 (CUDA)1,856
GeForce RTX 4060 (RTX)2,717
main

ในหน้าโปรแกรม Lenovo Vantage ของ Lenovo LOQ 16APH8 ดูใกล้เคียงกับ Legion Series มาก ทั้งตั้งค่าการใช้งานว่าจะใช้การ์ดจอแยกอย่างเดียวหรือให้ MUX Switch ทำงาน รวมไปถึงสั่ง Overclock จีพียูโดยอัตโนมัติรวมไปถึงเซ็ตคำสั่งมาโครและอัพเดทเฟิร์มแวร์ก็ยังได้ ถือว่าทางบริษัทก็ให้ความสำคัญกับซีรี่ส์ LOQ มากทีเดียว

Battery & Heat & Noise

DSC09847 Medium

แบตเตอรี่ของ LOQ 16APH8 วัดความจุแบบ Typical Capacity ได้ 60Wh (3,887mAh) ส่วน Rated Capacity อยู่ที่ 58.5Wh (3,789mAh) ถือว่าไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในระดับราคาเดียวกันในปัจจุบันและผลิตจากโรงงานของ Lenovo เอง หากพิจารณาจากพื้นที่ว่างฝั่งซ้ายภายในเครื่องจะเพิ่มความจุอีกนิดเป็น 75~80Wh ก็ยังได้ แถมช่วยให้ใช้งานได้นานขึ้นแน่นอน

batt igpu and low power mode

ซึ่งแบตเตอรี่ 60Wh เมื่อทดสอบตามรูปแบบของทางเว็บไซต์โดยตั้งให้โน๊ตบุ๊คอยู่ในโหมดประหยัดพลังงานและใช้จีพียูในตัวซีพียู ลดความสว่างให้เหลือ 50% กับเสียงลำโพง 10% เปิด YouTube ด้วย Microsoft Edge ดูคลิป 30 นาที พบว่า Lenovo LOQ 16APH8 ใช้งานได้นานสุด 3 ชั่วโมง 5 นาที ถ้าปล่อยสแตนด์บายยังพอใช้งานได้เกือบ 4 ชั่วโมง พอใช้ได้จนจบเลคเชอร์หรือประชุมครั้งใหญ่ได้แน่นอน

อุปกรณ์เสริมสำหรับ Lenovo LOQ 16APH8 ขอแนะนำให้หาพาวเวอร์แบงค์และอแดปเตอร์ GaN กำลังชาร์จ 100 วัตต์ พร้อมสายเตรียมใส่กระเป๋าเอาไว้ด้วยจะได้ใช้งานอย่างแน่นอน ช่วยให้ใช้งานได้สบายใจยิ่งขึ้นและถ้า Lenovo เพิ่มขนาดแบตเตอรี่ขึ้นเป็น 75-80Wh ก็จะดีมาก อาจจะเพิ่มระยะเวลาใช้งานไปได้ถึง 5-6 ชั่วโมงได้เลย

DSC09837 Medium

ชุดฮีตไปป์ระบายความร้อนของ Lenovo LOQ 16APH8 เป็นไปป์ 4 เส้นเดินแนวพาดเพลตระบายความร้อนของซีพียูและจีพียูออกไปครีบระบายความร้อนหน้าพัดลมโบลวเวอร์สองข้างได้อย่างรวดเร็ว แม้จะมีฮีตไปป์น้อยกว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่น 1-2 เส้นก็จริง แต่ด้วยการดีไซน์ปรับแต่งฮีตไปป์มาดีพอควรทำให้ตอนใช้งานหนักไม่เกิดอาการ Throttle down เลย ขอแค่ใช้งานในห้องแอร์หรือมีแท่นวางโน๊ตบุ๊คสักอันให้ทางลมเข้าดีๆ สักหน่อยก็เพียงพอแล้ว

temp2

เมื่อทดสอบรัน Benchmark แล้วเช็คอุณหภูมิชิ้นส่วนแต่ละส่วนด้วย CPUID HWMonitor จะเห็นว่า LOQ 16APH8 นั้นได้ชุดระบายความร้อนค่อนข้างดีสมตัวและไม่ร้อนเกินไปจนติดตัวแดงเลย ส่วนอุณหภูมิตามชิ้นส่วนต่างๆ วัดได้ดังนี้

ชิ้นส่วนของเครื่องอุณหภูมิ
(เซลเซียส)
เมนบอร์ด47-98
CPU
(วัดจาก iGPU)
46-77
GPU46-86
SSD43-56

อุณหภูมิในจุดที่น่าจับตา คือ VRAM ของ GeForce RTX 4060 ซึ่งดีดสูงไป 108 องศาเซลเซียส นั่นเพราะหลังรัน Benchmark แล้ว ก็เปิด Cyberpunk 2077 ปรับเปิดกราฟิคสูงสุดรวมถึง Path Tracing ด้วย ซึ่ง Lenovo LOQ ก็ยังใช้ทำงานได้ตามปกติและกว่าอุณหภูมิจะขึ้นไปถึงระดับนี้ก็ต้องใช้เวลาพอควรแถมยังแตะเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้นก่อนจะลดลงมาต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียสตามเดิม ดังนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องอุณหภูมิเลยก็ยังได้ ให้ดีแนะนำหาแท่นวางโน๊ตบุ๊คมาตั้งเครื่องให้ช่องลมสามารถดึงลมเข้าได้สะดวกขึ้นจะดีมาก

User Experience

DSC09896 Medium

เทียบกับโมเดลกลางปีก่อนรหัส 15APH8 แล้ว Lenovo LOQ 16APH8 จะมีข้อแตกต่างกันน้อยมาก ถ้าอ่านหน้าสเปคและการอัพเกรดถึงจะทราบว่าทางบริษัทปรับแต่ง BIOS ให้รับ RAM ได้มากขึ้นเป็น 32GB แล้ว และยังใส่พอร์ต USB-C 3.2 Full Function มาให้เหมือนเดิมแล้วขยายขนาดหน้าจอขึ้นอีกเล็กน้อยจาก 15.6 นิ้วเป็น 16 นิ้ว ปรับแต่งคีย์บอร์ดให้รองรับ 100% Anti-Ghosting, ตั้งค่า Macro ได้และเปลี่ยนไฟเป็น 4-Zone RGB เท่านั้น จึงเรียกว่าเป็นรุ่นไมเนอร์เชนจ์ได้เต็มปาก แต่ก็เก็บงานมาได้สมบูรณ์พอแข่งกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในระดับราคาใกล้กันได้อย่างสวยงามแล้ว

ด้านสเปคและประสิทธิภาพเรียกว่าสมค่าตัวในระดับราคาไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งได้ซีพียูกับจีพียูแรงพอให้ใช้เล่นเกมฟอร์มใหญ่ในปัจจุบันได้หมดแม้แต่ Cyberpunk 2077 ก็ปรับกราฟิคสูงสุดเปิด Ray Tracing ควบคู่ NVIDIA DLSS ได้ แต่ไม่แนะนำให้เปิด Path Tracing เพราะแทบไม่เห็นข้อแตกต่างแล้วยังกินแรงโดยใช่เหตุ ส่วนเกมอื่นก็เล่นได้บนจอ 1440p ได้สบายๆ และยังซื้อเอาไว้ทำงาน 3D ได้แน่นอนไม่ว่าจะแต่งภาพ, ตัดคลิปหรือปั้นโมเดล 3D ก็ได้ แต่ควรวางบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คและต่ออแดปเตอร์ให้ดึงพลังออกมาได้เต็มที่แล้วไม่ร้อนจนเกินไปด้วย ถ้าใช้งานในห้องแอร์ได้จะดีมากและมันก็เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแบบ Desktop Replacement ขนาดย่อมได้เลยแถมยังพกไปออฟฟิศหรือเข้าห้องเรียนก็ได้ด้วย

DSC09902 Medium 1

ตอนพกติดตัวไปใช้นอกบ้านขอแนะนำให้เตรียมกระเป๋าโน๊ตบุ๊คขนาด 17.3 นิ้วเอาไว้ใส่ LOQ 16APH8 จะดีสุด ถึงจะใส่กระเป๋า 15.6 นิ้วได้ก็จริง แต่เพราะขนาดพอดีเกินไปเลยใส่ของใช้อื่นได้ไม่เยอะมากและยังรูดซิปติดขอบเครื่องเพราะตัวเครื่องค่อนข้างหนา และเพราะแบตเตอรี่มีความจุไม่เยอะจึงควรมีพาวเวอร์แบงค์กับอแดปเตอร์ GaN กำลังชาร์จ 100 วัตต์ติดกระเป๋าเสมอ เพราะตอนเปิดเครื่องใช้ทำงานราว 2 ชั่วโมงก็เหลือเพียง 50% แล้ว ดังนั้นถ้าต้องใช้งานทั้งวัน ประชุมยาวๆ ก็ควรติดของสองสิ่งนี้เอาไว้เสมอจะได้ไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดระหว่างวันและไม่ต้องเอาอแดปเตอร์ประจำรุ่นติดกระเป๋าไปไหนมาไหนให้หนักเกินจำเป็นด้วย

Conclusion & Award

DSC09901 Medium

หากใครกำลังมีแผนจะเปลี่ยนมาซื้อเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค AMD เอาไว้ใช้สักเครื่องล่ะก็ Lenovo LOQ 16APH8 นับเป็นตัวเลือกในงบประมาณ 50,000 บาทที่ดี ได้ฟีเจอร์จำเป็นใช้ติดมาให้ครบเครื่อง ถ้าจะ Legion Lite Edition ก็พอได้ ซึ่งเจ้า LOQ เองก็เข้ามาเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คราคาครึ่งแสนเพื่อเกมเมอร์ที่อยากใช้ Legion แต่งบประมาณไม่เป็นใจ ก็ถอยมาซื้อ Lenovo LOQ ไปใช้ก็ดีไม่แพ้กัน แถมยังมีเงินเหลือให้เอาไว้ซื้ออุปกรณ์เสริมได้อีกพอควรเลย

Award

award new performance

Best Performance

Lenovo LOQ 16APH8 เมื่อเทียบกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในระดับราคาไล่เลี่ยกันถือว่ามีประสิทธิภาพสูงและยังมีลูกเล่นเสริมเอาไว้โอเวอร์คล็อกจีพียูเพิ่มและยังได้ชิป Lenovo AI ไว้ดึงพลังออกมาได้อย่างเต็มที่ จะซื้อมาใช้แทนเกมมิ่งพีซีก็น่าสนใจมาก

NBS award Features

Best Features

ถึงจะดูคล้ายรุ่นก่อนหน้า แต่ฟีเจอร์ลูกเล่นต่างๆ ในเครื่องก็ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นมาก ทั้งพอร์ต USB-C Full Function สำหรับต่อหน้าจอแยกและชาร์จไฟได้ในตัวหรือจะตั้งปุ่มมาโครให้คีย์บอร์ดก็ได้ ช่วยให้ทำงานและเล่นเกมได้สะดวกขึ้นหลายเท่าแถมคีย์บอร์ดยังมี 100% Anti-Ghosting ด้วย แม้จะไม่ได้โชว์เอาไว้ข้างนอกแต่ใส่มาให้ครบเครื่องไม่แพ้กับรุ่นเรือธงอย่างแน่นอน


บทความที่เกี่ยวข้อง

ReviewLenovoThinkVision
NBS 231019 image link arm Sandisk MicroSDXC 1
5MouseWireless 1
Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Special Story

ถ้านับในช่วงหลัง ๆ มา ชิปกราฟิกแบบ iGPU ที่อยู่ใน CPU โน้ตบุ๊กของ AMD ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนทำให้มีประสิทธิภาพสูงถึงระดับที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะกับการใช้เล่นเกมที่ข้ามกำแพงจากในอดีตกราฟิกแบบ iGPU มักจะทำได้อย่างมากก็เป็นเกมออนไลน์ เกมเก่าที่มีอายุนานพอสมควรแล้ว กลายมาเป็นสามารถเล่นเกมระดับ AAA และเกมใหม่ล่าสุดได้ ซึ่งปัจจุบันก็เดินทางมาถึง AMD Radeon 800M series ที่มาพร้อมกับชิป AMD...

Special Story

ปีนี้นับเป็นปีที่ซีพียูโน้ตบุ๊กของ AMD มีการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัด และมีความน่าสนใจในด้านประสิทธิภาพที่สูงขึ้นโดยที่ยังคุมการใช้พลังงานและความร้อนได้ดี ทำให้เราได้เห็นการนำซีพียู AMD ไปใช้ทั้งในโน้ตบุ๊กทำงานทั่วไป เกมมิ่งโน้ตบุ๊กตั้งแต่สเปคระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับท็อป รวมถึงในกลุ่มเครื่องเกมพีซีพกพาด้วย แต่ที่จะเด่นชัดสุดคงหนีไม่พ้นชิปรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีโค้ดเนมว่า AMD Strix Point หรือในชื่อที่ใช้จริงนั่นคือ AMD Ryzen AI 300 series นั่นเอง

Special Story

สำหรับการเล่นเกม แน่นอนว่าพลังประมวลผลกราฟิกจาก GPU คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงระดับประสิทธิภาพว่าจะสามารถเรนเดอร์ภาพออกมาได้สวย เฟรมเรตสูง ความหน่วงต่ำขนาดไหน ทำงานร่วมกับ CPU และฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ในเครื่อง ซึ่งถ้าทั้งระบบสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยยกระดับประสบการณ์การเล่นเกมให้ดีขึ้นไปด้วย นอกจากนี้เหล่าผู้ผลิตเองก็มีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพลังกราฟิก โดยที่ยังลดภาระของฮาร์ดแวร์ลงด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ AFMF 2 เทคโนโลยีล่าสุดจาก AMD นั่นเอง

Buyer's Guide

คอม All in One 7 รุ่นเด็ด จอใหญ่ ดีไซน์สวย สเปคดี ซีพียูแรง แรม 16GB พร้อม Windows 11 เน้นทำงานและความบันเทิง คอม All in One หรือ ออลอินวันพีซี เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการพีซีที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับคอมตั้งโต๊ะ แต่ประหยัดไฟและประหยัดพื้นที่ได้มากกว่า...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก