Lenovo LOQ 15APH8 ภาคต่อ IdeaPad Gaming ในร่างของ Legion พร้อมสเปคแซ่บๆ
ปี 2023 เป็นปีที่แบรนด์ผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คชั้นนำพากันปรับเปลี่ยนไลน์อัพสินค้าของตัวเองกันยกใหญ่ ทั้งเพิ่มรุ่นย่อยปรับตัวเลขหรือเปิดไลน์ใหม่เช่น Lenovo LOQ 15APH8 ซึ่ง LOQ (ล็อค) ทาง Lenovo ทำสเปคเซ็ตราคาให้ถูกลงเพื่อขายแทนซีรี่ส์ IdeaPad Gaming ขวัญใจเกมเมอร์งบประหยัดแต่ใช้บอดี้ Lenovo Legion ซึ่งดูเรียบร้อยแต่ยังซ่อนกลิ่นอายเกมมิ่งเอาไว้ครบเครื่อง เทียบสเปคต่อราคาตอนเปิดตัว LOQ กับ IdeaPad Gaming แล้ว ก็ถือว่าจ่ายเท่าเดิมแต่ได้ของแรงขึ้นอีก
จุดเด่นแรกของซีรี่ส์ LOQ นอกจากเลือกสเปคได้ว่าจะเอาซีพียู AMD Ryzen 7000 Series หรือ Intel ก็ได้ ยังติดตั้งการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3050 ในรุ่นเริ่มต้นไปจบที่ GeForce RTX 4060 ในรุ่นสูงสุด หยิบเอาคีย์บอร์ด 100% Anti-Ghosting พร้อมไฟ 4-Zone RGB มาใส่ให้เกมเมอร์กดได้รัวไม่เกิดอาการปุ่มหลอนกดไม่ติดแถมเซ็ตฟังก์ชั่น Macro ได้ ใส่ชิป Lenovo LA1 AI มาให้เหมือน Legion Pro Series ไว้ใช้กับฟีเจอร์ Lenovo AI Engine+ สำหรับปรับแต่งตัวตัวเครื่องโดยอัตโนมัติร่วมกับ MUX Switch เพื่อเพิ่มเฟรมเรทและประมวลผลงานให้เสร็จได้อย่างรวดเร็ว
ลูกเล่นแบบมีเอาไว้แล้วชีวิตดี ก็มีลำโพง Nahimic Audio ปรับแต่งโดย SteelSeries ใช้ฟังเพลงและเล่นเกมได้อารมณ์ยิ่งขึ้น ได้เสียง 3 มิติ และยังได้ USB-C 3.2 Full Function มาอีกช่องเพื่อต่อหน้าจอแยกคู่กับพอร์ต HDMI และชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery ได้ เวลาพกไปข้างนอกก็เอาอแดปเตอร์ GaN ต่อชาร์จแบตเตอรี่ให้เครื่องได้ง่ายๆ ซึ่งถ้าเทียบกับยุคที่เป็น IdeaPad Gaming ถือว่า Lenovo LOQ นั้นดีขึ้นกว่าเดิมหลายอย่างมาก
NBS Verdicts
Lenovo LOQ 15APH8 เหมือนตัวตายตัวแทนของ IdeaPad Gaming 3 ที่ทางบริษัทเพิ่งเลิกพัฒนาไปเมื่อก่อนหน้านี้ โดยวางตำแหน่งทางการตลาดไว้เป็นรุ่นเริ่มต้นของซีรี่ส์เกมมิ่ง และตั้งราคาไม่แพงมากนัก เริ่มต้นเพียง 32,990 บาท ไปจนรุ่นท็อปราคา 46,990 บาทในรีวิวนี้ แถมสเปคยังสมราคาค่าตัว ได้ซีพียู AMD Ryzen 7000 Series จับคู่กับ NVIDIA GeForce RTX 3000~4000 Series ซึ่งแรงพอใช้เล่นได้ทุกเกมในปัจจุบันหรือจะเอาไว้ทำงานครีเอเตอร์ตัดต่อคลิปแต่งภาพก็ยังได้
จุดที่ชอบเป็นส่วนตัว คือ พอร์ต USB-C 3.2 Full Function ซึ่งต่อหน้าจอแยกได้คู่กับพอร์ต HDMI ได้ 2 จอพร้อมกัน รวมกับจอของตัวเครื่องเป็น 3 จอ ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว เวลาพกไปทำธุระข้างนอกก็ชาร์จแบตเตอรี่ให้ Lenovo LOQ 15APH8 ได้ด้วยสาย USB-C เส้นเดียวกับอแดปเตอร์ GaN กำลังชาร์จ 100 วัตต์ สามารถนำติดตัวไปเข้าห้องเรียนหรือนั่งทำงานที่ไหนก็ได้สบายๆ
ส่วนจุดเหนือความคาดหมายคือทาง Lenovo ใส่ชิป Lenovo LA1 AI กับฟีเจอร์ Lenovo AI Engine+ เข้ามาให้ไม่หวงไว้ให้แค่ Legion เท่านั้น ซึ่งชิป AI ตัวนี้จะทำงานร่วมกับ MUX Switch คอยปรับโหมดเครื่องโดยอัตโนมัติตามโปรแกรมที่ใช้งานอยู่ ทำให้ประหยัดพลังงานหรือเร่งประสิทธิภาพตอนเล่นเกมให้แรงสุดขีดก็ยังได้ แถมคีย์บอร์ดยังเป็นไฟ 4-Zone RGB พร้อม 100% Anti-Ghosting ลดปัญหากดแล้วปุ่มไม่ทำงานได้อีกด้วย
หน้าจอของ Lenovo LOQ 15APH8 จะเน้นทางการเล่นเกมเป็นหลัก โดยมีฟีเจอร์ลดอาการภาพฉีกขาดใส่มาให้ครบทั้ง AMD FreeSync กับ NVIDIA G-SYNC แต่ไม่ได้ Dolby Vision, VESA DisplayHDR 400 และขอบเขตสีหน้าจอไม่กว้างมากแม้สเปคจะแรงพอให้ช่างภาพและวิดีโอเอาไว้ทำงานก็ตาม ถ้าจะใช้ทำงานครีเอเตอร์แนะนำให้ต่อหน้าจอแยกขอบเขตสีกว้างจะดีสุด
สิ่งน่าเสียดายอีกอย่างคือ Lenovo LOQ 15APH8 จากหน้าข้อมูลสเปคเชิงลึกจะรองรับแรมเพียง 16GB เท่านั้น แต่แบรนด์อื่นใส่ได้ 32~64GB แล้ว ซึ่งถ้ารองรับสัก 32GB นอกจากจะใช้รันโปรแกรมใหญ่ๆ ได้ดีขึ้นยังรองรับการใช้งานระยะยาวได้ดีกว่าเดิมมาก หวังว่าทาง Lenovo จะปรับแต่งสเปคหรืออัพเดท BIOS เพิ่มเติมสักหน่อยจะดีมาก
ข้อดีของ Lenovo LOQ 15APH8
- ซีพียูเป็น AMD Ryzen 7000 Series ประสิทธิภาพดี ใช้ทำงานและเล่นเกมได้ยอดเยี่ยม
- การ์ดจอ NVIDIA GeForce ในเครื่องเป็นรุ่นวัตต์สูง ใช้เล่นเกมแล้วได้เฟรมเรทสูง
- บอดี้ตัวเครื่องเป็นแบบ Lenovo Legion งานประกอบแข็งแรงระบายความร้อนได้ค่อนข้างดี
- คีย์บอร์ดได้ไฟ 4-Zone RGB ปรับเปลี่ยนเอฟเฟคได้ตามต้องการ มี 100% Anti-Ghosting
- คีย์บอร์ดสามารถเซ็ต Macro เพิ่มได้ในโปรแกรม Lenovo Vantage
- มีชิป Lenovo LA1 AI กับ MUX Switch เอาไว้ปรับแต่งเร่งประสิทธิภาพให้ดีที่สุด
- หน้าจอรองรับ NVIDIA G-SYNC, AMD FreeSync ให้ภาพสวยงามไม่ฉีกขาด
- หน้าจอมีโหมด Dynamic ปรับ Refresh Rate อัตโนมัติให้เข้ากับคอนเทนต์ได้ที่ 72~144Hz
- มีช่อง M.2 NVMe SSD กับ RAM อย่างละ 2 ช่อง อัพเกรดเพิ่มความจุได้ง่าย
- พอร์ต USB-C 3.2 เป็น Full Function ต่อหน้าจอแยกและชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery ได้
ข้อสังเกตของ Lenovo LOQ 15APH8
- ขอบเขตสีหน้าจอไม่กว้างมาก ถ้าจะใช้ทำงานครีเอเตอร์ควรต่อหน้าจอแยก
- เพิ่มแรมได้มากสุด 16GB ซึ่งรุ่นเริ่มต้นของแบรนด์คู่แข่งรองรับ 64GB ได้แล้ว
รีวิว Lenovo LOQ 15APH8
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Inside&Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
Lenovo LOQ 15APH8 เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นคุ้มค่าซีรี่ส์ใหม่มาแทนซีรี่ส์ IdeaPad Gaming 3 ในอดีต และราคารุ่นเริ่มต้นก็ไม่แพงมากและแรงพอเล่นเกมฟอร์มใหญ่ในปัจจุบันได้ดีระดับหนึ่งแถมแชร์ฟีเจอร์ดีๆ ร่วมกันทั้งหมด หรือจะไปรุ่นสเปคสูงสุดก็ยังไม่เกิน 50,000 บาท มีรายละเอียดสเปคดังนี้
สเปค Lenovo LOQ 15APH8 | Lenovo LOQ 15APH8-82XT004FTA | Lenovo LOQ 15APH8-82XT004GTA | Lenovo LOQ 15APH8-82XT000JTA (เครื่องรีวิว) |
CPU & GPU | AMD Ryzen 5 7640HS NVIDIA GeForce RTX 3050 | AMD Ryzen 7 7840HS NVIDIA GeForce RTX 4050 | AMD Ryzen 7 7840HS NVIDIA GeForce RTX 4060 |
SSD & RAM & Software | M.2 NVMe 512GB 8GB DDR5 5600MHz Windows 11 Home | M.2 NVMe 512GB 16GB DDR5 5600MHz Windows 11 Home | M.2 NVMe 512GB 16GB DDR5 5600MHz Windows 11 Home |
Display & Weight | 15.6″ FHD IPS Refresh Rate 144Hz AMD FreeSync NVIDIA G-SYNC 2.4 กก. | 15.6″ FHD IPS Refresh Rate 144Hz AMD FreeSync NVIDIA G-SYNC 2.4 กก. | 15.6″ FHD IPS Refresh Rate 144Hz AMD FreeSync NVIDIA G-SYNC 2.4 กก. |
Connectivity | USB-C 3.2 Full Function x 1 USB 2.0 x 1 USB-A 3.2 x 2 HDMI x 1 LAN x 1 Audio combo x 1 Wi-Fi 6 Bluetooth 5.1 | USB-C 3.2 Full Function x 1 USB 2.0 x 1 USB-A 3.2 x 2 HDMI x 1 LAN x 1 Audio combo x 1 Wi-Fi 6 Bluetooth 5.1 | USB-C 3.2 Full Function x 1 USB 2.0 x 1 USB-A 3.2 x 2 HDMI x 1 LAN x 1 Audio combo x 1 Wi-Fi 6 Bluetooth 5.1 |
Price (บาท) | 32,990 | 39,990 | 46,990 |
Hardware & Design
ดีไซน์ของ Lenovo LOQ 15APH8 ด้านหน้าเครื่องจะแทบไม่ต่างกับ Lenovo Legion เลย ไม่ว่าบอดี้ตีมุมเฉียงส่วนล่างของแท่นวางข้อมือสองฝั่ง, ติดสติกเกอร์ AMD, NVIDIA เอาไว้ตรงที่วางข้อมือฝั่งขวาข้างๆ เพลตแบรนด์ Lenovo และมีปุ่ม Power ติดตั้งไว้ส่วนขอบบนตัวเครื่องแสดงไฟได้ 2 สีคือขาวตอนแบตฯ เต็มหรือสีส้มตอนกำลังชาร์จไฟอยู่ ดีไซน์โดยรวมดูเรียบง่ายไม่หวือหวาถูกใจคนที่ต้องการพกโน๊ตบุ๊คไปทำงานได้ด้วย รูปลักษณ์ดูไม่สะดุดตาเหมือนโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนัก
ก้านบานพับหน้าจอจะเป็นก้านสั้นริมตัวเครื่องทั้งสองฝั่งยื่นขึ้นมาจากบอดี้ตัวเครื่อง กินพื้นที่ขอบล่างหน้าจอเข้าไปเล็กน้อย สามารถกางหน้าจอได้กว้างราว 160 องศา เกือบจะราบไปกับพื้นโต๊ะเลย จึงวางเครื่องกับโต๊ะหรือแท่นวางหน้าจอแล้วปรับองศาให้เข้ากับมุมสายตาได้ง่ายๆ แถมบานพับก็แข็งแรงเปิดด้วยมือเดียวก็ไม่มีอาการกระพือเลย ได้ข้อดีจากบอดี้แบบ Lenovo Legion มาเต็มๆ
ฝาหลังของ Lenovo LOQ 15APH8 ยังคงเรียบง่ายถอดแบบจากตระกูล Legion มาหลายอย่างทั้งสกรีนโลโก้ LOQ เอาไว้ตำแหน่งและทิศทางเดียวกับ Legion ตรงมุมซ้ายบนและมีเพลต Lenovo ติดไว้มุมขวาล่างอีกจุด ติดพอร์ตใช้งานเอาไว้ฐานล่างด้านหลังเครื่องอีกชุดเป็นพอร์ตแบบต่อทิ้งเอาไว้
ส่วนดีไซน์แบ่งแยกระหว่างซีรี่ส์ Legion กับ LOQ คือ ดีไซน์ช่องระบายความร้อนของ LOQ จะเหมือนกับ IdeaPad Gaming รุ่นก่อนหน้าซึ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมมีขีดสีฟ้าขีดกลางแบ่งครึ่งไว้กับกรอบทรง 6 เหลี่ยมมีประกับทาบขึ้นมาด้านบนอีกชั้น เป็นจุดแตกต่างเล็กๆ ซึ่งถ้าไม่สังเกตอาจแยกไม่ออก
ฝาใต้เครื่อง Lenovo LOQ จะเป็นช่องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายสามเหลี่ยมเหมือนดาบ มีเครื่องหมายกากบาทอีก 5 ตัว กินพื้นที่ราว 40% ส่วนตรงกลางเครื่อง มีแถบยางกันลื่นติดเอาไว้ 3 จุด คือมุมซ้ายขวาส่วนล่างเป็นขีดเล็กกับแถบยาวส่วนด้านบนเอาไว้กันไม่ให้เครื่องไถลไปมาและลดโอกาสเกิดรอยขนแมว ถ้าสังเกตจะเห็นว่าน็อตตรงกลางฝั่งขวาถัดลงมาจะมี NOVO button หรือปุ่มรีเซ็ตเมื่อเครื่องเกิดปัญหาเปิดไม่ติดใช้งานไม่ได้ก็เอาคลิปหนีบกระดาษหรือเข็มแทงซิมแทงค้างไว้ 30 วินาทีเพื่อรีเซ็ตเครื่องได้
Screen & Speaker
หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ของ Lenovo LOQ จะเป็นดีไซน์ขอบบางด้านข้างเครื่องสองฝั่งและส่วนบนจะหนาขึ้นเล็กน้อยให้มีพื้นที่ติดตั้งกล้อง Webcam กับไมค์คู่อีกชุดกับสวิตช์ E-Shutter ตรงขอบเครื่องฝั่งขวามือติดมาให้ล็อคกล้องได้ แต่ไม่มีระบบสแกนใบหน้าจึงต้องพิมพ์รหัสผ่านเพื่อปลดล็อคเครื่องเท่านั้น ส่วนบริเวณกล้องจะดีไซน์ให้เป็นขอบลิ้นยื่นออกมาเล็กน้อยให้เจ้าของใช้นิ้วดึงเปิดหน้าจอได้ทันที ส่วนขอบล่างจอเป็นแบบหนาไม่มีโลโก้บริษัทสกรีนหรือเซาะร่องติดเอาไว้ ดูเรียบร้อยไม่สะดุดตา
สเปคของหน้าจอรุ่นนี้เป็นโมเดลขายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ มีค่า Refresh Rate สูงสุด 144Hz และปรับลงมาเหลือ 72Hz ได้ด้วยตัวเองหรือจะกดโหมด Dynamic ให้ระบบปรับค่า Refresh Rate ตามโปรแกรมที่ใช้งานก็ได้เช่นกัน ถ้าไม่คิดมากก็แนะนำให้กดโหมดนี้แล้วปล่อยเอาไว้ได้เลยแถมมีฟีเจอร์กันภาพฉีกขาดอย่าง AMD FreeSync, NVIDIA G-SYNC ติดตั้งมาให้ครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม ขอบเขตสีหน้าจอเมื่อทดสอบด้วยโปรแกรม DisplayCal 3 ด้วยเครื่อง Colorchecker ของ Calibrite พบว่าพาเนลหน้าจอนี้ผลิตโดยบริษัท BOE ได้ Gamut coverage หรือค่าขอบเขตสีจริงของหน้าจอเพียง 60.9% sRGB, 42.2% Adobe RGB, 43.4% DCI-P3 ด้าน Gamut volume หรือขอบเขตสีองค์รวมได้ 61.2% sRGB, 42.2% Adobe RGB, 43.4% DCI-P3 ค่าความเที่ยงตรงสี Delta-E เฉลี่ย 0.15~0.99 ความสว่างสูงสุด 349.80 cd/m2
จากผลทดสอบกล่าวได้ว่าหน้าจอนี้สว่างพอสู้แสงแดดได้ทั้งตอนพกไปทำงานนอกสถานที่ตามร้านกาแฟหรือโดนแสงแดดส่องลอดหน้าต่างมากระทบหน้าจอก็เร่งแสงสู้ได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าใช้ในออฟฟิศจะตั้งความสว่างหน้าจอเอาไว้ 50~60% ก็สว่างเพียงพอแล้ว แต่ขอบเขตสีหน้าจอถือว่าไม่น่าประทับใจเท่าที่ควรเพราะอยู่ในระดับทั่วไปแค่พอแต่งภาพอัพโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ ถ้าเป็นครีเอเตอร์ต้องทำงานแล้วได้สีเที่ยงตรงแม่นยำควรต่อหน้าจอแยกขอบเขตสีกว้างจะดีกว่า
ลำโพงคู่กำลังขับ 2 วัตต์ ปรับจูนโดย Nahimic Gaming Audio ซึ่งเนื้อเสียงตอนเล่นเกมถือว่าน่าประทับใจ เนื้อเสียงแยกมิติทิศทางได้ดี เวลาเล่นเกมแล้วหันทิศทางได้ถูกต้องว่าศัตรูหรือต้นกำเนิดเสียงมาจากทางไหน แต่ถ้าใช้ฟังเพลงถือว่าค่อนข้างน่าประทับใจโดยตัวลำโพงจะเน้นเสียงใสและนักร้องนำเป็นหลักและมีเบสเสริมเล็กน้อยแต่แรงปะทะไม่เยอะ สเตจอยู่ระดับกลางๆ พอใช้ฟังเพลงแนวร็อค, ป็อป, แจ๊สได้ แต่เพลงแนวเมทัลหรือเน้นเบสหนักๆ ต่อลำโพงแยกจะดีกว่า
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ Lenovo LOQ 15APH8 จะเป็น Full size ยกดีไซน์จาก Legion Series มาใช้เลยและได้ฟีเจอร์ 100% Anti-Ghosting เสริมเข้ามา ทำให้ตอนเล่นเกมแล้วรัวปุ่มไม่เกิดอาการปุ่มไม่ทำงานหรือกดแล้วไม่ไปอย่างแน่นอน แถมได้ไฟ 4-Zone RGB เปลี่ยนเอฟเฟคแสงได้ 3 แบบ ได้แก่ Cycle, สีฟ้า หรือดับไฟทิ้งก็ได้โดยกด Fn+Spacebar เพื่อเปลี่ยนเอฟเฟคแสงได้ตามชอบ
เนื่องจากดีไซน์คีย์บอร์ดนั้นเหมือนกันทั้งหมด ถ้าใครเคยใช้ IdeaPad Gaming 3 บอดี้ Legion หรือเคยใช้ Lenovo Legion รุ่นก่อนๆ มา จะคุ้นเคยกับปุ่มบนคีย์บอร์ดได้เร็วมาก แถมยังได้ Multimedia Key ติดมาตรงปุ่ม Function Key เหนือ Numpad พร้อมเซ็ตคีย์ลัดที่คุ้นเคยและมี FnLock ติดมาตรงปุ่ม Esc เช่นกัน ซึ่งถึงจะปรับตัวได้ง่ายแต่จุดน่าเสียดายคือไม่ได้ปรับปรุงเพิ่มจุดเด่นอะไรให้มากขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้าเลย เช่น ปุ่ม Windows Lock, Crosshair หรือฟีเจอร์เพื่อการเล่นเกมอื่นๆ ก็ไม่ได้เสริมเข้ามาให้ ทั้งที่ Lenovo ต้องการเซ็ตให้มันเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเพื่อเกมเมอร์งบประหยัดทั้งที
ดังนั้น Function Hotkey ตรง F1~F12 ของ Lenovo LOQ 15APH8 ก็ยังได้อานิสงค์การ Mapping ปุ่มมาจากพี่น้องร่วมบริษัททุกอย่างไม่มีผิด ไม่ได้เพิ่มหรือลดปุ่มอะไรเป็นพิเศษนัก ซึ่งมีคีย์ลัดดังนี้
- F1~F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
- F4 – ปิด/เปิดไมโครโฟน
- F5~F6 – ลด/เพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F7 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและจอเสริม
- F8 – Airplane Mode
- F9 – Lenovo Smart Key ใช้เรียกคำสั่งที่ต้องการได้ ถ้ากด 2 ครั้งจะเปิด Lenovo Vantage
- F10 – ล็อคการทำงานทัชแพด
- F11 – ปุ่มลัดเรียก Windows Aero Mode ทำงานเหมือนกด Windows+Tab
- F12 – เรียกโปรแกรมเครื่องคิดเลข
ถึงจะประหยัดต้นทุนด้วยการใช้ชิ้นส่วนสหกรณ์อย่างคีย์บอร์ดร่วมกันได้ ตั้งแต่ Legion Pro 7 รุ่นเรือธงลงมาจนถึง LOQ 15APH8 ทั้งประหยัดต้นทุนและมีอะไหล่เอาไว้ซ่อมได้อย่างรวดเร็วก็จริง แต่ก็ทำให้ดีไซน์และ Mapping ปุ่มของคีย์บอร์ดของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในค่ายหยุดชะงัก ไม่มีลูกเล่นมากขึ้นกว่ารุ่นก่อน เลยแม้แต่น้อยซึ่งน่าเสียดายมาก และหวังว่าในรุ่นโมเดลปี 2024 ทาง Lenovo จะ Mapping ปุ่มให้มีลูกเล่นเพิ่มขึ้นอีก อย่างน้อยเพิ่ม Windows Lock มาให้ก็ยังดี
แป้นทัชแพดของ Lenovo LOQ 15APH8 ตรงที่วางข้อมือมีขนาดค่อนข้างใหญ่และกว้างจนถึงกึ่งกลางปุ่ม Alt ทั้งสองฝั่งของคีย์บอร์ด พอวางมือบนคีย์บอร์ดเพื่อทำงานหรือเล่นเกมแล้วมือจะทาบลงขอบแป้นพอดี แต่ตอนใช้งานจริงไม่มีปัญหาไม่เกิดอาการแป้นลั่นแม้แต่น้อย ถ้าต่อเมาส์แยกทำงานหรือเล่นเกมก็กด Fn+F10 ล็อคการทำงานทัชแพดไปก็ได้
Connector / Thin & Weight
พอร์ตเชื่อมต่อของ Lenovo LOQ 15APH8 จะเซ็ตเอาไว้ข้างเครื่องทั้งสองฝั่งเล็กน้อย แล้วเอาพอร์ตใช้งานแบบต่อทิ้งเอาไว้ไม่ถอดบ่อยๆ ไปติดตั้งไว้ด้านหลังเครื่องเป็นหลัก โดยมีพอร์ตดังนี้
- ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – USB-C 3.2 Full Function, Audio combo
- ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – E-Shutter, USB 2.0
- ด้านหลังจากซ้ายมือ – USB-A 3.2*2, LAN, HDMI, Power connector
- การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.1
โดยพอร์ต USB-C ต่อหน้าจอแยกระดับ 5120*3200 พิกเซลได้ ส่วน HDMI รองรับถึง 4K (4096*2160) ดังนั้นทั้งสองช่องนี้สามารถต่อหน้าจอแยก 4K ได้ทั้งคู่ ถ้าใช้ทำงานกราฟิคตัดต่อวิดีโอไม่มีปัญหาแต่ด้วยพลังของ GeForce RTX 4060 เวลาเล่นเกมแนะนำต่อแค่ 2K QHD จะเล่นเกมได้ไหลลื่นกว่าแน่นอน
ส่วนพอร์ต USB 2.0 ด้านขวาเครื่องนั้นเชื่อว่าใส่มาเพื่อต่อเมาส์หรือคีย์บอร์ดแน่นอน เพราะหลายคนอาจเสียดายว่าถ้าได้พอร์ต USB 3.2 แล้วเอามาต่อเมาส์คงจะไม่คุ้ม อยากเอาไว้ต่อพวก External Harddisk มากกว่า ทางบริษัทเลยใส่พอร์ตนี้มาให้ใช้แทนนั่นเอง
น้ำหนักของตัวเครื่องทางบริษัทเคลมเอาไว้ว่าหนัก 2.4 กิโลกรัม พอชั่งแล้วตัวเครื่องหนัก 2.45 กิโลกรัม ถือว่าใกล้เคียงกันและรวมอแดปเตอร์ 532 กรัมเข้าไปแล้วหนัก 2.98 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักระดับนี้ถือว่าพกใส่กระเป๋าเป้ไปไหนมาไหนได้สบายๆ แน่นอน ถ้าพกไปทำงานทั่วไปติดต่อลูกค้าน่าพกอแดปเตอร์ GaN กำลังชาร์จ 100 วัตต์กับสาย USB-C สักเส้นเอาไว้ชาร์จแบตเตอรี่ดีกว่า ส่วนอแดปเตอร์เอาไว้ใช้ตอนจะเล่นเกมหรือเรนเดอร์งาน 3D ดีกว่า Lenovo LOQ 15APH8 จะได้รีดประสิทธิภาพออกมาได้เต็มที่
Inside&Upgrade
วิธีเปิดฝาเครื่องเพิ่มแรมและ SSD ของ Lenovo LOQ 15APH8 ให้เอาไขควงหัวแฉก Philips Head ขันน็อตชั้นแรกทั้งหมด 10 ดอกออกก่อนแล้วสไลด์กรอบช่องระบายความร้อนด้านหลังเครื่องออกก่อนห้ามฝืนข้ามดึงฝาหลังออกโดยเด็ดขาด เพราะฝาใต้เครื่องมีน็อตซ่อนเอาไว้อีก 3 ตัวใต้กรอบระบายความร้อน ไม่อย่างนั้นฝาหลังอาจหักเสียหายได้ และน็อตใต้ช่องระบายความร้อนมีขนาดต่างจากตัวอื่น ให้แยกเอาไว้เป็นพิเศษจะได้ขันเข้าได้ถูกจุด
บนเมนบอร์ดของ Lenovo LOQ 15APH8 จะวางเลย์เอ้าท์คล้ายกับ Legion Series มีหัว M.2 NVMe SSD ติดอยู่ริมเครื่องสองฝั่ง อัพเกรดได้มากสุดช่องละ 1TB อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ทั้งคู่ ได้แรมจากโรงงาน 16GB DDR5 บัส 5600MHz ปิดด้วยกรอบอลูมิเนียมเอาไว้ป้องกันตัวแรมได้ด้วย อิงจากหน้าสเปคจะเห็นว่า LOQ 15APH8 ให้ความจุมาเต็มมากสุดเท่าที่เมนบอร์ดรองรับแล้ว ซึ่งตามหน้าเอกสารสเปคถือว่าค่อนข้างน้อย แต่เมื่ออิงจากเว็บไซต์ Crucial ผู้ผลิต RAM พบว่ารองรับถึง 32GB คาดว่าเป็นการระบุว่าสเปคปรับแต่งจากโรงงานรองรับเท่านั้น แต่ยังอัพเกรดเพิ่มเติมได้
Performance & Software
ซีพียูใน Lenovo LOQ เป็น AMD Ryzen 7 7840HS แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.8~5.1GHz มาให้ รหัสพัฒนาเป็น AMD Phoenix ผลิตโดย TSMC ทรานซิสเตอร์ 4 นาโนเมตร มีค่า TDP อยู่ที่ 35~54 วัตต์ ได้ iGPU ในตัวเป็น AMD Radeon 780M มี 12 คอร์ ความเร็ว 2,700MHz รองรับชุดคำสั่งครบถ้วนประสิทธิภาพสูงพอใช้ทำงานและเล่นเกมต่างๆ ได้เป็นอย่างดีแน่นอน
แรม OEM ในเครื่องเป็นแบบ SO-DIMM ติดตั้งมา 16GB DDR5 (8GB*2) บัส 5600MHz โดยเม็ดแรมเป็นของทาง Samsung ค่า CL 46-45-45-90-135 โดยข้อมูลสเปคเชิงลึกรองรับความจุสูงสุด 16GB ซึ่งคาดว่าเป็นสเปคสูงสุดที่อัพเกรดได้จากโรงงาน เพราะเมื่อเช็คกับเว็บไซต์ของ Crucial พบว่า Lenovo LOQ 15APH8 เพิ่ม RAM ได้มากสุด 32GB DDR5
กราฟิคการ์ดในเครื่องทดสอบเป็น NVIDIA GeForce RTX 4060 แรม 8GB GDDR6 ค่า TDP 115 วัตต์ มี CUDA Core ติดตั้งมาในตัว 3072 Unified เอาไว้ใช้ประมวลผล 3D ได้เป็นอย่างดี รองรับชุดคำสั่งใช้งานครบถ้วนทั้ง DirectX 12, OpenCL, OpenCL 4.6, CUDA, DirectCompute, DirectML, Vulkan, Ray Tracing, PhysX, Dynamic Boost, Advanced Optimus และยังใช้งาน NVIDIA DLSS 3 เพื่อเร่งเฟรมเรทเพิ่มได้อีกด้วย ด้วยสเปคของการ์ดจอตัวนี้เล่นเกมจอ Full HD ปรับกราฟิคสูงสุดหรือ QHD ปรับกราฟิคระดับสูงได้อย่างแน่นอน ถ้าต้องการเฟรมเรทเพิ่มก็เปิด DLSS เสริมได้
ด้านชิ้นส่วนภายในเครื่องเมื่อเช็คผ่าน Device Manager จะเห็นว่า Lenovo LOQ 15APH8 ติดตั้งชิปรักษาความปลอดภัยมาให้ครบทั้ง TPM 2.0 เสริมด้วย AMD PSP 11.0 เอาไว้ใช้งานคู่กับ Windows Hello และเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตกับอุปกรณ์ไร้สายได้ด้วยการ์ด Realtek RTL8852BE เชื่อมต่อ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.1 ได้ด้วย ใช้โหลดข้อมูลเปิดเว็บไซต์ได้รวดเร็วด้วย
ฮาร์ดดิสก์ M.2 NVMe SSD ความจุ 512GB ผลิตโดย Micron ขนาด M.2 2242 ความเร็วตอนทดสอบถือว่าเร็วพอใช้เปิดโปรแกรมทำงานและเกมได้เร็วพอสมควร เมื่อทดสอบด้วย CrystalDiskMark 8 ได้ความเร็วดังนี้
ความเร็ว/การทดสอบ | Read (MB/s) | Write (MB/s) |
Sequential | 3,248.45 | 3,158.88 |
Random 4K | 338.86 | 467.34 |
ซึ่งอินเตอร์เฟส M.2 NVMe SSD ทั้งสองช่องรองรับความจุสูงสุด 1TB และใส่ M.2 2280 ซึ่งเป็นไซซ์มาตรฐานในปัจจุบันได้สบายๆ จะเอา SSD 1TB PCIe 4.0 ดีๆ อย่าง Solidigm P44 Pro, WD Black SN850X หรือ Samsung 990 Pro มาใส่เพิ่มอีกไดรฟ์หรือเปลี่ยนยกเครื่องเอา Micron ตัวนี้ไปใส่กล่องทำเป็น External SSD ไว้เซฟงานก็ไม่เลว
ผลคะแนนจากการทดสอบ 3DMark Time Spy เมื่อปรับโหมดให้ตัวเครื่องรีดประสิทธิภาพออกมาสูงสุดแล้ว ได้ผลคะแนนเฉลี่ย 10,928 คะแนน แยกเป็น CPU score 10,443 คะแนน และ Graphics score 11,019 คะแนน ซึ่งผลคะแนนระดับนี้ถือว่าทรงพลังพอเล่นเกมฟอร์มใหญ่บนความละเอียดจอ 1080p ได้สบายๆ หรือจะ 1440p ก็เปิดกราฟิคระดับสูงได้อย่างแน่นอน
ซึ่งผลการทดลองเล่นเกมยอดนิยมในปัจจุบันนี้ทุกเกมบนจอ Full HD 1080p ปรับกราฟิคระดับสูงสุดจะเห็นว่าทุกเกมที่เลือกมาทำเฟรมเรทเฉลี่ยได้เกิน 60 Fps ทั้งหมดอย่างแน่นอน แม้แต่ Cyberpunk 2077 ที่ขึ้นชื่อว่าใช้พลังของทั้งซีพียูและจีพียูอย่างหนักหน่วงก็ไม่มีปัญหา จากตอนทดลองเล่นจริงภาพก็ลื่นไหลต่อเนื่องและเฟรมเรทอาจจะลดลงบ้างตอนเจอฉาก NPC และ Particle ในเกมเยอะๆ อาจจะลดลงนิดหน่อย แต่ก็แก้ปัญหาโดยเปิด NVIDIA DLSS เติมเข้าไปได้เลย
ด้าน Resident Evil 4 Remake จะเห็นว่าเฟรมเรทต่ำสุดจะร่วงลงไปถึง 19 Fps ซึ่งอาการนี้เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ อย่างฉากเดินในป่าช่วงนาทีแรกตอนเปิดเกมเท่านั้น คาดว่าจะมาจากตอนโหลด Texture ในเกมขึ้นมาเตรียมเอาไว้ให้พร้อมใช้งานซึ่งพอเล่นต่อไปอีกสักพักหนึ่งก็ไม่เกิดอาการเฟรมเรทร่วงอย่างที่ใครหลายคนกังวลใจอย่างแน่นอน
โดยสรุปถือว่า Lenovo LOQ 15APH8 รุ่นการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 4060 ตัวนี้สามารถเล่นได้ทุกเกมบนจอ 1080p ปรับกราฟิคสูงสุดได้สบายๆ หรือถ้ามีจอเกมมิ่ง 1440p อยู่ ก็ต่อสาย HDMI ไปเล่นบนหน้าจอแยกก็ได้ ขอแนะนำให้ปรับกราฟิคไว้ระดับ High ทั้งหมดและลด Shadow, Water Quality ฯลฯ เอาไว้ระดับ Medium เท่านี้ก็เล่นได้ไหลลื่นแล้ว
ด้านการทำงานเมื่อทดสอบด้วยโปรแกรม PCMark 10 ได้คะแนนเฉลี่ยสูงมากถึง 7,242 คะแนน จัดว่าใช้ทำได้ทุกงานตั้งแต่งานเอกสารทั่วไปจนงานกราฟิคเลย โดยคะแนนและจุดเด่นของแต่ละหมวดจะเป็นดังนี้
- Essential – ทดสอบการใช้งานทั่วไป ได้แก่ เปิดโปรแกรม, ประชุมออนไลน์, เปิดเบราเซอร์ ทำได้ 9,776 คะแนน เด่นเรื่องการเปิดโปรแกรมและเปิดเบราเซอร์ท่องเว็บได้ดี
- Productivity – ทดสอบเมื่อทำงานกับโปรแกรมงานเอกสารและชีต ได้ 8,464 คะแนน ทำได้ดีทั้งคู่
- Digital Content Creation – ทดสอบงานกราฟิค 3D ต่างๆ ได้คะแนนรวม 12,456 คะแนน เด่นเรื่องการตัดต่อแต่งภาพและเรนเดอร์ 3D ได้ดี พอตัดต่อคลิปได้ระดับหนึ่ง
ถือว่าซีพียู AMD และการ์ดจอ NVIDIA ทรงพลังพอควร ถ้าใครเป็นครีเอเตอร์จะซื้อโน๊ตบุ๊คเอาไว้ทำงานก็ได้ แต่ขอบเขตสีหน้าจอไม่กว้างมากก็แนะนำว่าถ้าจะแต่งสีทำงานอาร์ตเวิร์คควรต่อหน้าจอแยกสำหรับงานประเภทนี้โดยเฉพาะจะได้สีสันดีขึ้น
ส่วนทีเด็ดของ Lenovo LOQ 15APH8 จะอยู่ในโปรแกรม Lenovo Vantage ที่เอาไว้ใช้มอนิเตอร์, อัพเดทปรับจูนตัวเครื่องให้ทำงานได้ดีขึ้นแล้ว ยังได้ลูกเล่นปรับ GPU Working Mode ได้เหมือนกับ Lenovo Legion ใส่มาให้ แถมยังเซฟ Macro Key เอาไว้ตรง Numpad 0~9 ได้อีกด้วย แค่เลือกปุ่มที่ต้องการแล้วกด Record เซฟคำสั่งไม่ว่าจะตอนทำงานหรือเล่นเกมเอาไว้ได้เลย จัดว่ามีประโยชน์มาก
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ของ Lenovo LOQ 15APH8 มีความจุ 60Wh เป็นลิเธียมไอออน (Li-ion) วัดแบบ Typical Capacity 3,887mAh และ Rated Capacity 3,789mAh (58.5Wh) ถ้าเทียบกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นในกลุ่มราคาเดียวกันจะอยู่ระดับ 50~60Wh ถือว่าจุเยอะพอสมควร
Discrete Graphics Mode Hybrid Mode
จากการทดสอบแบตเตอรี่ตามมาตรฐานการทดสอบของทางเว็บไซต์ ปิดไฟ LED Backlit, ปรับโหมดตัวเครื่องใน Lenovo Vantage เป็น Hybrid และกด Fn+Q ใช้ Whisper Mode, ลดความสว่างจอเหลือ 50% เปิดเสียงลำโพง 10% ดูคลิป YouTube ด้วย Microsoft Edge นาน 30 นาที โปรแกรม BatteryMon โชว์ว่า Lenovo LOQ 15APH8 สามารถใช้งานได้นานสุด 4 ชั่วโมง 7 นาที จัดว่าใช้งานได้นานพอจบประชุมใหญ่หรือคลาสเล็คเชอร์ได้ 1 ครั้งพอดี ถ้าใช้งานนานกว่านี้แนะนำให้เอาอแดปเตอร์ GaN ใส่กระเป๋ารอเอาไว้ด้วยจะอุ่นใจขึ้น
แต่ถ้าเปิด Lenovo Vantage ตั้งโหมดให้ใช้การ์ดจอแยก NVIDIA เท่านั้นจะใช้งานได้เพียง 1 ชั่วโมง 47 นาที แค่พอเล่นเกมฆ่าเวลาได้บ้าง แต่ก็ไม่แนะนำให้ทำบ่อยเพราะอาจจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วขึ้น ถ้าจะเล่นเกมอย่างน้อยควรต่ออแดปเตอร์ GaN ให้เครื่องสลับไปใช้กระแสไฟจากปลั๊กจะดีสุด
ชุดระบายความร้อนของ Lenovo LOQ 15APH8 เป็นชุดระบายความร้อนพัดลมคู่ทั่วไป ไม่ใช่ Legion Coldfront 4.0 โดยเซ็ตนี้มีฮีตไปป์ 3 เส้น พาดแนวจากซีพียูกับจีพียูตรงไปยังฮีตซิ้งค์หน้าพัดลมระบายความร้อน 85 มม. คู่ทั้งสองฝั่งตัวเครื่องแล้วระบายความร้อนออกช่องระบายความร้อน 4 ช่อง รองรับค่า TDP 135 วัตต์ได้ เวลาพัดลมทำงานเต็มที่เสียงจะดังราว 55~60dB เป็นเสียงแหลมแต่ไม่หนวกหูนัก
อุณหภูมิทั่วไป อุณหภูมิตอนทำงานหรือเล่นเกม
อุณหภูมิของ Lenovo LOQ 15APH8 เมื่อวัดด้วยโปรแกรม CPUID HWMonitor จะเห็นว่าชุดระบายความร้อนมาตรฐานของทางบริษัทก็ใช้ระบายความร้อนได้ดีทีเดียวไม่ว่าจะใช้งานทั่วไปอย่างเปิดเว็บไซต์ ดูหนังฟังเพลงก็เย็นตลอดเวลาและตอนเล่นเกมหรือรันโปรแกรม 3D เสียงก็ดังขึ้นระดับหนึ่ง โดยอุณหภูมิของแต่ละชิ้นส่วนจะเป็นดังนี้
อุณหภูมิ / ชิ้นส่วน | ใช้งานปกติ (เซลเซียส) | ทำงานหรือเล่นเกม (เซลเซียส) |
ซีพียู (วัดจาก iGPU) | 42~50 | 38~64 |
การ์ดจอ | 44~45 | 41~80 |
SSD | 43~46 | 40~47 |
เมนบอร์ด | 48~75 | 40~100 |
เนื่องจาก CPUID HWMonitor จะเช็คอุณหภูมิของ AMD Ryzen 7000 Series โดยตรงไม่ได้จึงวัดจาก iGPU อย่าง AMD Radeon 780M แทน จะเห็นว่าอุณหภูมิซีพียูอยู่ในระดับที่รับได้เช่นเดียวกับการ์ดจอ GeForce RTX 4060 ซึ่งร้อนสุดเพียง 80 องศาเซลเซียสเท่านั้น ถือว่างานออกแบบและวิศวกรรมของชุดระบายความร้อนรุ่นทั่วไปของ Lenovo นั้นดีมาก ให้รันโปรแกรมใหญ่ก็ไม่มีปัญหา
User Experience
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจสักนิด คือ Lenovo LOQ Series เป็นซีรี่ส์ใหม่ซึ่งออกมาแทนรุ่นยอดนิยมในอดีตอย่าง Lenovo IdeaPad Gaming 3 ซึ่งเน้นเกมเมอร์ที่มองหาเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คราคาประหยัดสเปคแรงกำลังดีพอเอาไว้ทำงานออฟฟิศ พกเข้าห้องเรียนหรือตัดต่อภาพและวิดีโอได้ระดับหนึ่งแล้วเอากลับบ้านมานั่งเล่นเกมที่อยากเล่นได้ ซึ่งบอดี้จะไม่ได้แชร์กับตระกูล IdeaPad แล้วแต่เป็น Legion Series แทน เลยได้อานิสงค์หลายๆ อย่างเสริมเข้ามาด้วย อย่างน้อยก็ระบายความร้อนได้ดีมากแม้จะรันเกมหรือโปรแกรมใหญ่ๆ อยู่ก็ไม่ร้อนเลยสักนิดแถมได้พอร์ต USB-C 3.2 Full Function มาใช้ต่อหน้าจอและชาร์จแบตเตอรี่ให้โน๊ตบุ๊คได้ด้วย เลยไม่ต้องพกอแดปเตอร์เฉพาะติดตัวเสมอ แค่มีอแดปเตอร์ GaN กำลังไฟ 100 วัตต์กับสาย USB-C สักเส้นไว้ชาร์จก็พอแล้ว
ด้านความแรงตอนลองใช้งานถือว่าหายห่วงได้เลยเพราะตัว AMD Ryzen 7 7840HS กับ GeForce RTX 4060 แรงพอใช้เล่นเกมฟอร์มใหญ่ในยุคนี้ได้ทุกเกมและปรับกราฟิคสูงสุดบนความละเอียดจอ 1080p ได้ หรือจะขยับไปจอ 1440p ก็มี DLSS 3 มาเสริมอีกเรียกว่าหายห่วงแถมมีฟังก์ชั่น Macro ให้ใช้ด้วย ถ้าทำงาน 3D หรือแต่งภาพควรหาจอสำหรับทำงานกราฟิคโดยเฉพาะต่อแยกสักหน่อยจะดีกว่าเพราะจอของตัวเครื่องมีขอบเขตสีไม่กว้างมาก อาจจะทำให้ปรับจูนสีเพี้ยนได้
เรื่องการพกพาเจ้า Lenovo LOQ 15APH8 ไปไหนมาไหนควรหากระเป๋าเป้สำหรับโน๊ตบุ๊ค 15.6~17.3 นิ้ว เตรียมเอาไว้เลยเพราะตัวเครื่องค่อนข้างใหญ่และหนาแถมถ้าเอาอแดปเตอร์เฉพาะตัวไปด้วยไม่แนะนำให้ใช้กระเป๋าสะพายข้างหรือย่ามเท่าไหร่ ไม่อย่างนั้นอาการ Office Syndrome อาจถามหา ส่วนระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่ตามการใช้งานจริงถือว่าลดค่อนข้างเร็วแม้จะตั้งค่ากราฟิคการ์ดให้เป็น Hybrid Mode กดใช้โหมดตัวเครื่องแบบ Whisper Mode ก็ยังลดเร็วพอควร เท่าที่จับเวลาน่าจะจบเลคเชอร์สักคลาสหรือผ่านการประชุมสักครั้งได้พอดี ดังนั้นถ้าซื้อเครื่องมาเมื่อไหร่แวะซื้ออแดปเตอร์ GaN 100 วัตต์ ก่อนกลับบ้านไปเลย จะได้เอาอแดปเตอร์เฉพาะของเครื่องทิ้งไว้ที่โต๊ะคอมในบ้านหรือที่ออฟฟิศได้ไม่ต้องแบกติดตัวตลอด
ส่วนจุดน่าเสียดายคือ Lenovo LOQ 15APH8 ตามหน้าสเปคใส่แรมได้เพียง 16GB DDR5 เท่านั้น เลยเหมาะกับการใช้ทำงานทั่วไปและเล่นเกมเท่านั้น แต่ถ้าเอาไปทำงานอย่างเขียนโปรแกรม, ตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงอาจจะทำงานได้ช้าลง แต่เมื่อเช็คข้อมูลกับหน้าเว็บไซต์ Crucial พบว่ารุ่นนี้เพิ่ม RAM ได้มากสุดถึง 32GB ซึ่งคาดว่าทาง Lenovo ระบุข้อมูลในหน้าเอกสารสเปคเชิงลึกเอาไว้ว่าเป็นความจุสูงสุดจากโรงงาน แต่น่าจะอัพเกรดเพิ่มเติมได้ ให้ดีผู้เขียนหวังว่าทาง Lenovo จะอัพเดท BIOS และหน้าเอกสารข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมว่า Lenovo LOQ 15APH8 เพิ่มแรมได้มากสุด 32GB ให้กลุ่มโปรแกรมเมอร์หรือครีเอเตอร์มั่นใจว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้แรงพอใช้ทำงานหนักของพวกเขาได้อย่างแน่นอน
Conclusion & Award
สำหรับ Lenovo LOQ 15APH8 เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นที่ออกมาแทน IdeaPad Gaming 3 ได้ดีมากแถมยังได้บอดี้แบบ Legion Series มาด้วย ทั้งดูดีและระบายความร้อนได้เยี่ยม ได้พอร์ต USB-C 3.2 Full Function ทำให้ไม่ต้องพกอแดปเตอร์ติดตัวไปด้วยเสมอ ตอบโจทย์คนหาโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งมาใช้เพราะต้องไปไหนมาไหนบ่อยๆ แล้วการประกอบพีซีไม่ตอบโจทย์หรืออยากได้เครื่องเดียวเหมาทุกหน้าที่ตั้งแต่พกออกไปนอกบ้านแล้วเอากลับมาต่อทำงานที่บ้านได้ด้วย และถ้าราคาตัวท็อป 46,990 บาทแพงเกินไป ก็มีรุ่นทางเลือกการ์ดจอ GeForce RTX 4050 ราคา 39,990 บาทให้เลือก แต่ประสิทธิภาพและฟีเจอร์ก็ดีไม่แพ้กันให้จบได้
Award
Best Performance
ประสิทธิภาพของ Ryzen 7 7840HS กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce ใน Lenovo LOQ ถือว่าแรงหายห่วง สามารถใช้ทำงานกราฟิคหรือตัดต่อวิดีโอได้สบายๆ ซึ่งถ้าใครเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์มือใหม่หรือบอกเลยว่าเครื่องนี้แรงพอทำงานให้จบได้แน่นอน
Best Gaming
ประสิทธิภาพของตัวท็อปการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 4060 หรือตัวรอง RTX 4050 จัดว่าแรงพอเล่นได้ทุกเกมในปัจจุบันบนจอ 1080p ยอดนิยมของเกมเมอร์ ตอบโจทย์คนที่อยากเล่นเกมแต่ไม่อยากได้พีซีอย่างแน่นอน