คีย์บอร์ดเกมมิ่งถ้าให้เลิศบอกเลยว่า TKL (Tenkeyless) คือยืนหนึ่งสำหรับเกมเมอร์
คีย์บอร์ดเกมมิ่งและคีย์บอร์ดใช้งานนั้นจะมีหลากหลายไซซ์ให้เลือกอย่างที่ผู้เขียนเคยอธิบายไปในบทความ “แนะนำ 5 คีย์บอร์ด Mechanical ทางเลือก งบพันเดียวเอาอยู่!” ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนก็มองหาตัวยาวแบบมี Numpad อย่าง 96-100% กันอย่างแน่นอน แต่ถ้าเน้นเรื่องเล่นเกมหรือใช้เลย์เอ้าท์คีย์บอร์ดโน๊ตบุ๊คจนคล่องแล้ว Numpad ก็ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น ซึ่งคีย์บอร์ดขนา TKL (Tenkeyless) ขนาด 75% ที่ตัด Numpad ทิ้งไปน่าจะตอบโจทย์ใครหลายๆ คนเพราะประหยัดพื้นที่ ลากเมาส์ไม่ติดตัวคีย์บอร์ดแต่ปุ่มที่ใช้งานเป็นประจำอย่าง F1-F12 ก็ยังอยู่ครบพร้อมใช้อีกด้วย
สำหรับเกมมิ่งคีย์บอร์ดในตอนนี้ นอกจากเป็นเกมมิ่งคีย์บอร์ดสำหรับกดคำสั่งคุมตัวละครในเกมได้แล้ว หลายๆ ตัวก็มีฟีเจอร์ตั้งค่าเพิ่มฟังก์ชั่นหรือปรับแต่งโปรไฟล์อื่นๆ เพิ่มเข้าไปให้เหมาะกับเกมแบบต่างๆ ยิ่งขึ้นหรือมีลูกเล่นอื่นๆ เพิ่มเติมอีกหลายอย่างเท่าที่ผู้ผลิตจะออกแบบมาให้เกมเมอร์ได้เลือกไปใช้กัน
6 คีย์บอร์ดเกมมิ่ง TKL ตัวเด็ดเหมาะกับเกมเมอร์สุดๆ จัดมาเล่นเกมเลยจบๆ
สำหรับคีย์บอร์ดในปัจจุบัน เชื่อว่าหลายๆ คนก็อยากให้เป็นแบบ 96-100% กัน แต่จริงๆ แล้วขนาดที่ผู้เขียนแนะนำเพราะว่าประหยัดพื้นที่และฟังก์ชั่นใช้งานหลักๆ ถือว่าเยอะเพียงพอใช้ทำงานและเล่นเกมแล้ว จะเป็นแบบ TKL (Tenkeyless) ขนาด 75% ที่ตัด Numpad ทิ้งไป แล้วกดตัวเลขที่แถบตัวเลขด้านบนแทน ซึ่งเกมเมอร์ที่กวาดเมาส์ไปมาในเกม FPS น่าจะชอบกันเพราะบอดี้ไม่กว้างเกินไปแล้วไม่ติดขอบตัวคีย์บอร์ดอย่างแน่นอน
สำหรับเกมมิ่งคีย์บอร์ด TKL แบบ Mechanical Keyboard ที่ผู้เขียนเลือกมาแนะนำในบทความนี้จะมีทั้งหมด 6 รุ่นด้วยกัน ซึ่งมีตั้งแต่รุ่นราคาช่วงสองพันบาทต้นๆ ดีไซน์พื้นฐานเรียบง่ายไปจนรุ่นที่มีลูกเล่นต่างๆ ให้ใช้กัน โดยมีรุ่นแนะนำดังนี้
- HyperX Alloy FPS Pro (2,590 บาท)
- Razer BlackWidow V3 (2,990 บาท)
- Logitech Pro X (3,990 บาท)
- Corsair K70 RGB TKL (4,590 บาท)
- SteelSeries Apex 7 TKL (6,290 บาท)
- ASUS ROG Claymore II (6,990 บาท)
1. HyperX Alloy FPS Pro (2,590 บาท)
ถ้าเป็นเกมมิ่งเกียร์ ส่วนตัวผู้เขียนก็ยังแนะนำแบรนด์ HyperX ที่ทำเกมมิ่งเกียร์ทั้งไมค์, หูฟัง, เมาส์ รวมถึงคีย์บอร์ดรุ่น HyperX Alloy FPS Pro ซึ่งเป็นดีไซน์ TKL ในซีรี่ส์ Alloy ของทางบริษัท ซึ่งจุดเด่นของคีย์บอร์ดตัวนี้เป็นเรื่องตัวเฟรมอลูมิเนียมอัลลอยด์ที่แข็งแรง, ใช้สวิตช์ Cherry MX และถอดสาย Mini USB ออกได้ ทำให้หิ้วไปใช้แข่งขันหรือเอาไปทำงานในออฟฟิศก็ได้ ถ้าเล่นเกมก็มี 100% Anti-Ghosting, N-Key rollover ครบถ้วน
ตัวคีย์บอร์ดจะเป็นดีไซน์ TKL พร้อมปุ่ม Multimedia hotkey ที่กดใช้งานได้โดยกด Fn ค้างเอาไว้ก่อนแล้วกด F1-F12 เพื่อสั่งงานได้เลย เป็นเลย์เอ้าท์แบบ 87 ปุ่ม พร้อมไฟสีแดงปรับได้ 6 เอฟเฟค สวิตช์ Cherry MX กดได้เกิน 50 ล้านครั้ง เลือกได้ทั้ง Cherry MX Red เป็นปุ่มแบบ Linear หรือ Cherry MX Blue (Clicky) ก็ได้ รองรับ PC, PlayStation 4 และ 5, Xbox Series X|S, Xbox One ด้วย เรียกว่าเป็นคีย์บอร์ดเกมมิ่งที่จะพกไปใช้งานในออฟฟิศหรือต่อเกมมิ่งพีซีที่บ้านก็เวิร์คทั้งคู่
สเปคของ Hyperx Alloy FPS Pro
- ดีไซน์ TKL แบบ 87 ปุ่ม มี 100% Anti-Ghosting, N-Key rollover และ Multimedia hotkey
- สวิตช์ Cherry MX Red (Linear) หรือ Cherry MX Blue (Clicky)
- เชื่อมต่อด้วยสาย Mini USB ถอดสายได้ มีไฟสีแดงเปลี่ยนโปรไฟล์แสง 6 แบบ
- รองรับ PC, PlayStation 4 และ 5, Xbox Series X|S, Xbox One
- ราคา 2,590 บาท (JIB)
2. Razer BlackWidow V3 (2,990 บาท)
ด้าน Razer เองก็มีคีย์บอร์ดเกมมิ่งดีไซน์ TKL ในซีรี่ส์ BlackWidow ที่ทางบริษัทผลิตและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในรุ่น Razer BlackWidow V3 เป็นรุ่นแนะนำเช่นกัน โดยจุดเด่นของคีย์บอร์ดตัวนี้นอกจากไฟ RGB ปรับแต่งสีได้ด้วยโปรแกรม Razer Chroma RGB และออกแบบด้านใต้บอดี้คีย์บอร์ดให้จัดสายได้ด้วย ทำให้โต๊ะของเกมเมอร์ดูมีระเบียบยิ่งกว่าเดิม นอกจากนี้ยังใช้สวิตช์ Mechanical ที่ Razer พัฒนาเอง เลือกได้ทั้งแบบ Tactile หรือ Clicky ก็ได้ บอดี้เป็นอลูมิเนียม ให้ความแข็งแรงและตั้งค่าปุ่มได้ด้วย Razer Synapse 3 อีกด้วย
ด้านดีไซน์ของตัวคีย์บอร์ดเป็น TKL แบบ 87 ปุ่มพร้อม Multimedia hotkey ที่กด Fn แล้วกด F1-F12 ก็ใช้งานได้เลย ไฟเป็น RGB ตั้งค่าเปลี่ยนสีได้ตามต้องการพร้อมฟีเจอร์เพื่อเกมเมอร์อย่าง 100% Anti-Ghosting, N-Key rollover ครบถ้วน ตั้งค่ามาโครแต่ละปุ่มได้อิสระ และอัด Macro ระหว่างใช้งานได้ทันที รองรับสูงสุด 5 โปรไฟล์ สวิตช์มี Razer Green Mechanical Switch (Clicky) หรือ Razer Yellow Mechanical Switch (Linear) เลือกได้ตามรสนิยมของแต่ละคน รองรับการใช้งานกับ PC เป็นหลัก ซึ่งถ้าใครชอบแบรนด์งูเขียวก็จะแนะนำให้ดูตัวนี้เอาไว้เล่นเกมได้เลย และราคาก็ไม่แพงมากอีกด้วย
สเปคของ Razer BlackWidow V3
- ดีไซน์ TKL แบบ 87 ปุ่ม มี 100% Anti-Ghosting, N-Key rollover และ Multimedia hotkey
- สวิตช์ Razer Green Mechanical Switch (Clicky) หรือ Razer Yellow Mechanical Switch (Linear)
- เชื่อมต่อด้วยสาย USB ไฟ RGB ตั้งค่าได้ใน Razer Chroma RGB เซ็ตโปรไฟล์และมาโครทั้งหมดบนคีย์บอร์ดได้ด้วยโปรแกรม Razer Synapse 3 และอัดมาโครได้ระหว่างใช้งานอีกด้วย
- รองรับ PC เป็นหลัก
- ราคา 2,990 บาท (Authorized Store By Cloud)
3. Logitech Pro X (3,990 บาท)
ฝั่ง Logitech เองก็มีคีย์บอร์ดเกมมิ่งรุ่นน่าสนใจอย่าง Logitech Pro X เป็นรุ่นที่ผู้เขียนเลือกมาแนะนำในบทความนี้ และเป็นรุ่นที่ทาง Logitech ทำการตลาดร่วมกับเกม MOBA อย่าง LoL โดยมีลวดลายพิเศษอย่างรุ่น “Pro League of Legends Edition” และ “K/DA” ให้เลือกด้วย เรียกว่านอกจากใช้งานดีแล้วยังจัดโต๊ะเกมมิ่งให้สวยขึ้น, มีไฟ RGB “LIGHTSYNC RGB”, ถอดสาย micro USB แล้วพกไปใช้ที่ไหนก็ได้ รวมทั้งตั้งมาโครที่ปุ่ม F1-F12 ได้อีกด้วย
ส่วนจุดเด่นที่รุ่นอื่นๆ ไม่มีกัน คือเป็นคีย์บอร์ดเกมมิ่งแบบ Hot swappable ถอดเปลี่ยนสวิตช์ได้ โดยตัวปุ่มจะเป็นแบบ 3 ขา คือมีขาหลักและขาลงแผ่นวงจรอีก 2 ขา ส่วนไฟ LED ที่ทำเอฟเฟคแสง LIGHTSYNC จะเป็นแบบ North facing (หันขึ้นบน) เรียกว่าถ้าใครอยากเข้าวงการ Custom Mechanical Keyboard แต่ก็มีโจทย์ว่าอยากใช้คีย์บอร์ดเกมมิ่งแบรนด์ชั้นนำด้วย ก็น่าดูรุ่นนี้เอาไว้เป็นตัวเลือกแรกๆ เลย
สเปคของ Logitech Pro X เป็นดีไซน์ TKL แบบ 87 ปุ่ม แต่ Multimedia hotkey จะมีแค่ปุ่ม F9-F12 ที่เอาไว้ใช้กับโปรแกรมเล่นเพลงต่างๆ มีไฟ RGB “LIGHTSYNC RGB” แยกปุ่ม ตั้งค่าได้ในโปรแกรม Logitech G HUB เหมือนเกมมิ่งเกียร์ชิ้นอื่นๆ ของทางบริษัท รวมทั้งตั้งค่ามาโครที่ปุ่ม F1-F12 ได้เลย พร้อม 100% Anti-Ghosting, N-Key rollover ครบถ้วน ส่วนสวิตช์ที่ติดตั้งมาให้เลือกได้ 3 แบบ คือ GX Blue Cliicky, GX Brown Tactile, GX Red Linear รองรับระบบปฏิบัติการตั้งแต่ Windows 7, macOS 10.11 เป็นต้นไป เรียกว่าเป็นคีย์บอร์ดเกมมิ่งที่จะเล่นเกมก็ดีทำงานก็โอเค และยัง Custom ให้เข้ากับรสนิยมการใช้งานของเราได้ด้วย
สเปคของ Logitech pro x
- ดีไซน์ TKL แบบ 87 ปุ่ม มี 100% Anti-Ghosting, N-Key rollover และ Multimedia hotkey ที่ปุ่ม F9-F12
- สวิตช์ GX Blue Cliicky, GX Brown Tactile, GX Red Linear เป็น Hot swappable แบบ 3 ขา ถอดเปลี่ยนปุ่มได้
- เชื่อมต่อด้วยสาย micro USB ไฟ RGB “LIGHTSYNC RGB” ตั้งค่าได้ในโปรแกรม Logitech G HUB และอัดมาโครไว้ที่ปุ่ม F1-F12 ได้อีกด้วย
- รองรับระบบปฏิบัติการตั้งแต่ Windows 7, macOS 10.11 เป็นต้นไป
- ราคา 3,990 บาท (Logishop)
4. Corsair K70 RGB TKL (4,590 บาท)
ด้านแบรนด์เกมมิ่งเกียร์ที่เกมเมอร์หลายๆ คนยอมรับอย่าง Corsair จะมีคีย์บอร์ดรุ่น Corsair K70 RGB TKL ที่ถึงหน้าตาจะดูเรียบง่าย เฟรมอลูมิเนียมแข็งแรงพร้อมปุ่ม Multimedia hotkey แยกเฉพาะสำหรับกดคุมโปรแกรมเล่นเพลงได้โดยไม่ต้องกด Fn แล้ว จุดเด่นที่สุดคือมี Tournament Switch ที่เป็นสวิตช์เลื่อนขึ้นลงด้านหลังคีย์บอร์ดติดมาให้ ซึ่งถ้าสับสวิตช์เปิดจะเปลี่ยนไฟ RGB เป็นไฟโทนเดียว, ป้องกันการกดปุ่มมาโครผิดพลาดได้ และตั้งค่าโปรไฟล์ไฟ RGB รวมทั้งดูสถานะตัวเครื่องทั้งหมดได้ด้วยโปรแกรม Corsair iCue ได้เลย
ตัว Corsair K70 RGB TKL จะเป็นคีย์บอร์ดแบบ 91 ปุ่ม โดยเป็นปุ่มชุดหลักกับปุ่ม Multimedia hotkey โดยเฉพาะอีก 8 ปุ่ม และมีลูกล้อหมุนปรับ Volume ลำโพง มี 100% Anti-Ghosting, N-Key rollover ครบถ้วน เชื่อมต่อด้วยสาย USB แบบถอดสายได้ จึงพกไปไหนมาไหนได้สะดวก ส่วนสวิตช์มี 2 แบบ คือ Cherry MX RGB Red หรือ Cherry MX RGB Speed Silver ซึ่งเป็นสวิตช์ Linear ทั้งคู่ แต่ Speed Silver จะตอบสนองเร็วกว่า Red พอควร และรองรับการตั้งค่า Marco คีย์บอร์ดอีกด้วย ถือเป็นคีย์บอร์ดเกมมิ่งที่เหมาะกับเกมเมอร์ที่เล่นเกมสาย FPS, MOBA แล้วชอบเล่นไต่แรงค์เป็นประจำเป็นอย่างมาก
สเปคของ Corsair K70 RGB TKL
- ดีไซน์ TKL แบบ 91 ปุ่ม มี 100% Anti-Ghosting, N-Key rollover และ Multimedia hotkey แยกเฉพาะอีก 8 ปุ่ม
- สวิตช์ Cherry MX RGB Red หรือ Cherry MX RGB Speed Silver เป็น Linear ทั้งคู่
- เชื่อมต่อด้วยสาย USB มีไฟ RGB ตั้งค่าได้ในโปรแกรม Corsair iCue บันทึกมาโครได้
- รองรับ PC เป็นหลัก
- ราคา 4,590 บาท (JIB)
5. SteelSeries Apex 7 TKL (6,290 บาท)
แบรนด์เกมมิ่งเกียร์อย่าง SteelSeries เองก็มีคีย์บอร์ดเกมมิ่ง TKL ที่เรียกว่าล้ำไปเลยให้เลือกเหมือนกัน โดยเป็นรุ่น SteelSeries Apex 7 TKL ที่บอดี้เป็นอลูมิเนียมระดับอากาศยาน แข็งแรงสวยงามแล้ว ยังมีที่รองข้อมือแถมมาให้ใช้งาน, ติดตั้งหน้าจอ OLED เอาไว้ให้ใช้งาน โดยความพิเศษคือ ถ้าเราตั้งค่ามาโครของคีย์บอร์ดเอาไว้ใน SteelSeries Engine แล้ว ก็ปรับโปรไฟล์ของคีย์บอร์ดได้ง่ายดาย เพียงแค่กดปุ่มแล้วหมุนลูกล้อเปลี่ยนโปรไฟล์ได้ทันทีและทำงานร่วมกับโปรแกรมต่างๆ เช่น Discord, Tidal ฯลฯ ได้ด้วย นอกจากนี้ยังอัดมาโครเก็บเอาไว้ได้ 6 แบบ, มี Multimedia hotkey กดได้โดยกด Fn ค้างแล้วกด F9-F12 คุมการทำงานได้ทันที, มีไฟ RGB และโครงด้านใต้ตัวเครื่องยังจัดทางออกสายไฟได้อีกด้วย เรียกว่าถึงค่าตัวจะสูงสักหน่อยแต่สิ่งที่ได้กลับมาถือว่าคุ้มค่าไม่น้อยทีเดียว
ตัวคีย์บอร์ดเป็นดีไซน์ TKL มี 84 ปุ่ม พร้อม 100% Anti-ghosting, N-Key rollover และไฟ RGB ครบถ้วน แต่จะถอดสาย USB ไม่ได้ แลกกับการมีช่องจัดสายไฟใต้ตัวคีย์บอร์ดแทน ส่วนสวิตช์จะเป็นของ SteelSeries เอง ในรุ่น SteelSeries QX2 เลือกได้ทั้ง Red (Linear), Brown (Tactile), Blue (Clicky) รองรับการกดได้ 50 ล้านครั้ง รองรับระบบปฏิบัติการ Windows 7, macOS 10.11, Xbox, PlayStation โดยต่อผ่านพอร์ต USB แล้วใช้งานได้เลย เรียกว่าเป็นคีย์บอร์ดเกมมิ่งสเปคล้ำน่าสนใจมากรุ่นหนึ่ง
สเปคของ SteelSeries Apex 7 TKL
- ดีไซน์ TKL แบบ 84 ปุ่ม มี 100% Anti-Ghosting, N-Key rollover และ Multimedia hotkey, อัดมาโครได้ 6 แบบ มีจอ OLED กับลูกล้อและปุ่มกดสำหรับกดตั้งค่าและเปลี่ยนโปรไฟล์ได้ด้วย
- สวิตช์ SteelSeries QX2 เลือกได้ทั้ง Red (Linear), Brown (Tactile), Blue (Clicky)
- เชื่อมต่อด้วยสาย USB มีไฟ RGB ตั้งค่าได้ในโปรแกรม SteelSeries Engine
- รองรับระบบปฏิบัติการ Windows 7, macOS 10.11, Xbox, PlayStation
- ราคา 6,290 บาท (BaNANA)
6. ASUS ROG Claymore II (6,990 บาท)
ถึงหน้าตาของ ASUS ROG Claymore II จะดูแล้วไม่เป็น TKL เหมือนกับรุ่นก่อนหน้านี้ที่ผู้เขียนเลือกมาแนะนำ แต่จริงๆ แล้ว นี่คือ TKL ซ่อนรูปที่ถอด Numpad ด้านขวาออกได้ หรือจะใส่สลับตำแหน่งให้อยู่ฝั่งซ้ายมือก็ได้ เรียกว่าเป็นคีย์บอร์ดเกมมิ่งที่อยู่ในโหมดทำงานก็ได้สลับไปเล่นเกมก็ดี และมีที่วางข้อมือแถมมาให้ในแพ็คเกจอีกด้วย
จุดเด่นของคีย์บอร์ดตัวนี้นอกจากบอดี้อลูมิเนียม, ใช้งานแบบไร้สายหรือมีสายก็ได้ โดยถ้าเปิดไฟแล้วใช้งานไร้สาย ทาง ASUS เคลมว่าแบตเตอรี่ 4,000 mAh ในตัวใช้เล่นเกมได้นานสุด 43 ชั่วโมง, มี USB-C สำหรับชาร์จแบตเตอรี่แบบรวดเร็วและต่อคอมพิวเตอร์ได้กับ USB-A Passthrough สำหรับต่อหูฟังหรือเมาส์เพิ่มได้, มีไฟ RGB “Aura Sync”, มีปุ่ม Hotkey เฉพาะเหนือ Numpad ตั้งค่าได้ในโปรแกรม Armoury Crate ว่าจะใช้กดเปลี่ยนเพลง/ปุ่มลัดสำหรับทำงาน/ปุ่มสกิลแบบตั้งมาโคร ฯลฯ ได้เลยตามที่เราต้องการและตั้งคีย์ลัดได้สูงสุด 6 ปุ่ม มีไฟแสดงปริมาณแบตเตอรี่คงเหลือในตัว เรียกว่าถึงจะแพงแต่ซื้อมาเล่นเกมแล้วโดนใจแน่นอน
ตัวคีย์บอร์ดเป็นลูกผสม Full-size 100% ถอด Numpad ทิ้งเป็น 80% ได้ พร้อม 100% Anti-ghosting, N-Key rollover, ฟังก์ชั่น Windows Lock และไฟ RGB “Aura Sync” ครบถ้วน ถอดสาย USB-C ออกแล้วใช้ USB Wireless ต่อคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกมก็ได้และตอบสนองเร็วมากเหมือนใช้สาย USB ตามปกติ ส่วนสวิตช์เป็น ASUS RX Switch ที่ตัวปุ่มตอบสนองเร็ว, ไม่มีอาการปุ่มโยกคลอนกวนใจและ ASUS เคลมว่าสวิตช์นี้กดได้มากสุด 100 ล้านครั้งทีเดียว เลือกได้ทั้ง ROG RX Red (Linear) และ ROG RX Blue (Clicky) ได้ทั้งหมด รองรับระบบปฏิบัติการ Windows 10 หรือใหม่กว่าเท่านั้น ดังนั้นถ้าเกมเมอร์ต้องการคีย์บอร์ดเกมมิ่งดีๆ ลงทุนคุ้มค่าสักตัวก็แนะนำให้ดูตัวนี้เอาไว้ได้เลย
สเปคของ ASUS ROG Claymore II
- ดีไซน์ลูกผสม Full-size 100% ถอด Numpad ทิ้งเป็น 80% มี 100% Anti-Ghosting, N-Key rollover, ฟังก์ชั่น Windows Lock และไฟ RGB “Aura Sync”
- สวิตช์ ASUS RX Switch มี ROG RX Red (Linear) และ ROG RX Blue (Clicky)
- เชื่อมต่อด้วยสาย USB-C หรือไร้สาย USB Wireless ใช้งานได้นานสุด 43 ชั่วโมง ตั้งค่ามาโครและการทำงานทั้งหมดได้ในโปรแกรม Armoury Crate
- มี USB-A Passthrough, ปุ่ม Hotkey เฉพาะเหนือ Numpad, ตั้งมาโครได้ 6 ปุ่ม
- รองรับระบบปฏิบัติการ Windows 10
- ราคา 6,990 บาท (JIB)
สรุปสเปคของคีย์บอร์ดเกมมิ่ง TKL 6 รุ่น ตัวไหนมีอะไรเด็ดบ้าง?
จะเห็นว่าคีย์บอร์ดเกมมิ่งขนาด TKL ในปัจจุบันนี้มีให้เลือกหลากหลายรุ่นและราคาก็ไม่แพงมาก ขึ้นอยู่กับฟีเจอร์ที่เกมเมอร์ต้องการไว้ใช้เล่นเกม ซึ่งถ้าสรุปสเปคจะเป็นดังนี้
สเปคของคีย์บอร์ดเกมมิ่ง | ดีไซน์ | สวิตช์ | การเชื่อมต่อ | ระบบปฏิบัติการ | ราคา |
HyperX Alloy FPS Pro | TKL แบบ 87 ปุ่ม 100% Anti-Ghosting N-Key rollover Multimedia hotkey |
Cherry MX Red (Linear) Cherry MX Blue (Clicky) |
Mini USB | PC PlayStation 4 และ 5 Xbox Series X|S Xbox One |
2,590 บาท |
Razer BlackWidow V3 | TKL แบบ 87 ปุ่ม 100% Anti-Ghosting N-Key rollover Multimedia hotkey |
Razer Green Mechanical Switch (Clicky) Razer Yellow Mechanical Switch (Linear) |
USB | PC เป็นหลัก ตั้งค่า RGB ด้วย Razer Chroma RGB ตั้งค่ามาโครและการใช้งานด้วย Razer Synapse 3 |
2,990 บาท |
Logitech Pro X | TKL แบบ 87 ปุ่ม 100% Anti-Ghosting N-Key rollover Multimedia hotkey ที่ปุ่ม F9-F12 |
GX Blue Cliicky GX Brown Tactile GX Red Linear เป็น Hot swappable |
micro USB | Windows 7 เป็นต้นไป macOS 10.11 เป็นต้นไป ตั้งค่าคีย์บอร์ดทั้งหมดได้ใน Logitech G HUB |
3,990 บาท |
Corsair K70 RGB TKL | TKL แบบ 91 ปุ่ม 100% Anti-Ghosting N-Key rollover Multimedia hotkey แยกเฉพาะ 8 ปุ่ม Tournament Switch |
Cherry MX RGB Red Cherry MX RGB Speed Silver เป็น Linear ทั้งคู่ |
USB | PC เป็นหลัก ตั้งค่า RGB ด้วย Corsair iCUE |
4,590 บาท |
SteelSeries Apex 7 TKL | TKL แบบ 87 ปุ่ม 100% Anti-Ghosting N-Key rollover Multimedia hotkey อัดมาโครได้ 6 แบบ ปรับได้ที่ชุดหน้าจอ OLED พร้อมปุ่มกดตั้งค่า |
SteelSeries QX2 มีสวิตช์ 3 สี ได้แก่ Red (Linear) Brown (Tactile) Blue (Clicky) |
USB | Windows 7 macOS 10.11 Xbox PlayStation เฉพาะ PC ตั้งค่าคีย์บอร์ดได้ใน SteelSeries Engine |
6,290 บาท |
ASUS ROG Claymore II | Full-size 100% ถอด Numpad ทิ้งเป็น 80% N-Key rollover Multimedia hotkey Windows Lock USB-A Passthrough ปุ่ม Hotkey เฉพาะ เหนือ Numpad ตั้งมาโครได้ 6 ปุ่ม |
ASUS RX Switch เลือกได้ 2 แบบ ROG RX Red (Linear) ROG RX Blue (Clicky) |
USB-C USB Wireless ใช้งานไร้สายได้นานสุด 43 ชั่วโมง |
Windows 10 ตั้งค่าคีย์บอร์ดได้ใน Armoury Crate |
6,990 บาท |
ถ้าดูแล้ว จะเห็นว่าผู้เขียนโฟกัสเลือกแต่ Mechanical Keyboard มาให้ใช้เล่นเกมกัน เนื่องจากว่าคีย์บอร์ดประเภทนี้จะทนทานใช้งานได้นานกว่าคีย์บอร์ดทั่วไป, ตอบสนองได้ไวและทางผู้ผลิตเน้นทำมาเพื่อเกมเมอร์โดยเฉพาะ จึงมีฟีเจอร์สำหรับเกมมิ่งใส่มาให้เต็มพิกัด ส่วนเรื่องความแข็งแรงเรียกว่าหายห่วง ใช้งานได้นานหลายปีและมีประกันหลังการขายคอยดูแลให้สบายใจด้วย
ส่วนตัวก่อนจะซื้อคีย์บอร์ดเกมมิ่งมาเล่นเกมสักตัว ผู้เขียนแนะนำว่าควรดูสไตล์ของเกมที่เราเล่นก่อนว่าเราเน้นฟีเจอร์ไหนของคีย์บอร์ดนั้นๆ เป็นพิเศษบ้าง อยากเล่นไร้สายหรือตั้งค่ามาโครได้หลายๆ แบบ จะได้ออกสกิลตอนเล่นเกม RPG ได้สะดวก ซึ่งทั้งหมดนั้นมีผลต่อการเลือกซื้อทั้งหมด ถ้าใครเป็นสายเล่นดิบๆ ไม่ต้องตั้งมาโครอะไรมากมายก็คงเลือกซื้อได้ไม่ยาก แต่ถ้าใครเป็นสาย RPG, MOBA ก็ควรดูเรื่องมาโครเผื่อไว้ จะได้เลือกคีย์บอร์ดมาเล่นเกมได้อย่างมีความสุข