คีย์บอร์ด Mechanical ถือเป็นเกมมิ่งเกียร์ที่เกมเมอร์หลายคนอยากซื้อมาใช้กับเกมมิ่งพีซีหรือโน๊ตบุ๊คที่บ้านเพราะสัมผัสการพิมพ์และการตอบสนองนั้นถูกใจเกมเมอร์หลายต่อหลายคน โดยเฉพาะสวิตช์สีน้ำเงินที่มีเสียงตอนกดเป็นเอกลักษณ์และได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง และมีแบรนด์ชั้นนำผลิตคีย์บอร์ดออกมาหลายกหลายรุ่นหลายขนาดให้เกมเมอร์ได้เลือกซื้อไปใช้งานกัน แต่หลาย ๆ รุ่นก็ราคาแพงอยู่ที่หลักพันบาทขึ้นไปกันทั้งนั้น
จริง ๆ แล้ว Mechanical Keyboard นั้นสามารถหาซื้อได้ในราคาต่ำพันอยู่หลายแบรนด์ถ้าเราไม่ติดว่าเป็นแฟนคลับของแบรนด์ไหนเป็นพิเศษ ซึ่งแบรนด์รองหลาย ๆ ยี่ห้อก็มีคุณภาพดีไม่แพ้กับแบรนด์หลักหลาย ๆ รุ่น รวมทั้งราคาย่อมเยาว์กว่าด้วย
เห็นตัวเล็ก ๆ แบบนี้ ไฟ RGB ก็มีเหมือนกันนะเออ
รูปทรงและขนาดของคีย์บอร์ด Mechanical
ตัว Mechanical Keyboard นั้น นอกจากสวิตช์ที่มีหลากหลายสีทั้งดำ, แดง, น้ำตาล และน้ำเงินแล้วก็ยังมีเรื่องของขนาดอีกด้วย เพราะรสนิยมและการใช้งานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สินค้าชิ้นเดียวก็เลยไม่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ทุกกลุ่มได้ เราก็เลยเห็นว่าแบรนด์เกมมิ่งเกียร์แบรนด์หนึ่งจะมีคีย์บอร์ดและเมาส์ขายอยู่หลายรุ่นหลายดีไซน์เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้หลาย ๆ กลุ่มนั่นเอง
ถ้าพูดถึงรูปทรง (Form factors) ของคีย์บอร์ด Mechanical หลัก ๆ แล้วจะมี 4 แบบหลัก ได้แก่
1. คีย์บอร์ด Full size ครบ 104 ปุ่ม
คีย์บอร์ด Mechanical และคีย์บอร์ดทั่วไปที่เราเห็นอยู่เป็นประจำนั้น จะเป็นแป้นคีย์บอร์ดขนาดใหญ่ที่มีปุ่มครบทั้ง 104 ปุ่ม หรือที่เรียกว่า Full size keyboard เป็นขนาดมาตรฐานที่ผู้ผลิตเกมมิ่งเกียร์ทุกแบรนด์ทำออกมาขายอย่างแน่นอน จึงหาซื้อได้ง่ายที่สุดและมีฟังก์ชั่นครบถ้วน นอกจากนี้บางแบรนด์ก็อาจจะเพิ่มฟีเจอร์พิเศษเข้าไปตรงพื้นที่เหนือโซนปุ่ม Numpad อีกด้วย
สำหรับข้อสังเกตคือตัวแป้นจะมีขนาดใหญ่ ทำให้เวลาใช้งานจะต้องจัดพื้นที่บนโต๊ะและปรับค่า DPI ของเมาส์สักนิด มือของเราจะได้ไม่ชนเข้ากับแป้นคีย์บอร์ดจนเสียจังหวะนั่นเอง
2. คีย์บอร์ด Tenkeyless (TKL) หรือ 80%
Tenkeyless หรือ TKL ก็เป็นคีย์บอร์ด Mechanical ยอดนิยมอีกขนาดหนึ่ง บางคนอาจเรียกว่าขนาด 80% เพราะถ้าเอาคีย์บอร์ด Full size เป็นตัวตั้ง TKL จะตัดแป้น Numpad ออกไปซึ่งหายไป 20% จากคีย์บอร์ดขนาดปกติ ซึ่ง TKL เหมาะกับเกมเมอร์ที่โต๊ะเล็กหรือไม่อยากเปลืองพื้นที่บนโต๊ะแต่ก็ต้องการฟังก์ชั่นเทียบเท่า Full size ส่วนปุ่มตัวเลขก็อาจจะใช้วิธีเปลี่ยนภาษาแล้วกดตรงแถบใต้ปุ่ม F1-F12 แทนก็ได้
ข้อดีของ TKL เมื่อแป้น Numpad หายไป เกมเมอร์ที่ตั้งค่า DPI ของเกมมิ่งเมาส์ต่ำ ๆ จะลากเมาส์มาไม่โดนคีย์บอร์ด ไม่เสียจังหวะเวลาเล่นเกมอย่างแน่นอน ส่วนผู้เขียนเห็นว่าคีย์บอร์ดแบบ TKL ใช้งานได้สะดวกและไม่ต้องปรับตัวมากนัก เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการกดตัวเลขจาก Numpad มาเป็นการเปลี่ยนภาษาแล้วกดที่คีย์บอร์ดแถวใต้ปุ่ม F1-F12 เท่านั้น
3. คีย์บอร์ด 75% Layout แบบโน๊ตบุ๊ค
คีย์บอร์ดแบบ 75% จะยิ่งสั้นเข้ามาอีก สังเกตว่าตัวคีย์บอร์ดไม่มีพื้นที่ว่างเลยและมีแต่ปุ่มอย่างเดียว นั่นเพราะโซนปุ่ม F1-F12, ปุ่มคำสั่ง Insert, Home, Page Up, Page Down ฯลฯ โดนร่นเข้ามาติดกับชุดแป้นพิมพ์หลัก รวมถึงปุ่ม F1-F12 ก็ถูกรวบเข้ามาอยู่กับปุ่มตัวเลขบรรทัดบนสุดด้วย เวลากดปุ่ม F1-F12 ก็ต้องกดปุ่ม Fn ค้างเอาไว้ก่อนถึงจะใช้ได้ เป็น Layout คล้ายกับคีย์บอร์ดโน๊ตบุ๊คนั่นเอง
ข้อดีของคีย์บอร์ด Mehcanical ขนาดนี้คือเราสามารถพกคีย์บอร์ดติดตัวไปไหนมาไหนได้ และบางรุ่นก็รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth เข้ากับอุปกรณ์อื่นพร้อมกันสูงสุด 3 ชิ้น เพียงกดปุ่ม Fn แล้วสลับไปมาระหว่างอุปกรณ์ได้เลย ดังนั้นถ้าใครมีแท็บเล็ต Android หรือ iPad แล้วคีย์บอร์ดของแท็บเล็ตเหล่านั้นพิมพ์ไม่สนุกเท่าที่ควรก็อาจจะมองคีย์บอร์ดกลุ่มนี้เอาไว้ก็ได้
4. คีย์บอร์ด 60% คีย์บอร์ดขนาดเล็ก มีแค่ 61 ปุ่ม
ถ้าคีย์บอร์ด 75% ว่าสั้นแล้ว แบบ 60% ก็ยิ่งสั้นกว่าเดิม เพราะรวบเอาปุ่มคำสั่ง Insert, Page Up, Page Down ฯลฯ เข้ามาอยู่ในปุ่มหลักด้วย ส่วนปุ่มลูกศรก็ถูกเอามาทับกับปุ่ม Alt, ปุ่มคลิกขวาบนคีย์บอร์ด, Ctrl ฝั่งขวามือ และปุ่มลูกศรชี้ขึ้นบนจะทับกับตัวอักษร “ฝ” บนแป้นภาษาไทย เวลาจะกดปุ่มเหล่านี้ก็ต้องกด Fn ค้างไว้ก่อนถึงจะเปลี่ยนเป็นปุ่มแบบเดิมที่ไม่ใช่ปุ่มลูกศร
ปัจจุบันผู้เขียนใช้คีย์บอร์ดแบบ 60% เป็นคีย์บอร์ดหลักมาร่วมสองสัปดาห์แล้วพบข้อดีคือตัวคีย์บอร์ดมีขนาดเล็กไม่กินพื้นที่ เวลาลากเมาส์ตอนเล่นเกมแนว FPS นิ้วโป้งก็ไม่โดนคีย์บอร์ดเหมือนตอนใช้คีย์บอร์ด Mechanical ขนาด Full size และถ้าคีย์บอร์ดนั้นต่อ Bluetooth ได้ก็สามารถพกใส่กระเป๋าเป้ไปใช้งานตามสถานที่ต่าง ๆ ได้สะดวกกว่าแบบ 75% เสียอีก
ส่วนข้อสังเกตคือเวลากดปุ่ม ฝ, ฦ, /, ? ที่กลายเป็นปุ่มลูกศรชี้ขึ้นนั้นต้องอาศัยการปรับตัวจากที่เคยกดได้เลยก็ต้องเลื่อนมือมากด Fn ค้างไว้ก่อนแล้วค่อยกดปุ่มเหล่านี้ได้ ซึ่งแม้จะใช้เวลาอยู่บ้างแต่แลกกับการได้ใช้คีย์บอร์ดขนาดเล็กก็จัดว่าไม่เลวเช่นกัน
5 คีย์บอร์ด Mechanical งบพันเดียวน่าใช้
คีย์บอร์ด Mechanical ทางเลือกน่าใช้ในงบพันเดียวปัจจุบันนี้หาซื้อได้ง่ายมากตามร้านค้าออนไลน์เว็บไซต์ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ถ้าเราไม่เน้นฟีเจอร์เสริมอย่างการกดมาโครหรืออื่น ๆ ก็น่าซื้อคีย์บอร์ดเหล่านี้มาใช้งานกว่าคีย์บอร์ดยาง Rubber Dome ทั่วไปเพราะสัมผัสการพิมพ์และใช้งานดีกว่ามาก
อย่างไรก็ตามถ้าเลือกสั่งซื้อจากเว็บไซต์ต่างประเทศขอแนะนำดูค่าส่งสินค้า (Shipping) ให้ดี เพราะบางร้านอาจจะคิดค่าส่งแพงเกือบครึ่งหนึ่งของตัวคีย์บอร์ดเลย จึงควรหาซื้อแบบ Free Shipping หรือถ้ามีค่าส่งก็ควรเทียบกันให้ราคาถูกที่สุด ส่วนคีย์บอร์ด Mechanical แนะนำทั้ง 5 รุ่นแนะนำจะมีดังนี้
- Marvo KG902 (750 บาท)
- Royal Kludge RK61 (29.29 ดอลลาร์ หรือราว 900 บาท)
- Royal Kludge RK71 (29.77 ดอลลาร์ หรือราว 914 บาท)
- PICTEK PC305 (29.25 ดอลลาร์ หรือราว 898 บาท)
- Metoo ZERO (26.06 ดอลลาร์ หรือราว 800 บาท)
1. Marvo KG902 (750 บาท)
แบรนด์ Marvo นั้นเป็นแบรนด์เกมมิ่งเกียร์จากฮ่องกงที่ผลิตเกมมิ่งคีย์บอร์ดและเมาส์ออกมาหลายรุ่นแล้วเกมเมอร์ชาวไทยรู้จักดีพอควร แต่รุ่นนี้มีราคาแตกต่างกันไปตามผู้ขายตั้งแต่ 750 บาทไปจนถึง 1,200 บาท เวลาหาซื้อขอแนะนำให้รอช่วงเซลส์ราคาพิเศษหรือดูบนเว็บไซต์ขายสินค้าชื่อดังจะหาซื้อราคาพิเศษได้ง่ายขึ้น
ตัวคีย์บอร์ด KG902 เป็นแบบ Full size มีปุ่มครบทุกปุ่ม ทำให้เกมเมอร์ใช้งานได้สะดวกและไม่ต้องปรับตัวมากนัก ใช้สวิตช์สีฟ้าของ Outemu ให้สัมผัสการพิมพ์แบบ Tactile สามารถกดได้ 50 ล้านครั้ง เชื่อมต่อด้วยสาย USB 2.0 ความยาว 1.5 เมตร รองรับระบบปฏิบัติการ Windows 7 หรือใหม่กว่า และตัวคีย์บอร์ดมีไฟ RGB อีกด้วย ซึ่งตัวสวิตช์ Outemu นั้นจัดว่าแข็งแรงและใช้งานได้หลายปีโดยไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนเคยใช้สวิตช์ดังกล่าวมาหลายปีก็ไม่พบปัญหาระหว่างใช้งานเลย
สเปคของ Marvo KG902
- รูปทรงคีย์บอร์ดแบบ Full size มีไฟ RGB
- ปุ่มเป็นสวิตช์สีฟ้าจาก Outemu รองรับการกด 50 ล้านครั้ง
- เชื่อมต่อด้วยสาย USB 2.0 ความยาว 1.5 เมตร
- ใช้กับระบบปฏิบัติการ Windows 7 หรือใหม่กว่า
- ราคา 750-1,200 บาท
2. Royal Kludge RK61 (29.29 ดอลลาร์ หรือราว 900 บาท)
Royal Kludge ก็เป็นผู้ผลิตคีย์บอร์ด Mechanical จากประเทศจีนที่คุณภาพดีน่าใช้ไม่แพ้กับแบรนด์ดังรายอื่นเช่นกัน ซึ่ง RK61 รุ่นนี้เป็น Mechanical Keyboard แบบ 60% มี 61 ปุ่ม ขนาดจึงเล็กกว่าคีย์บอร์ดรุ่นอื่น ๆ สามารถเชื่อมด้วยสาย USB-C ของสมาร์ทโฟนหรือต่อ Bluetooth 2.4 เข้ากับอุปกรณ์อื่นได้มากสุด 3 ชิ้นพร้อมกัน กดสลับด้วยการกด Fn กับปุ่ม Q, W หรือ E ตามที่เราเชื่อมต่อไว้ได้เลย ส่วนแบตเตอรี่ในตัวมีขนาด 800 mAh และมีฟีเจอร์ 10-Key Rollover เวลาเล่นเกมแล้วกดหลายปุ่มพร้อมกันคีย์บอร์ดจะไม่เกิดอาการปุ่มรวนหรือไม่รับคำสั่ง ถ้ากด Fn+Windows จะล็อคปุ่ม Windows ไม่ให้ทำงาน เวลาเผลอไปกดโดนก็จะไม่เปิด Start menu ขึ้นมารบกวนตอนเล่นเกมด้วย
โดยสวิตช์มีให้เลือกหลายสีทั้ง Blue, Red, Black, Brown ตามการใช้งานของเรา ซึ่งสามารถสั่งได้จากเว็บไซต์ Aliexpress ได้และให้สัมผัสการพิมพ์ที่ดีทีเดียวและปุ่มคีย์บอร์ดสามารถกดได้ร่วม 50 ล้านครั้ง ส่วนราคาอยู่ที่ 29.29 ดอลลาร์ หรือราว 900 บาท
สำหรับผู้เขียนได้ซื้อ Royal Kludge RK61 รุ่นนี้มาใช้งานและเป็นคีย์บอร์ดแบบ Brown Switch หลังจากการทดลองใช้งานมาร่วม 2 สัปดาห์แล้วสามารถพูดได้ว่าเป็นคีย์บอร์ด Mechanical ที่งานประกอบแข็งแรงและใช้งานได้ดีเกินราคารุ่นหนึ่ง จะติดเพียงในช่วงแรกที่การวางตัวปุ่มนั้นแตกต่างจากคีย์บอร์ด Full size ที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้อยู่บ้างจึงต้องปรับตัวตอนเริ่มใช้งานในระยะแรก ๆ ซึ่งปุ่ม ฝ, ฦ, /, ? จะต้องกดปุ่ม Fn ค้างไว้ก่อนถึงจะใช้ได้และไม่มีขาตั้งด้านหลังคีย์บอร์ดจึงกางขาเพื่อยกแป้นคีย์บอร์ดขึ้นไม่ได้
การตอบสนองตอนเล่นเกม FPS จัดว่าทำได้ดีมากและไม่เจอปัญหาปุ่มเพี้ยนตอนกดเปลี่ยนปืนเลย ซึ่งถ้าเล่นเกมขอแนะนำให้เชื่อมต่อด้วยสาย USB-C จะดีที่สุด ตัวคีย์บอร์ดถ้ากดปุ่ม Fn กับ \ แล้วจะเป็นการเปลี่ยนเอฟเฟคแสงไฟบนคีย์บอร์ดได้ด้วย ส่วนการกดปุ่มคำสั่งอื่น ๆ เช่น PrtSc, Insert, Home, Page Up, Page Down ฯลฯ ต้องกด Fn กับปุ่มบนคีย์บอร์ด
ส่วนการพกพาไปใช้งานที่ร้านกาแฟหรือสถานที่ต่าง ๆ เนื่องจากเป็น Brown Switch ที่อาจจะมีเสียงบ้างแต่ก็ไม่ดังรบกวนเท่า Blue Switch จึงใช้งานได้โดยไม่ส่งเสียงรบกวนมากเกินไป และเมื่อเชื่อมต่อคีย์บอร์ดเข้ากับอุปกรณ์ด้วย Bluetooth แล้วก็ใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาสัญญาณหลุดหรือทำงานไม่เสถียรเลย ดังนั้นถ้าใครเล็งรุ่นนี้เอาไว้ก็แนะนำให้ซื้อมาใช้ได้เลย
สเปคของ Royal Kludge RK61
- รูปทรงคีย์บอร์ดแบบ 60% มีรุ่นไฟ RGB หรือแบบไฟสีเดียว เปลี่ยนเอฟเฟคแสงไฟบนคีย์บอร์ดได้
- ปุ่มเป็นสวิตช์สีฟ้า, แดง, ดำ, น้ำเงิน รองรับการกด 50 ล้านครั้ง
- เชื่อมต่อด้วยสาย USB-C หรือ Bluetooth 2.4
- ใช้กับระบบปฏิบัติการ Windows, Android, iOS ได้
- ราคา 29.29 ดอลลาร์ หรือราว 900 บาท (Aliexpress)
3. Royal Kludge RK71 (29.77 ดอลลาร์ หรือราว 914 บาท)
ถ้าไม่ชอบการกดปุ่ม Fn บ่อย ๆ คิดว่า Royal Kludge RK71 ดีไซน์คีย์บอร์ดแบบ 75% นั้น จะตอบโจทย์ผู้ใช้มากกว่าเพราะแยกปุ่มลูกศรและปุ่มคำสั่งต่าง ๆ ออกมาเป็นปุ่มเฉพาะ ไม่ต้องกด Fn ค้างเอาไว้แบบ RK61 ทำให้ใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น ถึงตัวคีย์บอร์ดก็จะยาวขึ้นเล็กน้อยแต่ก็ยังพกใส่กระเป๋าเป้หรือย่ามติดตัวไปทำงานตามร้านกาแฟได้สะดวกเหมือนกัน
สเปคของ RK71 และความรู้สึกตอนใช้งานเหมือนกับ RK61 แต่ตัวคีย์บอร์ดจะยาวขึ้นเป็น 75% ซึ่งจะพิมพ์สะดวกและปุ่มลูกศรไม่มาทับปุ่ม “ฝ” แล้ว ส่วนราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 29.77 ดอลลาร์หรือราว 914 บาท เชื่อมต่อผ่าน USB-C หรือ Bluetooth 2.4 เหมือนกัน และเลือกสีสวิตช์ได้อีกด้วย
สเปคของ Royal Kludge RK71
- รูปทรงคีย์บอร์ดแบบ 75% มีรุ่นไฟ RGB หรือแบบไฟสีเดียว เปลี่ยนเอฟเฟคแสงไฟบนคีย์บอร์ดได้
- ปุ่มเป็นสวิตช์สีฟ้า, แดง, ดำ, น้ำเงิน รองรับการกด 50 ล้านครั้ง
- เชื่อมต่อด้วยสาย USB-C หรือ Bluetooth 2.4
- ใช้กับระบบปฏิบัติการ Windows, Android, iOS ได้
- ราคา 29.77 ดอลลาร์ หรือราว 914 บาท (Aliexpress)
4. PICTEK PC305 (29.25 ดอลลาร์ หรือราว 898 บาท)
PICTEK PC305 นั้นเป็นคีย์บอร์ด Mechanical ทางเลือกอีกรุ่นราคาไม่แพงและสั่งซื้อได้จาก Aliexpress ด้วย โดยดีไซน์จะเป็นแบบ Full size ทำให้ใช้งานได้สะดวกเหมือนคีย์บอร์ดทั่วไป และราคาไม่แพงมากเพียง 29.25 ดอลลาร์ หรือราว 898 บาทเท่านั้น
ตัวคีย์บอร์ดใช้สวิตช์สีน้ำเงิน รองรับการกดได้ 50 ล้านครั้ง ส่วนตัวปุ่มรองรับการกดได้ 10 ล้านครั้ง และออกแบบตัวแป้นให้ส่วนกลางของคีย์บอร์ดโค้งลงทำให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น มี Full-Key Rollover เวลากดปุ่มบนคีย์บอร์ดหลายปุ่มพร้อมกันแล้วไม่เกิดอาการรวน มีขาตั้งคีย์บอร์ดเอาไว้ยกตัวคีย์บอร์ดให้สูงขึ้นได้ มีปุ่มเปลี่ยนเอฟเฟคไฟ RGB บนคีย์บอร์ดได้ 9 แบบ เชื่อมต่อด้วยสาย USB ความยาว 1.6 เมตร
ส่วนฟีเจอร์พิเศษคือมีช่องระบายน้ำด้วย เวลาดื่มน้ำแล้วเผลอหกบนคีย์บอร์ดแล้วก็ไม่ขังแล้วทำให้ตัวสวิตช์หรือชิ้นส่วนอื่น ๆ บนคีย์บอร์ดเสียหายได้ด้วย ดังนั้นถ้าใครชอบดื่มน้ำเวลาเล่นเกมแล้วกลัวหกใส่คีย์บอร์ดก็สามารถเลือกซื้อคีย์บอร์ดนี้ไปใช้งานได้เลย
สเปคของ PICTEK PC305
- รูปทรงคีย์บอร์ดแบบ Full size เปลี่ยนเอฟเฟคไฟ RGB ได้ 9 แบบ
- ปุ่มเป็นสวิตช์สีฟ้า รองรับการกด 50 ล้านครั้ง
- เชื่อมต่อด้วยสาย USB 2.0 ยาว 1.6 เมตร
- ใช้กับระบบปฏิบัติการ Windows
- ราคา 29.25 ดอลลาร์ หรือราว 898 บาท (Aliexpress)
5. Metoo ZERO (26.06 ดอลลาร์ หรือราว 800 บาท)
Metoo ZERO นั้นอาจจะไม่ค่อยได้ยินชื่อในประเทศไทยมากนักแต่จริง ๆ แล้วเป็นคีย์บอร์ด Mechanical ทางเลือกน่าใช้อีกรุ่นหนึ่ง เป็นคีย์บอร์ดแบบ TKL มี 87 ปุ่ม ดีไซน์ให้ตัวคีย์บอร์ดกับปุ่มเป็นแบบ Floating คือตัวแป้นกับปุ่มจะห่างกัน ทำให้เราดึง Keycap ออกจากสวิตช์เพื่อเปลี่ยนหรือทำความสะอาดได้ง่ายไม่ต้องใช้ตัวดึงปุ่มคีย์บอร์ด ตัวคีย์บอร์ดเป็นอลูมิเนียมแข็งแรงแถมดีไซน์ดูล้ำสมัยด้วย ราคา 26.06 ดอลลาร์ หรือราว 800 บาท
ตัวคีย์บอร์ดเลือกสีได้ทั้งสีฟ้า, ดำ, แดง สามารถกดได้ 50 ล้านครั้งและออกแบบให้ตัวคีย์บอร์ดโค้งตรงกลางตัวและเปลี่ยนเอฟเฟคไฟ RGB ได้ 10 แบบ มี Anti-Ghosting 6 ปุ่ม เวลากดหลายปุ่มพร้อมกันแล้วไม่เกิดอาการปุ่มรวน ส่วนการเชื่อมต่อใช้สาย USB ยาว 1.5 เมตร รองรับทั้ง Windows และ macOS ได้ สามารถกดปุ่ม Fn+Windows เพื่อล็อคปุ่ม Windows ได้ด้วย
สเปคของ Metoo ZERO
- รูปทรงคีย์บอร์ดแบบ TKL เปลี่ยนเอฟเฟคไฟ RGB ได้ 10 แบบ
- ปุ่มเป็นสวิตช์สีฟ้า, ดำ, แดง รองรับการกด 50 ล้านครั้ง
- เชื่อมต่อด้วยสาย USB 2.0 ยาว 1.5 เมตร
- ใช้กับระบบปฏิบัติการ Windows, macOS
- ราคา 26.06 ดอลลาร์ หรือราว 800 บาท (Aliexpress)
สรุป – คีย์บอร์ด Mechanical รุ่นไหนดี
สเปคของคีย์บอร์ดแต่ละรุ่นที่นำมาแนะนำในบทความนี้มีรายละเอียดแตกต่างกันตามการออกแบบของผู้ผลิต ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
รุ่น / สเปค | ดีไซน์ | สวิตช์ | เชื่อมต่อ | ระบบปฏิบัติการ | ราคา |
Marvo KG902 | Full size | สีฟ้า Outemu รองรับการกด 50 ล้านครั้ง |
สาย USB 2.0 ยาว 1.5 เมตร |
Windows 7 หรือใหม่กว่า | 750-1,200 บาท |
Royal Kludge RK61 | 60% มีไฟ RGB หรือไฟสีเดียว มีปุ่มเปลี่ยนไฟ |
สีฟ้า, แดง, ดำ, น้ำเงิน รองรับการกด 50 ล้านครั้ง |
USB-C หรือ Bluetooth 2.4 |
Windows Android iOS |
29.29 ดอลลาร์ หรือราว 900 บาท |
Royal Kludge RK71 |
75% มีไฟ RGB หรือไฟสีเดียว มีปุ่มเปลี่ยนไฟ |
สีฟ้า, แดง, ดำ, น้ำเงิน รองรับการกด 50 ล้านครั้ง |
USB-C หรือ Bluetooth 2.4 |
Windows Android iOS |
29.77 ดอลลาร์ หรือราว 914 บาท |
PICTEK PC305 | Full size เปลี่ยนเอฟเฟคไฟ RGB ได้ 9 แบบ |
สวิตช์สีฟ้า รองรับการกด 50 ล้านครั้ง | สาย USB 2.0 ยาว 1.6 เมตร |
Windows | 29.25 ดอลลาร์ หรือราว 898 บาท |
Metoo ZERO | TKL เปลี่ยนเอฟเฟคไฟ RGB ได้ 10 แบบ |
สีฟ้า, ดำ, แดง รองรับการกด 50 ล้านครั้ง | สาย USB 2.0 ยาว 1.5 เมตร |
Windows macOS |
26.06 ดอลลาร์ หรือราว 800 บาท |
สำหรับการเลือกคีย์บอร์ด Mechanical นอกจากจะเลือกให้เข้ากับรูปแบบการใช้งานของเราแล้ว ก็ควรเลือกสวิตช์ให้เหมาะสมด้วย เช่นถ้าเราใช้งานคีย์บอร์ดอยู่ในบ้านอย่างเดียวและไม่พกติดตัวไปไหนเลยก็อาจจะเลือกสวิตช์สีฟ้าไว้ใช้งานก็ได้ เพราะถ้าเราใช้งานในห้องนอนของตัวเองอย่างเดียวจะเสียงดังสักหน่อยก็ไม่รบกวนผู้อื่น
กลับกันถ้าเราเลือกเป็นคีย์บอร์ดแบบ 60% หรือ 75% แบบต่อ Bluetooth ได้เพราะอยากจะพกติดตัวไปใช้งานกับแท็บเล็ตหรือโน๊ตบุ๊คของเราที่ร้านกาแฟหรือ Co-working space แล้ว ก็ควรเลือกสวิตช์สีดำ, แดง, น้ำตาล ที่เสียงเบากว่าเพื่อไม่รบกวนคนอื่นจะดีที่สุดเพราะไม่สร้างความรำคาญให้ใครและเราก็ได้ใช้คีย์บอร์ดแบบที่เราชอบอีกด้วย