เวลาจะซื้อ MacBook เครื่องใหม่มาใช้ ก็มักเลี่ยงการเอา MacBook Air Vs Pro ไม่ได้ ยิ่งถ้ามีคนใกล้ตัวเชียร์เพิ่มอีกสักหน่อย ก็มักไปจบกับ MacBook Pro อยู่หลายครั้งเพราะคิดว่าจะซื้อเผื่อเอาไว้ก่อน เวลาจำเป็นก็ใช้ได้เลยไม่ต้องกังวล ซึ่งบางคนแค่ MacBook Air ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว
ในบทความนี้เราจะหยิบ MacBook Air vs Pro กัน ว่าจะมีจุดเด่นในส่วนไหนและควรพิจารณาอะไรก่อนจะเลือกซื้อมาใช้งาน จะได้คุ้มค่าและตอบโจทย์การใช้งานของเรา โดยรุ่นที่นำมาเทียบกันมี MacBook Air ชิป Apple M1, MacBook Pro 13 นิ้ว ชิป Apple M1, MacBook Pro 13 นิ้ว ซีพียู Intel Core i5 รุ่นที่ 10 และ MacBook Pro 16 นิ้ว ซีพียู Intel Core i7 รุ่นที่ 9
สำหรับผู้อ่านที่อยากรู้เรื่องชิป Apple M1 ก่อนเปรียบเทียบ MacBook Air Vs Pro สามารถอ่านได้ที่นี่
เทียบสเป็ก MacBook Air Vs Pro
MacBook Air | MacBook Pro 13 นิ้ว | MacBook Pro 13 นิ้ว | MacBook Pro 16 นิ้ว | |
ซีพียู | Apple M1 | Apple M1 | Intel Core i5 รุ่นที่ 10 | Intel Core i7 รุ่นที่ 9 |
แรม | 8GB สูงสุด 16GB | 8GB สูงสุด 16GB | 16 GB สูงสุด 32GB | 16GB สูงสุด 64GB |
หน้าจอ |
13.3 นิ้ว |
13.3 นิ้ว (2560 x 1600) |
13.3 นิ้ว (2560 x 1600) |
16 นิ้ว (3072 x 1920) |
พอร์ต | Thunderbolt 3 x 2 ช่อง + หูฟัง | Thunderbolt 3 x 2 ช่อง + หูฟัง | Thunderbolt 3 x 4 ช่อง + หูฟัง | Thunderbolt 3 x 4 ช่อง + หูฟัง |
Touchbar | ไม่มี | มี | มี | มี |
การ์ดจอ | GPU 7 หรือ 8 แกน ในชิป M1 | GPU 8 แกนในชิป M1 | Intel Iris Plus Graphics | AMD Radeon Pro 5300M (4GB) |
SSD | สูงสุด 2TB | สูงสุด 2TB | สูงสุด 4TB | สูงสุด 10TB |
น้ำหนัก | 1.2 กิโลกรัม | 1.4 กิโลกรัม | 1.4 กิโลกรัม | 1.9 กิโลกรัม |
ราคาเริ่มต้น | 32,900 บาท | 42,900 บาท | 59,900 บาท | 75,900 บาท |
MacBook Air
MacBook รุ่นเริ่มต้นมีน้ำหนักเบาพกพาสะดวกทำให้ใคร ๆ ก็มักคิดถึงอยู่เสมอ ในรุ่นนี้ที่ใช้ Apple M1 แล้วทำให้ตัวเครื่องมีประสิทธิภาพดีและประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น สื่อต่างประเทศได้ทดสอบระยะเวลาใช้งานของ MacBook Air เมื่องานทั่วไปแบบต่อเนื่องจะอยู่ได้ราว 14 ชั่วโมง ถ้าใช้งานทั่ว ๆ ไป ไม่ได้เป็นงานหนัก เช่น การเรนเดอร์วิดีโอก็จะใช้งานได้นานกว่านั้นอีก
สำหรับ MacBook Air นั้นเหมาะกับผู้ใช้งานทั่วไปและนักเรียนนักศึกษา เพราะสเป็กนี้เพียงพอสำหรับการใช้ทำงานเอกสาร, ท่องเว็บไซต์, แต่งภาพ, ตัดต่อวิดีโอ Vlog สั้น ๆ ก็ยังได้ แถมยังรองรับแอพจาก iPhone, iPadOS ได้อีกด้วย
จุดพิจารณา คือ MacBook Air รุ่นเริ่มต้นนั้นจะใช้ชิป Apple M1 รุ่น GPU 7 แกนเท่านั้น ส่วนรุ่นราคา 41,400 บาท จะได้ชิปรุ่นที่ GPU 8 แกน ซึ่งผู้ใช้งานแอพฯ แต่งภาพหรือตัดต่อวิดีโอค่อนข้างบ่อยก็ควรเลือกใช้เป็นรุ่นนี้น่าจะตอบโจทย์การใช้งานได้ดีกว่า
MacBook Pro 13 นิ้ว (Apple M1)
ถ้าเพิ่มเงินอีก 1,500 บาท เป็น 42,900 บาท จะได้ขยับจาก MacBook Air รุ่น GPU 8 แกน เป็น MacBook Pro 13 นิ้ว ชิป Apple M1 ซึ่งนี่เป็นรุ่นสุดคุ้ม ตอบโจทย์คนรับฟรีแลนซ์แต่งภาพ, ตัดต่อคลิปและผู้ใช้งานโปรแกรม 3 มิติ เช่น Maya ก็ใช้งานได้
ส่วนของฮาร์ดแวร์จะได้ฟีเจอร์เสริมอย่าง Touch Bar เอามาใช้งานควบคู่กับแอพฯ ต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งในตอนแรกอาจจะต้องปรับตัวบ้าง และเมื่อคุ้นเคยก็น่าจะได้ใช้งานเป็นระยะ ๆ ตัวเครื่องมีน้ำหนักมากกว่า MacBook Air แค่ 0.2 กิโลกรัม ระยะเวลาใช้งานที่สื่อต่างประเทศได้ทดสอบได้ผลว่า MacBook Pro ใช้งานได้นานกว่า MacBook Air 2 ชั่วโมง รวมเป็น 16 ชั่วโมง และอาจจะนานกว่านั้นตามการใช้งาน
ข้อสังเกตจุดเดียวคือ MacBook Pro 13 นิ้ว ชิป Apple M1 จะมีพอร์ต Thunderbolt 3 เพียง 2 ช่องเหมือนกับ MacBook Air ส่วน MacBook Pro ซีพียู Intel จะมีพอร์ต Thunderbolt 3 เป็น 4 ช่อง ถ้าต้องเเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมหลายชิ้นอาจจะอึดอัดสักหน่อย
MacBook Pro 13 นิ้ว (Intel Core i5)
MacBook Pro ซีพียู Intel Core i5 รุ่นที่ 10 ก็ยังเป็นตัวเลือกหลักของผู้ใช้หลาย ๆ คนอยู่ เพราะยังรองรับการทำงานกับแอพฯ ต่าง ๆ ได้ดีและโปรแกรมเมอร์ยังใช้เขียนโปรแกรมภาษาต่าง ๆ ได้โดยสมบูรณ์ เพราะชิปของ Apple ยังไม่รองรับการ Coding กับบางภาษา รวมถึง Docker ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้ทำงานร่วมกับชิปรุ่นนี้อยู่ นอกจากนี้ยังมีบั๊กระหว่าง Coding อยู่ประปราย
ข้อดีอีกอย่างคือในรุ่นนี้จะติดตั้งพอร์ต Thunderbolt 3 มาครบ 4 ช่อง ทำให้ต่ออุปกรณ์เสริมหลายชิ้นโดยไม่อึดอัด ได้ SSD ความจุ 512GB อีกด้วย ส่วนรุ่น Apple M1 จะมีความจุเริ่มต้นเพียง 256GB เท่านั้น
แบตเตอรี่ของ MacBook Pro รุ่นนี้จะใช้งานต่อเนื่องได้ราว 10 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นอาจจะต้องเตรียมสายชาร์จเผื่อเอาไว้ถ้าต้องทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมง รวมทั้งราคารุ่น Intel Core i5 ยังสูงถึง 59,900 บาท เมื่อสั่งอัพเกรดราคาก็จะแพงขึ้นอีก
MacBook Pro 16 นิ้ว
MacBook Pro 16 นิ้ว เป็น MacBook สเป็กแรงจัดเต็ม ช่วยให้ทำงานกราฟิกสามมิติหรือตัดต่อไฟล์วิดีโอความละเอียดสูงรวมทั้งเขียนโปรแกรมขนาดใหญ่ได้สบาย ๆ เหมาะกับคนที่มีโจทย์ว่าอยากได้ MacBook ไว้ทำงานโปรเจคใหญ่ ๆ และต้องพกพาติดตัวไปได้ด้วย
รุ่นเริ่มต้นใช้ซีพียู Intel Core i7 รุ่นที่ 9 มีแรมในรุ่นเริ่มต้นสูงถึง 16GB ติดตั้งกราฟิกการ์ดแยก AMD Radeon Pro 5300M ทำให้ตัดต่อไฟล์และเรนเดอร์หนัง 4K ได้รวดเร็ว ซึ่งเป็นจุดที่รุ่น 16 นิ้ว เหนือกว่ารุ่น 13 นิ้ว ที่เลือกติดตั้งกราฟิกการ์ดแยกไม่ได้แล้ว หน้าจอมีความละเอียดสูงสุดในกลุ่ม MacBook ด้วยกันที่ 3072 x 1920 พิกเซล ส่วนแบตเตอรี่เมื่อใช้งานต่อเนื่องจะใช้ได้ราว 10 ชั่วโมง
ถ้าสเป็กเริ่มต้นยังไม่แรงพอ ยังเลือกอัพเกรดเป็น Intel Core i9 รุ่นที่ 9 และกราฟิกการ์ดเป็น AMD Radeon Pro 5500M แรมการ์ดจอ 4 หรือ 8GB ก็ได้ ถ้าเป็น AMD Radeon Pro 5600M จะได้เป็นหน่วยความจำแบบ HBM2 แทน ทำให้ทำงานได้ประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นอีก
(เครดิตภาพทั้งหมดจาก Apple)
จุดพิจารณาเดียวของ MacBook Pro 16 นิ้ว คือราคาที่เริ่มต้นสูงถึง 75,900 บาท แต่ก็มีประสิทธิภาพสูงจนไม่ต้องอัพเกรดเป็นรุ่นใหม่ได้อีกหลายปี อย่างไรก็ตามรุ่นนี้มีตัวเลือกให้อัพเกรดเครื่องได้หลากหลายมาก ถ้าเลือกสเป็กสูงสุดทุกรายการจะมีราคาสูงถึง 226,400 บาท
นาทีนี้ Apple M1 หรือ Intel?
เราจะเห็นว่าตอนนี้ Apple พยายามเปลี่ยนซีพียูบน MacBook จาก Intel มาใช้ชิปของตัวเองให้หมดภายใน 2 ปี ตามที่ประกาศเอาไว้ในงาน WWDC2020 และชิป Apple M1 ก็มีประสิทธิภาพดีมากทั้งการทำงานและรองรับแอพฯ ต่าง ๆ ของใน iOS, iPadOS ได้อีกด้วย จึงเป็นข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตามซีพียู Intel ก็ไม่ใช่จะไม่ดีเสียทีเดียว เนื่องจากตัวชิปนั้นยังรองรับการทำงานกับโปรแกรมทั่วไปได้ดีและมีบั๊กน้อยกว่าการทำงานผ่าน Rosetta 2 รวมทั้งการเขียนโปรแกรมในภาษาต่าง ๆ ซึ่งโปรแกรมเมอร์ยังจำเป็นต้องใช้เพื่อให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ทว่าราคาก็ยังสูงและประมวลผลได้ช้ากว่า Apple M1 อย่างเห็นได้ชัดจนประสิทธิภาพต่อราคาดูจะไม่คุ้มค่าเท่าไหร่
(เครดิตภาพจาก pixabay)
แต่นักพัฒนาโปรแกรมและภาษาโปรแกรมมิ่งต่าง ๆ ก็ไม่นิ่งนอนใจและประกาศพัฒนาตัวภาษาและโปรแกรมของตัวเองให้รองรับการทำงานกับ Apple M1 แบบ native เช่นกัน เพื่อลดบั๊กจากการประมวลผลผ่าน Rosetta 2 ตัวอย่างเช่น The Verge ที่ทดลองใช้ Adobe รันผ่าน Rosetta 2 บน Apple M1 ก็ยังพบปัญหาเรื่อง bitrate เพี้ยนอยู่บ้างเช่นกัน
รวมภาษาและ Dev tools หลัก ๆ ใช้งานได้/ไม่ได้บน Apple m1
Virtualization
- Docker – ยังใช้ไม่ได้เพราะรอ Golang อยู่ คาดว่าจะรองรับแบบ native ก่อนกุมภาพันธ์ 2021
- VMWare – ยังใช้ไม่ได้ กำลังพัฒนาให้รองรับแบบ native อยู่ ยังไม่ประกาศวันเวลาชัดเจน
- Parallels Desktop – ยังใช้ไม่ได้ รอพัฒนาให้รองรับ native แต่ไม่รู้เวลาชัดเจน
- VirtualBox – ไม่รองรับและไม่ประกาศเวลารองรับ
Tools
- Homebrew – ยังไม่รองรับแต่ใช้งานผ่าน Rosetta 2 ได้ ทว่าประสบการณ์ใช้งานไม่ดี
IDEs
- Eclipse – ใช้งานบน Rosetta 2 ได้แล้ว
- Visual Studio Code – ใช้งานผ่าน Rosetta 2 ได้แล้ว มีเวอร์ชั่นทดสอบเพื่อ Apple M1 ด้วย และเช็คปัญหาได้ผ่านทาง GitHub
- JetBrains IDEs – ส่วนใหญ่ใช้งานผ่าน Rosetta 2 ได้แล้ว แต่ยังไม่เป็น native เช็คสถานะที่หน้าเว็บ JetBrains
- Android Studio – ส่วนของ IDE ใช้งานได้ ส่วน Android emulators ยังไม่ได้
ภาษาต่าง ๆ
- Java – ใช้งานได้แบบ native
- Node.js – ใช้งานผ่าน Rosetta 2 ได้แต่ไม่เป็น native เช็คสถานะได้ที่ GitHub
- Python – ใช้งานได้ใกล้เคียง native แต่ยังเจอปัญหาอยู่บ้าง อ่านได้ที่นี่
- R – ใช้งานได้แต่ไม่เป็น native สามารถเช็คได้ที่บล็อกนี้
- Golang – มีบั๊กการทำงานกับ Rosetta 2 แต่ประกาศรองรับ native ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021
- Rust – ใช้งานบน Rosetta 2 ได้แต่ไม่ทราบเวลาพัฒนาให้เป็น native
Frameworks
- .NET / .NET Core – .NET 5 ใช้งานได้ผ่าน Rosetta 2 แต่ .NET 6 ยังใช้งานได้บางส่วน อ่านรายละเอียด
- Flutter – ใช้งานผ่าน Rosetta 2 ได้แต่ต้องเป็นเครื่องจริงไม่ใช่ Virtual Machine สามารถอ่านปัญหาได้ที่ GitHub
- Electron – รองรับแบบ native ตั้งแต่เวอร์ชั่น 11.0.0. เป็นต้นไป
Libraries
- Tensorflow – รองรับแบบ native โดย Apple ทำการ Fork เอง
บทสรุป MacBook Air Vs Pro ซื้อตัวไหน?
สุดท้ายการเลือกซื้อ MacBook หรือโน้ตบุ๊กเครื่องใหม่มาใช้งานแล้วก็ต้องดูตามประเภทงานของเราเป็นหลัก ซึ่งประสิทธิภาพการทำงานของชิป Apple M1 นั้นนับว่าเหนือกว่า Intel อย่างเห็นได้ชัดและคุ้มราคากว่าอีกด้วย
จากมุมมองของผู้เขียนจะจำแนกกลุ่มผู้ใช้ว่าเหมาะกับ MacBook รุ่นไหนออกเป็นดังนี้;
MacBook Air (Apple M1) – พนักงานออฟฟิศทั่วไปและนักเรียนนักศึกษาที่ใช้เพื่อการเรียนและตัดต่อคลิปบ้างเป็นบางโอกาส ไม่ได้ใช้โปรแกรมที่กินทรัพยากรมากบ่อย ๆ โดยแอพฯ หลักที่ใช้จะเป็นกลุ่มเว็บเบราเซอร์, Office และ แอพฯ ติดเครื่องของ Apple เป็นหลัก
MacBook Pro 13 นิ้ว (Apple M1) – เช่นเดียวกับกลุ่มบน หากมีกำลังการซื้อมากพอสามารถเลือกรุ่นนี้ได้เลย รวมทั้งกลุ่มรับงานถ่ายภาพ, ตัดต่อวิดีโอแบบฟรีแลนซ์ก็เหมาะเช่นกัน เพราะแบตเตอรี่ใช้งานได้นานกว่าอีก 2 ชั่วโมง ทำให้ทำงานได้เต็มที่ยิ่งขึ้น
MacBook Pro 13 นิ้ว (Intel Core i5 รุ่น 10) – กลุ่มโปรแกรมเมอร์ เนื่องจากตอนนี้ชิป Apple M1 ยังรองรับการทำงานกับภาษาและโปรแกรมต่าง ๆ ได้ไม่เต็มที่เท่าซีพียู Intel ที่รองรับได้ทั้งหมด แต่แบตเตอรี่จะใช้งานได้เพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น
MacBook Pro 16 นิ้ว (Intel Core i7 รุ่น 9) – กลุ่มโปรแกรมเมอร์, ครีเอทีฟและคนทำภาพยนตร์ที่ต้องรันโปรเจคงานใหญ่ที่กินทรัพยากรมาก ๆ เหมาะสมกับรุ่นนี้ที่สุด เพราะประสิทธิภาพสูงที่สุดในกลุ่มในทุกด้าน แลกกับราคาของตัวเครื่องที่สูงสักหน่อย
สุดท้ายเมื่อเลือก MacBook ที่เข้ากับการใช้งานของเราแล้ว และบางคนที่ปรับลดสเป็กของตัวเองลงมาก็สามารถนำเงินส่วนต่างไปเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น USB-C Hub และอื่น ๆ เพื่อช่วยให้เราทำงานได้สะดวกขึ้นก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีเช่นกัน
ส่วนผู้อ่านที่ต้องการอัพเดทข่าวสารและบทความใหม่ ๆ เกี่ยวกับ Apple สามารถคลิกอ่านได้ที่นี่