เมื่อช่วงที่ผ่านมาทาง Apple ได้เปิดตัว iPad Air 4 ที่มาพร้อมกับชิปประมวลผลตัวใหม่อย่าง A14 Bionic ที่ก็ได้เรียกเสียงฮือฮาจากเหล่าแฟน ๆ Apple ได้พอสมควร และล่าสุดนั้น ก็ได้มีคะแนน benchmark จากการทดสอบผ่านแอพพลิเคชัน Geekbench ออกมา ซึ่งเจ้าชิปประมวลผล A14 ตัวนี้ก็ทำคะแนนได้สูงเลยทีเดียว
จากการทดสอบประสิทธิภาพของชิปประมวลผล A14 จากแอพพลิเคชั่น Geekbench พบว่า ชิป A14 นั้นสามารถทำคะแนนไปได้ถึง 1583 คะแนน สำหรับ Single-Core และทำได้ 4198 ในส่วนของ Multi-Core เมื่อเปรียบเทียบกับ ชิป A12Z Bionic ที่อยู่ใน iPad Pro 2020 นั้น พบว่าทำได้ดีกว่าในส่วนของ Single-Core ซึ่ง iPad Pro ทำได้ 1119 คะแนน แต่ในส่วนของ Multi-Core นั้นยังแพ้ A12Z อยู่ โดยคะแนนที่ iPad Pro 2020 ทำได้ในส่วนของ Multi-Core นั้นอยู่ที่ 4542 คะแนน
นอกจากนี้ ชิปปะมวลผล A14 นี้ยังมีการคาดการณ์ว่าจะถูกใส่เข้ามาใน iPhone รุ่นใหม่อย่าง iPhone 12 ด้วย และหากเปรียบเทียบคะแนนที่ได้จากการทดสอบในครั้งนี้กับชิปประมวลผล A13 Bionic ที่อยู่ใน iPhone 11 นั้น ชิป A14 ทำคะแนนได้สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยชิป A13 Bionic ทำได้ 1334 คะแนน สำหรับ Single-Core และทำได้ 3512 สำหรับ สำหรับ Multi-Core
ผลทดสอบชิป A14 Bionic ของ iPad Air 4
ในส่วนของความเร็วสัญญาณนาฬิกานั้น A14 มีความเร็วสัญญาณนาฬิกาอยู่ที่ 2.99GHz เพิ่มขึ้นจาก A13 Bionic ใน iPhone 11 Pro ที่มีความเร็วสัญญาณนาฬิกา 2.67GHz และจากคะแนนผลการทดสอบประสิทธิภาพดังกล่าว จะเห็นได้ว่า Apple ได้จัดการทำให้ประสิทธิภาพของชิปประมวลผลเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30%
ทางเว็บไซต์ iPhoneHacks ยังได้กล่าวอีกว่า คะแนนของชิป A14 ในส่วน Single-Core นั้นสูงกว่า CPU Intel Core i7-10700 8-core แต่คะแนน Multi-Core ของ CPU Intel นั้นยังคงทำได้ดีกว่า จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าใน MacBook ที่จะออกมาในอนาคตนั้นจะมีประสิทธิภาพสูงดีที่ดีขึ้นและสามารถจัดการกับความร้อนได้ดีขึ้นเพียงไหน
อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบนี้เป็นเพียงผลการทดสอบผ่านแอพพลิเคชันเท่านั้น และในส่วนของคะแนนที่ทาง iPhoneHacks ได้นำไปเทียบกับชิปประมวลผลของ Intel นั้น เป็นเพียงการเทียบเคียงด้านตัวเลข ในส่วนของประสืทธิภาพและการทำงานค่อนข้างแตกต่างกันไปตามประเภทของการใช้งาน โดย CPU Intel นั้นเป็นชิปประมวลผลที่ทำงานในคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ส่วน A14 ที่นำมาทดสอบนั้น เป็นชิปประมวลผลที่ทำงานใน iPad Air 4 ดังนั้น ประสิทธิภาพการใช้งานจริง ๆ นั้นก็คาดว่าน่าจะมีแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการใช้งานในอุปกรรณ์แต่ละประเภท
ที่มา: iPhoneHacks