คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์เป็นหนึ่งในไอเท็มที่สำคัญมากสำหรับคอมพิวเตอร์ PC และ Notebook เพราะมันมีหน้าที่สำหรับพิมพ์สื่อสารโต้ตอบในกรณีทำงานหรือเขียนโปรแกรมรวมถึงใช้ควบคุมบังคับตัวละครในกรณีที่เล่นเกมและในปัจจุบันเจ้าไอเท็มชนิดนี้ก็มีการพัฒนากันอย่างก้าวกระโดดเพื่อตอบสนองการใช้งานเฉพาะทางกันไป แต่ในวันนี้เราจะมาย้อนอดีตกันว่าก่อนที่จะมาเป็นคีย์บอร์ดสุดทันสมัยที่เราเล่นกันนั้น ในสมัยก่อนยุคที่เพิ่งมีคอมพิวเตอร์พวกเขาใช้คีย์บอร์ดแบบไหนประเภทใดกันบ้างครับ
Commodore PET (1977)
เริ่มแรกก็ขอประเดิมด้วยคีย์บอร์ดจาก Commodore ที่เป็นคอมพิวเตอร์ไปในตัวเพราะมีทั้งหน้าจอมอนิเตอร์กับคีย์บอร์ดเชื่อมติดกันพร้อมกับมีที่ใส่เทปคาสเซ็ตให้ด้วยซึ่งในคีย์บอร์ดของ Commodore PET ตัวนี้ก็ถือว่าเป็นต้นแบบของคีย์บอร์ดในยุคปัจจุบันก็ว่าได้เพราะมีการแบ่งหมวดหมู่แป้นตัวอักษรกับแป้นตัวเลขออกจากกันชัดเจนครับ
VideoBrain Family Computer (1978)
ก็เป็นอีกหนึ่ง PC ที่มีคีย์บอร์ดเชื่อมติดกับตัวเครื่องแต่ลักษณะของมันจะดูแปลกตาไปหน่อยด้วยจำนวนปุ่มที่น้อยมากเพียง 36 ปุ่มเท่านั้นไม่มีการแยกแป้นตัวอักษรกับแป้นตัวเลขออกจากกัน อีกทั้งตัวปุ่มทั้งหมดถูกเคลื่อนมาอยู่ตรงกลางแถมปุ่ม Shift ดันไปอยู่ด้านขวามือแทนปุ่ม Enter อีกด้วยก็ถือว่าเป็นคีย์บอร์ดที่แปลกและใช้งานค่อนข้างยากแน่นอนสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย
Interact Home Computer (1978)
มาถึงคีย์บอร์ดจากเครื่อง Interact Home Computer ซึ่งจะเน้นการตกแต่งด้วยโทนสีดำซึ่งรวมไปถึงแป้นคีย์บอร์ดด้วยที่จะเป็นแป้นสีดำทะมึนขนาดเล็ก 52 ปุ่มโดยจะมีตัวอักษรกำกับด้านบนแทนที่จะอยู่ในแป้นและการจัดเรียงของมันก็อยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ปุ่ม Backspace จะอยู่ด้านล่างแทน
Atari 400 (1979)
มาถึง PC ของค่าย Atari บ้างที่มาในรุ่น Atari 400 ที่ตัวคีย์บอร์ดของมันนั้นถือว่าออกแบบดีทีเดียวด้วยรูปร่างการจัดเรียงที่สวยงามน่าใช้ถึงแม้จะไม่มีการแยกแผ้นตัวเลขออกจากกันแต่การจัดวางของมันก็มีความรู้สึกว่าใช้ง่าย พร้อมกับรูปร่างของแป้นกดที่ไม่เหมือนใครสามารถกดลงได้ง่ายแถมยังทำความสะอาดง่ายอีกด้วย
Sinclair ZX80 (1980)
สำหรับ Sinclair ZX80 ดูไม่เหมือนเป็นคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์แต่เหมือนเป็นเครื่องคิดเลขเสียมากกว่าด้วยรูปร่างที่เล็กพร้อมกับปุ่มกดที่ให้มาตามมาตรฐานซึ่งก็เหมาะกับมือใหม่หัดพิมพ์ในยุคนั้นและโปรแกรมเมอร์แต่ดูจากขนาดของมันแล้วพิมพ์มือเดียวน่าถนัดกว่าสองมือนะครับ
Tandy Color Computer (1980)
คีย์บอร์ดของ Tandy Color Computer หรือชื่อเล่นของมัน CoCo ก็มาในรูปแบบที่ใช้ง่ายอีกตัวหนึ่งโดยตัวแป้นจะทำจากพลาสติกสีเทาพร้อมกับปุ่มกดตัวอักษรที่ใหญ่ชัดเจนแต่ที่พิเศษกว่าก็คือระยะห่างระหว่างปุ่มแต่ละปุ่มค่อนข้างกว้างทำให้ลดอัตราการพิมพ์ผิดพลาดได้เยอะพอสมควรและยังเป็นเครื่อง PC ที่เหมาะแก่มือใหม่อีกด้วย
Panasonic JR-200U (1983)
สมัยก่อน Panasonic ก็เคยเป็นผู้ผลิตคีย์บอร์ดกับเขาด้วยและใน JR-200U นี้ก็เป็นคีย์บอร์ดที่มีการดีไซน์ค่อนข้างทันสมัยด้วยโทนสีเงินสลับกับสีน้ำเงินมีจุดเด่นตรงปุ่ม Shift , Del , Insert , ลูกศร จะเป็นสีน้ำเงินซึ่งทำมาจากยางให้ความหนึบเวลาสัมผัส แป้นพิมพ์แบบ 64 ปุ่มจัดเรียงตามมาตรฐานเหมือนกับคีย์บอร์ยุคปัจจุบันแต่รูปร่างหน้าตาของมันโดยรวมแล้วเหมือนวิทยุที่มีปุ่มกดเสียมากกว่าครับ
Mattel Aquarius (1983)
สำหรับคีย์บอร์ดของ Aquarius ก็มากับสีสันสดใสด้วยโทนสีน้ำเงินเข้มประหนึ่งกับมหาสมุทรกับปุ่มตัวอักษร 48 ปุ่มที่เห็นชัดมาแต่ไกลแต่อาจจะมีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่ระยะห่างระหว่างปุ่มค่อนข้างแคบไปนิดหนึ่งและปุ่ม Space จากเดิมที่เป็นแท่งยาวด้านล่างกลับหดเหลือนิดเดียวแถมยังเอาไปแอบไว้มุมซ้ายมือรวมถึงปุ่มคำสั่งอื่น ๆ ก็ถูกย่อให้เล็กหมดเลยก็อาจจะไม่เหมาะกับมือใหม่เท่าไหร่นัก
Tomy Tutor (1983)
เครื่องคอมพิวเตอร์จากประเทศญี่ปุ่นเครื่องนี้ก็เริ่มมีการพัฒนาให้ทันสมัยขึ้นมีช่องเสียบ AV เพิ่มขุมพลัง 16-bit processor เป็นต้นแต่ในส่วนของคีย์บอร์ดนั้นก็อาจจะดูเหมือนเดิมแต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือปุ่ม Spacebar ด้านล่างที่เป็นสีม่วงอันเป็นเอกลักษณ์ของ Tomy Tutor นอกจากนี้ลักษณะของปุ่มกดก็เริ่มใกล้เคียงกับคีย์บอร์ดในยุคปัจจุบันแล้วครับ
Tandy TRS-80 Micro Color Computer (1983)
อีกหนึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์จาก Tandy ซึ่งในรุ่นนี้จะเน้นที่ความเล็กสไตล์มินิมอลแต่ฟีเจอร์ของปุ่มกดนั้นไม่มินิมอลเลยเพราะมีคำสั่งเสริมที่นอกจากพิมพ์ตัวอักษรเยอะมากแทบจะทุกปุ่มเลยหล่ะครับ
Timex Sinclair 2068 (1983)
สำหรับ Timex Sinclair 2068 ก็อุดมไปด้วยคำสั่งเสริมที่มีมากกว่า TRS-80 อีกเท่าตัวแต่มีข้อเสียตรงที่ขนาดของปุ่มและตัวอักษรนั้นค่อนข้างเล็กทำให้ไม่สะดวกต่อการมองเห็นนัก อย่างไรก็ดีตัวแป้นทำมาจากยางจึงทำให้การกดหรือสัมผัสให้ความรู้สึกหนึบไม่ลื่นมือ
IBM PCjr (1984)
ปิดท้ายด้วยคีย์บอร์ดจาก IBM ที่จะสังเกตได้ว่าตัวคีย์บอร์ดแยกออกจากคอมพิวเตอร์ได้แล้วและการดีไซน์ของมันก็จัดว่าเรียบง่ายใช้โทนสีหลักเป็นสีขาวมีปุ่มกดพลาสติกสีขาวล้วนโดยจะมีตัวอักษรบอกอยู่ด้านบนของแต่ละปุ่มและแน่นอนว่ารูปร่างของปุ่มที่คุ้นเคยอย่างปุ่ม Enter ก็มีให้เห็นแล้วใน IBM รุ่นนี้อีกด้วยครับ
ที่มา : PCGAMER