ในช่วงงาน CES 2025 ที่ผ่านมา หนึ่งในไฮไลท์เด็ดของ AMD ก็คือการเปิดตัวชิปประมวลผลประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่สำหรับโน้ตบุ๊ก โดยเป็นชิปในซีรีส์ HX ที่ออกแบบมาเพื่อเน้นความแรงโดยเฉพาะ และที่สำคัญคือมีรุ่น HX3D ที่มีเทคโนโลยี 3D V-Cache ด้วย ทำให้เป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นชิปที่ตอบโจทย์ด้านการเล่นเกมในแบบเดียวกับเครื่องเดสก์ท็อป ซึ่งในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับชิป AMD Ryzen 9 HX และHX3D กัน ว่าจะมีจุดไหนน่าสนใจบ้าง
ทำความรู้จักกับซีรีส์ HX
ก่อนจะไปพบกับข้อมูลของ CPU แต่ละรุ่นย่อย เรามาทวนความจำเกี่ยวกับการตั้งชื่อซีรีส์ย่อยของชิป AMD Ryzen แต่ละรุ่นกันก่อน สำหรับในตอนนี้ ชิปประมวลผลสำหรับโน้ตบุ๊กจะมีการแบ่งเป็นสองสายหลัก ได้แก่
- ชิปรุ่นปกติ เช่น AMD Ryzen 9 8945HS ซึ่งจะมีเลขรหัสรุ่นย่อย+ชื่อซีรีส์ที่สื่อถึงระดับค่า TDP ต่อท้าย
- ชิปรุ่นเน้น AI เช่น AMD Ryzen AI 9 HX 370 ที่จะมีคำว่า AI ในชื่อ และนำชื่อซีรีส์ไปไว้หน้าเลขรหัสรุ่นย่อย
ดังนั้นหากมีการพูดถึงซีรีส์ HX ก็อาจจะต้องดูรายละเอียดอีกทีด้วยว่าเป็นการสื่อถึงชิปสายไหน เพราะทั้งสองสายนี้ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปอีก แต่โดยหลักแล้วจะใช้ประกอบเพื่อสื่อถึงระดับความแรงภายในกลุ่มของตนเอง ซึ่งในบทความนี้จะเน้นไปที่กลุ่มของชิปรุ่นปกติเป็นหลัก
สำหรับในกลุ่มชิปรุ่นปกติที่ไม่มี AI จะมีการแบ่งชื่อซีรีส์ตามระดับค่า Default TDP โดยที่จะเห็นได้บ่อย ๆ ก็มีดังนี้
- HX = ชิปประสิทธิภาพสูง มีค่า TDP ตั้งแต่ 55W ขึ้นไป
- HS = ชิปประสิทธิภาพสูง แต่ออกแบบมาเพื่อโน้ตบุ๊กเกมมิ่งเครื่องบางเบา เครื่องสายครีเอเตอร์ มีค่า TDP ตั้งแต่ 35-55W
- U = ชิปสำหรับโน้ตบุ๊กบางเบา ค่า TDP ตั้งแต่ 15-28W
ทีนี้ก็น่าจะพอเห็นภาพแล้ว ว่าชิปกลุ่ม HX น่าจะต้องมากับเกมมิ่งโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงระดับท็อป ๆ ที่มีการออกแบบระบบระบายความร้อนมาเป็นอย่างดี เพื่อให้ตัวชิปสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และคงความแรงไว้ได้ยาวนานโดยไม่จำเป็นต้องลดระดับการทำงานเพื่อลดความร้อนสะสมลงมากนัก สำหรับในตอนนี้จะมีออกมาด้วยกัน 3 รุ่น ได้แก่
- AMD Ryzen 9 9955HX3D
- AMD Ryzen 9 9955HX
- AMD Ryzen 9 9850HX
ซึ่งในสองรุ่นแรก หากถอดรหัสรุ่นก็จะได้ข้อมูลว่าเป็นชิป Ryzen 9 รุ่นปี 2025 โดยเป็นรุ่นท็อปสุดในสถาปัตยกรรม Zen 5 ที่มีค่า TDP ตั้งแต่ 55W ขึ้นไป ส่วนรุ่นแรกก็จะมีความพิเศษตรงที่มี 3D V-Cache มาให้ด้วย ในขณะที่รุ่นที่สามก็จะเป็นชิป Ryzen 9 รุ่นปี 2025 สถาปัตยกรรม Zen 5 เช่นกัน แต่จะเป็นรุ่นที่สเปครองลงมาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสองรุ่นข้างต้นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ทั้งสามรุ่นนี้ก็จะใช้โค้ดเนมว่า Fire Range เหมือนกันทั้งหมด
AMD Ryzen 9 9955HX
ขอเริ่มที่ 9955HX ที่เป็นรุ่นตั้งต้นก่อนจะไปสู่รุ่น HX3D นะครับ โดยหลักแล้วจะเป็นชิป AMD Ryzen 9 HX-series ที่ได้รับการออกแบบให้มีฟีเจอร์ด้านการประมวลผลทั่วไปแบบจัดเต็มมาก ดังนี้
- สถาปัตยกรรม Zen 5 มี 16 คอร์ 32 เธรด รองรับ Multithreading (SMT)
- ความเร็วพื้นฐาน 5GHz สามารถบูสต์ได้สูงสุดเป็น 5.4GHz
- แคช L2 จำนวน 1MB ต่อคอร์ (รวม 16MB) และแคช L3 แบบแชร์จำนวน 64MB
- ค่า TDP พื้นฐานอยู่ที่ 55W ค่าสูงสุด 75W
- รองรับ PBO 2 และการปรับ curve offset
- รองรับ USB 3.2 Gen 2 (10 Gbps) ได้สูงสุด 4 พอร์ต, PCIe 5.0
- รองรับแรม DDR5 สูงสุด 96GB dual-channel ความเร็วสูงสุด 5600 MT/s
- รองรับการทำ virtualization
- กราฟิกในตัวให้มาเป็น AMD Radeon 610M มี 2 คอร์ ความเร็ว 2,200 MHz
หากดูจากสเปคสำคัญข้างต้น จะเห็นว่า AMD Ryzen 9 9955HX จะได้รับการออกแบบมาเพื่อเน้นพลังประมวลผลของ CPU เป็นหลัก มีจำนวนคอร์ที่สูง สามารถบูสต์ได้ไกล และมีเลนสำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกที่กว้าง แต่ในด้านของกราฟิกก็จะให้มาเป็นรุ่นเน้นประหยัดพลังงาน แต่มีประสิทธิภาพที่เหมาะกับการใช้งานทั่วไป ใช้แสดงภาพขึ้นจอปกติ ซึ่งตรงจุดนี้ก็จัดว่าเป็นทางเลือกที่ดี ทั้งในแง่ของการควบคุมต้นทุน และการควบคุมความร้อนสะสมขณะใช้งาน เพราะปกติแล้วโน้ตบุ๊กที่จะมาพร้อมชิประดับนี้ ก็มีกจะจับคู่มากับการ์ดจอแยกที่ประสิทธิภาพสูงมากอยู่แล้ว ทำให้ iGPU ไม่จำเป็นต้องรับภาระหนักในการประมวลผลกราฟิกมากนัก จึงสามารถใช้ iGPU รุ่นเบา ๆ เพื่อใช้แสดงภาพทั่วไปก็เพียงพอแล้ว
ส่วนในด้านของการโอเวอร์คล็อก โดยพื้นฐานแล้วตัว CPU เองรองรับการโอเวอร์คล็อกได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางผู้ผลิตโน้ตบุ๊กด้วยว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถโอเวอร์คล็อกได้หรือไม่ ได้ในระดับใด ผ่านซอฟต์แวร์ใดได้บ้าง หรือก็อาจจะต้องใช้ซอฟต์แวร์จากผู้ผลิตรายอื่นมาช่วยในการโอเวอร์คล็อกแทน ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจต้องพิจารณาเรื่องความร้อนเป็นพิเศษด้วย
AMD Ryzen 9 9955HX3D
ทีนี้ก็จะขยับมาเป็นรุ่นที่มีรหัสลงท้าย HX3D บ้าง สเปคกว่า 99% ก็จะเหมือนกับใน 9955HX เลย จะมีเพียงแค่แคช L3 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 64MB ขึ้นมาเป็น 128MB โดยจะมีการแบ่งเป็นแคช L3 ที่แปะอยู่บน CPU แบบรุ่นปกติจำนวน 2x32MB และมีแคช L3 ที่ซ้อนขึ้นไปด้านบนอีก 64MB ซึ่งการที่มีจำนวนแคช L3 เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการใช้งานบางรูปแบบ โดยเฉพาะกับงานที่ต้องมีการเรียกข้อมูลเดิมบ่อย ๆ หรือมีการเรียกใช้ข้อมูลปริมาณมาก เช่น การเล่นเกมแนว open world ที่ต้องมีการโหลดข้อมูลปริมาณมากมารอ เนื่องจากเมื่อแคชของ CPU มีขนาดใหญ่ ก็จะทำให้สามารถเก็บข้อมูลที่ต้องใช้ได้มากขึ้นตาม ลดเวลาที่ต้องไปดึงข้อมูลจากแรมที่อยู่ไกลกว่า ส่งผลให้ประสิทธิภาพโดยรวมสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะเห็นผลชัดกับโปรแกรมหรือเกมที่ได้รับการออกแบบมาให้มีการเรียกใช้แคชได้ดี นอกจากนี้ยังให้ผลทางอ้อมในแง่ของการใช้พลังงานน้อยลงอีกด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องย้ำว่าเทคโนโลยี 3D V-Cache จะแสดงศักยภาพได้สูงสุดเมื่อใช้งานร่วมกับเกมหรือโปรแกรมที่มีการเรียกใช้แคชได้ดีด้วย และเป็นงานที่ต้องรีดประสิทธิภาพของ CPU สูงจริง ๆ หากนำมาใช้ทำงานเอกสาร ดูหนัง ฟังเพลง ก็อาจจะใช้งานเทคโนโลยีนี้ได้ไม่คุ้มเท่าไหร่ แต่ถ้านำมาใช้เล่นเกมยุคใหม่ ๆ บอกเลยว่าเห็นผลแน่นอน เช่นเกมแนว open world ที่มีโลกเปิดขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพวกเกมที่ไม่มีฉากโหลด เกมแนว esports ที่ต้องการเฟรมเรตสูง ๆ และ response time ต่ำ ไปจนถึงเกมที่มียูนิตจำนวนมากบนจอ เป็นต้น ซึ่งล้วนต้องการประสิทธิภาพของ CPU ที่สูงไม่แพ้กับพลังกราฟิกที่ก็ต้องแรงควบคู่กันไป เพื่อให้ได้ประสบการณ์การเล่นเกมที่ดีที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยี 3D V-Cache จาก AMD
AMD Ryzen 9 9850HX
และรุ่นน้องเล็กสุดสำหรับ AMD Ryzen 9 HX ซีรีส์ 9000 ที่ออกแบบมาใช้กับโน้ตบุ๊กก็คือ AMD Ryzen 9 9850HX ที่มีสเปคสำคัญ ๆ ดังนี้
- สถาปัตยกรรม Zen 5 มี 12 คอร์ 24 เธรด รองรับ Multithreading (SMT)
- ความเร็วพื้นฐาน 0GHz สามารถบูสต์ได้สูงสุดเป็น 5.2GHz
- แคช L2 จำนวน 1MB ต่อคอร์ (รวม 12MB) และแคช L3 แบบแชร์จำนวน 64MB
- ค่า TDP พื้นฐานอยู่ที่ 55W ค่าสูงสุด 75W
- รองรับ PBO 2 และการปรับ curve offset
- รองรับ USB 3.2 Gen 2 (10 Gbps) ได้สูงสุด 4 พอร์ต, PCIe 5.0
- รองรับแรม DDR5 สูงสุด 96GB dual-channel ความเร็วสูงสุด 5600 MT/s
- รองรับการทำ virtualization
- กราฟิกในตัวให้มาเป็น AMD Radeon 610M มี 2 คอร์ ความเร็ว 2,200 MHz
สำหรับ 9850HX สิ่งที่ต่างออกไปจากสองรุ่นข้างต้นก็จะมีเรื่องของจำนวนคอร์/เธรดซึ่งก็ส่งผลมาถึงจำนวนแคช L2 ด้วย และก็ความเร็วการประมวลผลที่มีฐานสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ก็จะบูสต์ได้น้อยกว่าไม่มากนัก ส่วนอื่น ๆ ตามสเปคก็คือจะเท่ากับสองรุ่นข้างต้นเลย ซึ่งก็อาจจะทำให้ประสิทธิภาพลดหลั่นลงมาบ้างในรูปแบบการใช้งาน ที่เห็น ๆ เลยก็น่าจะเป็นเรื่องการใช้งานแบบมัลติทาสก์ที่ใช้หลายโปรแกรมพร้อมกัน ก็อาจจะทำได้ไม่เนียนเท่า เนื่องจากจำนวนคอร์/เธรดที่น้อยกว่า ส่วนในการเล่นเกม คาดว่าเฟรมเรตก็อาจจะน้อยกว่ากันไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าน่าจะยังมีประสิทธิภาพสูงอยู่ดี และน่าจะมีความร้อนสะสมต่ำกว่าด้วย เราจึงอาจจะได้เห็นการนำชิป AMD Ryzen 9 9850HX มาใส่ในเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่ตัวเครื่องบางลงมานิดนึงได้อยู่ หรือจะเป็นกลุ่มของเครื่องสำหรับครีเอเตอร์ที่ต้องการ CPU พลังแรง แบบไม่เน้นพลังกราฟิกมากนัก ที่ก็สามารถนำไปจับคู่กับ GPU ระดับกลางได้สบาย และที่สำคัญคือน่าจะสามารถทำราคาได้ดีกว่าด้วย เพราะขณะนี้ก็เริ่มมีการเปิดราคาโน้ตบุ๊กรุ่นที่ใช้ชิป AMD Ryzen 9 9955HX3D ออกมาแล้ว อยู่ที่ราวแสนกลาง ๆ
ใครที่ควรรอ AMD Ryzen 9 HX ซีรีส์ 9000
จากสเปคและจุดเด่นของ CPU ในซีรีส์นี้ แน่นอนว่าจะเหมาะสำหรับการเล่นเกมและการทำงานที่ต้องการเน้นประสิทธิภาพของ CPU ที่สูงเป็นพิเศษ ต้องการขุมพลังความแรงสูงระดับเครื่องเดสก์ท็อปในแบบที่ยังพกพาไปใช้งานนอกสถานที่ได้ ด้วยสถาปัตยกรรมใหม่ล่าสุด จำนวนคอร์ ความเร็วที่สูง รวมถึงค่า TDP ที่สูงกว่าชิปในซีรีส์อื่น ทำให้สามารถรีดประสิทธิภาพออกมาได้เหนือกว่าชิปรุ่นอื่น ๆ ที่ออกแบบมาสำหรับโน้ตบุ๊ก โดยเฉพาะกับ AMD Ryzen 9 9955HX3D ที่ใส่แคชแบบ 3D เข้ามาด้วย ซึ่งน่าจะทำให้กลายเป็นหนึ่งในชิปประมวลผลสำหรับโน้ตบุ๊กที่ใช้เล่นเกมได้ดีที่สุดในปัจจุบันได้เลย
ทั้งนี้ก็คงต้องรอดูว่าผู้ผลิตโน้ตบุ๊กแต่ละแบรนด์จะจับนำชิปในกลุ่ม AMD Ryzen 9 HX นี้มาจับคู่กับการ์ดจอรุ่นใดบ้าง แต่เท่าที่มีข้อมูลออกมาในขณะนี้ ทุกรุ่นล้วนให้มาพร้อมกับ GPU ระดับท็อป ๆ รุ่นใหม่ล่าสุด จึงอาจจะทำให้ราคาค่อนข้างสูงซักนิดนึง แต่ก็น่าจะตอบโจทย์ของการใช้งานที่ต้องการเครื่องสมรรถนะสูงระดับนี้ได้เป็นอย่างดี
