กลับมาอีกครั้งกับการรีวิวโน๊ตบุ๊คของ N4G นะครับ ในครั้งนี้เราก็มีตัวเด็ดมาให้เพื่อนๆ ได้รับชมกัน จะเป็นตัวไหน เราไปดูกันเลยครับ
ถ้าดูจากสเปกของ ASUS G53S เครื่องนี้แล้วละก็ เรียกได้ว่าเป็นเกือบที่สุดของโน๊ตบุ๊คเพื่อการเล่นเกมในขณะนี้ (ในประเทศไทย) เลยทีเดียว เนื่องด้วยสเปกระดับสูงอย่าง Intel Core i7-2630QM และที่สำคัญเลยคือการ์ดจอที่เป็นตัวแรงอย่าง NVIDIA GeForce GTX 560M ที่ให้แรมแบบ GDDR5 มาถึง 2 GB ทำให้มันเป็นการ์ดจอที่มีประสิทธิภาพสูงมากในตลาดเมืองไทยในขณะนี้เลย นอกจากนี้แรมก็ยังให้มาถึง 8 GB ซึ่ง ASUS G53S นั้นมีสล็อตแรมให้ถึง 4 แถว (แต่มีหนึ่งแถวซ่อนอยู่ และยากต่อการแกะเพื่อทำการเปลี่ยน) ส่วนจอก็มาในขนาด 15.6 นิ้ว แต่มีความคมชัดระดับ Full HD จะมาตกม้าตายนิดนึงคือ เครื่องที่เราได้รับมาทดสอบนั้นดันให้ HDD ความเร็วรอบ 5400 RPM มาเท่านั้น อาจจะทำให้ไม่สามารถเรียกประสิทธิภาพออกมาได้อย่างเต็มที่นัก แต่แค่นี้ก็เพียงพอกับการเป็นเบอร์หนึ่งแล้วละครับ
ตัวเครื่องมาในโทนสีดำที่ไม่ถึงกับดำสนิท แต่ก็ไม่เทานักครับ ซึ่งวัสดุที่ใช้นั้นคือพลาสติกเป็นหลัก โดยมียางแบบด้านคลุมอยู่อีกทีทั้งตัวเครื่อง (เว้นแต่ส่วนใต้จอลงมาในรูปที่สอง) ซึ่งทำให้เกิดรอยได้ง่าย เช่น รอยขีดข่วน โดยเฉพาะรอยนิ้วมือที่สามารถมองเห็นได้ชัดเลยทีเดียว อาจจะต้องหมั่นหาน้ำยามาทำความสะอาดซักหน่อยละนะครับ ส่วนเรื่องของความแข็งแรงนั้น จัดได้ว่าหายห่วงเลย เพราะมันทั้งแข็งแรงและหนักมากๆ
โลโก้ ASUS ที่ภายใต้นั้นซ่อนหลอดไฟเอาไว้ เมื่อเครื่องเปิดอยู่ โลโก้ก็จะสว่างขึ้นมา และยังมีตาประทับ Republic of Gamer สลักติดอยู่อีกด้วย แต่อาจจะสังเกตได้ยากเพราะดันไม่มีสีอื่นแต้มอยู่เลย และยิ่งถ้ามองไกลๆก็ไม่ต้องห่วงครับ?ไม่เห็นแน่นอน
จอสามารถกางออกมาได้ไม่เกิน 120 องศาเท่านั้นเอง ส่วนความหนาของจอนั้น ย่อมจะต้องหนาแน่นอน เพราะมันรองรับการแสดงผล 3D แบบไม่ต้องใช้แว่นด้วยครับ ซึ่งเทคนิคการทำ ถ้าจะให้อธิบายแบบคร่าวๆก็คือการ์ดจอจะสร้างภาพเดียวกันขึ้นมา 2 ชุด แต่ละชุดก็จะแสดงอยู่บนจอ LCD ชั้นใครชั้นมัน โดยภาพนั้นจะมึความเหลื่อมกัน และยังมี polarizing filter ช่วยในการแสดงผล แต่ทั้งนี้ก็แลกมาด้วยความกว้างของมุมมองภาพ 3D ก็จะแคบลงไปด้วย น่าเสียดายที่คิวในการทดสอบเครื่องของเราแน่นเอี๊ยด เลยทำให้ไม่มีเวลาทดสอบในด้านนี้แบบเข้มข้นและจริงจังครับ แต่ก็ยืนยันได้ว่าภาพมีการเหลื่อมๆแบบภาพ 3D ในโรงภาพยนตร์ 3D เลยทีเดียว
ตัวเครื่องภายในก็มีสีเดียวกับฝาหลังเลย แต่จะมีในส่วนของแท่นรองมือเท่านั้นที่มีแถบยางแบบด้านปิดทับอยู่ ส่วนที่เหลือนั้นเป็นพลาสติกสีดำล้วนๆเลยครับ ดูแล้วให้ความรู้สึกขรึมๆ หนักแน่น ดูสุภาพแต่แฝงไปด้วยเล่ห์ร้ายภายในอย่างไรอย่างนั้นเลย
ฝั่งซ้ายเหนือคีย์บอร์ดมีปุ่มลัดให้สามปุ่ม เรียงจากซ้ายไปขวาคือ ปุ่มเปิด/ปิดไฟ LED ของคีย์บอร์ด, ปุ่มเรียกใช้งาน Express Gate (เมื่อปิดเครื่องอยู่) และเรียกใช้งาน turbo mode/กลับเป็น mode ปกติ (เมื่อเปิดเครื่องอยู่) ส่วนปุ่มสุดท้ายคือปุ่มเปิด/ปิดการแสดงผล 3D (จะทำงานเมื่อเปิดโปรแกรมหรือเกมที่รองรับ 3D) หรือเปลี่ยนโหมดสีของภาพที่เรียกกันว่า Splendid ของ ASUS นั่นเอง (เมื่อโปรแกรมหรือเกมนั้นไม่รองรับ 3D)
ฝั่งขวานั้นเป็นที่ตั้งของปุ่มเปิด/ปิดเครื่องครับ ใกล้ๆกันนั้นก็เป็นตำแหน่งไฟแสดงการทำงานของปุ่ม numlock และ caps lock ส่วนแผงตะแกรงสีดำ ภายใต้นั้นจะมีลำโพงซ่อนอยู่ แต่ตำแหน่งเมื่อลองฟังดูแล้ว เหมือนว่าลำโพงจะถูกฝังอยู่บริเวณกึ่งกลางใต้จอ ตรงแถวโลโก้ ASUS เลยครับ ทิศทางในการปล่อยเสียงก็ขึ้นมาตรงๆเลย ทำให้เสียงที่ได้นั้นดัง ชัดเจนใช้ได้ แต่จุดที่น่าแปลกคือ ASUS G53S เครื่องนี้ดันไม่มี subwoofer มาให้ด้วย นับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ถ้ามีนะ รับรองว่ากระหึ่มแน่นอน
ที่รองมือฝั่งขวานั้นมีสติ๊กเกอร์บอกสเปกเครื่องติดอยู่อย่างชัดเจน ถัดไปอีกนิดก็จะพบกับโลโก้ Republic of Gamer สกรีนอยู่ข้างๆกัน
คีย์บอร์ดที่ติดตั้งมาก็มีการจัดวางปุ่มแบบ chiclet โดยมีการยกระดับให้เอียงสูงขึ้นมา 5 องศา ทำให้สามารถใช้งานได้งาน และยิ่งมีแท่นรองมือเป็นยางอีก ทำให้การพิมพ์แลดูสะดวกสบายเอามากๆครับ ส่วนปุ่ม numpad ก็มีมาให้เช่นกัน และในภาพนี้ได้ทำการเปิดไฟ LED ที่คีย์บอร์ดด้วย
เมื่ออยู่ในห้องมืด ก็สามารถมองเห็นปุ่มได้อย่างชัดเจน แถมยังสามารถปรับระดับความสว่างของไฟได้ด้วยการกดปุ่ม fn+F3 เพื่อลด และ fn+F4 เพื่อเพิ่มความสว่าง
ทางฝั่ง numpad ก็เช่นเดียวกันครับ สามารถมองเห็นและใช้งานตัวเลขได้อย่างสบายๆเลย
ทัชแพดนั้นมีผิวสัมผัสที่ลื่น แต่ก็สามารถใช้งานได้ดีพอตัว ปุ่มคลิกซ้าย/ขวาเป็นแบบแยกชิ้นกัน เมื่อกดลงไปก็มีเสียงพอสมควร
ฝั่งซ้ายเป็นรูปแสดงน้ำหนักของตัวเครื่อง+แบตเตอรี่ ซึ่งแค่นั้นก็จัดว่าหนักแล้ว แต่พอเจอน้ำหนักเมื่อรวม adapter เข้าไป (รูปฝั่งขวา) ที่หนักร่วม 4.5 กิโลกรัม น่าจะทำให้หลายๆคนตัดสินใจที่จะไม่แบกมันขึ้นหลังแน่ๆ (อย่างน้อยก็ผมและเพื่อนอีกหลายคนล่ะ)
นี่ครับหน้าตาของ adapter ที่หนักเกือบๆ 1 กิโลกรัม เรียกได้ว่าปาใส่หัวคน คนโดนนี่อาจยิ่งกว่าสลบอีกมั้งนี่
ขนาดเมื่อเทียบกับกล่อง DVD #1
ขนาดเมื่อเทียบกับกล่อง DVD #2
หน้าต่อไปเราไปเริ่มดูตัวเครื่องภายในกันครับ