Connect with us

Hi, what are you looking for?

AMD

AMD Ryzen 9 9950X3D ทดสอบจริง ซีพียูเกมมิ่งล่าสุด 3D V-cache ใหม่เพิ่มแคช สเปคจัดเต็ม OC ได้

AMD Ryzen 9 9950X3D ทดสอบซีพียูเกมมิ่งตัวท็อป สเปคใหม่ เพิ่มแคชใหญ่ขึ้น เร่งความเร็วให้การเล่นเกมและทำงานจริงจัง

AMD Ryzen 9 9950X3D

วันนี้จะพาไปสัมผัสกับ AMD Ryzen 9 9950X3D ซีพียูที่ถูกมองว่าเป็น “ซีพียูที่ดีที่สุดสำหรับเกมเมอร์และครีเอเตอร์” ด้วยประสิทธิภาพที่เหนือกว่าในหลายๆ ด้าน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับซีพียูตัวใหม่ล่าสุดจากค่าย AMD โดยเป็นซีพียูที่จะมาปฏิวัติวงการเกมมิ่งและงานสร้างสรรค์ ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำและประสิทธิภาพที่เหนือชั้น บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับซีพียู AMD Ryzen รุ่นนี้กันให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสเปค เทคโนโลยีที่น่าสนใจ การเปรียบเทียบกับรุ่นอื่นๆ และข้อมูลสำคัญที่คุณต้องรู้ก่อนตัดสินใจซื้อ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปลุยกันเลย

AMD Ryzen 9 9950X3D เป็นหนึ่งในซีพียูที่มีประสิทธิภาพสูงสุดจาก AMD โดยมี 16 คอร์ และ 32 เธรด ซึ่งเหมาะสำหรับการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เช่น การเล่นเกม, การตัดต่อวิดีโอ, และงานด้าน AI ด้วยความเร็ว บูตสูงสุดถึง 5.7 GHz และ แคชโดยรวมที่ใหญ่ระดับ 144 MB ซีพียุรุ่นนี้มี TDP อยู่ในช่วง 15-35W เท่านั้น ซึ่งแสดงถึงการควบคุมระดับการใช้พลังงานที่ดีขึ้น รวมถึงสเปคที่น่าสนใจ มาในสถาปัตยกรรม Zen 5 และเทคโนโลยี 3D V-Cache ซีพียุรุ่นนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นเกมได้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ Ryzen 9 7950X3D ซึ่งมีประสิทธิภาพดีขึ้นประมาณ 8% ในการเล่นเกมที่ความละเอียด 1080p สำหรับงานด้านครีเอเตอร์ เช่น การใช้งาน Adobe Premiere Pro และ Photoshop ซีพียุรุ่นนี้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นประมาณ 13% เมื่อเทียบกับ Ryzen 9 7950X3D

Advertisement

Specification

Description
NameAMD Ryzen™ 9 9950X3D
SeriesRyzen 9000 Series
Form FactorDesktops , Boxed Processor
Market SegmentEnthusiast Desktop
Former CodenameGranite Ridge AM5
ArchitectureZen 5
of CPU Cores16
Multithreading (SMT)Yes
of Threads32
Max. Boost ClockUp to 5.7 GHz
Base Clock4.3 GHz
L1 Cache1280 KB
L2 Cache16 MB
L3 Cache128 MB
Default TDP170W
Processor Technology for CPU CoresTSMC 4nm FinFET
Processor Technology for I/O DieTSMC 6nm FinFET
Package Die Count3
Unlocked for OverclockingYes
AMD EXPO™ Memory OverclockingYes
Precision Boost OverdriveYes
Curve Optimizer Voltage OffsetsYes
AMD Ryzen™ Master SupportYes
CPU SocketAM5
Supporting ChipsetsA620 , X670E , X670 , B650E , B650 , X870E , X870 , B840 , B850
CPU Boost TechnologyPrecision Boost 2
Instruction Setx86-64
Supported ExtensionsAES , AVX512 , AVX2 , AVX , FMA3 , MMX-plus , SSE2 , SSE4.2 , SSE4A , SSE4.1 , SSE3 , SSSE3 , SSE , x86-64
Recommended CoolerLiquid cooler recommended for optimal performance
Max. Operating Temperature (Tjmax)95°C
*OS SupportWindows 11 – 64-Bit Edition , Windows 10 – 64-Bit Edition , RHEL x86 64-Bit , Ubuntu x86 64-Bit
PCI Express® VersionPCIe® 5.0
Native PCIe® Lanes (Total/Usable)28 , 24
NVMe SupportBoot , RAID0 , RAID1 , RAID5 , RAID10
System Memory TypeDDR5
Memory Channels2
Max. Memory192 GB
Max Memory Speed
2x1R DDR5-5600
2x2R DDR5-5600
4x1R DDR5-3600
4x2R DDR5-3600
Graphics ModelAMD Radeon™ Graphics
Graphics Core Count2
Graphics Frequency2200 MHz
USB Type-C® DisplayPort™ Alternate ModeYes

Source: AMD


มีอะไรใหม่บนซีพียู AMD Ryzen 9 9950X3D

ช่วงก่อนหน้านี้ผมได้นำเสนอซีพียูในกลุ่มของ AMD Ryzen X3D ไป 2 รุ่นประกอบไปด้วย AMD Ryzen 7 7800X3D และ AMD Ryzen 7 9800X3D ซึ่งทั้ง 2 รุ่นนี้ ให้ประสิทธิภาพในการทำงานได้น่าประทับใจ ในแง่ของการเล่นเกม มีความโดดเด่นด้วยกันทั้งคู่ แต่ถ้าถามว่ามีอะไรใหม่บน AMD Ryzen 9 9950X3D ถ้าเทียบกับรุ่นน้องอย่าง Ryzen 7 9800X3D คงต้องบอกว่า เทคโนโลยีเหมือนกัน เพราะเป็นซีรีย์เดียวกัน แต่ต่างกันในเรื่องสัญญาณนาฬิกา แคช ความเร็ว แกนหลัก และการใช้พลังงาน แต่ถ้าเทียบกับ AMD Ryzen 7 7800X3D ก็ต้องถือว่าห่างกันในหลายๆ จุด แต่ในแง่ของผู้ใช้ซีพียูรุ่นนี้ ก็จะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของทาง AMD เพราะกลุ่มที่โฟกัส น่าจะอยู่ที่การเปลี่ยนคอมชุดใหม่ ได้เทคโนโลยีใหม่ และเห็นพลังในการทำงานที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

AMD Ryzen 9 9950X3D

จากข้อมูลในตารางด้านบนนี้ จะพบว่า ถ้าเทียบความแตกต่างระหว่างซีพียูตัวท็อป นั่นคือ AMD Ryzen 9 9950X3D และ AMD Ryzen 9 9950X ในหลายๆ ส่วนใกล้เคียงกันมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะ X series และ X3D series ก็มาบนพื้นฐานเดียวกัน อย่างเช่น แกนหลัก และค่าการใช้พลังงาน เพียงแต่ในแง่ของโครงสร้าง อย่าง สัญญาณนาฬิกาและแคช จะมีความต่างกัน โดยการทำงานยังคงเป็น 16 core/ 32 thread แต่ให้ Base clock 4.3GHz โดยสามารถบูสท์ไปได้ถึง 5.7GHz รวมถึง Ryzen 9 9950X3D ก็มาพร้อมไฮไลต์กับ 3D V-cache ที่ขยายเพิ่มเป็น 144MB โดยที่ซีพียูรุ่นใหม่นี้ จะขยาย L3-cache มาเป็นสองเท่าของ L3-cache ในรุ่นปกติ แต่ที่สำคัญคือ เปลี่ยนจาก 3D V-cache มาเป็น Generation ที่สองแล้วนั่นเอง

3D V-cache Gen2 นั้นมีความพิเศษจากเจนเนอเรชั่นแรกอย่างเช่น บนซีพียู AMD Ryzen 7 7800X3D อย่างไร โดยสรุปก็คือ การปรับโครงสร้างใหม่ ด้วยการให้หน้าสัมผัสตรงกับชุดระบายความร้อนของแกนหลักซีพียูโดยตรง รวมถึงการให้สัญญาณนาฬิกาที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับซีพียูในรุ่นก่อน แต่อาจจะไม่เพิ่มไปจาก Ryzen 9000 X series มากนัก แต่รองรับการโอเวอร์คล็อกได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นจุดเล็กๆ นั่นคือ บนซีพียูที่เป็น X3D ส่วนใหญ่จะดรอปความเร็ว Base clock ลงมาเล็กน้อย เมื่อเทียบกับซีพียูในกลุ่มของ X series แต่เพิ่มระดับ Boost clock ให้สูงขึ้น จากที่เห็นบนตารางนี้ AMD Ryzen 9 9950X3D จะมี Base clock/ Boost clock 4.3GHz/ 5.7GHz แต่ถ้าเทียบกับ Ryzen 9 9900X จะมี Base clock/ Boost clock อยู่ที่ 4.4GHz/ 5.6GHz ตามลำดับ รวมถึงความต่างของการใช้พลังงาน AMD Ryzen 9 9950X3D พุ่งไปถึง 170W เลยทีเดียว

นอกจาก AMD Ryzen 9 9950X3D ก็ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ AMD ก็เปิดตัวซีพียูที่เป็น X3D ตัวรองท็อปไปพร้อมกัน นั่นคือ Ryzen 9 9900X3D นั่นเอง เรื่องของสเปคก็มีความต่างกันอยู่เล็กน้อย กับการทำงานแบบ 12 core/ 24 thread ทั้ง Base clock และ Boost clock อยู่ที่ 4.4GHz และ 5.5GHz ตามลำดับ


เจาะสเปค AMD Ryzen 9 9950X3D: อะไรที่ทำให้ดูพิเศษกว่าเดิม

AMD Ryzen 9 9950X3D ใช้สถาปัตยกรรม Zen 5 ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมล่าสุดของ AMD ที่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่างมาก Zen 5 มาพร้อมกับการออกแบบใหม่ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลต่อสัญญาณนาฬิกา (IPC) ทำให้ AMD Ryzen 9 รุ่นนี้สามารถทำงานได้เร็วกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าซีพียูรุ่นก่อนๆ นอกจากนี้ คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของ AMD Ryzen 9 9950X3D คือเทคโนโลยี 3D V-Cache เจนเนอเรชั่นใหม่ เทคโนโลยีนี้ช่วยเพิ่มขนาดของแคช L3 อย่างมหาศาล ทำให้ซีพียูสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ใช้บ่อยได้เร็วกว่าเดิม ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเล่นเกมและทำงานที่ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เทคโนโลยี 3D V-Cache ทำงานโดยการวางแคช L3 เพิ่มเติมซ้อนทับบนชิปประมวลผลหลัก ทำให้มีพื้นที่เก็บข้อมูลมากขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดของชิปประมวลผลเอง วิธีนี้ช่วยลดความหน่วงในการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของซีพียู

นอกจากนี้ด้วยจำนวนคอร์และเธรดที่มากพอสำหรับการทำงานมัลติทาสก์กิ้งอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าคุณจะเปิดโปรแกรมหลายตัวพร้อมกัน หรือทำงานที่ต้องใช้ทรัพยากรสูงๆ Ryzen 9 9950X3D ก็สามารถจัดการได้อย่างสบายๆ จำนวนคอร์และเธรดที่แน่นอนอาจแตกต่างกันไปตามรุ่นย่อย แต่โดยทั่วไปแล้ว Ryzen 9 จะมีจำนวนคอร์และเธรดมากกว่า Ryzen 7 เช่นเดียวกับการจัดการพลังงานและความร้อนหรือ TDP (Thermal Design Power) คือค่าที่บ่งบอกถึงปริมาณความร้อนสูงสุดที่ซีพียูจะสร้างขึ้น ค่า TDP นี้มีความสำคัญในการเลือกชุดระบายความร้อนที่เหมาะสม AMD Ryzen 9 9950X3D มีค่า TDP ที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ชุดระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้ซีพียูทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในส่วนของ Zen 5 Core Complex จะเห็นถึงความแตกต่างจาก Zen 4 ได้พอสมควร ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางการเชื่อมต่อและแบนด์วิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะ L2 cache bandwidth จากเดิม 32B/clk มาเป็น 64B/clk เช่นเดียวกับการคำนวณ ไปป์ไลน์ และอื่นๆ ส่งผลให้ลดเวลาหน่วงหรือ Latency ในการติดต่อข้อมูลสั้นลง และเพิ่ม L1 cache ให้ใหญ่ขึ้นเป็น 1MB ต่อคอร์ และใช้ L3 cache แบบแชร์กันระหว่าง Core 0 และ Core ที่เหลือ รวมถึง L2 cache ที่ทำ Duplicate cache กับ L3 cache จำนวน 16 ช่องทางทั้งไปและกลับ ทำให้ส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลดีต่อการประมวลผลแอพพลิเคชั่นได้เป็นอย่างดี

amd zen4 vs zen5

ไม่เพียงแค่เรื่องของแบนด์วิทธิ์และความเร็วแกนหลักที่เปลี่ยนไป แต่ยังรวมถึงโครงสร้างภายในอีกหลายส่วน อย่างเช่น core complex dies แบบคู่หรือ CCDs ของแต่ละ Die แทนการทำงานของ IOD ของซีพียูรุ่นก่อน ที่ไม่ต้องส่งข้อมูลผ่านการทำงานของ I/O และหน่วยความจำในการประมวลผลทุกครั้ง แต่ทำงานบน Die ที่มีอยู่ในแต่ละแกนหลักได้เลย โดย Ryzen รุ่นใหม่ จะมีจำนวน CCD มากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ SKU แต่ละรุ่น


Unbox

AMD Ryzen 9 9950X3D

แพ็คเกจมาในรูปแบบเดียวกับ AMD Ryzen X3D series แบบที่หลายคนคุ้นเคยกัน นั่นคือ เป็นกล่องที่แบนเล็ก เนื่องจากไม่ได้ใส่ชุดฮีตซิงก์ระบายความร้อนมาให้ ซึ่งก่อนหน้านี้ เราก็จะพบรูปแบบนี้บนซีพียู X series ด้วย นั่นก็เพราะทาง AMD มองว่ากลุ่มนี้ มักจะเลือกฮีตซิงก์หรือชุดน้ำที่ชื่นชอบมาประกอบมากกว่าการใช้ชุด Fan Cooling แต่ไม่ได้หมายความว่า ชุดฮีตซิงก์ลมจะไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เนื่องจากทีมงานได้ทดลองแล้ว เป็นฮีตซิงก์ระดับไซส์ L ยังพอทำงานได้ แต่อุณหภูมิจะพุ่งไปค่อนข้างรวดเร็วนั่นเอง

หน้ากล่องระบุรายละเอียดมาชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น แถบด้านบนแจ้งว่าใช้เทคโนโลยี AMD 3D V-Cache ส่วนด้านล่างระบุว่าเป็น AMD Ryzen 9

AMD Ryzen 9 9950X3D

มิติของกล่องบางนิดเดียวเท่านั้น และด้านข้างนี้ ก็แจ้งมาเป็น AMD Ryzen 9 เช่นกัน

AMD Ryzen 9 9950X3D

เมื่อแกะกล่องออกมา จะมีอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆ ประกอบไปด้วย ซีพียู AMD Ryzen 9 9950X3D อยู่ในซองพลาสติกกันกระแทกแบบใส เอกสารแนะนำ และใบ QR ที่มีข้อมูลจาก AMD Red Team

AMD Ryzen 9 9950X3D

ซีพียู AMD Ryzen 9 9950X3D มาในซองพลาสติกใสแบบแข็ง กันกระแทก มองเห็นซีพียูได้อย่างชัดเจน สามารถแกะออกได้ง่าย

AMD Ryzen 9 9950X3D
amd ryzen 7 8700g 60

หน้าตาของซีพียู AMD Ryzen 9 9950X3D ถ้ามองจากโครงสร้างภายนอกหลักๆ เมื่อเทียบกับ AMD Ryzen 5 7600 มีความแตกต่างน้อยมาก ซึ่งตัวกระดองด้านหน้าแทบจะเหมือนกัน จะมีเพียงชิ้นส่วนในบางจุดบนแผ่นของซีพียูที่ดูต่างกัน รวมถึงสีที่ Ryzen 9 9950X3D จะออกแนวเขียวน้ำเงิน ส่วน Ryzen 5 7600 จะเป็นโทนเขียวเข้ม

AMD Ryzen 9 9950X3D

ส่วนด้านใต้ที่เป็นหน้าสัมผัสของซีพียูจะเป็นลักษณะนี้ อาจจะไม่ได้ต่างจาก AMD Ryzen 7 9800X3D หรือ Ryzen 7 7800X3D รุ่นก่อนหน้านี้มากนัก ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และยังคงใช้บนเมนบอร์ดที่เป็นซ็อกเก็ต AM5 เช่นเดิม

ทางด้านซ้ายเป็นซีพียู AMD Ryzen 9 9950X3D ส่วนทางด้านขวาเป็นซีพียู AMD Ryzen 5 7600


Install

AMD Ryzen 9 9950X3D

การติดตั้งไม่ได้มีความซับซ้อน ตั้งแต่ AMD Ryzen 7000 ที่เป็น AM5 เป็นต้นมา จะเป็นลักษณะของ LGA 1718 เพียงแค่เปิดฝาซ็อกเก็ต วางซีพียูลงไป ให้ตัวอักษร AMD อยู่ในแนวตั้ง หรือสังเกตที่แถบสามเหลี่ยม มุมด้านซ้ายของซีพียู ให้ตรงกับสัญลักษณ์บนเมนบอร์ด วางลงไปตรงๆ จากนั้นปิดฝาและกดกระเดื่องเพื่อล็อคได้ทันที


Performance

อะไรที่ทำให้ AMD Ryzen 9 9950X3D มีประสิทธิภาพในการเล่นเกมที่สูงขึ้น?

  • สถาปัตยกรรม Zen 5 และ 3D V-Cache: ซีพียุรุ่นนี้ใช้สถาปัตยกรรม Zen 5 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและใช้เทคโนโลยี 3D V-Cache ที่เพิ่มขนาดแคช L3 ให้มากขึ้น ซึ่งช่วยให้ประมวลผลข้อมูลได้เร็วขึ้นและลดความหน่วงในการเล่นเกม
  • ความเร็วสัญญาณนาฬิกา: Ryzen 9 9950X3D มีความเร็วสัญญาณนาฬิกาสูงสุดถึง 5.6 GHz ซึ่งช่วยให้สามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นเกม
  • จำนวนคอร์และเธรด: มี 16 คอร์ และ 32 เธรด ซึ่งเหมาะสำหรับการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เช่น การเล่นเกมและทำงานอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน
  • ขนาดแคช: มีแคช L3 ขนาด 128 MB ซึ่งช่วยให้สามารถจัดเก็บข้อมูลที่ใช้บ่อยๆ ไว้ใกล้กับโปรเซสเซอร์มากขึ้น ทำให้การเข้าถึงข้อมูลรวดเร็วขึ้น
  • การออกแบบชิปเล็ต: การออกแบบชิปเล็ตที่เพิ่มแคช L3 บน CCD เดียวช่วยให้การกระจายความร้อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาความเร็วสัญญาณนาฬิกาสูงสุดได้
  • การรองรับเมนบอร์ดและเทคโนโลยีใหม่ๆ: รองรับเมนบอร์ด AM5 และเทคโนโลยี PCIe 5.0 ซึ่งช่วยให้สามารถใช้งานกับอุปกรณ์ใหม่ๆ ได้อย่างเต็มที่
  • การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน: แม้ว่าจะมี TDP สูงถึง 170W แต่การออกแบบและเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้สามารถควบคุมการใช้พลังงานได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า

เหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งในทางทฤษฎีที่จะบอกได้ว่าซีพียู AMD รุ่นใหม่นี้จะตอบโจทย์การทำงานหรือการเล่นเกมได้ดีเพียงใด จากการนำเทคโนโลยี 3D V-Cache มาใช้บนซีพียู เราไปดูผลการทดสอบกับโปรแกรมและเกมต่างๆ กัน

ระบบที่ใช้ในการทดสอบ

  • ซีพียู: AMD Ryzen 9 9950X3D
  • เมนบอร์ด: MSI MPG X870E CARBON WiFi
  • แรม: G.Skill Trident 5 Neo RGB DDR5 6000 32GB
  • SSD: Samsung 990 PRO 1TB
  • กราฟิกการ์ด: Sapphire Pulse Radeon RX7900GRE 16GB
  • Cooling: DeepCool AK500 Digital
  • OS: Windows 11 Home 24H2

CPUz

AMD Ryzen 9 9950X3D

จากการรายงานของ CPUz ระบุชัดเจนเป็นซีพียู AMD Ryzen 9 9950X3D โค๊ตเนม Granite Rigde มีค่า TDP 170W และทำงานแบบ 16 core/ 32 thread กระบวนการผลิต 4nm และแคช L3 ขนาดใหญ่ 96MB x2 หรือ 192MB ที่เป็น 3D V-cache นั่นเอง ติดตั้งบนเมนบอร์ด MSI MPG X870E CARBON WiFi ซึ่งเมนบอร์ดที่เราได้รับมานี้ เป็นไบออสล่าสุดแล้ว ไม่ต้องอัพเดตเพิ่ม เปิดเครื่องและใช้งานซีพียูได้ทันที


PCMark10

AMD Ryzen 9 9950X3D

ในการทดสอบกับงานในชีวิตประจำวัน ผ่านทาง PCMark10 นี้ ด้วยพลังการทำงานของซีพียูในระดับท็อปคลาสเช่นนี้ ถือว่าเรี่ยวแรงเหลือเฟือ สามารถทำคะแนนพื้นฐานไปได้สบาย กับคะแนน Overall ที่มากกว่า 10,000 คะแนน ไม่ว่าจะเป็นงานเอกสาร ท่องเว็บไซต์หรือจะงานซอฟต์แวร์สำนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Digital Content Creation ที่ถือว่าแซงหน้าซีพียูรุ่นน้องอย่าง AMD Ryzen 7 9800X3D ที่เป็นซีพียูระดับเกมมิ่งได้อย่างชัดเจน ซึ่งต้องยกความดีให้ทั้งการทำงานของแกนหลักจำนวนมาก และสัญญาณนาฬิกาที่บูสท์ไปได้ถึง 5.7GHz ทำให้แอพพลิเคชั่นในหลายๆ ส่วนที่ทำงานในแบบ Single core ก็จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ไปเต็มๆ รวมถึงหลายๆ งาน โดยเฉพาะในแง่ของงานวีดีโอ ที่แคชขนาดใหญ่ช่วยให้ลื่นไหลขึ้นอีกเยอะ


PerformanceTest 11

AMD Ryzen 9 9950X3D

การทดสอบนี้เน้นไปที่คะแนนซีพียูเป็นหลัก ตัวเลขที่จาก AMD Ryzen 9 9950X3D ทำคะแนนแซงหน้าซีพียู Ryzen 7 7950X3D ที่เป็นตัวท็อปที่ออกมาก่อนหน้านี้อยู่พอสมควร จากตัวเลขในกราฟ Overall อยู่ที่ 71367 กับ 62775 แต่ถ้าเทียบกับซีพียู AMD Ryzen 7 9800X3D จะอยู่ที่ 40,069 คะแนนเท่านั้น รวมไปถึงการทดสอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Integer Math ที่ทำได้ 245477 และ Floating Point อยู่ที่ 160644 ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพที่แซงหน้าซีพียู X3D series ในรุ่นที่ผ่านๆ มาได้อย่างชัดเจน


CINEBench

AMD Ryzen 9 9950X3D

กับการทดสอบบน CINEBench ที่เป็นการทดสอบด้านโมชั่นกราฟิก ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นอีกหนึ่งงานถนัดของซีพียูรุ่นนี้ เพราะสเปคจัดมาแบบครบเครื่อง และตัวเลขที่ได้บนการเรนเดอร์นั้น AMD Ryzen 9 9950X3D ยังคงสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับรุ่นพี่ที่ทดสอบไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นซีพียูในระดับ Ryzen X3D เช่นเดียวกัน ทั้งคะแนนในด้าน Single-Core และ Multi-Core ห่างกันอย่างน้อย 18-22% โดยเฉพาะ Single thread ที่เน้นทำงานแบบคอร์เดี่ยวๆ ก็ยังมีแรงมากพอสำหรับงานด้านกราฟิกเหล่านี้ ไม่ใช่แค่เกมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำงานที่จริงจังมากขึ้นได้อีกด้วย


Coronabench10

AMD Ryzen 9 9950X3D

Coronabench1.3

AMD Ryzen 9 9950X3D

กับตัวเลขที่ได้ในการทดสอบงานเรนเดอร์ 3D ไม่ว่าจะเป็น Coronabench 10 หรือ Corona 1.3 การทดสอบเหล่านี้ จะเน้นไปที่พลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก ด้วยความเร็วระดับ 5.7GHz บนพื้นฐานของ L3-cache ที่เป็นรุ่นใหม่ ดูจะฉีกหนีซีพียู AMD Ryzen 7 9800X3D ไปได้อย่างชัดเจน ทั้งตัวเลขที่ห่างกันระดับ 1M Rays/sec. และความเร็วในการเรนเดอร์ที่ AMD Ryzen 9 9950X3D ใช้เวลาน้อยกว่า เรียกว่าถ้าเป็นโมเดลขนาดใหญ่ ก็จะช่วยลดเวลาในการทำงานไปได้เยอะทีเดียว


Blender

AMD Ryzen 9 9950X3D

มาที่การทดสอบอีกหนึ่งงานด้านกราฟิก 3 มิติอย่าง Blender ซึ่ง AMD Ryzen 9 9950X3D ยังคงแสดงพลังให้ได้เห็นอย่างชัดเจน กับตัวเลขทดสอบที่แซงหน้าบรรดาซีพียูอดีตเทพตัวแรงอย่าง AMD Ryzen 7 9800X3D หรือ AMD Ryzen 9 7950X3D ที่ในช่วงนั้นถือว่าทำผลงานได้ดีอยู่แล้ว แต่การมาของซีพียูรุ่นใหม่นี้ ซึ่งกระบวนการผลิตเล็กลง กับความเร็วที่มากขึ้น กับค่า TDP และการจัดการระบบพลังงานของซีพียูที่ยืดหยุ่น ทำให้โอกาสเพิ่มความเร็วไปได้มากกว่าเดิม อีกทั้ง 3D V-cache ที่มีขนาดใหญ่ ช่วยให้การเรนเดอร์หรือจัดการข้อมูลที่มีความซับซ้อนได้รวดเร็วกว่าเดิม


Crossmark

AMD Ryzen 9 9950X3D

3Dmark

AMD Ryzen 9 9950X3D
AMD Ryzen 9 9950X3D

แม้ผลที่ได้จะมาจากพลังของกราฟิกการ์ดเป็นหลัก แต่ซีพียูก็มีส่วนช่วยในการประมวลผลไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกันกับ AMD Ryzen 9 7950X3D จะเห็นถึงความต่างอยู่ในระดับหนึ่ง โดยพื้นฐานของการเล่นเกมกราฟิกเหล่านี้ จำนวนของแกนหลัก อาจไม่ได้ส่งผลมากนัก แต่สัญญาณนาฬิกาและแคชขนาดใหญ่ ก็ให้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงการมีค่า TDP ที่สูง ก็มีช่องว่างทำให้ซีพียูแสดงศักยภาพได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนทำให้ AMD Ryzen 9 รุ่นใหม่นี้ ตอบโจทย์เหล่าคอเกมที่เล่นเกมบ่อยในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงการใช้งานอื่นๆ เพิ่มเติม อย่างเช่น การแคสสตรีม หรือการทำงานอื่นไปพร้อมๆ กันในเครื่องเดียว


Black Myth WUKONG benchmark

AMD Ryzen 9 9950X3D

เกมนี้การ์ดจอรับบทหนัก แต่ซีพียูก็มีส่วนช่วยในการซัพพอร์ต AMD Ryzen 9 9950X3D สามารถรับโหลดของการทำงานได้ในทุกย่านความละเอียด ไม่ว่าจะเป็น Full-HD ไปจนถึง 4K ซึ่งเกม WUKONG นี้ เป็นเกมระดับ AAA แต่ด้วยระบบที่ใช้ สามารถรองรับการปรับ Detail โหดๆ ได้เช่นกัน อย่างการปรับสุดในโหมด Cinematic แบบไม่ได้ใช้ Upscale ก็ไหลไปได้มากกว่า 100fps. บนโหมด FHD แต่ดรอปลงมาบ้างใน 2K 1440p และ จะสังเกตได้ว่า ทั้ง 2 ความละเอียดนี้ ใช้ซีพียูไปเพียง 10-11% เท่านั้น เหลือพลังให้เล่นเกมและแคสสตรีมไปพร้อมกันได้ไม่ยาก


COD: Modern Warfare II

AMD Ryzen 9 9950X3D

สำหรับ COD นี้ก็ถือว่าเป็นอีกเกมที่ใช้สเปคหนักพอสมควร เพราะถ้าสังเกตจากโหมดการเล่นแค่ 1080p ก็มีการใช้ซีพียูไปในระดับ 20% โดยเฉลี่ย แต่จะลดลงบ้างในการเล่นบน 2K 1440p แต่การ์ดจอโหลดไป 98-99% เกือบตลอดเวลา นั่นก็หมายความว่าซีพียูยังมีแรงเหลือใช้ สำหรับการ์ดจอที่แรงกว่านี้ อย่างเช่น คนที่จะขยับไป Radeon RX9070XT ที่กำลังจะวางตลาดได้ไม่ยาก

ถ้าใครจะใช้สเปคนี้กับซีพียู AMD Ryzen 9 รุ่นนี้ ถือว่าตอบโจทย์ได้ดีมาก เพราะเกมดึงสเปคหนักในบางช่วง ซึ่งซีพียูยังคงรันได้ต่อเนื่องไม่สะดุด โดยในส่วนของ 2K Extreme setting ใช้ซีพียูไปเพียง 19-20% เท่านั้น เช่นเดียวกับอุณหภูมิซีพียูก็อาจจะอุ่นๆ แค่ประมาณ 80 กว่าองศาเซลเซียสในบางช่วง กับการใช้ฮีตซิงก์ลมช่วยในการระบายความร้อนเท่านั้น


Forza Horizon 5

AMD Ryzen 9 9950X3D

เกมนี้ความสวยงามมันโดนใจ แต่ก็เรียกใช้งานซีพียูเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน แค่ 2K Extreme settings ก็ได้ภาพที่สวยงามลื่นไหล เพราะไปวิ่งแถวๆ 130fps.++ กับการใช้ซีพียูราวๆ 11-12% เท่านั้น ซึ่งถ้าคุณประกอบมาเซ็ตแบบนี้แล้ว ชอบแนวเกม Racing แบบนี้ด้วย สบายใจได้การ์ดจอก็สู้ไม่ถอยเช่นกัน แม้จะรันไปกว่า 90% ตลอดเวลาก็ตาม ได้ซีพียูตัวแรงๆ คอยรีดพลังให้ จะเซ็ตไปเล่นบน 4K Extreme settings ก็ยังไหวกับเฟรมเรตที่สวยเกินเบอร์ แรงซีพียูที่เหลือจะนำไปใช้ทำอย่างอื่น แปลงไฟล์ ทำงาน หรือการสตรีมก็ยังไหว


God of War

AMD Ryzen 9 9950X3D

เกมนี้ยังเป็นสไตล์ของ Action Adventure ได้มุมมองกว้างๆ ไปพร้อมๆ กับภาพที่ไหลลื่นนั่นคือเป้าหมายที่เกมเมอร์ต้องการ ซึ่งเมื่อดูจากพลังของซีพียู AMD Ryzen 9 รุ่นใหม่นี้ แทบจะไม่มีข้อครหาแต่อย่างใด กับเกม AAA แห่งปีแบบนี้ เพราะในการทดสอบ ส่วนใหญ่จะใช้ซีพียูไปประมาณ 12-23% หนักสุดคือ การเล่นบน Full-HD 1080p ที่ใช้ไปถึง 23% ด้วยกัน

ถ้าคุณต้องการ Detail สวยๆ ทั้งฉาก เอฟเฟกต์และตัวเอกสายลุยอย่างเครโทส ไปที่ Ultra เล่นได้ มีให้เห็นเกือบ 170fps. บน Full-HD กับภาพงามๆ ศัตรูที่ถูกฉีกกระชาก และการเคลื่อนไหวที่ดูตระการตามากขึ้น ส่วนถ้าจะเล่นแบบเซฟๆ ไม่ต้องเร่งเร้าจนเกินไป เฉลี่ยเกิน 100fps. ปรับ High ก็เหลือๆ หรือจะเป็น Extreme ก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าเอาให้แน่ใจ เปิดใช้ FSR เท่านี้ก็สวยภาพลื่น เล่นไม่สะดุด กับเฟรมเรตที่ทำให้สบายตาได้เลย


Horizon Zero Dawn: Complete Edition

AMD Ryzen 9 9950X3D

อีกหนึ่งเกมในสไตล์ Adventure เช่นเดียวกัน กับสีสันที่สดใส และการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว และเรียกใช้ซีพียูหนักพอสมควร เยอะสุดบนความละเอียด 2K Ultra settings ที่ว่างไปถึง 25% แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าซีพียู AMD Ryzen 7 X3D รุ่นก่อนหน้านี้ที่เราได้เคยทดสอบ เพราะนั่นมีการใช้ไปมากถึง 60% ด้วยกัน นั่นก็อาจหมายถึงคนที่กำลังมองหาการ์ดจอที่แรงกว่าที่เราใช้ทดสอบอยู่นี้ ซีพียูก็ยังสามารถช่วยดันการ์ดจอได้แบบไม่ยาก

ถ้าใครใช้เซ็ตคอมประมาณนี้ และอยากได้ภาพสวยๆ อาจจะเลือกโหมดการเล่น 2K 1440p และตั้งค่า Extreme settings เพิ่มการอัพสเกลด้วย FSR จะได้เฟรมที่ไม่น้อยกว่า 150fps. หรือจะเน้นภาพนิ่งๆ ที่ 100fps. ความละเอียด 4K ก็ยังไหว แค่ปรับแต่งบางส่วนให้สอดคล้องกันเท่านั้น


Temperature

AMD Ryzen 9 9950X3D

ฮีตซิงก์ที่ใช้เป็น DeepCool AK500 เป็นแบบทาวเวอร์ พร้อมพัดลม 1 ตัว ทำงานสูงสุด 1800rpm. ซึ่งเหมาะกับในห้องแอร์มากกว่า ในการทดสอบจัดการความร้อนได้ไม่ยาก โดยอุณหภูมิระหว่างการเล่นเกม จะอยู่ที่ราวๆ 55-63 องศาเซลเซียส เท่านั้น เพราะโหลดของซีพียูมีไม่เยอะมาก แต่ก็ต้องระวังเรื่องความร้อนสะสม หากคุณเตรียมชุดระบายความร้อนได้ไม่ดีพอ อีกทั้งถ้าใครจะใช้งานแบบโหดๆ รันต่อเนื่องโหลดหนักแบบยาวๆ แนะนำไปชุดน้ำปิดดูจะเหมาะกว่า เพราะจากการทดสอบแบบรัน 100% ชุดลมมีให้เห็น 90++ องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

temp cinebench

ส่วนอุณหภูมิระหว่างเรนเดอร์ 3D CINEBench R24 – Package ประมาณ 76-77 องศาเซลเซียส และ Max. สุดๆ จะไปแตะที่ 80 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณ Core Max. ราวๆ 75-77 องศาเซลเซียส ในขณะที่มีโหลดสูงถึง 180W

ในการใช้งานห้องที่มีเครื่องปรับอากาศปกติ ฮีตซิงก์ระดับกลางไซส์ L ไปจนถึงทาวเวอร์ขนาดใหญ่เพียงพอต่อการลดอุณหภูมิได้ดี ยิ่งมีการจัดทิศทางลมให้เหมาะสม ก็จะช่วยได้มาก แต่ถ้าใช้งานในอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง แนะนำว่าใช้ชุดน้ำปิดอย่างน้อย 2 ตอน 240mm ขึ้นไป และควรจะเป็นรุ่นที่มีรองรับ AMD AM5 โดยเฉพาะ เพราะซีพียูรุ่นนี้ ออกแบบค่า TDP มาค่อนข้างสูง การเลือกชุด AIO ที่ดี ก็จะลดความร้อนได้เร็วมากขึ้น จากที่เราได้ทดลองใช้กับชุดน้ำปิด AIO 240mm จะลดอุณหภูมิลงได้อีก 7-10 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ถ้าเป็น 360mm และปั้มขนาดใหญ่ ก็จะช่วยระบายได้ดียิ่งขึ้น


Conclusion

ในภาพรวมต้องถือว่า AMD Ryzen 9 9950X3D รุ่นใหม่นี้ มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เมื่อเทียบกับซีพียูในเลเวลเดียวกันอย่าง AMD Ryzen 9 7000X3D ที่ออกมาก่อนหน้านี้ แม้จะมีเรื่องของค่า TDP ที่สูง แต่ก็ยังมีการจัดการเรื่องประสิทธิภาพและการใช้พลังงานได้ดีขึ้น ในเรื่องของโครงสร้างมีการปรับปรุง 3D V-cache และเพิ่ม Cache เข้ามา พร้อมการจัดวางแบบใหม่ ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มศักยภาพของซีพียูได้มากขึ้น จึงเหมาะทั้งกลุ่มของเกมเมอร์ และคนทำงานซอฟต์แวร์เฉพาะทาง ที่ในหลายการทดสอบแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่มากขึ้น ทั้งกลุ่มคนทำงาน ที่ต้องการประสิทธิภาพกับงานที่จริงจัง และมีสเกลที่ใหญ่ขึ้น งานที่มีความซับซ้อน รวมถึงงานด้านภาพและวีดีโอ

นอกจากนี้การได้แพลตฟอร์มใหม่ ไม่ว่าจะเป็นชิปเซ็ต และแรมความเร็วสูง ก็จะทำให้ผู้ใช้ที่ต้องการปรับเปลี่ยน ประกอบคอมใหม่ ได้สัมผัสศักยภาพที่ดีมากกว่าคอมตัวเก่าอย่างชัดเจน รวมไปถึงคอเกม ที่จะตั้งสเตชั่นกับการเล่นเกมใหม่ๆ หรือจะใช้กับการ์ดจอตัวแรงที่มีอยู่ ซีพียูรุ่นนี้มีพลังในการทำงานอยู่ไม่น้อย ส่วนใครที่จะประกอบคอมเครื่องแรก สเปคซีพียู AMD Ryzen 5 9000 series ที่เป็นแบบ X3D ก็ดูจะลงตัวและเหมาะกับการใช้งานได้หลากหลายทีเดียว

ส่วนเรื่องของสนนราคา ก็ต้องรอการเปิดตัวกันอย่างเป็นทางการครับ ใครที่กำลังต้องการอดใจอีกนิด แต่ได้ข่าวว่าในงาน Commart Unlock 2025 ที่กำลังจะถึงนี้อาจมีให้ได้ช้อปกันแล้ว ทีมงานจะนำข้อมูลมาอัพเดตให้ได้ชมกันอีกครั้งครับ

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

PC Review

ASUS V500MV คอมทำงานมีจอพร้อมใช้ ประหยัดไฟ ได้ MS Office ไม่ต้องซื้อเพิ่มประกัน 3 ปี ASUS V500MV เป็นพีซีสำเร็จรูป ที่ออกแบบมาเพื่องานสำนักงาน แต่ตอบโจทย์การใช้งานในบ้านได้ ทั้งงานทั่วไป การเล่นเกม ท่องเว็บหรือแต่งภาพก็ตาม มีด้วยกันประมาณ 6 โมเดล แตกต่างกันตรงที่ซีพียู และแรม โดยรุ่นที่เราได้รับมาทดสอบนี้...

COMMART

รวมโปรคอมประกอบ 100 สเปคเด็ดราคาดีในงาน Commart Unlock 2025 จากทุกค่ายในงาน JIB, IT City, Speed และ Banana กลับมาอีกครั้งกับโปรโมชั่นคอมประกอบในงาน Commart Unlock 2025 กับสเปคคอมนับ 100 ชุด พร้อมและโปรโมชั่น พรีเมียม ของแถมจากบรรดาดีลเลอร์ และผู้จำหน่ายรายต่างๆ...

COMMART

บริษัท เอสเซนตี้ รีซอร์สเซส จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เกมมิ่งเกียร์ สินค้าไอทีแบรนด์ชั้นนำระดับโลก Ascenti เสิร์ฟโปรสับ รับต้นปี COMMART UNLOCK พร้อมเสิร์ฟคอมเซ็ตการ์ดจอรุ่นใหม่และโปรโมชั่นพิเศษโดนใจจัดเต็ม ! Ascenti บริษัทผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไอทีระดับแนวหน้าของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสินค้า Component DIY / Gaming Gear / Accessories และ...

Special Story

ปกติแล้ว เวลาก่อนจะเลือกซื้อโน้ตบุ๊ก สิ่งที่ควรตรวจสอบเป็นอันดับต้น ๆ ก็คือสเปคเครื่อง ทั้งในแง่ของ CPU การ์ดจอ แรม หน้าจอ ซึ่งในหลายส่วนก็จะมีการระบุเป็นตัวเลขที่สามารถนำไปใช้ในการเปรียบเทียบประสิทธิภาพได้ เช่น ความเร็วคล็อก จำนวนคอร์ ปริมาณหน่วยความจำ เป็นต้น แต่ในยุคหลัง ๆ มา ภายใน CPU ก็จะมีการติดตั้ง NPU ซึ่งเป็นส่วนประมวลผลด้าน...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก