ด้านของผลิตภัณฑ์ Apple ที่ใช้จอความละเอียดระดับ Retina Display ในปัจจุบันก็จะมีอยู่ในกลุ่มของ iPhone, iPod Touch, iPad รวมไปถึงไลน์ MacBook Pro with Retina Display ซึ่งข้อดีอย่างเห็นได้ชัดของจอ Retina Display ก็คือความหนาแน่นของเม็ดพิกเซลต่อตารางนิ้วที่สูง และอยู่ในระดับที่เราแทบไม่สามารถมองเห็นเม็ดพิกเซลด้วยตาเปล่าได้แล้ว ทำให้ภาพที่ออกมาสวยเนียนตาเสมือนว่ามองภาพจากกระดาษ ซึ่งก็ทำให้หลายๆ คนที่เคยลองใช้งานแล้วรู้สึกติดใจ และตั้งข้อสงสัยว่าแล้วทำไมไลน์ของ MacBook Air ซึ่งก็เป็นกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ราคาค่อนข้างสูงถึงไม่มีจอ Retina Display ออกมาบ้าง ซึ่งก็มีการวิเคราะห์สาเหตุกันออกมาดังนี้
พลังของ Intel HD Graphics
ชิปประมวลผลกราฟิกที่ใช้ใน MacBook Air นั้น แน่นอนว่าต้องเป็นชิปที่รวมอยู่ใน CPU เพื่อประหยัดเนื้อที่บน logic board รวมไปถึงเพื่อการประหยัดพลังงานของระบบโดยรวม ซึ่งถ้ามองในปัจจุบันที่เป็น Intel HD Graphics 4000 ที่แม้จะได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพขึ้นจากรุ่นเก่ามากก็จริง แต่ถ้ามาใช้งานร่วมกับจอ Retina Display ที่ความละเอียด 2560 x 1600 ก็คาดว่า Intel HD Graphics 4000 น่าจะไม่สามารถให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้ใช้ได้ เพราะตัวมันเองจะต้องทำงานเต็มประสิทธิภาพตลอดเวลา เนื่องด้วยหลักการแสดงผลของ Apple คือตั้งค่าให้การ์ดจอเรนเดอร์ภาพไปที่ความละเอียดสูงมากๆ แล้วค่อยปรับสเกลลงมาให้อยู่ในระดับความละเอียดที่เราตั้งค่าไว้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ตั้งการแสดงผลให้เป็น 2560 x 1600 ก็ตาม แต่ก็ยังถือว่ามีการกินพลังของ GPU ค่อนข้างหนักอยู่ดี
ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นใน MacBook Pro with Retina Display 15″ ที่หลายคนประสบปัญหาเวลาเลื่อนหน้าเว็บลงมาแล้วเกิดอาการกระตุก ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก GPU ไม่สามารถทำงานได้ทัน แม้ว่าจะใช้กราฟิกชิปแยกแล้วก็ตาม ซึ่งถ้าต้องให้ GPU ไม่ว่าจะทั้งใน CPU หรือจะเป็นชิป GPU แยกทำงานในระดับนั้น ก็จะเสียเรื่องของการประหยัดพลังงานไปแน่นอน
ชิปประมวลผล
นอกจากเรื่องพลังประมวลผลกราฟิกแล้ว เรื่องของ CPU ก็เป็นข้อจำกัดของ MacBook Air ด้วยเช่นกัน โดยถ้าเปรียบเทียบกับ MacBook Pro with Retina Display 15″ แล้ว พบว่า CPU ที่ใช้งานนั้นเป็น Intel Core i7 ความเร็วสูงถึง 2.7 GHz Quad core ในขณะที่ CPU สูงสุดของ MacBook Air นั้นเป็นแค่เพียง Intel Core i7 ความเร็ว 2.0 GHz แบบ dual-core เท่านั้น ทำให้เป็นไปได้ว่า MacBook Air อาจจะไม่สามารถประมวลผลหลายๆ อย่างบนจอความละเอียดสูงขนาดนั้นได้ และถ้าจะใส่ CPU รุ่นสูงกว่าในปัจจุบันมา แน่นอนว่าก็ต้องเพิ่มขนาดของ heatsink และพัดลมระบายความร้อนเข้าไปอีก ทำให้การจะปรับให้ MacBook Air ใช้งานจอ Retina Display เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ (ในยุคนี้)
พื้นที่ภายในเครื่อง
รวมจากสองข้อด้านบน ถ้าต้องการจะให้ภายในเครื่องมี heatsink / พัดลมระบายความร้อนที่ใหญ่ขึ้น รวมไปถึงถ้าต้องติดตั้ง RAM ให้มากขึ้นเพื่อรองรับการทำงาน ย่อมจะต้องใช้พื้นที่บน logic board และพื้นที่ภายในเครื่องมากขึ้น แต่ตัวเครื่องของ MacBook Air มีความจำกัดมาก ทำให้เรื่องการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ในอนาคตก็ยังมีความเป็นไปได้ครับ ถ้าชิปประมวลผลทำงานได้เย็นกว่า เร็วกว่า GPU สามารถทำงานได้ดีกว่าในปัจจุบัน ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะได้เห็น MacBook Air จอ Retina Display ก็ได้ (ที่จริงตอนนี้รุ่น 13 นิ้วก็มีความละเอียดที่สูงกว่าหลายๆ รุ่นในตลาดอยู่แล้วนั่นคือ 1440 x 900)
ที่มา : 9to5mac