ในวันหยุดหรือหลังเลิกงาน เชื่อว่าหลายคนก็มี YouTube เป็นเพื่อนไว้ดูหนัง, การ์ตูนหรือฟัง Podcast กันแน่นอน แต่ถ้าไม่อยากให้โฆษณากวนใจก็ต้องสมัคร YouTube Premium เพิ่มให้ดูคลิปได้ต่อเนื่องไม่ให้เสียอารมณ์นัก ซึ่งบางคนก็ไม่ชอบที่ Google ทำแบบนี้นักจึงหาวิธีแก้ทางร้อยแปดมาใช้กัน
กลับกันการใช้บัญชี Premium ยอมเสียค่าบริการคนละ 179 บาท/เดือน จะเป็นแพ็คเกจแบบตัดโฆษณาใน YouTube Music ไปในตัว ทำให้เวลาฟังเพลงไม่ต้องโดนยิงสปอตโฆษณาให้เสียอารมณ์ แถมเวลาเลือกเพลงเข้า Playlist จากหน้าเว็บก็จะไปขึ้นในแอพฯ ได้ แถมมีคลังเพลงจากศิลปินทั่วโลกไม่ว่าจะดังระดับโลกหรือวงอินดี้ไม่คุ้นชื่อก็เก็บเอาไว้ฟังได้ นับเป็นข้อดีที่ Music streaming platform อื่นทำไม่ได้แบบนี้
ว่าด้วยเรื่องของ YouTube Premium
- YouTube มีนโยบายว่าถ้าบัญชี Premium ดูแชนแนลใด ทางบริษัทจะแบ่งเงินค่าธรรมเนียมรายเดือนให้ครีเอเตอร์เจ้าของช่องส่วนหนึ่ง ชดเชยจากการไม่มีโฆษณาคั่น
- นอกจากเวอร์ชั่นปกติแล้ว จะมีแพ็คเกจราคาประหยัดอย่าง Premium Lite ตัดโฆษณาส่วนใหญ่ออกไป แต่ยังมีในคลิปเพลงและ Banner โฆษณาตอนค้นหาคลิปอยู่
- คลิปแบบ 1080p Premium จะมีคุณภาพสูงกว่า 1080p ธรรมดาเพราะ Bitrate ในวิดีโอมากขึ้น ทำให้ข้อมูลต่อเม็ดพิกเซลเยอะกว่าจึงคมชัดและสีสันสวยขึ้น
- การทำ Shortcut ตรงเข้าหน้า YouTube ที่ต้องการทำได้ง่ายมากด้วยวิธี Drag&Drop เท่านั้น
- วิดีโอที่ระยะเวลาสั้นสุดแล้วติดโฆษณาได้ตามนโยบาย คือ 15~30 วินาที เป็นแบบกดข้ามไม่ได้
- สาเหตุที่ YouTube Premium ใน iOS จ่ายแพงกว่า Android เพราะทาง Apple เก็บค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มเพิ่ม จึงแพงกว่าราว 20%
- วิธีสมัคร YouTube Premium ใน iOS แนะนำให้สมัครผ่าน Browser ถึงได้ราคาเท่า Android
4 เรื่องเกี่ยวกับ YouTube Premium
- YouTube Premium คืออะไร? สมัครแล้วได้ใช้อะไรบ้าง?
- แพ็คเกจ Premium แต่ละแบบกับ YouTube Music ของดีที่มาคู่กัน
- 1080p Premium เพิ่ม Bitrate ให้ภาพสวยคมเมื่อใช้งาน
- ตั้งค่า Shortcut กดแล้วตรงเข้าหน้า YouTube ได้ทันที!
1. YouTube Premium คืออะไร? สมัครแล้วได้ใช้อะไรบ้าง?
แพลตฟอร์ม YouTube เป็นเว็บไซต์รวมคลิปวิดีโอและเพลงจากครีเอเตอร์ทั่วโลกเอาไว้ให้ค้นหามาดูและฟังได้ง่ายและฟรีแต่มีโฆษณาเพิ่มเพื่อหารายได้เข้าแพลตฟอร์มและแชร์ให้ครีเอเตอร์ แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็ไม่ปลื้ม เพราะแทนที่จะได้นั่งดูเนื้อหาสิ่งที่สนใจก็ต้องมาชมโฆษณาแทรกด้วย ดังนั้นการสมัครใช้ Premium นอกจากตัดโฆษณาออก ก็จะมีฟีเจอร์เพิ่มเข้ามาอีกพอควร ได้แก่
- ดาวน์โหลดคลิปไว้ดูแบบออฟไลน์ เหมาะกับคนต้องเดินทางไปต่างประเทศต้องอยู่บนเครื่องบินนานหลายชั่วโมงก็เปิดคลิปดูหรือฟังเพลงได้โดยไม่ต้องมีอินเทอร์เน็ต
- เล่นคลิปหรือเพลงตอนล็อคหน้าจอหรือใช้แอปฯ อื่น เหมาะกับคนชอบฟังเพลงหรือ Podcast แล้วจะสลับไปใช้แอปฯ อื่น หรือล็อคหน้าจอก็ทำได้ทันทีแล้วเพลงหรือคลิปไม่หยุดเล่น
- YouTube Music Premium จะเล่นเพลงได้ทันทีโดยไม่มีโฆษณาคั่นและเลือกเปิดเป็นโหมดเสียงเพลงอย่างเดียวโดยไม่ต้องโหลดทั้งคลิป ช่วยประหยัดปริมาณอินเทอร์เน็ตสำหรับคนใช้รายเดือนมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้น้อย
- รับชมต่อ เป็นการดูแล้วหยุดคลิประหว่างทางแล้วเปลี่ยนไปดูจากอีกอุปกรณ์ได้ เช่น ฟัง Podcast เวลาขับรถกลับบ้านแล้วยังไม่จบ ก็เปิดฟังต่อในคอมพิวเตอร์จากจุดที่หยุดไว้ได้ทันที
- เพิ่มฟังก์ชั่นควบคุมแบบ Premium โดยกดจากปุ่มรูปเฟืองในคลิป เลือกการตั้งค่าเพิ่มเติม > การควบคุมสำหรับ Premium จะมีฟังก์ชั่นใช้งานเพิ่มได้แก่
- เล่น/หยุดชั่วคราว หรือข้ามวิดีโอ
- เลื่อนคลิปไปข้างหน้าหรือถอยกลับไป 10 วินาที
- กดชอบให้คลิป
- กดบันทึกคลิปเอาไว้ดูภายหลัง
- เร่งหรือลดความเร็วของคลิป
- เปิดหรือปิดระดับเสียงคงที่
- เล่นโหมดซ้อนภาพ (PiP) บางคนอาจเรียกหน้าต่างเล็ก เวลาคลิปเล่นอยู่ก็เปลี่ยนไปคลิปอื่นได้ทันที โดยคลิปจะย่อขนาดเป็นหน้าจอเล็กซ้อนอยู่เหนือหน้าแอปฯ อื่น จึงใช้งานได้สะดวกขึ้น แต่ถ้าจะใช้ใน iOS จะมีการตั้งค่าเพิ่มเติม
- จัดคิวเล่นวิดีโอบนมือถือหรือแท็บเล็ตได้ ทำให้เก็บคลิปแนะนำไว้เป็นคิวเล่นต่อไปได้ ไม่ทับคลิปที่ดูอยู่ ใช้งานในมือถือหรือแท็บเล็ตก็ได้
- เล่นคลิปแบบ 1080p Premium ซึ่งต่างจาก 1080p ธรรมดา โดย YouTube จะเพิ่ม Bitrate เข้าไปให้คลิปมีความสวยงามคมชัดยิ่งขึ้น แต่เปิดใช้ในโหมด Livestream, YouTube Short และคลิปที่อัปโหลดมามีความละเอียดมากหรือน้อยกว่า 1080p
- เพิ่มป้าย Premium โดยเปิดดูจากหน้าแรก เลือกไอคอนโปรไฟล์ > สิทธิประโยชน์ของ Premium แล้วหน้าจอจะแสดงข้อมูลเชิงลึกว่าเราประหยัดเวลาจากการใช้ YouTube Premium ไปกี่ชั่วโมงแล้ว กล่าวคือเป็นฟีเจอร์อวดความคุ้มค่าที่ Google ใส่มาให้ผู้ใช้ดู
- ข้ามแบบไว เหมือนการกรอเทปไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วให้ถึงช่วงน่าสนใจได้เร็วขึ้น สามารถแตะค้างหน้าคลิปแล้วระบบจะกรอไปข้างหน้าความเร็ว 2X โดยอัตโนมัติ
ถ้าเข้ามาในหน้า Premium จะรวมข้อมูลบอกผู้ใช้ว่าหลังจากใช้แพ็คเกจมาจนวันนี้เป็นอย่างไร ทั้งรู้ว่าเราดูคลิปวิดีโอโดยไม่มีโฆษณา, ฟังเพลงไร้สปอตโฆษณาแทรก, โหลดเพลงและวิดีโอเอาไว้ในเครื่องเผื่อดูภายหลังมากไปเท่าไหร่ เหมือนเป็นจิตวิทยากลายๆ บอกผู้ใช้ไม่ให้ยกเลิกบริการนี้ในอนาคต
2. แพ็คเกจ Premium แต่ละแบบกับ YouTube Music ของดีที่มาคู่กัน
ว่าด้วยแพ็คเกจสมัครใช้ Premium ณ ตอนนี้จะมีทั้งหมด 4 แบบ แยกตามกลุ่มผู้ใช้งานและมีระดับราคาต่างกัน ซึ่งจะมีดังนี้
- Premium Lite – ราคา 89 บาท/เดือน เป็นแบบราคาประหยัด ตัดโฆษณาในคลิปวิดีโอส่วนใหญ่ออก แต่คลิปเพลงกับหน้าค้นหาคลิปจะแสดงแบบแบนเนอร์อยู่ ถ้าล็อคหน้าจอหรือเปลี่ยนไปใช้แอปฯ อื่นจะหยุดเล่นทันทีและโหลดคลิปไว้ดูแบบ Offline ไม่ได้
- Premium – ค่าบริการปัจจุบัน 179 บาท/เดือน (อาจเพิ่มขึ้นในอนาคตตามนโยบายของ Google) ตัดโฆษณาออกทุกแบบไม่ว่าจะเป็นคลิปทั่วไปหรือ YouTube Kids ก็ตาม สามารถฟังเสียงคลิปตอนล็อคหน้าจอหรือเปลี่ยนไปใช้แอปฯ อื่นและโหลดวิดีโอไว้ดูแบบ Offline ได้
- Family – ค่าบริการปัจจุบัน 359 บาท/เดือน ให้ใช้งานกันในครอบครัวเพิ่มได้อีก 5 คน รวมเจ้าของบัญชีเป็น 6 คน มีเงื่อนไขว่าบัญชี Google ใน Family ต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไป ทดลองใช้เดือนแรกฟรีแล้วจ่ายค่าบริการในเดือนถัดไป
- Student – ค่าบริการปัจจุบัน 109 บาท/เดือน ให้นักเรียนใช้แพ็คเกจ Premium ได้ในราคาประหยัด แต่จะต้องส่งเอกสารยืนยันตัวเป็นรายปีว่ายังเป็นนักเรียนอยู่ถึงจะใช้แพ็คเกจราคานี้ได้
ถ้าดูจากแพ็คเกจราคาทั้งหมด จะเห็นว่าทาง YouTube จัดให้กลุ่ม Premium Lite ไว้ให้คนต้องการดูคลิปบนแพลตฟอร์มได้โดยไม่มีโฆษณาเท่าเดิม ไม่ต้องการฟีเจอร์พิเศษอย่างตัวเต็มทำได้และมีแอปฯ Music Steaming เจ้าอื่นอยู่แล้วได้เลือกใช้ ส่วนนักเรียนนักศึกษาก็มี Student Plan ราคาย่อมเยาให้เลือกใช้บริการได้ แค่ต้องส่งเอกสารให้ทางบริษัทพิจารณาเป็นรายปีเท่านั้น
กลับกันถ้าอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ตามปกติหรือหาเพื่อนมาหารแล้วสมัครเป็นแพ็คเกจ Family เพิ่มคนใช้เข้ามาอีก 5 รวมกับเจ้าของไอดีเป็น 6 คน ได้ ก็จะเสียค่าบริการ 359/4 = 59.8 บาท/คน เท่านั้น ก็เป็นวิธีแชร์ค่าบริการยอดนิยม ช่วยคุมค่าใช้จ่ายให้ถูกลงไปได้ราว 3 เท่าตัวทีเดียว
นอกจากตัดโฆษณาทิ้งไปได้แล้ว ข้อดีถัดมาคือ YouTube Music ก็จะไม่มีสปอตโฆษณามาแทรก แถมเป็น Music steaming platform ที่ดีมาก ไม่ว่าจะมีเพลงจากศิลปินทั่วทุกมุมโลกให้เพิ่มเข้า Playlist ได้จากหน้าเว็บไซต์ YouTube จากนั้นก็เปิดฟังในสมาร์ทโฟนโดยไม่ต้องเปิดหน้าจอได้ แถมในตอนนี้ก็มีหมวดหมู่ของ Podcast ให้ฟังในแอพฯ นี้ได้โดยตรง ถ้าต้องเดินทางต่างประเทศหรืออยากเล่นเพลงแบบออฟไลน์ก็ดาวน์โหลดเก็บเอาไว้ในเครื่องได้ด้วย
จุดเด่นของ Music ถัดมา คือหน้า UI จะเอาเพลงประจำมาให้กดเลือกได้ง่ายขึ้นและแนะนำเพลงใหม่โดยอิงจากสไตล์เพลงที่ฟังอยู่แล้วให้ทดลองฟัง เวลาเล่นเพลงสังเกตว่าจะเลือกฟังเป็นเพลงอย่างเดียวหรือดู MV ไปพร้อมกันก็ได้ ส่วนด้านล่างก็จะมีตัวเลือกอย่าง Up next ขึ้นรายชื่อเพลงว่าถ้าเล่นเพลงนี้จบแล้วจะเล่นเพลงอะไรต่อ, Lyrics เล่นเนื้อเพลงให้ผู้ฟังร้องตามได้ และ Related แนะนำเพลงอื่นให้ลองฟังได้
ข้อสังเกตของ YouTube Music มีเพียงว่าถ้าเพลงไหนถูกเปิดให้ฟังเฉพาะสมาชิกของแชนแนลหรือถูกบล็อคไว้ไม่ให้ฟังในแอพฯ นี้ก็จะเปิดเล่นไม่ได้ ต้องดึงออกจาก Playlist ไป ไม่เช่นนั้นระบบจะหยุดเล่นเพลงไปโดยปริยาย
3. 1080p Premium เพิ่ม Bitrate ให้ภาพสวยคมเมื่อใช้งาน
1080p 1080p Premium
การตั้งค่าพิเศษเฉพาะคนสมัคร Premium คือเลือกเปิดคลิปแบบ 1080p Premium ซึ่งต่างจาก 1080p HD มาตรฐานว่าทาง YouTube จะเพิ่ม bitrate ให้คลิปนั้น ทำให้คุณภาพทั้งความคมชัดและสีสันในคลิปดูดียิ่งขึ้น แม้เปิดดูในสถิติสำหรับเด็กเนิร์ด (Stats for Nerds) จะยังไม่เห็นข้อแตกต่างมากมาก แต่ตอนดูคลิปจะเห็นทันทีว่าสีสันของ 1080p Premium จะมีความสดใสและคมชัดกว่า
ในเชิงเทคนิค คลิป 1080p จะมีค่า bitrate เพียง 8~12Mbps จึงมีความคมชัดแต่ละเอียดน้อยกว่าแบบ Premium ซึ่งเพิ่มข้อมูลต่อพิกเซลในคลิปให้มากขึ้น ทำให้สีสันและรายละเอียดดีขึ้นและยังเล่นคลิปได้ลื่นเท่าเดิม ดังนั้นถ้าใครดู YouTube เป็นประจำแนะนำว่าสมัคร YouTube Premium เอาไว้ก็คุ้มค่า
4. ตั้งค่า Shortcut กดแล้วตรงเข้าหน้า YouTube ได้ทันที!
ถ้ามี Playlist หรือชอบเข้าดูแชนแนลใดเป็นพิเศษ ก็มีวิธีทำ Shortcut เอาไว้หน้า Desktop ได้เลยและใช้ได้ทั้ง Windows 11 กับ macOS ทั้งคู่ เริ่มต้นให้เปิดเข้าไปหน้าแชนแนลที่ดูเป็นประจำ สังเกตมุมซ้ายบนหน้าช่อง Address bar รูปแม่กุญแจหรือตัวสไลด์บาร์ ให้คลิกซ้ายค้างแล้วลากออกมาปล่อยบนหน้า Desktop ได้เลย
จากนั้นบนหน้า Desktop จะมีไฟล์รูปกระดาษกับไอคอนเบราเซอร์ (หรือเป็นไอคอนอย่างเดียว) อยู่พร้อมชื่อลิ้งค์แชนแนล ถ้าคลิกสองครั้งจะเปิดเข้าหน้าแชนแนลหรือคลิปนั้นโดยตรงผ่านเบราเซอร์หลักในคอมของเรา เวลาเปลี่ยนไปใช้เบราเซอร์ตัวอื่นไอคอนนี้ก็จะเปลี่ยนตามไปโดยอัตโนมัติ
เปิดดู Properties ของไฟล์จะเป็นไฟล์ประเภท Internet Shortcut (.url) และในแท็บ Web Document สังเกตตรง URL จะเห็นว่าตัวไฟล์ทำเป็นลิ้งค์เข้าหน้าเว็บโดยตรงจึงดับเบิ้ลคลิกเปิดใช้งานได้ทันที กลับกันถ้าแก้ลิ้งค์ในช่องนี้เป็น URL อื่นแล้วกด Apply > OK ไป แม้ชื่อของไฟล์จะเป็น Facebook แบบในตัวอย่าง แต่ระบบก็จะอิงตามช่องนี้โดยอัตโนมัติ
แม้หลายคนจะไม่ค่อยชอบระบบ YouTube Premium เพราะพอมีแล้วก็เปลี่ยนแพลตฟอร์มใช้บริการฟรีให้เป็นเสียเงินแทนจนต้องหาโปรแกรมและวิธีแก้ทางร้อยแปดมาใช้งานกัน แต่กลับกันการจ่ายค่าฟังก์ชั่นไม่ใช่แค่ส่งผลดีกับตัวผู้ใช้อย่างเดียว เพราะถ้าบัญชีเราเข้าชม YouTube Channel ใด ทางแพลตฟอร์มก็จะแชร์รายได้จากค่าบริการรายเดือนของเราไปให้ช่องนั้นเป็นพิเศษ เรียกว่าแม้จะไม่ได้สนับสนุนโดยตรงก็ยังมีผลทางอ้อมให้ครีเอเตอร์คนโปรดยังมีรายรับเพิ่มอีกเล็กน้อยก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน
ยิ่งใครต้องเดินทางไปทำงานหรือเที่ยวต่างประเทศแล้วนั่งเครื่องบินนานหลายชั่วโมง ก็อยากดูคลิปหรือฟังเพลงโปรดก็เปิดแบบ Offline แล้วลบทิ้งในภายหลังได้ เรียกว่าเป็นค่าบริการเล็กน้อยรายเดือนให้ทีมงานมีไว้พัฒนาระบบเพิ่มก็ดูสมกันดีและไม่ต้องมากุมขมับเวลาใช้ส่วนเสริมหรือโปรแกรมป้องกันโฆษณาอย่าง Adblock ปิดแล้วเจอปัญหาจอดำหรือคลิปไม่เล่นให้กลุ้มใจด้วย
Photo Credits : Szabo Viktor via Unsplash, Christian Wiediger via Unsplash
FAQ
1. ทำไมบัญชี Premium ดูคลิปครีเอเตอร์แล้วผู้ผลิตผลงานจะได้ผลประโยชน์ดีเป็นพิเศษ?
ตอบ เพราะบัญชี Premium จะไม่มีโฆษณาแทรก ทำให้ทาง YouTube แบ่งรายได้จากค่าบริการรายเดือนของไอดีนั้นให้ครีเอเตอร์เพิ่มเป็นพิเศษ
2. ทำไม iOS ถึงจ่ายค่าบริการรายเดือนแพงกว่า Android?
ตอบ เพราะระบบ iOS คิดค่าธรรมเนียมสโตร์ของตัวเองเพิ่มเข้าไปทำให้ผู้ใช้ต้องจ่ายค่าบริการเพิ่ม 20%
3. ถ้าใช้ iPhone หรือ iPad แล้วต้องการจ่ายค่าบริการเท่า Android ทำได้ไหม?
ตอบ ได้ เพียงสมัครใช้ YouTube Premium ผ่านทางเบราเซอร์จ่ายเงินกับระบบ Google โดยตรงก็ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสโตร์เพิ่มแล้ว
4. ถ้าเน้นดูคลิป YouTube อย่างเดียวแล้วไม่อยากเจอโฆษณา จำเป็นต้องสมัคร Premium ไหม?
ตอบ มีตัวเลือกเป็น Premium Lite เป็นเวอร์ชั่นราคาถูก 89 บาท/เดือน จะไม่มีโฆษณาคั่นในคลิป แต่ในส่วนอื่นๆ ยังมีอยู่และไม่มีฟีเจอร์ PiP หรือล็อคหน้าจอแล้วเล่นคลิปแบบ Premium ตัวเต็ม
5. ถ้าใช้แพลตฟอร์ม Music streaming อื่นอยู่แล้ว สมัคร Premium ตัวเต็มจะคุ้มไหม?
ตอบ ก็ยังคุ้มค่า เพราะใช้ฟีเจอร์อย่าง PiP, โหลดคลิปไว้ดูแบบ Offline ได้ หรือแม้แต่จัดคิวให้เล่นคลิปได้ก็มีประโยชน์ไม่แพ้กัน แต่ถ้าย้ายมาใช้ YouTube Music ด้วย ก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการสองแพลตฟอร์มให้เปลืองเงินโดยใช่เหตุ