Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

1 วันเต็มไม่มีชาร์จกับ AMD Ryzen AI 9 HX 370 ใน ASUS Zenbook S 16

ปัจจุบัน โน้ตบุ๊กกลุ่มที่เน้นดีไซน์บางเบามักจะมาพร้อมจุดเด่นคือแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการเลือกใช้ชิปประมวลผลรุ่นประหยัดพลังงาน และอาจมีหน้าจอขนาดเล็กลงมาหน่อย เพื่อให้มีอัตราการกินไฟที่ลดลงเล็กน้อย แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นชิป AMD Ryzen AI 9 HX 370 ที่เป็นชิปสมรรถนะสูง แต่ก็มีค่า TDP ที่ทำได้ต่ำกว่าชิปรุ่นก่อน ทำให้ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในบทความนี้เราจะมาลองว่าใน 1 วัน ผมจะสามารถใช้งาน ASUS Zenbook S 16 ที่ใช้ชิป Ryzen AI 9 HX 370 แบบไม่เสียบสายชาร์จได้ขนาดไหน

amd ryzen ai 9 hx 370 zenbook

ปัจจุบัน โน้ตบุ๊กกลุ่มที่เน้นดีไซน์บางเบามักจะมาพร้อมจุดเด่นคือแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการเลือกใช้ชิปประมวลผลรุ่นประหยัดพลังงาน และอาจมีหน้าจอขนาดเล็กลงมาหน่อย เพื่อให้มีอัตราการกินไฟที่ลดลงเล็กน้อย แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นชิป AMD Ryzen AI 9 HX 370 ที่เป็นชิปสมรรถนะสูง แต่ก็มีค่า TDP ที่ทำได้ต่ำกว่าชิปรุ่นก่อน ทำให้ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในบทความนี้เราจะมาลองว่าใน 1 วัน ผมจะสามารถใช้งาน ASUS Zenbook S 16 ที่ใช้ชิป Ryzen AI 9 HX 370 แบบไม่เสียบสายชาร์จได้ขนาดไหน

Advertisement

สำหรับ ASUS Zenbook S 16 รุ่นย่อย UM5606WA-RK917WF ที่ใช้ในการทดสอบมีสเปคคร่าว ๆ ดังนี้

  • AMD Ryzen AI 9 HX 370 ความเร็ว 2.0GHz มี 12 คอร์ 24 เธรด ค่า TDP 15-54W (default 28W)
  • กราฟิกออนบอร์ด AMD Radeon 890M
  • แรม LPDDR5X 32GB แบบออนบอร์ด
  • SSD 1TB NVMe PCIe 4.0
  • หน้าจอสัมผัสขนาด 16” 3K OLED 120Hz 100% DCI-P3
  • แบตเตอรี่ 78WHr
  • น้ำหนักเครื่อง 1.5 กิโลกรัม มีความบางสุดเพียง 1.1 เซนติเมตร

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 21

จากสเปคที่ได้มา ก็ต้องบอกว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่ออกแบบมาโดยเน้นความคล่องตัวในการพกพา แต่ก็ต้องการหน้าจอใหญ่ระดับ 16” เพื่อการทำงานที่สะดวกด้วย และจุดสำคัญคือหัวใจของการประมวลผลที่อยู่ภายใน เพราะได้เป็นชิป AMD Ryzen AI 9 HX 370 ที่จัดว่าเป็นชิปสายโมบายล์ระดับท็อปของ AMD ในขณะนี้ โดยมาพร้อมกับคอร์ Zen 5 ประสิทธิภาพสูงจำนวน 4 คอร์และคอร์ Zen 5c ที่เน้นการประหยัดพลังงานมากขึ้น แต่ยังได้มีความสามารถในการคำนวณที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคอร์ใหญ่อีกจำนวน 8 คอร์ ทำให้ CPU รุ่นนี้ตอบโจทย์การทำงานไม่ว่าจะทั้งแบบที่ต้องการความแรงเต็มที่ ใช้เรนเดอร์ ใช้คำนวณหนัก ๆ หรือจะต้องการใช้งานเบา เล่นเน็ต ทำงานเอกสารที่ไม่มีการใส่สูตรซับซ้อนมากนัก ดูหนังฟังเพลง

ส่วนด้านกราฟิกก็จะให้มาเป็น iGPU แบบ On-CPU อย่าง AMD Radeon 890M ที่จัดว่าเป็นหนึ่งในกราฟิก On-CPU ที่แรงที่สุดในขณะนี้เมื่อเทียบกราฟิก On-CPU ด้วยกัน ส่วนในเรื่องของความแรงก็ต้องบอกว่าหายใจรดต้นคอกราฟิกชิปแยกระดับกลางที่มักอยู่ในกลุ่มโน้ตบุ๊กราคาหมื่นปลาย ๆ ถึงเกือบสามหมื่นบาทได้เลย ทำให้โน้ตบุ๊กเครื่องนี้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์แบบทั่วไป ต้องการทำได้ทุกอย่างในเครื่องเดียว เวลางานก็ทำงานได้ไม่สะดุด เวลาพักผ่อนก็สามารถเปิดเกมเล่นได้เพลิน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมเบาสมอง เกมออนไลน์ ไปจนถึงเกมระดับ AAA ก็ยังไหว โดยสามารถดูผลการทดสอบเพิ่มเติม และบทความแนะนำวิธีการปรับแต่งกราฟิกได้ที่นี่

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 29

อีกจุดที่ทำให้ชิป AMD Ryzen AI 9 HX 370 มีความโดดเด่นก็คือ NPU สถาปัตยกรรม XDNA 2 ที่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้มีความสามารถเหนือชั้นกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะมาช่วยเสริมการทำงานของฟีเจอร์ที่มีการใช้ AI และ ML ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าการใช้ CPU และ GPU คำนวณ เพราะจะเป็นการใช้หน่วยประมวลผลที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งในตอนนี้ก็เริ่มมีโปรแกรมต่าง ๆ ที่รองรับการนำ NPU ใน CPU มาใช้งานโดยตรงบ้างแล้ว อย่างในภาพด้านบนก็จะเป็นโปรแกรม Amuse ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าใช้โมเดล Stable Diffusion รองรับการทำงานร่วมกับ NPU ในชิปของ AMD และเทคโนโลยี AMD Ryzen AI ซึ่งตัวโปรแกรมก็จะทำหน้าที่เป็นอินเตอร์เฟสให้ผู้ใช้สามารถสร้างรูปภาพขึ้นมาจากข้อความ (text to image) รวมถึงยังมีฟีเจอร์อื่น ๆ ในลักษณะนี้อีกมากมาย ทั้งยังมีความสามารถในการโหลดโมเดลอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มได้ด้วย

โดยตัวของ NPU สถาปัตยกรรม AMD XDNA จะเข้ามามีบทบาทในการทำ super resolution ที่ช่วยเพิ่มความละเอียด ความคมชัดให้กับภาพที่ GPU เรนเดอร์ออกมา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์สุดท้ายเป็นภาพที่มีความละเอียดสูง สามารถนำไปใช้งานต่อได้ดี ส่วนวิธีการใช้ก็ง่ายมาก โดยเมื่อเข้าไปโหลดโปรแกรมและติดตั้งแล้ว ก็สามารถเปิดใช้งานได้ทันที พิมพ์คำสั่ง (prompt) ลงไปได้เลย แต่ถ้าต้องการปรับแต่งรายละเอียด ก็จะมีโหมด Advanced ให้กดใช้งานด้วย

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 47

ทีนี้กลับมาในเรื่องของการนำ ASUS Zenbook S 16 เครื่องนี้มาใช้งานในหนึ่งวันกันครับ หลัก ๆ แล้วงานของผมในช่วงที่ทำบทความนี้ก็จะเป็นการตื่นมาเขียนงานสั้นในช่วงสาย ๆ จากนั้นก็ไล่เคลียร์งานระหว่างวัน โดยมักจะมีทั้งการเขียนงานยาว บ้างก็ต้องแก้ไขข้อความในวิดีโอพร้อมเรนเดอร์เป็นคลิปสั้นออกมา บ้างก็ต้องทำงานกับไฟล์ PSD ของ Photoshop โดยในบางวันก็พกเครื่องออกไปนั่งทำงานนอกสถานที่ เรียกว่าเป็นการทำงานสายคอนเทนต์แทบจะทั้งวัน

อย่างในการทำงานคอนเทนต์สั้นช่วงเช้า เริ่มตั้งแต่ช่วงก่อน 9 โมงเช้า โดยหลักแล้วก็จะเป็นการแปลเนื้อหาจากเว็บไซต์ต่างประเทศ ที่ถ้าจะให้สะดวกก็ต้องมีการแบ่งหน้าจอเป็นสองฝั่ง เพื่อให้สามารถอ่านจับใจความและเก็บตกรายละเอียดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในการทำงานช่วงเช้านี้ ผมก็ลองใช้งานเครื่องแบบไม่เสียบสายชาร์จดู เพื่อลองประสิทธิภาพเบื้องต้นว่าจะลดลงไปหรือไม่ในขณะที่ใช้ไฟจากแบตเตอรี่ล้วน ๆ โดยใช้การตั้งค่าโหมดพลังงานแบบมาตรฐาน ผลคือแทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่างจากตอนเสียบสายชาร์จเลย สามารถทำงานได้ตามปกติ

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 49

ต่อมาก็มีเหตุให้ต้องเปิดไฟล์บน Google Sheets ขึ้นมาเช็คงานเล็กน้อย ซึ่งก็จะอาศัยการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่าน Wi-Fi Hotspot ในมือถือ ด้วยการที่หน้าจอมีขนาดใหญ่ จึงทำให้สามารถดูข้อมูลบนชีทในภาพกว้างได้ดีโดยไม่จำเป็นต้องปรับสเกลการแสดงผลให้เล็กจนอ่านยาก ส่วนเรื่องประสิทธิภาพ อันนี้ AMD Ryzen AI 9 HX 370 สามารถจัดการได้สบายมาก ด้วยพลังของคอร์ Zen 5c ก็เกินพอ ทั้งยังไม่ได้กินแบตมากจนเกินไปนัก

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 53

ในเรื่องของการพกพา แม้ว่าตัวเครื่องจะมีหน้าจอขนาด 16” ก็ตาม แต่ด้วยความที่ขอบจอบาง ตัวเครื่องก็บางและน้ำหนักเบาเพียงประมาณหนึ่งกิโลครึ่ง จึงทำให้สามารถหยิบไปใช้งาน เดินไปเดินมาในจุดต่าง ๆ ได้สบาย ทั้งยังแทบไม่จำเป็นต้องพกอะแดปเตอร์ไปก็ยังได้ แต่ในกรณีที่อาจต้องการเติมพลังเล็กน้อยระหว่างวันเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถใช้งานได้ไม่มีสะดุด เช่นอาจจะต้องการเสียบสายชาร์จไว้ระหว่างพักทานมื้อเที่ยง ก็สามารถใช้อะแดปเตอร์ที่รองรับ USB-PD และสายชาร์จ USB-C ร่วมกับมือถือได้เลย หากต้องการให้ชาร์จได้ในระดับเดียวกับอะแดปเตอร์ที่ให้มากับเครื่อง ก็แนะนำว่าควรจะใช้กับอะแดปเตอร์ 65W ขึ้นไป ซึ่งในตอนนี้ก็สามารถหาซื้อได้ง่าย มีหลากหลายระดับราคาให้เลือก อย่างถ้าต้องการแบรนด์ที่มีมาตรฐานหน่อยก็มีราคาอยู่ที่ประมาณ 500 บาทขึ้นไปก็มีแล้ว แถมยังมีขนาดกะทัดรัด หยิบใส่กระเป๋าโน้ตบุ๊กได้เลย

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 58

ซึ่งด้วยน้ำหนักที่เบา ก็ทำให้ผมสามารถกางหน้าจอออกมาเพื่อเช็คงานด่วนได้ไม่ยากนัก โดยเมื่อเปิดออกมาจากการสลีปเครื่อง ก็สามารถทำงานต่อได้แทบจะทันที

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 55

ช่วงบ่ายก็มีเติมพลังกันด้วยกาแฟร้อน ๆ ซักแก้ว พร้อมกับทำงานแก้ไฟล์ภาพในโปรแกรม Adobe Photoshop อีกเล็กน้อยครับ พลังในการประมวลผลของทั้ง CPU และ GPU ที่ใช้ในการทำงานกราฟิกภาพนิ่ง จัดว่าอยู่ในระดับที่เหลือเฟือ ประกอบกับแรมของระบบที่มี 24GB + แชร์ให้ iGPU 8GB ก็ทำให้สามารถทำงานกับไฟล์ PSD ที่มีหลายเลเยอร์ได้ดี แม้จะมีการเปิดโปรแกรมอื่นซ้อนกันอยู่เบื้องหลังบ้างก็ตาม

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 61

ส่วนถ้าเป็นงานที่ต้องการประสิทธิภาพของตัวเครื่องซักหน่อย แน่นอนว่า ASUS Zenbook S 16 พร้อมพลังของ AMD Ryzen AI 9 HX 370 นั้นตอบโจทย์ได้เต็ม ๆ อย่างในภาพด้านบนก็เป็นช่วงที่ผมจำเป็นต้องเปิดไฟล์โปรเจ็กต์วิดีโอด้วยโปรแกรม Adobe After Effects ขึ้นมาแก้ไขข้อความในวิดีโอเล็กน้อย ก็สามารถเปิดไฟล์จากในเครื่องเพื่อทำงานได้ทันที เรื่องของการเลื่อน scrub ไปตามไทม์ไลน์ การเรนเดอร์ภาพพรีวิว แม้จะเป็นในขณะที่ใช้งานแบตเตอรี่อยู่ก็ตาม แต่ก็ยังทำได้รวดเร็วไม่แพ้ตอนที่ใช้งานแบบเสียบสายชาร์จไปด้วยมากนัก

สำหรับการเรนเดอร์ไฟล์โปรเจ็กต์ก็จะอาศัยการส่งจาก After Effects ไปยัง Adobe Media Encoder เพื่อให้ออกมาเป็นไฟล์ MP4 เพื่อส่งงานก็สามารถทำได้อย่างราบรื่น ซึ่งที่ผมทำก็เป็นแค่คลิปสั้นความยาวประมาณ 15 วินาที ทำให้การเรนเดอร์งานใช้เวลาไม่นาน เสียงพัดลมก็ไม่ดัง เรียกว่าตอบโจทย์การทำงานสายคอนเทนต์ที่ต้องมีการทำคลิปสั้นลงในแต่ละแพลตฟอร์มได้สบาย ส่วนถ้าต้องการเรนเดอร์วิดีโอยาว ๆ อันนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาครับ แต่แนะนำว่าควรเสียบสายชาร์จไปด้วยจะปลอดภัยสุด

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 23

ตัวโปรแกรมด้านมัลติมีเดียในปัจจุบันต่างก็รองรับการใช้ GPU อย่าง AMD Radeon 890M เป็นแกนหลักในการเรนเดอร์ได้ดี แล้วยิ่งเมื่อใช้ไดรเวอร์ AMD Adrenalin เวอร์ชันล่าสุดด้วยก็ยิ่งลงตัวขึ้นไปอีก เพราะในไดรเวอร์จะมีการเพิ่มระบบแชร์แรมเครื่องมาใช้เป็น VRAM ได้มากขึ้นกว่าเดิม จากที่ปกติมักจะตั้งค่าได้สูงสุด 512MB แต่ในเวอร์ชันใหม่นี้สามารถตั้งค่าให้แชร์มาได้หลากหลายตามความต้องการ อย่างใน ASUS Zenbook เครื่องนี้ที่มีแรมของระบบมาให้ 32GB ในตัวไดรเวอร์ก็จะมีตัวเลือกให้แชร์แรมมาให้กับ iGPU ได้สูงสุดถึง 24GB เลยทีเดียว โดยจะเหลือแรมให้ระบบหลักใช้ 8GB ซึ่งเป็นปริมาณแรมแนะนำขั้นต่ำของคอมพิวเตอร์ในยุคนี้แล้ว

ซึ่งประโยชน์ของการที่แชร์แรมมาเป็น VRAM ได้มาก นอกเหนือจากเรื่องการเล่นเกมแล้ว ในโปรแกรมสายมัลติมีเดียหลาย ๆ ตัวก็จะมีข้อจำกัดในด้านประสิทธิภาพที่ขึ้นอยู่กับปริมาณ VRAM ด้วย เช่นโปรแกรมตัดต่อวิดีโออย่าง Adobe Premiere Pro รวมถึงโปรแกรมที่ใช้ในการเข้ารหัสวิดีโอ Adobe Media Encoder จะมีปริมาณ VRAM ที่แนะนำสำหรับการทำงานร่วมกับวิดีโอที่ความละเอียดระดับต่าง ๆ ได้แก่

  • วิดีโอ 1080p ควรมี VRAM 4GB
  • วิดีโอ 4K และ VR ควรมี VRAM 6GB
  • วิดีโอ 6K หรือสูงกว่า ควรมี VRAM ตั้งแต่ 8GB ขึ้นไป

ดังนั้นความสามารถของไดรเวอร์ AMD Adrenalin พร้อมด้วยพลังของ AMD Radeon 890M จึงตอบโจทย์การใช้งานในลักษณะนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในระหว่างที่ใช้งาน ผมก็เลือกปรับให้ VRAM มีปริมาณ 8GB ส่วนแรมหลักของระบบก็อยู่ที่ 24GB ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้งานพื้นฐานและการเล่นเกมในปัจจุบันที่ระดับ 1080p

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 62

หลังจากจัดการเรื่องไฟล์วิดีโอเสร็จ ก็นั่งเขียนคอนเทนต์ใน Microsoft Word เพื่อเตรียมส่งเป็นไฟล์ต่อ แน่นอนว่างานในลักษณะนี้ ตัวเครื่องสามารถรับมือได้สบาย ๆ แต่อีกจุดที่เกินคาดอยู่เหมือนกันก็คือเรื่องอุณหภูมิขณะใช้งานครับ เพราะจากในภาพคือจะเป็นการวางเครื่องบนหน้าขาต่อเนื่องมาตั้งแต่ตอนเรนเดอร์คลิปสั้นแล้ว แต่ความร้อนที่แผ่ออกมาจากภายในก็ยังไม่สูงมากนัก สามารถทำงานต่อเนื่องได้สบาย

ตรงนี้ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากสถาปัตยกรรมการแบ่งประเภทคอร์ที่มีทั้งคอร์ใหญ่สำหรับงานหนัก และคอร์เล็กลงมานิดหน่อยเพื่อจัดการกับงานทั่วไป ซึ่งการใช้ Microsoft Word นี้จัดว่าเป็นงานที่ค่อนข้างเบา ไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก ตัวคอร์ Zen 5c ทั้ง 8 คอร์จึงสามารถแบ่งมาจัดการ พร้อมประมวลผลเซอร์วิสต่าง ๆ เบื้องหลังได้อย่างราบรื่น ส่งผลให้เกิดความร้อนที่แผ่ออกมาต่ำ และสามารถใช้งานเครื่องได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเครื่องจะมีขนาดที่ค่อนข้างบางก็ตาม แต่ก็มีขนาดที่ใหญ่ จึงมีการสะสมความร้อนต่ำ ส่วนที่แผ่ออกมาก็จัดว่าไม่สูงมากนัก ตรงนี้ต้องยกประโยชน์ให้ทั้งกับเทคโนโลยีในการออกแบบชิปและการระบายความร้อนของตัวเครื่องเลย

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 70

หลังจากทำงานมาทั้งวัน ก็ถึงเวลาพักผ่อนบ้างแล้ว ซึ่งผมก็ใช้ในการดูซีรีส์ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง โดยก่อนหน้านี้ก็มีการเสียบสายชาร์จเข้าไปเพื่อเติมพลังงานบ้างเล็กน้อย เนื่องจากเท่าที่ใช้งานมาแบบไม่ชาร์จเลยตั้งแต่ประมาณเกือบ 9 โมงเช้า พบว่าสามารถใช้งานอย่างที่กล่าวไปข้างต้น สลับกับพับจอสลีปเป็นช่วง ๆ จะสามารถใช้แบตเตอรี่ได้ถึงประมาณบ่าย 3 โมงกว่า ปริมาณแบตก็จะเริ่มเหลือน้อยในระดับที่ควรชาร์จแล้ว ซึ่งจุดนี้ก็เข้าใจได้ครับ หนึ่งคือชิปประมวลผลที่แม้ AMD Ryzen AI 9 HX 370 จะถือว่าเป็นชิปที่จัดการพลังงานได้ค่อนข้างดีก็ตาม แต่ด้วยความที่ตัวชิปได้รับการออกแบบมาเพื่อเน้นด้านประสิทธิภาพที่สูงเป็นหลัก จึงทำให้การใช้พลังงานโดยรวมจะยังคงสูงอยู่เมื่อเทียบกับกลุ่มชิปรุ่นที่ออกแบบมาเพื่อเน้นประหยัดพลังงานโดยเฉพาะ เช่นชิปที่มีรหัส U ต่อท้าย ประกอบกับหน้าจอความละเอียดสูงระดับ 3K ขนาด 16” อีก จึงทำให้ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ประมาณ 5-6 ชั่วโมงก็จัดว่าน่าพอใจแล้ว สำหรับการใช้งานที่ต้องมีการประมวลผล การเรนเดอร์งานในระหว่างวัน แต่ถ้าเป็นการทำงานเอกสาร เขียนงานผ่านเน็ต ทำไฟล์ presentation ทั่วไป น่าจะสามารถใช้งานได้ตลอดวันอยู่

ส่วนหลังจากนี้ก็จะมีการนำมาเสียบสายชาร์จ แล้วใช้เข้าไปรับของในเกม Zenless Zone Zero อีกเล็กน้อย ซึ่งประสิทธิภาพของ AMD Radeon 890M ก็เหลือเฟือสำหรับการรันเกมเหล่านี้อยู่แล้ว

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 18

พลังของ AMD Ryzen AI 9 HX 370 ใน ASUS Zenbook S 16

เรียกได้ว่าเป็นโน้ตบุ๊กเครื่องเดียวที่ตอบโจทย์การใช้งานของชีวิดคนทำงานในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับสายคอนเทนต์ที่จำเป็นต้องทำงานร่วมกับไฟล์มัลติมีเดีย ด้วยพลังของ CPU ที่จัดอยู่ในกลุ่มท็อป ๆ ของสายโมบายล์จาก AMD ในขณะนี้ ซึ่งมีมาถึง 12 คอร์ 24 เธรด แต่ก็ยังมีการจัดการพลังงานที่น่าสนใจด้วยเมื่อมองว่าเป็นชิปรุ่นท็อปด้วยกัน จากการแบ่งคอร์เป็นแบบคอร์ใหญ่และคอร์รองที่มีฟังก์ชันในการทำงานเทียบเท่ากัน จะมีจุดที่ต่างกันหลัก ๆ ก็เพียงเรื่องความเร็วเท่านั้น ทำให้ระบบสามารถบริหารจัดการงานและการประมวลผลได้ง่าย

ส่วนพลังด้านกราฟิกจาก AMD Radeon 890M ที่เป็นกราฟิกแบบ On-CPU ที่ทรงพลังมากที่สุดรุ่นหนึ่งในปัจจุบัน ศักยภาพคือสามารถใช้ในการทำงานกราฟิก งานวิดีโอไปจนถึงการเล่นเกมระดับ AAA ก็ยังได้ ทำให้ CPU รุ่นนี้เป็นชิปที่จะตอบโจทย์การใช้งานในวงกว้างได้เป็นอย่างดี

ในด้านของอนาคตที่เทคโนโลยี AI จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะกับการเข้ามาสอดแทรกอยู่ในโปรแกรมที่เราใช้งานกันทั่วไป จุดนี้ผู้ใช้อย่างเรา ๆ ก็สามารถเริ่มเข้าถึงกันได้ตั้งแต่บัดนี้แล้ว และมีแนวโน้มที่จะมีมาให้ใช้งานหลากหลายขึ้นกว่าเดิมด้วย ทำให้การเตรียมเครื่องให้พร้อมเมื่อมีโอกาสก็น่าจะทำให้เราได้สัมผัสเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กับเรื่องประสิทธิภาพ ณ ปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้ AMD Ryzen AI 300 series ก็มี NPU สถาปัตยกรรม XDNA 2 และแพลตฟอร์ม AMD Ryzen AI รองรับอยู่แล้ว และกำลังขยายความร่วมมือกับเหล่านักพัฒนาแอปพลิเคชัน เทคโนโลยีด้าน AI อยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะให้ประสบการณ์การใช้งานระบบ AI เป็นไปได้อย่างราบรื่น และช่วยเสริมการทำงานของผู้ใช้อย่างเรา ๆ ให้สะดวกยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

AMD Ryzen AI 9 HX370 NBS 54

ดังนั้นถ้าหากคุณกำลังมองหาโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงซักเครื่อง จุดประสงค์หลักคือเพื่อนำมาใช้งานแบบออลอินวัน คือเครื่องเดียวใช้ทำงานได้หลากหลายรูปแบบตั้งแต่งานเบาไปถึงงานประมวลผลหนัก ๆ แต่ก็ต้องการใช้เพื่อความบันเทิง ใช้เล่นเกมด้วยในเครื่องเดียว โดยที่อาจจะไม่จำเป็นว่าต้องได้ภาพสวยระดับ 4K จัดเต็มแสงเงา (ซึ่งก็จะมาพร้อมน้ำหนักตัวเครื่องที่สูงขึ้นไปอีก) โน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป AMD Ryzen AI 300 series นับว่าเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียว

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Special Story

ทุกไตรมาสแรกของปีจะมีงาน Consumer Electronics Show (CES) จัดแสดงนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงโน๊ตบุ๊ค MSI ซึ่งมาร่วมงานทุกปี รวมถึง CES 2025 ที่จัด ณ ลาสเวกัส, รัฐเนวาด้า ซึ่งครั้งนี้ยังโฟกัสกลุ่มโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งและเครื่อง Gaming Handheld อย่าง MSI Claw เช่นเดิม ฝั่งโน๊ตบุ๊คเกมมิ่ง...

CONTENT

Asus ROG XG mobile การ์ดจอแยก Thunderbolt 5 สำหรับโมบายรุ่นแรกของโลก เพื่อเกมเมอร์และครีเอเตอร์ ข้อมูลจากเว็บไซต์ Official Asus เผยให้เห็น ROG XG mobile 2025 ซึ่งเป็น External GPU หรือกราฟิกแยกรุ่นใหม่ล่าสุด ที่เชื่อมต่อผ่านพอร์ต Thunderbolt 5 กับการเพิ่มศักยภาพให้กับการเล่นเกมบนโมบายอย่างโน๊ตบุ๊ค...

AMD

AMD จัดหนักซีพียูและการ์ดจอรุ่นใหม่จาก AMD ใน CES 2025 กับทั้งซีพียูในตระกูล X3D และการ์ดจอ Radeon RX9070 และ RX9070XT ตื่นเต้นกันตั้งแต่เริ่มงาน กับการเผยข้อมูลซีพียูและการ์ดจอรุ่นใหม่จาก AMD ในงาน CES 2025 กับทั้งซีพียูในตระกูล X3D และการ์ดจอ Radeon RX9070...

CONTENT

5 โน๊ตบุ๊ค AMD ดูหนัง เล่นเกม ทำงานจอใหญ่ การ์ดจอแยก แบตอึดน่าใช้ในงบ 25000 5 โน๊ตบุ๊ค AMD จอใหญ่ การ์ดจอแยกไม่เกิน 25000 สำหรับคอเกมในช่วงปลายปีแบบนี้ มีตัวเลือกค่อนข้างเยอะทีเดียว แต่สำหรับคนที่ต้องการคุมงบให้อยู่ในระดับ 20000-25000 บาทนี้ ถ้ายังไม่มีไอเดียหรือตัวเลือกที่อยู่ในใจ วันนี้เรานำมาเป็นแนวทางให้เลือก 5 รุ่นด้วยกัน...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก