Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Asus

รีวิว ASUS ROG Ally X Gaming Handheld ที่ดีสุด ณ ตอนนี้ AMD Ryzen Z1 Extreme เล่นลื่นทุกเกม! แบตฯ ทนกว่าเดิมเท่าตัว!!

ASUS ROG Ally X เพื่อนแก้เหงาชั้นเยี่ยมเวลาเดินทางไกล เปิดเกมเล่นลื่นทุกเวลา แบตทนกว่าเดิมเป็นเท่าตัว!

ASUS ROG Ally X

ในปีก่อน ASUS ROG Ally ก็ได้รับการตอบรับจากเกมเมอร์เป็นอย่างดีแล้วในฐานะเครื่องเกมพกพาตัวเล็กแต่เล่นเกมพีซีได้ดี ก็มีรุ่นอัปเกรดอย่าง ASUS ROG Ally X ไมเนอร์เชนจ์ซึ่งเอาจุดสังเกตจากรุ่นก่อนมาปรับแก้ให้ดีและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จนเป็นเครื่อง Gaming Handheld ที่น่าใช้มาก ไม่ว่าจะซื้อเอาไว้ใช้เองก็ดีหรือแนะนำให้เพื่อนก็ไม่ผิดหวังสักนิด จุดเปลี่ยนเล็กน้อยแต่ทำให้น่าใช้ยิ่งขึ้นอย่างการเพิ่ม RAM 16GB เป็น 24GB DDR5 ทำให้จีพียู AMD Radeon 780M ใน AMD Ryzen Z1 Extreme รีดประสิทธิภาพออกมาได้เต็มกำลัง พร้อมเล่นเกมชั้นนำในปัจจุบันบนจอ 1080p Medium ได้สบายๆ แล้วเพิ่มความจุแบตเตอรี่ให้มากขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 40Whr เป็น 80Whr จึงเล่นเกมได้นานขึ้นมาก เป็นเพื่อนฆ่าเวลาระหว่างโดยสารรถประจำทางหรือรอทำธุระได้อย่างยอดเยี่ยม

ซอฟท์แวร์ Armoury Crate SE ศูนย์รวมการตั้งค่าและเกมในเครื่องก็ใส่ฟังก์ชั่นมาให้ใช้มากมาย ตั้งค่าได้ละเอียดแทบทุกซอกมุม ทั้งตั้งค่าปุ่มมาโคร M1 / M2, ระยะทำงานของก้านอนาล็อค ไปจนใจความอย่างการจัดสรรพื้นที่ RAM ให้จีพียูใช้งานโดยเฉพาะ จะปล่อยเอาไว้ให้ทำงานโดยอัตโนมัติหรือสั่งให้แบ่งพื้นที่ให้ใช้ได้ตั้งแต่ 1~16GB ก็ได้ ช่วยให้โหลด Texture ในเกมได้มากขึ้น จีพียู AMD Radeon 780M จึงแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่ ไม่ต้องแก้ Shadow, Tessellation หรือ Resolution scaling ให้วุ่นวาย เพียงเปิดเกมก็พร้อมสนุกได้ทันที

Advertisement
ASUS ROG Ally X

จุดสังเกตซึ่งพลิกเป็นข้อดีแทน คือ M.2 NVMe SSD ถูกย้ายตำแหน่งติดตั้งและเปลี่ยนจากขนาด M.2 2230 เป็น M.2 2280 ใช้อินเทอร์เฟส PCIe 4.0 จึงเลือกซื้อ SSD 1TB รุ่นยอดนิยมมาอัปเกรดเพิ่มความเร็วความจุได้ตามชอบ, เปลี่ยนพอร์ต XG Mobile Interface เป็น USB-C สองช่อง ทั้ง 4.0 กับ 3.2 Full Function จึงต่ออุปกรณ์ได้หลากหลายแบบขึ้น ไม่ว่าจะกล่อง External GPU, หน้าจอแยกรวมทั้งชาร์จไฟด้วยอะแดปเตอร์ PD 65W ได้ทันที รวมทั้งปรับแต่งก้านอนาล็อคให้แข็งแรงทนทานขึ้นกว่ารุ่นก่อนลดอาการจอยดริฟท์กวนใจไปได้ด้วย

NBS Verdicts

ASUS ROG Ally X

ถ้ายังไม่เคยมีแล้วกำลังคิดอยากได้เครื่อง Gaming Handheld เอาไว้ใช้เป็นคอมพิวเตอร์ต่อหน้าจอแยกทำงานในออฟฟิศและพกไปเล่นเกมระหว่างเดินทางได้ด้วย ASUS ROG Ally X ราคา 29,990 บาท เป็นตัวเลือกที่ดีสุด ณ ตอนนี้ ไม่ว่าจะได้ซีพียู AMD Ryzen Z1 Extreme ชิปเซ็ตสั่งตัดพิเศษเพื่อเครื่องเกมเหล่านี้โดยเฉพาะ พร้อม RAM 24GB DDR5 และ SSD 1TB และระบบจัดสรร VRAM ให้จีพียูได้ตามต้องการ เวลาใช้ทำงานก็เหมือน Mini PC ติดจอ 7 นิ้ว ความละเอียด Full HD มาให้ดูแชตภายในองค์กรได้ ถ้าต่อหน้าจอแยกก็ใช้ได้แบบคอมทำงานเครื่องหนึ่ง แค่เตรียมอุปกรณ์เสริมอย่าง USB Hub, เมาส์คีย์บอร์ดไร้สายกับจอพกพาเตรียมไว้ก็จะใช้งานได้สะดวกขึ้น

งานหลักอย่างการเล่นเกม ASUS ROG Ally X นั้นทำได้ดีมาก ซึ่ง AMD แนะนำให้เล่นเกมบนความละเอียด 1080p Medium เปิด AMD FidelityFX Super Resolution (AMD FSR) เสริม ก็ใช้เล่นเกมต่างๆ ได้ลื่นไหลเฟรมเรทเสถียรต่อเนื่อง ไม่เจออาการภาพกระตุก, เฟรมเรทตกกะทันหันหรือหลุดจากเกมให้เห็นแม้แต่ครั้งเดียว ประกอบกับแบตเตอรี่ความจุ 80Whr มากกว่ารุ่นก่อนเป็นเท่าตัวก็ใช้เล่นเกมได้นานขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่เล่นได้ร่วม 1 ชม. ก็ยืดเวลาสนุกเป็น 2 ชม. ครึ่งได้สบายๆ ถ้าลดความละเอียดหน้าจอจาก 1080p เหลือ 900p ก็ยิ่งเล่นได้นานขึ้นอีก

จุดสังเกตของ ROG Ally X จะเห็นว่าไม่มีพอร์ต XG Mobile Interface เหมือนรุ่นก่อนแล้ว ดังนั้นถ้าใครใช้ ROG Ally รุ่นแรกมาก่อนก็เอามาใช้ร่วมกันไม่ได้ จึงต้องต่อกล่องการ์ดจอแยก (External GPU – eGPU) แทน รวมทั้งปุ่ม M1 / M2 ด้านหลังเครื่องจะมีขนาดเล็กลงกว่ารุ่นแรกพอควร ถ้าคุ้นกับรุ่นแรกอาจจะกดยากกว่า นอกจากนี้เวลาเปิดฝาอัปเกรดอย่ารีบดึงฝาหลังออกทันทีไม่อย่างนั้นสายแพของทั้งสองปุ่มอาจขาดเสียหายได้

ข้อดีของ ASUS ROG Ally X

  1. ใช้ซีพียู AMD Ryzen Z1 Extreme พร้อมจีพียู Radeon 780M เล่นเกมได้ลื่นไหล
  2. ติดตั้ง RAM มา 24GB DDR5 สั่ง Allocated ให้จีพียูได้สูงสุด 8GB
  3. M.2 NVMe SSD เปลี่ยนเป็น M.2 2280 หารุ่นเปลี่ยนอัปเกรดได้ง่ายมาก
  4. แบตเตอรี่ 80WHr เล่นเกมบนความละเอียด 1080p Medium ได้ราว 2 ชม.
  5. ปุ่ม Power มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือติดตั้งมาให้ปลดล็อคเครื่องได้สะดวก
  6. ก้านอนาล็อคปรับแต่งให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ลดโอกาสจอยดริฟท์
  7. ปุ่ม Trigger LT, RT ใส่เป็นกลไกเหมือนเฟืองเข้ามา ช่วยให้ผู้ใช้ประมาณระยะกดได้ดี
  8. หน้าจอทัชสกรีน 7 นิ้ว 1080p มี AMD FreeSync Premium ป้องกันภาพฉีกเวลาเล่นเกม
  9. ขอบเขตสีหน้าจอกว้าง 100% sRGB เล่นเกมแล้วได้สีสันสวยงาม
  10. ตัวเครื่องมีน้ำหนักมากขึ้นแต่ถ่วงสมดุลย์ได้ดี จับถือเล่นเกมนานๆ แล้วไม่เมื่อย
  11. เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วและเสถียรผ่านทาง Wi-Fi 6E
  12. ติดตั้งพอร์ต USB 4.0 Type-C กับ USB-C 3.2 Full Function มาอย่างละช่อง
  13. มีชิปรักษาความปลอดภัย Microsoft Pluton, AMD PSP 11.0 และ TPM 2.0 ติดตั้งมาครบ
  14. ซอฟท์แวร์ Armoury Crate SE ปรับแต่งตัวเครื่องได้ละเอียดมาก
  15. ระบายความร้อนได้รวดเร็ว เล่นเกมแล้วประสิทธิภาพไม่ลดลง เสียงพัดลมไม่ดังมาก
  16. เสียงลำโพงคู่รองรับ Dolby Atmos, Hi-Res Audio เสียงดีเล่นเกมและฟังเพลงเยี่ยม

ข้อสังเกตของ ASUS ROG Ally X

  1. นำ ROG XG Mobile จาก ROG Ally รุ่นแรกมาใช้ด้วยไม่ได้แล้ว
  2. ใช้สายแพเชื่อมระหว่างปุ่มมาโคร M1, M2 กับเมนบอร์ด ต้องระวังถ้าเปิดฝาอัปเกรด
  3. ถ้าจะใช้เป็นคอมทำงานควรซื้อเมาส์และคีย์บอร์ดบลูทูธรวมถึงหน้าจอพกพามาใช้ร่วมกัน

รีวิว ASUS ROG Ally X


Specification

ASUS ROG Ally X

ASUS ROG Ally X ภาคต่อของเครื่อง Gaming Handheld ซึ่งรุ่นก่อนซึ่งได้รับการตอบรับจากเกมเมอร์อย่างอบอุ่นจนกลายเป็นตัวแทนของคอมพกพาประเภทนี้ไปแล้ว รุ่นล่าสุดก็เอาคำแนะนำจากรุ่นก่อนมาปรับแต่งให้ดียิ่งขึ้นแล้วเปลี่ยนสีตัวเครื่องให้ดำสนิท ถ้าเทียบกับรุ่นก่อนแล้วสเปคจะเป็นดังนี้

Spec / ModelASUS ROG AllyASUS ROG Ally X
CPUAMD Ryzen Z1 Extreme
แบบ 8 คอร์ 16 เธรด
ความเร็ว 3.3~5.1GHz
สถาปัตยกรรม AMD RDNA 3
AMD Ryzen Z1 Extreme
แบบ 8 คอร์ 16 เธรด
ความเร็ว 3.3~5.1GHz
สถาปัตยกรรม AMD RDNA 3
GPUAMD Radeon 780M กราฟิค 12 คอร์AMD Radeon 780M กราฟิค 12 คอร์
StorageM.2 NVMe SSD 512GB
อินเทอร์เฟส PCIe 4.0
ขนาด M.2 2230
M.2 NVMe SSD 1TB
อินเทอร์เฟส PCIe 4.0
ขนาด M.2 2280
RAM16GB LPDDR5 บัส 6400MHz24GB DDR5 บัส 7500MHz
Operating SystemWindows 11 HomeWindows 11 Home
Displayทัชสกรีน 7 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920*1080) พาเนล IPS
Refresh Rate 120Hz
AMD FreeSync Premium
100% sRGB
ทัชสกรีน 7 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920*1080) พาเนล IPS
Refresh Rate 120Hz
AMD FreeSync Premium
100% sRGB
ConnectivityROG XG Mobile Interface*1
USB-C 3.2 Gen 2 Full Function*1
MicroSD Card Reader*1
Audio combo*1
Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax
Bluetooth 5.2
USB 4.0 Type-C Full Function*1
USB-C 3.2 Full Function*1
MicroSD Card Reader*1
Audio combo*1
Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax
Bluetooth 5.2
Battery40WHrs, 4S1P, 4-cell Li-ion80WHrs, 4S1P, 4-cell Li-ion
Weight608 กรัม678 กรัม
Price19,990 บาท (Advice)29,990 บาท (Advice)

Hardware & Design

ASUS ROG Ally X

จากรูปลักษณ์ดีไซน์ของ ASUS ROG Ally X เทียบกับรุ่นก่อนจะแทบไม่เห็นความแตกต่างกัน ยกเว้นสีตัวเครื่องเปลี่ยนจากสีขาวเป็นดำและตัวเครื่องจะหนากว่ารุ่นก่อนเล็กน้อยเพื่อให้ใส่แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ขึ้นได้ ดูจากเส้นสายรอบตัวเครื่องทั้งเส้นตั้งตามแนวข้างเครื่อง, โลโก้ ROG ทั้งสองฝั่งกับการเจาะช่องลำโพงก็จะเหมือนรุ่นก่อนแทบทั้งหมด

ถ้าจับสังเกตจะเห็นว่าปุ่ม D-Pad หรือหลายคนเรียกว่าเป็นปุ่มขึ้นลงซ้ายขวาเปลี่ยนจากเป็นแผ่นบางมีสันยกขึ้นสี่ด้านตามปกติ กลายเป็นสันเครื่องหมายบวกกับขีดทะแยงเป็นแบบ 8 ทิศทางแทน ทำให้เวลาเล่นเกม RPG มุมมองสูงแบบ Bird’s-eye view จะควบคุมตัวละครให้เดินเฉียงไปมาได้ง่ายกว่า ก้านอนาล็อคจะมีวงไฟ RGB ติดมาให้เหมือนเดิมและเลือกเอฟเฟคแสงไฟใน Armoury Crate SE ได้เช่นเดิม

ASUS ROG Ally X

รูปร่างด้านหลังเครื่องยังเหมือนรุ่นก่อน แต่สังเกตว่าช่องนำลมเข้าเครื่องฝั่งซ้ายจะมีขนาดใหญ่ขึ้นจนเสมอกับขอบบนสุดของโลโก้ ASUS ROG ซึ่งอยู่ตรงข้ามกันและคั่นด้วยเส้นอลูมิเนียม ROG กลับสีได้ตรงกลาง และย้ายปุ่ม M1 / M2 จากสันด้ามจับเครื่องให้เข้ามาติดริมช่องนำอากาศเข้าแทน ยึดไว้ด้วยน็อตหัวแฉก Philips head 6 ดอกได้อย่างแน่นหนาแต่ก็ยังแกะฝาหลังอัปเกรดเครื่องได้ง่ายเช่นเดิม


Screen & Speaker

หน้าจอของ ASUS ROG Ally X เป็นบานทัชสกรีน 7 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920*1080) พาเนล IPS มีค่า Refresh Rate 120Hz เลือกลดเป็น 60Hz ในหน้าต่าง Advanced display ได้ แต่ไม่มีตัวเลือกให้เปลี่ยนอัตราความถี่แบบ Dynamic พาเนลแสดงขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB รองรับ AMD FreeSync Premium ป้องกันภาพฉีกขาดเวลาเล่นเกมแล้วภาพเปลี่ยนอย่างรวดเร็วก็ยังสวยงามไม่ฉีกขาด ปิดด้วยกระจก Corning Gorilla Glass DXC ลดการสะท้อนแสงบนพื้นผิวได้ 40% และป้องกันรอยขีดข่วนได้ดี จะใช้โดยไม่ติดฟิล์มกันรอยก็ได้แต่ต้องหมั่นเช็ดทำความสะอาดสักหน่อย

ขนาดหน้าจอของ ROG Ally X ยังเป็นแบบเดียวกับรุ่นแรก มีขอบด้านข้างบางแต่ส่วนบนกับล่างยังหนาเท่าเดิมไม่ได้ปรับแต่งให้บางลง แต่ก็ไม่ส่งผลต่อการใช้งานหรือเล่นเกมแม้แต่น้อยและยังคงให้ตัวเครื่องมีขนาดเท่าเดิมพกพาได้ง่าย กลับกันก็อยากให้ ASUS รีดขอบหน้าจอส่วนบนและล่างให้บางลงอีกสักนิดก็จะดีมาก

ASUS ROG Ally X

ลำโพงสเตอริโอคู่มีชิป Smart Amplifier เสริมเข้ามาในตัวเพื่อให้เสียงดังและยังคมชัด รองรับ Dolby Atmos และเสียงระดับ Hi-Res ถ้าเปิดเสียงดัง 100% วัดแล้วลำโพงจะขับเสียงได้ 88dB หรือพีคไปจน 90dB ได้สบายๆ ถ้าตั้งใช้เป็น Mini PC ก็ลดเสียงเหลือ 50~60% ถือเล่นก็ดังชัดเจนแล้ว ไม่จำเป็นต้องเร่งเสียงให้ดังเป็นพิเศษก็ได้

เสียงเพลงจาก ASUS ROG Ally X จัดว่าน่าประทับใจ ทั้งแยกเสียงเครื่องดนตรีกับนักร้องได้ชัดเจนไม่กลืนกัน เสียงใสปลายเคลียร์ฟังชัดเสริมด้วนยเบสหนักแน่นมีแรงปะทะดีมากจนไม่จำเป็นต้องต่อลำโพงแยกเลย จึงฟังเพลงในยุคปัจจุบันได้ทุกแนวหรือจะเปิดเพลงคลาสสิคก็ไม่มีปัญหา


Gamepad & Control

ASUS ROG Ally X

ปุ่มและก้านอนาล็อคของ ASUS ROG Ally X ยังคงติดตั้งตำแหน่งเดิมและมีไฟ RGB ล้อมรอบก้านอนาล็อคพร้อมปรับเอฟเฟคแสงไฟได้เหมือนรุ่นก่อน ชุดปุ่มฝั่งขวาเป็น ABXY แบบจอย Xbox ซึ่งเข้ากับ Windows 11 ได้ทันทีและให้สีภายในปุ่มต่างกันไป แยกปุ่ม Share ไว้ฝั่งซ้ายคู่กับ Command Center ไว้กดตั้งค่าแสง, เสียงและโหมดตัวเครื่อง ฝั่งขวามือมีปุ่ม Menu กับปุ่ม Armoury Crate

ตัวก้านอนาล็อคของ ROG Ally X ยังเป็นก้านอนาล็อคธรรมดา ไม่ได้อัปเกรดเป็น Hall Effect เหมือน Gaming Handheld แบรนด์คู่แข่ง แต่เคลมว่ามันถูกปรับแต่งให้แข็งแรงทนทานขึ้นกว่ารุ่นก่อน รองรับการควงปุ่มเป็นวงกลมได้มากกว่า 5 ล้านครั้ง นับเป็นสองเท่าจากรุ่นก่อน ถ้าเปิดฝาหลังออกมาจะเห็นว่าตัวก้านทั้งสองฝั่งจะมีแผ่นปริ้นท์แยกเป็นเอกเทศของตัวเองและเชื่อมต่อเมนบอร์ดผ่านสายแพ

ปุ่มบ่าจอยและก้านทริกเกอร์ (Sholder & Trigger button) เป็นสีดำกลืนกับตัวเครื่องและปุ่มทริกเกอร์ถูกปรับแต่งให้ทำงานได้ดีขึ้น สัมผัสเวลากดจะต่างจากรุ่นก่อนซึ่งเป็นสปริงกดจังหวะเดียว เป็นมีขยักเหมือนเฟืองกำลังหมุนอยู่ข้างใน ทำให้กะเกณฑ์ระยะกับน้ำหนักนิ้วได้ดีขึ้นซึ่งส่งผลต่อการเล่นเกมโดยเฉพาะแนวแข่งรถซึ่งก้านทริกเกอร์ทั้งสองฝั่งทำงานเหมือนคันเร่งกับเบรก

ASUS ROG Ally X
ซ้าย: ASUS ROG Ally / ขวา: ASUS ROG Ally X

ปุ่มมาโคร M1 / M2 ของ ASUS ROG Ally X แม้จะอยู่ด้านหลังเครื่องเหมือนเดิมแต่ถูกย่อขนาดให้เล็กลงและย้ายจากสันด้ามจับเครื่องเข้ามาติดอยู่บนฝาหลังแทน แม้ในภาพจะดูห่างกว่ารุ่นก่อนแต่ยังเสมอปลายนิ้วกลางพอดีจึงยื่นนิ้วมากดได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าเคยใช้รุ่นก่อนแล้วใช้ข้อนิ้วดันให้ปุ่มมาโครอาจรู้สึกว่าปุ่มของรุ่นใหม่อยู่ห่างไปเล็กน้อย แต่ก็ลดโอกาสปุ่มลั่นโดยไม่ตั้งใจ

สังเกตจากเงาแสงจะเห็นว่าส่วนโค้งด้านหลังบริเวณด้ามจับเครื่องถูกดีไซน์ให้ใหญ่ขึ้นและโค้งรับมือกว่ารุ่นก่อน จับได้กระชับมือเหมาะกับเกมเมอร์มือใหญ่มาก หากเอานิ้วชี้ทั้งสองข้างมารอไว้ตรงปุ่ม LB / RB นิ้วกลางจะเข้าร่องโค้งและสันนูนจะรับกับนิ้วนางพอดีราวกับใส่เคสอยู่

สัมผัสของปุ่มเครื่อง ASUS ROG Ally X นับว่าประกอบมาได้แข็งแรงทนทานและตอบสนองได้ดีมาก ทั้งก้านอนาล็อคแม้จะเป็นแบบปกติไม่ได้ใช้แม่เหล็ก Hall Effect เหมือน Gaming Handheld แบรนด์อื่น แต่ตอนทดลองเล่นเกมถือว่าแข็งแรงทนทาน สามารถควงก้านคุมตัวละครเดินทางไปมาในเกมได้ง่ายตอบสนองได้ดีเช่นเดียวกับ D-Pad ก็ทำงานได้สมบูรณ์แบบไม่แพ้กับจอยเกมแบรนด์ชั้นนำเจ้าอื่นเลย เช่นเดียวกับปุ่ม ABXY พอกดก็ทำงานทันทีคำสั่งไม่มีหลงหรือหายแม้แต่น้อย

ด้านปุ่มทริกเกอร์ LB / RB นอกจากตอบสนองเร็วและให้สัมผัสเหมือนปุ่ม ABXY ไม่มีอะไรเป็นพิเศษก็จริง แต่ก้านทริกเกอร์ LT / RT เป็นไฮไลต์สำคัญของ ROG Ally X ซึ่งต่างจากจอยธรรมดาและ Xbox ซึ่งเป็นสปริงจังหวะเดียว กลายเป็นก้านทริกเกอร์เหมือนเสริมเฟืองไว้ พอกดแล้วจะรู้สึกเหมือนฟันของเฟืองสองตัวกำลังสบแล้วหมุนไปเรื่อยๆ จนสุดระยะ ทำให้เล่นเกมแข่งรถที่เล่นกับน้ำหนักการกดทริกเกอร์ได้ง่ายมาก เหมือนกะระยะคันเร่งเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ จนสุดเท้า


Connector, Thin & Weight

พอร์ตเชื่อมต่อด้านหลัง ASUS ROG Ally X ถูกติดตั้งเอาไว้ขอบบนตัวเครื่องให้ใช้งานได้ง่าย หากนำมาเทียบกับ ROG Ally จะเห็นว่านอกจากปุ่ม Power พร้อมเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่อยู่จุดเดิมแล้ว พอร์ตอื่นๆ ทั้งหมดจะวางอยู่ตรงกันข้ามทั้งหมด โดยจะเป็นดังนี้

  • ROG Ally (จากซ้ายไปขวา): ปุ่ม Power, ไฟแสดงสถานะ, ปุ่มเพิ่มลดเสียง, USB-C 3.2 Gen 2 Full Function พ่วงกับ XG Mobile Interface, MicroSD Card Reader, Audio combo
  • ROG Ally X (จากซ้ายไปขวา): ปุ่ม Power, Audio combo, MicroSD Card Reader, ปุ่มเพิ่มลดเสียง, ไฟแสดงสถานะ, USB-C 3.2 Gen 2 Full Function, USB 4.0 Type-C Full Function
  • การเชื่อมต่อไร้สาย: Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2 ทั้งสองรุ่น
ASUS ROG Ally X

มิติเครื่อง ASUS ROG Ally X วัดจากเวอร์เนียคาลิปเปอร์จะเห็นว่าส่วนตัวเครื่องบริเวณหน้าจอหนา 24.6 มม. โค้งกริพเครื่องครึ่งบนบางสุด 30.3 มม. หนาสุด 35.3 มม. ส่วนฐานวางเครื่องเทียบกับรุ่นก่อนจะสั้นลงครึ่งหนึ่งจาก 154.3 มม. เหลือ 72.5 มม. จนเก็บรวมไว้กับช่องใส่แฟลชไดร์ฟในกระเป๋าแล้วรูดซิปปิดช่องได้แน่นอน

ASUS ROG Ally X

น้ำหนักของ ASUS ROG Ally X บนตาชั่งวัดได้ 681 กรัม หนักกว่าบนหน้าสเปค 3 กรัม เทียบกับรุ่นก่อนที่ชั่งได้ 611 กรัมแล้วหนักขึ้นเพียง 70 กรัมเท่านั้น แม้แบตเตอรี่จะมีความจุเพิ่มเป็นเท่าตัวก็ไม่ได้หนักมากแถมถ่วงสมดุลย์น้ำหนักได้ดี ถือเล่นเกมได้นานเป็นชั่วโมงแล้วแขนไม่ล้าง่าย ถ้ารวมอะแดปเตอร์กำลังไฟ 65W หัวพอร์ต USB-C เข้าไปอีก 319 กรัมจะหนัก 1 กก. พอดี จึงพกเครื่องกับอะแดปเตอร์คู่กันเลยก็ได้ หรือจะตั้งไว้กับโต๊ะทำงานแล้วใช้อะแดปเตอร์ GaN 65W แทนก็ดี


Inside & Upgrade

ASUS ROG Ally X

วิธีเปิดฝาอัปเกรด ASUS ROG Ally X ทำได้ง่ายมากแต่ต้องระมัดระวัง เพราะหลังจากขันน็อต Philips head ทั้ง 6 ดอกออกแล้ว ให้เอาก้านพลาสติกงัดระหว่างปุ่มทริกเกอร์กับฝาหลังเล็กน้อยให้ฝาหลังแยกออกพอมีช่องว่างสอดการ์ดแข็งงัดออกได้ จะเห็นว่าปุ่ม M1 / M2 มีสายแพเชื่อมเข้าเมนบอร์ดอยู่ จึงไม่ควรฝืนดึงฝาหลังออกทันที ไม่อย่างนั้นสายอาจเสียหายได้

ภายในจะเห็นซีพียูกับชุดระบายความร้อน ROG Intelligent Cooling ติดอยู่ส่วนบน ถัดลงมาจะเห็น M.2 2280 วางขวางเป็นแนวนอนพร้อมสายไฟจากแบตเตอรี่พาดเอาไว้ ถ้าจะเปลี่ยนแนะนำให้ถอดสายแพเชื่อมปุ่มมาโครด้านหลังออกก่อนแล้วเอาปิ๊กกีตาร์ดันขั้วต่อแบตเตอรี่บนเมนบอร์ดออกก็ขันน็อตเปลี่ยน SSD ได้ทันที

สังเกตว่า SSD จะเตี้ยกว่าขอบบนแบตเตอรี่อยู่พอควร จึงมีช่องว่างพอให้ใส่รุ่นมีฮีตซิ้งค์เตี้ยได้แต่ต้องพับสายไฟหลบเล็กน้อยก็จะใส่เครื่องได้พอดี เปลี่ยนเสร็จก็ปิดฝาเข้า BIOS > Advanced > ASUS Cloud Recovery สั่งติดตั้ง Windows 11 ใหม่ผ่านอินเทอร์เน็ตอีกครั้งก็ใช้งานได้ตามปกติ


Performance & Software

ASUS ROG Ally X

ชิปเซ็ต AMD Ryzen Z1 Extreme รุ่นพิเศษจาก AMD ออกแบบมาเพื่อเครื่อง Gaming Handheld โดยเฉพาะ มี 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.3~5.1GHz สถาปัตยกรรม AMD RDNA 3 “Phoenix” ขนาด 4 นาโนเมตร ค่า TDP สูงสุด 28 วัตต์ รองรับชุดคำสั่งพื้นฐานครบถ้วน จึงใช้ทำงานแบบ Mini PC ได้ แต่เล่นเกมได้โดดเด่นกว่า รองรับชุดคำสั่งพื้นฐานในตัวครบถ้วน ติดตั้ง RAM จากโรงงาน Micron มาแบบออนบอร์ด ความจุ 24GB LPDDR5 ค่า CL23-17-20-40-60

ASUS ROG Ally X

จีพียู AMD Radeon 780M มี Shader Units อยู่ 768 Unified รองรับ DirectX 12 API กับชุดคำสั่ง OpenCL, OpenGL 4.6, DirectCompute, DirectML, Vulkan, Ray Tracing ในตัว จึงเล่นเกมในปัจจุบันได้ทุกเกมและใช้ AMD FSR Upscalling ได้ด้วย

จุดเด่นของจีพียู AMD Radeon จะเสริมฟีเจอร์ให้เล่นเกมได้ดีขึ้นเข้ามาหลายอย่างโดยเปิดใช้งานได้ใน AMD Software: Adrenalin Edition หรือซอฟท์แวร์ไดรเวอร์นั่นเอง โดยมีฟีเจอร์ดังนี้

  • AMD Radeon Super Resolution (RSR) – ฟังก์ชั่น Upscalling ในไดรเวอร์ ใช้งานคู่กับ AMD FSR ได้ ช่วยให้เฟรมเรทเวลาเล่นเกมไหลลื่นขึ้น อย่างไรก็ตามโปรแกรมทั่วไปจะจับการทำงานและเฟรมเรทที่เพิ่มขึ้นด้วย AMD RSR ไม่ได้ ต้องดูในไดรเวอร์เท่านั้น
  • AMD Radeon Chill – ฟีเจอร์จำกัดเฟรมเรทภายในเกมเอาไว้ในจุดที่ต้องการ ในหน้าไดรเวอร์จะตั้งค่าได้ว่าต้องการเฟรมเรทขั้นต่ำและสูงสุดได้ ช่วยประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ให้เล่นเกมได้นานขึ้น
  • AMD Radeon Anti-Lag – ฟีเจอร์ลดความหน่วงเวลาเล่นเกมประเภท FPS ซึ่งต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ช่วยลด Input Lag กดค่าความหน่วง (Latency) ให้ต่ำลง
  • AMD Radeon Boost – ฟีเจอร์ลดความละเอียดคมชัดของทั้งหน้าจอลงเมื่อภาพบนจอเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทำให้เฟรมเรทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่ส่งผลต่อความสวยงามของกราฟิคในเกม ใช้งานกับจีพียู Radeon RX 6000 Series เป็นต้นไปและเกมต้องรองรับ DirectX 12 API ในตัว
ASUS ROG Ally X

ใน Device Manager จะเห็นว่า ASUS ROG Ally X ติดตั้งชิปรักษาความปลอดภัยมาครบถ้วนทั้ง TPM 2.0 ตามมาตรฐานของ Windows 11 ควบคู่กับ AMD PSP 11.0 และ Microsoft Pluton ไว้เก็บข้อมูล Biometric ของผู้ใช้ ทำงานร่วมกับเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือของ FocalTech ตรงปุ่ม Power เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วด้วย Wireless LAN Card รุ่น MediaTek MT7922 (AMD RZ616) รองรับ Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.2 ในตัว

ASUS ROG Ally X

ตัวการ์ด Wireless LAN AMD RZ616 ตามสเปคเป็นการ์ดขนาด M.2 2230 มีแบนด์วิธกว้าง 160MHz เชื่อมต่อ Wi-Fi คลื่น 6 / 5 / 2.4GHz ได้หมด มีค่า Thoughput สูงสุด 2.4 Gbps พอเชื่อมต่อเราเตอร์ Wi-Fi 6 ทดสอบความเร็วกับเว็บไซต์ Ookla speed test ทำความเร็ว Download 832.97 Mbps และ Upload 839.09 Mbps มีค่า Ping 10ms ถือว่าทำงานได้รวดเร็วมาก ดาวน์โหลดเกมขนาดใหญ่มาเล่นได้ในเวลาไม่นาน

ASUS ROG Ally X

M.2 NVMe SSD รหัส MTFDKBA1T0QFM หรือ Micron 2400 มีความจุ 1TB ใช้อินเทอร์เฟสเป็น PCIe 4.0 x4 เป็น OEM SSD รุ่นยอดนิยมซึ่งพบในโน๊ตบุ๊คของ ASUS หลายรุ่นในปัจจุบัน มีความเร็วสูงพอใช้เล่นเกมได้เป็นอย่างดี หลังจากทดสอบกับโปรแกรม CrystalDiskMark 8 เทียบกับหน้าสเปคจะเป็นดังนี้

สเปค / ความเร็วRead (MB/s)Write (MB/s)
ข้อมูลหน้าสเปค4,5003,600
Sequential5,017.983,620.65
RND4K282.30304.28

สังเกตว่าความเร็วการเขียนอ่านข้อมูลขนาดใหญ่ (Sequential) ของ Micron 2400 จะทำได้ดีตรงตามข้อมูลเคลมหน้าสเปค แต่ถ้าอ่านไฟล์ขนาดเล็กหลายไฟล์พร้อมกัน (RND4K) จะทำได้ไม่สูงนัก แต่ก็ใช้เล่นเกมได้ดีตามปกติ ถ้าจะอัปเกรดอาจหา Samsung 980 PRO, Kingston FURY Renegade หรือ Transcend MTE250S ความจุ 1~2TB มาเปลี่ยนก็จะเล่นเกมได้สนุก โหลดฉากได้รวดเร็วขึ้น

ASUS ROG Ally X

ผลการทดสอบเล่นเกมด้วยโปรแกรม 3DMark Time Spy จะเห็นว่าคะแนนเฉลี่ย 3,455 คะแนน แยกเป็น CPU score 8,340 คะแนน Graphics score 3,132 คะแนน สามารถเล่นเกมบนหน้าจอ 1080p Medium ได้แน่นอน สังเกตคะแนน CPU และอิงกับคอร์เธรดของ Ryzen Z1 Extreme ก็มีประสิทธิภาพเทียบชั้นกับ AMD Ryzen 7 ได้เลย

ในการทดสอบเล่นเกมชั้นนำบน ASUS ROG Ally X บนหน้าจอ 1080p และตั้งกราฟิคแยกเป็น 3 แบบ ซึ่งในกรณีตั้งกราฟิคภายในเกมให้อยู่ในระดับดีสุด สังเกตว่าเฟรมเรทเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 20~29 Fps ทั้งหมด เพราะ Texture ในเกมปัจจุบันมีมากและกินกำลังจีพียูพอควร ถ้าเปิด AMD FSR Quality ก็ทำเฟรมเรทได้สูงขึ้นมาใกล้เคียง 30 Fps อยู่บ้าง แต่ยังเกินกำลังของ Radeon 780M อยู่

กลับกันถ้าตั้งกราฟิคในเกมเอาไว้ 1080p Medium เปิด AMD FSR Quality เสริม จะเห็นว่าเฟรมเรทเฉลี่ยของแต่ละเกมอยู่ในระดับเล่นได้ดีและหลายเกมก็ทำได้ลื่นไหล อย่าง Black Myth: Wukong ก็ได้เฟรมเรทเฉลี่ย 32 Fps, Cyberpunk 2077 ได้ 36 Fps และ Red Dead Redemption II ก็ได้ 40 Fps ถ้าเกมไหนมีระบบ Frame Generation ให้ใช้ เปิดแล้วก็จะได้เฟรมเรทใกล้เคียงหรือเกิน 60 Fps อย่างแน่นอน นับว่าชิปเซ็ต AMD Ryzen Z1 Extreme ใน ROG Ally X นั้นเล่นเกมชั้นนำในปัจจุบันได้ทุกเกม

สัมผัสและการตั้งค่ากราฟิคภายในเกมทดสอบที่เหมาะสมของแต่ละเกมจะเป็นดังนี้

  • Black Myth: Wukong – ตั้งกราฟิคไว้ระดับ 1080p Medium เปิด AMD FSR กับ Frame Generation จะเล่นเกมได้ลื่นไหลแทบทุกฉากและตอบสนองกับศัตรูได้ทันท่วงที แนะนำให้ลดรายละเอียดเกินจำเป็นอย่าง Shadow หรือ Tessaletion ให้อยู่ระดับ Low จะทำให้เฟรมเรทเพิ่มขึ้นและไม่ส่งผลกับความงดงามโดยรวม
  • Red Dead Redemption II – ใช้กราฟิคระดับ 1080p เลือกแถบกราฟิคเอาไว้ Balanced ระดับสุดท้ายก่อนถึง Favored Quality เล่นบนหน้าจอ Fullscreen Exclusive เปิด AMD FSR Quality ก็เล่นได้ทั้งเกมโดยไม่มีปัญหา ไม่เกิดอาการขอบแดงติดตามฉากหรือตัวละครแถมยังตอบสนองกับอีเว้นท์ต่างๆ ภายในเกมได้ทันท่วงที ถ้าอยากให้เฟรมเรทสูงขึ้นเกือบถึง 60 Fps แนะนำให้ใช้ FSR Balanced และลดแถบกราฟิค Balanced ลง 2-3 ระดับก็พอ
  • Forza Horizon 5 – เวลาเล่นสามารถตั้งค่ากราฟิคเอาไว้ 1080p Medium และเปิด AMD FSR เอาไว้ก็ทำเฟรมเรทเฉลี่ยได้เกิน 60 Fps โดยไม่ต้องพึ่ง Frame Generation แล้ว เวลาเล่นสามารถควบคุมตัวรถได้ทันท่วงที ไม่มีอาการหน่วงระหว่างเล่น แนะนำให้ตั้งค่ากราฟิคตาม Preset Medium ก่อนแล้วปิด Ray Tracing ทิ้งไปจะเล่นได้ไหลลื่นขึ้น
  • Cyberpunk 2077 – ตั้งค่ากราฟิค 1080p Medium และควรใช้ AMD FSR 3 ที่ตัวเกมเพิ่งอัปเดตเข้ามาให้จะทำให้เล่นเกมได้ดีมากทุกสถานการณ์ทั้งตอนเดินทางทำภารกิจหรือปะทะศัตรูก็ไม่เจออาการเฟรมเรทตกกะทันหัน หรือจะใช้โหมด Steam Deck ก็ดีเช่นกัน
  • Shadow of the Tomb Raider – การตั้งค่ากราฟิค 1080p Medium จะเล่นเกมนี้ได้ 30 Fps เท่านั้นและตัวเกมไม่รองรับ AMD FSR จึงเร่งเฟรมเรทเพิ่มไม่ได้ แต่ก็ยังเล่นเกมได้ต่อเนื่องและเข้าปะทะศัตรูได้ทั้งแบบลอบเร้นและใช้อาวุธระยะไกล ส่วนตัวแนะนำเคล็ดลับว่าให้คงกราฟิคเอาไว้ Medium แต่ลด Resolution ลงเหลือ 1600*900 พิกเซล จะทำให้เฟรมเรทเพิ่มขึ้น เล่นได้สะดวกกว่าเดิม
ASUS ROG Ally X

ถ้าจะใช้ ASUS ROG Ally X เป็นคอมทำงานก็ทำงานได้ดีพอควรเทียบกับโน๊ตบุ๊คทำงานในระดับราคาใกล้เคียงกันได้ ทำคะแนนจาก PCMark 10 ได้เฉลี่ย 5,793 คะแนน ถ้าดูแยกตามแต่ละหมวดจะเห็นว่าชิปเซ็ตตัวนี้สามารถทำงานทั่วไปได้ดีทุกแบบ ไม่ว่าจะเปิดโปรแกรม, ประชุมงานออนไลน์หรือทำงานเอกสารก็ทำได้ดีรวมถึงแต่งภาพประกอบสไลด์นำเสนองานก็ได้ แต่งานตัดต่อวิดีโอถือว่าพอตัดต่อคลิปสั้นและวิดีโอ 4K ก็ได้แต่จะใช้เวลาระยะหนึ่งถึงจะนำไปใช้งานได้

งานเรนเดอร์โมเดลและกราฟิค 3D ด้วยโปรแกรมตระกูล CINEBENCH ทั้งสามเวอร์ชั่น จะเห็นว่าตัวชิปเซ็ตสามารถใช้เรนเดอร์ปั้นโมเดลได้ระดับหนึ่งแต่ต้องใช้เวลาประมวลผลระยะหนึ่ง โดยคะแนนของแต่ละเวอร์ชั่นจะเป็นดังนี้

  • 2024 – ใช้ทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูกับจีพียูอย่างหนักพร้อมกันโดยใช้เอนจิ้น Redshift สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนต์ ได้ CPU (Multi-Core) 679 pts และ CPU (Single Core) 68 pts
  • R23 – ใช้ทดสอบพลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก มีความละเอียดและแม่นยำสูง ได้คะแนน Multi Core 11,881 pts และ Single Core อีก 1,127 pts
  • R20 – ใช้ทดสอบกำลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก ได้คะแนน CPU 4,649 pts

งานโมเดล 3D จากการทดสอบด้วยโปรแกรม Blender Benchmark จำลองการเรนเดอร์โมเดล 3 แบบว่าซีพียูกับจีพียูสามารถเรนเดอร์ได้กี่ Sample ใน 1 นาที ยิ่งได้มากยิ่งดี ซึ่งปริมาณผลลัพธ์เป็นดังนี้

การทดสอบ
(Sample ยิ่งมากยิ่งดี)
CPU
(AMD Ryzen Z1 Extreme)
GPU
(AMD Radeon 780M)
monster68147
junkshop4756
classroom3575

การทดสอบกับโปรแกรมตระกูล Geekbench ในแต่ละเวอร์ชั่นจะจำลองการใช้งานในกรณีต่างๆ เช่นใช้งานทั่วไป, ทดสอบรันโปรแกรมหรือส่วนเสริม AI กับ Machine Learning ต่างๆ ซึ่งในการทดสอบแรกชุดแรกจะทดสอบกับซีพียู AMD Ryzen Z1 Extreme ซึ่งได้ผลลัพธ์ดังนี้

  • Geekbench 6 – ใช้ทดสอบว่าซีพียูสามารถประสานงานกับหน่วยความจำในเครื่องได้ดีหรือไม่ โดยจำลอง workloads งานประเภทการบีบอัดข้อมูล (data compression), การประมวลผลภาพ (image processing), Machine Learning และ Compile code มาทดสอบ
    • Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบว่าซีพียูคำนวน vector integer ได้รวดเร็วหรือไม่ ถ้าเป็น Single-Core ทำได้ 1,670 คะแนน และ Multi-Core ได้ 9,721 คะแนน
  • Geekbench AI – คำนวณว่าซีพียูนั้นสามารถรันการทำงานกับโปรแกรม AI ต่างๆ ได้แม่นยำหรือรวดเร็วหรือไม่ แบ่งเป็น Single Precision เน้นความเที่ยงตรงของคำสั่ง, Half precision เน้นความเร็วมากขึ้นและลดความแม่นยำลง และ Quantized Score เน้นความเร็วแต่ไม่แม่นยำนัก
    • ONNX ได้คะแนน Single Precision 1,946 คะแนน, Half precision 549 คะแนน และ Quantized Score 2,908 คะแนน
    • OpenVINO ได้คะแนน Single Precision 3,724 คะแนน, Half precision 3,714 คะแนน และ Quantized Score 10,344 คะแนน

กรณีเดียวกันแต่เปลี่ยนไปทดสอบกับจีพียู AMD Radeon 780M จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

  • Geekbench 6 ทดสอบด้วย Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบว่าคำนวน vector integer ได้รวดเร็วหรือไม่ ซึ่งจีพียูทดสอบด้วย OpenCL framework ทำได้ 31,954 คะแนน ถ้าใช้ Vulkan API ทำได้ 36,295 คะแนน
  • Geekbench ML ทดสอบด้วย ONNX DirectML – ใช้ทดสอบว่าฮาร์ดแวร์ชิ้นนั้นสามารถใช้งานโปรแกรม Machine Learning ได้ดีหรือไม่ ในส่วนนี้ทำได้ 5,229 คะแนน
  • Geekbench AI ทดสอบด้วย ONNX DirectML – Single Precision 7,813 คะแนน, Half precision 10,718 คะแนน และ Quantized Score 5,714 คะแนน

คะแนนผลลัพธ์จากโปรแกรมทดสอบทั้งหมดนับว่า ASUS ROG Ally X จะใช้ทำงานเป็น Mini PC ได้พอกับโน๊ตบุ๊คทำงานในระดับราคาใกล้เคียงกัน เหมาะกับการทำงานออฟฟิศจัดการเอกสาร, ประชุมงานออนไลน์หรือตัดต่อภาพและวิดีโอได้ระดับหนึ่งแต่จะใช้เวลาเรนเดอร์สักหน่อย ถ้าใช้ทำงานในยามจำเป็นก็ได้ แต่จุดแข็งคือเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่พกไปเล่นเกมได้ทุกเมื่อไม่ว่าจะกำลังเดินทางไกลไปต่างจังหวัดหรือออกไปธุระแล้วอยากเล่นเกม Steam ก็เล่นได้ไม่ต้องรอกลับถึงบ้านก่อน เป็นเพื่อนฆ่าเวลาได้เป็นอย่างดี

ASUS ROG Ally X

ซอฟท์แวร์ Armoury Crate SE ประจำเครื่องซึ่งเรียกได้จากปุ่มฝั่งขวาใต้ปุ่ม Menu นอกจากอัปเดตเป็นเวอร์ชั่นใหม่ มีฟังก์ชั่นตั้งค่าตัวเครื่องและอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้เล่นเกมได้ดีขึ้นแล้ว ยังตั้งค่าปุ่มต่างๆ บนตัวเครื่องได้ละเอียด มีหน้าต่างแก้ไข Command Center ใต้ปุ่ม Share ฝั่งซ้าย รวมถึงปุ่มมาโคร M1 / M2 ได้ในตัว นอกจากนี้ถ้าดูในหัวข้อ Performance เข้าทาง Eco Assist จะสั่งโอเวอร์คล็อกซีพียูได้ใน CPU Boost ด้วย

ถ้าซื้อเอาไว้เล่นเกมเป็นหลักแล้วต้องการแชร์แรมตัวเครื่องให้เป็น VRAM ของจีพียู ก็ตั้งค่าได้โดยเข้าหัวข้อ Performance เลือก GPU Settings จะมีตัวเลือก Memory Assigned to GPU จะมีตัวเลือกให้จัดสรรปริมาณได้ตามต้องการ ตามปกติในโหมด Automatic ระบบจะเตรียมไว้ให้ 4GB ถ้าต้องการเพิ่มก็แตะเลือกได้มากสุด 16GB แต่แนะนำว่าปล่อยให้ระบบจัดการเองหรือตั้งไว้สัก 8GB ก็พอ ถัดลงมาจะมีฟีเจอร์เพิ่มประสิทธิภาพการเล่นเกมให้เลือกเปิดได้ทั้ง AMD RSR, FMF, Anti-Lag, Boost, Chill ด้วย นับเป็นซอฟท์แวร์เพื่อเครื่อง Gaming Handheld ที่ดีมาก


Battery, Heat & Noise

ASUS ROG Ally X

แบตเตอรี่ภายในเครื่องมีความจุเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็นลิเธียมโพลีเมอร์ (Li-Polymer) 80Whr วัดเป็น Typical Capacity ได้ 5,150mAh และ Rated Capacity 5,000mAh พอจะเล่นเกมได้นานเกิน 1 ชม. แต่ก้อนแบตเตอรี่จะหนาขึ้นกว่ารุ่นก่อนพอควรจนมีระยะห่างจากตัว M.2 NVMe SSD พอควรจนใส่ฮีตซิ้งค์เตี้ยเพื่อระบายความร้อนได้ แต่จะสูงเสมอกับสายไฟแบตเตอรี่จึงต้องพับเบี่ยงสายเล็กน้อยก็จะใส่ได้พอดี ไม่ดันฝาหลังเครื่อง

battmon
Battery test ใช้งานทั่วไป

จากการทดสอบระยะเวลาใช้งานตามมาตรฐาน โดยลดความสว่างหน้าจอเหลืทอ 50% เปิดเสียงลำโพงดัง 10% ใช้โหมด Silent ของ Armoury Crate SE และ Battery saver ของ Windows 11 แล้วดูคลิป YouTube นาน 30 นาที ด้วยโปรแกรม Microsoft Edge จะใช้งานได้นานถึง 9 ชม. 50 นาที ซึ่งในกรณีใช้เล่นเกมโดยใช้การตั้งค่าเดิมแต่เล่นเกมบนหน้าจอ 1080p ปรับกราฟิค Medium แล้วทดลองเล่นเกมชั้นนำไป 10 นาที จะเห็นว่า ASUS ROG Ally X สามารถเล่นเกมได้นานสุด 4 ชม. 31 นาที

กรณีใช้งานจริงพกไปเล่นเกมนอกบ้านเล่นเกม Shadow of the Tomb Raider ตั้งความความละเอียดหน้าจอและกราฟิคไว้ 1080p Medium ต่อหูฟังเล่นนาน 1 ชม. แบตเตอรี่จะลดไป 40% พบจุดน่าสนใจว่าถ้าเปิดเล่นเกม ในโหมด Performance (17W) กับ Turbo (25W) จะได้เฟรมเรทเพิ่มเล็กน้อยไม่เกิน 5 Fps เท่านั้น ถ้าพกไปเล่นนอกบ้านแนะนำเปิดแค่โหมด Performance ก็เพียงพอแล้ว

ASUS ROG Ally X

ชุดระบายความร้อน ROG Intelligent Cooling กับระบบนำอากาศเย็นเข้า Zero Gravity เป็นชุดฮีตไปป์ 1 เส้น พาดจาก Ryzen Z1 Extreme ไปฮีตซิ้งค์หน้าพัดลมโบลวเวอร์ทั้งสองฝั่งเหมือนรุ่นก่อนแต่ยังระบายความร้อนภายในเครื่องได้ดี แม้จะเห็นว่าอุณหภูมิสูงสุดของซีพียูจะขึ้นไปแตะระดับ 95 องศาเซลเซียส แต่จะค้างอยู่ราว 1-2 วินาทีเท่านั้น กรณีใช้เล่นเกมจะมีอุณหภูมิอยู่ช่วง 80-90 องศาเซลเซียสเท่านั้น

ชิ้นส่วน / อุณหภูมิอุณหภูมิต่ำสุด (เซลเซียส)อุณหภูมิสูงสุด (เซลเซียส)
Mainboard4469
CPU44.595
SSD4370
GPU4195

ถ้าวัดด้วยเลเซอร์เช็คอุณหภูมิกับกล้องอินฟราเรดระหว่างเปิดโปรแกรม FurMark เร่งอุณหภูมิ จะเห็นว่าบริเวณหน้าจอเป็นส่วนร้อนสุดเพียง 35.4 องศาเซลเซียส เย็นกว่าอุณหภูมิผิวมนุษย์ระดับ 37 องศาอยู่ 1.6 องศา ด้านกริพเครื่องทั้งสองฝั่งมีอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียสด้วยซ้ำ ด้านหลังก็มีอุณหภูมิระดับใกล้เคียงกัน ดังนั้นจึงจับเล่นเกมได้นานไม่ร้อนมือแน่นอน

ASUS ROG Ally X

เสียงพัดลมของชุดระบายความร้อน ROG Intelligent Cooling เวลาทำงานเต็มกำลังเสียงก็ยังไม่ดังมากจนรบกวนผู้อื่น ซึ่งเสียงตอนทำงานเต็มกำลังจากหน้าปัดเครื่องวัดเสียงจะเห็นว่าด้านหน้าและหลังเครื่องอยู่ระดับ 50.2~51.6dB เทียบเท่าเสียงของสภาพแวดล้อมตามปกติเท่านั้น แม้วัดจากด้านบนตรงกับช่องระบายอากาศยังดังเพียง 52.4dB เรียกว่าเบากว่าเสียงคนคุยกันตามปกติด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าเสียงพัดลมจะทำความรำคาญให้ผู้อื่น


User Experience

ASUS ROG Ally X

จากที่ได้ใช้ ASUS ROG Ally X ไปร่วมสัปดาห์เต็มก็ได้รับรู้ว่า ASUS จริงจังกับ Gaming Handheld มาก นำ Feedback จาก ASUS ROG Ally รุ่นแรกไปปรับแต่งให้รุ่นไมเนอร์เชนจ์นี้ดีขึ้น ตั้งแต่แบตเตอรี่ไม่ทน ก็ขยายความจุไปสองเท่าก็แล้ว ปุ่มมาโครอยู่ด้านหลังใกล้ด้ามจับอันผอมเพรียวไม่ถนัดมือและมีโอกาสลั่นได้ง่ายก็แก้ให้ทั้งสองปุ่มอยู่ด้านหลังแทนและทำด้ามจับให้ใหญ่จนพอดีมือ จัดการย้าย MicroSD Card Reader จากตำแหน่งเดิมในหลบหลบจากช่องระบายความร้อนได้พอดี ฝั่งนักอัปเกรดเครื่องก็ว่า M.2 2230 หาซื้อยากมีตัวเลือกน้อยจนต้องทำแผ่นวงจรตัว L มาต่อ PCIe 4.0 เดิมก็สมใจอยาก เพราะช่อง PCIe 4.0 ก็วางตามแนวนอนขนาน Ryzen Z1 Extreme ใส่ M.2 2280 ได้เลย ไม่พอยังเติม RAM จาก 16GB มา 24GB LPDDR5 ทำให้มีหน่วยความจำเผื่อเอาไว้แชร์ให้จีพียูได้ตามต้องการในโปรแกรม Armoury Crate SE อีก เรียกว่าแก้ปัญหาครบทุกรายการแล้วก็ทำให้รุ่นใหม่นี้ดีขึ้นกว่าเดิมจนคุ้มค่าตัว 29,990 บาทอย่างไม่ต้องสงสัย

งานหลักอย่างการเล่นเกม ต้องยกความดีให้ RAM 24GB LPDDR5 ซึ่งมีให้ใช้อย่างเหลือเฟือ ซึ่งผู้พัฒนาเกมในยุคนี้ก็แนะนำให้คอมพิวเตอร์มี RAM 16GB ให้เล่นเกมได้ไหลลื่น แล้ว ROG Ally X ก็สอบผ่านเรื่องนี้ได้ง่ายดาย หากเกมเรียกใช้ RAM 16GB ก็ยังมีเหลืออีก 8GB ไว้ให้ Windows 11 อีก 4GB กับ 4GB เพื่อระบบจัดสรร RAM ให้จีพียูโดยอัตโนมัติ มันจึงเล่นเกมชั้นนำได้ทุกเกมแน่นอน พอได้เล่นเกมใช้พลังจีพียูอย่าง Shadow of the Tomb Raider เลือกให้เครื่องทำงานในโหมด Performance (17W) และใช้กราฟิค 1080p Medium ตามที่ AMD แนะนำ แต่ไม่ใช้ AMD FSR, AMD RSR, AMD FMF ก็ยังเล่นได้ 30 Fps ต่อเนื่อง เสถียรดีไม่มีกระตุกหน่วงช้าแม้แต่ครั้งเดียว ผ่านไป 1 ชม. แบตเตอรี่ลดจาก 100% เหลือ 60% เทียบบัญญัติไตรยางค์แล้วหมายความว่า ASUS ROG Ally X จะเล่นเกมชั้นนำเหล่านี้ได้ 2 ชม. กับเศษไม่เกิน 30 นาที หากเป็นรุ่นก่อนในเงื่อนไขนี้ไม่ทันครบชั่วโมงเครื่องก็คงดับแล้ว กลับกันถ้าลด Resolution เหลือ 1600*900 หรือ 1280*720 พิกเซล คงจะเล่นเกมได้นานกว่านี้เป็น 3-4 ชม. ก็เป็นได้ เพราะหน้าจอมีขนาด 7 นิ้ว จะลดความละเอียดภาพลงแลกกับระยะเวลาเล่นเกมให้นานขึ้นก็คุ้มค่า ไม่ทำให้ภาพกลายเป็นดินน้ำมันอย่างที่หลายคนห่วงแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีโหมด Turbo แปรผัน ทำงานในโหมดแบตเตอรี่ 25W และเร่งไป 30W เวลาต่อปลั๊กไว้ เวลาเล่นเกมเดียวกันอย่าง Shadow of the Tomb Raider แม้จะคิดว่าซีพียูได้กำลังไฟเพิ่มก็คงจะดี ได้เฟรมเรทเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ตามความจริงเฟรมเรทจะมากกว่าโหมด Performance (17W) ไม่เกิน 5~7 Fps จนแทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่างอย่างที่ควร ก็เห็นว่าใช้โหมด Turbo เฉพาะตอนต่อปลั๊กใช้เป็นเครื่อง Mini PC เพื่อเร่งประสิทธิภาพเพิ่มจะดีกว่า

ASUS ROG Ally X

ว่าด้วยการทำงาน หลายคนอาจคิดว่า ASUS ROG Ally X เหมาะกับการใช้ทำงานฉาบฉวย แก้งานเร่งด่วนเล็กน้อยก็พอ แต่ผู้เขียนเห็นกลับกันว่ามันคือ Mini PC แถมหน้าจอ 7 นิ้ว ให้ใช้เป็นหน้าจอเสริมเผื่อไว้ดูแจ้งเตือน เปิด YouTube เป็นหน้าจอควบคุมเล่นเพลงเสริม ฯลฯ โดยไม่รบกวนจอทำงานหลัก ใช้ทำงานพื้นฐานในออฟฟิศได้สบายๆ ไม่ว่าจะพิมพ์งานเอกสาร, ประชุมออนไลน์, แก้ภาพในโปรแกรม Photoshop ก็ทำได้พอกับโน๊ตบุ๊คทำงานซีพียู AMD Ryzen 7 ถ้าจะซื้อเอาไว้เป็นคอมทำงานพกไปออฟฟิศก็ได้แล้วกลายเป็นเครื่องเกมระหว่างเดินทางกลับบ้านและในวันหยุดไปในตัว

แต่ถึงจะมีจุดประทับใจและชื่นชมไปหลายอย่าง ASUS ROG Ally X ก็มีข้อจำกัดอยู่ ถ้าใช้เป็น Mini PC ก็ต้องซื้ออุปกรณ์เสริมเพิ่มพอควรไม่ว่าจะ USB-C Multiport Adapter หรือเป็น Hub Stand เป็นแท่นวางเครื่องพร้อมพอร์ตก็ต้องจ่ายเพิ่ม ต้องมีเมาส์คีย์บอร์ด Bluetooth ไว้ใช้ร่วมกันและความคล่องตัวเวลาพกไปทำงานนอกสถานที่ก็ไม่คล่องตัวเท่าโน๊ตบุ๊คทั่วไปซึ่งกางจอวางบนหน้าขาแล้วพิมพ์งานได้ในทันที แต่ถ้าไม่ได้พกโน๊ตบุ๊คไปทำข่าวเขียนงานนอกสถานที่เป็นประจำก็ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้นัก

ถัดมาคือ ASUS ROG Ally X ไม่มี XG Mobile interface เหมือนรุ่นก่อน ถ้าใครลงทุนซื้อกล่องการ์ดจอแยก ASUS ROG XG Mobile มาใช้ก็ต้องอดไปต่อ กลับกันก็มี USB 4.0 Type-C ความเร็วรับส่งข้อมูลระดับ 40 Gbps ติดมาให้ต่อกับกล่องการ์ดจอแยก (External GPU Enclousure) แทน ถ้าใครมีอุปกรณ์ชิ้นนี้อยู่ก็นำมาใช้ร่วมกันได้และตั้งค่าเพียงเล็กน้อยก็พร้อมเซ็ตอัพเป็นเกมมิ่งพีซีต่อได้ทันที แต่จากที่ได้ทราบมา ทาง ASUS จะยังขาย ROG Ally ควบคู่กับ ROG Ally X ต่อไป เป็นทางเลือกให้เกมเมอร์งบประหยัดและกำลังสงสัยว่า Gaming Handheld ตอบโจทย์ชีวิตเราไหมก็เริ่มต้นกับรุ่นก่อนได้ ถ้ารู้ว่ามันใช่แล้วจะซื้อรุ่นนี้ไปเลยก็ได้


Conclusion & Award

ASUS ROG Ally X

ASUS ROG Ally X รุ่นไมเนอร์เชนจ์ซึ่งเอา Feedback จากเจ้าของเครื่องรุ่นแรกไปปรับแต่งให้ดีขึ้นกว่าเดิมจนใกล้เคียงคำว่าสมบูรณ์แบบจนกลายเป็นบรรทัดฐานให้เครื่อง Gaming Handheld รุ่นอื่นในอนาคตได้เลยว่าสเปคและหน้าตาของเครื่องเกมพกพาควรจะเป็นอย่างไร แถมยังใช้เป็น Mini PC ทำงานในวันธรรมดาได้สะดวกไม่แพ้กัน จะแนะนำให้คนใกล้ตัวซื้อเอาไว้เล่นเกมก็ไม่ผิดหวังแน่นอน

อย่างไรก็ตามทาง ASUS ก็ยังไม่ได้ยกเลิกการขาย ROG Ally รุ่นแรกไป แต่ปรับราคาให้ถูกลงเป็นรุ่นเริ่มต้นแทนแล้วให้ ROG Ally X เป็นรุ่นสูงสุดแทน ให้คนอยากลองหรือมีงบประมาณจำกัดไปซื้อรุ่นก่อนลองของก่อนก็ได้ เหล่าพีซีเกมเมอร์จะได้ปลดล็อคไม่ต้องรอกลับไปถึงหน้าคอมที่บ้านถึงจะเล่นเกมโปรดของตัวเองอีกต่อไปแล้ว

Award

NBS award 4 Mobility

Best Mobility

แม้น้ำหนักจะเพิ่มจากรุ่นก่อน 70 กรัม เป็น 680 กรัมก็ตาม แต่ ROG Ally X ก็ยังเบาพกง่ายแถมถ่วงสมดุลย์น้ำหนักตัวเครื่องได้ดี ถือเล่นเกมเป็นชั่วโมงก็ไม่เมื่อยแขนแม้แต่น้อย จึงพกไปเล่นเกมระหว่างเดินทางไกลได้เลย

award new Gaming

Best Gaming

ชิปเซ็ต AMD Ryzen Z1 Extreme เวอร์ชั่นสั่งตัดพิเศษสามารถเล่นเกมชั้นนำบนหน้าจอ 1080p ตั้งค่ากราฟิคระดับ Medium ได้ไหลลื่น มีฟีเจอร์ AMD FidelityFX Super Resolution ช่วยเพิ่มเฟรมเรทให้สูงขึ้น จึงเล่นเกมคอมได้ทุกเมื่อตามต้องการ

award new Battery Life

Best Battery Life

การเพิ่มแบตเตอรี่จาก 40Whr เป็น 80Whr ทำให้เล่นเกมได้นานขึ้นจาก 1 ชม. เป็น 2~3 ชม. จึงเล่นเกมได้นานขึ้น ไม่ต้องคอยพะวงหาปลั๊กคอยชาร์จเครื่องเป็นระยะๆ เหมือนรุ่นก่อน ใช้เล่นเกมได้เต็มที่กว่าเดิม


Gallery

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Buyer's Guide

แม้ตัวเครื่องจะเป็นโน๊ตบุ๊คบางเบา ออกแบบมาเน้นให้น้ำหนักเบาพกพาง่ายแบตเตอรี่ทนทาน แต่ถ้าเครื่องนั้นใช้ซีพียู AMD Ryzen 8000 Series นอกจากทำงานออฟฟิศได้ลื่นไหลและมี NPU เข้ามาช่วยเร่งการประมวลผล AI ในโปรแกรมต่างๆ ยังช่วยปรับแต่ง Workloads ให้ดีขึ้นด้วย การปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมเป็น AMD Zen 4 ซึ่งนอกจากพลังประมวลผลต่อคอร์จะดีขึ้น เทียบกับ Zen 3 ใน...

PR-News

ASUS แต่งตั้ง เอสเซนตี้ รีซอร์สเซส เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย การ์ดจอ เมนบอร์ด เกมมิ่งเกียร์ อย่างเป็นทางการในประเทศไทย บริษัท เอสเซนตี้ รีซอร์สเซส จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย ASUS บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ระดับโลก แต่งตั้ง Ascenti Resources เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย การ์ดจอ เมนบอร์ด เกมมิ่งเกียร์ อย่างเป็นทางการในประเทศไทย...

รีวิว Lenovo

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 โน๊ตบุ๊คทำงานพลัง Ryzen 8000 Series แรงทรงพลังพร้อมความพรีเมี่ยม!! ว่าด้วยโน๊ตบุ๊คสายทำงานจาก Lenovo ก็ต้องเป็น IdeaPad ซึ่งปัจจุบันมีรุ่นย่อยมากมายตั้งแต่รุ่นราคาประหยัดจนระดับพรีเมี่ยมอย่าง Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 ที่แม้ชื่อจะเป็นซีรี่ส์ราคาคุ้มค่าเข้าถึงง่าย แต่องค์ประกอบกับราคากลับเป็นโน๊ตบุ๊คพรีเมี่ยมระดับเริ่มต้นไล่เลี่ยกับซีรี่ส์ Yoga Slim...

CONTENT

ในบทความก่อนหน้านี้จะเป็นการแนะนำโน้ตบุ๊ก AMD น้ำหนักเบาที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมตอบโจทย์การทำงานที่ต้องเน้นการพกพาเครื่องบ่อย ๆ โดยที่ยังได้พลังในการทำงานที่ดีอยู่ ส่วนในบทความนี้เราจะมาดูโน้ตบุ๊ก AMD การ์ดจอแรง แต่มาพร้อมกับน้ำหนักที่เบากันบ้าง เผื่อในกรณีของท่านที่ต้องการซื้อโน้ตบุ๊กใหม่ซักเครื่อง แล้วอยากได้แพลตฟอร์มของค่ายแดงมาไว้ใช้ทำงาน เล่นเกม แต่ก็ยังอยากพกง่าย ๆ อยู่ด้วยในเครื่องเดียว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก