Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Lenovo

รีวิว Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 ชิป Ryzen 8000 แบต 10 ชม. อยู่นานจบวัน งานหนักก็ได้เล่นเกมก็สู้! แค่ 31,990 บาท!!

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 โน๊ตบุ๊คทำงานพลัง Ryzen 8000 Series แรงทรงพลังพร้อมความพรีเมี่ยม!!

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

ว่าด้วยโน๊ตบุ๊คสายทำงานจาก Lenovo ก็ต้องเป็น IdeaPad ซึ่งปัจจุบันมีรุ่นย่อยมากมายตั้งแต่รุ่นราคาประหยัดจนระดับพรีเมี่ยมอย่าง Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 ที่แม้ชื่อจะเป็นซีรี่ส์ราคาคุ้มค่าเข้าถึงง่าย แต่องค์ประกอบกับราคากลับเป็นโน๊ตบุ๊คพรีเมี่ยมระดับเริ่มต้นไล่เลี่ยกับซีรี่ส์ Yoga Slim 7 ในอดีตแล้ว ซึ่งในโน๊ตบุ๊คนี้มีทั้งชิป Lenovo AI Engine ไว้ปรับแต่งโหมดการทำงานให้เข้ากับโปรแกรมที่ใช้อยู่โดยอัตโนมัติ เสริมด้วยเซนเซอร์สแกนใบหน้า IR Camera พร้อม ToF ไว้จับการเคลื่อนไหวของเจ้าของว่ากำลังใช้งานอยู่หรือไม่และดับหน้าจอให้อัตโนมัติเวลาไม่ได้ใช้งาน กลับไปหน้า Log in เพื่อความเป็นส่วนตัว ป้องกันผู้อื่นขโมยใช้งานโดยพลการได้และความแข็งแรงก็ได้การการันตี MIL-STD 810H ช่วยยืนยันว่าโน๊ตบุ๊คนี้แข็งแรงเสียหายยากแน่นอน

จุดแข็งของ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 ต้องยกให้ซีพียู AMD Ryzen 7 8845HS พร้อมจีพียู AMD Radeon 780M สถาปัตยกรรม Hawk Point จากโรงงาน TSMC 4nm FinFET แม้จะยังไม่ได้ชิปเซ็ต AMD Ryzen AI 300 Series ใหม่ล่าสุดก็จริง แต่ยังใช้ทำทุกงานเสร็จได้อย่างรวดเร็วแถมยังมี Ryzen AI NPU พลังประมวลผลรวม 38 TOPS นอกจากจัดการงานเบื้องหลังของระบบปฏิบัติการได้เร็วแล้ว ยังช่วยให้โปรแกรมและส่วนเสริม AI ทำงานได้อย่างรวดเร็วไม่แพ้ชิปเซ็ตรุ่นอื่นแน่นอน

Advertisement
Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

NBS Verdicts

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 นับเป็นโน๊ตบุ๊คทำงานราคา 31,990 บาท ซีพียู AMD Ryzen 8000 Series มี NPU พลังประมวลผล 38 TOPS ประสิทธิภาพของชิปเซ็ตในเครื่องก็ใช้ทำงานกับโปรแกรม AI โดยเฉพาะและแบบเป็นส่วนเสริมภายในโปรแกรมต่างๆ ได้ดี ได้ผลลัพธ์ภายในเวลาไม่นาน นอกจากนี้ พลังประมวลผลของ AMD Ryzen 7 8845HS ก็ใช้ทำงานกับโปรแกรมต่างๆ ซึ่งใช้งานเป็นประจำได้ดีมากและยังจัดการพลังงานได้น่าประทับใจ ใช้งานได้นานร่วม 10 ชม. อย่างแน่นอน แถมจีพียูก็ยังเล่นเกมชั้นนำฆ่าเวลาได้อย่างแน่นอน

องค์ประกอบอื่นๆ ของ IdeaPad Slim 5 16AHP9 ก็สมค่าตัว ทั้งหน้าจอขนาด 16 นิ้ว ความละเอียด 2K (2048*1280) พาเนล OLED อัตรา Refresh Rate 120Hz เวลาใช้งานแล้วภาพจะลื่นไหลยิ่งขึ้น รวมทั้งมีขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 ได้รับการรับรอง VESA DisplayHDR True Black 500 การันตีว่าหน้าจอนี้มีสีดำสนิทสมจริง จึงใช้เกลี่ยสีกับโปรแกรมตัดต่อภาพหรือวิดีโอได้และกางหน้าจอได้กว้างจนแทบราบไปกับพื้นโต๊ะให้ลูกค้ากับเพื่อนร่วมงานดูเทียบสีได้ง่าย มีด้วยลำโพงคู่หันดอกลำโพงขึ้นเข้าหาผู้ใช้ รองรับ Dolby Atmos ทำให้เสียงมีมิติดีขึ้น เสริมด้วย Gesture control พิเศษ สไลด์ขอบข้างทัชแพดฝั่งซ้ายและขวาเพื่อเพิ่มลดเสียงและความสว่างได้ง่าย ติดพอร์ตเชื่อมต่อมาหลากหลายให้เชื่อมต่ออุปกรณ์อื่นๆ ได้สะดวกขึ้นมาก

จุดเด่นอย่างระบบรักษาความปลอดภัยก็คุ้มค่าตัว ทั้งได้เซนเซอร์สแกนใบหน้ารวมอยู่กับกล้องเว็บแคม จึงปลดล็อคเครื่องได้ในอึดใจเดียวพร้อมเซนเซอร์ ToF เอาไว้ตรวจจับว่าผู้ใช้ว่าถ้าไม่ได้นั่งใช้งานอยู่หน้าเครื่องก็จะตัดเข้าสู่หน้า Log in โดยอัตโนมัติ ช่วยรักษาความปลอดภัยได้ดี ถ้าดูใน Device Manager ก็จะเห็นว่ามีชิป Microsoft Pluton ไว้รักษาความปลอดภัยระดับฮาร์ดแวร์ควบคู่กับชิปมาตรฐานอย่าง TPM 2.0 อยู่แล้ว ขอเพียง Sign in บัญชีของ Microsoft และตั้งค่ายืนยันตัวตนอีกหน่อยก็ปลอดภัยแล้ว

อย่างไรก็ตาม Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 ก็ยังมีข้อสังเกตอยู่บ้าง อย่างเช่น Touch gesture ที่ต้องปรับใช้งานให้สะดวกมากขึ้น และยังอัพเกรดได้ค่อนข้างจำกัดในสไตล์ของโน๊ตบุ๊คทำงาน แต่ก็ยังพออัพเกรด SSD M.2 เพิ่มเติมได้ แถมโน๊ตบุ๊คนี้ยังไม่ตอบโจทย์คนชอบอัปเกรดเครื่องนักเพราะชิ้นส่วนต่างๆ เป็นแบบออนบอร์ดแทบทั้งหมด ยกเว้น SSD ขนาด M.2 2242 ซึ่งเป็นขนาดที่ไม่ค่อยมีตัวเลือกมากนัก ไม่ใช่ M.2 2280 แบบมาตรฐานเหมือนโน๊ตบุ๊คทั่วไปและไม่ใช่ M.2 2230 อย่างในเครื่อง Gaming Handheld จึงไม่แนะนำให้เปลี่ยน SSD แต่ซื้อ External SSD มาเพิ่มจะดีกว่า

ข้อดีของ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

  1. ติดตั้งซีพียู AMD Ryzen 7 8845HS มีประสิทธิภาพสูง ประมวลผล AI ได้รวดเร็ว
  2. จีพียู AMD Radeon 780M มีประสิทธิภาพสูงพอเล่นเกมชั้นนำได้อย่างลื่นไหล
  3. ซีพียูจัดการพลังงานให้แบตเตอรี่ 57Whr ใช้งานได้นานทั้งวันราว 9 ชม. 32 นาที
  4. หน้าจอ 16 นิ้ว มีความละเอียด 2K ค่า Refresh Rate 120Hz ได้ภาพคมชัดไหลลื่น
  5. หน้าจอพาเนล OLED มีขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 แสดงขอบเขตสีได้กว้างและแม่นยำ
  6. ติดตั้งกล้องสแกนใบหน้า IR Camera มาให้ปลดล็อคเครื่องได้สะดวกรวดเร็วและรัดกุม
  7. มีพอร์ต USB-C Full Function ถึง 2 ช่อง ต่อหน้าจอแยกและชาร์จไฟได้
  8. โอนไฟล์ภาพและวิดีโอผ่านช่อง MicroSD Card reader ได้โดยตรง
  9. เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วและเสถียรผ่าน Wi-Fi 6E
  10. ติดตั้งดอกลำโพงไว้เหนือคีย์บอร์ดหันหน้าขึ้น รองรับ Dolby Atmos
  11. กางหน้าจอได้กว้างราว 160 องศา เกือบราบไปกับพื้นโต๊ะ จึงแชร์หน้าจอให้เพื่อนดูได้ง่าย
  12. ติดแป้น Numpad และ Multimedia key มาให้ ทำให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น
  13. มีชิป Lenovo AI Engine ไว้ช่วยปรับแต่งโหมดการทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  14. ติดตั้งชิปรักษาความปลอดภัยระดับฮาร์ดแวร์อย่าง Microsoft Pluton มาให้
  15. แป้นทัชแพดมี Gesture ขอบข้างไว้สไลด์เพิ่มลดความสว่างและเสียงลำโพงได้
  16. ชุดระบายความร้อนจัดการอุณหภูมิได้ดี ชิปเซ็ตร้อนสุดเพียง 94 องศาเซลเซียสเท่านั้น
  17. ติดตั้ง Microsoft Office Home & Student 2021 มาให้พร้อมใช้งาน

ข้อสังเกตของ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

  1. อัปเกรดได้เพียง M.2 NVMe SSD เท่านั้น ชิ้นส่วนอื่นเป็นออนบอร์ดอัปเกรดไม่ได้
  2. SSD ตั้งต้นจากโรงงานทำงานไม่ค่อยเร็วและเป็นขนาด M.2 2242 จึงหารุ่นเปลี่ยนได้ยาก
  3. หน้าจอเป็นแบบ Glossy เวลาใช้งานอาจมีแสงสะท้อนอยู่บ้าง
  4. Gesture control ริมแป้นทัชแพดยังตอบสนองไม่รวดเร็วหรือไม่ทำงานอยู่บ้าง

รีวิว Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9


Specification

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

ไม่ว่าจะสเปคหรือฟีเจอร์ของ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 นับเป็นโน๊ตบุ๊ค AMD ฟีเจอร์ดีเกินตัว ได้ทั้งชิปเซ็ต Ryzen 8000 Series รุ่นใหม่ มีหน่วยประมวลผล NPU จึงทำงานกับโปรแกรมและส่วนเสริม AI ได้รวดเร็ว เสริมด้วยกล้องสแกนใบหน้า IR Camera ไว้ใช้ปลดล็อคเครื่องได้สะดวก พ่วงชิป TPM 2.0 และ Microsoft Pluton มาช่วยรักษาความปลอดภัยด้วย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

CPUAMD Ryzen 7 8845HS แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.8~5.1GHz
สถาปัตยกรรม Zen 4 (TSMC 4nm FinFET) รหัสพัฒนา Hawk Point
NPUAMD Ryzen AI กำลังประมวลผล 16 TOPS
กำลังประมวลผลรวมทั้งชิปเซ็ต 38 TOPS
GPUAMD Radeon 780M แบบ 12 คอร์ ความเร็ว 2,700MHz
SSDM.2 NVMe SSD ความจุ 512GB
RAMออนบอร์ด 16GB LPDDR5X บัส 6400MHz
Display16″ ความละเอียด 2K (2048*1280) พาเนล OLED
Refresh Rate 120Hz
100% DCI-P3
VESA DisplayHDR True Black 500
Operating SystemWindows 11 Home
Microsoft Office Home & Student 2021
ConnectivityUSB-A 3.2 Gen 1*2
USB-C 3.2 Full Function*2
HDMI 1.4b*1
MicroSD Card reader*1
Audio combo*1
Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax
Bluetooth 5.1
Weight1.89 กก.
Price31,990 บาท (BaNANA, IT City)

Hardware & Design

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

ถ้านับตามซีรี่ส์แล้ว Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 ก็ยังอยู่ในตระกูล IdeaPad ซึ่งเน้นความคุ้มค่าให้สเปคดีแต่ราคาไม่แพงมาก แต่พอมีชื่อ Slim ด้วยก็จัดเป็นกลุ่มพรีเมี่ยมไปโดยปริยาย ถึงอย่างนั้นดีไซน์ก็ยังเรียบง่าย บอดี้เป็นอลูมิเนียมสีเงินตัดกับกรอบหน้าจอสีดำ มีเพลต Lenovo สีเงินตรงที่วางข้อมือฝั่งขวาตรงข้ามกับสติกเกอร์ของ AMD ฝั่งซ้าย เหนือคีย์บอร์ดบนขวาจะมีปุ่ม Power วงรี มีไฟ LED สีขาวไว้บอกสถานะว่าเครื่องเปิดหรือปิดอยู่ ส่วนจุดแตกต่างเฉพาะของรุ่นนี้สังเกตว่าจะมีช่องเหนือคีย์บอร์ดเป็นช่องลำโพงต่างจากรุ่นอื่นซึ่งติดไว้ใต้เครื่องข้างแถบยางกันลื่นสองฝั่ง

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

ก้านบานพับหน้าจอติดอยู่ขอบล่างบานหน้าจอเป็นตัว L ทำมุม 90 องศากับตัวเครื่องและล็อคด้วยฐานบานพับอลูมิเนียมด้านใน สังเกตว่าถ้ากางหน้าจอจนสุดจะทำมุมได้กว้างร่วม 160 องศา แทบราบไปกับพื้นโต๊ะทำงาน นอกจากวางบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คและปรับองศาให้เข้ากับมุมสายตาได้สะดวกมากแล้ว ยังแชร์หน้าจอให้เพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าดูสไลด์นำเสนอได้สะดวกยิ่งขึ้น แถมก้านบานพับหน้าจอก็ยึดได้แข็งแรง กางแล้วไม่มีอาการบานพับสะบัดกระพือแม้แต่น้อย

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

ฝาหลังของ IdeaPad Slim 5 16AHP9 จะเรียบง่ายไม่สกรีนลวดลายติดมา มีแค่เพลตสีเงินตรงมุมบนซ้ายมือติดเอาไว้เพื่อบอกแบรนด์เท่านั้น แต่สังเกตว่าขอบบนหน้าจอจะมีขอบยกสูงขึ้นมาเล็กน้อยเพื่อให้เจ้าของใช้นิ้วดึงเปิดหน้าจอได้ง่าย การคงความเรียบง่ายดูมินิมอลเช่นนี้ทั้งไม่เตะตาหยิบออกมาใช้ได้ทุกโอกาสแล้ว ก็เสริมบุคลิคเจ้าของไปในตัวดูเรียบง่ายและดูดีขึ้น

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

ฝาใต้ตัวเครื่องยึดน็อต Trox เอาไว้ 9 ดอก ให้ฝาหลังติดเข้ากับตัวเครื่องได้แข็งแรง มีช่องนำลมเข้า 2 แถวอยู่แถบครึ่งบนถัดลงมาจากแถบยางกันลื่นเส้นบน ด้านล่างจะมีแถบยางกันลื่นคู่สั้นติดเอาไว้กันลื่นพร้อมยกเครื่องและกันรอยขนแมวไปในตัว แต่สังเกตว่ามุมล่างซ้ายขวาจะไม่มีช่องลำโพงแล้วเพราะถูกย้ายไปติดไว้ตรงช่องเหนือคีย์บอร์ดแล้ว


Screen & Speaker

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

หน้าจอขนาด 16 นิ้ว ความละเอียด 2K (2048*1280) พาเนล OLED มีอัตรา Refresh Rate 120Hz นอกจากมีขนาดใหญ่และกรอบหน้าจอบางเพิ่มพื้นที่แสดงผลให้กว้างขึ้นแล้ว ขอบบนจะหนาขึ้นเพื่อติดตั้งกล้องเว็บแคม, กล้องสแกนใบหน้ากับเซนเซอร์ ToF ไว้ และทำส่วนเหนือกล้องให้ยื่นออกมาเล็กน้อยให้เจ้าของเครื่องกางหน้าจอได้ง่าย นอกจากนี้ยังมี Privacy Shutter ไว้สไลด์ปิดกล้องได้เมื่อไม่ใช้งาน

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

พาเนล OLED ของ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 สามารถตั้งค่า Refresh Rate ได้เพียง 2 แบบ คือ 60Hz หรือ 120Hz ไม่มีโหมด Dynamic ให้ตัวเครื่องปรับค่าเองตามคอนเทนต์ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าบานหน้าจอมีองศาการแสดงผลกว้าง 178 องศาไม่แพ้พาเนล IPS แต่ปิดด้วยกระจกจึงมีเงาสะท้อนของชัดขึ้นมาบนหน้าจออย่างเลี่ยงไม่ได้

พาเนลรหัส LEN160 2K จากโรงงานของ Lenovo ปรับความสว่างได้สูงสุด 398.19 cd/m2 จึงเร่งแสงสู้แดดสะท้อนหน้าจอได้สบายๆ และปรับระดับความสว่างแค่ครึ่งเดียวก็มองเห็นภาพบนหน้าจอได้ชัดเจน ด้านขอบเขตสีหน้าจอจากการทดสอบด้วยโปรแกรม DisplayCal 3 กับเครื่อง Calibrite Display Pro HL จะได้ค่าขอบเขตสีจริงของหน้าจอ (Gamut coverage) ได้ 100% sRGB, 95.2% Adobe RGB, 99.5% DCI-P3 และขอบเขตสีองค์รวม (Gamut volume) ได้ 168.3% sRGB, 115.9% Adobe RGB, 119.2% DCI-P3 ค่าความเที่ยงตรงสี Delta-E เฉลี่ย 0.07~2.17 ถือว่าตรงตามการเคลมขอบเขตสีหน้าจอในเอกสารสเปคอย่างไม่มีผิดเพี้ยน ใช้เทียบพรู้ฟสีงานอาร์ตได้และเวลาปริ้นท์ภาพออกมาสีก็จะตรงตามบนจอนี้

จุดเด่นของจอ IdeaPad Slim 5 16AHP9 นอกจากเรื่องขอบเขตสีกว้างสวยงาม ยังดำสนิทไม่มีแสงลอดหรือติดขาวแม้แต่น้อย เวลาทำงานหรือใช้ดูหนังฟังเพลงก็ได้สีสันสวยงามหรือใช้ทำงานออฟฟิศก็ปรับความสว่างไว้ครึ่งเดียวก็มองเห็นชัดเจนแล้ว ถ้าเจอแสงแดดลอดหน้าต่างหรือสะท้อนเวลาพกไปทำงานพบลูกค้าก็เร่งความสว่างสู้ได้ ซึ่งขอบเขตสีระดับนี้เทียบชั้นโน๊ตบุ๊คครีเอเตอร์และกลุ่มพรีเมี่ยมได้แน่นอน

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

เสียงจากลำโพงคู่ กำลังขับดอกละ 2W ตรงขอบบนเหนือคีย์บอร์ดได้ Dolby Audio มาช่วยปรับแต่งให้รองรับ Dolby Atmos เวลาใช้งานเสียงจึงดังฟังชัด ถ้าเร่งเสียงดังสุดแล้วจะวัดได้ราว 83~85dB โทนเสียงใสฟังเพลงได้ทุกแนว แยกเสียงนักร้องกับเครื่องดนตรีได้ดีและเสียงเบสชัดเจนกว่าลำโพงโน๊ตบุ๊คทั่วไป จึงเปิดเพลงหรือดูหนังได้ดีเช่นกัน

จุดเด่นของลำโพงโน๊ตบุ๊คที่ได้การันตี Dolby Atmos นอกจากเสียงจะดังฟังชัดและฟังเพลงเพราะ จะได้เปรียบเวลาเปิดดูภาพยนตร์แล้ว ลำโพงจะจำลองเสียงให้มีมิติรอบตัวผู้ใช้เหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ จึงแยกแยะได้ว่าตัวละครในหนังยืนอยู่ฝั่งไหน สถานการณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไรและเจออะไรอยู่ แถมยังฟัง Podcast ได้ยินเสียงผู้จัดชัดเจนมาก


Keyboard & Touchpad

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

คีย์บอร์ด AccuType ขนาด Full size พร้อม Numpad ของ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบรวบปุ่มลูกศรเอาไว้ในกรอบ ไม่ยื่นหรือแยกออกไปเหมือนคีย์บอร์ดเกมมิ่งจึงทำให้ปุ่มขึ้นกับลงมีความสูงครึ่งเดียว ทุกปุ่มมีไฟ LED Backlit สีขาวแสงสว่างลอดตัวอักษรจึงให้พิมพ์งานในห้องไฟสลัวแสงน้อยได้ง่าย ปรับความสว่างโดยกด Fn+Spacebar ได้ 3 ระดับ

จุดสำคัญอย่างปุ่มฟังก์ชั่นก็มีทั้งแบบแยกเอกเทศอย่าง Multimedia key เหนือ Numpad สำหรับควบคุมโปรแกรมดูหนังหรือเล่นเพลงกับแบบซ้อนรวมอยู่กับปุ่มอื่นอย่าง Home / End / Page Up / Page Down ตรงปุ่มลูกศรสี่ด้าน สังเกตว่า Ctrl ขวาถูกเปลี่ยนเป็นปุ่ม Copilot เพื่อเรียก AI ของ Microsoft แล้ว ให้เข้ากับสมัยที่เน้น AI เข้ามาเป็นตัวช่วยเวลาทำงาน

ข้อดีของปุ่มแป้น AccuType สังเกตว่าจะต่างจากของโน๊ตบุ๊คทั่วไปซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส แต่ขอบล่างของแป้นนี้แต่ละปุ่มจะมีขอบโค้งยื่นออกมาเล็กน้อยรับนิ้วและช่วยลดโอกาสพิมพ์ผิดพลาด สัมผัสปุ่มตอนพิมพ์แน่นแข็งแรงและตอบสนองได้รวดเร็ว ไม่เจอปัญหาพิมพ์แล้วตัวอักษรตกหล่นเหมาะกับคนพิมพ์งานวันละหลายชั่วโมง

แม้ Lenovo จะไม่ติดสติกเกอร์บอกคีย์ลัด Fn+Q เพื่อปรับโหมดตัวเครื่องมาให้ แต่ยังกดใช้งานได้ตามปกติและจะขึ้นภาพบอกโหมดตรงส่วนล่างของหน้าจอ จากซ้ายจะเป็นโหมดทำงานอัตโนมัติ (Auto mode), โหมดประหยัดพลังงาน (Battery saver) และโหมดทำงานเต็มกำลัง (Performance mode)

จุดน่าสนใจ คือโหมดประหยัดพลังงานจะยังทำงานได้ค่อนข้างลื่นไหลไม่ช้าลงเหมือนบางแบรนด์ซึ่งเน้นการประหยัดพลังงานอย่างเดียวจนบางครั้งทำงานช้าลงจนเห็นได้ชัด ถ้าต้องประชุมหรือเลคเชอร์ต่อเนื่องนานหลายชั่วโมงจะใช้งานในโหมดนี้จนจบเลยก็ได้

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

ในบรรทัด F1~F12 ของ Lenovo มี Hotkeys ติดมาให้ใช้ตั้งค่าตัวเครื่องเร่งด่วนได้ ถ้าจะสลับกลับไปใช้ฟังก์ชั่นพื้นฐานก็กด Fn+Esc ได้ทันที และคำสั่งแต่ละปุ่มจะเน้นการทำงานเป็นหลักโดยแต่ละปุ่มจะเป็นดังนี้

  • F1~F3 – ปิด, ลด/เพิ่มเสียงลำโพง
  • F4 – ปิด/เปิดไมโครโฟน
  • F5~F6 – ลด/เพิ่มความสว่างหน้าจอ
  • F7 – ปุ่มตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
  • F8 – เปิดใช้ Airplane mode
  • F9 – เรียกหน้าต่าง Settings
  • F10 – ล็อคหน้าจอกลับหน้า Log in
  • F11 – เรียก Desktop และโปรแกรมที่เปิดไว้ทั้งหมด เหมือนการกด Win+Tab
  • F12 – เรียกเครื่องคิดเลข (Calculator)
  • Insert – ปุ่ม User define ใช้เรียกคำสั่งที่ตั้งค่าไว้ กด 2 ครั้งจะเรียกโปรแกรม Lenovo Vantage
  • Print Screen – เรียกโปรแกรม Snipping Tool

แป้นทัชแพดของ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 นอกจากมีขนาดใหญ่เสมอกับริมปุ่ม Alt ทั้งสองฝั่ง เวลา วางมือแล้วสันมือจึงพาดอยู่บนแป้นคีย์บอร์ดไปโดยปริยายและไม่มีปุ่มล็อคแป้นทัชแพดนี้ติดมาให้ ข้อดีคือนอกจากตอบสนองรวดเร็วดีและใช้ Touch gesture ของ Windows 11 ได้ แถมถ้าสไลด์นิ้วริมแป้นฝั่งซ้ายจะเพิ่มหรือลดความสว่างหน้าจอได้ ขณะที่ฝั่งขวาจะใช้ปรับระดับ Volume แทน

อิงจากคำสั่งลัดใหม่เพิ่มเข้ามาบนทัชแพดเป็นวิธีที่ดีช่วยให้ผู้ใช้ตั้งค่าตัวเครื่องได้สะดวกขึ้น แต่เฟิร์มแวร์ยังต้องปรับแต่งอีกให้ใช้งานได้ต่อเนื่องขึ้น เพราะเวลาใช้งานจริงสไลด์นิ้วแล้วยังไม่ตอบสนองบ้างหรือไม่ทำงานแล้วกลายเป็นเลื่อนเคอร์เซอร์เมาส์แทนก็มี หากปรับแต่งให้ทำงานได้ดีขึ้นก็อาจใช้แทนการกดเพิ่มลดแสงกับเสียงบนปุ่ม F2, F3, F5 และ F6 ได้และเสริมคีย์ลัดอื่นเข้ามาได้อีกมาก คาดหวังว่า Lenovo จะปรับแต่งฟังก์ชั่นนี้ให้ทำงานได้ดีขึ้นอีกสักนิดก็จะสมบูรณ์แบบ


Connector, Thin & Weight

พอร์ตและการเชื่อมต่อของ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 มีให้ใช้ครบเครื่องและจัดกลุ่มให้พอร์ตต่อหน้าจอและชาร์จไฟไว้ฝั่งซ้ายให้วางโน๊ตบุ๊คไว้ฝั่งขวาหน้าจอ อีกด้านจะให้เป็นพอร์ตต่อใช้งานแล้วถอดออกเป็นระยะๆ ซึ่งทั้งสองฝั่งจะเป็นดังนี้

  • ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – USB-C 3.2 Full Function, HDMI 1.4b, USB-C 3.2 Full Function, Audio combo
  • ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – MicroSD Card reader, USB-A 3.2 Gen 1*2
  • การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.1

ความหนาของตัวเครื่องหลังจากวัดด้วยเวอร์เนียคาลิปเปอร์จากส่วนหน้าเครื่องจะบางสุด 17.2 มม. และหลังเครื่องจะหนาสุด 18.3 มม. นับว่าค่อนข้างบางพกใส่กระเป๋าโน๊ตบุ๊คไปไหนมาไหนได้ง่าย ประหยัดพื้นที่ใส่อุปกรณ์ชิ้นอื่นและยังใส่ช่องโน๊ตบุ๊คของกระเป๋าเป้ได้แทบทุกใบ แต่แนะนำให้ใส่ซองโน๊ตบุ๊คเพิ่มอีกชั้นก็จะพกพาได้อุ่นใจยิ่งขึ้น

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

น้ำหนักบนหน้าสเปคเคลมว่า Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 หนัก 1.82 กก. มากกว่าบนตาชั่งที่บอกว่าหนัก 1.8 กก. อยู่เล็กน้อย ถ้ารวมอะแดปเตอร์อีก 178 กรัม จะมีน้ำหนัก 1.98 กก. นับว่าเครื่องเบาพกพาสะดวก แม้จะรวมอะแดปเตอร์ประจำตัวก็ยังพกพาได้ง่ายหรือจะต่อชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ GaN 65W แทนก็สะดวกไม่แพ้กัน


Inside & Upgrade

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

วิธีเปิดฝาอัปเกรดเครื่องเริ่มจากขันน็อต Trox ทั้ง 9 ดอกออก แล้วใช้การ์ดแข็งรูดตามกรอบแล้วดึงเปิดฝาได้ทันที แนะนำให้ไล่จากจุกยางกันลื่นด้านล่างฝั่งใดฝั่งหนึ่งจะเปิดได้ง่ายกว่า ภายในเครื่องบนเมนบอร์ดจะมีแผ่นกันไฟฟ้าสถิตย์สีดำปิดมาให้ แกะออกจะเห็นว่าชิ้นส่วนแทบทั้งหมดถูกบัดกรีติดเมนบอร์ดแทบทั้งหมดจึงเพิ่ม RAM ไม่ได้ ด้าน M.2 NVMe SSD ความจุ 512GB ก็เป็นขนาด M.2 2242 ซึ่งมีตัวเลือกในตลาดเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นจึงหารุ่นอัปเกรดได้ยาก สรุปได้ว่า Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 ไม่จำเป็นต้องเปิดฝาอัปเกรดดีกว่าแล้วเอาเงินไปซื้ออุปกรณ์เสริมอย่าง External Harddisk แทนจะดีสุด


Performance & Software

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

ชิปเซ็ต AMD Ryzen 7 8845HS แบบ 8 คอร์ 16 เธรด มีความเร็ว 3.8~5.1GHz เป็นสถาปัตยกรรม Zen 4 ผลิตโดยบริษัท TSMC มีรหัสพัฒนา Hawk Point เป็นรุ่นประสิทธิภาพสูงในซีรี่ส์ Ryzen 8000 Series ติดตั้ง AMD Ryzen AI NPU พลังประมวลผล 16 TOPS ถ้ารวมกำลังประมวลผลทั้งตัวชิปจะเพิ่มขึ้นสูงสุด 38 TOPS จึงรันโปรแกรมและส่วนเสริม AI ได้รวดเร็วพอควร ได้ผลลัพธ์ในเวลาสั้นๆ และรองรับชุดคำสั่งพื้นฐานสำหรับใช้งานกับโปรแกรมต่างๆ ครบถ้วน จึงใช้งานได้ดี

จีพียูภายในชิปเซ็ต (iGPU – Integrated Graphics Processing Unit) อย่าง AMD Radeon 780M จะมีคอร์ประมวลผล 12 แกน ความเร็ว 2,700MHz รองรับชุดคำสั่งหลากหลายทั้ง DirectX 12 API, OpenCL, OpenGL 4.6, DirectCompute, DirectML, Vulkan รวมถึง Ray Tracing และ Shaders units อีก 768 Unified ไว้ประมวลผลกราฟิค นอกจากใช้แสดงภาพขึ้นหน้าจอแล้ว ทาง AMD ก็ปรับแต่งให้จีพียูใช้เล่นเกมชั้นนำได้ทุกเกมและรองรับ AMD FSR Upscalling (FidelityFX Super Resolution) ช่วยเพิ่มเฟรมเรทให้ภาพลื่นไหลยิ่งขึ้น ซึ่ง AMD แนะนำให้เล่นบนหน้าจอความละเอียด 1080p ตั้งค่ากราฟิคไว้ระดับ Medium และใช้ AMD FSR จะทำให้เล่นเกมได้สนุกขึ้น ซึ่งปกติถ้าพูดถึงการเล่นกมหลายคนก็คิดว่าต้องมีจีพียูแยก (dGPU – Discrete Graphics Processing Unit) ถึงจะเล่นได้ แต่ถ้าเป็น AMD Ryzen 8000 Series สามารถเล่นได้แน่นอน

RAM ความจุ 16GB LPDDR5X บัส 6400MHz ของ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 ถูกฝังเอาไว้กับเมนบอร์ด จึงอัปเกรดเพิ่มความจุภายหลังไม่ได้แต่กลับกันจะทำงานได้รวดเร็วและประหยัดไฟกว่าแบบ SO-DIMM โดยชิปแรมในเครื่องมาจากโรงงาน Samsung ไว้ใจเรื่องคุณภาพได้แน่นอน

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

ชิ้นส่วนภายในเครื่องเมื่อเช็คผ่าน Device Manager จะมีกล้อง IR Camera ไว้สแกนใบหน้าติดตั้งมาให้ ผสานกับระบบ Windows Hello เพื่อรักษาความปลอดภัยและเป็นส่วนตัว เสริมด้วยชิปเซ็ตรักษาความปลอดภัยทั้ง AMD PSP 11.0, TPM 2.0 รวมถึง Microsoft Pluton ป้องกันการเจาะระบบเข้ามาขโมยข้อมูลภายในเครื่องได้อย่างรัดกุม

การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใช้การ์ด MediaTek RZ616 รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax มีแบนด์วิธกว้าง 160MHz ทำให้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วและเสถียร รองรับคลื่น 2.4GHz / 5GHz / 6GHz รวมถึง 7.125GHz ได้ รองรับ Bluetooth 5.1 ในตัว

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

M.2 NVMe SSD ความจุ 512GB จาก SK Hynix เป็น M.2 2242 เป็นขนาดพิเศษ ไม่ใช่ขนาดมาตรฐานอย่าง M.2 2280 ในโน๊ตบุ๊คหรือ M.2 2230 ใน Gaming handheld อินเทอร์เฟสเป็น PCIe 4.0×4 จากการทดสอบด้วย CrystalDiskMark 8 จะมีความเร็วดังนี้

ความเร็วRead (MB/s)Write (MB/s)
Sequential4,900.541,271.53
RND4K570.41365.37

ในฐานะโน๊ตบุ๊คทำงาน อาจนับว่า M.2 NVMe จาก SK Hynix ตัวนี้สามารถอ่านข้อมูลในไดร์ฟออกมาใช้งานได้เร็วพอควรทั้งแบบไฟล์ขนาดใหญ่ชิ้นเดียว (Sequential) หรือเป็นไฟล์ย่อยหลายไฟล์ (RND4K) ถือว่าเร็วพอควร แต่การเขียนข้อมูลกลับเข้าไดร์ฟอยู่ในระดับแค่พอใช้งานได้ ไม่เร็วมาก แต่ขนาดของไดร์ฟค่อนข้างพิเศษและมีตัวเลือกน้อย ถ้าอยากอัปเกรดก็มีแต่ Transcend MTE410S ให้เปลี่ยนเท่านั้น

กรณีเอาโน๊ตบุ๊คทำงานอย่าง Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 มาเล่นเกมก็ยังเล่นได้เช่นกัน แต่ AMD แนะนำว่าจีพียู Radeon 780M เหมาะกับหน้าจอความละเอียด 1080p เป็นหลัก ซึ่งคะแนนจาก 3DMark Time Spy จำลองการเล่นเกมชั้นนำบนหน้าจอ 1440p ก็ยืนยันด้วยคะแนนเฉลี่ย 3,263 คะแนน แยกเป็น CPU score 9,720 คะแนน กับ Graphics score 2,921 คะแนน ด้าน 3DMark Steel Nomad ที่จำลองการเล่นเกมบนหน้าจอ 2160p จะทำได้ 428 คะแนน เรนเดอร์ได้ 4.28 Fps เท่านั้น

สรุปง่ายๆ ว่า ซีพียู AMD Ryzen 7 8845HS มีคอร์ซีพียูกำลังประมวลผลสูง มีจีพียู AMD Radeon 780M ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงพอจะเล่นเกมชั้นนำในปัจจุบันได้ทุกเกมแน่นอน แต่ควรเล่นบนหน้าจอความละเอียด 1080p ปรับกราฟิคไว้ระดับ Medium และใช้ AMD FSR เสริม จะเล่นและทำเฟรมเรทได้เฉลี่ย 50~60 Fps ไม่เหมาะกับความละเอียดระดับ 1440p~2160p นัก

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

ถ้านำมาเล่นเกมชั้นนำในปัจจุบัน ปรับกราฟิคสูงสุดบนหน้าจอความละเอียด 2K ของ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 โดยไม่ลดลงมาเหลือ 1080p จะเห็นว่าเฟรมเรทของแต่ละเกมเวลาไม่เปิด AMD FSR เสริมเข้ามา AMD Radeon 780M จะทำเฟรมเรทได้เฉลี่ย 30 Fps และเฟรมเรทอาจลดลงเมื่อเจอฉากมีรายละเอียดแสงเงากับฝุ่นเยอะ

ถ้าใช้ AMD FSR แล้ว เฟรมเรทของหลายๆ เกมจะเพิ่มขึ้นร่วม 10 Fps ถ้าอิงกับกราฟเกม Black Myth: Wukong จะเห็นว่าการปรับกราฟิคภายในเกมร่วมกับเทคโนโลยี Upscalling จะช่วยให้ Radeon 780M ทำเฟรมเรทได้สูงขึ้นพอควร สังเกตว่าเฟรมเรทเฉลี่ยเมื่อตั้งกราฟิคไว้ Medium เสริมด้วย AMD FSR และ Frame Generation จะทำเฟรมเรทได้เฉลี่ย 50 Fps แม้จะเป็นหน้าจอ 2K ก็ช่วยได้มาก

สรุปแล้ว AMD Ryzen 7 8845HS กับจีพียู AMD Radeon 780M สามารถเล่นเกมชั้นนำในปัจจุบันได้แน่นอน แต่มีเงื่อนไขว่าควรลดความละเอียดหน้าจอเหลือ 1080p ตั้งค่ากราฟิคไว้ Medium และใช้ AMD FSR จะใช้เล่นเกมชั้นนำฆ่าเวลาได้แน่นอน ส่วนเกมออนไลน์ในปัจจุบันก็เล่นได้สบายมาก

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

งานถนัดของ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 อย่างการทำงานออฟฟิศจากการทดสอบด้วย PCMark 10 จะทำคะแนนเฉลี่ยได้ 7,132 คะแนน เทียบกับบรรดาโน๊ตบุ๊คทำงานไม่มีการ์ดจอแยกหลายๆ รุ่นในตอนนี้ที่ทำคะแนนได้ราว 5,500~6,700 คะแนนแล้ว ถือว่าเครื่องนี้ทำคะแนนได้ยอดเยี่ยม ถ้าดูคะแนนแยกย่อยในแต่ละหมวดจะเห็นว่าการใช้ทำงานออฟฟิศพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเปิดเบราเซอร์, ประชุมงานผ่านอินเทอร์เน็ต, ทำงานเอกสารและแก้เอกสารไฟล์ Word หรือ Excel ก็ทำได้รวดเร็ว และตัดต่อภาพกับวิดีโอได้ดีไม่แพ้กัน

ด้านการทดสอบเรนเดอร์กราฟิค 3D กับโปรแกรม CINEBENCH เวอร์ชั่น R23, R20 ซึ่งใช้กับจีพียูภายในชิปได้ สังเกตว่า AMD Ryzen 7 8845HS จะทำคะแนนการทดสอบ CPU (Multi Core) ได้โดดเด่นมาก ด้านการประมวลผลคอร์เดี่ยวก็ทำได้ดีเทียบชั้นแบรนด์คู่แข่งได้แน่นอน ซึ่งคะแนนของแต่ละเวอร์ชั่นเป็นดังนี้

  • R23 – ใช้ทดสอบพลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก มีความละเอียดและแม่นยำสูง ได้คะแนน Multi Core 14,809 pts และ Single Core อีก 1,670 pts
  • R20 – ใช้ทดสอบกำลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก ได้คะแนน CPU 6,166 pts

งานจำลองปั้นโมเดล 3D ด้วย Blender Benchmark โดบจำลองการปั้นโมเดล 3 แบบ ภายใน 1 นาที ว่าซีพียูกับจีพียูสามารถเรนเดอร์จนเสร็จเป็นรูปร่างได้กี่ Sample ยิ่งทำได้มากยิ่งดี โดยได้ผลลัพธ์ดังนี้

โมเดลทดสอบ/ปริมาณ Sample
(ยิ่งมากยิ่งดี)
CPU
(AMD Ryzen 7 8845HS)
GPU
(AMD Radeon 780M)
monster86139
junkshop6048
classroom4470

หากอิงจากผลคะแนนของ CINEBENCH กับ Blender Benchmark นับได้ว่า Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 ก็ใช้ทำงานกราฟิคได้ดีพอควร ไม่ว่าจะแต่งภาพใน Adobe Lightroom, Photoshop แล้วเอาไปใช้งานก็ประมวลผลได้รวดเร็ว ตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงใช้ในยามจำเป็นหรือตัดเป็นคลิปสั้นลงโซเชียลเน็ตเวิร์คก็ทำได้ดี จีพียู Radeon 780M มีประสิทธิภาพสูงไล่เลี่ยกับการ์ดจอแยกระดับกลางราว 3-5 ปีก่อนแล้ว แต่ไม่ต้องเพิ่มชุดระบายความร้อนหรือดีไซน์เมนบอร์ดใหม่จึงได้เปรียบพอควร

IdeaPad Slim 5 จึงเหมาะกับกลุ่มคนทำงานเอกสารเป็นหลัก ไม่ว่าจะนักศึกษาจบใหม่หรือพนักงานธุรการและบัญชีที่ต้องการโน๊ตบุ๊คเอาไว้รบกับไฟล์ Microsoft Excel ผูกสูตรคำนวณซับซ้อนได้ดี ได้ผลลัพธ์ภายในเวลาสั้นๆ และยังเอาไว้ตัดต่อคลิปสั้นต่างๆ ขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ด้วย

การทดสอบกับโปรแกรม Geeekbench ในแต่ละเวอร์ชั่นว่า Lenovo IdeaPad Slim 5 ทำงานได้ดีระดับใด ซึ่งในส่วนแรกจะทดสอบกับคอร์ซีพียู AMD Ryzen 7 8845HS ก่อน โดยได้ผลลัพธ์ดังนี้

  • Geekbench 6 – ใช้ทดสอบว่าซีพียูสามารถประสานงานกับหน่วยความจำในเครื่องได้ดีหรือไม่ โดยจำลอง workloads งานประเภทการบีบอัดข้อมูล (data compression), การประมวลผลภาพ (image processing), Machine Learning และ Compile code มาทดสอบ
    • Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบว่าซีพียูคำนวน vector integer ได้รวดเร็วหรือไม่ ถ้าเป็น Single-Core ทำได้ 2,501 คะแนน และ Multi-Core ได้ 11,656 คะแนน
  • Geekbench AI – คำนวณว่าซีพียูนั้นสามารถรันการทำงานกับโปรแกรม AI ต่างๆ ได้แม่นยำหรือรวดเร็วหรือไม่ แบ่งเป็น Single Precision เน้นความเที่ยงตรงของคำสั่ง, Half precision เน้นความเร็วมากขึ้นและลดความแม่นยำลง และ Quantized Score เน้นความเร็วแต่ไม่แม่นยำนัก
    • ONNX ได้คะแนน Single Precision 3,131 คะแนน, Half precision 865 คะแนน และ Quantized Score 4,269 คะแนน

ด้านจีพียู AMD Radeon 780M หากทดสอบกับ Geekbench ทั้งสองเวอร์ชั่นจะได้ผลลัพธ์ดังนี้

  • Geekbench 6 ทดสอบด้วย Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบว่าคำนวน vector integer ได้รวดเร็วหรือไม่ ซึ่งจีพียูทดสอบด้วย OpenCL framework ทำได้ 30,604 คะแนน
  • Geekbench AI ทดสอบด้วย ONNX DirectML – Single Precision 7,842 คะแนน, Half precision 10,285 คะแนน และ Quantized Score 5,669 คะแนน

อาจสรุปได้ว่าซีพียู AMD Ryzen 7 8845HS พร้อมจีพียู AMD Radeon 780M นอกจากใช้งานทั่วไปได้ดีแล้ว ก็ยังรันโปรแกรมและส่วนเสริม AI ได้รวดเร็วพอควร สังเกตว่าคะแนน Single Precision เน้นความเที่ยงตรงของผลลัพธ์ก็ทำได้ดีพอควร ถ้าใครใช้ AI เป็นประจำก็ทำงานได้รวดเร็วแน่นอน

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

ในหน้าโปรแกรม Lenovo Vantage สำหรับตั้งค่าและอัปเดตเฟิร์มแวร์ต่างๆ ให้ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 นอกจากจะปรับแต่ง UI ใหม่ให้เป็นสัดส่วนดูสะอาดเรียบร้อยแล้ว ยังเพิ่มฟังก์ชั่นตั้งค่าเข้ามาเพื่อโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะ Device Settings สำหรับเปิดใช้ Gesture สำหรับสไลด์ขอบแป้นได้, ตั้งความสว่างไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ด, โทนเสียงของลำโพงว่ากำลังใช้งานกับโหมดใดอยู่ ฯลฯ ถือว่าหน้าซอฟท์แวร์เวอร์ชั่นนี้ปรับแต่งมาได้ดีมาก ใช้งานสะดวกขึ้นกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัด


Battery & Heat & Noise

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 มีรูปร่างแตกต่างจากของโน๊ตบุ๊คทั่วไป ดีไซน์เป็นตัว L นอน ผลิตจากโรงงาน Simplo Technology (Chong Qing) วัดความจุแบบ Typical Capacity ได้ 57Whr (5,040mAh) และ Rated Capacity 4,940mAh ถ้าเทียบขนาด, ความจุและรูปทรงแล้ว คาดหวังให้ทาง Lenovo ให้ความจุมามากกว่านี้เป็น 65~75Whr จะได้ใช้งานได้นานขึ้น

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

จากการทดสอบระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่โดยติดตั้ง AMD Chipset Drivers ให้เรียบร้อยแล้วลดความสว่างเหลือ 50% เปิดเสียงลำโพง 10% ตั้งค่าใน Lenovo Vantage กับ Windows 11 ให้เป็น Battery saver แล้วดูคลิปใน YouTube นาน 30 นาทีด้วย Microsoft Edge จะเห็นว่าโปรแกรม BatteryMon ขึ้นว่าใช้งานได้นาน 8 ชม. แต่เป็นระยะเพิ่งเปลี่ยนใน 1 นาทีสุดท้าย ซึ่งก่อนหน้านี้โปรแกรมโชว์ว่า Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 สามารถใช้งานได้นานสุด 9 ชม. 32 นาที มาร่วม 15 นาที จึงนับว่าโน๊ตบุ๊คนี้สามารถใช้งานได้นานร่วม 10 ชม. และถ้าปิดเสียงลำโพงด้วยจะยิ่งใช้ได้นานขึ้น

กรณีใช้งานจริงก็ประหยัดไฟไม่แพ้กับการทดสอบ จากการใช้งานจริงโดยปิดเสียงลำโพงและตั้งความสว่างหน้าจอไว้ 50% ก็สามารถใช้งานได้จบวันและเหลือแบตเตอรี่เผื่อเอาไว้ใช้งานในยามจำเป็นด้วย นับว่าระบบการจัดการพลังงานของชิปเซ็ต AMD Ryzen 7 8845HS นั้นดีมาก ทั้งทำงานออฟฟิศทั่วไปได้สบายๆ ไม่ว่าจะงานตัดต่อกราฟิคและคลิปสั้นก็ได้ พกไปพบลูกค้าหรือเข้าห้องประชุมงานนานหลายชั่วโมงก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่จำเป็นต้องติดตั้ง AMD Chipset Drivers ด้วย เพราะตอนทดสอบแบบไม่ติดตั้งไดรเวอร์ตัวนี้ระยะเวลาใช้งานจะสั้นลงราว 2 ชม. ทีเดียว

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

นอกจากแบตเตอรี่ ชุดระบายความร้อนฮีตไปป์และพัดลมโบลวเวอร์คู่ก็จัดการอุณหภูมิได้ดี ระบายความร้อนได้รวดเร็วจนไม่เจอปัญหา Throttle down เพราะอุณหภูมิสูงแตะ Tjmax 100 องศาเซลเซียสเลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยอุณหภูมิของชิ้นส่วนภายในแต่ละชิ้นเมื่อเช็คผ่าน CPUID HWMonitor จะเป็นดังนี้

ชิ้นส่วน/อุณหภูมิอุณหภูมิต่ำสุด (เซลเซียส)อุณหภูมิสูงสุด (เซลเซียส)
Motherboard4093
CPU40.494
M.2 NVMe SSD3642

ในเวลาใช้งานจริง อุณหภูมิแม้จะเปิดเล่นเกมอยู่ก็ยังวิ่งไล่เลี่ยอยู่ช่วง 85~92 องศาเซลเซียสเป็นระยะๆ กลับกันถ้าทำงานกับโปรแกรม Microsoft Office Home & Student 2021 ก็แทบไม่เจอปัญหาความร้อนเลย ส่วนอุณหภูมิพื้นผิวตอนทำงานเต็มกำลังพอวัดด้วยเลเซอร์ตรวจอุณหภูมิจะเห็นว่าบริเวณปุ่ม WASD จะร้อนสุดราว 42 องศา ไล่เลี่ยกับส่วนเหนือคีย์บอร์ด 40 องศาเซลเซียส แม้บางคนจะเริ่มกังวลแต่เวลาใช้งานจริงแทบไม่มีโอกาสเจออุณหภูมิระดับนี้อย่างแน่นอน จึงวางมือพิมพ์งานได้ตามปกติ

DSC05967

เสียงตัวเครื่องเวลาสแตนด์บายรอใช้งานจะอยู่ช่วง 48-49dB เบาเท่าเสียงสภาพแวดล้อมตามปกติ พอใช้โปรแกรมทดสอบบังคับเครื่องให้รันเต็มกำลังแล้วจะวัดเสียงจากด้านหน้าได้ราว 52dB ด้านหลัง 53dB เทียบความดังแล้วอยู่ระดับเดียวกับเสียงฝนตกหรือเสียงพูดคุยของมนุษย์ตามปกติเท่านั้น ดังนั้นเวลาใช้งานในพื้นที่สาธารณะอย่าง Co-working space หรือในออฟฟิศก็ไม่รบกวนโสตประสาทของผู้อื่นแน่นอน


User Experience

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

การจะลงทุนซื้อโน๊ตบุ๊คทำงานราคาสามหมื่นบาทอย่าง Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 มาใช้สักเครื่อง เชื่อว่าใครหลายคนก็คงจะคิดและหวังจะให้มันทำอะไรได้หลายอย่างสมเงินที่จ่ายไป ซึ่งจากที่ทดลองใช้มันทำงานมาก็นับว่า IdeaPad Slim 5 ตัวนี้ก็สมค่าตัว 31,990 บาทอยู่ ไม่ว่าจะซีพียู AMD Ryzen 7 8845HS ซึ่งมี NPU ในตัว รวมพลังประมวลผล 38 TOPS ซึ่งตอนทดลองใช้งานสั่ง AI ให้ทำงานต่างๆ ก็ได้ผลลัพธ์ค่อนข้างเร็วทันใจและเที่ยงตรงตามความต้องการพอควร ไม่ว่าจะเติมหรือแก้รายละเอียดรวมถึงวาดภาพขึ้นมาใช้ก็ตอบสนองได้เร็วทันใจ ถ้าใช้ทำงานออฟฟิศทั่วไปยิ่งไม่ต้องกังวล เพราะกำลังประมวลผลของตัวชิปเซ็ตจัดว่าดีมาก นอกจากจัดการงานต่างๆ เสร็จเร็วแล้วยังไม่เจออาการค้างหรือช้าแม้แต่น้อย

ส่วนแบตเตอรี่ความจุ 57Whr ในตอนแรกก็กังขาเหมือนกันว่าความจุเท่านี้คงจะใช้งานได้ไม่นาน เพราะโน๊ตบุ๊คทำงานในระดับราคาสามหมื่นบาทขึ้นไปหลายรุ่นเพิ่มความจุไปยืนพื้นช่วง 65~75Whr กันแล้ว แต่กลายเป็นว่า IdeaPad Slim 5 กลับใช้งานได้ทั้งวันไม่ได้เป็นแค่สิงห์สนามซ้อมอย่างที่คิด โดยตอนใช้งานจะลดความสว่างหน้าจอเหลือ 50% และติดตั้ง AMD Chipset Drivers ให้เรียบร้อยและไม่เปิดเสียงลำโพงเพราะนำไปใช้งานในสถานที่สาธารณะไม่ให้รบกวนผู้อื่น และเลือกใช้โหมดอัตโนมัติให้เครื่องจัดการภายในเอง ในส่วนนี้ต้องยกความดีให้ AMD Ryzen 7 8845HS ที่จัดการพลังงานได้ดีมากจนไม่ได้หยิบพาวเวอร์แบงค์กับอะแดปเตอร์ GaN 65W ออกมาใช้งานเลย ดังนั้นถ้าใครต้องพกคอมไปพบลูกค้าหรือใช้ประชุมงานทั้งวันก็สบายมาก

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

การมีเซนเซอร์สแกนใบหน้าพร้อมชิปรักษาความปลอดภัยแน่นหนาทั้ง TPM 2.0 และ Microsoft Pluton นอกจากปลอดภัยก็ได้ความเป็นส่วนตัวดี เวลานั่งทำงานในออฟฟิศก็ไม่ต้องห่วงใครจะแอบใช้คอมของเราหรือมาดูหน้าจอเวลาทำงาน แถมถ้าใครพกคอมไปนั่งทำงานตามร้านกาแฟบ่อยๆ เซนเซอร์ตัวนี้ก็ช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้นมาก พอล็อคหน้าจอแล้วเดินไปเข้าห้องน้ำหรือหยิบกาแฟก็สบายใจและกลับมานั่งหน้าเครื่องก็สแกนปลดล็อคได้แทบจะในทันที ถ้าใครได้ใช้ฟีเจอร์เหล่านี้จนติดใจเมื่อไหร่รับรองว่าเครื่องต่อๆ ไปคงจะไม่ยอมนั่งพิมพ์รหัสผ่านให้เสียเวลาแน่นอน

แต่ถึงจะมีข้อดีหลายอย่างเหมาะกับผู้ใช้หลายกลุ่มก็จริง แต่ Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 ไม่เหมาะกับกลุ่ม Power user นัก เพราะอัปเกรด RAM ไม่ได้และติดตั้ง M.2 NVMe SSD ขนาด M.2 2242 ซึ่งมีตัวเลือกจำกัดไม่กี่รุ่นเท่านั้น แนะนำว่าเอาเงินค่าอัปเกรดไปซื้อ External Harddisk หัว USB-C มาต่อใช้งานแทนจะง่ายกว่า ส่วน Gesture control ใหม่ริมแป้นทัชแพดสำหรับสไลด์เพิ่มลดแสงและเสียงถือเป็นลูกเล่นที่ดีแต่ยังต้องปรับแต่งเฟิร์มแวร์ให้ทำงานได้เสถียรและตอบสนองทุกครั้งเวลาผู้ใช้สไลด์นิ้วใช้งานจะดีมาก อาจทำเป็นสวิตช์หรือคีย์ลัดปิดเปิดการทำงานฟังก์ชั่นนี้เสริมเข้าไปก็เป็นวิธีที่ดีเช่นกัน ถ้าทางบริษัทปรับแต่งเฟิร์มแวร์หรือ BIOS ให้ฟีเจอร์นี้ทำงานได้เสถียรก็จะดีมาก


Conclusion & Award

Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9

ในบรรดาโน๊ตบุ๊คทำงานระดับพรีเมี่ยมในปัจจุบัน Lenovo IdeaPad Slim 5 16AHP9 นับว่าน่าลงทุนซื้อมาใช้ทำงานมาก ไม่ว่าจะได้ซีพียู AMD Ryzen 8000 Series พร้อม NPU ทำให้ประมวลผล AI ได้รวดเร็ว เหมาะกับยุคนี้ที่ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทช่วยงานใครหลายๆ คนมากขึ้น หรือถ้าไม่ได้ใช้ก็ยังช่วยจัดการ Workloads เบื้องหลังของระบบปฏิบัติการ Windows 11 ให้ทำงานได้ดีขึ้น ประหยัดพลังงานและถ้าดูองค์ประกอบโดยรวมเทียบกับราคาแล้วก็เกินค่าตัว 31,990 บาทไปพอควร เป็นโน๊ตบุ๊คทำงานระดับพรีเมี่ยมที่ไม่ควรมองข้ามอีกรุ่นหนึ่งเลย

Award

award new performance

Best Performance

ชิปเซ็ต AMD Ryzen 7 8845HS สามารถทำงานได้ดีรอบด้าน ไม่ว่าจะทำงานออฟฟิศ, รัน AI หรือแม้แต่เล่นเกมชั้นนำก็ทำได้ดี ไม่มีอาการหน่วงหรือช้าให้เห็นแม้แต่น้อย ให้ประสบการณ์ใช้งานน่าประทับใจมาก

NBS award Features

Best Features

ฟีเจอร์และลูกเล่นของ IdeaPad Slim 5 16AHP9 นั้นมีให้ใช้เยอะมากจนเกือบเทียบโน๊ตบุ๊คพรีเมี่ยมราคาแพงกว่านี้ได้ ไม่ว่าจะได้หน้าจอ OLED ขอบเขตสีกว้างและแม่นยำ, USB-C Full Function คู่, ทัชแพดสไลด์เพิ่มลดแสงและเสียงได้ ฯลฯ นับว่าครบเครื่องมาก


Gallery

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

CONTENT

5 โน๊ตบุ๊ค AMD ดูหนัง เล่นเกม ทำงานจอใหญ่ การ์ดจอแยก แบตอึดน่าใช้ในงบ 25000 5 โน๊ตบุ๊ค AMD จอใหญ่ การ์ดจอแยกไม่เกิน 25000 สำหรับคอเกมในช่วงปลายปีแบบนี้ มีตัวเลือกค่อนข้างเยอะทีเดียว แต่สำหรับคนที่ต้องการคุมงบให้อยู่ในระดับ 20000-25000 บาทนี้ ถ้ายังไม่มีไอเดียหรือตัวเลือกที่อยู่ในใจ วันนี้เรานำมาเป็นแนวทางให้เลือก 5 รุ่นด้วยกัน...

รีวิว MSI

MSI Prestige 13 AI+ EVO A2VMG ในบอดี้สุดบาง น้ำหนักสุดเบา มี Intel Core Ultra 200V ให้ทำงานใหญ่เล็กได้อย่างยอดเยี่ยม! การลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ทำงานให้มีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าอย่างไรก็คุ้มค่า ยิ่งเป็นยุคของ AI แล้ว จะซื้อโน๊ตบุ๊คใหม่อย่าง MSI Prestige 13 AI+...

รีวิว MSI

MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ในบอดี้เรียบหรูมีพลังของ AMD Ryzen AI ซ่อนอยู่ แรงทรงพลังลุยได้ทุกงาน! ถ้าได้ใช้ของดีมีคุณภาพสักครั้ง ก็จะไม่อยากลดระดับลงไปใช้ของรองลงไปง่ายๆ เพราะได้รับรู้แล้วว่าสิ่งที่ดีเป็นอย่างไร อย่าง MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของคำพูดนี้และทางบริษัทก็ยังใส่ใจคุณภาพงานประกอบและรูปลักษณ์ภายนอกให้สวยงามไม่แพ้รุ่นก่อน ทั้งบอดี้อลูมิเนียมสีเงินและโลโก้อลูมิเนียมแสนเรียบง่ายแต่ดึงดูดสายตา แม้ไม่หวือหวาแต่ก็ดูได้ไม่เบื่อ ลงรายละเอียดในแต่ละส่วนเอาไว้ได้พอเหมาะพอดีและสอดลูกเล่นเก่าผสมใหม่มาได้พอเหมาะพอดี...

CONTENT

ปัจจุบัน โน้ตบุ๊กกลุ่มที่เน้นดีไซน์บางเบามักจะมาพร้อมจุดเด่นคือแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการเลือกใช้ชิปประมวลผลรุ่นประหยัดพลังงาน และอาจมีหน้าจอขนาดเล็กลงมาหน่อย เพื่อให้มีอัตราการกินไฟที่ลดลงเล็กน้อย แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นชิป AMD Ryzen AI 9 HX 370 ที่เป็นชิปสมรรถนะสูง แต่ก็มีค่า TDP ที่ทำได้ต่ำกว่าชิปรุ่นก่อน ทำให้ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในบทความนี้เราจะมาลองว่าใน 1 วัน ผมจะสามารถใช้งาน ASUS...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก