ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านยังคิดกับคำว่าซีพียู AMD นี่มันร้อน มันมีปัญหา จนทำให้ผู้ใช้รุ่นใหม่สับสนว่ามันร้อนจริงเหรอ
เท้าความกันก่อน
เรื่องซีพียู AMD ร้อนมากนั้น มันมาจากซีพียู AMD ในรุ่น AMD Barton ของฝั่ง PC หรือในโน๊ตบุ๊คก็พวกรุ่น Turion รุ่นเก่า ๆ สัก 4-5 ปีที่แล้วเลย ด้วยการดัดแปลงมาให้มีประสิทธิภาพสูง จึงมีการแผ่ความร้อนออกมามาก ทำให้ถ้าระบบระบายความร้อนไม่ดีก็อาจจะถึงขั้นดับ หรือถ้าเป็นโน๊ตบุ๊คก็ถึงขั้นบอร์ดพังได้เลยทีเดียว
แต่ก็เป็นปัญหาที่เก่ามากแล้ว
ปัญหานี้เกิดขึ้นมา 4-5 ปีได้แล้ว ในปัจจุบันเมื่อ AMD ทราบปัญหา ก็ได้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาเรื่อยมา จนในปัจจุบันซีพียู AMD ก็สามารถจัดการเรื่องความร้อนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็น AMD Athlon II, AMD Phenom II หรือแม้กระทั่งซีพียูรุ่นใหม่ที่เน้นประหยัดพลังงานอย่าง AMD Fusion เองก็มีอุณหภูมิที่ต่ำมาก ไม่ว่าจะใช้งานเบา ๆ จนไปถึงใช้งานหนัก ๆ แบบ 24 ชั่วโมง 7 วันก็ไม่มีปัญหาแล้ว
เทียบกับคู่แข่ง
ยอมรับเลยนะครับว่า เมื่อก่อน AMD หากเทียบกับคู่แข่งแล้วอาจจะร้อนกว่ามาก แต่ในซีรีส์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น AMD Fusion, AMD Athlon II, AMD Phenom II ก็ล้วนแต่มีอุณหภูมิที่ไม่ต่างกันมาก หรือบางรุ่นอาจจะเย็นกว่าคู่แข่งเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นลืมไปได้เลยว่า AMD นั้นร้อนจนไม่น่าใช้งาน
ว่าแล้วก็มาชมผลทดสอบกันเลย
- ภาพผลทดสอบนี้นำมาจากรีวิวของ NBS ที่เทสต์ให้เห็นจากการใช้งานจริง
- โดยได้นำอุณหภูมิ Full Load มาให้ชมกันถึงขีดสุดของการทดสอบ
- โดยทีมงานได้ขุดผลทดสอบจากรีวิวเก่า ๆ มาให้ทุกท่านชมด้วยว่า AMD ก็ไม่ได้ร้อนมานานแล้ว
- อุณหภูมิการทดสอบอาจจะต่างไปตามแต่ละช่วงเวลา แต่ทดสอบในช่วงเวลากลางวันปรกติอุณหภูมิห้อง
AMD Turion II (MSI GX630)
เริ่มด้วยอดีตซีพียู AMD ตัวฮิตในอดีต (เมื่อสัก 1-2 ปีที่แล้ว) อุณหภูมิที่ออกมาอาจจะดูว่าสูงบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงกับน่าตกใจอะไร เพราะมากับการ์ดจอแยกที่มีประสิทธิภาพสูง (ในสมัยนั้น) สำหรัผมถือว่าด้วยสเปกเครื่องระดับนี้ อุณหภูมิประมาณนี้ถือว่าไม่ร้อนมากนะครับ ลองถามผู้ที่เคยใช้รุ่นนี้ดูก็ได้
AMD Athlon Neo MV (Lenovo ThinkPad x100e)
มาถึงรุ่นซึ่งเป็นรุ่นเล็กประหยัดพลังงานที่ยังมีขายมาจนถึงทุกวันนี้ อาจจะดูสูงบ้าง แต่ก็เป็นปรกติของเครื่องขนาดเล็ก ไม่ได้ร้อนอย่างที่หลาย ๆ ท่านกังวลแต่อย่างใด
AMD Athlon II (Fujitsu Lifebook LH520)
มาถึงซีพียูรุ่นสุดคุ้มที่ยังจำหน่ายในปัจจุบันอย่าง Athlon II ถ้าใครอ่านรีวิวจาก NBS บ่าย ๆ คงจะสังเกตได้เลยนะครับว่า อุณหภูมิของซีพียูไม่ว่าจะของ AMD หรืออีกค่าย อุณหภูมิก็ออกมาประมาณนี้ ไม่ได้ร้อนเกินไปเลย
AMD Phenom II X3 (Acer Aspire 4551G)
มาถึงซีรีส์ที่เป็นหัวหอกของกลุ่มโน๊ตบุ๊คทรงประสิทธิภาพอย่าง AMD Phenom II ที่มาพร้อมจำนวน 3 Core แต่ความร้อนก็ไม่ได้สูงเกินไปในระดับ 82 องศา แถมยังเป็นการ์ดจอแยกด้วย ถ้าวัดกันที่ซีพียูจริง ๆ ผมว่าอุณหภูมิคงอยู่แค่ระดับ 70 องศาเท่านั้น
AMD Fusion (Sony VAIO YB)
และแล้วก็มาถึงแพลตฟอร์มใหม่ที่เน้นในเรื่องการประหยัดพลังงานอย่าง AMD Fusion ซึ่งได้ยกเครื่องการออกแบบใหม่หมด พร้อมกับการใส่ GPU เข้าไปในซีพียูด้วย แต่อุณหภูมิที่ออกมาก็ไม่ได้สูงเลยแค่ 69 องศาเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงเรื่องของอุณหภูมิที่ AMD ให้ความใส่ใจในการออกแบบซีพียูเป็นอย่างยิ่ง
กราฟสรุปผล
สเปกเครื่องที่เรานำมาเปรียบเทียบโดยเน้นรุ่นที่ประสิทธิภาพซีพียูใกล้เคียงกัน โดยวัดจากอุณหภูมิ Full Load สูงสุด
โดยอุณหภูมิที่ยอมรับได้ไม่ควรจะเกิน 90 องศา ซึ่งจะเห็นได้ว่า Intel นั้นมีเกินระดับถึง 2 ตัว ขณะที่ AMD บางรุ่นอุณหภูมิแม้จะสูงกว่า Intel แต่ก็ไม่ได้สูงเกินไปกว่า 90 องศาเลย
?
สาเหตุที่ AMD มีอุณหภูมิดีขึ้น
ด้วยที่ AMD ตระหนักถึงปัญหา จนทำให้ user หลาย ๆ ท่านย้ายค่ายไป จึงได้คิดใหม่ทำใหม่แทนที่จะมาวัดกันที่ความเร็วซีพียูเท่านั้น ก็มาวัดกันที่ประสิทธิภาพโดยรวมเป็นหลัก เน้นซีพียูที่มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับสูง แต่ก็ต้องแผ่ความร้อนออกมาน้อย ดังจะเห็นได้จากผลทดสอบที่ออกมาว่า ซีพียู AMD ในปัจจุบันมีอุณหภูมิที่ดี ไม่ได้ร้อนเหมือนสมัยเก่าก่อนอีกแล้ว อยากให้ทุกท่านเปลี่ยนความคิดเดิม ๆ และมั่นใจมากขึ้นว่าโน๊ตบุ๊คปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นค่ายไหน ก็ล้วนคำนึงถึงอุณหภูมิการระบายความร้อนเป็นสิ่งสำคัญ จึงสามารถสบายใจได้ครับ