Avita Liber V1 โน๊ตบุ๊คแบรนด์ทางเลือก สเปคน่าสนใจ ทำงานก็ลื่นเล่นเกมก็ไหว
แบรนด์ Avita นั้นอาจจะไม่คุ้นหูคนไทยมากนัก แต่จริง ๆ แล้วโน๊ตบุ๊คแบรนด์อเมริกาที่ก่อตั้งตั้งในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว และ Avita Liber V1 และ V2 รุ่นใหม่นั้น ปัจจุบันถูกนำเข้ามาขายในประเทศไทยผ่านทางเว็บไซต์ของ JD Central มีศูนย์บริการของ vServePlus คอยดูแลเรื่องบริการหลังการขายด้วย จึงมั่นใจได้ว่าถ้าซื้อไปใช้งานแล้วจะไม่ถูกปล่อยให้กลุ้มว่าถ้าเครื่องเสียจะต้องเข้ารับบริการซ่อมแซมดูแลหลังการขายที่ไหนได้บ้าง ยิ่งถ้าอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็สามารถเอาเข้าศูนย์บริการพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า สาขาประตูน้ำ (หรือ AEC Trade Center ใหม่) ได้อีกด้วย
สเปคของ Avita Liber นั้นจะแบ่งออกเป็น V1 คือสเปคเริ่มต้นราคาไม่แพง ได้แรม 8GB หรือถ้าต้องการแรมเยอะหน่อยก็มีตัวเลือกเป็น V2 แรม 16GB ที่ราคาต่างกันเพียง 2,000 บาท เมื่อจับคู่กับซีพียูรหัส AMD Ryzen 5 4500U ก็สามารถทำงานและเรียนได้สบาย ๆ แล้วยังเล่นเกมออนไลน์ได้ นอกจากนี้งานประกอบก็ทำออกมาได้แข็งแรงด้วยตัวเครื่องพลาสติกผสมกับฝาหลังและที่วางข้อมืออลูมิเนียมนั่นเอง
สเปคราคาโดยละเอียด
- RAM 8GB ราคา 17,900 บาท : https://bit.ly/33yUDyQ
- RAM 16GB ราคา 19,900 บาท : https://bit.ly/3tEX7Xq
สำหรับคนที่เป็นห่วงเรื่องแบตเตอรี่เพราะถ้าใช้ซีพียู AMD แล้ว ระยะเวลาใช้งานจะสั้นกว่าซีพียู Intel รหัสประหยัดพลังงานไปหลายชั่วโมง แต่ Avita Liber V1 เครื่องที่ได้รับมารีวิวในครั้งนี้เมื่อทดสอบตามรูปแบบการทดสอบของ Notebookspec แล้วสามารถใช้งานได้นานร่วม 6-7 ชั่วโมง และพอร์ต USB-C ที่ติดตั้งมากับเครื่องก็ชาร์จแบตเตอรี่ได้ตามมาตรฐาน USB Power Delivery อีกด้วย ดังนั้นเราจึงสามารถใช้อะแดปเตอร์ของสมาร์ทโฟนที่จ่ายกระแสได้ 65 วัตต์เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ตัวเครื่องนี้ยังมีจุดสังเกตอยู่ ได้แก่การเชื่อมต่อไร้สายที่เป็น Wi-Fi 5 มาตรฐาน 802.11ac กับ Bluetooth 4.2 อยู่ ซึ่งในระดับราคาใกล้เคียงกันนั้นมีรุ่นที่เชื่อมต่อ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax กับ Bluetooth 5.0 หรือ 5.1 ออกมาให้เลือกซื้อหลายรุ่น บางโมเดลก็มี Microsoft Office Home & Student 2019 ให้เลือกซื้อ ส่วนของลำโพงเมื่อเทียบกับแบรนด์เจ้าตลาดยังถือว่าเสียงค่อนไปทางเบาและเบสบาง นอกจากนี้ยังอัพเกรดชิ้นส่วนภายในเครื่องไม่ได้อีกด้วย อาจจะดีสำหรับคนที่เน้นซื้อมาใช้งานเลย กลับกันคนที่ชอบเปิดฝาอัพเกรดเครื่องคงจะไม่ปลื้มในส่วนนี้นัก
NBS Verdict
ถึงเป็นแบรนด์รองแต่ให้สเปคมาในระดับพร้อมใช้งานและยังมีศูนย์บริการรองรับด้วย ถ้าใครต้องการย้ายมาใช้แบรนด์รองที่งานประกอบดี ฟีเจอร์ใช้งานครบถ้วนและได้ซีพียู AMD Ryzen 5 4500U นั้น ก็สามารถเลือกซื้อ Avita Liber ไปใช้งานได้เลย ซึ่งถ้าใช้งานทั่วไป จะเลือกซื้อเป็นรุ่น V1 แรม 8GB มาใช้งานก็ถือว่าเพียงพอแล้ว หรือถ้าใช้โปรแกรมที่ใช้งานแรมเยอะอย่าง Microsoft Excel ที่มีสูตรคำนวนหลายหน้าและอื่น ๆ อาจจะเพิ่มเงินเล็กน้อยแล้วเลือกรุ่นแรม 16GB ไปใช้งานจะดีกว่า
สำหรับกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป, พนักงานออฟฟิศ, นักเรียนนักศึกษาที่ใช้ทำงานทั่วไปหรือเรียน แล้วเล่นเกมออนไลน์บ้างในเวลาว่างนั้น รุ่นแรม 8GB สามารถตอบโจทย์การทำงานได้สบาย ๆ กลับกันถ้าจะเล่นเกมมือถือในคอมแล้วสลับไปดูหนังด้วย แนะนำให้ขยับขึ้นไปเป็นรุ่น 16GB เผื่อแรมเอาไว้สักหน่อย เนื่องจากโปรแกรมกลุ่มนี้ค่อนข้างกินแรมพอสมควร ดังนั้นการเพิ่มงบประมาณไปอีก 2,000 บาทนั้นถือว่าคุ้มค่าเช่นกัน
จุดเด่นของ Avita Liber V1
- งานประกอบแข็งแรง แน่น ใช้วัสดุเป็นอลูมิเนียมกับพลาสติกเนื้อแข็งดูดีเกินราคา
- ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบาเพียง 1.3 กิโลกรัม เทียบเท่าโน๊ตบุ๊ค Thin & Light หลาย ๆ รุ่น และอะแดปเตอร์ที่แถมมากับตัวเครื่องก็เบาเพียง 300 กรัม สามารถพกพาได้สะดวก
- ตัวเครื่องถ่วงสมดุลย์ได้ดี ใช้นิ้วเดียวเกี่ยวเพื่อกางหน้าจอได้และออกแบบให้ขอบตัวเครื่องส่วนที่ติดตั้งกล้อง Webcam เอาไว้เป็นลิ้นสำหรับเปิดหน้าจอได้ด้วย
- พอร์ตเป็น USB 3.0 Type-A ทั้งหมด ไม่มี USB 2.0 ซึ่งเป็นมาตรฐานเก่าแล้ว
- พอร์ต USB 3.0 Type-C รองรับการชาร์จผ่าน Power Delivery จึงไม่ต้องพกอะแดปเตอร์ของโน๊ตบุ๊คติดตัว ก็ใช้ปลั๊กของสมาร์ทโฟนชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเครื่องได้เลย
- มีพอร์ตสแกนลายนิ้วมือติดตั้งมาให้ สแกนปลดล็อคเครื่องได้รวดเร็ว
- คีย์บอร์ดมีไฟ LED Backlit สามารถพิมพ์ในที่แสงน้อยได้สะดวก ปรับแสงได้ 3 ระดับ
- ทัชแพดแป้นกว้างเป็นพิเศษ ทำให้ลากเคอร์เซอร์ได้ทั่วถึงทั้งหน้าจอ
- ระบายความร้อนได้ดี ตัวเครื่องเมื่อใช้งานปกติไม่ว่าจะดูหนังฟังเพลงไม่มีอาการเครื่องร้อนเลย ใช้ประมวลผลหนัก ๆ กับโปรแกรมสามมิติหรือเล่นเกมก็ระบายความร้อนได้เร็ว
- เสียงรบกวนจากพัดลมระบายความร้อนเบาและระบายความร้อนไว ไม่สร้างความรำคาญตอนใช้เล่นเกมออนไลน์
- ซีพียู AMD Ryzen 5 4500U ทำงานได้ดี ทำงานลื่นเล่นเกมได้ ใช้งานนานร่วม 7 ชั่วโมง ถ้าพกเครื่องไปใช้ทำงานหรือติดต่อลูกค้าไม่ต้องพกปลั๊กไปก็ได้
ข้อสังเกตของ Avita Liber V1
- อัพเกรดชิ้นส่วนภายในเครื่องไม่ได้เลย เพราฮาร์ดดิสก์, แรมถูกบัดกรีติดกับเมนบอร์ด
- ความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลของฮาร์ดดิสก์ SSD ทำได้ระดับ SATA III SSD เท่านั้น
- ยังเชื่อมต่อไร้สายด้วย Wi-Fi 5 และ Bluetooth 4.2 อยู่ ซึ่งควรอัพเกรดมาเป็น Wi-Fi 6 กับ Bluetoot 5.0 ได้แล้ว
- ส่วนที่ติดตั้งกล้อง Webcam เอาไว้ยื่นออกมานอกฐานตัวเครื่อง เมื่อใส่กระเป๋าควรมีซองโน๊ตบุ๊คหรือหันหลบไม่ให้ของใช้ชิ้นอื่นกระทบกับตัวกล้อง
- โน๊ตบุ๊คในระดับราคาใกล้เคียงกัน มีบางแบรนด์แถมโปรแกรมทำงาน Microsoft Office Home & Student 2019 มาให้ด้วย
- ที่สแกนลายนิ้วมือควรเอาไปรวมกับปุ่ม Power เหมือนโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่นในปัจจุบันได้แล้ว
หัวข้อรีวิวด้านต่าง ๆ
- Specification
- Hardware / Design
- Keyboard / Touchpad
- Screen / Speaker
- Connector / Thin And Weight
- Inside / Upgrade
- Performance / Software
- Battery / Heat / Noise
- Conclusion / Award
Specification
สเปคของ Avita Liber V1 เครื่องรีวิวกับ V2 ที่เป็นรุ่นท็อปจะแชร์สเปคร่วมกันทั้งหมด ยกเว้นแรมที่ V1 มีแค่ 8GB ส่วน V2 ติดตั้งมา 16GB ทำให้ประมวลผลกับโปรแกรมที่กินทรัพยากรตัวเครื่องหนัก ๆ สามารถทำงานได้ดีขึ้น และราคาต่างกันเพียง 2,000 บาทเท่านั้น ส่วนรายละเอียดสเปค, ราคาและสถานที่จัดจำหน่ายมีดังนี้
สเปคและรุ่น | Avita Liber V1 | Avita Liber V2 |
ซีพียู | AMD Ryzen 5 4500U แบบ 6 คอร์ 6 เธรด ความเร็ว 2.3-4.0 GHz TDP 15W |
|
การ์ดจอ | AMD Radeon RX Vega แบบ 6 คอร์ | |
ฮาร์ดดิสก์ | SSD ความจุ 512GB | |
แรม | 8GB DDR4 บัส 3200MHz | 16GB DDR4 บัส 3200MHz |
หน้าจอ | 14 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920×1080 พิกเซล) พาเนล IPS | |
พอร์ตบนตัวเครื่อง | USB 3.0 Type-A x 2 USB-C x 1 รองรับการชาร์จแบบ Power Delivery HDMI x 1 TF Card Reader x 1 ช่องหูฟัง 3.5 มม. x 1 Kensington Lock x 1 ปุ่มสแกนลายนิ้วมือ x 1 |
|
การเชื่อมต่อไร้สาย | Wi-Fi 5 มาตรฐาน 802.11ac และ Bluetooth 4.2 | |
ระบบปฏิบัติการ | Windows 10 Home (64-bit) | |
น้ำหนักและมิติตัวเครื่อง | 318 x 218 x 17.4 mm ตัวเครื่องหนัก 1.3 กิโลกรัม อะแดปเตอร์หนักราว 300 กรัม |
|
ราคา | ราคาปกติ 22,990 บาท โปรโมชั่น 17,900 บาท ขายผ่านเว็บไซต์ JD Central |
ราคาปกติ 25,990 บาท |
Hardware / Design
ดีไซน์ของ Avita Liber V1 จะเป็นโน๊ตบุ๊คฝาพับแบบมาตรฐาน เน้นความเรียบง่ายและงานประกอบแข็งแรง เรียบร้อย ตัวเครื่องส่วนฝาหลัง, ที่วางข้อมือและขอบตัวเครื่องจะเป็นอลูมิเนียมแข็งแรง ส่วนขอบจอด้านใน, แป้นคีย์บอร์ดและด้านใต้เครื่องจะเป็นพลาสติกสีดำเนื้อแข็งแทน
ดีไซน์ที่โดดเด่นคือชุดกล้อง Webcam ที่ขอบบนจะยื่นออกมาชัดเจน ให้ผู้ใช้สามารถใช้นิ้วเกี่ยวแล้วยกบานหน้าจอเปิดเครื่องได้ง่ายขึ้นรวมทั้งเว้นขอบตัวเครื่องใต้ทัชแพดเอาไว้เพื่อรับกับชุดกล้องหน้าด้วย เวลาสอดนิ้วแล้วจะไม่ติดขอบตัวเครื่อง นอกจากนี้ยังถ่วงสมดุลย์น้ำหนักตัวเครื่องเอาไว้ได้ดี เวลาเปิดบานพับหน้าจอแล้วตัวเครื่องไม่โยกกลับไปด้านหลังเลย
แต่ข้อสังเกตของดีไซน์ให้ขอบตัวเครื่องยื่นออกมาแบบนี้ คือกล้อง Webcam จะเลยตัวเครื่องออกมา ทำให้ฝุ่นเข้าไปติดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้เวลาเก็บใส่กระเป๋าแล้วควรหันด้านส่วนขอบบนตัวเครื่องให้หลบของใช้ชิ้นอื่นในกระเป๋า ป้องกันตัวกล้องโดนของในกระเป๋ากระทบแล้วเกิดความเสียหายได้
เมื่อพับตัวเครื่องลงมา จัดว่าตัวเครื่องบางไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คบางเบาหลาย ๆ รุ่นที่มีขายในปัจจุบัน ด้านใต้เครื่องจะมีแถบช่องที่เจาะเอาไว้ให้พัดลมดูดลมเข้าไประบายความร้อนให้ฮีตไปป์ แล้วเป่าลมออกมาตรงช่องว่างเหนือคีย์บอร์ดหน้าชุดบานพับหน้าจอ ซึ่งเห็นได้ทั่วไปในโน๊ตบุ๊คบางเบาเช่นนี้หลาย ๆ รุ่น
ตัวเครื่องสามารถกางได้ราว 160 องศาเท่านั้น ไม่สามารถกดให้แบนราบได้เหมือนโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นองศาที่ได้ใช้งานจริงอยู่เป็นประจำหากวางโน๊ตบุ๊คเอาไว้กับโต๊ะตามปกติ ไม่ได้วางไว้บนแท่นวางโน๊ตบุ๊คที่ต้องกางองศาหน้าจอมากกว่าปกติก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าวางบนแท่นก็ยังพอกางให้หน้าจออยู่ในระยะที่มองเห็นได้ชัดเจนอยู่
Keyboard / Touchpad
แป้นคีย์บอร์ดของ Avita Liber V1 นั้นจะเป็นคีย์บอร์ดแบบ Chicklet Keyboard แบบทั่วไป มีสีดำกับไฟ LED Backlit ติดตั้งไว้และแสงลอดตัวหนังสือ ทำให้พิมพ์งานในที่มืดหรือแสงน้อยได้สะดวกขึ้น สามารถกดปุ่ม Fn+Prt Scr เพื่อปรับความสว่างได้ 3 ระดับคือปิดไฟ, เปิดความสว่างน้อยและสว่างที่สุด
ตัวปุ่มคีย์บอร์ดจัดว่ามีระยะกดลึกกว่าโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายรุ่นในปัจจุบันที่ระยะกดค่อนข้างสั้นและตื้น ทำให้สัมผัสตอนพิมพ์ไม่ใช่การกดกึ่งแตะเพื่อพิมพ์แต่เป็นการกดแบบมีระยะให้ปุ่มยุบตัวเล็กน้อยก่อนจะทำงาน จึงพิมพ์งานได้สนุกยิ่งขึ้น ไม่เกิดอาการ “นิ้วซ้น” เหมือนโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายรุ่นที่ผู้เขียนเคยใช้พิมพ์งานมาก่อน
มุมซ้ายบนขอบเครื่องมีจุดสแกนลายนิ้วมือติดตั้งมาให้ โดยตั้งค่าใน Windows Hello เพื่อบันทึกลายนิ้วมือได้เลย จากการทดลองใช้งานก็สามารถปลดล็อคตัวเครื่องได้อย่างรวดเร็ว ช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวกับข้อมูลในเครื่องของเราได้ระดับหนึ่ง ช่วยเพิ่มความสะดวก ไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่านให้เสียเวลา แต่ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าหาก Avita จะเปิดตัว Liber รุ่นใหม่ น่าจะนำปุ่ม Power กับปุ่มสแกนลายนิ้วมือรวมกันเป็นปุ่มเดียวไปเลยจะดีกว่า แล้วทำปุ่มให้ใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อยจะดีมาก
ปุ่ม Power โดนเอามารวมไว้เป็นปุ่มหนึ่งในชุดแป้นคีย์บอร์ด ติดตั้งไว้มุมบนขวา มีไฟแสดงสถานะสีขาวติดเอาไว้เหมือนกับปุ่ม Cap Lock ซึ่งกดเปิดเครื่องได้สะดวก แต่มีข้อสังเกตคือควรแยกปุ่มออกไปจากชุดแป้นคีย์บอร์ดแล้วเพิ่ม Function Key เข้ามาอีกปุ่มจะดีกว่า เพราะเมื่อลองใช้จริงแล้ว บางครั้งผู้เขียนก็มีจังหวะพลาดแทนที่จะกดปุ่ม Backspace ก็ไปโดนปุ่ม Power แทนจนเกือบปิดเครื่องหรือตัดเครื่องเข้า Sleep mode ได้ ดังนั้นถ้าแยกออกไปจะดีต่อผู้ใช้โดยรวมมากขึ้น
ทัชแพดของ Avita Liber V1 นั้นกว้างกว่าทัชแพดของโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่นอย่างเห็นได้ชัด โดยทั่วไปแล้วแป้นทัชแพดจะออกเป็นทรงเกือบสี่เหลี่ยมจตุรัส แค่ออกกว้างกว่านิดหน่อย แต่ Liber V1 กลับกว้างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างชัดเจน จากในภาพจะเห็นว่ากว้างจากปุ่ม Alt ฝั่งซ้ายลากยาวจนปุ่ม Ctrl ฝั่งขวามือ ซึ่งทัชแพดของโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่นจะกว้างไม่เกินปุ่ม Alt ทั้งสองฝั่ง
สัมผัสการใช้งานถือว่าตอบสนองได้ดีและรองรับ Gesture Control ของ Windwos 10 ตามมาตรฐานโน๊ตบุ๊คในปัจจุบัน แต่เวลาใช้งานปกติ ตัวเคอร์เซอร์จะเคลื่อนที่ได้ช้ากว่าทัชแพดของโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่น แต่ก็ลากนิ้วจากสุดขอบทัชแพดฝั่งซ้ายไปฝั่งขวาแล้วเคอร์เซอร์เลื่อนสุดขอบหน้าจอทั้งสองฝั่งได้อยู่
ส่วนจุดสังเกตของทัชแพดที่ผู้เขียนพบ คือตัวแป้นที่กว้างเกินไป เวลาวางมือพิมพ์ตามปกติแล้วส้นมือต้องแตะอยู่บนแป้นทัชแพดตลอดเวลา บางครั้งทัชแพดก็มีโอกาสทำงานเองเพราะเซนเซอร์จับการทำงานผิดพลาดจนต้องวางมือเยื้องหลบหรือไม่วางมือลงแป้นทัชแพดไปเลย ไม่อย่างนั้นผู้เขียนก็แนะนำให้ปิดการทำงานทัชแพดแล้วใช้เมาส์จะดีกว่า
Screen / Speaker
หน้าจอของ Avita Liber V1 เครื่องนี้มีขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920×1080 พิกเซล) พาเนล IPS ซึ่งเรื่องความสว่างหน้าจอและความคมชัดจัดว่าทำออกมาได้ดีมีมุมมองกว้าง 178 องศา เวลาใช้งานทั้งดูหนังและทำงานบนหน้าจอแล้วไม่มีอาการสีเพี้ยนเลย และหน้าจอไม่มีปัญหาแสงสะท้อนเข้าตา ไม่ว่าจะนั่งทำงานในห้องแล้วเปิดไฟนีออนหรือแสงอาทิตย์ส่องเข้าหน้าจอก็ใช้งานได้ไม่มีปัญหาเลย
จากการทดสอบคาลิเบรตสีหน้าจอด้วย Spyder5Elite แล้ว ขอบเขตสีหน้าจอของ Avita Liber V1 มีค่า sRGB 62% และ AdobeRGB 47% ซึ่งเป็นพาเนล IPS ระดับทั่วไปซึ่งติดตั้งมาเป็นมาตรฐานในโน๊ตบุ๊คระดับนี้อยู่แล้ว ส่วนหน้าจอมีความสว่างสูงสุดที่ 210 nits ซึ่งสว่างกำลังดี สามารถเอาไปใช้ทำงานในออฟฟิศก็ถือว่าสว่างมองเห็นชัดเจนอย่างแน่นอน ถ้ามีโอกาสเอาไปใช้งานตามร้านกาแฟก็ยังถือว่าสว่างพอสู้แสงได้ระดับหนึ่ง
การวัดค่าความสว่างหน้าจอ เมื่อแบ่งเป็นตาราง 9 ช่องแล้ว หน้าจอของ Avita Liber เครื่องนี้จะมีจุดสว่างที่สุดเป็น 0% อยู่ตรงกลางหน้าจอแล้วความสว่างระดับ 6-9% ฝั่งขอบซ้ายบน แต่ส่วนของขอบล่างและขวามือทั้งหมดจะค่อนข้างมืดด้วยค่าความสว่างอยู่ที่ 10-12% ดังนั้นหากต้องทำงานเกี่ยวกับการแต่งภาพหรือสีสันต้องระวังพื้นที่โซนนี้หรือต่อหน้าจอสำหรับทำงานเกี่ยวกับภาพและสีด้วยพอร์ต HDMI ไปเลยจะดีที่สุด
สรุปที่ส่วนของ Monitor Rating จะเห็นว่าคะแนนในส่วนของ Contrast จะได้เต็ม 5 คะแนน และความสม่ำเสมอของสีบนหน้าจอ (Color Uniformity) สูงถึง 4.5 คะแนน ส่วนคะแนนเฉลี่ยระดับ 3.5 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ระดับกลาง ๆ ไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คในระดับราคาเดียวกันหลายรุ่น ดังนั้นหน้าจอนี้ก็ใช้ดูหนังฟังเพลงได้ดีแต่งสีสำหรับอัพโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คได้สบาย ๆ แต่ถ้าทำงานระดับมืออาชีพก็ควรต่อหน้าจอเสริมก็ช่วยได้มาก
ด้านลำโพงของตัวเครื่องจะติดตั้งเอาไว้ตรงขอบล่างด้านใต้ที่วางงข้อมือ ถัดลงมาจากแบตเตอรี่ เป็นลำโพงกำลังขับ 1 วัตต์ 2 ตัว ให้เสียงดังระดับกลาง ๆ ใช้ดูหนังฟังเพลงก็ถือว่าดังได้ยินชัดเจนแต่เทียบกับโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่นในปัจจุบันจะถือว่าเบากว่าอยู่เล็กน้อยและเสียงไม่ค่อยมีมิติ แนะนำให้ต่อลำโพงแยกสักชุดจะดูหนังฟังเพลงแล้วได้อรรถรสมากกว่า แต่ก็เอาไว้ใช้เรียนออนไลน์หรือฟังสัมมนาออนไลน์ได้ไม่มีปัญหา
Connector / Thin And Weight
พอร์ตการเชื่อมต่อของ Avita Liber V1 และ V2 จะเหมือนกัน คือมีเฉพาะด้านข้างตัวเครื่องฝั่งซ้ายและขวาเท่านั้น และตัวเครื่องค่อนข้างบางเพียง 17.4 มม. ตามฉบับโน๊ตบุ๊ค Thin & Light ในปัจจุบัน แต่หนากว่าคู่แข่ง เช่น Acer Swift 3 ที่บางเพียง 16 มม. อยู่เล็กน้อย
ฝั่งซ้ายมือจากซ้ายมีพอร์ต Kensington Lock สำหรับล็อคกุญแจนิรภัยเข้ากับเครื่อง, USB 3.0 Type-A ตามด้วยช่องหูฟัง 3.5 มม. ที่ต่อเป็นลำโพงได้กับช่อง TF Card reader จึงเอา SD Card จากกล้องใหญ่มาใส่ไม่ได้โดยตรง ยกเว้นว่าซื้อ TF Card ขนาดเล็กมาใส่กับตัวอะแดปเตอร์เพื่อแปลงเป็นการ์ดขนาด SD Card เพื่อต่อเข้ากับกล้องถึงจะเอามาใช้ตรงนี้ได้ ไม่ก็ต้องซื้อตัว Card Reader โดยเฉพาะแทน
ฝั่งขวามือของตัวเครื่อง จากซ้ายมือเป็นพอร์ต HDMI, USB-C สำหรับรับส่งข้อมูลและชาร์จแบตเตอรี่ให้โน๊ตบุ๊คได้ตามมาตรฐาน USB Power Delivery, USB 3.0 Type-A และช่องเสียบปลั๊กอะแดปเตอร์ของโน๊ตบุ๊ค มีไฟ LED แสดงสถานะติดอยู่ด้วย ถ้าแบตเตอรี่ไม่เต็มจะเป็นสีส้ม เมื่อชาร์จจนเต็มเปลี่ยนเป็นสีเขียวแทน
น้ำหนักของตัวเครื่องอย่างเดียวอยู่ที่ 1.35 กิโลกรัม จัดว่าเบาเมื่อเทียบกับโน๊ตบุ๊คขนาด 14 นิ้วหลาย ๆ รุ่น ไล่เลี่ยกับ Acer Swift 3 ที่รีดลงไปเหลือ 1.19 กิโลกรัมเท่านั้น ส่วนอะแดปเตอร์อย่างเดียวหนัก 313 กรัม เมื่อรวมทั้งเครื่องและอะแดปเตอร์จะหนัก 1.69 กิโลกรัม
เทียบน้ำหนักรวมอะแดปเตอร์ของ Avita Liber V1 แล้วจะหนักไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊ค 14 นิ้ว ทั่วไปแบบไม่รวมอะแดปเตอร์ ถ้าพกใส่กระเป๋าเป้โน๊ตบุ๊คแล้ว ก็สามารถใส่ของใช้อื่น ๆ เข้าไปได้อีก แต่เพราะตัวเครื่องชาร์จผ่านพอร์ต USB-C ได้ ดังนั้นเวลาพกโน๊ตบุ๊คก็เอาอะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟได้ 65W ใส่กระเป๋าไปชาร์จโน๊ตบุ๊คแทนก็ได้ ช่วยลดน้ำหนักและไม่เปลืองพื้นที่ในกระเป๋าด้วย
Inside / Upgrade
การเปิดฝาตัวเครื่องออกมาเพื่อซ่อมหรืออัพเกรดตัวเครื่อง จะต้องใช้ไขควงหัวดาวหกแฉกขนาดเล็ก ถึงจะไขน็อตแกะเครื่องได้ ส่วนฝาหลังเครื่องไม่ต้องใช้การ์ดหรือตัวช่วยใด ๆ สามารถจับตรงขอบเครื่องใต้บานพับแล้วเปิดฝาด้านใต้เครื่องออกมาได้เลย
ภายในตัวเครื่องแบ่งเป็นชุดเมนบอร์ดที่กว้างาจนชิดกับพัดลมระบายความร้อน มีท่อฮีตไปป์สองเส้น เดินจากซีพียูมาที่พัดลมระบายความร้อนแล้วเป่าออกทางช่องเหนือคีย์บอร์ด ถัดลงมาเป็นแบตเตอรี่และลำโพงอีกสองตัวพร้อมเขียน L, R กำกับฝั่งเอาไว้ชัดเจน
ซึ่งดีไซน์นี้ ผู้ใช้ที่ชอบอัพเกรดโน๊ตบุ๊ค เปลี่ยน SSD เพิ่มแรมก็คงจะไม่ถูกใจเท่าไหร่ เนื่องจากไม่มีช่องสำหรับอัพเกรดเลย และผู้ผลิตก็ปิดแผ่นกันไฟฟ้าสถิตย์คลุมเมนบอร์ดเอาไว้ทั้งหมดอีกด้วย ซึ่งถ้าผู้ใช้ที่เน้นซื้อมาใช้งานอย่างเดียว ไม่ทำอะไรเพิ่มก็ถือว่าไม่มีปัญหา แต่ควรเลือกรุ่นที่แรมตอบโจทย์การใช้งานของเราตั้งแต่ซื้อเครื่องเลย จะได้ไม่เสียอารมณ์ในภายหลัง
Performance / Software
สเปคของ Avita Liber V1 เครื่องนี้ใช้ซีพียู AMD Ryzen 5 4500U แบบ 6 คอร์ 6 เธรด ความเร็ว 2.3-4.0GHz ค่า TDP 15W กับการ์ดจอออนบอร์ดในซีพียู AMD Radeon RX Vega แบบ 6 คอร์ เอาไว้เล่นหนังหรือคลิปความละเอียดสูงได้อย่างลื่นไหล มีแรม 8GB DDR4 บัส 3200MHz ฮาร์ดดิสก์เป็น SSD ความจุ 512GB ติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home (64-bit) มาให้ในตัว แสดงผลด้วยหน้าจอขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920×1080 พิกเซล) พาเนล IPS
เมื่อใช้โปรแกรม CPU-Z เช็คสเปคของตัวซีพียูและแรม ตัวซีพียูจะเป็น AMD Renoir สถาปัตยกรรม Zen 2 Refresh ซึ่งประสิทธิภาพยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี มี L3 Cache อยู่ที่ 4MB ส่วนแรมมีความจุ 8GB Dual Channal แบบบัดกรีติดเมนบอร์ดมาให้เลย บัส 3200MHz ซึ่งถ้าใช้ทำงานทั่วไปก็สามารถรันโปรแกรมทำงานทั่วไปรวมทั้ง Windows 10 Home ในเครื่องได้สบาย ๆ
การ์ดจอออนบอร์ดเป็น AMD Radeon RX Vega แบบ 6 คอร์ ความเร็ว Memory Clock 1,500MHz รองรับ DirectX 12 ตัว Bus Interface เป็น PCIe 3.0×16, Bus Width 128-bit สามารถใช้ดูหนังหรือเล่นเกมออนไลน์ต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน ส่วนแรมการ์ดจอมีขนาด 512MB
เมื่อทดสอบด้วยโปรแกรม CINEBENCH R15 ที่ใช้ทดสอบประสิทธิภาพตัวเครื่องทัั้งหมดว่าสามารถเรนเดอร์งานสามมิติได้ลื่นไหลหรือไม่ ซึ่งผลการทดสอบนั้นได้คะแนน OpenGL 56.82 fps กับ CPU 760cb ดังนั้นงานเรนเดอร์แบบสามมิติถือว่าทำอออกมาได้ดีและเรนเดอร์ได้รวดเร็ว
ส่วน CINEBENCH R20 สำหรับทดสอบการทำงานของซีพียูแบบ Mult-threaded โดยจำลองการเรนเดอร์ไฟล์วิดีโอหรือโมเดลสามมิติต่าง ๆ ว่าทำได้ดีหรือไม่ ซึ่ง AMD Ryzen 5 4500U ใน Avita Liber V1 ทำออกมาได้ 1,906 คะแนน จัดว่าแรงใช้ได้ สามารถใช้เรนเดอร์คลิปวิดีโอสั้นได้ดีทีเดียว
เมื่อทดสอบการเรนเดอร์กราฟฟิคด้วย 3DMark Time Spy แล้ว ถือว่า AMD Radeon RX Vega 6 คอร์ที่ติดตั้งมาให้สามารถทำได้ 900 คะแนน ซึ่งถือว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดี สามารถใช้ทำงานสามมิติต่าง ๆ ได้ไม่มีปัญหา
ส่วนโปรแกรม PCMark 10 ที่ใช้ทดสอบการใช้งานในออฟฟิศ เช่นทำงานเอกสาร, ทำ Video Call, เข้าออกเว็บไซต์ ฯลฯ นั้น ทำออกมาได้ 4,398 คะแนน จัดว่าอยู่ในระดับดีเพียงพอจะใช้ทำงานออฟฟิศและเอกสารต่าง ๆ หรือเอาไปใช้เรียนออนไลน์ก็ทำได้ไม่มีปัญหา
ส่วนฮาร์ดดิสก์ SSD ที่บัดกรีติดตั้งไว้ในเครื่องนั้นเป็นของ FORESEE ความจุ 512GB พอทดสอบประสิทธิภาพด้วย AS SSD แล้ว ได้ Sequential Read 508MB/s, Sequential Write 450MB/s เทียบเท่าความเร็วระดับ SATA III SSD เท่านั้น เมื่อเทียบกับโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่นในปัจจุบันที่ใส่ M.2 NVMe ที่อ่านข้อมูลได้ระดับ 1,000MB/s ขึ้นไปแล้ว ถือว่าเร็วในระดับที่พอรับได้ ไม่ช้าแบบฮาร์ดดิสก์จานหมุนแบบเก่าเท่านั้น
ส่นการทดสอบเล่นเกมด้วยการ์ดจอออนบอร์ดของ AMD Ryzen 5 4500U นั้น เนื่องจากเป็นการ์ดจอออนบอร์ด Radeon RX Vega 6 ผู้เขียนได้ตั้งค่าตัวเกมเป็น Low เพื่อทดสอบว่าสามารถเล่นเกมได้ไหม โดยเลือกเป็นเกมออนไลน์ 3 เกมและเกม AAA อีก 1 เกมด้วยกัน โดยประสบการณ์ระหว่างเล่นเกมจะเป็นดังนี้
- DotA 2 – ตั้งค่ากราฟฟิคแบบเน้น Performance เน้นภาพลื่นเป็นหลัก สามารถเล่นได้ดี เฟรมเรท 73-96 fps เฉลี่ย 42 fps ตอนกดโจมตีครีปหรือใช้อัลติก็ใช้ได้ไม่มีปัญหาเรื่องเฟรมเรทตกหรือกระตุกเลย
- PUBG – ตั้งค่าต่ำสุด ได้เฟรมเรท 21-35 fps แต่มีบางจังหวะที่ต้องเรนเดอร์ฉากกว้าง ๆ ที่เป็นทุ่งหญ้าจะเกิดอาการกระตุกแบบเสี้ยววินาทีขึ้นมา
- Genshin Impact – ตั้งค่าที่ Low และ Medium ได้เฟรมเรท 26-61 fps ซึ่งถือว่าเล่นได้ไม่มีปัญหา แต่อาจมีอาการหน่วงบ้างเวลาเดินผ่านแผนที่หิมะในเกม เวลาใช้สกิล สามารถเล่นได้ตามปกติ ถ้าใช้เดินทางในโซนเมืองหรือแม่น้ำก็เล่นได้เรื่อย ๆ
- Resident Evil 3 – ตั้งค่าต่ำสุด ปิดเอฟเฟคออกไปเพื่อลดภาระให้การ์ดจอ ทดสอบฉากสู้ Nemesis ที่หน้าหอนาฬิกาหลังข้ามสะพาน ได้เฟรมเรท 19-30 fps ตอนยิงต่อสู้ยังเล่นได้ต่อเนื่องไม่มีปัญหา แต่แรมการ์ดจอมีเพียง 500MB เวลาเรนเดอร์สิ่งของในฉากหรือเอฟเฟคไฟกับระเบิดของ Grenade Launcher แล้วเฟรมจะตกลงมา จากนั้นกลับมาเล่นได้ตามปกติ
ด้านการทดสอบเปิดคลิปความละเอียดสูง Japan 8K 60fps สามารถเปิดได้ที่ 4K เพื่อดูประสิทธิภาพของซีพียู, การ์ดจอและ Qualcomm Atheros QCA9377 ว่าสามารถเล่นไฟล์ความละเอียดสูงได้ดีหรือไม่ ซึ่งแม้จะเป็น Wi-Fi 5 ก็ตาม แต่ก็สามารถเล่นไฟล์วิดีโอความละเอียดสูงได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีอาการหยุดค้างหรือหน่วงกลางทางเลย
สรุปประสิทธิภาพของ Avita Liber V1 นั้น สามารถใช้ทำงานและความบันเทิงทั่วไปได้สบาย ๆ และอาจใช้เรนเดอร์ตัดต่อคลิปวิดีโอได้บ้าง เล่นเกมออนไลน์ต่าง ๆ ได้โดยไม่มีปัญหาเพียงแค่ปรับความละเอียดเอาไว้ระดับ Low ก็ใช้เล่นแก้ขัดได้
Battery / Heat / Noise
Avita Liber V1 เครื่องนี้ติดตั้งแบตเตอรี่แบบ Li-Polymer ความจุ 4,830 mAh (36.71 Wh) มาให้ โดยวางตัวเป็นแนวยาวใต้แป้นทัชแพดเลยขึ้นมาใต้คีย์บอร์ดเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเยอะกว่าโน๊ตบุ๊ค Thin & Light บางเครื่องที่มีแบตเตอรี่ช่วงระดับ 3,000 mAh ต้น ๆ เท่านั้น จึงใช้งานต่อเนื่องได้นานพอควรทีเดียว
ส่วนระบบระบายความร้อนจะเป็นชุดฮีตไปป์ทองแดงสองเส้นประกบที่ซีพียูกับพัดลมระบายความร้อน 1 ตัว โดยเป่าระบายความร้อนออกมาที่ช่องระบายความร้อนเหนือแป้นคีย์บอร์ด ซึ่งจากการใช้งานตามปกติแล้ว ตัวเครื่องไม่มีปัญหาเรื่องความร้อนเลยแม้แต่น้อย รวมทั้งเสียงพัดลมก็เบาไม่รบกวนตอนใช้งานเลย
กรณีที่เครื่องร้อนและพัดลมทำงานเสียงดังจะมีเฉพาะเวลาที่รันโปรแกรมทดสอบต่าง ๆ เช่น 3DMark หรือ PCmark 10 แต่ถ้าเล่นเกมออนไลน์ เช่น Genshin Impact หรือ DotA 2 ตัวเครื่องจะอุ่นขึ้นมาเกือบร้อน เพราะดีไซน์ตัวเครื่องที่บางและมีช่องระบายความร้อนไม่ใหญ่มาก ก็ใช้วิธีระบายความร้อนผ่านบอดี้อลูมิเนียมแทน แล้วพอทำงานหรือเล่นเกมเสร็จแล้วสลับกลับไปดูหนังหรือใช้งานเบา ๆ ตัวเครื่องก็กลับมาเย็นได้เร็ว
อิงการทดสอบความร้อนจาก HWMonitor หลังจากรันโปรแกรม 3DMark และ PCMark 10 เสร็จแล้ว จะเห็นว่าอุณหภูมิของ AMD Ryzen 5 4500U ต่ำสุด 58 องศา แล้วพุ่งไปสูงสุดที่ 88 องศาเซลเซียส เฉลี่ย 70 องศา ถือว่าอุณหภูมิอยู่ในระดับทั่วไปและค่อนไปทางเย็น ดังนั้นถ้าใช้งานเอกสารหรือดูหนังฟังเพลงเป็นหลักก็ตัดปัญหาเรื่องความร้อนไปได้เลย
ระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่ของ Avita Liber V1 จากการทดสอบด้วยโปรแกรม Battery Monitoring ตั้งค่าให้หน้าจอสว่างเพียง 50% เปิดเสียงดัง 100% ใช้ Microsoft Edge เป็นเบราเซอร์เปิดคลิปใน YouTube ดูคลิปต่อเนื่องราว 30 นาที เพื่อทดสอบระยะเวลาใช้งาน ปรากฏว่าใช้งานต่อเนื่องได้นานสุดที่ 6 ชั่วโมง 51 นาที ซึ่งสำหรับแบตเตอรี่ขนาด 4,830 mAh นั้นถือว่าใช้งานได้นานน่าประทับใจ
หากผู้ใช้คนไหนที่เอาโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปทำงานทั่ว ๆ ไป เช่นเปิดสไลด์นำเสนองานหรือไปนั่งทำงานที่ร้านกาแฟ ก็ไม่ต้องพกอะแดปเตอร์ติดตัวก็ได้ หรือไม่อาจจะมี Power Bank ที่ใช้ชาร์จโน๊ตบุ๊คได้ กับสายชาร์จ USB-C to C ดี ๆ สักเส้นติดกระเป๋าไป ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องเครื่องดับกลางอากาศเลย
Conclusion / Award
สรุปแล้ว Avita Liber V1 ถือเป็นโน๊ตบุ๊ค Thin & Light ตัวเครื่องแข็งแรงและพกพาได้สะดวก เบาแค่ 1.3 กิโลกรัมเท่านั้น จึงพกพาไปไหนได้ง่าย ชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเครื่องได้ด้วย USB-C มาตรฐาน USB Power Delivery ได้ จึงแชร์ปลั๊กร่วมกับสมาร์ทโฟนที่รองรับการชาร์จไวได้โดยไม่ต้องพกอะแดปเตอร์เฉพาะเครื่องอีกด้วย นอกจากนี้การใช้ซีพียู AMD Ryzen 5 4500U สถาปัตยกรรม Renoir หรือ AMD Zen 2 Refresh เป็นหน่วยประมวลผลหลักนั้น ถึงเป็นซีพียูประหยัดพลังงานที่ใช้งานต่อเนื่องได้ราว 7 ชั่วโมง แต่ประสิทธิภาพการทำงานกับโปรแกรมต่าง ๆ ถือว่าทำได้ดีทีเดียว
ด้านการใช้อลูมิเนียมกับพลาสติกเนื้อแข็งมาทำตัวเครื่อง นอกจากแข็งแรงสวยงาม ยังใช้นำความร้อนในเครื่องมาระบายออกตามบอดี้อลูมิเนียมให้เครื่องเย็นลงเร็วขึ้นเวลาใช้โปรแกรม 3 มิติ หรือตัดต่อหนังที่กินทรัพยากรเครื่องหนัก ๆ แต่ถ้าใช้เล่นเกมออนไลน์ ตัวเครื่องจะแค่อุ่นขึ้นเล็กน้อย ส่วนทำงานเอกสารหรือดูหนังทั่ว ๆ ไป ตัวเครื่องก็เย็นและพัดลมไม่ดังรบกวนสักนิด ส่วนการออกแบบบานฝาพับให้มีลิ้นยื่นออกมาเปิดบานหน้าจอได้ง่ายขึ้น ถือเป็นส่วนรายละเอียดเล็กน้อยที่ได้ใช้งานจริง รวมทั้งถ่วงสมดุลย์ตัวเครื่องได้ดี ใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียวก็เปิดจอมาทำงานได้เลย
สำหรับจุดสังเกตที่อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ยังพอรับกันได้ อย่าง SSD ที่ความเร็วอ่านเขียนข้อมูลระดับ SATA III, ลำโพงที่คุณภาพเสียงระดับทั่วไป มิติของเสียงยังไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับแบรนด์หลักหลาย ๆ แบรนด์ หรือแม้แต่การเชื่อมต่อไร้สายที่ยังเป็นแค่ Wi-Fi 5 และยังอัพเกรดชิ้นส่วนภายในเครื่องไม่ได้ก็ตาม แต่นั่นเป็นเพียงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลต่อการใช้งานมากนักและเราสามารถแก้ไขได้ด้วยอุปกรณ์เสริม ตัวอย่างเช่นต่อลำโพงเพิ่ม เป็นต้น
ซึ่งหากเน้นความคุ้มและฟีเจอร์หลัก ๆ ที่ติดตั้งมาในเครื่องก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย และถ้ามีโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ไม่ว่าจะของแถมหรือลดราคาล่ะก็ Avita Liber V1 เครื่องนี้ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการที่ช่วยดูแลตัวเครื่องหลังการขายอย่างเป็นทางการ จึงไม่ต้องกังวล ว่าซื้อมาแล้วจะต้องดูแลรับผิดชอบตัวเครื่องด้วยตัวเองทั้งหมดอีกด้วย
สั่งซื้อได้ที่
- RAM 8GB ราคา 17,900 บาท : https://bit.ly/33yUDyQ
- RAM 16GB ราคา 19,900 บาท : https://bit.ly/3tEX7Xq
Award
Best Durability
รางวัล Best Durability สำหรับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ ต้องยกให้การเลือกใช้วัสดุเป็นอลูมิเนียมที่แข็งแรงและงานประกอบแน่นไม่แพ้โน๊ตบุ๊คแบรนด์ใหญ่ แม้ผู้ใช้จะใช้งานแบบสมบุกสมบันสักหน่อย ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องตัวเครื่องจะเสียหรือหักบิ่นเอาง่าย ๆ ถ้าใช้แบบระมัดระวัง ใส่กระเป๋าโน๊ตบุ๊คเสมอ ๆ ก็ไม่ต้องกลัวว่าเครื่องจะเสียหายเลย
best design
การออกแบบตัวเครื่องที่เก็บรายละเอียดเล็กน้อยอย่างการทำปลายขอบบนของตัวเครื่องให้ยื่นออกมาเล็กน้อยและเว้นพื้นที่ด้านใต้ทัชแพดลงไปนิดหน่อย, ทำสมดุลย์น้ำหนักตัวเครื่องให้ใช้นิ้วมือเดียวเปิดบานพับหน้าจอขึ้นมาได้นั้น แม้จะเป็นจุดเล็กน้อยแต่ก็ใส่ใจผู้ใช้ได้ดี รวมทั้งตัวเครื่องอลูมิเนียมที่ช่วยนำและระบายความร้อนจากด้านในตัวเครื่องออกมาได้รวดเร็ว ก็ทำให้เวลาออกแบบเครื่องไม่ต้องใช้ฮีตไปป์ขนาดใหญ่หรือเดินฮีตไปป์สองเส้น ทำให้เสียงพัดลมไม่รบกวนอีกด้วย