ชุดน้ำเปิดรุ่นใหม่ 2021 เปลี่ยนฮีตซิงก์ไปใช้ชุดน้ำ ต้องใช้สิ่งใดบ้าง ค่าใช้จ่ายมากมั้ย เรามีคำตอบ
ชุดน้ำเปิด เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับคนที่ต้องการลดความร้อนให้กับซีพียู และอุปกรณ์อื่นๆ บนพีซี ตามที่ผู้ใช้อยากจะติดตั้ง โดยจุดเด่นอยู่ที่การ Custom หรือปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนต่างๆ ได้ตามใจชอบ และมีอุปกรณ์ให้ใช้งานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนฟิตติ้ง ปั้ม ท่อ น้ำยา หรือจะเป็นบรรดา Water Block ต่างๆ รวมถึงสามารถลดความร้อนให้กับซีพียูได้ดีกว่าการใช้ฮีตซิงก์ทั่วไป นอกจากนี้ยังเพิ่มความสวยงาม ด้วยการปรับแต่งเคสเดิมๆ ให้ดูทันสมัยขึ้น ด้วยการใช้น้ำยาที่ไหลเวียนภายในท่อ ที่สามารถดัดโค้งงอได้ตามต้องการ รวมถึงลดเสียงรบกวนได้อีกด้วย เหมาะอย่างยิ่งทั้งคนที่ชื่นชอบการตกแต่งเคสคอมให้ดูแปลกตา และนักโอเวอร์คล็อก ที่ต้องการระบายความร้อนที่ดี เพื่อโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเร่งความเร็วไปให้ถึงจุดหมายนั่นเอง
ชุดน้ำเปิด
- ทำไมต้องใช้ชุดน้ำเปิด
- ชุดน้ำเปิด vs ชุดน้ำปิด
- ชุดน้ำเปิด มีอุปกรณ์อะไรบ้าง
- การระบายความร้อนของชุดน้ำเปิด
- อุปกรณ์ที่น่าสนใจ
- Conclusion
ทำไมต้องใช้ชุดน้ำเปิด
นั่นสิครับ หลายคนอาจมีคำถามว่า จะฮีตซิงก์ก็น่าจะพอแล้ว ซีพียูในปัจจุบัน ก็มีฮีตซิงก์มาให้ในกล่องแล้วด้วย คำตอบก็คือ ขึ้นอยู่กับความชอบและรูปแบบการใช้งานที่ต่างกันออกไป บางคนอาจจะชอบความเรียบง่าย แต่ก็จะมีบางคนที่ชอบความท้าทาย ความสวยงาม และประสิทธิภาพในการระบายความร้อน ซึ่งในหลายๆ จุด ฮีตซิงก์ทั่วไปหรือ Stock Sink ที่มีมาให้ในกล่อง ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ โดยเฉพาะในแง่ของความโดดเด่น และมีเอกลักษณ์ เพราะบอกได้เลย แม้ชุดน้ำเปิดนั้น จะใช้อุปกรณ์ที่มีความใกล้เคียงกัน ชิ้นส่วนหลักๆ อาจไม่ต่างกันมาก แต่การดีไซน์เส้นสาย การเดินท่อ และสีของน้ำนั้น แทบจะไม่ซ้ำแบบกันเลย ขึ้นอยู่กับไอเดียของผู้ติดตั้ง ว่ามีความชำนาญและมีการสร้างสรรค์ศิลปะออกมาในรูปแบบใด
ประสิทธิภาพการระบายความร้อน: ค่อนข้างชัดเจนว่า ชุดน้ำเปิดทำได้ดีกว่าการระบายความร้อนในหลายรูปแบบ ด้วยโครงสร้างการลดความร้อนด้วยการใช้น้ำ อุณหภูมิต่ำ ไหลผ่านไปยังจุดที่มีความร้อนสูง และลดความร้อนจากน้ำที่ออกมาได้รวดเร็ว ผ่านทางหม้อน้ำ ที่มีพัดลมช่วยระบายตั้งแต่ 1-4 ตัว ดังนั้นจึงลดความร้อนไปได้อย่างรวดเร็ว และใช้ได้ตั้งแต่ซีพียูที่มี TDP ต่ำความร้อนน้อย อย่างในกลุ่มของ Intel Pentium หรือ AMD Athlon ไปจนถึง Intel Core i9 หรือ AMD Ryzen 9 หรือ Threadripper TR4 อีกด้วย เมื่อทำให้ซีพียูเย็นลงได้เยอะ ก็ส่งผลดีต่อการโอเวอร์คล็อกที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นไปอีก
ความยืดหยุ่นในการใช้งาน: เรียกว่าเป็นข้อดีของชุดน้ำเปิดนี้ เพราะคุณสามารถเลือกชิ้นส่วนได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็น ปั้มน้ำ ฟิตติ้ง ท่อ บล็อคน้ำหรือจะเป็น Radiator ที่มีให้เลือกใช้ตามความต้องการและราคา ขอให้เลือกในแบบที่สอดคล้องกัน เฉพาะท่อกับฟิตติ้ง ส่วนอื่นๆ เช่น พัดลม หรือ Coolant เลือกเอาตามความชอบ อยากได้รอบเร็ว ตัวบาง ให้ลมผ่านดี หรือจะมีแสงไฟ RGB ปรับแต่งได้ ก็แล้วแต่ความเหมาะสม ทั้งการใช้งานของคุณเองและเงินในกระเป๋า บางครั้งก็อาจจะเผลอจัดหนักจนกระเป๋าฉีกได้ อันนี้ต้องระวัง
ความสะดวกในการติดตั้ง: ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป เพราะมีหลายสำนักทำรีวิว และแนะนำการประกอบเอาไว้มากมาย แต่ก็ไม่ง่ายถึงขนาดจะแนะนำมือใหม่ ให้ทำเอง โดยไม่มีคนแนะนำ เพราะทริกบางอย่าง เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย หากลืมบางขั้นตอนไป เปิดเครื่องเดินน้ำแล้ว อาจเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นจึงเหมาะกับผู้ใช้ที่มี Skill ขึ้นมาระดับหนึ่ง นั่นคือ อาจจะผ่านการติดตั้งพัดลม ลองปรับแต่งฮีตซิงก์ รวมถึงใช้งานชุดน้ำปิด และลองเดินสายเดินท่อมาบ้าง หรืออย่างน้อยเคยได้ลองช่วยเพื่อนติดตั้งมาบ้าง แล้วมาเริ่มต้นกับชุดน้ำเปิดง่ายๆ ลองดัดท่อ ต่อสายดู ก็สามารถลุยได้เลย
ค่าใช้จ่าย: อย่างที่ได้บอกไปว่า อย่าได้เผลอคุณอาจจะกระเป๋าฉีกได้ เพราะของเล่นชุดน้ำนั้นมีมากมาย ไม่ได้มีแค่ตัวหลักๆ ที่ได้นำเสนอไป เพราะจะมีของเล่นเช่น ใบพัดดูทางน้ำ มิเตอร์ LED หรืออุปกรณ์ RGB อื่นๆ เพิ่มความสวย หรูหราในการใช้งานมากขึ้น แต่โดยพื้นฐาน ก็จะมี ปั้มน้ำ Radiator พัดลม และ Coolant ที่ราคาจะค่อนข้างสูง รวมชุดเริ่มต้นอาจจะหลักครึ่งหมื่น แต่ถ้าจัดเต็มเน้นสวยทีเดียวจบวางไว้ก่อนสักหมื่นบาท ที่เหลือค่อยว่ากันอีกที แต่ถ้าจะเทียบกับชุดน้ำปิด เวลานี้เริ่มต้นก็ต้องมี 3 พันบาท สำหรับ AIO 3 ตอน มีฟีเจอร์เพิ่มก็ว่ากันที่ 5,000 บาท ไปจนถึงหมื่นบาทแล้ว
ชุดน้ำเปิด vs ชุดน้ำปิด
หลายคนอาจจะเคยเริ่มใช้งานกับชุดน้ำปิดกันมาบ้าง ซึ่งก็ขยับขึ้นมาจากฮีตซิงก์ทั่วไป หรือเบื่อกับฮีตซิงก์เดิมๆ ที่มีให้ในกล่อง ซึ่งไม่ได้มีลูกเล่นมากนัก อีกทั้งการระบายความร้อนก็อยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้ได้ เมื่อพัดลมตัวเก่า เริ่มเสียหาย หรือใช้งานหนักๆ แล้วระบายความร้อนได้ไม่ทันใจ ก็หันมาใช้ชุดน้ำปิด ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ก็อาจจะยังไม่สุด เพราะปรับแต่งไม่ได้มากนัก ดังนั้นการใช้ชุดน้ำเปิด ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้งาน แม้ว่าการระบายความร้อนทั้งสองแบบนี้ จะคล้ายกัน แต่ในบางแง่มุมก็ต่างกันพอสมควร แต่จะมีส่วนใดที่น่าสนใจบ้าง ตารางด้านล่างอาจจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
ชุดน้ำเปิด | ชุดน้ำปิด AIO | |
การติดตั้ง | รายละเอียดเยอะ ต้องอาศัยผู้ชำนาญ | ใช้ง่าย ทำตามคู่มือ |
ค่าใช้จ่าย | ค่อนข้างสูง มีชิ้นส่วนเยอะ | มีตั้งแต่ถูก ถึงแพง ขึ้นอยู่กับฟีเจอร์ |
ความสะดวกในการใช้ | ไม่ยุ่งยาก ติดตั้งแล้วใช้ได้ทันที | ใช้ง่าย เหมือนฮีตซิงก์ |
การดูแลรักษา | ตรวจเช็คระดับน้ำ การรั่วซึม เป็นระยะ | แทบไม่ต้องดูแลมาก เป็นระบบปิด |
ความยืดหยุ่น | ปรับเปลี่ยนชิ้นส่วน น้ำและดัดท่อได้ | เปลี่ยนได้แค่พัดลม |
การรับประกัน | ตามชิ้นส่วน และการดูแลจากผู้ติดตั้ง | รับประกันทั้งชุด |
ชุดน้ำเปิด มีอุปกรณ์อะไรบ้าง
Water pump (ปั้มน้ำ)
Water pump มีหลายยี่ห้อให้เลือก เช่น Tt, Corsair, Barrow, Longwell และ FREEZE เป็นต้น ซึ่งก็มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน แต่จะต่างกันบ้างในบางจุด เช่น วัสดุ แรงดันน้ำ การไหลเวียน ซึ่งส่วนใหญ่จะมาพร้อมถังพักน้ำในตัว ระบบการทำงานจะเป็นแบบดูดน้ำเข้ามาพัก แล้วปล่อยออกไปให้ไหลเวียนในระบบไปเรื่อยๆ สิ่งที่จะต้องสนใจ อยู่ที่เรื่องของขนาดและพื้นที่ติดตั้ง เพราะในเคสบางรุ่น จะไม่มีพื้นที่เผื่อมาให้สำหรับปั้มและแทงก์ ซึ่งอาจจะไปเบียดกับการ์ดจอได้ บางรุ่นรองรับได้ทั้งการวางนอนและแนวตั้ง เพิ่มความยืดหยุ่น
เรื่องของแรงดันน้ำก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะคนที่เดินท่อมีหลายขั้นตอน และซับซ้อนมากขึ้น ก็ต้องมีแรงดันน้ำที่มากพอ เพื่อให้การไหลเวียนน้ำในระบบได้ทัน และมีจุดที่ใช้บำรุงรักษาได้ง่าย เพราะเป็นจุดที่รองรับน้ำทั้งระบบ ส่วนฟีเจอร์อื่นๆ เช่น แสงไฟ RGB ก็ขึ้นอยู่กับความชื่นผู้ใช้และงบประมาณที่อาจจะสูงขึ้นอีกพอสมควร สนนราคาของปั้มเริ่มตั้งแต่ 2-3 พันบาท ไปจนถึง 5 พันกว่าบาท
ท่อน้ำ (Yube)
ท่อหรือ Tube เป็นสิ่งที่ทำให้ชุดน้ำของคุณสวยขึ้น ซึ่งปัจจุบันจะใช้กันแบบท่อใส บางคนอาจเรียกท่ออะคลิลิคหรือตามศัพท์ช่าง ก็จะเรียกท่อ PETG หรือท่อจะเรียกท่อสำหรับฟิตติ้งชุดน้ำ ก็ว่ากันไปตามแบบที่ถนัด ซึ่งจุดเด่นของท่อเหล่านี้คือ ความสวยงาม ใส มองเห็น Coolant เป็นสีต่างๆ ได้อย่างชัดเจน รวมถึงมีความทนทาน และยังดัดไปตามมุมในแบบที่ต้องการได้อีกด้วย ที่นิยมใช้กันทั่วไปจะอยู่ที่ขนาด 14mm และ 16mm สามารถตัดตามความยาว และเหลาปลายท่อ ให้เข้ากับฟิตติ้งในขนาดต่างๆ ได้อีกด้วย แต่ตัดแล้ว จะไม่สามารถนำมาประสานกันได้ ต้องเช็คระยะให้ดี เผื่อระยะของการดัดมุมเอาไว้ด้วย สนนราคาตั้งแต่เมตรละไม่ถึงร้อยบาท และมากกว่าร้อยบาท ขึ้นอยู่กับเกรดของท่ออีกด้วย
ข้อต่อ (Fitting)
โดยในส่วนของ Fitting Water Cooling นี้ จะมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ และหลายชิ้นส่วน ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับแบบที่คุณต้องการ รวมถึงเช็คขนาดท่อและบล็อคให้แน่นอน เพราะมีทั้งที่ต่อจากบล็อคเข้ากับท่อต่างขนาด วาลว์น้ำเปิด-ปิด, ข้อต่อแบบ 90 องศา หรือจะเป็นแบบ 3 ทาง เพื่อแยกส่วนไปยังบล็อคต่างๆ หรือให้สะดวกต่อการเดินท่อได้ดีขึ้น, Stop fitting ปิดทางเดินเข้าออกในบางจุดของหม้อน้ำที่ไม่ได้ใช้, ข้อต่อเพิ่มความสูงของตัวบล็อค และฟิตติ้งที่ใช้ปรับแรงดันน้ำเป็นต้น โดยในแต่ละชิ้น ก็จะมีทั้งแบบราคาประหยัด วัสดุที่เป็นพลาสติกทั่วไป จนถึงที่เป็นอะลูมิเนียม เสริมภายในด้วยยางคุณภาพสูง รองรับแรงดันได้ดี และมีการซีลที่แน่นหนา เพื่อป้องกันการรั่วซึม โดยจะเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้การเดินท่อน้ำภายในมีความสวยงาม และจัดทิศทางได้ง่ายขึ้น สนนราคามีตั้งแต่ชิ้นละสิบบาท ไปจนถึงข้อต่อราคาหลายร้อยบาท ขึ้นอยู่กับความสำคัญและความซับซ้อนในการทำงานในแต่ละชิ้น เช่น ข้อต่อตรงฟิตติ้ง 14mm ราคาประมาณ 40 บาท แต่ข้อต่อ 90 องศา ปรับทิศทางได้ราคาอาจจะเริ่มที่ร้อยบาทขึ้นไปเป็นต้น
Water Block
ในส่วนของ Water Block หรือบล็อคน้ำ มีทางเลือกสำหรับการใช้งานอยู่มากมาย ราคาตั้งแต่หลักพันต้นๆ ไปจนถึงครึ่งหมื่น แตกต่างกันในส่วนของวัสดุ และการออกแบบจัดการไหลเวียนของน้ำภายใน รวมถึงฟีเจอร์ที่เสริมเข้ามา เช่น แสงไฟ RGB และการสนับสนุน โดยเฉพาะซีพียูระดับไฮเอนด์ ส่วนใหญ่จะเป็นบล็อคแบบพิเศษ เช่น Intel LGA2011 หรือจะเป็น TR4 ของทาง AMD นั่นเอง ราคาจะสูงขึ้นไปอีก เพลตที่เป็นหน้าสัมผัสทองแดง อาจจะมีการชุบนิกเกิล เพื่อการนำพาความร้อนได้ดีขึ้น บางรุ่นออกแบบให้มีความใส มองเห็นภายในได้ชัดเจน เช่น Corsair XC7 หรือ EK Velocity เป็นต้น โดยจะมีช่องเล็กๆ ด้านบน 2 ช่องสำหรับต่อท่อน้ำไหลเวียนเข้า-ออกนั่นเอง ซึ่งขาล็อคส่วนใหญ่จะออกแบบมาเฉพาะ เช่น ใช้ร่วมกับ Intel และอีกโมเดลจะใช้กับซีพียู AMD หรือบางค่าย ก็จะออกแบบมาให้ถอดปรับเปลี่ยนได้ เพื่อความยืดหยุ่น โดยจะต่างจากชุดน้ำปิดที่เป็น AIO ตรงที่ Water Block เหล่านี้ จะปรับเปลี่ยนท่อได้ง่ายกว่า แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องข้อต่อและ Tube ที่นำมาใช้
Radiator หม้อน้ำ
หม้อน้ำหรือ Radiator มีให้เลือกหลายขนาด มีให้เลือกตามขนาดของพัดลม เช่น 120mm เรียกว่าหม้อน้ำตอนเดียว, 240mm เป็น 2 ตอน ใหญ่สุดที่ 480cm หรือแบบ 4 ตอนนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีแบบที่ใช้พัดลม 14cm แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมใช้ในเคสคอมทั่วไปมากนัก ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะใช้งานกันอยู่ที่ 2-3 ตอน เรื่องความหนา ก็จะมีให้เลือกเช่นกัน มีทั้งแบบหนาและแบบบาง ข้อแตกต่าง แบบบางใส่ฟิตติ้งได้แค่ด้านเดียว แต่ถ้าแบบหนา จะใส่ได้ทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อการเดินระบบน้ำที่ละเอียดมากขึ้น ความหนามีทั้ง 2.5cm และแบบหนา 5-6cm ในแง่ของประสิทธิภาพ ความหนาจะมีน้ำเข้ามาในระบบได้มากกว่า จึงช่วยลดความร้อนได้ดียิ่งขึ้น ฟินหรือครีบระบายความร้อนที่หนามากขึ้น ก็จะยิ่งลดความร้อนได้ดี แต่ก็ต้องดูที่ความอัตราลมที่ผ่านเข้ามาด้วยเช่นกัน การเลือกดูที่ซีพียู พื้นที่เคส และราคาตามความสะดวก
Fan พัดลม
พัดลมที่ใช้ในระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ หรือชุดน้ำเปิดเหล่านี้ ก็เป็นแบบเดียวกับเหล่า AIO หรือชุดน้ำปิดและบนฮีตซิงก์หลายๆ รุ่น มีให้เลือกทั้งแบบราคาประหยัดหลักร้อยบาท ไปจนถึงหลักเกือบพันบาทต่อตัวก็มีเช่นกัน ซึ่งความแตกต่างระหว่างพัดลมฮีตซิงก์หรือพัดลมเคสทั่วไป ก็มีตัังแต่ การออกแบบใบพัดลม ที่มักจะเน้นเรื่องของ Air Flow ค่อนข้างมาก แต่ต้องเสียงรบกวนน้อย เพราะอย่าลืมว่า หลายคนเลี่ยงการใช้ฮีตซิงก์ เพราะต้องการเสียงที่เบาลงของชุดน้ำ อีกทั้งฮีตซิงก์มีพัดลมตัวเดียว แต่บนชุดน้ำเปิดแบบนี้ อาจมีได้ 2-3 ตัว ดังนั้นแม้เสียงพัดลมตัวเดียว อาจไม่ดังมาก แต่หลายตัวรวมกัน ก็อาจจะทำให้คุณไม่แฮปปี้ได้ เมื่อทำงานพร้อมๆ กัน โดยพัดลมบางรุ่น จะระบุมาเลยว่า ใช้สำหรับชุดน้ำหรือ Radiator มาด้วย ส่วนของ Air Flow พัดลมทั่วไป อาจจะมีค่าแรงไหลของปริมาณอากาศระดับ 1.3-1.5 CFM. แต่พัดลม Radiator ราคาสูงๆ บางรุ่น อาจสูงกว่า 2.4-2.6 CFM. เลยทีเดียว โดยเฉพาะคนที่ใช้ Radiator แบบหนา อาจจะต้องลงทุนในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยลดความร้อน และเสียงรบกวนน้อย มีความทนทานมากขึ้น
Coolant น้ำยา
อาจเรียกได้ว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คอมคุณสวยขึ้นได้ และอาจทำให้กระเป๋าเงินคุณฉีกได้เช่นกัน เพราะนอกจากจะเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนชุดน้ำเปิด ให้มีการไหลเวียน รวมถึงช่วยระบายความร้อนตามจุดต่างๆ เป็นเหมือนเลือดที่ไหลไปมาอยู่ในระบบ ซึ่งโดยปกติจะใช้น้ำเปล่าธรรมดาได้มั้ย คำตอบคือได้แต่ไม่ควร รวมถึงบรรดาน้ำอื่นๆ เช่น น้ำกลั่น เพราะอาจเกิดปฏิกิริยา ไปอุดตันบริเวณท่อหรือข้อต่อในจุดต่างๆ ได้ แม้ว่าจะทำความสะอาดได้ แต่ก็ต้องถอดล้างกันทั้งระบบ แต่ถ้าใช้น้ำยา Coolant ที่ออกแบบมาเพื่อชุดน้ำระบบเปิดนี้ ก็จะลดปัญหาเรื่องสิ่งสกปรก และการทำปฏิกิริยาต่างๆ ลงได้ ไม่ส่งผลต่อการกัดกร่อน มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น และไม่นำไฟฟ้า รวมถึงมีความสวยงาม ในปัจจุบันก็มีให้เลือกทั้งแบบสีใส และสีขุ่น ราคาเริ่มตั้งแต่ลิตรละหลักร้อยบาท ไปจนถึงหลักพันบาทกันเลยทีเดียว แต่จะไม่สิ้นเปลือง ถ้าคุณไม่เบื่อง่าย เพราะหลายคนเลือกจะเปลี่ยนบ่อยๆ เพราะอยากได้สีตามที่ชอบนั่นเอง
การระบายความร้อนของชุดน้ำเปิด
รูปแบบการทำงานของชุดน้ำเปิด เป็นการถ่ายเทความร้อนจากซีพียู แต่แทนที่จะเป็นแผ่นเพลตทองแดง มายังฮีตไปป์ และผ่านไปยังครีบระบายความร้อนของฮีตซิงก์ แล้วมีพัดลมกระจายความร้อนออกจากฮีตซิงก์ ก็จะเป็นการถ่ายเทความร้อนมายัง Water block หรือบล็อคน้ำ ที่ติดตั้งอยู่บนซีพียู ติดอยู่กับหน้าสัมผัส จากนั้นจะมีการไหลเวียนของน้ำเข้าไปภายใน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละค่ายจะออกแบบภายในเป็นเช่นใด บางรุ่นอาจจะเป็นเพียงช่องทางน้ำที่ขึ้นรูปทองแดงขึ้นมา ให้ทางน้ำเคลื่อนที่ให้คลุมทุกจุด แต่บางค่ายออกแบบเป็น Fin หรือครีบระบายความร้อนคล้ายกับฮีตซิงก์ เพื่อดึงความร้อนให้ได้มากยิ่งขึ้น จากนั้นน้ำเย็นที่ไหลเข้ามา ก็จะนำพาความร้อนออกไปตามน้ำในระบบ
จากนั้นก็จะเข้าสู่ Radiator ให้ไหลไปตามท่อทองแดง ที่อยู่ภายใน ซึ่งจะเป็นน้ำที่มีอุณหภูมิสูง แต่จะลดลงอย่างรวดเร็ว ด้วยพัดลมระบายความร้อน ที่จะเป่าเข้า Radiator ผ่านทางครีบระบายความร้อน เมื่อน้ำเย็นลง ก็จะวิ่งเข้าสู่ปั้มน้ำและแทงก์ ก่อนจะไหลผ่านท่อไปยังซีพียูหรืออุปกรณ์อื่นๆ เช่น การ์ดจอ ที่ใส่ Water Block เอาไว้ แล้วเข้าสู่ Loop เดิมอีกครั้ง โดยอุปกรณ์ทุกชิ้นจะมีหน้าที่และความสำคัญด้วยกันทั้งหมด และต้องปลอดภัยอีกด้วย
อุปกรณ์ที่น่าสนใจ
Water Block หรือบล็อคน้ำซีพียูจากทาง EK ค่ายใหญ่ในสายของ Cooling system ออกแบบมาได้อย่างหรูหรา ด้วย Copper base เพลตทองแดงในที่เป็นหน้าสัมผัส เคลือบด้วยนิกเกิลดูเงางาม และผิวที่เรียบ ให้แนบกับซีพียูได้มากขึ้น ด้านในเป็นบล็อคน้ำ ดีไซน์ให้น้ำไหลเวียนได้รวดเร็ว พร้อมกับแสงไฟ RGB ที่เข้ากับซอฟต์แวร์ของเมนบอร์ดค่ายต่างๆ ได้ ปรับแต่งเองได้เพิ่มความสวยงาม รองรับซีพียู AMD ได้ตัวท็อปอย่าง TR4 ได้อีกด้วย จะเลือกเป็นตัวครอบสีเงิน ดำ หรือโชว์ความสวยงามของแสงไฟก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเวอร์ชั่นสำหรับซีพียู Intel LGA1155 และ LGA1200 ให้เลือกด้วยเช่นกัน สนนราคาประมาณ 5,500 บาท
ฟิตติ้ง Bitspower Premium Master Hard Tube MHT12
ถ้าจะพุดถึงกลุ่มของฟิตติ้งต่างๆ ค่ายนี้ ก็เป็นอีกค่ายหนึ่งที่มีสินค้าในกลุ่มพรีเมียมมาเอาใจคนที่ชอบความสวยงาม โดดเด่น และมีตัวเลือกค่อนข้างเยอะ ชุดหัวฟิตติ้ง 6 ชิ้นนี้ ราคาประมาณพันกว่าบาท เรียกว่าเป็นงานที่ทำออกมาแบบแฮนด์เมด มีความเป็นเอกลักษณ์ รองรับท่อขนาด 12mm ผลิตด้วยอะลูมิเนียมคุณภาพสูง เคลือบเงาด้วยนิกเกิล มีความทนทาน มีตัวล็อคอะลูมิเนียม ที่ชุบด้วยนิกเกิลสีดำดูลงตัวทีเดียว
Corsair Hydro X XL5 Coolant 1 ลิตร
น้ำที่จะใส่เข้าไปในระบบ ควรจะต้องมีคุณภาพ ไม่นำไฟฟ้า และไม่เกิดตะกรัน รวมถึงระบายความร้อนได้ดี ซึ่ง Coolant จากค่ายนี้ ก็สร้างชื่อมาแล้วหลายซีรีส์ ในรุ่นนี้เป็นสี Purple สีสันสดใสเข้ากับธีมของเซ็ตคอม ไม่ว่าจะเป็นสีขาวหรือดำได้ลงตัวทีเดียว มาพร้อมกับการรับประกัน 2 ปี ราคาลิตรละ 6 ร้อยกว่าบาทเท่านั้น
THERMALTAKE PACIFIC PR32-D5 PLUS
ปั้มน้ำที่มาพร้อมกับความคูล สำหรับชุดน้ำเปิด ด้วยแทงก์ระดับ 400ml ฝาหมุนได้ 360 องศา มีขาตั้งจับยึดกับตัวเคส ความสูงประมาณ 267mm และรับแรงดันได้ที่ 50 PSI อัตราการไหลเวียนน้ำที่ 1135 ลิตร/ชม ปรับความเร็วได้ 5 ระดับตามต้องการ ที่สำคัญมีแสงไฟ RGB ที่มากถึง 12 ดวงสว่างขึ้นบนตัวแทงก์ ทำให้ดูโดดเด่น ด้วยการปรับแต่งแสงไฟผ่านทาง Tt RGB Plus
Conclusion
ในแง่ของการใช้งานชุดน้ำเปิด ก็คงต้องขึ้นอยู่กับผู้ใช้เอง ว่าจะมีความพร้อมในการจัดการ ดูแลและปรับปรุงด้วยตัวเองมากน้อยเพียงใด ถึงแม้ว่าระบบระบายความร้อนแบบนี้ จะเป็นผลดีต่อคนที่ชอบความสวยงาม และประสิทธิภาพในการลดความร้อนที่ดีกว่าปกติ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อย รวมถึงการดูแลเป็นพิเศษมากขึ้น การเคลื่อนย้ายอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะนอกจากเคสที่ใส่จะมีขนาดใหญ่และแข็งแรงแล้ว ตัวข้อต่อต่างๆ ไม่เหมาะกับการเคลื่อนไปมา เพราะอาจส่งผลต่อความแข็งแรง ข้อต่อและท่ออย่างมาก ดังนั้นเวลามีปัญหา การจะยกไปร้าน อาจไม่ได้เป็นทางออกที่ดีนัก อย่างน้อยผู้ใช้เอง อาจจะต้องมีความรู้ในส่วนของการดูแลอยู่บ้าง เช่น น้ำรั่วซึมหรือท่อหลวม เอียง ก็ต้องสังเกตได้ เพราะไม่ใช่แต่ตัวชุดน้ำที่จะมีปัญหา แต่อาจส่งผลต่อฮาร์ดแวร์อื่นๆ ภายในเครื่องได้เช่นกัน แม้ว่าปัจจุบัน Coolant จะพัฒนาไปได้ไกล รวมถึงบรรดาชิ้นส่วนต่างๆ ทนทานมั่นใจได้ แต่ก็ต้องอาศัยการตรวจเช็คอยู่เป็นประจำเช่นกัน แต่ถ้าคุณมองข้ามสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็แนะนำเลยว่า ให้ใช้งาน เพราะจะได้สัมผัสกับความอิ่มเอมในด้านต่างๆ จนลืมการใช้งานฮีตซิงก์กันได้เลย แต่ถ้างบไม่ถึง ยังไม่เน้นของแรง ลองดูชุดน้ำปิดใช้งานง่าย เราจัดมาให้ดู 10 รุ่นราคาเบาๆ คลิ๊กเลย!