‘หน้ากากไทยต้านโควิด’ เป็นอีกหนึ่งโครงการจากรัฐบาลที่จะจัดสรรหน้ากากอนามัยแบบผ้าจำนวนกว่า 10 ล้านชิ้นให้แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมไปถึงพื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ เช่น บริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีงบประมาณมาจากการจัดสรรงบกลางราว 65 ล้านบาท ให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำไปผลิตหน้ากากอนามัยชนิดผ้า และแจกจ่ายให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง โดยหน้ากากนี้สามารถใช้ซ้ำได้ ซึ่งน่าจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับการแจก “หน้ากากไทยต้านโควิด” ครั้งนี้ จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน ซึ่งได้ร่วมกันคัดเลือกโรงงานที่มีความพร้อมและศักยภาพในการจัดหาวัตถุดิบในการผลิตที่มีคุณภาพ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้กำหนดในเรื่องของคุณลักษณะผ้าและหน้ากากผ้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
การกำหนดขอบข่าย วัสดุ รวมถึงคุณลักษณะด้านความปลอดภัย ดังนี้
(อ้างอิงจาก: bangkokbiznews)
- ขอบข่าย ได้กำหนดคุณภาพผ้าสำหรับหน้ากากผ้า ที่ตัดเย็บจากผ้าทอหรือผ้าถัก ซึ่งทำจากเส้นใยธรรมชาติ เส้นใยประดิษฐ์ หรือเส้นใยผสม และไม่ครอบคลุมผ้าที่ผลิตจากผ้าไม่ทอไม่ถัก (nonwoven)
- วัสดุ ได้กำหนดไว้ 3 ข้อ ได้แก่ ผ้าทอหรือผ้าถัก ซึ่งทำจากเส้นใยธรรมชาติ เส้นใยประดิษฐ์ หรือเส้นใยผสม ต้องสะอาด ไม่มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ และไม่มีลายพิมพ์ อ่อนนุ่มต่อผิวสัมผัส ไม่ทำเกิดการระคายเคือง และเนื้อผ้าต้องปราศจากข้อบกพร่องที่มีผลต่อการใช้งาน เช่น ผ้าแยก ผ้าขาด เป็นรู น้ำหนักของผ้าต่อหน่วยพื้นที่ต้องไม่น้อยกว่า 80 กรัมต่อตารางเมตร และไม่เกิน 220 กรัมต่อตารางเมตร
- คุณลักษณะด้านความปลอดภัย ต้องมีสีเอโซ (azo dye) ที่แอโรแมติกแอมีน (aromatic amine) ไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ยกเว้นผ้าขาว และผ้าไม่ย้อมสี (ทดสอบตาม EN ISO 14362)
ปริมาณฟอร์แมลดีไฮด์ ต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ทดสอบตาม มอก. 121 เล่ม 33) - ความคงทนของสี ยกเว้นผ้าขาวและผ้าไม่ย้อมสี ต้องมีความคงทนของสีต่อการซัก (ทดสอบตาม มอก. 121 เล่ม 3 วิธี A(1)) (เกรย์สเกล ระดับ) ซึ่งต้องมีค่าการเปลี่ยนสีไม่น้อยกว่า 3 และการตกของสีไม่น้อยกว่า 3
นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการกำหนดขอบข่ายของ ‘หน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้า’ ไว้ว่า หน้ากากผ้าต้องเย็บแบบ 2 ชั้น และไม่ใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 รวมถึงได้กำหนดคุณลักษณะว่า
- การผ่านได้ของอากาศต้องไม่เกิน 50 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อตารางเซนติเมตรต่อวินาที
- ความหนาต้องไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร
ในส่วนของการแจกจ่ายหน้ากากนั้น เริ่มแจกในวันที่ 11 เมษายน 2020 โดยในล็อตแรกจะแจกประมาณ 1 ล้านชิ้น ตามบัญชีรายชื่อตามทะเบียน 1 คน ต่อหน้ากาก 1 ชิ้น ซึ่งจะเริ่มที่เขตป้องปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ ระหัสไปรษณีย์ 10100 ก่อน หลังจากนั้นจึงจะส่งให้ครบทุกเขต ทั้งหมด 50 เขตในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ทางภาครัฐได้กล่าวว่าการแจกจ่ายจนถึงเขตสุดท้ายนั้นจะได้รับไม่เกินต้นเดือนพฤษภาคม 2020 อย่างแน่นอน
นอกจากนี้หน้ากากส่วนที่เหลืออีกราว 4.4 ล้านชิ้น รัฐจะแจกให้กับประชาชนในพื้นที่เขตปริมณฑลและพื้นที่อื่นที่มีความเสี่ยง เช่น จ.นนทบุรี สมุทรปราการ รวมถึงจังหวัดภาคใต้และภาคใต้ชายแดน เป็นต้น และครอบคลุมไปถึงพนักงานบริการที่มีความเสี่ยง เช่น พนักงานขนส่งมวลชน พนักงานสถานีรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน พนักงานไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฯลฯ อีกด้วย
สำหรับใครที่อยากทราบสถานะการจัดส่งหน้ากากอนามัยก็สามารถเข้าไปตรวจสอบสถานะของท่านกันได้แล้วที่: หน้ากากไทยต้าน COVID-19
อ้างอิงข้อมูล: bangkokbiznews