เป็นระยะเวลา 3 เดือนกว่าๆ ได้ครับที่ตั้งแต่มีข่าวการระเบิดของ Samsung Galaxy Note 7 แล้วทาง Samsung ได้เรียกเก็บเครื่องคืนทั้งหมดพร้อมกับบอกเอาไว้ว่าจะทำการค้นหาสาเหตุว่าการระเบิดนั้นเกิดขึ้นมาจากอะไร จนแล้วจนรอดทาง Samsung ก็ไม่เคยเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการออกมาสักทีครับว่าเพราะเหตุใด Galaxy Note 7 ถึงได้ระเบิด ทว่ารายงานการทดสอบล่าสุดจากกลุ่มนักวิศวกรรมฮาร์ดแวร์กลุ่มหนึ่งที่ได้ใช้อุปกรณ์ในการผลิตจริงเป็นเครื่องมือสำหรับทดสอบหาสาเหตุการระเบิดของ Galaxy Note 7 นั้นน่าจะเผยปริศนานี้ให้เราได้แล้วครับ
หมายเหตุ – บริษัทที่ทำการทดสอบดังกล่าวมีชื่อว่า Instrumental ซึ่งเป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยีการผลิต
ตามรายงานนั้นระบุเอาไว้ว่าการระเบิดตามการใช้งานปกติของ Galaxy Note 7 นั้นมีเหตุผลมาจากเรื่องของปัญหาในการดีไซน์ตัวเครื่องตั้งแต่ส่วนปฐมภูมิ(หรือตั้งแต่การดีไซน์ตัวเครื่องตั้งแต่ส่วนแรก) ซึ่งปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่แบตเตอรี่อย่างเดียวเหมือนอย่างที่ทาง Samsung เคยอ้างในตอนแรกๆ แต่ทว่าจุดที่พลาดนั้นคือการวางรากฐานดีไซน์ที่ตัวเครื่องมาพร้อมกับหน้าจอโค้ง 2 ด้านโดยมีขนาดหน้าจอที่ใหญ่ถึง 5.7 นิ้วแต่ทว่าตัวเครื่องมีขนาดเล็กกว่าเครื่องที่หน้าจอมีขนาดเท่านั้นทำให้วงจรภายในต่างๆ นั้นต้องอัดกันแน่นครับ
ทีนี้เมื่อวงจรอุปกรณ์ภายในดังกล่าวต้องอัดกันอย่างแน่นหนาแล้ว เมื่อตัวเครื่องได้รับแรงกดที่มากกว่าปกติโดยเฉพาะที่บริเวณแบตเตอรี่ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีความร้อนสะสมสูงไม่แพ้ส่วนของชิปเซ็ทแล้วยิ่งเมื่อแบตเตอรี่ได้รับแรงกดมากๆ เข้าแน่นอนครับก็อาจจะไปทำให้ส่วนของชั้นที่เป็นขั้นลบและขั้วบวกเคลื่อนเข้ามาติดกันได้แล้วก็ … “ตูม” … ระเบิดครับเพราะเมื่อขั้นทั้ง 2 มาติดกันได้นั้นย่อมทำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรขึ้นมาได้อันเนื่องจากว่าเกิดการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความร้อนสะสมมากไปครับ
สรุปแล้วนั้นผลของการดีไซน์ตัวเครื่องที่ทาง Samsung ตั้งใจจะให้ Galaxy Note 7 นั้นทั้งบางและเบาก็กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่เกิดการระเบิดขึ้นได้จากการทดลองของทาง Instrumental หล่ะครับ โดยทาง Instrumental ได้รายงานเพิ่มเติมว่าโดยปกติแล้วนั้นแบตเตอรี่ควรจะต้องมีช่องว่างจากอุปกรณ์อย่างอื่นอย่างน้อย 10% เป็นอย่างต่ำเพื่อที่จะป้องกันการกดทับของอุปกรณ์อื่นๆ จนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นซึ่งในกรณีของ Note 7 นั้นจะต้องมีระยะห่างของแบตเตอรี่กับอุปกรณ์อื่น 0.5 mm ทว่าในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้นครับ
ที่มา : techspot