หากให้เรียงกันตามลำดับความแรงของชนิดเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วคงต้องบอกว่า Supercomputer นั้นเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่แรงสุดๆ แต่มันก็มาพร้อมกับข้อเสียอย่างใหญ่หลวงเช่นเดียวกันซึ่งนั่นก็คือมันมีราคาแพงมาก, ขนาดของตัวเครื่องก็ใหญ่โตมโหฬาร, ใช้พลังงานแบบเรียกได้ว่าเปลืองสุดๆ และที่สำคัญความร้อนที่เกิดจากการทำงานนั้นก็มหาศาลจนต้องใช้งานในห้องที่กำหนดอุณหภูมิไว้เท่านั้นครับ
Supercomputer รุ่น Power 7 ของ Watson บริษัทลูกของ IBM ที่มีเครื่อง Server หว่า 90 โมดูลประกอบอยู่ภายใน
อย่างไรก็ตามแต่แล้วในอนาคตนั้น Supercomputer คงจะเปลี่ยนไปจากเดิมไม่เหมือนกับที่เราๆ ท่านๆ เคยเห็นมาอีกต่อไปครับ เมื่อนักวิทยาศาสตร์จาก Lund University นาม Heiner Linke(หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยจากหลายๆ มหาวิทยาลัย โดยที่ Lund University เป็นมหาวิทยาลัยหลักในการวิจัยเรื่องดังกล่าวนี้) ได้ออกมาเผยครับว่ากลุ่มของนักวิจัยของเขามีความก้าวหน้าในการออกแบบและวิจัยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีพลังในการประมวลผลระดับ Supercomputer แต่ว่าหลบเลี่ยงข้อเสียของ Supercomputer ที่กล่าวไปในข้างต้นทั้งหมดด้วยการออกแบบ Supercomputer ที่ใช้พลังการประมวลผลจากโปรตีนหรือจะเรียกว่า Bio-Computer ก็ว่าได้ครับ
หมายเหตุ – ลักษณะการทำงานของ Bio-Computerที่แสดงให้เห็นถึงโปรตีนกำลังหาทางเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาจากบนไปล่าง สามารถเข้าไปชมได้จากลิงค์นี้
Bio-Computer นั้นสามารถที่จะทำงานได้เป็นอย่างดีกับงานประเภท cryptography(การอ่านรหัสข้อมูล) และ “mathematical optimization”(การปรับแต่งปัญหาทางคณิตศาสตร์) เพราะงานประเภทดังกล่าวนั้นต้องการทำการทดสอบกับชุดปัญหาหลายๆ ชุดเพื่อที่จะหาคำตอบ แถมเจ้า Bio-Computer นี้ก็ไม่ได้มีการทำงานเหมือนกับคอมพิวเตอร์ตามปกติทั่วไปที่เราใช้กันในปัจจุบันที่มันจะทำงานในรูปแบบของลำดับตามคำสั่งข้อมูล(sequence command) แต่มันสามารถที่จะทำงานในรูปแบบประมวลผลคำสั่งแบบขนาดกันไปได้(parallel command) ซึ่งนั่นทำให้ Bio-Computer นั้นมีความเร็วสูงมากในการแก้ไขปัญหาต่างๆ (หรือมีความเร็วสูงในการประมวลผลคำสั่งที่เป็นปัญหาที่เป็นชุดๆ ครับ)
ในส่วนของด้านการใช้พลังงานในการประมวลผลนั้นทาง Heiner Linke หัวหน้าทีมวิจัยได้บอกเอาไว้ครับว่า Bio-Computer ของพวกเขานั้นใช้พลังงานในการประมวลต่ำกว่า 1% ของพลังงานที่เครื่อง Supercomputer แบบ transistor ในปัจจุบันทำงานเท่านั้น(ในกรณีที่ให้เครื่องทำการประมวลผลคำสั่งแบบเดียวกัน) นอกเหนือไปจากนั้นแล้วตามรายงานของ The CBC ที่ได้เผยออกมาเกี่ยวกับโมเดลของ Bio-Computer ที่ทางทีมวิจัยใช้เป็นเครื่องต้นแบบในการวิจัยนั้นยังมีขนาดตัวเครื่องเท่ากับหนังสือเล่มหนึ่งเท่านั้น
ปัญหาของ Bio-Computer ตอนนี้นั้นก็คือมันยังสามารถทำงานได้ในรูปแบบที่จำกัดอยู่เท่านั้นด้วยปัญหาในเรื่องของ ATP-powered หรือการใช้พลังงานของเครื่อง Bio-Computer ที่อาศัยกระบวนการสะสมพลังงานในสิ่งมีชีวิตซึ่งในที่นี้อาศัยการสร้างโปรตีนด้วยกระบวนการ ATP (Adenosine triphosphate) ทำให้มันยังสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้แค่เซ็ทของตัวเลข {2, 5, 9} เท่านั้น ทว่านักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องก็ได้บอกเอาไว้ว่าพวกเขากำลังขยายขีดความสามารถดังกล่าวนี้อยู่(ซึ่งสามารถทำได้ด้วยเพียงแต่ต้องอาศัยเวลาหน่อยเท่านั้น) เมื่อทางนักวิจัยสามารถที่จะขยายขีดความสามารถให้กับ Bio-Computer ให้ไปได้ไกลกว่านี้เครื่อง Bio-Computer ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนมากกว่านี้
ที่มา : engadget, “Parallel computation with molecular-motor-propelled agents in nanofabricated networks“