ผู้ที่ติดการใช้โทรศัพท์มือถือ อาจทำให้เกิดอาการใหม่ทางสุขภาพจิตได้ นั่นคืออาการที่เรียกว่า “โนโมโฟเบีย” หรือ โนโมบายโฟนโฟเบีย (no mobile phone phobia) เป็นอาการขาดมือถือไม่ได้
No mobile phone phobia
สำหรับผู้ที่มีอาการ โนโมโฟเบีย มักพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา จะรู้สึกกังวลหากมือถือไม่ได้อยู่กับตัว หมกมุ่นอยู่กับการเช็คข้อความ หรือข้อมูลในมือถือตลอดเวลา และดูโทรศัพท์บ่อยๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วน
ถ้ามีเสียงแจ้งเตือน จะรีบเช็คข้อความทันที เล่นมือถือก่อนนอน หลังตื่นนอน หรือขณะที่ทำกิจกรรมประจำวัน เช่น ทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ขับรถหรือนั่งรถ ไม่เคยปิดมือถือ
พฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลกระทบการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่าง เช่น นิ้วล็อค สายตาเสื่อมเร็ว กล้ามเนื้อที่คอ บ่า ไหล่เกร็งและปวดเมื่อย จากการก้มหน้าเพ่งจอเป็นเวลานาน และทำให้หมอนรองกระดูกที่คอเสื่อม อาจทำให้เส้นประสาทสันหลังที่บริเวณส่วนคอ ถูกกดทับ เกิดอาการชาที่แขน มือไม่มีแรง ส่วนการป้องกันโรคนี้ ต้องสร้างวินัยในการใช้มือถือ ควรใช้เท่าที่จำเป็น ทำกิจกรรมอื่นทดแทน
สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจของสมาคมโฆษณาดิจิทัลปี 2557 ได้รวบรวมสถิติการใช้โทรศัพท์มือถือพบว่า ในปี 2556 มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ 88.9 ล้านเครื่อง ขณะที่ปี 2557 เพิ่มเป็น 94.3 ล้านเครื่อง
เมื่อช่วงปลายปี 2556 มียอดผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถืออยู่ที่36.4 ล้านคน ในขณะที่ไตรมาส 2 ของปี 2557 พบว่ายอดผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือสูงขึ้นเป็น 44.6 ล้านคน สำหรับยอดผู้ใช้มือถือประเภทสมาร์ทโฟนจากการรายงานของ 3 ผู้ให้บริการหลัก พบว่าเฉลี่ยแล้วคนไทยใช้สมาร์ตโฟนราว 30% ของมือถือทั้งหมด หรือราว 29.2 ล้านเครื่อง
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์