Connect with us

Hi, what are you looking for?

INTEL

สรุปเจาะลึก Intel Core Ultra 200V Series ใหม่จาก IFA Berlin ยกเครื่องสถาปัตยกรรม แรงกว่าเดิมทุกมุม พลัง AI 120 TOPS เหนือคู่แข่ง!

Intel Core Ultra

ณ งานอีเว้นท์ IFA Berlin (Internationale FunkAusstellung Berlin) งานโชว์นวัตกรรมอันเก่าแก่ที่จัด ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี อินเทลได้นำซีพียู Intel Core Ultra 200V Series รุ่นใหม่ล่าสุดมาเปิดตัวพร้อมโชว์ประสิทธิภาพอันเหนือชั้น ไม่ว่าจะพลังประมวลผล, การจัดการพลังงานแบตเตอรี่ได้ดีขึ้น รวมถึงมีพลังประมวลผล AI ถึง 120 TOPS (120 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที) สูงสุดในปัจจุบันเพื่อรองรับยุคแห่ง AI ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้ใช้มากขึ้นไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ซึ่งรุ่นใหม่ก็มีจุดน่าสนใจหลายส่วนทีเดียว

Intel Core Ultra

จุดเด่นของ Intel Core Ultra 200V Series


สถาปัตยกรรมซีพียูออกแบบใหม่หมด

Intel Core Ultra

เริ่มต้นจากองค์รวมของซีพียูอินเทลตัวใหม่นี้ ถือเป็นการยกเครื่องดีไซน์ใหม่ทั้งแพลตฟอร์ม ใส่ฟีเจอร์ใหม่เข้าไปอีกมากมายจนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เริ่มต้นจากการแพ็คเข้าหากันแบบใหม่อย่าง Foveros 3D Packaging ข้อดีของการรวมแพ็คเกจซีพียูเช่นนี้จะลดความหน่วง (Latency) ในการรับส่งข้อมูลในตัวชิปเซ็ตลดลงไป แถมยังรวมศูนย์ฟีเจอร์ใหม่เข้ามาในตัวชิปเซ็ตด้วย ได้แก่

Advertisement
  1. ตัวชิปเซ็ตรองรับการเชื่อมต่อไร้สายด้วย Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be และ Bluetooth 5.4 และ Thunderbolt 4 ภายในตัว
  2. รองรับ VVC Decode, รองรับระบบ ray-tracing ภายในตัว
  3. NPU เวอร์ชั่น 4.0 ประมวลผล AI ได้ดีกว่าเดิม สูงสุด 120 TOPS (120 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที)
  4. สามารถใส่ RAM เข้าไปในตัวแพ็คเกจได้มากสุด 32GB
  5. จัดการพลังงานดีกว่า Intel Core Ultra รุ่นก่อนหน้าถึง 50%
  6. ปรับแต่งการคาดเดาการทำงาน (Enhanced prediction) ใหม่ให้ทำงานได้ดีขึ้น
  7. เสริมเอนจิ้นรักษาความปลอดภัยข้อมูลภายในเข้ามาแบบ Multi-Engine Security
Intel Core Ultra

อย่างไรก็ตามซีพียูรุ่นใหม่นี้จะไม่มีฟีเจอร์คู่บุญอย่าง SMT (Simutaneous multithreading) หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นหูกันว่า Hyperthreading ออกไป จากการทดสอบทางบริษัทให้เหตุผลว่าการตัดฟีเจอร์นี้ทิ้งไปกลับเป็นผลดีต่อการจัดการพลังงานทำได้ดียิ่งขึ้นและยังทำงานได้ดีกว่าเดิมอีกด้วย หากนับอายุขัยของฟีเจอร์นี้จากซีพียู Intel Xeon รุ่นแรกที่มีฟีเจอร์นี้ตั้งแต่ปี 2002 แล้ว ก็เป็นเวลา 22 ปีทีเดียว

การออกแบบตัวชิปเซ็ต Intel Core Ultra 200V Series ใหม่ซึ่งเน้นลดระยะเวลาความหน่วงตอนรับส่งข้อมูลภายในตัวชิปเซ็ตนั้น ก็ได้ผลชัดเจนทั้งการรับส่งข้อมูลระหว่างคอร์ประเภทเดียวกัน หรือแม้แต่การส่งข้ามระหว่าง E-core ไปยัง P-core ก็ลดลงไปได้พอควร โดยอินเทลเคลมว่าใช้เวลาลดลงดังนี้

  • E-core สู่ E-core ลดลงราว 23 นาโนวินาที
  • P-core สู่ P-core ลดลงราว 26 นาโนวินาที
  • E-core สู่ P-core ลดลงราว 55 นาโนวินาที
  • DRAM latency ลดลงราว 90 นาโนวินาที

นอกจากการลดระยะเวลาการรับส่งข้อมูลข้ามไปมาระหว่างคอร์แต่ละประเภทแล้ว ก็ปรับแต่งให้ซีพียูทำงานร่วมกับ Memory subsystem ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เรียกใช้หน่วยความจำประเภทต่างๆ เช่น Memory scheduler, memory controller, DRAM memory ได้ดีขึ้น

Intel Core Ultra

นอกจากการปรับแต่งโครงสร้างของซีพียูให้ดีขึ้นแล้ว ทางบริษัทก็ประกาศมาตรฐาน Intel Evo ใหม่เพิ่มอีกด้วย ซึ่งนอกจากสติกเกอร์แบบใหม่เน้นชูจุดเด่นว่าเป็น Intel Core Ultra 200V Series แล้ว ทางอินเทลก็จับมือกับผู้พัฒนาโน๊ตบุ๊คชั้นนำเจ้าต่างๆ ร่วมกันพัฒนาให้โน๊ตบุ๊คแต่ละรุ่นให้เข้ากับมาตรฐานนี้ตั้งแต่ระดับการพัฒนาและทดสอบเครื่องอย่างเข้มข้น โดยมีขั้นตอนการทดสอบเข้มงวดยิ่งกว่าเดิมและใช้เวลานาน 12 เดือน ก่อนจะเริ่มวางจำหน่ายจริง ซึ่งทางบริษัทจะเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบอย่าง Pre-verification 1, 2 และ Final verification เข้ามา โดยรายละเอียดการทดสอบดังนี้

  1. ทดสอบหน้าจอและการมองเห็น
  2. ทดสอบความหน่วงของหน้าจอสัมผัส
  3. ทดสอบการชาร์จเร็ว
  4. เทสต์เสียงจากลำโพงโน๊ตบุ๊ค
  5. ตรวจสอบคุณภาพสัญญาณ Wi-Fi
  6. ตรวจสอบการเชื่อมต่อไร้สายด้วย Bluetooth
  7. ทดสอบเสียงรบกวนจากพัดลมและอุณหภูมิเวลาสัมผัสผิวหนังมนุษย์
  8. ทดสอบคุณภาพของกล้องเว็บแคม (VCX)

หลังจากผ่านการทดสอบข้างบนทั้งหมดนี้และได้รับการรับรองจาก Intel ถึงจะติดสติกเกอร์แบบใหม่นี้บนโน๊ตบุ๊คและวางขายได้ เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ใช้งานดีที่สุดนั่นเอง

Intel Core Ultra

ซึ่งผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คชั้นนำของโลกหลายเจ้า ไม่ว่าจะ Acer, MSI, ASUS, HP ฯลฯ ก็ประกาศจับมือนำซีพียูนี้ไปใช้กับโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ในอนาคตต่อไป และจะวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2567 นี้เป็นต้นไป ซึ่งภายในงานก็มีเครื่องตัวอย่างมาให้ชมหลากหลายรุ่นอีกด้วย


จีพียู Intel Arc Graphics เล่นเกมไหนก็ลื่น!

DSC00626

Intel Arc Graphics จีพียูรุ่นใหม่ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ Core Ultra 100 Series ก็ถูกอัปเกรดให้ใช้ทำงานดีดีขึ้นกว่าเดิม เปลี่ยนสถาปัตยกรรมเป็น Intel Xe2 มี 8 คอร์ประมวลผล มีชุดคำสั่ง Intel XMX (Intel Xe Matrix eXtensions) ช่วยเร่งการประมวลผล AI workloads และใช้งานทั่วไปให้ดีขึ้น ซึ่งอินเทลเคลมว่า Core Ultra 200V Series เมื่อใช้ Intel XeSS Upscalling แล้วสามารถเล่นเกมได้เฟรมเรทสูงขึ้น มากสุด 61% เมื่อเล่นเกม Cyberpunk 2077 ส่วนน้อยสุดเทียบกับรุ่นก่อนยังได้เฟรมเรทเพิ่มขึ้นถึง 25% และประสิทธิภาพต่อวัตต์ก็ดีขึ้นกว่าเดิมตั้งแต่ 11~35% อีกด้วย

ด้านเกมใหม่ที่รองรับเทคโนโลยี Upscalling ของ Intel ณ วันประกาศเปิดตัวซีพียูใหม่นี้ ก็มีถึง 120 เกมแล้วและจะมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จากงานเปิดตัวจะเห็นว่ามีเกมชั้นนำหลายเกมรองรับฟีเจอร์นี้แล้ว ไม่ว่าจะ Mortal Kombat 1, Ghost of Tsushima, Manor Lords, Spider-man Remastered ฯลฯ ดังนั้นต่อไปในอนาคตโน๊ตบุ๊คบางเบาและเหล่า Intel Evo ก็สามารถเล่นเกมฆ่าเวลาได้ดีแน่นอน คาดว่าจะยืนพื้นความละเอียด 1080p ปรับกราฟิคระดับ Medium เสริมด้วย Intel XeSS Upscalling ช่วยประมวลผล

Intel Core Ultra

นอกจากข้อมูลเคลมในหน้าสเปคแล้ว ก็มีโน๊ตบุ๊ค Intel Evo พร้อม Core Ultra 200V Series มาให้ทดลองเล่นและโชว์ประสิทธิภาพต่อพลังงานให้เห็นอย่างชัดเจน จะเห็นว่าซีพียูอินเทลรุ่นใหม่นอกจากทำเฟรมเรทเวลาเล่นเกมได้สูงแล้ว ยังใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลงด้วย

สังเกตจะเห็นว่า Core Ultra 9 288V สามารถทำเฟรมเรทได้ 59 Fps แต่ใช้พลังงานสูงสุดเพียง 43.4 วัตต์ ด้านรุ่นรองลงมาอย่าง Core Ultra 7 258V ก็ทำเฟรมเรทได้ 54 Fps และกินไฟเพียง 34.4 วัตต์เท่านั้น นั่นหมายความว่าระยะเวลาทำงานและเล่นเกมฆ่าเวลาโดยใช้แบตเตอรี่จะใช้ได้นานขึ้นแน่นอน


แบ่งงานกันดีขึ้น ประหยัดแบตเตอรี่ ใช้งานได้นาน 20 ชม.

Intel Core Ultra

การยกเครื่องดีไซน์ใหม่หมดของซีพียู Intel Core Ultra 200V Series ก็ปรับการออกแบบส่วนคอร์ซีพียูไปหลายส่วน เน้นการจัดการพลังงานให้ดียิ่งขึ้นมาก ซึ่งจุดเด่นของชิปรุ่นใหม่นี้ได้แก่

  1. ออกแบบสถาปัตยกรรมการจัดการพลังงานในซีพียูใหม่ให้ใช้พลังงานได้ดียิ่งขึ้น
  2. ปรับแต่ง Memory ในแพ็คเกจซีพียูให้ลดการใช้พลังงานลง 40%
  3. Intel Thread Director (ITD) ประสานงานกับระบบจัดการพลังงาน (Power Management) ได้ดีขึ้น
  4. รองรับการประมวลผล AVX กับ VNNI ในตัว

อินเทลเรียกการปรับแต่งคลัสเตอร์ E-core ใหม่ว่าเป็น “Low Power Island Evolution” หากเทียบกับ Meteor Lake รุ่นก่อนซึ่งติดตั้ง Crestmont core 2 คอร์ แชร์ L2 Cache 2MB ร่วมกันแล้ว Lunar Lake รุ่นใหม่จะทำเป็นคลัสเตอร์ Skymont core 4 คอร์ แชร์ L2 Cache 4MB แทน

เวลาทำงาน ระบบจะส่งงานทั่วไปอย่างการดูหนังฟังเพลง, ประชุมงานออนไลน์, ทำงานเอกสาร ฯลฯ ไปให้ E-core แบบใหม่นี้จัดการก่อนเป็นอันดับแรกเพราะมีพลังประมวลผลสูงพอจัดการได้แน่นอน และถ้า ITD พบว่าต้องพึ่งพลังประมวลผลของ P-core ก็จะส่งต่องานไปโดยอัตโนมัติ เพื่อยืดระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่ให้นานยิ่งขึ้น เทียบแล้วใช้พลังงานน้อยกว่า Meteor Lake ถึง 53% แต่ใช้พลังงานน้อยลงสูงสุด 49% ทำงานดีขึ้น 7%

Intel Core Ultra

ด้าน P-core สถาปัตยกรรม Lion cove ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าจะคอยจัดการโปรแกรมใหญ่เกินกำลัง E-core เช่นเดิม ได้รับการปรับแต่งให้ทำงานได้ดีขึ้น หากเทียบแล้วมีพลังประมวลผลดีกว่าค่าเฉลี่ยของแต่ละโปรแกรมทดสอบสูงสุด 20~61% กลับกัน ก็ใช้พลังงานน้อยลงมากสุดถึง 50% แม้ภายในซีพียูจะใส่ RAM 32GB เข้ามาให้แล้วก็ตาม

หากเทียบการใช้พลังงานกับ Intel Core Ultra 7 165H เวลารันโปรแกรมทดสอบ UL Procyon Office Productivity Benchmark จะใช้พลังงานน้อยลงราว 2.29 เท่าทีเดียว ในแง่ประสิทธิภาพมั่นใจว่าสามารถรันโปรแกรมใหญ่ได้รวดเร็วขึ้น

ระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่จากการทดสอบภายในของอินเทลเอง โดยติดตั้งซีพียูไว้ในโน๊ตบุ๊ค OEM หน้าจอ 14-16 นิ้ว ความละเอียด 1080p มีแบตเตอรี่ 75Whr แล้วรันโปรแกรม Benchmark และการประชุมออนไลน์ Intel Core Ultra ใหม่ 2 รุ่นจะมีระยะเวลาใช้งานดังนี้

  • Intel Core Ultra 7 268V – รัน UL Procyon Office Productivity Benchmark จะใช้งานได้นาน 20.1 ชม. ประชุมออนไลน์ด้วย Microsoft Team 3×3 ใช้งานได้ 10.7 ชม.
  • Intel Core Ultra 9 288V – รัน UL Procyon Office Productivity Benchmark จะใช้งานได้นาน 14 ชม. ประชุมออนไลน์ด้วย Microsoft Team 3×3 ใช้งานได้ 9.9 ชม.

พลัง AI สูงสุด 120 TOPS เหนือทุกคู่แข่ง!

Intel Core Ultra

เมื่อถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่ทิศทางของปัญญาประดิษฐ์ ผู้ผลิตชิปเซ็ตแต่ละเจ้าก็ตอบรับเป็นเสียงเดียวกันและอินเทลก็ตอบรับโดยอัปเกรด NPU 4.0 เข้ามาให้และเคลมว่าพลังประมวลผล AI จะทำได้มากสุดถึง 120 TOPS (120 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที) เทียบกับชิปเซ็ตซีพียูรุ่นอื่นแล้วจะทำงานได้เร็วที่สุด ซึ่งข้อดีของการมี NPU เสริมเข้ามาในชิปเซ็ต Intel Core Ultra 200V Series ทางบริษัทเคลมไว้ดังนี้

  1. ซีพียูสามารถจัดการพลังงานได้ดีขึ้น สูงสุด 2.29 เท่า ส่วนจีพียูเพิ่มขึ้น 2 เท่า
  2. ประสิทธิภาพการทำงานต่อเธรดมากขึ้นสูงสุด 3 เท่า
  3. ช่วยให้เล่นเกมได้ไหลลื่นขึ้น หากเทียบกับค่ามาตรฐานแล้วจะดีกว่าเดิม 30%

สเปคโดยสังเขปของ NPU 4.0 จากอีเว้นท์เปิดตัว เป็นสถาปัตยกรรม NPU 4 มี Neural compute engine 6 คอร์ กำลังประมวลผลสูงสุด 48 TOPS อาจสรุปได้ว่าพลังประมวลผล 120 TOPS ไม่ได้มาจาก NPU อย่างเดียว แต่รวมกำลังประมวลผลทั้งชิปเซ็ตถึงได้พลังประมวลผลระดับนี้

Intel Core Ultra

โมเดลภาษากับเฟรมเวิร์คที่ Core Ultra 200V Series รองรับนับว่ากว้างขวางให้ใช้งานได้หลากหลายมาก ซึ่งทางอินเทลเผยข้อมูลในงานไว้ดังนี้

  • โมเดลภาษา (Language Models) – LLaMA 3, LLaMA 3.1, Phi-3, Phi-3 Mini, Phi-3.5, QWEN2-78
  • Multi-Modal Models – LLaVA, nanoLLaVA
  • Diffusion Models – Stable Diffusion 3.0, Stable Diffusion XL
  • เฟรมเวิร์คและการประมวลผลต่างๆ (Frameworks & Enabling) – OpenVINO, DirectML/ONNX, WindowsML, WebNN, llama.cpp, PyTorch, Hugging Face

ด้านกำลังประมวลผล AI โดยใช้ซีพียู Intel Core Ultra 9 288V ทดสอบด้วยโปรแกรม UL Procyon AI Computer Vision คำนวณข้อมูลแบบ int8 ได้ 1,886 คะแนน ส่วนการคำนวนแบบ FP16 ทำได้ 1,017 คะแนน ส่วนการทดสอบวาดภาพด้วย AI ด้วย UL Procyon AI Image Generation ใช้การคำนวน FP16 ทำได้ 391 คะแนน ซึ่งอินเทลเคลมว่าพลังประมวลระดับนี้จะช่วยให้รันส่วนเสริม AI ในโปรแกรมต่างๆ ได้เร็วขึ้นราว 58%

Intel Core Ultra

พอมีชิปเซ็ตทรงพลังมีพลังประมวลผลสูงพร้อมใช้งานได้ดี ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ชั้นนำแต่ละเจ้าก็ปรับแต่งให้โปรแกรมของตนดึงพลังของ NPU ออกมาใช้งานได้ นอกจาก Adobe Suite กับ Canvid โปรแกรมบันทึกภาพหน้าจอเองก็กำลังจะอัปเดตให้ใช้กับ Intel Core Ultra 200V Series ได้เต็มที่ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย ส่วนบริษัทชั้นนำเจ้าอื่นซึ่งประกาศร่วมมือและปรับแต่งซอฟท์แวร์ให้เข้ากับ AI ในซีพียูอิทเทลจะมีข้อมูลโดยสังเขปดังนี้

  1. Autodesk : ใช้ AI ช่วยลด Noise เวลาเรนเดอร์โมเดล 3D
  2. Zoom : นำมาปรับใช้กับ Collaboration effects
  3. tobii : ช่วยจับการขยับดวงตาของผู้ใช้ให้ดีขึ้น
  4. GIMP : ใช้ AI วาดภาพแบบ Image generation
  5. ByteDance : เข้ามาทำเอฟเฟคต่างๆ สำหรับวิดีโอ TikTok
  6. CyberLink : ช่วยให้ตัดต่อภาพและวิดีโอได้สะดวกขึ้น
  7. DeepBrain AI : ช่วยสร้างอวาตาร์โฆษก
  8. Topaz Labs : ทำ Upscalling เพิ่มความละเอียดให้ภาพกับวิดีโอ

บทสรุป Intel Core Ultra 200V Series

Intel Core Ultra

การเปิดตัวซีพียู Intel Core Ultra 200V Series ในงาน IFA Berlin เป็นคำตอบเสียงดังฉะฉานจากยักษ์สีฟ้าว่าจะเดินหน้าต่อในยุค AI อย่างไร? เมื่อมีซีพียูประสิทธิภาพสูงกับผู้ผลิตทั้งซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ชั้นนำจับมือร่วมกันแล้ว ก็จะยังครองใจผู้ใช้ไปได้อีกนานแน่นอน แถมยังผลักดันตลาดให้คู่แข่งต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

จากอีเว้นท์ในครั้งนี้ คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเป็นยุคของปัญญาประดิษฐ์แล้วซึ่งมันช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นใช้เวลาน้อยลงไปอีกมาก ในด้านผู้ใช้ทั่วไปแม้จะเลี่ยงไม่ได้ก็จริงแต่ถ้าเลือกให้มันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในฐานะเลขานุการส่วนตัวหรือตัวช่วยให้คุณภาพงานของเราดียิ่งขึ้นก็เป็นทางเลือกที่ดี


Gallery


บทความที่เกี่ยวข้อง

Intel Gen 14
Lenovo Legion 5i 16IRX9
Lenovo Yoga 7i
Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Buyer's Guide

เล่นเกมด้วย Intel Core Ultra 5 245K กับ 7 เกมยอดนิยมบนการ์ดจอบนซีพียู Intel ไหวมั้ย ลื่นรึเปล่า? Intel Core Ultra 5 245K เป็นซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งปล่อยลงสู่ตลาดในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นอกจากเรื่องความแรงและประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งด้านการประมวลผล หรือปัจจุบันก็มีเรื่องของ...

INTEL

โปรเซสเซอร์ Intel Core Ultra 200S series ใหม่ล่าสุด ส่งมอบประสิทธิภาพการเล่นเกมและการประมวลผลอันเหนือชั้นสำหรับเดสก์ท็อปพีซี พร้อมประหยัดพลังงานมากกว่าที่เคย กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 11 ตุลาคม 2567 –  ประเด็นสำคัญ: อินเทล ประกาศเปิดตัวตระกูลโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ Ultra 200S series...

AMD

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้แล้ว และโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ติดตั้งชิปเซ็ต AMD Ryzen AI NPU ก็เริ่มหาซื้อได้ง่ายขึ้น มีตัวเลือกมากมายแถมซอฟท์แวร์หรือส่วนเสริม AI จากบริษัทชั้นนำก็มีให้ใช้งานมากขึ้นรวมทั้ง Microsoft ก็รับลูก จับมือกับผู้พัฒนาซีพียูปรับแต่ง Windows 11 ให้ใช้งานกับซีพียูรุ่นใหม่มี NPU ได้ดีขึ้นและมีฟังก์ชั่นตรวจจับการทำงานเพิ่มเข้ามาใน Task Manager เป็นพิเศษ ทำให้ผู้ใช้ดูได้ว่าชิปเซ็ตใหม่นี้ทำงานตอนไหนบ้าง อย่างไรก็ตามชิปนี้ถูกออกแบบมาใช้ทำงานเฉพาะอย่าง ปกติมักไมเ่ห็นคอร์นี้ทำงานบ่อยนักจนบางคนเกิดกังขาว่าชิปเซ็ตตัวนี้มันสมคำโฆษณาหรือเปล่า?...

รีวิว Asus

ASUS ZenBook S 14 UX5406SA พร้อม Intel Core Ultra Series 2 สุดทรงพลัง แบตฯ ทนถึงใจ 18 ชม. ได้สบาย! ในงาน IFA Berlin เมื่อไม่นานนี้ Intel ก็เปิดตัวชิปเซ็ตรุ่นใหม่อย่าง Intel...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก