หนึ่งในข่าวที่เป็นกระแสมากในวงการไอทีในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะฝั่งมือถือ คือการที่ Apple ประกาศเตรียมรองรับการรับส่งข้อความแบบ RCS ในปีหน้า เพราะที่ผ่านมา Apple ยืนกรานมาตลอดว่าจะยังคงเดินหน้าในแนวทางของ iMessage สำหรับการแชทภายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของตนเอง ในรูปแบบแอปที่ติดมากับระบบปฏิบัติการและ SMS/MMS ที่เป็นโปรโตคอลหลักในการรับส่งข้อความกับมือถือเครื่องอื่น ๆ เป็นหลักต่อไป
จึงทำให้ชื่อของ RCS เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจมากขึ้นในวงกว้าง ส่วนหนึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อนำคำใดก็ตามไปผูกกับ Apple คำนั้นจะได้รับความสนใจ และเข้ามาในสื่อกระแสหลักได้ง่ายกว่าแบรนด์อื่น ซึ่งในมุมของผู้ใช้งานทั่วไป คงน่าจะได้พบเจอกับคำนี้อย่างเต็มตัวในปีหน้า โดยคาดว่า Apple น่าจะเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการครั้งแรกในการเปิดตัว iOS เวอร์ชันใหม่ ที่ตามปกติแล้วจะได้รับการเปิดตัวก่อนในช่วงงาน WWDC ที่จัดในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งในงาน WWDC24 ก็คงเป็นคิวของ iOS 18 รวมถึง iPadOS 18 และ macOS 15
ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกันไว้ก่อนว่า RCS คืออะไร จะเข้ามาแทนอะไร ใช้เป็นแอปแชทแทน Line ได้เลยมั้ย
RCS คืออะไร?
RCS ย่อมาจาก Rich Communication Services เป็นโปรโตคอลสำหรับการสื่อสารในกลุ่มโทรศัพท์มือถือ โดยมีการทำงานที่อ้างอิงข้อมูลจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ด้วย กล่าวคือ ยังจำเป็นจะต้องผูกบริการไว้กับเบอร์มือถือเหมือนกับ SMS ที่เริ่มพัฒนากันมาตั้งแต่ยุค 80 และยังอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
ประวัติของ RCS นั้นเริ่มขึ้นมาในปี 2007-2008 โดยมีสมาคม GSM (GSMA) เป็นหัวเรือใหญ่ในการพัฒนา ซึ่งก็มีการร่างมาตรฐานและทดสอบมาเป็นระยะเวลาเกือบสิบปี จนได้เริ่มเผยแพร่ Universal Profile เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ โรงงานผู้ผลิตอุปกรณ์ และผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการมือถือนำไปติดตั้งกับระบบของตนเองในช่วงปลายปี 2016 เพื่อให้สามารถใช้งานได้
แต่มีบริษัทหนึ่งที่ต้องบอกว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันเทคโนโลยีนี้รายสำคัญ นั่นก็คือ Google เนื่องจากได้เข้าซื้อบริษัทที่ชื่อ Jibe Mobile ในช่วงปลายปี 2015 ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนา และขายโซลูชันระบบ RCS ให้กับเครือข่ายมือถือรายใหญ่มาแล้วหลายแห่ง ทำให้ Google เปรียบเสมือนผู้ปกครองของโปรโตคอลนี้ และกลายเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันรายสำคัญ เพื่อที่จะให้นำมาใช้แทน SMS/MMS ที่หลายฝ่ายยอมรับกันมาหลายปีแล้วว่ามีระดับความปลอดภัยที่ล้าหลังไปแล้วในปัจจุบัน ซึ่ง Google เองก็เดินหน้าในหลายทาง ทั้งการหาพันธมิตรในฝั่งผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ผู้ผลิตมือถือ รวมถึงการนำโปรโตคอล RCS รวมเข้ามาอยู่ในระบบปฏิบัติการ Android ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากสุดในโลกอีกด้วย
สำหรับใครที่ใช้มือถือ Android อยู่ ตอนนี้น่าจะสามารถเปิดใช้งานการส่งข้อความแบบใหม่นี้กันได้แล้วครับ ผ่านแอป Messages ของ Google เอง (แอปที่ใช้ SMS ตัวเดิมเลย) ขอแค่ใช้ Android เวอร์ชันไม่เก่ามาก ๆๆๆๆๆ ก็พอ ส่วนทางฝั่งเครือข่ายมือถือก็น่าจะใช้กันได้อยู่ แต่เครื่องผมเองยังติดอยู่ที่สถานะกำลังตั้งค่าและพยายามยืนยันหมายเลขโทรศัพท์ เลยยังใช้ไม่ได้เหมือนกัน ถ้าใครที่ติดปัญหาตรงนี้ก็อาจจะต้องไว้ลองใหม่วันหลัง ตามคำแนะนำของ Google เอง หรือทำใจไปก่อน ส่วนถ้าอยากจะให้ชัวร์ ส่วนตัวผมมองว่าคงต้องรอหลังจาก iOS และ iPhone รุ่นใหม่เปิดตัวในปีหน้าเลยครับ เราน่าจะได้เห็นการขานรับอย่างเต็มตัวจากผู้ให้บริการเครือข่ายในหลายประเทศ รวมถึงในบ้านเราด้วย
แต่พอลองเอาซิมเดียวกันไปใส่ใน Google Pixel 2 XL เครื่องเก่า ปรากฏว่าพอกดเปิด ก็สามารถใช้งานได้ทันที แทบไม่ต้องรอยืนยันตัวตนเลย อันนี้ก็ผมงงเหมือนกัน ทั้งที่ในเครื่องที่ลองตอนแรก ถึงขั้นมีข้อความว่าให้ลองใหม่ในวันถัดไปแล้ว ทางที่ดี คือควรจะรวมเซอร์วิสนี้เข้ามาใน OS ให้พร้อมใช้ได้ทันทีตั้งแต่เปิดเครื่องและใส่ซิมเลย เหมือนกับการใช้งาน SMS ซึ่งดูแล้วก็พอเป็นไปได้อยู่ แต่คงต้องรอเวลาซักพัก
ส่วนในมุมของการบริการนั้น หลัก ๆ แล้วโปรโตคอลนี้จะอิงกับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ คือใช้สำหรับการระบุตัวตนของผู้ใช้งานเป็นหลัก ส่วนในการรับส่งข้อความ รูปภาพ วิดีโอ ไฟล์ต่าง ๆ จะใช้การส่งข้อมูลผ่านเน็ตมือถือ (5G/4G/3G) และ WiFi ทำให้ถ้าเป็นการแชทกับผู้ที่ใช้ RCS ด้วยกัน จะสามารถพูดคุย ส่งไฟล์กันได้แบบไม่มีค่าบริการเพิ่มเติมเลย เสียแค่ค่าเน็ตเหมือนการแชทผ่าน Line หรือ Whatsapp ตามปกติ ดังนั้นเราจะมองว่ามันคือแอปแชทตามปกติก็ว่าได้
โดยในการส่งข้อมูล ระบบจะพยายามส่งข้อความผ่านทาง backend Jibe Cloud ของ Google ก่อน ถ้าปลายทางรองรับ ก็จะคุยต่อไปเลย โดยระบบจะไปจัดการเองผ่าน Jibe Hub เพื่อให้ข้อมูลส่งไปถึง backend ของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่รองรับโปรโตคอลเดียวกัน แต่ถ้าปลายทางไม่รองรับ เช่น ไม่ได้เปิดใช้งานไว้ ระบบก็จะสลับมาส่งข้อความผ่าน SMS/MMS ตามปกติ (และเสียเงินตามเรต SMS/MMS ด้วย) ซึ่งลักษณะก็จะคล้ายกับ iMessage ของกลุ่มผลิตภัณฑ์จาก Apple นั่นเอง และอีกมุมหนึ่งที่คล้ายกันก็คือระบบสามารถ backup ข้อความและไฟล์ต่าง ๆ ในแชทได้ผ่านเครื่องมือ backup ของ Android เองเลย ทำให้สามารถย้ายเครื่องได้ โดยที่ข้อความเก่าก็ตามกลับมาหมด ถ้าเลือกให้ restore และซิงค์ข้อมูลมา
บนหน้าเว็บไซต์ Google เองก็มีการอธิบายถึงวิธีดูรูปแบบการส่งข้อความไว้ให้ด้วย เพื่อจะได้สังเกตได้ตั้งแต่ก่อนกดส่งว่าข้อความจะถูกส่งออกไปด้วยวิธีการใด ระหว่างส่งผ่าน WiFi /เน็ตมือถือที่เป็นการส่งฟรีผ่านโปรโตคอลใหม่ หรือส่งผ่าน SMS และ MMS ที่มีการคิดเงินตามแบบที่ใช้งานกันมา ซึ่งก็คล้ายกับใน iMessage ที่จะมีแจ้งในช่องพิมพ์ข้อความเลย ว่าเป็นการส่งผ่าน iMessage (ฟรี) หรือส่งผ่าน Text Message (คิดเงิน) ที่ทั้งหมดนี้ก็ช่วยบอกให้ผู้ใช้ทราบตั้งแต่ก่อนส่งข้อความทั้งคู่ ถือว่าชัดเจนดี
จุดเด่นและฟังก์ชันที่น่าสนใจ
- ส่งภาพและวิดีโอความละเอียดสูงในแชทได้
- รับรู้สถานะได้ ว่าอีกฝ่ายกำลังพิมพ์อยู่ รวมถึงสามารถแสดงสถานะการอ่านข้อความได้ด้วย ว่าอีกฝ่ายอ่านแล้วนะ
- รับส่งข้อความ ไฟล์ผ่านได้ทั้งเน็ตมือถือและ WiFi
- เปลี่ยนชื่อ แก้ไข หรือเอาตัวเองออกจากกรุ๊ปแชทได้
- มีการเข้ารหัสข้อความแบบ end-to-end
ซึ่งจากที่ยกมาข้างต้น ก็จะเห็นว่าล้วนเป็นสิ่งที่ RCS ทำได้เหนือกว่า SMS ทั้งสิ้น จึงทำให้เราน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนผ่านโปรโตคอลการรับส่งข้อความแบบพื้นฐานบนมือถือมาเป็นแบบใหม่ในไม่ช้า หรือถ้าให้ครอบคลุมที่สุด ก็อาจจะเปิดใช้งานไปควบคู่กัน แต่อาจใช้ SMS เป็นแค่ช่องทางฉุกเฉินสำหรับการรับส่งข้อความสั้นเพียงอย่างเดียว เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดเหตุเน็ตมือถือล่ม เน็ตบ้านใช้ไม่ได้ เป็นต้น
RCS จะมาแทน Line ได้หรือเปล่า?
ข้อนี้ขอพูดในมุมของผู้ใช้งานในไทยนะครับ เพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่นิยมใช้ Line เป็นอย่างมาก ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าในตอนที่กระแสของ RCS เข้ามาสู่กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป น่าจะเกิดคำถามตามในหัวข้อนี้แน่ และถ้าเทียบความสามารถแบบคร่าว ๆ ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน ว่าแอปแชทหลักในไทยจะเปลี่ยนจาก Line มาเป็นการแชทผ่าน Messages แทนหรือเปล่า
ซึ่งถ้าเราหยิบจุดเด่นที่สุดของ Line มาก่อน นั่นคือสติกเกอร์ ที่ผู้ใช้สามารถโหลดมาใช้ได้ มีทั้งแบบฟรีและจ่ายเงิน รวมถึงยังมีแพ็คเกจเหมารายเดือน เดือนละ 69 บาทอีก นอกจากนี้ยังเปิดให้ผู้ใช้งานและครีเอเตอร์สามารถสร้างสติกเกอร์ขึ้นมาขายได้เองอีกด้วย อันนี้ต้องบอกว่าเป็นหนึ่งในจุดแข็งมาก ๆ สำหรับผู้ใช้ในไทย ที่นิยมใช้สติกเกอร์แทนความหมาย เพื่อเพิ่มสีสันและความเป็นกันเองให้กับการสื่อสาร แม้ว่าแอปแชทอื่นจะมีสติกเกอร์ให้ใช้งานเช่นกัน แต่ก็ยังตีตลาดในไทยไม่ได้อยู่ดี
สำหรับสายของแอป Messages ตัวของแอปเองไม่ได้มีความสามารถในรูปแบบดังกล่าวให้ใช้งานได้โดยตรง จะมีก็เป็นแบบที่ทางผู้ผลิตมือถือ Android ที่สร้างฟีเจอร์เสริมเข้าไปในซอฟต์แวร์ครอบของตนให้ผู้ใช้สามารถสร้างสติกเกอร์ของตนเองจากภาพในเครื่องได้ เช่นฝั่งของ Samsung ส่วนเวลาจะใช้งาน ก็สามารถเรียกใช้ได้จากฟีเจอร์เสริมในคีย์บอร์ด เป็นต้น
แต่ในจุดนี้ก็ยังน่ากังวลอยู่ดีครับ เพราะมันเป็นฟังก์ชันที่อยู่ในระดับของซอฟต์แวร์ที่มาครอบทับ Android อีกที ทำให้เป็นหน้าที่ของทางผู้ผลิตมือถือที่เป็นคนพัฒนาขึ้นมา ไม่ได้อยู่ในระดับของ OS ประกอบกับความหลากหลายของจำนวนรุ่น จึงอาจทำให้มือถือ Android หลายรุ่นไม่สามารถสร้างสติกเกอร์ใช้เองได้ อันนี้ก็คงต้องรอดูว่าในอนาคต Google จะนำฟังก์ชันนี้เข้ามาใส่ใน Android รุ่นใหม่ ๆ หรือในแอป Messages หรือไม่ และถึงแม้จะเอามาใส่ ก็อาจจะมีมือถือรุ่นเก่าหน่อยที่ไม่รองรับด้วยเหมือนกัน
ส่วนของฝั่ง Apple อันนี้คือเป็นฟังก์ชันที่ใส่มาใน iOS เลย อย่างใน iOS 17 ผู้ใช้สามารถจิ้มค้างไว้ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของรูป ระบบก็จะพยายามตัดขอบเลือกวัตถุ/ตัวแบบชิ้นนั้นให้ แล้วนำมาทำเป็นสติกเกอร์ไว้ใช้ภายหลังได้ รวมถึงยังสามารถใส่เอฟเฟคท์ให้สติกเกอร์ และสร้างเป็นสติกเกอร์แบบ live photo ที่ขยับได้ด้วย เรียกว่าสามารถชนกับสติกเกอร์ใน Line ได้เต็ม ๆ ที่สำคัญคือใช้ได้ฟรี สามารถเรียกใช้ผ่านฟังก์ชันใน iMessage ได้เลย
แต่ถ้าถามว่าจะมาล้มระบบสติกเกอร์ของ Line ได้มั้ย อันนี้ตอบว่ายังยากอยู่ครับ เพราะสติกเกอร์ใน Line หลายอันคือทำมาดีมากจริง ๆ มีตัวเลือกที่หลากหลายทั้งสไตล์ ดีไซน์ การสื่ออารมณ์ ทั้งยังได้เรื่องของความสะดวกด้วย ยอมจ่ายเงินซื้อนิดหน่อย เร็วกว่านั่งทำสติกเกอร์เองเยอะ แต่ก็จะด้อยกว่าในเรื่องของความ personalize ที่การทำสติกเกอร์เอง ผู้ใช้สามารถเลือกรูปของตนเอง สิ่งใกล้ตัว หรือสิ่งที่ต้องการมาทำได้เลย ไม่ต้องไปค้นหาในทะเลสติกเกอร์อีก
ประเด็นต่อมาคือเรื่องความอเนกประสงค์ และการเป็นโซเชียลของ Line ที่เหนือกว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ Line พยายามเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เข้ามาในแอป (ที่แม้หลายท่านจะไม่ค่อยชอบเท่าไหร่) เช่น Voom สำหรับแชร์วิดีโอและคอนเทนต์ต่าง ๆ Today สำหรับอ่านข่าว Wallet ที่ผูกกับ Line Pay ที่นำไปผูกกับบัตร Rabbit สำหรับใช้รถไฟฟ้า BTS ได้ รวมถึงยังรองรับการใช้งานในเชิงโซเชียลมากกว่า เช่น การใช้งาน OpenChat ที่สามารถรวมกลุ่มคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน ให้สามารถเข้ามาพูดคุยกันได้ เป็นต้น
ในขณะที่แอป Messages จะมีลักษณะเป็นแอปเพื่อการสื่อสาร พูดคุยกับคนที่เรารู้จักอยู่แล้วเป็นหลัก คล้ายกับ Whatsapp แต่ก็เสริมมาด้วยการรับข้อความสั้นที่คนอื่นส่งมาหาเบอร์เราได้ด้วย ดังนั้นการแชทผ่าน RCS ถ้าอิงตามในปัจจุบัน ก็น่าจะมีความเป็นโซเชียลที่น้อยกว่า Line แต่เชื่อว่าคงมีหลายท่านที่อยากใช้แบบนี้มากกว่า เพราะอยากให้แอปแชทมันเป็นแค่แอปแชทจริง ๆ
อีกข้อที่น่าสนใจก็คือการใช้งานมากกว่า 1 เครื่องพร้อมกัน อันนี้ Google Messages ก็มีระบบจับคู่อุปกรณ์ ให้ผู้ใช้สามารถรับส่งข้อความ แชทบนเครื่องอื่นที่ไม่ใช่มือถือที่ใส่ซิมเบอร์นั้น ๆ อยู่ด้วย ซึ่งระบบก็จะคล้ายกับ Line เลย แต่การล็อกอินจะทำได้ค่อนข้างง่าย อย่างถ้าใช้บนเว็บ ก็จะมีให้สแกน QR หรือถ้าล็อกอิน Google ID อยู่แล้ว ก็สามารถเลือกรูปอีโมจิที่ตรงกันบนมือถือ เพื่อจับคู่เครื่องเข้าด้วยกันได้แบบง่าย ๆ เลย แต่เท่าที่ลอง ส่วนตัวผมเจอว่าสามารถล็อกอินเพิ่มได้อีกแค่ทีละเครื่องเท่านั้น ก็คือได้เป็น 1 มือถือ + 1 อุปกรณ์อื่น เท่ากับการใช้ Line อยู่ดี
ดังนั้น ถ้าถามว่าโปรโตคอลแชทตัวใหม่นี้จะเข้ามาแทน Line ในไทยได้หรือไม่ ส่วนตัวผมมองว่าในระยะสั้นนี้คงยังครับ อุปสรรคใหญ่คงมีอยู่ห้าหกข้อคือ
- ความเคยชินของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอายุ ทำให้การเปลี่ยนแอปน่าจะเป็นเรื่องลำบาก
- ภาพจำของผู้ใช้งานทั่วไป ที่อาจมองว่าการส่งข้อความในนี้ มันจะเสียเงินเหมือน SMS หรือเปล่า
- ต้องแก้ pain point จาก Line ให้ได้ 100% เช่น ส่งไปแล้วข้อความไม่หาย ไฟล์ไม่ถูกลบ ค้นหาข้อความเก่าเจอ และก็ทำงานได้เร็ว
- ต้องปลอดจากข้อความหลอกลวง หรือพบใน % ที่ต่ำมาก ๆ และต้องใช้เวลาสร้างความมั่นใจด้วย
- องค์กรต่าง ๆ ลงทุนกับการผูกบริการของตนเองเข้ากับ Line ไปแล้ว เช่น การแจ้งเตือนการเดินบัญชีของธนาคาร รวมถึงใช้เป็นช่องทางที่ให้ลูกค้าขอความช่วยเหลือ สอบถามได้ โดยอาศัยฟังก์ชันต่าง ๆ เช่น Line OA Rich Menu ในการคัดกรองข้อมูล
- การเปลี่ยนมาใช้ RCS เท่ากับกระทบยอดการใช้ SMS โดยตรง ซึ่งอาจส่งผลถึงรายได้ของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือด้วย แม้ยอดการใช้ SMS ในปัจจุบันจะน้อยลงมากก็ตาม ทางที่ดีมีอยู่สองทาง คือยังมี SMS อยู่ หรือไม่ก็ตัด SMS ออกเลย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
Google กับ Apple
ในเมื่อผู้ปกครองรายใหญ่ของโปรโตคอล RCS คือ Google ประกอบกับตัวของ SMS ที่เริ่มก่อให้เกิดปัญหา ความรำคาญในกลุ่มผู้ใช้งานมากขึ้น และความพร้อมของระบบที่มากพอแล้ว จึงทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา Google พยายามรุกตลาดการรับส่งข้อความนี้อย่างเห็นได้ชัด และเป้าหมายที่ถูกกระหน่ำหนักสุดก็คือ Apple เนื่องจากเป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการมือถืออีกรายที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นจำนวนมาก ว่าอยากให้ Apple หันมารองรับ RCS ใน iOS ซักที ถึงขั้นมีทั้งการให้สัมภาษณ์ การสร้างแคมเปญโปรโมต และสร้างไวรัลต่าง ๆ ออกมาเป็นระยะ
ซึ่งทางฝั่ง Apple ในช่วงที่ผ่านมา ก็มีท่าทีชัดเจนมาตลอดเช่นกัน ว่ายังไม่สนใจโปรโตคอลใหม่นี้ โดยตัวของ Tim Cook ซีอีโอ Apple เองยังเคยให้สัมภาษณ์ด้วยว่า เพราะ Apple ยังไม่เห็นว่าผู้ใช้จะต้องการให้รองรับเลย จึงไม่จำเป็นต้องเร่งแต่อย่างใด รวมถึงยังมีวลีเด็ดด้วย เมื่อผู้สอบถามได้ถามไปว่าตัวเขาไม่สามารถส่งวิดีโอให้แม่ที่ใช้มือถือ Android ได้ เพราะเวลาส่งไปมันส่งได้แค่ SMS ตัว Tim Cook เองก็ตอบกลับไปแค่ว่า “ก็ซื้อ iPhone ให้แม่คุณใช้สิ” (ที่มาข่าวฉบับแปล)
แน่นอนว่าเกิดเป็นกระแสกระเพื่อมหนักมากในวงการไอที เพราะมันแสดงให้เห็นท่าทีของ Apple ว่าแทบจะไม่สนใจโปรโตคอลใหม่นี้เลย ซึ่ง ณ เวลานั้นก็เป็นจุดที่เข้าใจได้ครับ เพราะเป็นช่วงที่ทางบริษัทก็พยายามพัฒนาความสามารถให้กับ iMessage ของตนเองด้วยเช่นกัน แต่ก็แน่นอนว่ามันเป็นระบบปิด รองรับการใช้งานแบบเต็มที่เฉพาะระหว่างผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ Apple ด้วยกันเท่านั้น (แต่มันก็ไปสุดทางจริง ๆ เหมือนกัน)
แต่เรื่องที่เหลือเชื่อก็เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา อยู่ดี ๆ Apple ก็ประกาศว่าจะรองรับการส่งข้อความผ่าน RCS ในผลิตภัณฑ์ของตน โดยจะมีการอัปเดตซอฟต์แวร์ภายในปี 2024 สำหรับเหตุผลก็มีแจ้งมาเพียงว่า โปรโตคอลใหม่นี้ จะให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นกว่าการใช้ SMS และ MMS มาก ส่วนในแง่การทำงานนั้น จะยังคงทำงานร่วมกับ iMessage เช่นเดิม ไม่ได้เข้ามาแทนที่ระบบของตนเองแต่อย่างใด จึงไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไม Apple ถึงโดนล้อไปพอสมควร เพราะก่อนหน้านี้ก็ถือว่าออกตัวไว้ค่อนข้างแรงเหมือนกัน แถมเหตุการณ์ยังผ่านไปแค่ประมาณ 1 ปีเท่านั้นเอง
ซึ่งในจุดนี้ ก็มีหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าน่าจะมีส่วนมาจากสหภาพยุโรป (EU) ที่กำลังจับตามองการกระทำในลักษณะของการเป็น gatekeeper ของบริษัทใหญ่ตามกฎระเบียบด้านการตลาดดิจิทัล Digital Markets Act (DMA) ที่ดูแลเรื่องการแข่งขันของแพลตฟอร์มดิจิทัล บริการออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการผูกขาด โดยใจความสำคัญของ DMA ที่อาจทำให้ Apple ต้องเร่งก่อนที่จะถูกบังคับเต็มตัวก็คือ ผู้ให้บริการจะต้องทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนทำงานร่วมกันกับแพลตฟอร์มและอุปกรณ์ชนิดอื่น ๆ ได้ ซึ่งเราก็เห็นกันไปแล้วกับการเปลี่ยนมาใช้พอร์ต USB-C ใน iPhone 15 series นั่นเอง
สำหรับในเชิงการทำงานร่วมกันของ iMessage และ RCS นั้น Apple ออกมาให้ข้อมูลแล้วว่าจะถูกนำมาใส่รวมเพื่อให้ทำงานร่วมกันในแอปเดียว แต่จะมีการแสดงสีของบอลลูนข้อความที่ต่างออกไป โดยถ้าเป็นการส่งข้อความผ่านโปรโตคอล iMessage กันเอง บอลลูนจะเป็นสีน้ำเงินตามเดิม แต่ถ้าเป็นข้อความแบบอื่นทั้ง SMS และ RCS จะใช้เป็นบอลลูนสีเขียวเหมือนกัน แต่ยังคงไม่มีพูดถึงว่าในบอลลูนสีเขียวเอง จะแยกอย่างไรว่าเป็นข้อความมาจากโปรโตคอลไหน ระหว่างแบบส่งฟรีกับส่งแบบคิดเงิน อันนี้คงต้องรอดูหลังการประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกที ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นในการเปิดตัว iOS 18 ที่งาน WWDC24 ในช่วงเดือนมิถุนายนของปี 2024 นี้ หรือไม่ก็มาแบบเงียบ ๆ ไปเลย ที่ก็คงต้องรอหลังจากปล่อย iOS 18 เวอร์ชัน beta สำหรับนักพัฒนาออกมาให้ลองกัน แต่อย่างไรก็คิดว่าคงต้องเป็นช่วงหลังกลางปีหน้าเป็นต้นไปอยู่ดี
ทีนี้ถ้าถามว่า iPhone 16 จะใช้ RCS ได้หรือเปล่า อันนี้ถ้าเป็นไปตามแผนที่ Apple ระบุว่าจะปล่อยอัปเดตซอฟต์แวร์พร้อมกับส่ง universal profile ให้ใช้งานโปรโตคอลใหม่นี้ได้ในปีหน้า เราก็น่าจะได้เห็น iPhone 16 รวมถึง iPhone แทบทุกรุ่นที่ยังรองรับการอัปเดตอยู่ สามารถใช้การส่งข้อความฟรีแบบใหม่นี้ได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่า Apple จะผูกการรองรับไว้กับเวอร์ชันของ iOS ด้วยหรือเปล่า ซึ่งถ้าเป็นในลักษณะนี้ รุ่นที่อาจจะกระทบก็จะเป็นเครื่องรุ่นเก่ามากที่อาจไม่รองรับ ที่ไม่ได้รับการอัปเดต iOS ล่าสุดมา 2 เวอร์ชันขึ้นไป อย่างพวก iPhone 6 ลงมา แต่ส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะใช้ได้แทบทั้งหมดครับ ยกเว้นว่าเป็นรุ่นเก่ามากจริง ๆ
สรุปปิดท้าย
RCS คือโปรโตคอลกับรับส่งข้อความ ไฟล์ ภาพ วิดีโอ ที่ตั้งเป้าว่าจะเข้ามาทดแทนระบบ SMS/MMS ที่ใช้กันในมือถือมาอย่างยาวนาน ด้วยความสามารถที่เหนือกว่า อาทิ
- สามารถรับส่งข้อมูลผ่านเน็ตมือถือและ WiFi ได้ ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นอกเหนือจากค่าเน็ต (มองว่าเหมือนคุยผ่านแอปแชทปกติ)
- รับส่งได้ทั้งข้อความ รูปภาพ วิดีโอ ไฟล์ต่าง ๆ
- ต่อไปจะสามารถใช้งานได้ทั้งมือถือ Android และบน iPhone ที่เป็นสอง OS หลักในวงการสมาร์ตโฟนปัจจุบัน
- สามารถแสดงสถานะการอ่านข้อความได้
- มีการเข้ารหัสจากปลายทางถึงปลายทาง (end-to-end) เพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูล ว่าแม้จะถูกดักกลางทาง แต่ก็ไม่สามารถแกะข้อความอ่านได้
ซึ่งถ้าจับมาเทียบกับแอปแชทอย่าง Line, Whatsapp รวมถึง Messenger ของ Facebook ก็ต้องบอกว่ามันมีฟังก์ชันหลาย ๆ อย่างที่พอใช้แทนกันได้เลย สำหรับผู้ที่ต้องการเน้นใช้คุย ส่งภาพ ส่งวิดีโอเป็นหลัก เปิดโอกาสให้เราสามารถส่งไฟล์ไปหาผู้อื่นได้ แม้จะทราบเพียงแค่เบอร์โทรก็ตาม ต่างจากในปัจจุบันที่ถ้าเรามีแค่เบอร์ ก็อาจต้องไปแอดไลน์ก่อน ถึงจะส่งภาพหากันได้ เรียกว่าเป็นการเพิ่มความสะดวกในการติดต่อสื่อสารได้มากทีเดียว
แต่ก็เชื่อว่าปัญหาเรื่องข้อความ spam ข้อความหลอกลวงต่าง ๆ ก็น่าจะยังมีอยู่ครับ เผลอ ๆ อาจจะเปิดโอกาสให้ส่งภาพ/วิดีโอเข้ามารบกวนได้หนักขึ้นกว่าเดิมอีก จากที่ในปัจจุบันจะเน้นข้อความเป็นหลัก มีส่งภาพมาเป็น MMS บ้างแต่ก็ไม่เยอะ
สำหรับใครที่อยากใช้งานโปรโตคอลใหม่นี้ หากใช้มือถือ Android อยู่ ก็สามารถเข้าไปเปิดใช้งานได้เลยที่แอป Messages ของ Google เอง ซึ่งก็คือแอปสำหรับใช้งาน SMS ที่ติดมากับเครื่อง แต่สำหรับเครื่องไหนที่ไม่มี ก็สามารถเข้าไปดาวน์โหลดจาก Play Store มาใช้ได้ฟรีเลย หรือบางทีอาจจะลองตรวจสอบจากในแอป SMS ที่มีในเครื่องก่อนว่ารองรับหรือยัง เพราะอาจจะมีปล่อยมาให้ใช้งานกันแล้ว โดยไม่ต้องโหลดแอป Messages มาอีก ส่วนฝั่ง iPhone ก็รอปีหน้าเลยครับ อย่างเร็วก็คงจะปลายปี เว้นแต่ว่า Apple รีบ ก็อาจจะมีเป็นแพตช์ออกมาให้ก่อน แต่คงไม่ใช่ในสามสี่เดือนนี้แน่ ๆ