SSD ยี่ห้อไหนดี 2022 เลือกให้เหมาะกับการใช้งาน ค่าใดสำคัญ เพิ่มประสิทธิภาพให้กับการเล่นเกม
SSD ยี่ห้อไหนดี มีวิธีเลือกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเร็วในการอ่าน-เขียนข้อมูล ความทนทาน ที่ต้องดูกันที่ค่า Endurance และความจุที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด เมื่อเอามาเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ตั้งไว้ ก็จะได้ SSD ที่เป็นตัวเลือกอันเหมาะสมกับที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอินเทอร์เฟสในการเชื่อมต่อบนเมนบอร์ด เพราะปัจจุบัน M.2 PCIe ได้ขยับมาถึงเวอร์ชั่น 5.0 แล้ว แต่ SSD ที่วางจำหน่ายเวลานี้ ก็เป็นแบบ PCIe 4.0 ที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แม้ว่าราคาจะสูงอยู่ แต่หลายคนก็ให้ความสนใจ เพราะได้ทั้งความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูล เข้าถึงโปรแกรม เปิดไฟล์ได้รวดเร็วกว่า SSD ทั่วไปอยู่มาก อีกทั้งเมนบอร์ดหลายรุ่น ก็รองรับมาตรฐานนี้แล้วเช่นกัน ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า เราจะเลือก SSD อย่างไร ยี่ห้อไหนดี และความจุเท่าไรถึงจะตอบโจทย์ในการใช้งานของคุณในปี 2022 นี้
SSD ยี่ห้อไหนดี รุ่นไหนน่าสนใจ?
- Samsung
- Western Digital
- Corsair
- Kingston
- เลือกความจุเท่าไร?
- ตัวอย่าง SSD 1TB ที่น่าสนใจสำหรับคอเกม
- ค่าใดบน SSD ที่ต้องสนใจ
- Conclusion
SSD ยี่ห้อไหนดี เรื่องของยี่ห้ออาจไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในการใช้งานของแต่ละบุคคล เพราะยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องให้ความสนใจ แต่หลายคนก็เชื่อมั่นในแบรนด์ที่อาจจะเคยใช้ เห็นในรีวิวหรือบางแบรนด์ก็เป็นที่รู้จักมานาน ก็สร้างความมั่นใจในการใช้งาน ซึ่งอาจจะรวมถึงการรับประกันที่ยาวนานมากขึ้น โดยแบรนด์ก็มีให้เห็นมากมาย อาทิ Samsung, WD, Corsair, Kingston, ADATA, Seagate หรือ Transcend เป็นต้น โดยแต่ละยี่ห้อ ก็จะมี SSD โมเดลที่แบ่งออกเป็นแต่ละระดับต่างกันออกไป ตามกลุ่มผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็น SATA III, M.2 PCIe หรือจะเป็น PCI-Express card เป็นต้น แต่สิ่งที่ผู้ใช้จะต้องให้ความสำคัญก็คือ ตัวแทนจำหน่าย ระยะเวลาการรับประกัน และมาตรการในการเคลมสินค้าเป็นต้น เรามาดูกันว่าโมเดลของ SSD ในแต่ละค่ายมีรุ่นใดกันบ้าง ตัวอย่างเช่น
Samsung
- Samsung 980 PRO: จัดเป็น SSD ในกลุ่ม Performance ที่ให้พลังในการทำงานและเล่นเกมได้เต็มเปี่ยม บนอินเทอร์เฟส PCIe 4.0 ให้ความเร็วในการทำงานได้สูง 7,000MB/s ด้วยการใช้ V-NAND MLC เร็วกว่า PCIe 3.0 ราว 10 เท่าทีเดียว รวมถึงค่า Endurance มากกว่า 1,200 TBW พร้อมการรับประกัน 5 ปี
- Samsung 980: เป็นรุ่นดั้งเดิม ที่อยู่ในตลาดมานาน แต่ก็อยู่ในกลุ่ม Performance เช่นเดียวกัน รองรับการอัพเกรดได้ทั้งบนโน๊ตบุ๊คและเดสก์ทอปพีซี การเชื่อมต่อร่วมกับ PCIe 3.0 x4 ให้ความเร็วในการอ่าน 3,500MB/s พร้อมแคชเมมโมรีในตัว และมีค่า Endurance 600 TBW ซึ่งทำงานร่วมกับ V-NAND เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคอเกมและคนทำงานจริงจัง
- Samsung 970 EVO และ EVO Plus: เป็น SSD ในกลุ่มของผู้ที่ชื่นชอบและเน้นประสิทธิภาพในการทำงานและเล่นเกม ในราคาที่ย่อมเยาลงมาจาก Pro series แต่ก็มีเทคโนโลยีในด้าน V-NAND และ SLC Cache ในการเพิ่มแบนด์วิทธิ์ได้มากขึ้น มีความทนทาน แต่ยังอยู่บนพื้นฐานอินเทอร์เฟส PCIe 3.0 x4 ให้ความเร็วในการอ่าน 3,500MB/s แต่อัตราความเร็วในการเขียนจะน้อยกว่า Pro เล็กน้อย ส่วนค่า Endurance เท่ากัน เช่นเดียวกับระยะการรับประกัน
Western Digital (WD)
- WD Green SN550: เป็น SSD ในกลุ่มเริ่มต้น ในกลุ่มตลาดที่เน้นราคาประหยัด แต่ทำความเร็วได้อย่างคุ้มค่า เมื่อเทียบกับฮาร์ดดิสก์แบบปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีทั้งที่เป็น SSD SATA III ให้เลือกอีกด้วย ซึ่งความเร็วในการอ่าน/เขียน อยู่ในระดับ 1,xxxMB/s
- WD Blue SN570: เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ของผู้ใช้คอมและโน๊ตบุ๊คที่ต้องการประสิทธิภาพ และการใช้งานที่ยาวนานขึ้น รองรับการทำงานข้อมูลในแบบมัลติทาส์กได้ดี ราคาไม่สูงมากนัก มีค่า Endurance ระดับ 150 TBW ความเร็วในการอ่านข้อมูลอยู่ในระดับ 3,xxxMB/s เหมาะกับคอเกม รองรับ PCIe 3.0
- WD Black SN750: เป็น SSD ในกลุ่ม Performance เน้นการเล่นเกมและทำงาน ให้ความสำคัญกับความเร็วและประสิทธิภาพในการเข้าถึงข้อมูล พร้อมการถ่ายโอนข้อมูลที่รวดเร็ว มีให้เลือกในหลายซีรีส์ เช่น WD Black SN750 SE, SN770 และ WD Black SN850 โดยจะต่างกันไป โดยที่ขยับมาใช้อินเทอร์เฟส PCIe 4.0 และความเร็วเริ่มต้นอยู่ที่ 3,600MB/s สำหรับ SN750SE และ 7,000MB/s สำหรับ SN850 การรับประกันอยู่ที่ 5 ปี และมีค่า Endurance 600 TBW สำหรับ SN750
สามารถดูผลทดสอบเพิ่มเติมได้ใน รีวิว WD SSD นอกจากนี้ก็จะมีในกลุ่มที่เป็น NAS อย่างเช่น SSD Red series เป็นต้น
Corsair
- Corsair MP400: เป็น SSD น้องเล็กในตลาด Value ที่เน้นประหยัด แต่ให้ประสิทธิภาพที่ดี ด้วยการใช้ NAND ในแบบ QLC ที่สามารถเพิ่มความจุได้มากขึ้น รวมถึงค่า Endurance โดยในรุ่น 1TB อยู่ที่ 200 TBW และสูงสุด 1,440 TBW ในรุ่น 8TB ซึ่งทาง Corsair เปรียบเทียบว่า เก็บข้อมูลวันละ 35GB ได้ถึง 112 ปี โดยเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เฟส PCIe 3.0 x4 จัดว่าเป็น SSD เริ่มต้นของใครหลายคนได้ดีทีเดียว
- Corsair MP510: จัดเป็น SSD สำหรับการใช้งานในทุกวัน ให้ความเร็วในการทำงานที่สูง เหมาะทั้งงานทั่วไป ความบันเทิง และด้านการเล่นเกม มาพร้อม NAND 3D TCL เช่นเดียวกัน แต่ให้ความเร็วได้ถึง 3,480MB/s สำหรับความจุ 960GB และการเชื่อมต่อ PCIe 3.0 x4 เช่นเดียวกับค่า Endurance 720 TBW มีหลายโมเดลให้ได้ใช้งาน สำหรับคนที่ให้ความสำคัญกับความเร็วและการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งเหนือกว่า MP400 ให้การรับประกัน 5 ปี
- Corsair MP600: ต้องถือเป็น SSD ตัวบนๆ ของค่ายนี้ เพราะมาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ครบครัน เช่น อินเทอร์เฟส PCIe 4.0 ให้ความเร็วสูงถึง 4,950MB/s ในการ Read และใช้ NAND ในแบบ 3D TLC จึงมีความเร็วในการเขียนข้อมูลที่สูง เช่นเดียวกับค่าความทนทาน 3600 TBW และ MTBF มากกว่า 1.7 ล้านชั่วโมง แต่เหมาะกับพีซีมากกว่าโน๊ตบุ๊ค เพราะมีฮีตซิงก์ติดมาด้วย รับประกัน 5 ปี
- Corsair 600 Pro: จัดว่าเป็นตัวท็อป เทียบเท่ากับบรรดาคู่แข่งในกลุ่มของ Pro series เช่นกัน แม้ว่าจะใช้อินเทอร์เฟส PCIe 4.0 ก็ตาม แต่ก็ให้ NAND 3D TLC คุณภาพสูง พร้อมความเร็วที่เพิ่มขึ้นเป็น 7,000MB/s ในการ Read โดยมีค่า Endurance 3,000 TBW และ MTBF มากกว่า 1.7 ล้านชั่วโมง เช่นเดียวกัน มีตัวเลือกให้มากถึง 4TB
Kingston
- Kingston NV1: ถือว่าเป็น SSD ตัวเริ่มต้นของใครหลายคนหรือใช้ในการโยกย้ายข้อมูลในงานต่างๆ ได้สะดวก เพราะมาทั้งความเร็วที่มากถึง 2,100MB/s สำหรับความจุ 1TB และมีตัวเลือกที่มากถึง 2TB ด้วยกัน บนมาตรฐานการเชื่อมต่อ PCIe 3.0 x4 ซึ่งใช้ร่วมกับเดสก์ทอปหรือโน๊ตบุ๊คในปัจจุบันได้ รวมถึงค่า Endurance 240 TBW สำหรับ 1TB รูปลักษณ์ที่เน้นความบาง ค่า TDP ต่ำ ความร้อนน้อย รับประกันที่ 3 ปี
- Kingston KC2500: SSD ในซีรีส์เริ่มต้น ที่ออกมาให้ผู้ใช้สัมผัสได้สักพักใหญ่ สำหรับพีซีและเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คโดยเฉพาะ กับค่าตัวที่ไม่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับสเปคที่ให้มา และใช้อินเทอร์เฟส PCIe 3.0 x4 ให้ความเร็วในการอ่านที่ 3,500MB/s มีความจุให้เลือกสูงสุด 2TB โดยใช้ NAND แบบ 3D TLC มีค่า Endurance 600 TBW สำหรับรุ่น 1TB และ MTBF 2 ล้านชั่วโมง พร้อมการรับประกัน 5 ปี
- Kingston KC3000: จัดเป็น SSD รุ่นกลางในกลุ่ม Performance ที่ให้ประสิทธิภาพในการทำงานในด้านต่างๆ ได้อย่างลงตัว ด้วย NAND 3D TLC รองรับความจุได้สูง และการเชื่อมต่อบนอินเทอร์เฟสใหม่ PCIe 4.0 x4 จึงเพิ่มความเร็วได้ถึง 7,000MB/s ให้ตัวเลือกความจุที่มากถึง 4TB พร้อมกับชุดระบายความร้อนบางๆ ในตัว เหมาะทั้งโน๊ตบุ๊คและพีซีที่ต้องการศักยภาพในด้านข้อมูลและพื้นที่การติดตั้งเกม หรือโปรแกรมเฉพาะทาง พร้อมกับค่า Endurance ที่สูงถึง 800 TBW ในรุ่นความจุ 1TB โดยรับประกันที่ 5 ปี
- Kingston FURY RENEGADE: เรียกว่าเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มตลาด SSD Consumer ของทางค่ายนี้เลย เพราะสเปคจัดเต็มมาไม่แพ้คู่แข่ง พร้อม NAND 3D TLC และอินเทอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ให้ความเร็วสูงสุดถึง 7,300MB/s เลยทีเดียว โดยมีตัวเลือกตั้งแต่ 500GB – 4TB เหมาะอย่างยิ่งสำหรับฮาร์ดคอร์เกมเมอร์และเครื่อง Workstation ให้ความคล่องตัวในการเปิดไฟล์ แอพพลิเคชั่นและติดตั้งโปรแกรม เกม ได้อย่างเพียงพอ จุดเด่นอยู่ที่ออกแบบได้บาง เพื่อให้ใช้ร่วมกับโน๊ตบุ๊คได้สะดวก โดยมีค่า Endurance 1,000 TBW สำหรับความจุ 1TB และ MTBF 1.8 ล้านชั่วโมง การรับประกัน 5 ปี
เลือกความจุเท่าไร?
เกมมิ่งพีซี โน๊ตบุ๊ค: ในการเล่นเกม 2022 หากคุณมีเกมที่ชอบ 2-3 เกมที่เป็นเกมพื้นฐาน เช่น AAA, Valorant อาจใช้พื้นที่ไม่มากนัก 480GB – 512GB ที่เป็นความจุพื้นฐาน ติดตั้งมาบนโน๊ตบุ๊คส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เมื่อรวมระบบปฏิบัติการ รวมถึงยูทิลิตี้อื่นๆ ก็เพียงพอต่อการใช้งาน จะได้ไม่งงว่าจะเลือก SSD ยี่ห้อไหนดี แต่หากเน้นเล่นเกมในระดับ AAA เช่น Battlefied, SCUM, Farcry, GTA V หรือจะเป็น Elden Ring เกมเหล่านี้ มักใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการติดตั้ง และเมื่อรวมการอัพเดตตัวเกมแล้ว อาจใช้พื้นที่มากถึง 200-300GB ต่อเกมเลยทีเดียว ดังนั้นจึงต้องเลือก SSD ที่มีความจุมากขึ้น เช่น 960GB หรือมากกว่า 1TB เป็นต้น
ทำงานทั่วไป: หากเป็นเพียงการใช้งานพื้นฐาน เช่น งานเอกสารทั่วไป และใช้แอพพลิเคชั่นบน Cloud เป็นหลัก SSD ความจุ 240-256GB ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว แต่ถ้าเป็นงานที่เกี่ยวกับรูปภาพ สร้างพรีเซนเทชั่น อาจจะต้องขยับขึ้นเป็น 480-500GB หรือถ้ามีความจำเป็นต้องใช้โปรแกรมด้านภาพหรืองานกราฟิกเพิ่มเติม ต้องการความเร็วด้วย และพื้นที่จัดเก็บไฟล์งานด้วย SSD 960GB-1TB เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม เพราะนอกจากจะทำงานได้ลื่นไหล ก็ยังมีพื้นที่พอให้โยกย้ายไปมาได้สะดวกมากขึ้น
งานวีดีโอ: สายงานวีดีโอถ้าใช้งานแบบจริงจัง นอกจากความจุต้องมากพอสำหรับการติดตั้งโปรแกรม และมีพื้นที่สำหรับ Swap file ในการเก็บ Footage แล้ว ก็ต้องมีความเร็วมากพอในการทำงาน โดยอาจจะใช้งานในระดับ Workstation เพื่อการตัดต่อแบบมืออาชีพ อย่างน้อยๆ 2TB หรือต่อกันด้วยการทำ RIAD ไม่ว่าจะเป็น Stripe หรือ Mirror ก็ตาม เพื่อความเร็วและให้ความปลอดภัยต่อข้อมูล รวมถึงมี NAS หรือชุดสำรองข้อมูลภายนอกเอาไว้ด้วย
ค่าใดบน SSD ที่ต้องสนใจ
อินเทอร์เฟส: PCIe Gen3 x4, Gen 4 x4 ตัวเลขเหล่านี้ บอกถึง Interface หรือช่องทางติดต่อข้อมูล ระหว่างคอนโทรลเลอร์ของ SSD กับเมนบอร์ดหรือซีพียู โดยที่ PCIe หรือ PCI-Express นี้ เป็นช่องทางที่เชื่อมต่อโดยตรงกับซีพียู ซึ่งให้ความเร็วในการทำงานที่สูงกว่ารูปแบบ SATA III ที่เราเคยใช้กันในอดีต หากต้องการ SSD ที่มีประสิทธิภาพสูง PCIe 4.0 หรือ Gen 4 จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้ เพราะให้ความเร็วในการอ่าน/เขียน ได้มากถึง 8,000MB/s ในกรณีที่เมนบอร์ดหรือโน๊ตบุ๊คเหล่านั้น มีช่องทางการเชื่อมต่อที่เป็น PCIe 4.0 เช่นเดียวกัน แต่ถ้าคอมที่ใช้ เป็นชิปเซ็ตกลางๆ หรือเป็นรุ่น 2-3 ปีที่ผ่านมา PCIe 3.0 ก็เป็นตัวที่ดี เพราะราคาไม่สูง แต่ก็ให้ความเร็วได้น่าประทับใจ นั่นคือราวๆ 3,000-4,000MB/s เลยทีเดียว ราคาขึ้นอยู่กับ NAND Flash และองค์ประกอบอื่นๆ อยู่ด้วยเช่นกัน
Sequential Read/ Write: ตัวเลขนี้ออกมาเป็นหน่วย MB/s (เมกะไบต์ต่อวินาที) เป็นค่าที่บอกถึงความสามารถหรือประสิทธิภาพของ SSD ได้อย่างชัดเจน ซึ่งตัวเลขยิ่งมาก หมายถึงเร็ว ดี โอนถ่ายไฟล์ได้รวดเร็ว ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับอินเทอร์เฟสและ NAND Flash รวมถึงคอนโทรลเลอร์ของ SSD เป็นหลัก และยิ่งตัวเลขมาก ราคาก็จะยิ่งสูงด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น WD Green SN550 ตัวเลขอยู่ที่ 1,xxxMB/s แต่ WD Black SN750 SE สูงถึง 7,xxxMB/s เป็นต้น
TBW (Total Bytes Written): เป็นข้อกำหนดจาก JEDEC ในการอ้างอิงถึง SSD Endurance Workloads โดยหมายถึงการเขียนข้อมูลทับบนตัวเซลล์หน่วยความจำ ค่านี้จะบอกถึงตัวเลข Workload ที่หมายถึงความทนทานหรือ Endurance ของ SSD รุ่นนั้นๆ ซึ่งตัวเลขจะออกมาไม่เท่ากัน โดยค่ายิ่งมาก จะหมายถึงดี หรือมีอัตราการเขียนข้อมูลได้จำนวนมาก หน่วยเป็น TBW สามารถเขียนข้อมูลทับลงไปบน NAND ได้มหาศาล โดยมีตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักพันหรือปัจจุบัน ตัวเลขขยับไปมากกว่า 1,000TBW อย่างเช่น Corsair 600 Pro ที่มีตัวเลขสูงถึง 3,000 TBW เลยทีเดียว และเมื่อมาคำนวณตัวเลขความจุและค่า TBW นี้แล้ว จะทำให้เราเห็นตัวเลขที่บอกถึงช่วงเวลาที่เราจะใช้ทำงาน SSD ตัวนี้ในแบบกี่วันกี่ปีกันได้เลย
MTBF (Mean Time Between Failures): ไม่ว่าจะเป็น SSD ยี่ห้อไหนดี ตัวเลขที่มีอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ แบบนี้ เช่น เครื่องจักรกล รวมถึงสิ่งที่ต้องทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน รวมถึง SSD นี้ด้วย โดยหมายถึงอัตราเฉลี่ยของระยะเวลาในการทำงานจนกว่าจะเกิดความเสียหาย มีหน่วยเป็นชั่วโมง เช่นเดียวกันกับ BTW ตัวเลขยิ่งมาก หมายถึงมีสมรรถนะที่ดี เชื่อถือได้ ซึ่งส่วนใหญ่ตัวเลขจะเกิด ล้านชั่วโมงขึ้นไป โดยที่ SSD รุ่นท็อปๆ นั้น อาจมีตัวเลขที่มากกว่า 1.8 ล้านชั่วโมง นั่นหมายถึงเมื่อคำนวณมาเป็นปีที่ใช้งาน ก็อาจจะมากกว่า 100 ปี แต่ก็อย่าลืมว่าตัวเลขเหล่านี้เป็นค่าเฉลี่ย อาจมากกว่าหรือน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานของแต่ละบุคคล ส่วนจะเลือก SSD ยี่ห้อไหนดี ก็ใช้ค่าเหล่านี้มาตัดสินใจด้วยได้
ตัวอย่าง SSD 1TB ที่น่าสนใจสำหรับคอเกม
1.WD Blue SN550: จัดเป็น SSD ตัวคุ้มบนความจุ 1TB และยังใช้ได้ทั้งบนโน๊ตบุ๊คและเดสก์ทอปพีซี เชื่อมต่อบนอินเทอร์เฟส PCIe 3.0 x4 ความเร็วในการอ่าน/เขียนที่ 2,400MB/s และ 1,950MB/s ตามลำดับ พร้อมค่า Endurance 600 TBW และรับประกัน 5 ปี ในราคา 3 พันต้นๆ เท่านั้น
2.T-FORCE CARDEA Z44L จัดเป็น SSD ในแบบ M.2 NVMe อีกรุ่นหนึ่งที่น่าสนใจ ในราคา 4 พันนิดๆ เพราะไม่ใช่เพียงได้ SSD ความจุ 1TB เท่านั้น แต่ยังมาพร้อมอินเทอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ให้ความเร็วในการอ่าน/ เขียนสูงถึง 3,500MB/s และ 3,000MB/s ตามลำดับ เรียกว่าจ่ายเพิ่มอีกนิด แต่น่าใช้ โดยเฉพาะคนที่ใช้เมนบอร์ดหรือโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ๆ และการรับประกัน 5 ปี โดยมีค่า Endurance 400 TBW
3.WD Black SN750 SE: ถ้าเน้นประสิทธิภาพและให้ความเชื่อมั่นได้ทั้งความเร็วและความทนทานที่ดี ในราคาที่ไม่สูงเกินไปนัก ที่มาพร้อมอินเทอร์เฟส PCIe 4.0 ให้ความเร็วได้ที่ 3,430MB/s (Read) และ Endurance 600 TBW ในราคา 4 พันกลางๆ SSD รุ่นนี้ ก็น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว สำหรับคอเกมและคนทำงานด้านวีดีโอ
4.GIGABYTE GSM2NE3100TNTD: หากจะเน้นไปในเรื่องความเชื่อมั่น ทนทานและตอบสนองการใช้งานในด้านต่างๆ รวมถึงการเล่นเกมได้ยาวๆ ในงบประมาณไม่ถึง 4 พันบาท SSD ยี่ห้อไหนดี SSD รุ่นนี้ก็เป็นที่น่าจับจอง เพราะมาพร้อมกับ HBM ในการติดต่อเข้ากับเมมโมรีช่วยเพิ่มการทำบัฟเฟอร์ได้ดีขึ้น ให้ความเร็วที่ 2,500MB/s (Read) และค่า Endurance 1600 TBW พร้อมการรับประกัน 5 ปี
5.KINGSTON FURY RENEGADE: เป็น SSD อีกรุ่นที่สายเกมมิ่งน่าจับจอง เพราะถ้ามองกันที่คุณสมบัติและราคา 6 พันกว่าบาท ได้ทั้งอินเทอร์เฟส PCIe 4.0 และความเร็วในการอ่านข้อมูลถึง 7,300MB/s และใช้ 3D TLC NAND เข้าคู่กับเมนบอร์ดรุ่นใหม่ๆ รวมถึงเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คได้อย่างลงตัว ไม่มีฮีตซิงก์ใหญ่ๆ มาเกะกะ รวมถึงค่า Endurance สูงถึง 1,000 TBW อีกด้วย ถ้าคิดว่า SSD ยี่ห้อไหนดี รุ่นนี้ก็ถือว่าจัดจ้านในย่านนี้ได้เลย
Conclusion
ในช่วงท้ายนี้ ก็คงต้องบอกว่า จะเป็น SSD ยี่ห้อไหนดี รุ่นอะไร ถึงจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ก็คงต้องย้อนกลับไปที่ข้อมูลเบื้องต้นของแต่ละซีรีส์ที่เราได้แนะนำกันไป โดยเฉพาะตัวเลขอ้างอิงในจุดต่างๆ เช่น Interface PCIe, Capacity, MTBF หรือ HTTF รวมถึง TBW สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเลือกใช้ SSD นอกเหนือจากการคำนวณจากความจุและราคา เพราะจะส่งผลต่อการใช้งานของคุณในระยะยาว และเนื่องจาก SSD ในและยี่ห้อ ก็จะมีซีรีส์และกลุ่มตลาดที่ใกล้เคียงกัน หากสังเกตดีๆ จะพบว่า นอกจากในเรื่องราคา หรือค่าต่างๆ เหล่านี้แล้ว ก็จะมีเรื่องของดีไซน์การออกแบบ และ NAND Flash รวมถึง Controller ที่มีส่วนสำคัญอยู่ด้วย ดังนั้นหากต้องการเลือก SSD ก็ควรที่จะดูสิ่งเหล่านี้ประกอบกันไปตามความเหมาะสม การมีองค์ประกอบที่มีคุณภาพสูง ก็เพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้งาน แต่ราคาก็จะสูงตามไปด้วย ในทางกลับกัน สเปคที่เรียบง่าย บนอินเทอร์เฟสพื้นฐาน และมีค่าความทนทานที่ดีในระดับหนึ่ง ก็อาจจะเหมาะกับการใช้งานทั่วไป ในราคาที่สบายกระเป๋ามากขึ้น แต่ถ้าคุณต้องการ SSD ศักยภาพสูง มีความทนทาน ใช้งานได้นาน ราคาก็จะสูงตามไปด้วย แต่ก็เหมาะสำหรับคนที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลและเสถียรภาพเป็นสำคัญ ฉะนั้นเลือกให้เหมาะกับตัวคุณ