ทุกครั้งที่ซื้อโน๊ตบุ๊คหรือประกอบพีซีมาใช้งานสักเครื่อง คำถามว่า “ใส่ Ram เท่าไหร่ดี” น่าจะวนเวียนอยู่ในหัวของผู้ใช้หลาย ๆ คนไม่น้อย เพราะถ้าน้อยเกินไปก็ไม่พอให้โปรแกรมในเครื่องใช้ มากเกินไปก็เกินจำเป็นไปจนเหมือนเสียเงินฟรี ๆ ไปเสียอย่างนั้น ดังนั้นการเลือกแรมให้เพียงพอต่อการใช้งานนั้นจะช่วยให้เราไม่เสียเงินเกินจำเป็นและมีปริมาณเพียงพอให้โปรแกรมในพีซีของเราเรียกใช้ได้อีกด้วย
สำหรับบทความเรื่องแรมนั้น ทางเว็บไซต์ก็มีแยกเป็นฝั่งบทความรวมและบทความแรมของโน๊ตบุ๊คโดยเฉพาะเพื่อให้ผู้สนใจได้เลือกอ่านกันอีกด้วยซึ่งผู้สนใจสามารถเลือกอ่านได้ตามต้องการ สำหรับการประมาณปริมาณแรมที่เหมาะสมสำหรับพีซีแต่ละเครื่องนั้น ๆ สามารถอ่านวิธีการเลือกได้ในบทความนี้
เข้าใจก่อนว่า RAM สำคัญยังไง
RAM มาจากคำว่า Random-access memory หรือหน่วยความจำสุ่มการเข้าถึง มักเอาไว้พักข้อมูลประเภทคำสั่งและโค้ดในคอมพิวเตอร์เป็นช่วงสั้น ๆ และจะมีการอ่านเขียนข้อมูลบนแรมตลอดเวลาที่เราใช้พีซีทำงานอยู่แต่ไม่สามารถบันทึกข้อมูลเก็บเอาไว้ได้เหมือนกับ ROM หรือฮาร์ดดิสก์, แฟลชไดรฟ์ โดยแรมจะล้างข้อมูลในตัวเองทั้งหมดทุกครั้งเมื่อไม่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้ามา
ลำดับการพัฒนานั้นเริ่มต้นจากการพัฒนาจากไอซีในคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ในอดีตก่อนจะได้รับการพัฒนาเป็น SDRAM (Synchronous dynamic random-access memory) เป็น DDR (Double Data Rate Synchronous Dynamic Random-Access Memory) ในปัจจุบัน
ในคอมพิวเตอร์ยุคใหม่จะเป็น DDR4 และเมื่อ 14 กรกฎาคม 2020 ได้มีการประกาศมาตรฐาน RAM DDR5 สำหรับพีซีอย่างเป็นทางการ โดยมีจุดเด่นเรื่องการใช้พลังงานน้อยลงและขยาย Bandwidth ให้กว้างขึ้นให้รับส่งข้อมูลได้เร็วยิ่งกว่าเดิม และจะมีการวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในปี 2021 แต่ผู้ใช้ทั่วไปยังไม่จำเป็นต้องรีบซื้อและควรรอให้มีเมนบอร์ดและซีพียูที่รองรับแรมรุ่นใหม่นี้วางขายก่อน
วิธีเช็คว่าคอมพิวเตอร์ของเรามี RAM กี่ GB
ตอนนี้ 16GB ก็เริ่มเสียว ๆ ว่าจะไม่พอให้เกมยุคใหม่ ๆ ใช้ซะแล้วสิ…
วิธีการดูว่าแรมในเครื่องของเรามีอยู่กี่ GB สามารถเช็คได้ง่าย ๆ ด้วยการกดปุ่ม Windows พิมพ์คำว่า About เข้าไปแล้ว ตัวเครื่องจะแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพีซีของเราเอาไว้ในส่วนของ Device specification ในบรรทัด Installed RAM สำหรับผู้ต้องการเช็คเรื่องประเภทของแรมว่าเป็น DDR เวอร์ชั่นไหนและมีบัสแรมเท่าไหร่ จำเป็นต้องดาวน์โหลดซอฟท์แวร์อย่าง CPU-Z มาติดตั้งถึงจะเช็คได้
สำหรับวิธีการใช้โปรแกรม CPU-Z และวิธีการดูแรมนั้น สามารถอ่านได้โดยละเอียดในบทความ “7 ขั้นตอนแก้ปัญหา Google Chrome กินแรมแบบง่าย ๆ” ในข้อ 7 ได้เลย
RAM เท่าไหร่ดีถึงจะพอใช้งานทั่วไป
ในอดีตหลายคนก็อาจจะมองว่ามีแรมแค่ 4GB ก็พอแล้วหรือมี 8GB คือดีมาก ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่จริงเสมอไปแล้ว นั่นเพราะโปรแกรมในยุคปัจจุบันนั้นต้องการแรมสำหรับการประมวลผลมากขึ้นเรื่อย ๆ และระบบปฏิบัติการในปัจจุบันก็ถูกออกแบบมาให้รองรับแล้วเช่นกัน
มี Windows 64-bit ใช้มาตั้งแต่ Windows 7 แล้ว แต่ตอนนี้เปลี่ยนมา Windows 10 ดีกว่านะ
หากจำกันได้ระบบปฏิบัติการ Windows 7 เวอร์ชั่น 32-bit จะรองรับแรมสูงสุด 4GB เท่านั้น แต่ก็มีวิธีการปรับแต่งระบบให้รองรับมากกว่า 32-bit จนกระทั่งมีเวอร์ชั่น 64-bit ตามมาในภายหลัง นั่นเพราะระบบปฏิบัติการ 64-bit สามารถรองรับแรมได้มากถึง 16 Exabyte (เอ็กซะไบต์ เขียนย่อว่า EB) หรือราว 16,000 ล้านกิกะไบต์ ทำให้รองรับโปรแกรมในอนาคตได้อีกหลายปี
จะเพิ่มแรมให้ไปซื้อมาใส่เครื่อง ไม่ใช่ดาวน์โหลดนะจ๊ะ…
สำหรับวิธีการคำนวนแบบคร่าว ๆ คือ คำนวนโปรแกรมใช้งานบ่อยแล้วบวกขึ้นไปเรื่อย ๆ จนครบ โดยคิดแบบเปิดทุกโปรแกรมพร้อม ๆ กัน เช่น เปิด Google Chrome, Microsoft Office, Spotify พร้อมกัน แล้วนำปริมาณแรมที่แต่ละโปรแกรมใช้สูงสุดมาบวกกันและบวกของระบบปฏิบัติการ Windows 10 เข้าไปอีก 2GB จะได้เป็น 2GB (Google Chrome) + 2GB (Microsoft Office) + 200MB (Spotify) + 2GB (Windows 10 Home 64-bit) จะได้เป็น 6.2GB ดังนั้นถ้าเราติดตั้งแรมไว้ 8GB ก็เพียงพอแล้ว
ส่วนผู้ใช้ Microsoft Excel ที่ชีทมีสูตรคำนวนซับซ้อนและผูกชีทเข้าหากันหลาย ๆ ตาราง แรม 8GB จะมีไม่เพียงพอให้ใช้งานอย่างแน่นอน เพราะตัวโปรแกรมต้องตรวจสอบและอ้างอิงชีทในหน้าอื่น ๆ ร่วมกัน จึงทำให้ Excel ใช้แรมเยอะมาก ผู้ใช้ Excel กลุ่มนี้ควรเตรียมแรมเผื่อไว้ระดับ 16GB ขึ้นไปเพื่อให้โปรแกรมสามารถรันการทำงานได้ราบลื่นยิ่งขึ้น
ส่วน Adobe Photoshop, Premier จะมีแรมเท่าไหร่ดีถึงจะเพียงพอต่อการใช้งาน ถ้าอ้างอิงจากคำแนะนำของทาง Adobe เอง ทั้งสองโปรแกรมนี้ต้องการแรมเพื่อการประมวลผลสูงถึง 8GB และยังไม่รวมตอนเรนเดอร์งาน จึงควรเตรียมแรมเอาไว้ขั้นต่ำ 16GB หรือมากกว่านั้นเพื่อรองรับการใช้งานอย่างจริงจัง
ส่วนโปรแกรมอื่น ๆ ผู้ใช้สามารถเช็คแรมที่โปรแกรมนั้น ๆ ต้องการใช้งานได้ง่าย ๆ ด้วยการค้นหาใน Google ด้วยคำค้นว่า (ชื่อโปรแกรม) specification หรือ (ชื่อโปรแกรม) spec requirement ก็ได้เช่นกัน แล้วเลือกเว็บผู้พัฒนาโปรแกรมนั้น ๆ ซึ่งผู้พัฒนาโปรแกรมบางบริษัทอาจเลือกใช้คำแตกต่างกันไม่ว่าจะ RAM หรือ Memory ก็หมายถึงแรมในพีซีเช่นกัน
RAM เท่าไหร่ดีถึงจะพอเล่นเกมไปอีกหลายปี
แรมก็จำเป็นต่อการเล่นเกมเป็นอย่างมาก เพราะเกมในปัจจุบันจนไปถึงอนาคตจะยิ่งใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ปัจจุบันนี้ความจุ 8GB อาจจะเป็นขั้นต่ำของเกมหลาย ๆ เกมไปแล้ว ซึ่งผู้เขียนแนะนำว่าแรมนั้นเป็นชิ้นส่วนถอดเปลี่ยนและอัพเกรดได้ง่ายด้วยตัวเอง ถ้ามีงบประมาณเพียงพอก็สามารถอัพเกรดเตรียมรองรับอนาคตเอาไว้ได้เลย
นอกจากนี้ถ้าเกมนั้น ๆ รองรับการเล่นผ่าน VR ก็จะต้องใช้แรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจใช้มากถึง 32GB ทีเดียวเพื่อให้เพียงพอต่อการเล่นในระบบ VR พร้อมรันโปรแกรมอื่น ๆ ไปด้วย
Borderland 3 เปิดตัวเดือนมีนาคม 2020 ก็ใช้แรมขั้นต่ำ 6GB และแนะนำถึง 16GB แล้ว
จากการประเมินนั้น ปริมาณ RAM สำหรับเล่นเกมโดยนับจาก 2021 ไปอีกราว 1-2 ปี นั้นจะมีขั้นต่ำ (Minimum) อยู่ราว 8GB และปริมาณที่แนะนำ (Recommended) อยู่ถึง 16GB ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากเกมใหม่ ๆ ในปี 2021 นี้ได้จากเว็บไซต์แนะนำสเปคเกมและระบบร้านขายเกมจะมีการระบุสเปคแนะนำเอาไว้ด้วย เช่น Borderland 3 ในส่วนของสเปคพีซีก็ต้องการแรมขั้นต่ำ 6GB แนะนำ 16GB แล้ว
ส่วนเกมอื่น ๆ บน Steam สามารถเช็คได้บนหน้าเพจของเกมนั้น ๆ ใน System Requirements จะมีการระบุเอาไว้โดยละเอียด ให้ผู้เล่นทราบว่าเกมนั้น ๆ ต้องใช้ RAM เท่าไหร่ดีถึงจะเล่นเกมนั้นได้อย่างราบลื่น
ส่วนเกมยอดนิยมอย่าง Genshin Impact ก็มีประกาศเป็นทางการเกี่ยวกับสเปคของพีซีสำหรับเล่นเกมนี้ว่าควรมีสเปคระดับไหน โดยในช่องขั้นต่ำนั้นต้องการ RAM ถึง 8GB และสูงสุด 16GB นั่นเพราะว่าเกมแนว Open-world ต้องการแรมในการช่วยประมวลผลเรื่องแผนที่และรายละเอียดในส่วนต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้รวบรวมเกมระดับ AAA ที่น่าสนใจในช่วงปี 2020 ที่มา ว่าแต่ละเกมต้องการแรมมากเท่าไหร่ โดยเช็คได้จากตารางนี้
เกมน่าสนใจ | RAM เท่าไหร่ดี (ระดับ Recommended) |
Total War: WARHAMMER II – The Twisted & The Twilight | 8GB |
Death Stranding | 8GB |
Call of Duty: Warzone | 16GB |
Horizon Zero Dawn | 16GB |
Microsoft Flight Simulator 2020 | 32GB |
จะเห็นได้ว่าเกมในปัจจุบันนั้นต้องการแรมเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะระดับแนะนำของหลาย ๆ เกมสูงถึง 16-32GB ทีเดียว
สรุป – RAM เท่าไหร่ดีสำหรับผู้ใช้แต่ละแบบ
จริง ๆ แล้วผู้ใช้แต่ละคนก็มีความจำเป็นต้องใช้แรมมากน้อยไม่เท่ากันอยู่แล้ว เพราะถ้าเป็นคนใช้งานทั่วไป เน้นไปทางการทำงานบนอินเตอร์เน็ตและพิมพ์งานบนโปรแกรมเช่น Microsoft Office ก็ใช้แรมเพียง 8GB ก็มากเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องใช้แรมมากถึง 16-32GB เช่นเดียวกับเกมเมอร์หรือโปรแกรมเมอร์ที่ต้องการแรมสำหรับประมวลผลคำสั่งมากเป็นพิเศษเช่นกัน
ดังนั้นตารางสรุปการใช้ว่ามี RAM เท่าไหร่ดีสำหรับผู้ใช้แต่ละกลุ่มจะแบ่งกลุ่มผู้ใช้เป็นดังนี้
ปริมาณ RAM | ประเภทงาน | กลุ่มผู้ใช้ | หมายเหตุ |
4GB | ท่องอินเตอร์เน็ต Microsoft Office ดูหนังฟังเพลง |
ผู้ใช้ทั่วไป | ปัจจุบันนับว่าน้อยและควรอัพเกรดไป 8GB ได้แล้ว |
8GB | ท่องอินเตอร์เน็ต Microsoft Office ดูหนังฟังเพลง งานวาดภาพ โปรแกรมเฉพาะในองค์กร เล่นเกมได้ระดับหนึ่ง |
กลุ่มผู้ใช้ทั่วไป เกมเมอร์ นักวาดภาพ |
แรม 8GB อาจไม่เพียงพอต่อเกมระดับ AAA หลาย ๆ เกมในปัจจุบัน ยกเว้นเกมอินดี้และเกม 8-bit หลาย ๆ เกมยังเล่นได้ |
16GB | งานตัดต่อวิดีโอ, ทำเพลงและแต่งภาพระดับปานกลางและไม่ได้ซ้อนภาพร่างงานหลายเลเยอร์มาก เล่นเกมระดับ AAA โดยปรับกราฟิกระดับสูงได้ |
ผู้ทำงานด้านกราฟิก งานตัดต่อวิดีโอเช่น Vlog, Blog โปรแกรมเมอร์ เกมเมอร์ ผู้ใช้งาน Excel สูตรซับซ้อนและเชื่อมต่อกันหลายชีท |
เป็นปริมาณแรมพอใช้งานกับหลาย ๆ โปรแกรมในปัจจุบัน |
32GB | งานตัดต่อวิดีโอ, ทำเพลงและแต่งภาพซ้อนหลายเลเยอร์ สามารถเรนเดอร์งานได้อย่างดี เล่นเกมระดับ AAA โดยปรับกราฟิกระดับสูงได้และรองรับเกมในอนาคตได้หลายปี สามารถใช้เล่นเกม VR ในปัจจุบันได้ราบลื่น โปรแกรมเมอร์ที่ต้องประมวลผลโปรแกรมที่ซับซ้อน |
ผู้ทำงานด้านกราฟิก งานตัดต่อวิดีโอเช่น Vlog, Blog โปรแกรมเมอร์ ผู้เล่นเกม VR |
เป็นปริมาณแรมที่มากและสามารถรองรับโปรแกรมและเกมไปได้อีกหลายปี |
ดังนั้นการเลือกอัพเกรดแรมให้เพียงพอต่อการใช้งานของเรา จะช่วยให้ประหยัดเงินในกระเป๋าของเราไปได้มากและไม่ต้องจ่ายเกินจำเป็น สามารถนำเงินไปใช้อัพเกรดชิ้นส่วนอื่น ๆ ของพีซีเราได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการจ่ายเงินอุดหนุนโปรแกรมลิขสิทธิ์มาใช้งานก็เป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน