ที่ผ่านมา Intel ที่ยังไม่สามารถย่อขนาดทรานซิสเตอร์ในซีพียูให้เล็กกว่าขนาด 10 นาโนเมตรได้เหมือนกับผู้ผลิตชิปรายอื่น เช่น AMD, TSMC, Samsung นั้น ทำให้ Daniel Loeb หัวหน้าฝ่ายบริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่สนับสนุนเงินให้กับทางอินเทลอย่าง Third Point ส่งจดหมายไปยังบริษัทเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ
โดยเนื้อหานั้นทาง Daniel Loeb เองต้องการให้ทางอินเทลจัดการเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้บริษัทกลับมาเป็นผู้นำด้านการผลิตซีพียูเพื่อคอมพิวเตอร์และ Data center อีกครั้งเหมือนในอดีตที่ทางบริษัทเคยเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและการผลิตซีพียูรุ่นใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาด
ในปัจจุบันอินเทลนั้นกลายเป็นผู้ตามบริษัทผู้ผลิตชิปจากฝั่งเอเชียอย่าง TSMC และซัมซุงไปแล้ว แต่ทาง Bob Swan หัวหน้าฝ่ายบริหารของอินเทลเองก็อยู่ระหว่างตัดสินใจว่าในช่วงต้นปีหน้านั้น อินเทลอาจทำการ Outsource ส่วนของการผลิตซีพียูระดับสูงของทางบริษัทไปยังบริษัทพาร์ทเนอร์เช่น TSMC และซัมซุงหลังเกิดปัญหาในการผลิตชิปขึ้นมา
สถานการณ์ปัจจุบันของ Intel
ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางอินเทลได้ประกาศว่าทางบริษัทกำลังเร่งวิจัยเพื่อผลิตซีพียูที่มีทรานซิสเตอร์ขนาด 7 นาโนเมตรออกมาในตลาดให้ได้หลังจาก AMD นั้นทำสำเร็จไปก่อนหน้านั้นแล้ว
นอกจากนี้ในปี 2020 นี้ ความสามารถในการแข่งขันในตลาดของอินเทลก็ลดลงไปมาก ทำให้หุ้นของบริษัทตกไปกว่า 21% ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้นของอินเทลนั้นต้องการให้ทางบริษัทรุกตลาดและทำการ Outsource การผลิตชิปของตัวเองไปยังบริษัทพาร์ทเนอร์มากขึ้นเพื่อให้สินค้ามีเพียงพอขายในตลาดด้วย
(เครดิตภาพจาก Microsoft)
ส่วนปัจจัยอื่นที่มีผลต่ออินเทลเอง คือการที่ลูกค้ารายเก่าอย่าง Apple, Microsoft, Amazon ที่เคยสั่งซื้อซีพียูจากอินเทลอยู่เสมอเริ่มผลิตชิปที่ออกแบบเองขึ้นมาใช้กับสินค้าของบริษัท ตัวอย่างเช่นซีพียู Apple M1 ใน MacBook Air, Pro และ Mac mini ด้านไมโครซอฟท์ก็มี Microsoft SQ1 ที่เริ่มใช้ใน Microsoft Surface Pro X เช่นกัน ด้านตลาดกลุ่ม Data center ก็ถูก AMD และโดยเฉพาะ NVIDIA ที่รุกตลาดนี้อย่างหนักเข้ามาแย่งตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้อินเทลไม่ใช่ตัวเลือกหลักในตลาดนี้เช่นในอดีต
อย่างไรก็ตามเราก็ต้องมารอดูว่าอินเทลจะแก้ปัญหาทั้งหมดที่ว่าได้อย่างไรบ้าง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะต้องรอดูตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนผู้อ่านที่ต้องการทราบเรื่องราวอัพเดทเกี่ยวกับอินเทลจาก Notebookspec สามารถอ่านได้ที่นี่
ที่มา : TechPowerUp, Reuters, Financial Times