เป็นที่ทราบกันวันที่ 1 เมษายนของทุกปี้นั้นเป็นวันที่เราเรียกว่า April Fool’s Day หรือวันโกหก เป็นวันที่คนแกล้งหลอกกันด้วยการแต่งเรื่องอะไรก็ได้หลอกให้คนอื่นหลงเชื่อ แล้วค่อยเฉลยในตอนท้าย ซึ่งเรื่องที่เอามาหลอกนั้นจะต้องไม่ทำให้อีกฝ่ายถึงกับเลือดตกยางออก และคนที่ถูกหลอกจะต้องไม่โกรธด้วย เพราะถือว่าวันนี้เป็นวันพิเศษ ยกเว้นให้หนึ่งวัน ซึ่งจุดประสงค์ก็เพื่อความสนุกสนาน แต่ปีนี้อาจไม่ใช่เรื่องตลก เนื่องด้วยสถานการณ์ที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่อย่างวิกฤติไวรัส COVID-19
ล่าสุดนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกมาโพสต์ภาพผ่าน Facebook ส่วนตัวว่า “April Fool’s Day 1 เม.ย. ไม่ใช่ของไทย ห้ามแชร์ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท”
ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้ออกมากล่าวถึงกรณีประเทศไทยอยู่ในช่วงประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่มีคนบางกลุ่มเล่นมุข “ติด COVID-19” ว่า ในช่วงวัน April Fool’s Day หรือ “วันโกหก” ในวันที่ 1 เมษายนของทุกปีนั้นในหลายประเทศมีกิจกรรม โดยผู้คนมักจะเล่นมุกตลกและเรื่องหลอกลวงต่อกัน มุกตลกและคนที่ถูกหลอกจะเรียกว่าเป็น “คนโง่เดือนเมษา” นั้น สำหรับประเทศไทย ในด้านกฎหมายจะต้องหารือกันอีกครั้ง
นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า “แต่คำแนะนำในขณะนี้ คือ อย่าเล่นอะไรที่สุ่มเสี่ยงเช่นนี้ ถ้าจะเล่นตามวัฒนธรรมก็ควรจะเล่นอย่างอื่นแทน ที่ไม่ใช่เรื่องแบบนี้ ในสถานการณ์เช่นนี้”
อย่างไรก็ตาม วัน April Fool’s Day นั้นหากเป็นการโกหกในเรื่องอื่น ๆ เพื่อความสนุกสนานนั้นก็คงจะไม่เป็นไร แต่กระนั้น การแกล้งเล่นหรือหลอกลวงเพื่อความสนุกสนานของตนนั้นก็ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ที่โดนเราหลอกด้วย เพราะสำหรับคนที่โดนแกล้งอาจจะไม่ได้สนุกไปกับเราด้วย ยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับ COVID-19 ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงนั้นยิ่งไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง
ที่มา: โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง, Matichon