ภายหลังการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อขอสิทธิ์รับเงินเยียวยาจากทางรัฐบาลไทย ตามมาตรการเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นั้น ผลตอบรับก็ออกมาอย่างล้นหลามจนทำให้เว็บไซต์ถึงกับล่มไปพักหนึ่งเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ก็ได้มีพวกผู้ไม่หวังดี หรือหัวใสต่าง ๆ ได้สร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมาอย่างมากมาย ซึ่งในตอนนี้รวมแล้วกว่า 44 เว็บไซต์ด้วยกัน ซึ่งก็ทำให้ประชนชาที่ต้องการเข้าไปลงทะเบียนรับเงินเยียวยานั้นเกิดความสับสน และเสี่ยงต่อการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวไปเป็นอย่างมาก
จากรายงานข่าวจากทางเว็บไซต์ มติชน ได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องเว็บไซต์ปลอมในครั้งนี้ว่า ทางทีม IT Security ของธนาคารกรุงไทยผู้จัดตั้งเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com พบว่ามีเว็บไซต์ที่มีชื่อคล้ายกันได้จดทะเบียนเข้ามากว่า 44 เว็บไซต์ และอาจจะใช้วิธีการทำเว็บไซต์ปลอม (Web Phising) เพื่อหลอกล่อให้ประชาชนเกิดเข้าใจผิดและคลิกเข้าไปเพื่อกรอกข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่, หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน, บัญชีธนาคาร ฯลฯ
เว็บไซต์ปลอมเหล่านี้นั้นได้อาศัยชื่อที่คล้ายกัน แต่เปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางส่วน เช่นใช้ .net, .org, .co.th แทน .com ที่เป็นเว็บไซต์จริง หรือการสะกดที่ใกล้เคียงกันอย่าง “เราไม่ทิ่งกัน”, “เราไม่ทิงกัน” ฯลฯ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น ทางธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินการทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีดีเอส) ได้ทำการตรวจสอบและและดำเนินการจัดการต่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับใครที่อยากจะลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน ก็สามารถเข้าไปอ่านเงื่อนไขและวิธีรับเงินได้ที่นี่
และทางทีมงานขอย้ำว่าเว็บไซต์สำหรับเปิดให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาจากรัฐนั้น จะต้องเป็นเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เท่านั้น
ที่มา: Matichon, ศูนย์ข้อมูล COVID-19