ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตมีผลต่อเราทุกคนเป็นอย่างมาก ซึ่งการที่แทบทุกคนเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้นั้น ก็เป็นความสะดวกสำหรับการติดต่อสื่อสารถึงกัน แต่อีกทางหนึ่งก็อาจเป็นปัญหาเรื่องการคุกคาม รวมไปถึงการโจรกรรมข้อมูลของเราเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางไม่ดีได้เช่นกัน ซึ่งภัยคุกคามทั้งหลายทางไซเบอร์ก็มักไม่มีการเตือนล่วงหน้า รู้ตัวอีกทีเราก็ตกเป็นเหยื่อของมันเสียแล้ว ทีมงาน Notebookspec จึงได้นำ 7 เรื่องที่ควรทำเพื่อหลีกเลี่ยงภัยเงียบจากโลกไซเบอร์มาฝากกันตามลำดับดังนี้เลย
1. ควรติดตั้งซอฟท์แวร์หรือแอปพลิเคชันที่ถูกลิขสิทธิ์ หรือจากเว็บไซต์ที่แจกโปรแกรมฟรีที่น่าเชื่อถือ และไม่ควรใช้ซอฟท์แวร์ปลอมหรือแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ เพื่อการป้องกันและหลีกเลี่ยงไวรัสหรือมัลแวร์ที่อาจแฝงเข้ามากับโปรแกรม
2. ตั้งรหัสผ่านการใช้อินเทอร์เน็ตบ่อย ๆ ทั้ง Wi-Fi หรือ Hotspot และไม่ควรตั้งรหัสผ่านเหมือนกัน เพราะถ้าเราโดนแฮกสำเร็จ ระบบอื่น ๆ ของเราก็อาจถูกเจาะไปด้วย ทั้งนี้ให้เราปิดการเชื่อมต่อที่ไม่จำเป็น อย่างเช่น Wi-Fi, Bluetooth หรือการเชื่อมต่อเครือข่ายอัตโนมัติ เป็นต้น
3. ให้เราแบ่งระบบของเราออกเป็นส่วน ๆ เช่น ทรัพย์สินของเราที่อยู่บนโลกดิจิทัลนั้นควรแยกออกมาจัดเก็บไว้ในพื้นที่ที่มีการป้องกันเป็นอย่างดี อย่างการเข้ารหัส ทั้งอาจจะมีการทำ Intent-based Segmentation เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์หรือทรัพย์สิน และข้อมูลที่วิ่งเข้า-ออกในระบบเครือข่ายจะถูกจัดแบ่งไปยังแต่ละส่วนบนระบบเครือข่าย เพื่อที่ว่าเมื่อเครือข่ายส่วนหนึ่งมีปัญหาจะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อเครือข่ายส่วนอื่น ๆ
4. เลือกใช้บริการ Wi-Fi สารธารณะอย่างระมัดระวัง ในปัจจุบันการทำการแฮกข้อมูลของเราผ่านเครือข่าย Wi-Fi สาธารณะนั้นเป็นเรื่องที่ง่าย โดยอาจจะนำไปสู่การรวบรวมข้อมูลสำคัญของเรา เช่น ข้อมูลบัตรเครดิต และอื่น ๆ แม้แต่เครือข่ายที่ถูกกฎหมายซึ่งให้บริการโดยองค์กรต่าง ๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจเปิดช่องให้มีการโจรกรรมข้อมูลดิจิทัลได้ เราจึงควรหลีกเลี่ยงเครือข่ายสาธารณะและอาจใช้ VPN เพื่อเพิ่มความปลอดภัย
5. ตรวจสอบให้ดีก่อนที่เราจะกดยืนยันจ่ายเงิน หรือโอนเงิน ผ่าน Internet Banking หรือการทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อความปลอดภัยนั้นเราไม่ควรใช้บัตรเดบิตที่ร้านค้าหรือร้านอาหารที่ไม่มีเครื่องมือรักษาความปลอดภัยสำหรับป้องกันระบบ หรือในกรณีที่เราใช้บริการจากตู้เอทีเอ็ม ให้เลือกตู้ที่อยู่ในสำนักงานสาขาของธนาคาร ภายในห้าง หรือสนามบิน เพื่อลดโอกาสการถูกโจรกรรมข้อมูลจากตู้เอทีเอ็ม
6. หากได้รับ Email ไม่ว่าจะเป็นคนที่เราเคยรู้จักหรือสนิทสนมก็ตาม ควรตรวจสอบการสะกดชื่อของ Email Address เสียก่อนว่าถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันการหลอกลวงจากผู้ไม่หวังดี หรือหากได้รับอีเมลจากผู้ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เราก็ไม่ควรเปิดอ่าน ยิ่งถ้าหากหัวข้อและเนื้อหาตอนต้นของอีเมลไม่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรา และไม่คลิกไฟล์แนบในกรณีที่ไม่ได้มีการตกลงกันมาก่อน และเมื่อมีการรับส่งอีเมลสำคัญ ควรมีการยืนยันข้อมูลรับส่งกับผู้รับด้วยวิธีอื่น ๆ ด้วย เช่น การโทรหา การส่งข้อความทางมือถือ การนัดเจอ เป็นต้น
7. หลีกเลี่ยงการเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยง Malware และไม่ควรดาวน์โหลดไฟล์ หรือโปรแกรมจากเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ และให้สแกนคอมพิวเตอร์อาทิตย์ละครั้ง รวมถึงสแกนอุปกรณ์เก็บข้อมูลทุกประเภททั้ง Handy Disk External, USB ฯลฯ ทุกครั้งก่อนใช้งาน และที่สำคัญควรมีการแบคอัพข้อมูลหรือไฟล์ที่สำคัญอยู่เสมอ เพราะหากในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขได้เลย อย่างน้อยก็ยังมีไฟล์สำรองที่ยังสามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้