ก่อนหน้านี้นั้นมีข่าวว่าทาง Intel ได้ออกมาบอกว่าทางบริษัทนั้นส่งเสริมให้ผู้ผลิตหันมาทิ้งช่องเชื่อมต่อแบบ 3.5 audio jack ในการเสียบหูฟังแล้วให้ผู้ผลิตหันมาใช้ USB Type-C เป็นช่องเชื่อมต่อสำหรับเสียง(หูฟังหรือลำโพง) แทน โดยล่าสุดนั้นแนวคิดดังกล่าวได้มีเสียงตอบรับจากทาง USB-IF หรือ USB Implementers Forum ออกมาเป็นที่เรียบร้อยด้วยการแถลงเปิดตัวสเปคของ USB Type-C ที่รองรับการส่งสัญญาณเสียงแล้วครับ
อย่างไรก็ตามแต่ครับไม่ต้องสงสัยว่าทำไม USB-IF ออกมาตอบรับกับ Intel เร็วขนาดนี้เนื่องจากว่า Intel เป็นผู้นำขององค์กรนี้ร่วมกับบริษัทใหญ่ๆ อีกหลายบริษัทนั่นเองครับ การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้นั้นจะทำให้ผู้ใช้งานได้ก้าวเข้าสู่โลกของเสียงแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบโดยทาง USB-IF นั้นได้นำเสนอชื่อของมาตรฐานนี้ว่า USB Type-C Audio Technology หรือ USB Audio Device Class 3.0 specification ที่ไม่เพียงแค่จะเปลี่ยนระบบเสียงมาเป็นดิจิทัลเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่จะมีการเพิ่มฟีเจอร์อัจฉริยะอื่นๆ เข้ามาให้ผู้ใช้ได้ใช้งานอีกด้วยครับ
ตามรายงานนั้น USB Audio Device Class 3.0 specification จะยังคงรองรับกับมาตรฐานทั้งระบบเสียงแบบอนาล๊อกและดิจิทัลทั้งคู่ โดยในส่วนของระบบเสียงอนาล๊อกนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนักเพียงแต่จะถูกนำมาจัดรวมไว้ภายในแผงวงเดียวกันกับระบบเสียงดิจิทัลเท่านั้นเอง(โดยตามสเปคบอกว่าจะไม่มีการไปกวนอัตราการโอนถ่ายข้อมูลของระบบเสียงดิจิทัลด้วยเพราะมันใช้ระบบการเชื่อมต่อแบบ two secondary bus (SBU) pins เท่านั้น)
สำหรับในส่วนของระบบเสียงดิจิทัลบน USB Type-C นั้น ตามสเปคจะต้องมีการแก้ไขในส่วนของวงจรเสียงที่อยู่บนภาคเชื่อมต่อ USB Type-C รวมไปถึงสายส่งสัญญาณไปยังลำโพงทั้งของหูฟังหรือลำโพงเองก็จะต้องใช้รูปแบบใหม่ ซึ่งตรงจุดนี้นั้นทาง USB-IF ได้อธิบายเอาไว้ว่ามันอาจจะไม่ได้มีประโยชน์อะไรเท่าไรนักบนอุปกรณ์ที่ตั้งอยู่กับที่(หมายถึงไม่ใช่อุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต) เนื่องจากว่าอุปกรณ์พวกนี้จะมีพื้นที่ในการติดตั้งแผงวงจรสัญญาณดิจิทัลอยู่แล้วครับ
ระบบภาพสัญญาณเสียงดิจิทัลนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงอุปกรณ์จำพวกสวมศรีษะสำหรับการสร้างภาพเสมือนจริงด้วย ทั้งนี้ทาง USB-IF ให้เหตุผลเอาไว้ว่าสาเหตุที่สเปคของ USB ADC 3.0 ถูกออกแบบมาให้รองรับทั้งภาคสัญญาณเสียงดิจิทัลและอนาล๊อกอยู่นั้นก็เพื่อที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานหูฟังหรือลำโพงแบบเก่าผ่านทางการใช้ adapter ได้(คล้ายๆ กับของ iPhone) ซึ่งจุดนี้จะช่วยให้ในช่วงแรกของเทคโนโลยีไม่มีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนผ่านครับ
อ้างอิงจากมาตรฐาน USB ADC 3.0 นั้นพบว่าหูฟังแบบ USB-C แบบดิจิทัลจะมาพร้อมกับฟีเจอร์พิเศษที่เรียกว่า multi-function processing units (MPUs) ซึ่งฟีเจอร์ดังกล่าวนี้จะมีอยู่มากมายหลายฟังก์ชันซึ่งผู้ผลิตสามารถที่จะทำการเลือกได้ว่าต้องการใส่ฟีเจอร์ไหนเข้าไปในหูฟังแบบ USB-C ดิจิทัลของตัวเองบ้าง โดยทาง USB-IF ให้เหตุผลเอาไว้ว่าที่เป็นเช่นนี้นั้นก็เพื่อที่จะให้ผู้ผลิตสามารถที่จะเลือกผลิตตัวหูฟังได้ในหลายระดับครับ
ตัวอย่างฟีเจอร์ที่จะอยู่ในตัว MPUs นั้นก็ได้แก่ digital-to-analog conversion, low-latency active noise cancellation, acoustic echo canceling, equalization, microphone automatic gain control, volume control และอื่นๆ อีกมากมาย นอกไปจากนั้นแล้วมาตรฐาน USB ADC 3.0 ยังรองรับ USB Audio Type-III และ Type-IV formats พร้อมกับรองรับระบบเสียง USB formats เก่าที่มีในมาตรฐาน ADC 1.0 และ 2.0 ด้วยครับ
ในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมานี้นั้นจริงๆ ทาง Conexant ได้มีการเปิดตัวหูฟังแบบ USB-C ตามมาตรฐาน ADC 1.0 และ 2.0 ออกมาแล้วครับ(รวมไปถึง docking stations ด้วย) ในส่วนของหูฟังแบบ USB-C ตามมาตรฐาน ADC 3.0 นั้น น่าจะเริ่มผลิตโดยผู้ผลิตหลายเจ้าและน่าจะเริ่มเปิดตัวในช่วงเร็วๆ นี้ ทว่าในส่วนของราคานั้นยังไม่มีการคาดเดาออกมาครับว่าจะอยู่ที่เท่าไร(เพราะน่าจะต้องดูฟีเจอร์ของตัวหูฟังและผู้ผลิตเป็นตัวประกอบครับ)
ที่มา : anandtech