เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการเปิดเผยข้อมูลของเทคโนโลยีใหม่สำหรับใช้ในการโอนถ่ายข้อมูลชื่อว่า “Li-Fi” จากทางนักวิทยาศาสตร์ออกมาครับ โดยทางนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยเทคโนโลยีนี้นั้นบอกเอาไว้ว่าพวกเขาสามารถที่จะทำการใช่เทคโนโลยี “Li-Fi” ในการโอนถ่ายข้อมูลในห้องทดลองได้ที่ความเร็วสูงมากถึง 224 GB/s เลยทีเดียว ซึ่งที่ความเร็วระดับนี้หมายความว่าคุณสามารถที่จะทำการดาวน์โหลดภาพยนต์กว่า 18 เรื่องในเวลาที่คุณกระพริบตาเพียงครั้งเดียวเท่านั้นครับ
นอกเหนือไปจากการทดลองในห้องทดลองแล้วทางทีมนักวิทยาศาสตร์ได้มีการนำเทคโนโลยี “Li-Fi”(เทคโนโลยีการโอนถ่ายข้อมูลที่ใช้เรื่องของแสงเป็นตัวโอนถ่ายหลัก) มาทำการทดสอบนอกห้องทดลองด้วย ซึ่งผลที่พบนั้นก็น่าประทับใจมากครับเพราะเทคโนโลยี “Li-Fi” นั้นสามารถที่จะทำการโอนถ่ายข้อมูลได้ที่ความเร็วสูงสุด 1 GB/s หากเทียบกับเทคโนโลยี “Wi-Fi” มาตรฐานในปัจจุบันแล้วพบว่าเร็วกว่ากันถึง 100 เท่าตัวครับ
ข้อจำกัดของเทคโนโลยี “Wi-Fi” และการแทนที่ด้วยเทคโนโลยี “Li-Fi”
อ้างอิงจากคำพูดของ Harald Haas ที่ได้อธิบายเอาไว้บนคลิปวีดีโอข้างบนนี้เราจะพบครับว่า ในปัจุบันนั้นด้วยอัตราการเติบโตของการโอนถ่ายข้อมูลผ่านเทคโนโลยี “Wi-Fi” นั้นมากขึ้นๆ ในทุกๆ วัน ซึ่งนั่นทำให้ในช่วงปี 2019 ที่จะถึงนี้นั้นความสามารถในการโอนถ่ายข้อมูลผ่านทาง “Wi-Fi” นั้นจะถึงขีดจำกัดอันเนื่องมาจากเทคโนโลยี “Wi-Fi” นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ขึ้นกับคลื่นวิทยุ โดยได้มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าในปี 2019 นั้นการโอนถ่ายข้อมูลจะมากถึง 35 quintillion bytes / เดือน เลยทีเดียวครับ
ไม่เพียงแค่เรื่องขนาดความจุของข้อมูลในการโอนถ่ายผ่านทางเทคโนโลยี “Wi-Fi” ที่ใช้คลื่นวิทยุเป็นหลักเท่านั้นที่เป็นปัญหาครับ แต่เรื่องของมาตรฐานของการให้บริการ “Wi-Fi” ที่ขึ้นอยู่กับสถานีฐานในการโอนถ่ายข้อมูลนั้นก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกันเพราะได้มีการค้นพบครับว่าพลังงานที่ใช้ในสถานีฐานที่ให้บริการ “Wi-Fi” นั้นต้องสูญเสียไปกับระบบระบายความร้อนของสถานีฐานมากกว่า 95% เลยทีเดียว แถมในเรื่องของความปลอดภัยนั้นเทคโนโลยี “Wi-Fi” ก็ไม่ค่อยจะเหมาะสมกับการโอนถ่ายข้อมูลที่ต้องการความปลอดภัยสูงมากเท่าไรนัก
ภาพแสดงสถาปัตยกรรมการใช้งานของเทคโนโลยี “Li-Fi”
ในส่วนนี้นั้นการใช้แสงเพื่อที่จะทำการโอนถ่ายข้อมูลจึงได้เข้ามาเป็นหัวข้อวิจัยที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจกันมากขึ้นครับ โดยถึงแม้ว่าแสงนั้นจะเหมือนกับคลื่นวิทยุตรงที่มันเป็นส่วนหนึ่งของสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้า แต่สิ่งที่ทำให้แสงแตกต่างจากคลื่นวิทยุนั้นก็คือมีสเปกตรัมของแสงที่เราสามารถนำมาใช้งานได้มากกว่าคลื่นวิทยุถึง 10,000 เท่าตัวทีเดียวครับ ดังนั้นเทคโนโลยี “Li-Fi” ที่ใช้การโอนถ่ายข้อมูลผ่านแสงเป็นหลักนั้นจึงมีศักยภาพทางด้านความจุในการโอนถ่ายข้อมูลแบบมหาศาล
เอาเฉพาะแสงที่เราสามารถทำการมองเห็นได้ก็สามารถที่จะทำการโอนถ่ายกระแสของข้อมูลได้ทีเป็นพันๆ กระแสไปพร้อมๆ กันแล้วครับ ซึ่งถือว่าเยอะกว่าการที่เราจะต้องส่งข้อมูลทีละกระแสผ่านคลื่นวิทยุเป็นอย่างมาก เทคโนโลยี “Li-Fi” นั้นจะใช้หลักการของการกระพริบของแสง LED แบบเปิดและปิดที่ความเร็วสูงสุดเท่าที่มันจะทำได้ในการส่งข้อมูลไปยังเครื่องรับข้อมูลในรูปแบบของ binary code ครับ ซึ่งความเร็วดังกล่าวที่ใช้ในการเปิดปิดแสงของ LED นี้ก็เร็วกว่าที่สายตาของเราๆ ท่านๆ จะสามารถทำการรับรู้ได้ครับว่ามันกำลังทำการเปิดปิดอยู่ครับ
ตามที่ Haas ได้อธิบายไว้นั้นสิ่งเดียวที่เี่ต้องการเพื่อที่จะใช้งานเทคโนโลยี “Li-Fi” นั้นก็คือไมโครชิปเล็กๆ ติดเข้าไปกับอุปกรณ์ทุปอุปกรณ์ที่มีความสามารถในการส่องสว่างเพื่อที่จะทำงานง่ายๆ 2 อย่างด้วยกันคือ ทำการควบคุมการกระพริบไฟของแหล่งกำเนิดแสงนั้นๆ และส่งผ่านข้อมูลด้วยวิธีการไร้สาย ในที่นี้นั้นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบ “Li-Fi” ก็มีอยู่ในโลกปัจจุบันหมดแล้วครับ เพราะเราสามารถที่จะทำการใช้หลอดไฟแบบ LED ที่มีการวางจำหน่ายอย่างกว้างขวางในปัจจุบันแล้วทำการปรับแต่งมันนิดหน่อยเท่านั้น(โดยการเสริมไทโครชิปเล็กๆ)
เทคโนโลยี “Wi-Fi” ถึงจุดจบแล้วหรือ
อย่างไรก็ตามแต่การมาของ “Li-Fi” คงไม่ได้หมายถึงว่าเทคโนโลยี “Wi-Fi” จะถึงจุดจบครับ อย่างน้อยก็คงไม่ใช่ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะจุดอ่อนส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี “Li-Fi” นั้นก็คือมันจะทำการโอนถ่ายข้อมูลได้เฉพาะในที่ที่มีแสงสว่างจากหลอด LED เท่านั้น ซึ่งคงจะไม่ใช่ทุกที่ที่จะมีไฟ LED ส่องสว่างถึง โดยทั่วไปแล้วเทคโนโลยี “Li-Fi” น่าจะยังคงเหมาะกับการใช้งานในองค์กรที่ต้องการเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลเป็นหลักมากกว่า และในอนาคตนั้นคาดว่าน่าจะมีการพัฒนาให้เทคโนโลยี “Li-Fi” และ “Wi-Fi” ออกมาในรูปแบบรวมเข้าด้วยกันเพื่อที่จะขยายฐานการใช้งานไปยังผู้ใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ๆ ในการพัฒนาครับ
ที่มา : businessinsider