เอาเป็นว่าตั้งแต่ Oculus เปิดตัว Oculus Rift มานั้นกระแสของอุปกรณ์สวมศรีษะที่เอาไว้ใช้ในการสร้างภาพเสมือนจริงนั้นก็มาแรงขึ้นเรื่อยๆ ครับ ดังจะเห็นได้จากที่มีผู้ผลิตหลายรายมากที่ก้าวเข้าสู่การสร้างอุปกรณ์แบบนี้ไม่ว่าจะเป็น Samsung หรือ Valve ล่าสุดทาง Starbreeze ผู้สร้างและพัฒนาเกมชื่อดังอย่าง Payday และ Chronicles of Riddick ก็เอากับเขาด้วยครับ
อุปกรณ์สวมศรีษะสำหรับสร้างภาพเสมือนจริงของ Starbreeze นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า Project StarVR ครับ โดยจุดเด่นที่เหนือกว่าผู้ผลิตรายอื่นนั้นก็คือ Project StarVR จะมาพร้อมกับ 210 degree field-of-view และรองรับความละเอียดสูงถึง 5,120 x 1,440 pixels ซึ่งถ้าหากนี่เป็นเรื่องจริงแล้วหล่ะก็จะถือได้ว่า Project StarVR นั้นจะมีสเปคที่สูงกว่าอุปกรณ์สวมศรีษะสำหรับสร้างภาพเสมือนจริงจากผู้ผลิตรายอื่นทั้งหมดเลยครับ
ที่บอกว่าถ้าหากเป็นเรื่องจริงนั้นก็มีเหตุผลอยู่ 2 ประการด้วยกันครับ ประการแรกก็คือไม่ว่าจะเป็นตัวต้นแบบของ HTC Vive(1,200 x 1,080 pixels ต่อตาแต่ละข้างรวมเป็น 2,160 x 1,200 pixels) หรือ Oculus’s Crescent Bay(960×1,080 pixels ต่อตาแต่ละข้างรวมเป็น 1,920 x 1,080 pixels) ต่างก็มี pixelation และ screendoor effect อยู่ทั้งสิ้นดังนั้นก็เป็นการเชื่อได้ยากครับที่ทาง Starbreeze จะเพิ่มความละเอียดไปมากแล้วไปพบกับปัญหานี้
ส่วนเหตุผลข้อที่ 2 ก็คือความละเอียด 5,120 x 1,440 pixels ที่อัตราการีเฟรช 90Hz นั้นเป็นภาระทางด้านกราฟิกขนาดใหญ่เลยทีเดียวครับ ก่อนอื่นจะต้องมีเครื่องที่แรงมากๆ ถึงจะสามารถทำความละเอียดที่ระดับนี้ได้(ซึ่งจะว่าไปแล้ว HTC Vive กับ Oculus จะสามารถทำได้เต็มความสามารถจริงไหมก็ยังไม่มีใครรู้เลยครับ) อีกนิดกับความละเอียดที่ระดับนี้ในโลกเสมือนจริงก็คือคุณจะเจอสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้มากมายครับ หมายความว่าหน่วยประมวลผลจะต้องสร้างภาพที่คุณอาจจะไม่มีทางได้เห็นไปโดยเปล่าประโยชน์ดังนั้นก็เลยไม่ค่อยน่าเชื่อเท่าไรครับว่า Project StarVR จะแรงขนาดนี้
อย่างไรก็ตามครับทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงข้อมูลข้างต้นที่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจาก Starbreeze ออกมาครับว่า Project StarVR จะเป็นดังเช่นในข่าวนี้หรือไม่ เราคงได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมกันอย่างเป็นทางการในงาน E3 นี้ และทางทีมงานจะรวบรวมนำมานำเสนอให้กับทุกท่านได้ทราบต่อไปแน่นอนครับ ทว่าสิ่งหนึ่งที่เชื่อมั่นได้เลยก็คือยุคของการสร้างภาพเสมือนจริงนั้นเข้ามาหาเราทุกวินาทีแล้วครับ
ที่มา : pcworld