เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็คลาวด์กันหมด อุปกรณ์ต่างๆ จึงต้องพัฒนาให้รองรับกับคลาวด์ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วอุปกรณ์หลายๆ ตัวก็มีความหมายถึงคลาวด์เพียงแค่ ?สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้? แต่แค่นั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับความสะดวกที่ได้รับ
WD MyCloud เรียกว่าเป็นอุปกรณ์ประเภท NAS (Network-Attached Storage) หรืออธิบายง่ายๆ ว่าเป็นฮาร์ดดิสก์ที่ต่อผ่านระบบแลน และแชร์กันใช้งานร่วมกันระหว่างคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่อยู่ในวงแลนทุกเครื่อง เพื่อเก็บและใช้ข้อมูลร่วมกัน ซึ่งจุดเด่นที่นอกจากจะเชื่อมต่อผ่านแลนและใช้งานได้หลายเครื่องพร้อมกันแล้ว ก็คือการเชื่อมต่อคลาวด์ตามชื่อของมันนั่นเอง
การใช้งาน
เนื่องจากเป็น NAS ที่เชื่อมต่อผ่านแลน ซึ่งเปรียบเสมือนการทำงานแยกตัวออกไปต่างหากจากตัวคอมพิวเตอร์ ในส่วนของการรีวิวจึงขอเน้นไปที่การใช้งานเป็นหลัก เพราะมีฟังก์ชันในการทำงานที่หลากหลายเลยทีเดียว
เริ่มต้นจากการแกะกล่องออกมา ซึ่งจะพบกับตัวเครื่องของ MyCloud ซึ่งหน้าตาเหมือนกับฮาร์ดดิสก์ภายนอกแบบ 3.5? ทั่วไป แต่จะต่างกันตรงที่ด้านหลังของตัวเครื่องจะเป็นพอร์ต RJ-45 แทน micro USB เพื่อเชื่อมต่อกับสายแลนและพอร์ตนี้จะวิ่งที่ความเร็ว Gigabit หรือ 1000Mbps ซึ่งเป็นความเร็วสูงสุดของแลนที่ใช้งานกันตามบ้านแล้ว
นอกจากพอร์ตแลนก็ยังพอร์ต USB มาให้อีก 1 พอร์ตเพื่อใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นเช่นแฟลชไดรฟ์หรือฮาร์ดดิสก์ภายนอกตัวอื่นๆ ได้อีก
หลังจากที่ประกอบโดยการเสียบปลั๊กและต่อสายแลนเข้ากับ Switching Hub หรือเราเตอร์ก็ได้ โดนเน้นว่าควรจะใช้เราเตอร์ที่รองรับ Gigabit เพื่อให้ทำงานที่ความเร็วสูงสุดด้วยนะครับ แค่นี้ก็พร้อมสำหรับการใช้งานแล้ว โดยในการใช้งานครั้งแรก คุณสามารถใช้แผ่นซีดีที่มีมาให้ภายในกล่องเพื่อตั้งค่าได้ หรือถ้ามืออาชีพหน่อยก็สามารถโยนแผ่นทิ้งไปแล้วเข้าไปตั้งค่าผ่านเว็บบราวเซอร์ ด้วยหมายเลข IP Address ของตัว WD MyCloud แทนได้ โดยหมายเลข IP นั้นจะถูกตั้งค่าให้รับมาจากเราเตอร์ซึ่งคุณสามารถตรวจสอบได้ผ่านหน้าตั้งค่าของเราเตอร์ ? หากทำไม่ได้ก็ใช้แผ่นที่มีมาให้ดีกว่าครับ
ในการใช้งานครั้งแรก ตัวเครื่องจะให้เราตั้งค่าเบื้องต้น เช่นภาษาที่จะใช้ และการตั้งค่าบัญชี WDMyCloud.com ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ไดรฟ์สามารถเชื่อมต่อกับ Cloud และเข้าถึงจากทุกๆ ที่ทั่วโลกผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ที่สำคัญไม่ต้องไปตั้งค่า Forward IP ให้ยุ่งยากอีกด้วย บริการนี้สมัครฟรีครับ และจะต้องสมัครด้วยหาต้องการใช้คลาวด์ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ข้ามไปได้เช่นกัน
หน้า Dashboard ซึ่งแสดงข้อมูลทั่วไปของตัวไดรฟ์ใช้งานง่าย โดยบอกทั้งพื้นที่ที่เหลือ อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับคลาวด์อยู่ ชื่อผู้ใช้ที่เราสามารถกำหนดสิทธิได้ และโฟลเดอร์ที่ถูกแชร์ ซึ่งสามารถดูสถานะและตั้งค่าได้ค่อนข้างง่ายทีเดียว แต่อาจจะต้องมีความรู้เรื่องเน็ตเวิร์คหรือการกำหนดสิทธิ์เล็กน้อย
นอกจากความสามารถในการเก็บข้อมูลผ่านแชร์โฟลเดอร์ในแบบ NAS ทั่วไปแล้ว มันยังรองรับการแบ็กอัพผ่านระบบ TimeMachine ของ Mac OSX ได้ในตัวอีกด้วย
ทดสอบประสิทธิภาพ
อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า NAS นั้นเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานด้วยตัวมันเองแยกต่างหากจากคอมพิวเตอร์ ดังนั้นในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานจึงสามารถทดสอบได้เพียงแค่ส่วนของอัตราการส่งผ่านข้อมูลที่ผ่านสายแลนเท่านั้น โดยอุปกรณ์ที่เราใช้คือเราเตอร์ Linksys E3000 ที่มีพอร์ตแลนแบบ Gigabit อยู่แล้ว
ผลการทดสอบนั่นออกมาเป็นสิ่งที่น่าประทับใจจริงๆ เพราะด้วยความเร็วระดับ 50-60 MB/s นั้นเทียบได้กับฮาร์ดดิสก์ที่เชื่อมต่อผ่าน USB ได้สบายๆ ซึ่งเป็นเพราะนี่เป็นความเร็วสูงสุดของฮาร์ดดิสก์ที่สามารถทำได้แล้ว และยังเหลือแบนวิธด์อีกเหลือเฟือสำหรับการส่งผ่านข้อมูลผ่าน Gigabit LAN
ส่วนการเชื่อมต่อผ่านคลาวด์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของฮาร์ดดิสก์รุ่นนี้แล้ว คงต้องไปดูที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ใช้งานเป็นหลัก และปัญหามันจะเกิดขึ้นตรงนี้ทันที เนื่องจากผู้ใช้งานตามบ้านส่วนใหญ่มักใช้อินเทอร์เน็ตแบบ ADSL ที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดสูง (ประมาณ 10Mbps เป็นอย่างต่ำ) แต่ความเร็วในการอัพโหลดต่ำมาก (ประมาณ 0.5-1Mbps เท่านั้น) ด้วยเหตุนี้หากคุณนำเอา WD MyCloud ไปตั้งไว้ที่บ้าน แล้วเรียกใช้งานไฟล์จากที่อื่นผ่านอินเทอร์เน็ตจะพบว่าการทำงานนั้นช้ามาก ซึ่งชัดเจนว่าเป็นปัญหาที่อินเทอร์เน็ต และทางแก้ก็คือการเลือกใช้อินเทอร์เน็ตที่มีค่าอัพโหลดสูงๆ อย่างเช่น AirNet ที่ให้ความเร็ว 7-10Mbps เท่ากันทั้งการอัพโหลดและดาวน์โหลดนั่นเอง
Conclusion
ด้วยความสะดวกของรูปแบบ NAS ที่เชื่อมเข้ากันแลน ทำให้คอมพิวเตอร์รวมถึงอุปกรณ์หลายตัวสามารถเข้าใช้งานได้พร้อมกันในเวลาเดียว และยังรอบรับกับระบบปฏิบัติการได้เกือบทุกตัว ไม่เว้นแม้แต่สมาร์ทโฟนที่มีแอพมาให้ใช้งานด้วย ซึ่งนี้คือจุดแข็งของ NAS ที่คุณจะต้องควักเงินเพิ่มขึ้นมาจากรุ่น MyPassport ธรรมดา
ในส่วนของคลาวด์อยากจะบอกตรงๆ ว่าถ้าเป็นผู้ใช้ตามบ้านก็ไม่ควรคาดหวังอะไรมากนักเพราะด้วยความเร็วอัพโหลดที่ต่ำติดดิน กับแค่การดึงไฟล์ภาพขนาดสัก 3-4MB ยังต้องรอจนน่ารำคาญพอๆ กับเวลาที่คุณส่งอีเมล์พร้อมสั่งแนบไฟล์ขนาดใหญ่ๆ นั่นแหละ ดังนั้นถ้าใช้งานเล็กๆ น้อยๆ ก็พอไหว ทั้งนี้อินเทอร์เน็ตที่ผิด ตัวไดรฟ์ไม่ผิด ? อยากใช้เร็วๆ อย่าลืมไปหาเน็ตแรงๆ มาใช้ก่อนนะครับ
จุดเด่น
-มีพื้นที่ความจุทางเลือกผ่าน Cloud ที่มากถึง 2TB
-รองรับการใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์หลายตัวได้พร้อมกัน
ข้อสังเกต
-อาจต้องใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในการจัดการข้อมูล
By Toffeee Latte