ปัญหาการโน๊ตบุ๊ค ติดไวรัสในปัจจุบันอาจจะไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจเหมือนในอดีต แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากติดไวรัสในปัจจุบัน น่ากลัวกว่าแต่ก่อนหลายเท่า เนื่องจากบางครั้งไวรัสที่เข้ามานั้นไม่ได้แค่โจมตีด้วยการลบไฟล์ เปลี่ยนชื่อหรือซ่อนไฟล์เท่านั้น แต่มีการพัฒนาด้วยการแทรกตัวเข้าไปอยู่ในจุดต่างๆ เพื่อหวังผลและจุดประสงค์ของไวรัสบางประเภท เช่น มัลแวร์ โทรจันหรือรูทคิท มีแนวโน้มที่จะเข้ามาฉกฉวยข้อมูลสำคัญที่มีอยู่ในเครื่องออกไปด้วย
โดยบรรดาภัยคุกคามที่ทำให้โน๊ตบุ๊ค ติดไวรัสเหล่านี้ จะทำหน้าที่ในการเปิดช่องหรือประตูให้มีการส่งผ่านข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประวัติการเข้าเว็บไซต์ ข้อมูลส่วนตัว การเชื่อมโยงกับการธุรกรรมออนไลน์ รวมไปถึงอาจเข้าไปในส่วนการทำงานหลักของระบบ ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านของการใช้งานและการใช้ชีวิต ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่ทำไม หลายๆ คนที่มีการทำงานในโลกออนไลน์และการทำธุรกรรมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต พยายามที่จะมองหาโซลูชันดีๆ สำหรับการป้องกันภัยจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ซึ่งสิ่งที่จะนำมาป้องกันก็มีอยู่ด้วยกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การตั้งค่า Firewall จากระบบปฏิบัติการ เพื่อกลั่นกรองความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ผ่านการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายหรือจากการเข้าใช้เครื่องลูกข่ายในองค์กร รวมถึงการติดตั้งแอนตี้ไวรัสหรือ Internet Security และหยุดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ อันก่อให้เกิดโน๊ตบุ๊ค ติดไวรัสให้ได้มากที่สุด ซึ่งบางอย่างอาจทำได้ง่าย แต่บางอย่างก็ยากในการปฏิบัติอยู่มากทีเดียว อย่างไรก็ดีโอกาสที่ป้องกันแล้ว ยังติดไวรัสก็มี ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลก แต่สิ่งที่ต้องทำก็คือ หาทางแก้ไขให้กลับมาเหมือนเดิมหรือกลับสู่สภาพเดิมให้ได้มากที่สุด ส่วนจะทำอย่างไรได้บ้างนั้น ก็ต้องแก้กันไปทีละอย่าง
อัพเดต Anti-Virus แล้วทำการสแกน
เบื้องต้นให้เข้าไปดูระบบแอนตี้ไวรัสก่อนว่ามีการทำงานตามปกติหรือไม่ โดยให้เข้าไปดูในส่วนของ Auto Protect หรือยังมีการป้องกันตามที่ควรจะเป็นหรือเปล่า เพราะหากเป็นไวรัสทั่วไป หากระบบทำงานอยู่ อย่างน้อยก็จะทำหน้าที่ป้องกันได้ตามปกติ แต่ก็จะมีบางกรณีที่อาจทำให้ระบบไม่ทำงาน อย่างเช่น แอนตี้ไวรัสหมดอายุ, ถูกปิดหรือ Disable ไม่ทราบสาเหตุหรือโปรแกรมไม่ได้รับการอัพเดตมานาน ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ระบบไม่เปิดทำงานตามปกติ การแก้ไขก็เพียง ติดตั้งแอนตี้ไวรัสใหม่หรืออัพเดตให้มีความทันสมัย แล้วจึงทำการสแกนระบบใหม่ทั้งหมด โดยเป็นการสแกนแบบ Deep หรือสแกนแบบละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อค้นหา กักกันหรือลบทิ้ง เพื่อป้องกันโน๊ตบุ๊ค ติดไวรัส ต่อไป
ดาวน์โหลด Remove Tool
หากเป็นไวรัสบางประเภท ไม่สามารถที่จะกำจัดด้วยโปรแกรมแอนตี้ไวรัสพื้นฐาน ซึ่งอาจะเป็นไวรัสใหม่ๆ หรือมีพฤติกรรมที่สามารถหลุดรอดการตรวจจับของโปรแกรมได้ ก็อาจจะต้องพึ่งเครื่องมือที่เรียกว่า Remove Tools ในการตรวจจับและ Remove ไฟล์ไวรัสที่กำลังทำงานอยู่ในระบบนั้นเอง ส่วนใหญ่จะสามารถดาวน์โหลดเครื่องมือเหล่านี้ได้จากผู้พัฒนาซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสค่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Kaspersky, AVG หรือ AVAST เป็นต้น นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาไวรัสใหม่ๆ ที่เข้ามาคุกคามได้เป็นอย่างดี
?ย้ายข้อมูลไว้ในที่ปลอดภัย
ถ้าปรากฏว่ามีความเสี่ยงสูงที่อาจจะเกิดการติดต่อลุกลามไปยังจุดอื่นๆ ก็คงต้องมีการย้ายข้อมูลบางส่วน เป็นการสำรองไฟล์เอาไว้เพื่อความปลอดภัย อาจจะใช้เป็นการโยกไปยังไดรฟ์อื่นๆ ที่มีอยู่ในระบบหรือจะเป็นการใส่เอาไว้บนฮาร์ดดิสก์แบบต่อภายนอก แต่ก็ต้องเป็นขั้นตอนที่ต่อจากการสแกนไฟล์ต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันการติดต่อไปยังจุดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งในกรณีที่ไดรฟ์หลักติดไวรัส ก็ควรจะต้องสแกนไดรฟ์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน หากต้องการความปลอดภัยและมั่นใจสูงสุด
อัพเกรดแอนตี้ไวรัส
ในกรณีที่ใช้แอนตี้ไวรัสฟรีหรือที่มากับระบบปฏิบัติการอาจไม่เพียงพอ ก็ควรจะต้องมองหาเครื่องมือดีๆ อย่างเช่น Anti-Virus ตัวใหม่หรือใช้เป็น Internet Security ในเคสที่มีการเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์บ่อยครั้ง อย่างเช่น กรณีที่ต้องทำธุรกรรมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น การซื้อขาย การโอนเงินผ่านระบบออนไลน์หรือสิ่งใดก็ตามที่มีการ Sign-In ด้วยการใส่ User และ Password ในการเข้าใช้งาน โดยในปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการอยู่มากมายเลยทีเดียว สนนราคาก็ไม่แพง เริ่มตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงพันกว่าบาท ขึ้นอยู่กับความสามารถและการให้บริการของแต่ละค่ายนั่นเอง ข้อนี้แนะนำเลยว่า เหมาะสมและคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง สำหรับคนที่ต้องการความปลอดภัยและสบายใจในการทำธุรกรรม
ตรวจสอบอุปกรณ์บันทึกข้อมูลอื่นๆ
เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม เพราะโอกาสที่คุณจะปลอดภัยหรือเกิดปัญหาขึ้นมาใหม่อยู่ที่ตรงจุดนี้ เพราะบางกรณีหลังจากที่สแกนไวรัสเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับไฟล์ในระบบ แต่ไวรัสยังมีค้างอยู่ในอุปกรณ์อื่นๆ เช่น แฟลชไดรฟ์หรือฮาร์ดดิสก์ต่อภายนอก เมื่อนำเข้ามาต่อกับระบบแล้วไม่ได้สแกนให้ละเอียดอีกครั้งหรือมีการดึงไฟล์ต่างๆ เข้ามาทันที ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการติดไวรัสซ้ำอีกครั้ง ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือ การสแกนอุปกรณ์ที่เป็น Storage ต่างๆ แบบละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะทำการ Copy/ Cut/ Paste หรือสิ่งอื่นใดเข้ามาในระบบหลัก เพื่อความปลอดภัยและไม่ต้องเสียเวลาในการแก้ไขอีก
เปลี่ยนพาสส์เวิร์ดในการล็อกอิน
แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกันนัก แต่หากเป็นไปได้หรือไม่ยุ่งยากเกินไป ก็แนะนำว่าให้ทำการเปลี่ยน User name และ Password ใหม่หลังจากที่มีการสแกนและแก้ไขจากการติดไวรัสไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากไวรัสบางประเภทอย่างเช่น โทรจัน แฝงตัวเข้ามาเพื่อเก็บข้อมูลบรรดา Keylogger แล้วจัดส่งไปยังผู้ไม่หวังดีปลายทาง เพื่อนำไปใช้หาประโยชน์ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งการเปลี่ยนระบบล็อกอินบ่อยๆ หรืออย่างน้อย 3 เดือนครั้ง ก็จะช่วยลดอัตราความเสี่ยงในเรื่องดังกว่าวไปได้มากทีเดียว
ฟอร์แมตติดตั้งระบบใหม่ เมื่อเกินเยียวยา
แต่ถ้าในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขหรือสแกนได้หมด รวมถึงสงสัยว่าไวรัสยังคงอยู่ ก็อาจจะใช้วิธีสุดท้ายก็คือการฟอร์แมตหรือล้างฮาร์ดดิสก์ใหม่เพื่อความสบายใจในการใช้งาน ซึ่งข้อดีก็คือ อุ่นใจในการใช้งานมากขึ้นและยังได้ความเร็วในการทำงานกลับคืนมา ด้วยการเคลียร์สิ่งต่างๆ ออกไป นอกจากนี้ยังได้เริ่มติดตั้งโปรแกรมใหม่ๆ ที่มีการอัพเดตมากขึ้น แต่ข้อเสียคือ ต้องเสียเวลาในการทำค่อนข้างนาน รวมถึงการติดตั้งไดรเวอร์และโปรแกรมลงไปใหม่ รวมถึงต้องเตรียมแบ็คอัพข้อมูลเอาไว้ด้วย เรียกได้ว่างานช้างเลยทีเดียวสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยคุ้นเคย
คำถาม : ติดตั้งแอนตี้ไวรัสมากกว่าหนึ่งตัว จะช่วยให้ปลอดภัยขึ้นหรือไม่
การติดตั้งแอนตี้ไวรัสมากกว่าหนึ่งตัว อาจจะดูเหมือนว่าเป็นการช่วยกันสแกน และตรวจจับ เหมือนกับการมีแมวหลายๆ ตัวช่วยกันจับหนู แต่ในความเป็นจริง แอนตี้ไวรัสส่วนใหญ่มีการตรวจจับและรู้จักไวรัสในระดับที่ไม่ได้ต่างกันมากนัก ดังนั้นการติดตั้งแอนตี้ไวรัสหลายๆ ตัว ก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้มีความปลอดภัยมากขึ้นสองเท่า แต่กลายเป็นว่าเราจะต้องเสียพื้นที่และทรัพยากรเพิ่มขึ้นในการติดตั้งและใช้งานแอนตี้ไวรัส ดังนั้นแล้วการเลือกแอนตี้ไวรัสที่มั่นใจได้เพียงตัวเดียวและหมั่นอัพเดตให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด