แม้ว่าคอมพิวเตอร์พีซีจะถูกออกแบบมาอย่างดี เพื่อให้คุณได้ใช้งานกันอย่างไม่ต้องกังวลกับสิ่งใดมากนัก เพราะค่อนข้างที่จะทนทานมากยิ่งขึ้น ด้วยรูปแบบการผลิตชิ้นส่วนที่มีความทันสมัย แต่กระนั้นเองก็ไม่ใช่ว่าคุณจะสามารถใช้งานแบบปู้ยี้ปู้ยำ ใช้กันโดยไม่ยั้งคิด
เพราะพีซีไม่ได้เป็นเครื่องจักรที่ทำงานกันแบบไม่ต้องหยุดหรือไม่ต้องดูแล ซึ่งก็พอให้อภัยถ้าทำไปด้วยความไม่รู้ แต่ถ้าในเรื่องที่คุณรู้ แต่ก็ยังทำเป็นเมินเฉยหรือยังคงทำเป็นประจำ เตือนไว้เลยว่าระวังพีซีตัวโปรดจะลาจากคุณไปก่อนเวลาอันควร ฉะนั้นมาดูกันว่าสิ่งที่เป็นเรื่องที่ทำร้ายเครื่องพีซีของคุณอยู่นั้นมีอะไรบ้าง แต่รู้แล้วก็ควรต้องดูแลและปรับพฤติกรรมใหม่เสีย เพื่อให้พีซีเครื่องโปรดของคุณจะได้อยู่ใช้งานไปนานๆ
กดปิดเครื่องทันทีที่ใช้เสร็จ
เป็นการกระทำที่เห็นได้บ่อยมากทีเดียวในสำนักงานหรือบางบ้านที่ใช้กันหลายๆ มือ เพราะบางคนอาจรู้สึกว่าสะดวก แต่การกระทำเช่นนี้ ส่งผลเสียในหลายส่วน ตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ ไปจนถึงฮาร์ดแวร์ โดยเฉพาะที่น่ากลัวคือ ฮาร์ดดิสก์และข้อมูลในนั้น เพราะเป็นการตัดไฟแบบไม่เป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับอุปกรณ์ที่ต่อพ่วงอยู่โดยตรง แต่ถ้าถามว่ากดกดปุ่มเพาเวอร์เพื่อปิดเครื่อง สามารถทำได้มั้ย ก็คงต้องตอบว่าทำได้ แต่ควรตั้งค่าปุ่มให้เรียบร้อย ด้วยการเข้าไปใน Power button action แล้วเลือกให้เป็น Shutdown กสียก่อน
ดึงแฟลชไดรฟ์หรือฮาร์ดไดรฟ์ต่อภายนอกจากพอร์ต USB?ไม่มีขั้นตอน
เป็นอาการที่เรียกว่า ไม่รู้จะรีบกันไปไหน แค่เสียเวลาปิดการทำงานไม่กี่วินาทีก็ไม่น่าจะยาก หลายคนมักจะดึงแฟลชไดรฟ์หรือฮาร์ดดิสก์แบบต่อภายนอกออกทันทีที่ใช้เสร็จ แต่ไม่เคยคิดที่จะ Safely Remove ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อทั้งอุปกรณ์และเครื่องพีซี เพราะยังมีการจ่ายไฟอยู่ตลอด จึงไม่น่าแปลกใจที่อาจจะพบกับปัญหาข้อมูลในฮาร์ดดิสก์หายหรือแฟลชไดรฟ์พัง พอร์ต USB บนเครื่องเสีย ก็เพราะสาเหตุนี้ ดังนั้นเป็นไปได้ก็ปิดการทำงานให้ถูกต้อง แล้วค่อยดึงออกนะ
ถอดอุปกรณ์แบบไม่ระมัดระวัง
เรื่องการถอดชิ้นส่วนอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเพื่อการดูแลรักษาหรือการเปลี่ยนถ่ายอุปกรณ์ชิ้นใหม่ก็ตาม ควรจะต้องมีการระมัดระวังให้มาก เป็นไปได้ก็ควรจะต้องมีเครื่องมือที่พร้อม เช่น ไขควง ปากคีบหรือถุงใส่ฮาร์ดแวร์ ไม่ใช่เอาเครื่องมือมาประยุกต์ เพราะจะทำให้ชิ้นส่วนบอบช้ำ นอกจากนี้เรื่องไฟฟ้าสถิตย์ก็สำคัญ ควรมีการป้องกัน เพื่อลดความเสียหายให้กับฮาร์ดแวร์เหล่านั้นด้วย
พ่วงอุปกรณ์หลายตัว บนสายไฟเส้นเดียว
ก็เข้าใจว่าบางทีก็ไม่ได้วางแผนในการอัพเกรดหรือการต่อพ่วงเอาไว้ เลยรวมเอาอุปกรณ์ต่างๆ มาต่อกับหัว Molex ไม่ว่าจะเป็นพัดลม ฮาร์ดดิสก์หรือ Function panel รุมกันเข้ามา ไม่ทันได้คิดว่า สายไฟนั้นจ่ายได้เท่าใดหรือบางทีปลั๊กไม่แน่น ขยับไปขยับมาเกิดลัดวงจรพากันชอร์ตกันทั้งเครื่อง โชคดีก็แค่พัดลมเสีย แต่ถ้าเจอฮาร์ดดิสก์พังหรือเพาเวอร์ซัพพลายไป ก็คงจะเพลีย ดังนั้นถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรงเกินไป ก็กระจายกันไปยังหัว Molex?อื่นๆ ด้วยจะดีกว่า รวมถึงอย่าลืมดูเพาเวอร์ให้รองรับโหลดอุปกรณ์ได้พอต่อการใช้งานด้วย
แกะ แงะกันเข้าไป อุปกรณ์คอมพ์ ไม่ใช่ของเล่น
บางคนเห็นเครื่องพีซีเป็นไม่ได้ ว่างก็ต้องมานั่งรื้อ แกะ แคะ ค้น ขอให้ซนหน่อยจะได้นอนหลับ ไม่มีเวลาก็เล่นชิ้นเล็กๆ แรมบ้าง ซีพียูบ้าง มีเวลาหน่อยก็ถอดเมนบอร์ด ในกรณีที่เครื่องมีปัญหาหรือโยกย้ายใส่เคสใหม่หรือใส่พัดลม ก็คงไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้ารื้อออกมา เพียงแค่อยากลองรื้อดูเล่นๆ ก็คงจะไม่แนะนำ เพราะการถอด ใส่เข้าแต่ละครั้ง หากไม่ระวังก็เหมือนกับเป็นการทำให้ฮาร์ดแวร์บอบช้ำเปล่าๆ บางทีถือเครื่องมือไม่ระวังหรือกระแทกแบบไม่ตั้งใจ ของที่ซื้อมาแพงๆ ก็อาจจะไปโดยไม่ร่ำลา แล้วจะหาว่าไม่เตือน
เปิดฝาเคสทิ้งไว้ระบายความร้อน
ก็น่าเห็นใจสำหรับบางบ้านที่ไม่ได้มีห้องปรับอากาศ พอใช้งานนานๆ เจอกับอากาศร้อนๆ เครื่องก็มีดับบ้าง แฮงก์บ้าง ต้องปิดเครื่องบ่อยๆ ก็น่าเบื่อ หลายคนจึงเลือกที่จะเปิดฝาข้างเคส แล้วเอาพัดลมเป่า ก็อาจเป็นทางออกเดียวในเวลานั้น ซึ่งถ้าชั่วครั้งชั่วคราว ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่หลายครั้งที่เห็นคือ ทำเป็นกิจลักษณะ แบบนี้ไม่ดีแน่ เพราะการที่ลมเข้ามานั้น ก็จะมาพร้อมฝุ่นผงต่างๆ เข้ามาในเคส เมนบอร์ด การ์ดจอ หรือบางทีก็มีแมลง มดหรือสัตว์อื่นๆ เข้ามาทำรังและปล่อยสิ่งปฏิกูลเอาไว้ ซึ่งส่งผลร้ายต่อฮาร์ดแวร์ได้โดยตรง ดูจะได้ไม่คุ้มเสีย ทางที่ดีลองปรับการระบายความร้อนภายในเครื่อง เช่น เปลี่ยนซิงก์ซีพียู เพิ่มพัดลมหรือจัดเก็บสายไฟในเครื่องให้เป็นระเบียบ น่าจะเป็นทางออกที่ให้ผลดีกว่า
ลงโปรแกรมแบบเดียวกันหลายตัว
สิ่งนี้อาจไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำร้ายพีซีโดยตรง แต่ก็มีผลต่อการทำงานของฮาร์ดดิสก์อยู่ด้วยเล็กน้อยและทำให้เสียพื้นที่จัดเก็บบนฮาร์ดดิสก์ไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็ในเมื่อคุณมีโปรแกรมในการใช้งานในเครื่องอยู่แล้ว แต่กลับลงโปรแกรมในลักษณะเดียวกันมาอีก ด้วยเพราะแค่ต้องการฟีเจอร์เล็กๆ เพิ่มเข้ามาเท่านั้น ผลคือ มีส่วนทำให้เครื่องช้าลงและเสียทรัพยากรไป ดังนั้นถ้าคิดว่าโปรแกรมที่ใช้นั้นซ้ำหรือลงไว้แล้วไม่ได้ใช้ ก็ควร Remove ออกจะดีกว่า
ต่อฮาร์ดดิสก์ทีละหลายลูก
รู้ว่าเสียดายฮาร์ดิสก์ลูกเก่า ต่อช่วยดูสภาวะการจ่ายไฟของเพาเวอร์ซัพพลายให้เหมาะสมหน่อยก็น่าจะดี เพราะบางทีการใส่ฮาร์ดิดสก์ลูกเก่าเข้าไป แทนที่จะใส่เฉพาะลูกใหม่ที่เพิ่งซื้อมา ก็อาจจะทำให้เพาเวอร์ซัพพลายที่ใช้อยู่เกิดความเสียหาย เพราะจ่ายไฟหนักขึ้น ลำพัง 2-3 ลูกคงไม่น่ากลัว แต่บางทีใส่ไป 4-5 ลูกเอาเสียเต็มพอร์ต SATA ที่มี ทำให้จ่ายไฟให้ฮาร์ดดิสก์ไม่สม่ำเสมอ อาการที่เจอคือ Detect ฮาร์ดดิสก์เจอบ้าง ไม่เจอบ้างหรือใช้ๆ ไปก็หยุดทำงานไปดื้อๆ เบาสุดก็อาจจะแค่ฮาร์ดดิสก์หยุดทำงาน อาการหนักสุดก็คือ ฮาร์ดดิสก์และข้อมูลเสียหายแบบถาวร ก็คงต้องเลือกแล้วว่าจะใส่ฮาร์ดดิสก์ให้พอเหมาะหรือจะเปลี่ยนเพาเวอร์ใหม่ ให้รองรับได้มากยิ่งขึ้น
ดึงปลั๊กโดยจับดึงที่สาย
ขอทีเถอะการทำแบบนี้ เพราะไม่ได้เป็นผลดีต่อตัวเครื่องพีซีเลยด้วยซ้ำ นอกจากจะช่วยให้คุณสะดวกมือเท่านั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากมีการทำแบบนี้บ่อยๆ ก็คือ โอกาสที่สายไฟด้านในจะขาดจากหัวปลั๊กที่ต่อพ่วงไว้มีสูง เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็อาจจะเกิดการลัดวงจรภายในสาย จนเป็นสาเหตุให้การจ่ายไฟผิดปกติและทำให้เครื่องพีซีพลอยเสียหายไปด้วย แม้ว่าจะมีเพาเวอร์ซัพพลายอยู่ก็ตาม ฉะนั้นจับที่ตัวปลั๊กให้แน่นๆ แล้วดึงออกมาจากเต้าเสียบ ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องกลัวไฟชอร์ต
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เป็นปัญหาใกล้ตัว จะเห็นว่าบางอย่างนั้นน่ากลัวและส่งผลเสียอย่างร้ายกาจ?ฉะนั้นก็อย่ามัวแต่เพลินไปกับพฤติกรรมที่เคยชิน จนทำให้เกิดอันตรายต่อพีซีที่คุณใช้งานอยู่หรืออย่างน้อยหาทางป้องกัน หากคิดว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ อย่าปล่อยให้สายเกินไปจนทำให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นก่อน