Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

15 คำต้องรู้ตอนเลือกซื้อแรม สำหรับทั้งประกอบคอมและอัปเกรดสเปค

แรมคือหนึ่งในฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ที่สามารถอัปเกรดได้ง่ายที่สุด และมักเป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับความสำคัญ ในแง่ของการส่งผลต่อประสิทธิภาพเครื่องเป็นอย่างมาก ทำให้เวลาที่ต้องการซื้อแรม ไม่ว่าจะซื้อเพื่อประกอบคอมใหม่หรือเพื่ออัปเกรดเครื่องที่มีอยู่ ลูกค้าจะต้องพอทราบสเปคคร่าว ๆ ว่าต้องการแรมแบบไหน แบบที่จะซื้อเป็นอย่างไร ซึ่งก็จะมาพร้อมกับคำศัพท์ต่าง ๆ ที่อาจจะทำให้สับสนกันบ้างหากไม่คุ้นเคยกับเรื่องไอที ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า 15 คำที่มักพบบ่อยในการบอกสเปคมีอะไร และหมายถึงสิ่งใดบ้าง

เลือกซื้อแรม
  • เลือกแรมได้ไม่พลาด เข้าใจศัพท์ ก็สามารถซื้อมาอัพเกรดหรือประกอบคอมได้เอง
  • รูปแบบ มาตรฐาน ความจุ เช่น DIMM/ SO-DIMM รวมถึง XMP และ Warranty สำคัญมากในการตัดสินใจ
  • ทำความเข้าใจเรื่อง Channel แบบใดให้ประสิทธิภาพได้ดีกว่า
จัดอันดับแรมที่ได้รับความนิยมเดือน พฤษภาคม 2024 ใน Notebookspec

ซื้อแรม และคำศัพท์น่ารู้ เข้าใจง่าย ซื้อได้ถูกต้อง


GB

สิ่งที่มักได้รับความสำคัญที่สุดลำดับต้น ๆ ในการเลือกซื้อแรมไปจนถึงการเลือกคอมเลยก็ว่าได้ก็คือเรื่องความจุ หรือพื้นที่เก็บข้อมูลของแรม ซึ่งในปัจจุบันก็จะมีพูดกันที่หน่วยเป็นกิกะไบต์ (Gigabyte หรือย่อว่า GB) ส่วนถ้าเป็นภาษาพูดแบบสั้น ๆ ก็จะใช้คำว่ากิ๊กหรือจิ๊ก ทำให้เวลาบอกความจุแรมก็จะใช้เป็น 8GB หรือ 8 กิ๊ก และที่แน่นอนคือยิ่งความจุเยอะก็ยิ่งดี ในกรณีที่สเปคอื่น ๆ ของแรมเหมือนกันหมด

Advertisement

DDR

ย่อมาจาก Double Data Rate แปลความหมายตรง ๆ ก็คือเป็นการบ่งบอกว่าระบบจะมีการรับส่งข้อมูลมากขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับรอบสัญญาณปกติ ทำให้ได้ความเร็วที่ดีขึ้นกว่าแรมในยุคก่อนหน้านั้นเป็นเท่าตัว และกลายเป็นหนึ่งในมาตรฐานหลักของแรมคอมพิวเตอร์มาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงยังมีการพัฒนาต่อยอดนับตั้งแต่ปี 1998 มาจนถึงปัจจุบัน

การพัฒนาหลัก ๆ ก็จะเป็นการเพิ่มความเร็วสัญญาณนาฬิกา (ความเร็วคล็อก) ลดระยะเวลารอบการส่งข้อมูล เพิ่มความเร็วและความกว้างแบนด์วิธของบัส (เส้นทางส่งข้อมูล) รวมถึงลดไฟที่ใช้ในการทำงานลงด้วย ซึ่งในแต่ละ major change ของแรม DDR ก็จะมีการใส่เลขเวอร์ชันต่อท้ายเข้าไป ได้แก่ DDR2, DDR3, DDR4 จนถึงปัจจุบันที่เป็น DDR5

เลือกซื้อแรม

ในการบอกสเปคแรม เลขเวอร์ชัน DDR คือสิ่งที่จำเป็นต้องบอกเสมอ อย่างในยุคปัจจุบันก็จะมีปนกันระหว่าง DDR4 และ DDR5 ส่วน DDR3 ก็ยังพบอยู่บ้าง แต่มักจะเป็นของในสต็อก ที่อาจจะยังเหลืออยู่ เผื่อลูกค้าที่ต้องการซื้อไปอัปเกรดคอมที่สเปคเก่าซักนิดนึง โดยจุดสำคัญคือเราไม่สามารถใช้แรมคนละ DDR กับที่เมนบอร์ดรองรับได้ เช่นหากบอร์ดระบุว่าใช้ได้เฉพาะแรม DDR5 เราก็ต้องซื้อ DDR5 มาใส่เท่านั้น ไม่สามารถนำแรม DDR4 มาใช้ได้ จะมีแค่เมนบอร์ดส่วนน้อยสุด ๆ ที่รองรับทั้งแรม DDR4 และ 5 ในตัวเดียวกัน เท่าที่เคยผ่านตาก็จะเป็นบอร์ดจากจีนครับ แต่ของที่มีขายตามร้านทั่วไปในไทยคงไม่มี

ดังนั้นก่อนที่จะเลือกซื้อแรม เราต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าเมนบอร์ดหรือโน้ตบุ๊กที่มีหรือวางแผนจะซื้อนั้นใช้แรม DDR อะไร เบื้องต้นอย่างน้อยก็จะได้ซื้อแรมได้ถูกต้องและใช้งานได้ ส่วนเรื่องประสิทธิภาพเชิงลึกลงไป ก็เลื่อนอ่านลงไปต่อเรื่อย ๆ ได้เลย

เลือกซื้อแรม

แต่บางทีเราอาจจะเจอคำว่า LPDDR อันนี้จริง ๆ แล้วก็ไม่มีอะไรครับ แค่บอกว่าแรมรุ่นนี้เป็นแรมแบบ Low-Power (LP) ที่จะกินไฟต่ำกว่าแรม DDR เวอร์ชันเดียวกัน ตัวอย่างเช่น

  • DDR5 ใช้ไฟ 1.1V
  • LPDDR5 ใช้ไฟ 1.05V (คอร์) และ 0.5V (I/O) ขณะที่ใช้ความถี่สูง กับ 0.9V และ 0.3V ขณะใช้ความถี่ต่ำ

ซึ่งแรมแบบ LPDDR มักจะมาในรูปแบบชิปแรมที่บัดกรีติดมากับบอร์ดเลย ส่วนแรมที่เป็นแท่ง ๆ สามารถถอดออกได้ อันนี้จะเป็น DDR ปกติเป็นหลัก แล้วก็หากเจอตัว X ต่อท้าย เช่น LPDDR4X อันนี้หมายถึงว่าเป็นแรมที่มีพื้นฐานจาก LPDDR4 แต่มีการเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นเล็กน้อย ใช้ไฟได้คุ้มกว่าเดิมขึ้นไปอีก

V (Voltage)

คือข้อมูลที่บอกว่าแรมแผงนั้น ๆ จะใช้แรงดันไฟในการทำงานเท่าไหร่ โดยอาจมีการระบุรวมมาแบบไม่บอกว่าเป็นสถานะใด หรือถ้าดีหน่อยก็จะบอกให้ว่าระหว่างทำงานใช้กี่โวลต์ ตอนสแตนด์บายใช้กี่โวลต์ รองรับได้สูงสุดกี่โวลต์ ซึ่งจะจำเป็นสำหรับสายโอเวอร์คล็อก แต่โดยพื้นฐานแล้วแรมทุกแผงจะมีค่าโวลต์ที่เป็นไปตามมาตรฐานของ JEDEC ที่เป็นองค์กรกำกับควบคุม และออกมาตรฐานเกี่ยวกับชิปหน่วยความจำอยู่แล้ว อย่างของ DDR5 ในสถานะการทำงานปกติก็จะอยู่ที่ 1.1V ส่วน DDR4 ก็อยู่ที่ 1.2V แต่ผู้ผลิตแต่ละรายก็สามารถนำไปปรับแต่งเพื่อเพิ่มไฟจากโรงงานเล็กน้อยก็ได้

เลือกซื้อแรม

MHz และ MT/s

ความเร็วแรมคือปัจจัยหลักที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพได้แบบเห็นภาพง่ายที่สุด โดยจะใช้การเขียนตัวเลขความเร็วต่อท้ายประเภท DDR เช่น DDR5-6000 กรณีนี้ก็หมายความว่าแรมชุดนี้เป็นแรม DDR5 มีความเร็วบัส 6000 MHz หรือ MT/s ซึ่งสองหน่วยนี้มีความแตกต่างในเรื่องการนิยาม แต่สุดท้ายแล้วเลขจะตรงกัน กล่าวคือ MHz เป็นหน่วยสำหรับความเร็วคล็อกของแรม คิดที่หลักล้านต่อวินาที ซึ่งในแรมแบบ DDR ที่สามารถส่งข้อมูลได้สองครั้งในหนึ่งรอบคล็อก จึงทำให้ความเร็วหากวัดที่ปริมาณข้อมูลที่ส่งได้จะเท่ากับความเร็วคล็อกจริงคูณสอง เช่น

เลือกซื้อแรม

แรม DDR4-3200 ตัวแรมเองจะมีความเร็วคล็อก 1600 MHz แต่เนื่องจากสามารถส่งข้อมูลได้แบบ double data rate จึงทำให้ความเร็วในการส่งข้อมูลจริงอยู่ที่ 1600×2 = 3200 MHz จึงสามารถนำเลข 3200 มาต่อท้าย DDR4 ได้

ส่วน MT/s จะหมายถึงปริมาณการถ่ายโอนข้อมูลว่าทำได้กี่ล้านครั้งต่อวินาที ซึ่งวัดที่จำนวนการถ่ายโอนข้อมูลทั้งหมดที่ทำได้จริง จะเห็นว่ามันคือสิ่งเดียวกันกับความเร็วคล็อกคูณสองเลย เช่นจากตัวอย่างเดิม แรม DDR4-3200 สามารถส่งข้อมูลได้ที่ 3200 ล้านครั้งต่อวินาที ทำให้เราสามารถใช้หน่วย MHz หรือ MT/s ในการบอกความเร็วแรมก็ได้ แต่ถ้าหากจะให้ชัดเจนที่สุด การบอกโดยใช้หน่วย MT/s จะเหมาะสมกว่า เพราะถ้าหากบอกเป็น MHz อาจสร้างความสับสนได้ว่ากำลังบอกเลขความเร็วคล็อกจริง หรือบอกเป็นเลขที่ผ่านการคูณสองมาแล้ว

แต่ทั้งนี้ หากต้องการตรวจสอบแบบละเอียด แนะนำว่าอาจต้องหาข้อมูลเพิ่มจากหน้าเว็บไซต์ผู้ผลิต หรือจากรีวิวอื่นประกอบด้วยครับ เพราะตัวเลขความเร็วอาจจะหมายถึงความเร็วที่ได้หลังจากการโอเวอร์คล็อกหรือเปิด XMP ก็ได้ ไม่ใช่ความเร็วพื้นฐานจริงของชิปแรมรุ่นนั้น ซึ่งบางทีอาจจะมี (OC) ต่อท้ายที่เลขความเร็วก็ได้

PCx-xxxxx

เป็นการบอกประเภทและระดับประสิทธิภาพของแรมอีกแบบที่มักพบได้บ่อยเช่นกัน โดยจะเป็นการบอกว่าแรมนั้นเป็น DDR อะไร และมีแบนด์วิธในหน่วย MB/s อยู่ที่เท่าไหร่ เช่น PC5-38400 ก็จะหมายความว่าแรมชุดนี้เป็นแรม DDR5 มีแบนด์วิธอยู่ที่ 38,400 MB/s

บางทีถ้าเห็นบอกเลขแบนด์วิธมาอาจจะงงได้ จริง ๆ แล้วเราสามารถแปลงกลับเป็น MT/s ได้ง่ายมาก คือให้เอาเลขแบนด์วิธไปหารด้วย 8 ก็จะได้เลข MT/s มาทันที ซึ่งก็เท่ากับว่าเราได้เลข MHz มาด้วย หรือถ้าต้องการทราบ MHz จริงของแรมก็แค่หารสองลงไปอีกทีเท่านั้นเอง

ตัวอย่าง แรม PC5-38400 จะเท่ากับแรม DDR5-(38400/8) = DDR5-4800 นั่นเอง ส่วนถ้ามีเลข MT/s มาแล้วอยากได้แบนด์วิธจริง ก็ให้เอา MT/s คูณแปด เช่น แรม DDR4-3200 ถ้าบอกประเภทในแบบแบนด์วิธก็จะเป็น PC4-(3200×8) = PC4-25600 แค่นี้เลย

DIMM / SO-DIMM

คือคำที่ไว้ใช้บอกว่าแรมมีขนาดของแผงเท่าไหร่ โดยคำว่า DIMM ย่อมาจาก Dual In-Line Memory Module ที่เป็นชื่อมาตรฐานของขนาดแผงแรมสำหรับใช้กับเครื่องพีซีเดสก์ท็อป หรือให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ DIMM จะเป็นแรมของคอมเครื่องใหญ่ คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป แรมแบบ DIMM ส่วนใหญ่แล้วจะมีความยาวของแผงอยู่ที่ 133.35 มม. หรืออาจแตกต่างจากนี้เล็กน้อย แต่ที่แน่ ๆ คือจะมีจำนวนพินเชื่อมต่อกับช่องบนบอร์ดตามมาตรฐาน อย่างใน DDR4 และ DDR5 จะมีด้วยกัน 288 พิน

เลือกซื้อแรม

ส่วน SO-DIMM คำว่า SO ย่อมาจาก Small Outline ที่บอกไว้ชัดเจนเลยว่าเป็นแรม DIMM ที่มีขนาดแผงเล็กลง โดยจะมีความยาวที่น้อยกว่า DIMM ลงมาเท่าตัวคือประมาณ 67.6 มม. เท่านั้น รวมถึงจำนวนพินก็จะลดลงมาเล็กน้อยคือ 260 พิน (DDR4) และ 262 พิน (DDR5) แรมกลุ่มนี้มักจะนำมาใช้ในเครื่องที่มีเมนบอร์ดขนาดเล็ก เช่น โน้ตบุ๊ก ออลอินวันเดสก์ท็อป เครื่องกลุ่ม small form factor (SFF) รวมถึงมินิพีซีทั้งหลาย นอกจากนี้เมื่อก่อนยังมีมาตรฐานอื่นอีกเช่น MiniDIMM สำหรับสายเซิร์ฟเวอร์และ MicroDIMM สำหรับโน้ตบุ๊กที่เริ่มหายจากตลาดไปหลังช่วงยุคแรม DDR2

ดังนั้นถ้าหากตอนจะซื้อแรม แล้วในชื่อหรือหน้าสเปคบอกว่าเป็น DIMM ก็จะเป็นแรมของพีซีเดสก์ท็อป แต่ถ้าบอกว่าเป็น SO-DIMM หรือเขียนว่า SODIMM พวกนี้จะเป็นแรมแผงเล็กสำหรับใช้กับโน้ตบุ๊กหรือคอมที่มีพื้นที่ภายในจำกัด แนะนำว่าก่อนซื้อควรตรวจสอบก่อนว่าคอมที่ใช้ หรือคอมที่จะซื้อนั้นใช้แรมแบบไหน ถ้าเป็นคอมประกอบเอง ใช้เมนบอร์ดปกติ อันนี้ใช้ DIMM แน่นอน ส่วนโน้ตบุ๊กก็ใช้ SO-DIMM แน่นอน (ในกรณีที่มีช่องใส่แรมให้อัปเกรดได้) ส่วนคอมแบรนด์ประกอบสำเร็จ ออลอินวัน พวกนี้ต้องเช็คแบบละเอียดอีกที ถ้าเป็นเครื่องบาง ๆ เครื่องขนาดเล็ก อันนี้มีโอกาสที่จะเป็น SO-DIMM สูง

Chip

สำหรับผู้ใช้สายลึกที่ต้องการหาฮาร์ดแวร์ที่จะรีดประสิทธิภาพทั้งระบบออกมาได้เต็มที่ที่สุด การคัดแรมคือหนึ่งในสิ่งจำเป็นมาก รวมถึงผู้ที่ต้องการประกอบคอมแบบเน้นความชัวร์ว่าจะใช้งานได้ราบรื่น และการหาแรมมาใส่เพิ่มในเครื่องที่มีอยู่ เรื่องเบื้องต้นก็อาจจะต้องตรวจสอบก่อนว่าแรมที่จะซื้อนั้นมีกี่ชิปบนแผง สำหรับแรมในปัจจุบันก็มักจะมีหลายแบบแล้วแต่ว่าผู้ผลิตจะออกแบบมาอย่างไร เช่นอาจจะมี 4 ชิป 8 ชิป 16 ชิปก็ว่ากันไป แล้วแต่ความจุและเม็ดแรมที่ผู้ผลิตเลือกใช้

ซึ่งในกรณีที่เป็นการซื้อมาเติม ก็ควรจะเลือกใช้แรมที่มีจำนวนชิปเท่ากัน เพื่อให้มั่นใจว่าอย่างน้อยมันก็ทำงานร่วมกันได้แน่ ๆ แต่ถ้าให้แน่ใจขึ้นอีกระดับ ก็ควรซื้อแรมยี่ห้อเดิม เป็นแรมแบบเดียวกัน รุ่นเดียวกัน ส่วนถ้าให้ชัวร์สุดคือถอดของเก่าออก แล้วซื้อใหม่แบบที่ขายเป็นชุดได้ก็จะดี โดยในการตรวจสอบว่าแรมเดิมมีกี่ชิป ง่ายสุดคือถอดแรมที่ใช้อยู่ออกมาดูได้เลย แต่ถ้าเป็นแรมแบบมีฮีตซิงค์ปิด อาจจะใช้การค้นหาข้อมูลจากเลขรหัสรุ่นที่เป็นสติกเกอร์ติดบนแผงแรมหรือที่หน้ากล่อง เพื่อดูว่าแรมรุ่นนั้นมีกี่ชิป

เลือกซื้อแรม

แต่หลาย ๆ ครั้งเราอาจจะหาจำนวนชิปไม่ได้ เนื่องจากผู้ผลิตอาจบอกแทนว่าแรมรุ่นนั้นมีการวางชิปอยู่ที่ด้านเดียวของแผ่นแผงวงจร PCB หรือวางอยู่ทั้งสองด้านเลย หากเป็นแบบด้านเดียวก็จะเรียกว่า Single Side (SS) ถ้าวางอยู่สองด้านเลยก็จะเรียกว่า Double Side (DS) ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการประกอบคอมแบบเน้นความมั่นใจว่าสามารถใช้งานได้ราบรื่น เพราะปกติแล้วผู้ผลิตเมนบอร์ดแต่ละรายมักจะมีการทดสอบแรมรุ่นต่าง ๆ กับบอร์ดของตนเองว่าสามารถใช้งานได้ดีหรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางให้ลูกค้าสามารถเลือกแรมที่เหมาะกับบอร์ดได้แบบมีการการันตีจากผู้ผลิตเอง ซึ่งรายชื่อของแรมที่ผ่านการทดสอบจากผู้ผลิตบอร์ดแล้วจะใช้คำว่า QVL (Qualified Vendor List)

เลือกซื้อแรม

ตัวอย่างเช่นในภาพด้านบนนี้ที่เป็นตาราง QVL ของเมนบอร์ด Asrock X670E PG Lightning โดยทาง Asrock จะลงข้อมูลไว้ว่าหลังทดสอบการใช้งานบอร์ดรุ่นนี้กับ APU AMD Ryzen 8000G series (โค้ดเนม Phoenix) แล้ว แรมรุ่นไหนสามารถใช้งานได้บ้าง ที่จะมีคอลัมน์ SS/DS ระบุอยู่ว่าแรมรุ่นที่ผ่านการทดสอบนั้นเป็นแรมที่มีชิปหน้าเดียวหรือสองหน้า ตรงนี้ก็น่าจะช่วยเป็นแนวทางในการเลือกซื้อแรมให้เหมาะกับบอร์ดได้ดีทีเดียว หรือจะใช้แรมรุ่นอื่นนอกเหนือจาก QVL ก็ได้เช่นกัน แค่ผู้ผลิตอาจจะไม่ได้การันตีเท่านั้นเองว่าจะผ่านเกณฑ์การทดสอบที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ยังพอจะทำให้ทราบด้วยว่าในปัจจุบัน แรมที่มีความจุตั้งแต่ 16GB ลงมา มีโอกาสที่จะเป็นแบบที่มีชิปหน้าเดียวสูง ส่วนความจุที่มากกว่านั้นขึ้นไปอีก ก็น่าจะเป็นแรมสองหน้าแทบทั้งนั้น

ส่วนเรื่องประสิทธิภาพระหว่างแรมหน้าเดียวกับสองหน้า ต้องบอกว่าปกติแล้วจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ในทางทฤษฎี แรมแบบสองหน้ามีโอกาสที่จะมีประสิทธิภาพสูงกว่า แต่ก็อยู่ในระดับที่เล็กน้อยจนแทบไม่เห็นความแตกต่างในการใช้งานทั่วไป อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่จะเห็นความแตกต่างระหว่างแรมสองแบบนี้ได้ชัดคือเรื่องความร้อนที่เกิดระหว่างการใช้งาน เนื่องจากแรมแบบ DS จะมีจำนวนชิปแรมมากกว่า จึงทำให้มีความร้อนที่ปล่อยออกมามากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเรื่องความร้อนก็จะไปส่งผลกับการโอเวอร์คล็อกแรมอีก ทำให้แรมแบบ SS ที่มีหน้าเดียวจะได้เปรียบกว่าในเรื่องการนำไปใช้โอเวอร์คล็อก เพราะความร้อนสะสมต่ำกว่า

Channel

เป็นการพูดถึงช่องทางในการเข้าถึงแรมของระบบ ว่าจะมีกี่ช่องทางที่ CPU+Memory controller จะเข้าถึงข้อมูลในแรมได้ ที่ยอดนิยมในปัจจุบันก็คือ 1 ทาง (single channel)​ และ 2 ทาง (dual channel)

เลือกซื้อแรม

ในการเข้าถึงข้อมูลในแรม แต่ละช่องทางจะมีความกว้าง 64 บิต หากเป็นการติดตั้งแบบ single channel ก็ก็เท่ากับว่ามีการเข้าถึงได้แค่ทางเดียว แต่ถ้าติดตั้งแรมสองแผงแบบ dual channel ก็จะมีช่องทางถึง 2 ช่องในการรับส่งข้อมูล นั่นเท่ากับว่าแบนด์วิธที่ใหญ่กว่าเดิมเป็นเท่าตัวด้วย

สำหรับการเลือกซื้อแรม ทางที่ดีคือควรติดตั้งในเครื่องให้ได้แบบ dual channel ไว้ก่อน โดยพยายามเลือกซื้อแบบที่มีการจัดชุดมาในแพ็คเดียวกันเรียบร้อยแล้ว ที่จะมีความเข้ากันได้ในการทำงานร่วมกันที่ดีกว่าการซื้อมาคนละรอบ ส่วนในการติดตั้งแรมบนเมนบอร์ดเพื่อให้ได้ dual channel ก็ควรตรวจสอบจากคู่มือของบอร์ดแต่ละรุ่นอีกที อย่างถ้าเป็นเมนบอร์ดที่มีช่องใส่แรมแค่ 2 ช่องก็ไม่มีปัญหา แต่บอร์ดที่มีช่องใส่แรม 4 ช่อง อันนี้ปกติแล้วผู้ผลิตจะออกแบบมาให้ใส่แรมคู่กันที่ช่อง 2 และ 4 นับจากช่องซ้ายฝั่งที่ใกล้ CPU ที่สุดก่อน หรือถ้าต้องการใส่แรมแค่แผงเดียว ก็ลองตรวจสอบจากคู่มือดูก่อนก็ดีครับ เพราะบางทีอาจมีการแนะนำมาว่าควรใส่แรมที่ช่องไหนก่อน แม้จะแค่แผงเดียวก็ตาม

เลือกซื้อแรม

จะมีข้อสังเกตนิดนึงตรงแรม DDR5 ที่มีโครงสร้างของการแบ่งแชนเนลย่อย (sub-channel) ในแผงแรมเองออกเป็น 2 แชนเนล อันนี้จะไม่ถูกนำไปนับรวมกับการทำ dual channel ระหว่าง CPU และแรมนะครับ เนื่องจากสเปคของ CPU สำหรับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปเองจะมีแชนเนลสำหรับต่อตรงกับแรมแค่ 2 แชนเนลเท่านั้น ประกอบกับการแบ่งแชนเนลย่อยของแรมมันก็คืออยู่แค่ในแรมเอง โดยมีชิปควบคุมอยู่ที่แต่ละแผงเอง ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อกับ CPU ที่ความกว้าง 64 บิตตามเดิม ดังนั้นแม้ว่าจะใช้แรม DDR5 แต่ระบบก็จะยังมองว่าเป็น dual channel ตามเดิม แต่จะได้เรื่อง latency ที่น้อยลง ประสิทธิภาพ ความเร็วก็ดีขึ้นด้วย

Timing / CAS Latency

ประสิทธิภาพ ความแรงของแรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเร็วบัสเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีค่าความหน่วงเวลาในการเข้าถึงข้อมูลของแต่ละกระบวนการทำงานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สิ่งนี้จะเรียกว่าค่า timing หรืออาจจะบอกว่าเป็นความหน่วง (latency) ก็ได้เช่นกัน โดยในการระบุค่า timing ของแรมเราจะเจอเป็นชุดเลข 4 ตัวอยู่ด้วยกัน เช่นตัวอย่างในภาพด้านล่าง

เลือกซื้อแรม

ปกติแล้วเลข timing รวมถึงสเปคคร่าว ๆ ของแรมแต่ละแท่งจะมีระบุไว้ที่ฉลากแปะบนแผงหรือบนฮีตซิงค์แรมเอง ถ้าจากในตัวอย่างจะเห็นว่าเป็นแรม DDR4-3200 ที่มีค่า timing หลักสี่ตัวคือ 16-18-18 (ที่จริงจะมี 38 ต่อท้ายอีกตัว แต่ไม่ได้เขียนไว้) โดยค่า timing แต่ละตัวจะหมายถึงค่าต่าง ๆ ดังนี้

  • 16 = ค่า CAS Latency = จำนวนรอบที่ใช้ในการส่งตำแหน่งคอลัมน์ที่เก็บข้อมูลไปยังหน่วยความจำ จนเริ่มมีข้อมูลส่งกลับมา ยิ่งน้อยยิ่งดี
  • 18 = TRCD หรือ (tRCD)= จำนวนรอบคล็อกที่น้อยที่สุดที่ต้องใช้ในการเข้าถึงแถวของเซลล์หน่วยความจำที่เก็บข้อมูล และเริ่มเข้าถึงข้อมูลในคอลัมน์ที่อยู่ในแถวนั้น
  • 18 = TRP หรือ (tRP) = จำนวนรอบคล็อกที่น้อยที่สุดที่ต้องใช้ในการออกคำสั่งเพื่อยกเลิกการทำงาน แล้วเปลี่ยนไปเข้าถึงหน่วยความจำแถวถัดไป
  • 38 = TRAS หรือ (tRAS) = จำนวนรอบคล็อกที่น้อยที่สุดที่ต้องใช้ในการรอระหว่างที่มีการเข้าถึงข้อมูลในแถว และออกคำสั่งยกเลิกถ้าจำเป็น ก่อนที่จะมีการรีเฟรชหน่วยความจำในแถว

แน่นอนว่าทุกตัว ยิ่งน้อยก็ยิ่งดี เพราะหมายถึงแรมจะทำงานเร็วมาก ๆ ทำให้ยิ่งแรมที่มีค่า timing ต่ำ ก็จะยิ่งมีราคาสูงขึ้น เพราะต้องใช้ชิปแรมและส่วนประกอบอื่น ๆ ที่มีคุณภาพสูง ทำงานได้เร็วและเสถียร ส่วนที่มีคนนิยมพูดกันว่าค่า CL อันนี้ก็จะหมายถึงค่า CAS หรือตัวเลขหน้าสุดของชุด timing นั่นเอง เช่นในภาพด้านบนก็จะบอกได้ว่าแรมแถวนี้เป็นแรม CL16 มาจากโรงงาน ส่วนวิธีปรับค่าแรมเพื่อเพิ่มความเร็วในหน้า BIOS/UEFI ก็จะเน้นการจูนที่ส่วนนี้เป็นหลักพอ ๆ กับการปรับความเร็วบัสเลย แถมต้องใช้เวลาพอสมควรในการทดสอบ ทั้งการค่อย ๆ ปรับค่าแล้วทดสอบแบบวนไปวนมาหลายรอบ ถึงจะหาจุดลงตัวระหว่างความเร็วและความเสถียรในทุกการทำงานได้ เพราะบางทีก็เร็วเกินจนแรมทำงานผิดพลาด เกิดอาการจอฟ้าเวลาใช้งานหนัก ๆ ได้เหมือนกัน

สำหรับในการเลือกซื้อแรม หากต้องการเทียบค่า timing หรือค่า CL จะสามารถเทียบได้เฉพาะแรมที่เป็น DDR เดียวกันเท่านั้น ไม่สามารถเทียบข้ามกันอย่าง DDR4 เทียบกับ DDR5 ได้ เนื่องจากยิ่ง DDR เวอร์ชันใหม่กว่า แม้ค่า timing จะยิ่งสูงขึ้น แต่ก็ชดเชยด้วยความเร็วคล็อกของแรมที่สูงขึ้นมากด้วย ทำให้สุดท้ายแล้วหากคำนวณหาค่า latency จริง ๆ ยิ่งแรมรุ่นใหม่กว่าก็จะยิ่งมีค่าความหน่วงนี้ลดลงกว่ารุ่นเก่ามาก

เลือกซื้อแรม

ในภาพด้านบนจากเว็บไซต์ CGDirector จะเป็นค่า latency จริง ๆ ที่ได้จากการคำนวณออกมาตามมาตรฐาน ฝั่งซ้ายคือเลข CL ส่วนแถวด้านบนคือความเร็วบัสของแรม ตัวอย่างถ้าเป็นแรม DDR4 CL16 ที่ดูเหมือนสูงมาก แต่มีความเร็วแค่ 2133MHz ค่า latency จริงของแรมแผงนี้จะอยู่ที่ 15ns แต่ถ้าเป็นแรมที่ความเร็วสูงกว่า เช่น DDR4 3600MHz แต่ CL20 กลับมีค่า latency เพียง 11.11ns เท่านั้น ทำให้การดูแต่ค่า CL อาจจะไม่สามารถใช้เทียบประสิทธิภาพได้ 100% เสมอไป แม้กระทั่งเป็นแรม DDR เดียวกันก็ตาม

ส่วนถ้าต้องการเลือกแรมแบบง่าย ๆ ไม่เน้นความแรงมาก ก็แทบไม่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องพวกนี้เลย แต่ถ้าต้องการนำไปใช้โอเวอร์คล็อก หรือใช้งานที่ต้องเน้นความแรง ก็ควรดูรุ่นที่บัสค่อนข้างสูงและมีค่า CL ที่ต่ำไว้ก่อน นัยหนึ่งก็คือมันแรงมาตั้งแต่เริ่มแล้ว อีกนัยหนึ่งก็คือมันน่าจะเลือกใช้ฮาร์ดแวร์ที่คัดเกรดมาแล้ว และน่าจะทนต่อการโอเวอร์คล็อกเพิ่มได้อีก

XMP

ต่อเนื่องจากด้านบนที่ว่าค่า timing ของแรมได้รับการออกแบบมาให้สามารถปรับแต่งได้ เพื่อใช้ในการปรับจูนประสิทธิภาพของแรม แต่จากที่มันมีหลายค่ามาก ๆ จึงอาจทำให้ผู้ใช้งานหาค่าที่ลงตัวได้ยาก และอาจทำให้ระบบไม่เสถียร ใช้ไปแล้วก็เจออาการจอฟ้าได้ง่าย ๆ

ทาง Intel จึงได้ออกมาตรฐานเสริมจากค่า timing มาตรฐานของ JEDEC เพื่อช่วยการันตีว่าค่า timing บัสความเร็ว และแรงดันไฟจากการปรับจูนในรูปแบบนี้ได้ผ่านการทดสอบมาแล้ว นั่นคือ Intel Extreme Memory Profile (Intel XMP) ซึ่งจะมีการใส่โปรไฟล์เข้ามาในเมนบอร์ดเลย ทำให้ผู้ใช้งานสามารถกดเปิดใช้ XMP เพื่อให้ระบบจัดการปรับค่าของแรมได้จากใน BIOS/UEFI ได้แบบง่าย ๆ ไม่ต้องไปนั่งปรับจูนเองอีก ซึ่งส่วนมากจะสามารถใช้งานเครื่องได้แบบเสถียรแทบไม่ต่างจากการใช้ timing และบัสเริ่มต้นของแรมเลย ทั้งยังไม่ส่งผลกับการรับประกันด้วย แต่สำหรับผู้ที่ต้องการจูนเองก็ยังสามารถปรับต่อจาก XMP ไปได้อีกตามที่ต้องการ ขึ้นอยู่กับความสามารถของบอร์ดว่าสามารถปรับแต่งได้ระดับไหน

เลือกซื้อแรม

แต่สำหรับผู้ที่ใช้ CPU และเมนบอร์ดในแพลตฟอร์ม AMD ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะบอร์ด AMD ก็รองรับฟีเจอร์ XMP ด้วยเช่นกัน แต่ก็มีโอกาสที่จะใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่ากับการใช้ Intel อยู่บ้าง หรืออาจจะเลี่ยงไปใช้คำอื่นในการสื่อสารกับผู้ใช้แทน ส่วนฝั่งผู้ผลิตแรมเองในยุค Ryzen มานี้ ก็มีการระบุในผลิตภัณฑ์ของตนเองว่าเป็นแรมที่รองรับ AMD Ryzen เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่าแรมของตนสามารถนำไปใช้กับ AMD Ryzen ได้ด้วย สามารถปรับค่าแรมได้แทบไม่แตกต่างจาก Intel XMP เลย ส่วนในยุคของ DDR5 นี้ก็จะมี AMD EXPO (Extended Profiles for Overclocking) เพิ่มเข้ามา ที่มีความคล้ายกับ Intel XMP มาก

ECC

ย่อมาจาก Error Correction Code เป็นคุณสมบัติในการตรวจสอบความถูกต้อง และแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดซึ่งถูกจัดเก็บอยู่ในพื้นที่หน่วยความจำได้แบบอัตโนมัติ โดยส่วนมากแล้วจะมีอยู่ในแรมที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานกับแพลตฟอร์มของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ และระบบคอมพิวเตอร์ที่ต้องการความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลในระดับสูง เช่นเครื่องที่ต้องนำข้อมูลมาคำนวณแบบซับซ้อน คอมที่ต้องการความแม่นยำของข้อมูลขั้นสุด เป็นต้น

การทำงานของระบบ ECC จะมีทั้งในขั้นตอนเขียนข้อมูลลงแรมและตอนอ่านข้อมูลออกมา โดยมีคอนเซ็ปท์โดยรวมดังนี้

การเขียนข้อมูลลงแรม

  1. CPU ส่งข้อมูลที่ต้องการบันทึกไว้มาที่แรม
  2. แรมรับข้อมูลมาและสร้างข้อมูล ECC หรือ parity bit (บิตข้อมูลสำหรับใช้ตรวจสอบความถูกต้องและแก้ไขข้อมูล) โดยแบ่งข้อมูลและสร้าง ECC เป็นชุด ๆ
  3. เขียนข้อมูลที่ได้รับมาและบิต ECC ลงในแรม

การอ่านข้อมูลจากแรม

  1. ชิปคอนโทรลเลอร์รับคำสั่งมาจาก CPU หรือสตอเรจ เพื่อดึงข้อมูลจากแรมออกไป
  2. คอนโทรลเลอร์จะสร้างข้อมูล ECC ขึ้นมาจากข้อมูลจริงที่เก็บไว้ในแรมในขณะนั้น
  3. เทียบ ECC ที่สร้างใหม่ของข้อมูลแต่ละชุดในตอนนั้นกับ ECC ของข้อมูลชุดเดียวกันที่เก็บไว้ตั้งแต่ตอนเขียนข้อมูลลงแรม
  4. ถ้าตรงกัน ก็ส่งข้อมูลออกไปได้เลย แต่ถ้าไม่ตรงก็ต้องแก้ไขข้อมูลกลับมาก่อน จากนั้นถึงค่อยส่งออก

ซึ่งจริง ๆ แล้วก็จะมีรายละเอียดของการสร้าง ECC ขณะเขียนข้อมูลและการเก็บ ECC ลงแรมที่แตกต่างกันไปอีก เช่น เก็บทั้งข้อมูลจริงและ ECC ไว้ด้วยกัน หรือเก็บทั้งสองอย่างแยกกัน เป็นต้น

ประโยชน์ที่ได้จากการมีระบบ ECC ก็คือความถูกต้องของข้อมูลที่จะสูงกว่าในแรมสำหรับการใช้งานทั่วไป แต่ในอีกทางก็ย่อมมาพร้อมประสิทธิภาพ ความเร็วที่ลดลงจากเดิมเล็กน้อย เพราะต้องใช้เวลาไปกับการสร้างและตรวจสอบ ECC รวมถึงอาจต้องมีการแก้ไขข้อมูลก่อนส่งออกมาด้วย จึงอาจจะไม่เหมาะกับการใช้งานที่ต้องเน้นความเร็วในการรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่กับแรมเกือบตลอดเวลา เช่น การเล่นเกม การตัดต่อวิดีโอ

เลือกซื้อแรม

สำหรับแรม DDR5 จะพิเศษขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้าตรงที่มีระบบ ECC เข้ามาในตัว แต่จะต่างกันตรงที่เป็นการทำงานในระดับชิปแรมเองเท่านั้น มีจุดประสงค์คือเพื่อตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดภายในระดับของชิปแรมที่เรียกว่าเป็นแบบ On-die ECC โดยขั้นตอนการเขียนข้อมูลคือยังคงใช้การส่งข้อมูลจากต้นทางมาตรง ๆ ผ่านคอนโทรลเลอร์ของแรมมาเลย แต่พอจะเก็บข้อมูลลงในชิปแรม จะมีการสร้างข้อมูล ECC แล้วเก็บไว้คู่กันแทน เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับเซลล์หน่วยความจำ ส่วนการอ่านข้อมูลก็จะคล้ายกัน แต่กระบวนการตรวจสอบ ECC จะเกิดขึ้นภายในชิปแรมแทน ถ้าผ่านก็ส่งข้อมูลออกไปยังคอนโทรลเลอร์แล้วส่งไปยังปลายทางทันที ไม่มีการตรวจสอบอีกขั้น จุดประสงค์ก็คือเพื่อให้ได้ทั้งความเร็ว และสามารถเพิ่มความจุแรมให้สูงขึ้นได้ เพราะปกติแล้วยิ่งความจุสูง พื้นที่เก็บข้อมูลต่อชิปก็ยิ่งหนาแน่น และอาจส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลได้ การเพิ่ม On-die ECC มาก็คือเพื่อป้องกันปัญหานี้โดยตรง แต่ทั้งนี้แรม DDR5 แบบที่มี ECC ตามปกติก็มีเช่นกันครับ จะเรียกว่าเป็นแรม ECC 2 ชั้นก็คงไม่ผิด

ในการใช้งานทั่วไปพื้นฐาน ใช้เล่นเกม เล่นเน็ต ไปจนถึงทำงานหนัก ๆ แนะนำว่าใช้แรมที่ไม่ต้องมี ECC ก็เพียงพอแล้ว เพราะถ้าต้องการใช้แรม ECC ตัวเมนบอร์ดเองก็ต้องรองรับด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นบอร์ดสำหรับสายเครื่องเซิร์ฟเวอร์เป็นหลักซะมากกว่า และแน่นอนว่าในการซื้อแรมก็เลือกรุ่นธรรมดาที่ไม่มี ECC ก็พอ

เลือกซื้อแรม

Lifetime Warranty

เชื่อว่าคำนี้จะเป็นหนึ่งในคำอมตะของวงการไอทีเลย กับการรับประกันแบบ Lifetime ที่แต่ก่อนมีความเข้าใจผิด ๆ ในวงกว้างว่าเป็นการรับประกันแบบตลอดชีพของผู้ใช้ ต่อให้ใช้มา 20 ปีแล้วเกิดเสียขึ้นมาก็ยังสามารถนำไปเคลมได้อยู่ เป็นต้น

แต่จริง ๆ แล้ว lifetime ในบริบทนี้เกือบทั้งหมดจะหมายถึงช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์รุ่นนั้น ๆ ว่าทางผู้ผลิตจะยังคงผลิตออกมาขาย และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของตนไปยาวนานขนาดไหน หากเกิดมีการปิดไลน์การผลิตและยุติการสต็อกของในคลังไป กรณีนี้ก็อาจจะส่งผลถึงการรับประกันสินค้าที่ขายไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถเคลมได้อีก ถ้ายกตัวอย่างตอนนี้ หากผมมีแรม DDR2 ที่เสียอยู่ แล้วต้องการนำไปเคลมกับผู้ผลิต อาจจะถูกตีกลับมาได้เหมือนกัน เพราะแรม DDR2 นั้นไม่ได้มีของใหม่วางขายอยู่ในท้องตลาด และหลุดจาก product life cycle ของบริษัทไปแล้ว ส่งผลให้หมดการรับประกันไปโดยปริยาย ทำได้อย่างมากก็คือการส่งซ่อมแบบมีค่าใช้จ่าย

ดังนั้นถ้าหากเจอสินค้าระบุว่าประกันแบบ lifetime ก็จะหมายถึงการรับประกันตลอดช่วงอายุของผลิตภัณฑ์จากทางผู้ผลิตเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะยังกินเวลาออกไปอีกระยะหนึ่ง หลังจากที่มีรุ่นใหม่เปิดตัว ส่วนการตรวจสอบ อันนี้จะต้องสอบถามจากทางตัวแทนจำหน่าย ตัวแทนรับเคลมและทางผู้ผลิตโดยตรง เพราะมักไม่มีการประกาศแบบเป็นทางการ

เลือกซื้อแรม

สรุป – 15 คำที่มักเจอบ่อยตอนเลือกซื้อแรม

แรมถือเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญมากสำหรับระบบคอมพิวเตอร์ เพราะจะใช้เป็นพื้นที่เก็บและพักข้อมูล ทั้งที่รอและผ่านการประมวลผลมาแล้ว ซึ่งการที่จะสามารถเลือกแรมให้เหมาะกับเครื่องที่ใช้ ไปจนถึงการจะประกอบเครื่องใหม่ ก็มีสิ่งที่ต้องพิจารณาและตรวจสอบหลัก ๆ ดังนี้

  • ต้องใช้แรมแผงยาว (DIMM) หรือแรมแผงเล็ก (SO-DIMM)
  • ต้องใช้แรม DDR อะไร
  • ต้องการแรมความจุเท่าไหร่ กี่ GB และ CPU เมนบอร์ดหรือโน้ตบุ๊กที่ใช้อยู่รองรับแรมได้สูงสุดเท่าไหร่
  • จะให้ดีก็คือควรทราบว่าต้องการใช้แรมความเร็วเท่าไหร่ โดยเฉพาะการจะซื้อไปใส่เพิ่ม

ส่วนที่เหลือจะเป็นคำที่บอกสเปคในเชิงเทคนิคที่ลึกขึ้นมา ซึ่งใครที่ต้องการความแรง ต้องการประสิทธิภาพที่สูง ไปจนถึงต้องการโอเวอร์คล็อกแรม ถึงจำเป็นจะต้องดูค่าต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบการเลือกซื้อ หลัก ๆ เลยก็คือความเร็วที่ต้องการ ค่า CL และ timing ที่ต่ำ เป็นต้น

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

CONTENT

ตั้งแต่หลังยุค Ryzen เป็นต้นมา CPU ของ AMD ก็เริ่มกลับเข้ามาอยู่ในโน้ตบุ๊กที่ขายในไทยมากขึ้น ด้วยตัวชิปเองที่มีประสิทธิภาพดี มีการใช้พลังงานที่เหมาะสม ประกอบกับแต่ละแบรนด์ผู้ผลิตก็ทำราคามาได้น่าสนใจขึ้นด้วย ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่าในช่วงกลางปี 2024 นี้มี CPU AMD สำหรับแพลตฟอร์มโมบายล์รุ่นไหนที่น่าสนใจบ้าง พร้อมกับแนะนำโน้ตบุ๊ก AMD ที่น่าซื้อ สำหรับการใช้งานแต่ละแบบ Advertisement 1) AMD Ryzen...

CONTENT

ช่วงเปิดเทอมแบบนี้ เชื่อว่ามีหลายท่านก็กำลังเล็งว่าจะซื้อโน้ตบุ๊กใหม่ ไม่ว่าจะเพื่อใช้ประกอบการเรียน หรืออาศัยรอโปรโมชัน back to school ที่มักมีโน้ตบุ๊กราคาพิเศษหรือมีของสมนาคุณคุ้ม ๆ มาให้เลือกหลากหลายรุ่น ในบทความนี้เราก็จะมาแนะนำโน้ตบุ๊ก AMD ล้วนที่ใช้ทั้ง CPU และ GPU ของค่ายแดงแบบเต็มตัว ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในหน้าค้นหาโน้ตบุ๊กของเว็บไซต์เราเองในช่วงกลางปี 2024 โดยคัดมา 5 รุ่นจาก 5 แบรนด์ไม่ซ้ำกัน...

PR-News

ADATA นำเสนอนวัตกรรมใหม่ในปี 2024 ภายใต้แนวคิด “Innovate Today, Embrace Tomorrow” บริษัท เอดาต้า เทคโนโลยี จำกัด ผู้นำด้านแบรนด์โมดูลหน่วยความจำ และความจำแฟลชระดับโลก ได้ร่วมทีมกับแบรนด์เกมมิ่ง XPG และแบรนด์หน่วยความจำสำหรับงานอุตสาหกรรม ADATA Industrial ในงาน Computex Taipei 2024 ระหว่างวันที่...

PR-News

ASUS พาคุณเปิดประสบการณ์ใช้งาน AI พร้อมเปิดตัวเครื่องเล่นเกมพกพาแห่งปี ASUS ROG Ally X รุ่นล่าสุด! ASUS ก้าวสู่ยุคแห่ง Copilot+ PC เต็มรูปแบบ นำเสนอโน้ตบุ๊กที่มาพร้อมความสามารถประมวลผล AI ขั้นสูง พร้อมเปิดตัวโน้ตบุ๊กใหม่หลากหลายโมเดล เปิดตัวโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ล่าสุดในไลน์ผลิตภัณฑ์ ProArt, Zenbook และ Vivobook ในงาน...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก